ตอนที่ ๒ นี้ จะมาเล่าเรื่องการที่พวกเราผู้บวชเนกขัมมะฯ จะออกไปใส่บาตรกัน
...ขอคั่นด้วยเรื่องพระอาจารย์เมตตาสั่งสอนสักหน่อย เรื่องนี้ถูกสอนมาตั้งแต่เมื่อห้าปีกว่ามาแล้ว ยังพลาดอยู่อีก
ตอนเช้าก่อนพระจะตั้งแถวไปใส่บาตร ตามเส้นทาง (สาย) ต่าง ๆ พระอาจารย์ก็มักจะเดินมาสงเคราะห์แม่ชีที่โรงครัว
...แต่แรก ๆ ที่ยายเห็น ท่านจะเดินออกมาทางด้านข้างกุฏิชี เปิดประตูไม้ ออกมาหน้าโรงครัว ให้แม่ชี และโยมที่วัดที่ช่วยงานครัวได้ถวายปัจจัยกันก่อน (บอกแล้วว่า แกงหยวกนี่นะ แม่ชีกับโยมช่วยงานทำกันทั้งวันทั้งคืน)
ยายยังนึกว่า เออหนอ..แม่ชีมัวทำกับข้าว เตรียมอาหารถวายพระ เตรียมอาหารให้พวกเรา และรออาหารใส่บาตรที่จะกลับมาให้จัดแยก จัดถวายอีกด้วย
คลับคล้ายคลับคลาว่า แรก ๆ เห็นท่านถือย่ามมารับปัจจัยจากแม่ชี คล้ายกับว่า แม่ชีไม่ได้ไปทำวัตรเช้าจึงไม่ได้ใส่ย่าม.. หากจำผิดก็กราบขอขมาด้วยค่ะ
ต่อมาญาติโยมที่บวช ก็ร่วมถวายปัจจัยด้วย ท่านก็ไม่ได้ให้ใส่ย่ามแล้ว เพราะเพิ่งใส่กันมาหลังทำวัตรเช้า… บางครั้ง ท่านจะถือบาตรมาด้วย แต่เคยมีคนถวายปัจจัยว่าใส่บาตร ท่านไม่รับเป็นใส่บาตร ให้ไปใส่นอกวัด (ท่านนำบิณฑบาตสายตลาด พวกเราก็ ‘แห่ตาม’ ไปที่ตลาดเป็นปกติ) โดยมีแม่ชีชื่นถวายคนแรกเช่นที่ทำกันเป็นปกติแต่ไรมา
ระยะต่อมา ป้านุชจะจัดพานดอกไม้ตอนกลางคืนเพื่อถวายพระอาจารย์ก่อนทำกรรมฐานทุกเช้า และมักอยู่บริเวณที่จัดดอกไม้นั้นตอนเช้า จึงเริ่มจากป้านุชถวายถุงพลาสติกใส่เงินให้ท่าน ที่ท่านมักเรียกหามา แล้วเรียกว่า ‘กระสอบ’
แล้วยายก็พลอยบอกใคร ๆ ว่าให้ป้านุชเตรียมเรื่องนี้ไปเถอะ จะได้ไม่ดูเก้ ๆ กัง ๆ หาถุงกันบ้าง มองตากันบ้าง ว่าใครจะถวาย ยกเว้นป้านุชไม่มีถุงพลาสติก หรือไม่อยู่
ส่วนพระอาจารย์ท่านก็จะเดินเข้าทางประตูรั้วโรงครัวด้านหน้า ไม่ได้มาทางด้านข้างอีก
…วันนั้น ป้านุชไม่อยู่ ยายก็มัวอธิบายใครต่อใครที่มาใหม่ที่สงสัยว่ามารอทำอะไรกัน อธิบายสารพัด อย่างที่เล่ามาข้างต้นนี่แหละ
พอท่านเดินมาถึง อ้าววันนี้ป้านุชยังไม่ถึงวัด ยายก็เอาถุงพลาสติกในกระเป๋าส่งให้น้องที่ดูแลใกล้พระอาจารย์ท่านหนึ่งที่บวชอยู่ด้วย น้องรับไปแล้วส่องดูว่า มีอะไรหลงอยู่หรือไม่ ก็พบธนบัตร ๒๐ บาทอยู่ใบหนึ่ง กำลังหันมาถามยาย…
เสียงพระอาจารย์ดังขึ้นอย่างเข้มขลังว่า “ทำอะไรกันนี่ ? ”… พอยายตอบเรื่องแบงก์ ๒๐ แล้ว น้องก็หันไปจะส่งถวายถุงพลาสติก… เสียงท่านก็ดังขึ้นอีก “มาทำอะไรกันอยู่นี่”… น้องถึงกับกระตุกหดมือที่จะถวายถุงพลาสติกกลับ
ยายต้องลุ้นว่า ถวายไปเถิด… เมื่อท่านถือถุงแล้ว น้องคนนั้นกับยาย ก็จะใส่เงินในถุงบ้าง… เสียงท่านยังดังชัดเจน “รู้ไหมว่านี่ทำอะไร ?"
