เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ |
วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ กระผม/อาตมภาพมีภารกิจในการเข้าอบรมตามโครงการ Upskill การสอนวิชาทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยดำเนินการ ดังที่ได้กล่าวเอาไว้ว่า "ทุกครั้งที่เข้า ก็ต้องมีประเด็นให้พูดถึงเสมอ"
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าบางวิชาอย่างเช่นพระอภิธรรมปิฎก บุคคลที่เรียนแต่วิชาการนั้น โอกาสที่จะตีความให้ถูกต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นบุคคลที่ผ่านการปฏิบัติมาอย่างโชกโชนเท่านั้น จึงจะสามารถตีความได้ถูกต้อง และระดับการตีความนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละท่าน ว่าท่านปฏิบัติไปถึงระดับไหน ยิ่งปฏิบัติในระดับสูงมาก ก็ตีความได้ลึกซึ้งมาก ปฏิบัติได้น้อยก็ตีความได้น้อย ในวันนี้ผู้บรรยายได้อธิบายถึงนิมิต ๓ คือ บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต โดยที่ท่านใช้คำว่า ปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอุปจารสมาธิ เป็นภาพติดตาเหมือนกับรูปถ่าย ตรงจุดนี้ กระผม/อาตมภาพอยากที่จะแสดงความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนในฐานะผู้ปฏิบัติในกสิณมาก่อน แต่ว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้เปิดไมค์ฯ ให้ ไม่สามารถที่จะแสดงความเห็นในระหว่างนั้นได้ เมื่ออธิบายไปจนจบก็เลยเวลาเพลไปมากแล้ว จึงไม่สามารถที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ให้สำเร็จเสร็จสิ้นทีเดียว จนต้องมากล่าวกันในที่นี้ ในส่วนของบริกรรมนิมิตนั้นไม่มีปัญหา เพราะว่าเราลืมตามองภาพ หลับตาลงแล้วก็บริกรรมภาวนาไป อย่างเช่นว่า ถ้าเป็นภาพพระพุทธรูป ก็คือการที่เราลืมตามองภาพพระพุทธรูป หลับตาลงนึกถึงภาพนั้น พร้อมกับคำภาวนาว่า พุทโธบ้าง สัมมาอะระหังบ้าง นะมะพะธะบ้าง ตามแต่สายกรรมฐานที่ตนเองฝึกมา ส่วนอุคคหนิมิตนั้นเป็นนิมิตเริ่มติดตา นี่ถึงจะเป็นนิมิตที่มีลักษณะเหมือนกับภาพถ่าย ก็คือสามารถลืมตาก็เห็น หลับตาก็เห็น ตรงจุดนี้จึงเป็นอุปจารสมาธิ ในส่วนของปฏิภาคนิมิตนั้น กำลังใจเริ่มทรงตัวเป็นฌานแล้ว และภาพนิมิตก็มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย อย่างเช่นว่าจากสีเข้มเป็นสีจางลง จากสีจางลงเป็นสีขาว จากสีขาวเป็นสีใส จากสีใสเป็นสว่างเจิดจ้า ดังนั้น..ปฏิภาคนิมิตจึงเป็นระดับของอัปปนาสมาธิตั้งแต่ระดับปฐมฌานขึ้นไปจนถึงฌาน ๔ เต็มระดับ ก็คือถ้าหากว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของสีสันวรรณะ ก็แปลว่าท่านเริ่มเข้าสู่ปฐมฌานแล้ว และองค์สมาธิจะค่อย ๆ ดิ่งลึกลงไป ลึกลงไป จากสีอ่อนเป็นสีจาง ก็อยู่ประมาณส่วนของทุติยฌาน คือฌานที่ ๒ จากสีจางเป็นสีขาว ก็คือในส่วนของฌานที่ ๓ จากสีขาวเริ่มเป็นสีใส ก็คือส่วนของฌานที่ ๔ เมื่อสว่างเจิดจ้า นั่นคือฌาน ๔ ละเอียด เป็นการทรงสมาธิในรูปฌานเต็มระดับ ดังนั้น..ตรงจุดนี้ที่ท่านผู้บรรยายพยายามอธิบายไปแบบ "คิดว่า..คาดว่า..น่าจะเป็นอย่างนั้น" จึงเป็นการบรรยายแบบนักวิชาการ ไม่ใช่บุคคลที่ผ่านการปฏิบัติมาอย่างแท้จริง ที่จะสามารถบอกกล่าวได้อย่างชัดเจนกว่า |
