กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=18)
-   -   เทศน์เรื่องการใส่บาตร (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=115)

เถรี 03-02-2009 08:06

เทศน์เรื่องการใส่บาตร
 
การใส่บาตรตอนเช้าเป็นประเพณีอย่างหนึ่ง เป็นความนิยมอย่างหนึ่งของประเทศเรา และโดยเฉพาะมีประโยชน์ใหญ่ที่เราคาดไม่ถึง

อันดับแรกก็คือว่า การใส่บาตรทุกวันทำให้ใจเราเกาะอยู่ในจาคานุสติและทานบารมี พอถึงเวลาตื่นเช้ามาต้องนึกแล้วว่าเราจะหาอะไรไปใส่บาตร อีกทั้งใจที่นึกอยู่เสมอยังเป็นสังฆานุสติด้วย เพราะรู้ว่าหลวงปู่ หลวงพ่อ หรือหลวงพี่เณรของเราจะมารับบาตร

ประการที่สองเป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของเราเอาไว้ ถ้าเราพร้อมเพรียงกันทำ อาจจะขายได้เช่นเดียวกับหลวงพระบาง ที่ใครไปหลวงพระบางก็ต้องไปใส่บาตรตอนเช้า กลายเป็นจุดขายของการท่องเที่ยวประเทศลาวไปเลย

ประการที่สาม เป็นการส่งต่อความดีจากรุ่นไปสู่รุ่น
ถ้าคนเป็นพ่อแม่ไม่ทำตัวอย่างไว้ ลูกหลานไม่มีตัวอย่างดู ต่อไปเขาจะไม่กล้าทำ เพราะฉะนั้น..เด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่ออกไปซ่าเป็นวัฒนธรรมใหม่ เพราะไม่มีตัวอย่างที่พ่อแม่ปู่ย่าตายายทำมา อย่างดีวันเกิดครั้งหนึ่งก็ไปใส่บาตร อีก ๓๖๔ วันเราทำตัวออกห่างจากความดีตลอด ดังนั้น..การส่งต่อวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเรื่องสำคัญมาก

ประการที่สี่ การใส่บาตรตอนเช้าเป็นบุญใหญ่มหาศาลเพราะเป็นการต่ออายุพระพุทธศาสนา พระเณรต้องการอาหารอยู่ทุกวัน เมื่อได้อาหารไป ท่านสามารถที่จะดำรงธาตุขันธ์อยู่ได้เพราะว่ามีภัตตาหาร ขบฉันแล้วก็มีกำลังศึกษาเล่าเรียนทั้งปริยัติและปฏิบัติ พอรู้จริงก็นำมาสั่งสอนชาวบ้านต่อ ทำให้ศาสนาเผยแผ่กว้างออกไป หรือไม่ก็เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาไม่ให้สิ้นสุดลงในรุ่นของเรา

ส่วนประการที่ห้านั้นเป็นเรื่องที่เราบางทีก็ไม่ได้นึกถึง ถ้าทุกบ้านพร้อมเพรียงสามัคคีกันใส่บาตร ศาสนาอื่นจะไม่กล้ารุกรานเราหรอก เขาเห็นความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งเดียว เห็นความเข้มแข็งของพวกเรา พวกที่คิดจะยุ่งเกี่ยวกับเราก็ต้องถอยไปก่อน

เถรี 03-02-2009 08:07

การใส่บาตรมีกติกาอยู่อย่างเดียวว่า ถวายด้วยความเคารพ ฉะนั้น..สมัยก่อนบ้านเศรษฐีหรือว่าพระราชวัง บรรดาข้าทาสบริวารเขาอยากใส่บาตร แต่คราวนี้เจ้านายไม่ยอมให้เปิดประตู เขาจึงใช้วิธีโยนข้ามกำแพงมา ให้พระรับได้ พระพุทธเจ้าอนุญาตไว้ ท่านบอกว่าสำคัญตรงที่เขาน้อมให้ด้วยความเคารพเท่านั้น ก็เลยมีประเพณีที่เราใช้ข้าวต้มลูกโยน

ส่วนใหญ่ข้าวต้มลูกโยนจะมาตอนตักบาตรเทโว เพราะคนเยอะด้วยกัน ข้างหลังเขาเข้าไม่ถึง เขาเลยทำข้ามต้มลูกโยนที่มีหางยาว ๆ เอาไว้โยน และก็กลายเป็นประเพณีโยนบัวรับบัวกันที่พระประแดง วัฒนธรรมประเพณีส่วนใหญ่ของบ้านเรา มาจากศาสนาพุทธแทบทั้งหมด บางอย่างถึงไม่ใช่ของศาสนาพุทธ เป็นของพราหมณ์มาก่อน อย่างพิธีสงกรานต์เราก็เอาพิธีพุทธใส่เข้าไป ทำบุญใส่บาตรเสร็จแล้วค่อยไปเล่นสาดน้ำกัน