…เราสองคนก็ยังมีอาการ ‘เอ๋อ’ ที่กล้ากล่าวอ้างถึงน้องเขาด้วย เพราะเรามาคุยกันทีหลัง ทั้งคู่ใส่เงินในถุงไปอย่างนั้นเอง !!!... ก่อนที่จะสำนึกด้วยกันว่า ‘เราสองคน’ โดนสั่งสอนเรื่อง “ไม่ตั้งกำลังใจทำบุญให้ดี” (แปลว่า หากไม่คิดอะไรเลยจริง ๆ ก็ไม่มีอานิสงส์ !!!... ยิ่งกว่าการทำบุญแบบเกรงใจคนบอกบุญ หรือตัดรำคาญอีกนะ)...
ยายต้องมานึกทีหลังว่า ยายนี้หนอตอนเช้าได้ใส่ปัจจัยถวายเป็นสังฆทาน (แบบที่หลวงตาเคยสั่งให้ยาย โมทนาบุญตัวเองบ่อย ๆ )… หลังจากถามคนอื่น ๆ (ที่ยายไปอธิบายเขาไว้เอง) แต่ละคนตอบได้หมดว่าใส่ปัจจัยทำบุญอะไร
สติจ้ะยาย สตินะ เขาเรียกสติ… ต้องมีสมาธิก่อนด้วย สติจึงจะมีได้
หมายเหตุ :
นานมาแล้ว… ที่บ้านอนุสาวรีย์ ยายโดนสั่งสอนเรื่องนี้จำได้มั่น เริ่มจากท่านไม่รับปัจจัย และต่อมาได้ยินเสียงเอ็ดเข้ามาในใจ ดังชัดเจน แล้วสุดท้ายท่านไม่รับ แล้วกล่าวออกไมค์เลยว่า ‘นั่นเขาไม่ได้ถวายสังฆทานหรอก เขาเอาเงินวางไว้เฉย ๆ ’… ยายว่านั่นเกือบ ๖ ปีมาแล้วนะ… ยายจ๋า แก่แล้ว เวลาเหลือไม่มากนักแล้วนะจ๊ะ (มุสลิมเขายังมีการ ‘ตั้งใจ’ ทำบุญนี้เลย เขาเรียกว่า ‘เหงียด’ คือ เขาสอนให้ต้อง ‘เหงียด’ ก่อนทำบุญทุกครั้ง จึงจะได้บุญ)
...ทีนี้ก็เดินตามพระออกไปใส่บาตรกันสักทีละ
แต่ก่อนนี้ เราจะเดินตามแถวพระไปทางถนนกันบ้าง มีกลุ่มแยกไปเดินข้ามสะพานหลวงปู่สายอีกทางบ้าง… พวกที่จะช่วยรับของใส่บาตรมาใส่ ‘รถ’ ที่จะขนอาหารมาที่วัด ที่เราเรียกกันว่า ‘เด็กวัด’ นั้น ก็จะหยิบถังเหลือง ถือตามไป เพื่อใช้ถังขนอาหารจากที่ญาติโยมในตลาดใส่บาตรพระกัน… เราไม่นิยมเอารถไป เพราะหาที่จอดยาก และดูเหมือน ‘รักสบาย’ เกินไป ยกเว้นพาคนแก่เดินไม่ไหวไป… พระท่านเดินไป เราก็เดินไป หากภาวนาไปด้วยอย่างท่านได้ก็ยิ่งดี
ขากลับบางคนก็จะข้ามสะพานมาก่อน มาดักถ่ายรูปแถวพระ (ที่เห็นกันว่างาม ๆ
… พระอาจารย์ท่านเรียงลำดับแถวตามความสูง ไม่ใช่จำนวนพรรษา) ที่ปลายสะพาน
เร็ว ๆ นี้ เห็นมีบางคนยืนหันรีหันขวาง ก่อนจะไปตลาด ไม่รู้ว่าไปใส่บาตรที่ตลาดนี่คือทำอะไรบ้าง ? ไปทางไหน ? ทำอย่างไร ? มีเวลาเท่าไร ? เขาซื้ออาหารกันตรงไหน ? แล้วแถวพระไปทางไหน ? รอใส่บาตรพระกันตรงไหนได้บ้าง ? …. หลัง ๆ ยังมีกิจกรรมปล่อยปลาเสริมเป็นปกติอีกด้วย
ยายจึงอยากมาบอกมาเล่าเรื่องการใส่บาตรพระในตลาดให้ทราบสถานการณ์เท่าที่ยายเคยเจอมา…
เท่าที่ยายจำได้ ตั้งแต่เริ่มแรกที่มีการจัดบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรม ผู้หญิงที่จะช่วยทำหน้าที่ ‘เด็กวัด’ (ชื่อเรียกนี่ก็มาตั้งกันช่วงเริ่มมีบวชนี้ด้วย) จะได้รับการบอกกล่าวให้ระมัดระวังกิริยา ไม่วิ่งล้อมหน้าล้อมหลัง หรือเข้าใกล้พระจนเกินไป เนื่องจากชาวบ้านท้องถิ่นเขาถือ
ต่อมา เราก็ได้ยินพระอาจารย์ประกาศขอให้พวกเรา '
อย่าไปเดินกร่างเต็มถนน' ให้เกะกะรถบนถนน... (พวกเราคงยังไม่ทันระวัง) ท่านบอกต่อมาเพิ่มเติมว่า
เวลาพระบิณฑบาต เป็นเวลาที่คนเขาจะรีบขับรถไปทำมาหากินกัน ไปเกะกะขวางคนที่จะทำมาหากิน จะเป็นวิบากได้
ดูเหมือนพอคนมากขึ้น อาจบอกต่อกันไม่ทั่ว และเรื่องเช่นนี้มิได้นำลงเก็บตกฯ เพียงพระอาจารย์ท่านบอกผู้บวชฯ เป็นระยะ
เรื่องที่ยายเจอเอง (เพราะไปเกะกะ ยืนผิดที่ผิดทางมาก่อน ถึงกับท่านต้องเมตตาชี้ให้ย้ายที่ยืน) คือ เรื่องที่ควรช่วยกันระวังให้แถวพระอยู่บนถนนให้น้อยที่สุด ได้แก่
หากเป็นทางเท้าที่มีระยะกว้างพอที่แถวพระจะเดินขึ้นไปได้ ขอให้พวกเราตั้งแถวชิดใน ใส่บาตรพระบนทางเท้า กับ
ควรตั้งแถวเพียงฝั่งใดฝั่งหนึ่ง อย่าให้เป็นทั้ง ๒ ฝั่ง หรือสลับฟันปลาหลายช่วงนัก และ
หากสังเกตรู้บ้านที่ใส่บาตรเป็นประจำ ให้ต่อแถวแนวเดียวกันเป็นหลัก เพื่อลดการข้ามถนนของแถวพระ
...ตลาดทองผาภูมิ ไม่ค่อยมีดอกไม้ขาย ที่มีขายดอกไม้แบบจัดช่อจัดกระเช้าได้ก็แพงมาก ที่ยายสงสัยที่สุด คือไม่มีดอกบัวขาย ถ้ายายอยากได้ ก็ต้องหาเอาไปเองจากปากคลองตลาด
… ดอกมะลิเพิ่งบาน ร้อยเป็นกระจุกเสียบไม้เหลา ที่เขามาขายตอนใส่บาตร จึงงามหอมนักหนา พวกเราก็ถวายใส่บาตรกันคนละช่อ ๆ …. ดอกไม้อื่นที่มีก็มักเป็นพวกดอกดาหลา (ที่จริงเขากินจิ้มกับน้ำพริกได้ ผัดก็ได้) หรือดอกเข้าพรรษาสีขาว ช่วงเข้าพรรษา
พอกลับถึงวัด ก็ได้ยินพระอาจารย์ท่านประกาศ…
พวกดอกไม้ หรืออะไรที่กินไม่ได้ ไม่ต้องใส่บาตรมาหรอก มาถึงวัดก็ลำบากแม่ชี ต้องมาคัด มาแยก มาจัดบูชาพระ ให้ใครต่อก็ไม่ได้ เต็มวัดไปหมด แล้วก็ต้องตามไปเก็บทิ้งด้วย
ล่าสุด บวชช่วงวันแม่นี่เอง ยายได้ยินพระอาจารย์ออกไมค์บอกเรื่องที่ชาวบ้านเริ่มพูดกันว่า '
พระวัดท่าขนุนทำให้รถติดในตลาด !!!'
กับ
เรื่อง '
เด็กวัด' ที่ไป
ยืนจ้องคนใส่บาตร (เพื่อรับของใส่บาตรขนมาไว้ที่รถขนของ) โดยไม่รู้ตัวว่าทำหน้าคาดคั้น ให้เขาเครียดขนาดไหน... ท่านว่าน้องเขาไม่รู้ตัวหรอกว่า หน้าตัวเองเป็นอย่างไร จ้องเขาอย่างกับจะบอกว่า จะใส่หรือไม่ใส่ จะใส่ก็ใส่มาเร็ว ๆ (ยายจำไม่ได้ชัดทุกคำที่ท่านพูด แต่ให้อารมณ์ว่า ‘น่ากลัวมาก’… บางท่านอาจได้ยินเองกับหูแล้ว
เรื่องที่เกี่ยวข้องกับญาติโยมที่ศรัทธาวัดท่าขนุน ศรัทธาหลวงปู่สาย
เหล่านี้ เป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่พวกเราต้องระมัดระวัง
…พระก็เดินแถวยาวมาก พวกเราก็ชอบไปช่วยงานใกล้ ๆ พระ มีกันก็หลายคนที่ไปล้อมอยู่รอบ ๆ พระ คงจะประมาณว่า ฉันยังไม่ได้ช่วยขนของบ้างเลย… จะไปใส่บาตรด้วย ก็ใส่กันคนละหลายชุด อาหารคงจะเหลือเฟือ (ที่จริงแล้ว ที่วัดจะจัดส่วนหนึ่งถวายเช้า แยกส่วนหนึ่งถวายเพล และแจกต่อไปให้กลุ่มคนแถวนั้น… ยายเคยได้ยินคล้าย ๆ ว่าที่คุกหรืออะไรนี่ ไม่ยืนยันข้อมูลนะจ๊ะ)…
ลำพังแถวพระ เดินชิดทางเท้า ก็ไม่กระไร แต่ตอนแถวพระข้ามถนนนี่ ก็นานพอควร ก็แถวยาว และชาวบ้านไม่นิยมขับรถตัดแถวพระแน่นอน แล้วหากแถวพระนั้นกว้างออกไปเต็มถนน เพราะมีโยมมาเดินขนานบ้าง ไม่ขนานบ้าง เต็มถนนเลย ชาวบ้านเขาจะไปอย่างไร… ไม่มีแถวพระ พวกเราก็ ‘ยิ่งใหญ่’ มาก อย่างท่านว่า
เดินเต็มถนนเหมือนเป็นทางเท้ากันเป็นปกติ !!!
พวกเราก็หลายกลุ่ม หลายคณะ… ยายว่าช่วยกันค่อย ๆ บอกแบบพูดคุยให้ข้อมูลกัน เป็นระยะ พวกมาเดี่ยว ๆ ก็บอกต่อให้ถูกต้องเหมาะควร ท่านที่เป็นหัวหน้าคณะหรือพาทีมมา ก็เล่าสู่กันฟังแบบออกไมค์ไปเลย แทนพระอาจารย์ที่ต้องคอยมาบอกพวกเราออกไมค์อยู่เสมอ ดีกว่า…
รักษากำลังใจ รักษาศรัทธาที่ชาวบ้านมีต่อพระอาจารย์ของพวกเรา
และยังทดแทนพระคุณหลวงปู่สาย ที่เจริญศรัทธาญาติโยมไว้ทั่วเมืองกาญจน์ฯ
ตอนที่ ๒ เรื่องไปใส่บาตรที่ตลาดของยายนี้ สรุปว่า
ห้อมล้อมแถวพระ เกะกะทั่วถนน ไม่เกรงใจคน
ทำตนอวดกร่าง อยู่ข้างอาจารย์ ออกแนวระราน ประจานผู้ใด ?
(ขออภัย ออกแนวหนักไปหน่อยจ้ะ...
แต่ยายว่า ตอนที่ ๓ ที่จะปิดเล่าเรื่องคราวนี้ ตอน รักษาอารมณ์ รักษากำลังใจ อาจจะหนักกว่า)