นอกจากนั้นแล้วก็มีการกล่าวถึงอารัมณูปนิชฌาน บอกว่าเป็นฌานที่แผดเผาซึ่งนิวรณ์ กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกว่า คำอธิบายตรงนี้ไม่ตรงนัก เพราะว่าตราบใดที่ยังมีนิวรณ์อยู่ เราไม่สามารถที่จะทรงฌานได้ ต้องก้าวข้ามนิวรณ์ไปแล้ว จึงจะสามารถทรงฌานได้
ไม่เช่นนั้นแล้ว อารมณ์ที่ฟุ้งซ่านไปในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศก็ดี อารมณ์ที่โกรธเกลียด อาฆาตพยาบาทผู้อื่นก็ดี อารมณ์ที่ง่วงเหงาหาวนอน ชวนให้ขี้เกียจปฏิบัติก็ดี อารมณ์ลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติว่าจะเป็นจริงหรือว่ามีจริง หรือว่าได้จริงหรือไม่ก็ดี หรือว่าท้ายที่สุด ในส่วนของอารมณ์ใจที่ฟุ้งซ่าน ไม่ตั้งมั่นก็ดี อารมณ์ทั้งหลายนี้ย่อมทำให้กำลังใจของเราไม่สามารถที่จะทรงฌานได้ เมื่อทรงฌานไม่ได้ แล้วจะไปแผดเผากิเลส หรือว่ากดทับกิเลส หรือว่าก้าวข้ามกิเลสได้อย่างไร ? ดังนั้น...อารัมณูปนิชฌานต้องเป็นอารมณ์ที่ก้าวข้ามนิวรณ์ไปได้แล้ว ขณะเดียวกัน ท่านก็มีคำอธิบายว่า ปีติที่จะทรงฌานได้นั้น ต้องเป็นผรณาปีติเท่านั้น ท่านทั้งหลายคงจะศึกษามาแล้วว่า ปีติประกอบไปด้วย ขณิกาปีติ มีอาการเหมือนกับขนลุกเป็นระลอก ๆ ขุททกาปีติ มีน้ำตาไหล โอกกันติกาปีติ มีร่างกายโยกโคลงไปมา บางทีก็ดิ้นตึงตังโครมครามไปเลยก็มี อุเพ็งคาปีติ ลอยขึ้นไปได้ทั้งตัว ท้ายที่สุดคือผรณาปีติ มีความรู้สึกซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย บางทีก็รู้สึกว่าตัวรั่วเป็นรู มีสิ่งของไหลออกมาซู่ซ่าไปหมด บางทีก็รู้สึกตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวแตก ตัวระเบิด เหล่านี้ยังเป็นแค่อารมณ์ปีติ ไม่มีทางที่จะเป็นฌานไปได้ จนกว่าท่านทั้งหลายจะก้าวผ่านปีติไปแล้ว เป็นความสุข แล้วถึงจะเข้าถึงเอกัคตารมณ์ ต้องมาถึงตรงนี้จึงทรงเป็นฌานอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาเป็นแค่ขั้นตอนของการก้าวไปสู่ฌานเท่านั้น ดังนั้น..ตราบใดที่ยังไม่เข้าถึงอุเบกขา จึงไม่สามารถที่จะเป็นองค์ฌานได้ อุเบกขาในที่นี้คือเอกัคตารมณ์ อารมณ์ที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว คำว่าเอกัคตา ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวนั้น ถ้าแยกออกแล้ว จะมีอารมณ์อุเบกขาอยู่ภายในด้วย |
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่อธิบายไปจึงเป็นความเข้าใจตามลักษณะของนักวิชาการที่บอกเล่าสืบ ๆ กันมาเท่านั้น แต่ถ้าหากว่าเป็นนักปฏิบัติ บางทีก็ไม่ได้สนใจที่จะไปศึกษาว่า สิ่งที่ตนเองทำได้นั้นเรียกว่าอะไร ก็คือการกระทำนั้นสำคัญกว่าคำเรียกหา เป็นต้น
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงต้องเอาทั้งนักวิชาการ คือผู้ศึกษาด้านปริยัติธรรม กับนักปฏิบัติ ก็คือผู้ศึกษาทางด้านปฏิบัติธรรมมารวมกันเข้า จึงสามารถที่จะรู้ได้ครบถ้วน ไม่เช่นนั้นแล้วก็ยังมีการผิด ๆ ถูก ๆ อยู่ ฝ่ายปฏิบัติได้เรียกชื่อผิดก็ไม่กระไรนัก แต่การที่ฝ่ายปริยัติอธิบายไปผิด ๆ อาจจะทำให้ลูกศิษย์เป็นมิจฉาทิฏฐิได้ แล้วขณะเดียวกัน ก็มีบุคคลสอบถามไปในช่องแชตของระบบซูมว่า เหตุใดผู้ที่ทรงฌานได้จึงมักจะโมโหร้าย ? ตรงจุดนี้กระผม/อาตมภาพเคยอธิบายไปแล้วว่า ถ้าหากเราทรงฌานทรงสมาบัติได้ คือว่าเราทรงในสมถกรรมฐาน ถ้าไม่ได้นำเอากำลังที่ได้ไปพิจารณาในวิปัสสนากรรมฐานแล้ว เราก็จะโดนกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ฉวยเอากำลังนั้นไปใช้งาน ก็จะกลายเป็นฟุ้งซ่านบ้าง รักบ้าง โลภบ้าง โกรธบ้าง หลงบ้าง อย่างเป็นการเป็นงาน เป็นหลักเป็นฐาน ดังนั้น..บรรดาท่านที่ทรงฌานทรงสมาบัติได้ ถ้าไม่ปฏิบัติต่อในส่วนของวิปัสสนากรรมฐาน ถึงเวลากระทบอะไร ก็จะแสดงอาการโมโหออกมารุนแรง อย่างที่ท่านทั้งหลายเรียกว่าโมโหร้าย เป็นต้น เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จึงเป็นที่น่าเสียดายว่า น้อยคนที่เป็นอาจารย์สอนวิชาทางพระพุทธศาสนา แล้วจะเป็นนักปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงทำให้ยังมีข้ออธิบายที่บกพร่องบ้าง ผิดพลาดบ้าง ตลอดจนกระทั่งระยะเวลาที่น้อยจนเกินไป ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้อย่างเต็มที่ อีกประการหนึ่ง ทางด้านผู้จัดก็ไม่ต้องการให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มากนัก เพราะว่าบางทีก็ไปเจอท่านที่ต้องการอวดตนอย่างเดียว ไม่ยอมรับความรู้สิ่งอื่น ๆ เลย นอกจากความรู้ตามสายที่ตนเองศึกษามา จึงทำให้การแลกเปลี่ยนความรู้กลายเป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันตามสายกรรมฐานไปอีกต่างหาก..! |
อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในวันนี้กระผม/อาตมภาพได้มอบผงคำข้าวที่ทำการเสกแล้วให้แก่บุคคลที่มารับไปดำเนินการ เพื่อสร้างสมเด็จคำข้าว วัดท่าขนุน ที่ตกลงกันไว้ว่าจะมีอยู่ ๓ พิมพ์ ก็คือปรกโพธิ์พิมพ์ใหญ่ องค์ประมาณพระสมเด็จขนาดมาตรฐาน ปรกโพธิ์พิมพ์เล็ก องค์ประมาณสมเด็จคำข้าว วัดท่าซุง และขณะเดียวกันก็ยังมีองค์จันทร์ลอย ก็คือเป็นลักษณะทรงกลม ด้านหน้าเป็นรูปสมเด็จองค์ปฐมทองคำวัดท่าขนุน ด้านหลังจะเป็นพระคาถามหาเศรษฐีเงินล้าน
ตรงจุดนี้ยังไม่ขอกล่าวถึง ที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ ท่านผู้ที่รับไปดำเนินการนั้น เมื่อกลับบ้านก็ไปภาวนาพระคาถาเงินล้าน ๑๐๘ จบให้ครบตามกำลังใจของตน ปรากฏว่าเมื่อภาวนาจบแล้ว รู้สึกปวดหัวเหมือนกับจะระเบิด..! ลืมตาขึ้นมาจึงเห็นว่าตนเองวางผงคำข้าวไว้ใกล้ชิดติดกับตัวเลย จึงได้กราบขอขมาพระและอธิษฐานว่า "อาการปวดหัวขนาดนี้ ถ้าเป็นเพราะบารมีพระจริง ๆ ก็ขอให้หายในฉับพลัน" แล้วก็รายงานมาว่า "หายวับไปเหมือนกับปลิดทิ้งเลย" กระผม/อาตมภาพอยากจะบอกว่า การสร้างพระสมเด็จคำข้าว วัดท่าขนุนนั้น ถ้าหากว่าเป็นไปตามคำพรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ก็คือ "ปลอดโรค ให้ลาภ และศัตรูพินาศ" ดังนั้น..ในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เล่ามา เป็นการแสดงให้เห็นว่า ด้านการรักษาโรคนั้น ท่านก็ทำได้เช่นกัน โดยเฉพาะตั้งแต่เริ่มการตำผงคำข้าวแล้วไม่มีการขอขมา ผู้ตำก็อยู่ในลักษณะปวดหัวแทบระเบิดในลักษณะนี้เช่นกัน แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านสงเคราะห์ให้อย่างเต็มที่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องไปปลุกเสกเพิ่มเติมก็ได้ แต่ตามที่ครูบาอาจารย์ได้บอกไว้ก็คือ ทำเพื่อรักษากำลังใจของหมู่ศิษย์ เนื่องเพราะว่าถ้าคณะศิษย์ไม่ได้เห็นการบวงสรวงพุทธาภิเษกเต็มพิธี อาจจะมีความลังเลสงสัย แล้วเสียประโยชน์ที่ตนเองจะพึงได้ในบางส่วนไป วันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๕ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:37 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.