เถรี 03-02-2009 08:08

ในเรื่องของการใส่บาตรที่ส่งต่อความดีจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งนั้น
วัดท่าขนุนเวลาตักบาตรเทโว เฟิร์สเขาจะไปช่วยงาน
รุ่นปู่ย่าตายายอายุ ๗๐-๘๐ ปี บางคนก็ต้องนั่งรถเข็นมา
รุ่นพ่อรุ่นแม่อายุ ๕๐-๖๐ ปีก็มี
รุ่นป้ารุ่นน้าอาอายุ ๔๐-๕๐ ปีก็มี
รุ่นพี่ ๆ ของเขาอายุ ๓๐ ปีก็มี
วัยรุ่นอายุ ๑๒ ปี ๑๓ ปี ๑๔ ปีลงมา กระดี๊กระด๊า อยากไปใจจะขาด จะได้ไปดูว่ามีใครสวย ๆ หล่อ ๆ แถวนั้นบ้างไหม ?
ตัวเล็กกว่านั้น ๓ ขวบ ๕ ขวบ เกาะแข้งเกาะขาไปเป็นแถว ๆ
แล้วยังมีที่อุ้มคอพับคออ่อนไปอีก เพิ่งจะเดือนสองเดือนก็มีโอกาสไปทำบุญอย่างนั้นแล้ว อันนั้นเป็นพวกพี่น้องมอญพม่า เขาส่งต่อวัฒนธรรมได้ดีมาก ๆ

ถ้าเป็นเรากล้าหรือ ? อุ้มเด็กเดือนสองเดือนไปตากแดดใส่บาตร เพราะเขาเริ่มตอนประมาณแปดโมงครึ่งกว่าจะเสร็จก็ร่วมเพล แดดช่วงนั้นแรงมาก ๆ แต่เขาก็ไปกางร่มกัน บางทีเด็กหลับคอพับคออ่อน อาตมายังไปยืนรอเลย พ่อแม่ยัดใส่มือเด็ก เด็กเขาก็ใส่ เป็นการช่วยเสริมสร้างให้เขาชินกับการทำความดี เพราะฉะนั้น..การส่งต่อวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่นถ้าไม่มี ก็จะโดนวัฒนธรรมอื่นกลืนไปหมด โดยเฉพาะปัจจุบันเรารับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาเยอะ สไตล์อเมริกันจะครองโลกอยู่แล้ว จะกินก็ต้องเคเอฟซี ต้องแฮมเบเกอร์ ต้องโค้ก เงินไหลออกนอกไปหมด

เถรี 03-02-2009 08:09

อย่ามองข้ามผลบุญพื้นฐานอันนี้ไป เพราะเป็นบุญใหญ่อย่างนึกไม่ถึง การใส่บาตรต่อให้ไม่ครบ ๔ รูปก็เป็นสังฆทานอยู่แล้ว สังฆะคือหมู่สงฆ์ หมายเอาตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป แต่ถ้าหากว่าเราไม่เจาะจงว่าจะใส่บาตรรูปไหน ต่อให้มารูปเดียวก็เป็นสังฆทาน ยกเว้นว่า หลวงปู่องค์นั้นมาเราจะใส่ องค์นี้มาเราจะใส่ ถ้าอย่างนั้นจะเป็นปาฏิบุคลิกทาน เป็นทานเฉพาะตน แต่ถ้าเราคิดว่าไม่ว่าหลวงปู่ หลวงพ่อองค์ใดมาเราก็จะใส่ นั่นเป็นสังฆทานเลย เพราะไม่ได้เจาะจงว่าเป็นของใคร

ดังนั้น..สังฆทานไม่ได้หมายความว่าต้องมาถวายที่นี่ ใส่บาตรหน้าบ้านก็เป็นสังฆทานได้ และมีผลใหญ่อย่างที่ว่ามา ถ้ามีโอกาสให้พยายามช่วยกันฟื้นขึ้นมาหน่อย

เถรี 03-02-2009 08:09

อาตมาเห็นพระในกรุงเทพฯ มาบิณฑบาตตั้งแต่ตอนตี ๒ นั่นจะทำให้เกิดอาบัติศีลขาดด้วย เพราะเท่ากับรับประเคนอาหารค้างคืน

พระบางรูปอาตมาก็บอกเขาไปว่า ออกไปอย่างนั้นขาดพรรษานะคุณ เขาบอกว่าจะยอมขาดพรรษาดีหรือจะยอมอดดี?

การรักษาพระธรรมวินัย เราต้องแลกด้วยชีวิต อันนั้นเขาบอก เขาไม่ยอมอด เขาทิ้งธรรมวินัย ฉะนั้น..โอกาสที่จะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมก็หายาก

เถรี 03-02-2009 08:10

การบิณฑบาตของวัดท่าขนุน เป็นวัดเดียวที่บิณฑบาตตามลำดับไหล่ไม่ใช่ตามลำดับพรรษา หลวงพี่ฝุ่นอยู่หน้า แต่พระครูน้อยอยู่หลัง คนสูง ๑๘๕ กับคนสูง ๑๕๐ ต่างกันมาก ก็เลยบอกพวกท่านว่า เฉพาะบิณฑบาตอย่างเดียว ไม่ต้องจัดตามลำดับพรรษา

การจัดตามลำดับความสูง ให้ผู้อาวุโสที่สูงอยู่นำหน้า อันนั้นถือว่าเป็นหัวแถวไม่ต้องนับความสูง แต่ต่อไปให้ตามลำดับไหล่ จะดูดีกว่า

ปรากฏว่าเว็บพันทิปเขาไปขอถ่ายรูป เขาเห็นว่าสวยดี เพราะวันนั้นเดินทั้งพระทั้งเณร ๒๐ รูปพอดี เขาก็ "นิมนต์หยุดก่อนได้ไหมครับ? ขอถ่ายรูปหน่อย เดินอยู่เดี๋ยวภาพจะไม่ชัด"
"เอ้า..หยุดก็หยุด" ยังดีไม่ให้วางท่าด้วย ถ้ามีภาพเณรแยกเขี้ยวยิ้มอยู่ท้ายแถว กลับไปเดี๋ยวจะไปเตะเณร..!


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:03


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว