กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน เดือนมีนาคม ๒๕๖๗ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=146)
-   -   เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๗ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=10094)

ตัวเล็ก 16-03-2024 19:03

เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๗
 
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๖๗



เถรี 17-03-2024 01:04

วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพวิ่งไปธุดงค์สถาน กองทุนหลวงปู่ปาน โสนันโท หมู่ที่ ๒ ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งแต่เช้า เพื่อไปทำการบวงสรวงปลุกเสกวัตถุมงคล ให้กับท่านอาจารย์ต้น (ธนสาร เซ้งรักษา)

แต่เมื่อไปถึง ปรากฏว่ามีรถกระบะบรรทุกวัตถุมงคลหลายคันไปจอดอยู่ข้างศาลามณฑลพิธี โยงสายสิญจน์มาที่รถเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว สอบถามได้ความว่า เป็นของหลวงพ่อชลอ (พระครูสาครสิทธิวิมล) วัดศาลพันท้ายนรสิงห์ ฝากนำมาเข้าพิธีด้วย

กระผม/อาตมภาพยังบ่นกับลูกศิษย์ว่า "คิดว่าปีนี้จะไปกินข้าวที่วัดพี่ชลอเสียหน่อย ปรากฏว่าอดอีกแล้ว..!" ซึ่งเรื่องนี้เป็นการบ่นเฉย ๆ เท่านั้น ไม่ได้มีความหมายอะไร เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าวัดศาลพันท้ายนรสิงห์นั้น ก็คือพี่น้องที่บวชออกมาจากอุโบสถวัดจันทาราม (ท่าซุง) จังหวัดอุทัยธานีด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็เหลือให้เห็นหน้ากันแค่ไม่กี่รูปเท่านั้น

เมื่อได้เวลา กระผม/อาตมภาพก็กราบขอบารมีพระ ทำพิธีบวงสรวงบูชาพระรัตนตรัย และปลุกเสกวัตถุมงคล ซึ่งวัตถุมงคลของวันนี้นั้น ก็มีพระเนื้อยาจินดามณีของกระผม/อาตมภาพ ซึ่งหลวงพ่อพระครูปลัดพิจารย์ วิจารโณ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ผักไห่ ท่านสร้างถวาย มีทั้งของท่านเอง มีทั้งในส่วนที่แบ่งให้ท่านอาจารย์ต้นเอาไว้จำหน่าย เพื่อซื้อที่ดินของกองทุนหลวงปู่ปานเพิ่มเติม และส่วนที่ถวายกระผม/อาตมภาพตามความตั้งใจของท่าน จำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์ เพื่อช่วยงานของวัดท่าขนุน โดยที่มีกำหนดการเข้าพิธีตามฤกษ์ตามยามอีก ๒ วาระด้วยกัน

กระผม/อาตมภาพก็รออยู่ว่าเมื่อไรจะเสร็จเรียบร้อย เนื่องเพราะว่าตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อพระครูสมุห์อภิสิทธิ์ อภิญาโณท่านยังอยู่ ท่านก็ได้เป็นผู้สอนในเรื่องของการวางฤกษ์วางยามต่าง ๆ ให้กับทั้งพระครูปลัดพิจารย์ วิจารโณ และท่านอาจารย์ต้น (ธนสาร เซ้งรักษา) เพื่อให้สิ่งต่าง ๆ ที่เราได้กระทำ โดยเฉพาะวัตถุมงคลต่าง ๆ นั้น เป็นสิ่งที่ "ทั้งดีนอกและดีใน"

ถ้าหากว่าญาติโยมท่านใดรู้จักสังเกต ก็จะเห็นวัตถุมงคลบางอย่าง โดยเฉพาะตะกรุด ซึ่งเป็นวัตถุมงคลหลัก ๆ ที่ครูบาอาจารย์ทุกรูปจะต้องสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นการทดสอบวิชาของตนเอง ว่าสามารถที่จะใช้วิชาการต่าง ๆ นั้น ได้ผลอย่างแท้จริงหรือไม่ ?

เถรี 17-03-2024 01:08

โดยเฉพาะเมื่อถึงเวลาแล้ว ก็มีการจารตะกรุดด้านหน้า แล้วก็จารปิด เป็นการประทับหลัง จึงมีหลายต่อหลายสำนักที่ม้วนตะกรุดแล้ว ถ้าหากว่าไม่ได้ถักเชือกพันให้ ก็จะมองเห็นรอยจารด้านนอกอย่างชัดเจน หรือไม่ก็จารจากด้านในทะลุมาด้านนอก แล้วใช้วิธี "กรึง" ก็คือการม้วนไปพร้อมกับว่าคาถากำกับ แทนการจารยันต์ประทับหลังไปด้วย

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความประณีตของหลวงปู่หลวงพ่อ โบราณาจารย์ต่าง ๆ ที่ท่านทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความยากลำบาก ก็เพื่อให้ลูกศิษย์ที่ท่านรักเอาไว้ป้องกันตัว เอาไว้บูชาแทนองค์ท่าน ยามที่ไม่อยู่แล้ว

บรรดาตะกรุดหลัก ๆ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในยุทธจักร เราก็จะเห็นว่ามีแค่ไม่กี่สำนักเท่านั้น อย่างเช่นว่าตะกรุดมหาโสฬส สำนักวัดสะพานสูง จังหวัดนนทบุรี ตะกรุดคู่ชีวิต สำนักวัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร ตะกรุดมงกุฎพระพุทธเจ้า สำนักวัดหนัง จังหวัดธนบุรีในสมัยนั้น หรือปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ตะกรุดจันทร์เพ็ญ สำนักวัดปากคลองมะขามเฒ่า ตะกรุดมหาระงับ สำนักวัดบางกะพ้อม เป็นต้น

เรื่องพวกนี้ เราท่านทั้งหลาย ถ้าหากว่ายิ่งศึกษาไป ก็ยิ่งจะรู้สึกซาบซึ้งในความเมตตาของครูบาอาจารย์ เนื่องเพราะว่าอย่างตะกรุดมหาโสฬส ถ้าหากว่าสร้างขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเสกด้วยโองการมหาทมื่นให้ได้อย่างน้อย ๑๐,๐๐๐ จบ ส่วนใหญ่แล้วก็จะใช้เวลาในการสร้างและเสกประมาณ ๓ ปี..!

หรือถ้าหากว่าเป็นตะกรุดหนังหน้าผากเสือ สำนักวัดอรุณราชวราราม ของหลวงปู่นาค - พระพิมลธรรม (นาค สุมนนาโค ป.ธ. ๗) นั้นก็ต้องใช้เวลาในการเสกถึง "สามเสาร์ ๕" ด้วยกัน ก็แปลว่าเสกกันข้ามปีเช่นกัน เนื่องเพราะว่าปีที่บังเอิญมาก ๆ ก็จะมีวันเสาร์ ๕ สองครั้ง หรือว่าบางปีก็หาวันเสาร์ขึ้น ๕ ค่ำไม่ได้เลย เป็นต้น หรือถ้าอย่างครูบาอาจารย์ที่ท่านเคร่งครัดหนัก ๆ ท่านก็ทำตะกรุดหนังหน้าผากเสือเฉพาะปีขาล วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ ซึ่งกว่าจะมีปีขาลแต่ละครั้งนั้น ก็ต้องรอถึง ๑๒ ปี ถึงจะมีปีขาลสักครั้งหนึ่ง..!

ดังนั้น..วัตถุมงคลพวกนี้จึงเป็นเรื่องยาก ที่เราจะเรียนให้ลึกซึ้งและรู้จริง กระผม/อาตมภาพเองก็ต้องบอกว่า "รู้เพียงผิวเผิน" เท่านั้น ที่ศึกษาตามตำราและได้รับการ "ครอบครู" ตามสายวิชาการมาโดยตรงนั้นมีน้อย ส่วนใหญ่ก็ใช้ "วิธีลัด" คือถึงเวลาก็ไปกราบขอบารมีพระ กราบขอบารมีครูบาอาจารย์ หรือว่ากราบขอบารมีของพรหม ของเทวดา ให้ท่านมาช่วยอนุเคราะห์สงเคราะห์เสกวัตถุมงคลนั้น ๆ ให้

เถรี 17-03-2024 01:27

อย่างเช่นวันนี้ เมื่อตอนแรกก็ได้กราบขอบารมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้พระองค์ท่านช่วยเมตตาสงเคราะห์เสกวัตถุมงคลในครั้งนี้ด้วย พระองค์ท่านมอบหมายให้หลวงปู่โต - สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตารามมา หลวงปู่โตท่านจึงเมตตาพาลูกศิษย์ตามสายมา ไม่ว่าจะเป็นหลวงปู่เนียม วัดน้อย หลวงปู่โหน่ง วัดคลองมะดัน หลวงปู่ปาน วัดบางนมโค หลวงปู่สด วัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นต้น ลงมาจนถึงหลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุง

ในเมื่อเป็นเช่นนี้ กระผม/อาตมภาพก็ได้แต่นั่งมองว่าครูบาอาจารย์ท่านทำอะไรบ้าง หรือว่าท่านจะสั่งให้ทำอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นการวางกำลังใจให้ถูกต้องตามที่ท่านสั่ง และภาวนาคาถาตามที่ท่านสั่ง ซึ่งบางอย่างนั้นก็ต้องรักษากำลังใจของเรา ให้อยู่ในระดับ "ไร้ตัวไร้ตน" เรียกว่าเข้าถึงความเป็น "อนัตตา" อย่างแท้จริง ในเมื่อไม่มีตัวตนแล้ว ผู้ใดจะมาทำร้ายเราได้ ? เป็นต้น

เคล็ดลับพวกนี้ กระผม/อาตมภาพบางทีก็ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ตอนที่ท่านมรณภาพละทิ้งสังขารไปแล้ว ครูบาอาจารย์บางท่านก็มรณภาพไปแล้วเป็นร้อยเป็นพันปีก็มี จึงทำให้บรรดาลูกศิษย์สายวัดท่าซุง ซึ่งถ้าได้ทิพจักขุญาณที่ชัดเจนแล้ว ก็ย่อมที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ทั้งที่ไม่ได้ศึกษามาตรงสายเลยก็มี

เมื่อปลุกเสกวัตถุมงคลเสร็จเรียบร้อย กระผม/อาตมภาพก็อธิษฐานจิตทำน้ำมนต์ พรมรอบมณฑลพิธี และพรมรถที่บรรทุกวัตถุมงคลมาทุกคัน

หลังจากนั้นก็ขอตัวกับหลวงพ่อพระครูปลัดพิจารย์ วิจารโณและคณะ พร้อมกับท่านอาจารย์ต้น วิ่งฝ่ารถติด ตรงไปยังศูนย์ปฏิบัติธรรมคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม (แห่งที่ ๒) ถนนพุทธมณฑลสาย ๘ หมู่ที่ ๑ ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม "สองอำเภอ"

เนื่องจากว่าพื้นที่นั้นคร่อมอยู่บนอำเภอนครชัยศรี และอำเภอสามพราน โดยมีถนนกลางวัดเป็นเส้นแบ่ง ขออภัย..ที่กระผม/อาตมภาพเรียกว่า "วัด" ตามภาษาชาวบ้าน เนื่องเพราะว่าที่ไหนมีพระอยู่ปฏิบัติธรรม ชาวบ้านก็มักจะเรียกว่า "วัด" กันไปหมด แต่ว่าปากทางเข้านั้น อยู่ทางเข้าหมู่บ้านออมไทย เมื่อส่งรายงานจึงต้องบอกว่าหมู่ที่ ๑ ตำบลขุนแก้ว

เมื่อไปถึง ปรากฏว่าบรรดาว่าที่พระอุปัชฌาย์นั้น กำลังซักซ้อมภาคปฏิบัติ ก็คือการแสดงซึ่งอุปสมบทกรรมในภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง บรรดาท่านที่จับสลากได้เป็นพระอันดับก็ดี ได้เป็นพ่อแม่ของเจ้านาคก็ดี ถือว่าโชคดีไป ท่านใดที่จับสลากได้พระอุปัชฌาย์ ก็จะต้องหนักใจที่สุด เพราะว่าต้องดูแลพิธีกรรมทั้งหมดให้เป็นไปโดยถูกต้องสมบูรณ์ ท่านใดที่จับสลากได้เป็นคู่สวด ก็จะต้องสวดกันมากสักหน่อย

เถรี 17-03-2024 01:29

ส่วนท่านที่จับสลากได้เป็นเจ้านาคนั้น ก็จะต้องกล่าวคำทั้งขอบรรพชา ขอศีล ขอนิสสัย ขออุปสมบท ต้องลุก ๆ นั่ง ๆ ตามหลักการอุปสมบทของฝ่ายมหานิกาย ซึ่งถือตามแบบโบราณว่าการยืนนั้นเป็นการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง

คราวนี้ก็เป็นเวรเป็นกรรมของบรรดาว่าที่พระอุปัชฌาย์ตรงที่ว่า เมื่อท่านสวด หรือว่าให้ศีล หรือว่าคำสอนผิดพลาด ก็จะมีเสียงทักท้วงมาจากคณะกรรมการรอบด้าน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า คำว่า "พระอุปัชฌาย์" นั้น แปลว่า "ผู้เพ่งดูโดยตระหนัก" ก็คือต้องตระหนักรู้ในทุกเรื่อง ว่ามีอะไรผิด อะไรถูก การอุปสมบทครั้งนี้สมบูรณ์บริบูรณ์ไปแล้วด้วยวัตถุสมบัติ สีมาสมบัติ กรรมวาจาสมบัติ และปริสสมบัติหรือไม่ ? บุคคลนี้สมควรจะได้รับการยกขึ้นสู่หมู่เป็นอุปสัมบัน คือผู้มีศีลและมีข้อวัตรปฏิบัติที่เสมอกันหรือไม่ ?

โดยเฉพาะการออกเสียงการสวดนั้น ส่วนใหญ่ว่าที่พระอุปัชฌาย์ ก็มักจะเลื่อนชั้นขึ้นมาจากการเป็นพระคู่สวดมาก่อน ด้วยความเคยชินในการสวดก็ดี ด้วยความที่ไม่ได้ยึดถือตามอักขระ ซึ่งเขียนเอาไว้ก็ตาม ก็มักจะสวดผิด อย่างเช่น "ยะทิ สังฆัสสะ ปัตตะกัลลัง" ก็มักจะออกเสียงเป็น "ยะถิ" เป็นต้น ก็จะทำให้กรรมวาจาวิบัติ ก็คือการสวดเพื่อยกอนุปสัมบันขึ้นเป็นอุปสัมบันนั้น มีความผิดเพี้ยน ไม่สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้

เรื่องนี้เมื่อเช้ากระผม/อาตมภาพ ก็ทักท้วงในไปกลุ่มไลน์ตลาดริมแควเมืองท่าขนุน เนื่องเพราะว่าร้านทองโยะของน้องอร (นางสาวบังอร พิเภก) ผู้ช่วยฝ่ายประชาสัมพันธ์เทศบาลตำบลทองผาภูมิ ขออนุญาตปิดร้านเสาร์อาทิตย์นี้ เนื่องเพราะว่าถูกหมอจับเข้าโรงพยาบาล ตามศัพท์ที่เรียกกันว่า"แอดมิท" แต่น้องอรเขียนคำว่า "ทองโย๊ะ" โดยใส่ไม้ตรีมาด้วย

กระผม/อาตมภาพจึงต้องทักท้วงกลับไป ให้ตัดไม้ตรีออก เนื่องเพราะว่าอักษรต่ำ ถ้าหากว่าเข้ากับสระเสียงสั้น ก็จะออกเสียงเป็นเสียงตรีอยู่แล้ว ไม่สามารถหรือว่าไม่ต้องใส่ไม้ตรีกำกับเข้าไปอีก

เรื่องพวกนี้สมัยที่กระผม/อาตมภาพเรียนอยู่นั้น ก็ต้องมีการท่องว่า อักษรสูงมีกี่ตัว อักษรกลางมีกี่ตัว อักษรต่ำมีกี่ตัว ในปัจจุบันนี้เด็ก ๆ ไม่สามารถที่จะแยกแยะแล้วว่า อักษรกลางกับอักษรต่ำต่างกันอย่างไร ?

เถรี 17-03-2024 01:34

แล้วโดยเฉพาะในปัจจุบัน การอ่านบางอย่างก็อ่านผิดเพี้ยนไปจากสมัยที่กระผม/อาตมภาพเรียนอยู่ อย่างเช่นว่าอักษรสูงนำอักษรต่ำ ให้ออกเสียงจัตวา อย่างเช่นว่า อัจฉรา (อัด-ฉะ-หรา) ที่แปลว่านางฟ้า แต่ว่าปัจจุบันนี้อ่านกันว่า อัด-ฉะ-รา ตามแบบของบาลีกันหมด เพราะว่าคำว่า อัจฉรา มาจากภาษาบาลีแปลว่านางฟ้า ในเมื่อเปลี่ยนค่านิยมจากการอ่านภาษาไทยมาเป็นภาษาบาลี ก็จะทำให้ท่านทั้งหลายบางทีก็สับสนกับชีวิต แต่ว่าเด็กรุ่นใหม่นั้นสามารถที่จะอ่านได้ถูกต้องทันที

อักษรสูงนำอักษรต่ำอย่างเช่นว่า สวิง (สะ-หวิง) สวาย (สะ-หวาย) ในเมื่อมี ส.เสือ ที่เป็นอักษรสูง นำ ว.แหวน ที่เป็นอักษรต่ำ ก็จะทำให้ออกเสียงจัตวา ก็คือเสียงที่กำกับด้วยไม้จัตวา ที่กระผม/อาตมภาพฟังแล้วเครียด เพราะเด็กสมัยนี้เรียกว่าเครื่องหมายบวก..! หรือว่า สลา (สะ-หลา) ที่แปลว่า หมาก เป็นต้น

ในเมื่อเป็นเช่นนี้คำว่า อัจฉรา (อัด-ฉะ-หรา) ปัจจุบันนี้อ่านว่า อัด-ฉะ-รา ก็ทำให้หลักภาษาไทยของเราผิดเพี้ยนกันไปหมด ทำไมถึงไม่อ่านให้ถูกต้องก็ไม่ทราบ ?

แล้วยิ่งมาในสมัยที่บรรดา "แช็ต" ต่าง ๆ เจริญรุ่งเรือง กระผม/อาตมภาพเข้าไปอ่านคอมเม้นท์ของแต่ละท่านแล้ว ก็ยังขบเขี้ยวเคี้ยวฟัน ว่าถ้าเป็นครูสอนภาษาไทย พ่อจะฟาดให้ตูดลายเลย..!

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าแต่ละท่านล้วนแล้วแต่เขียนอักขระวิบัติ ภาษาวิบัติ อะไรพิลึกพิลั่นออกมามากมายไปหมด จนต้องมานึกถึงท่านศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต หรือว่าท่านอาจารย์แม่สุนีย์ (รศ.สุนีย์ สินธุเดชะ) ถ้าหากว่ารุ่นนี้ไปเรียนกับท่าน มีหวังโดนบิดพุงเขียว หรือว่าดึงกันหูยานไปข้างหนึ่ง..! ก็ได้แต่ค่อย ๆ แก้ไขกันไป ในขอบเขตที่กระผม/อาตมภาพรับผิดชอบอยู่ นอกเหนือจากนั้น คงต้องปล่อยให้เป็นภาระของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันเสาร์ที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 10:19


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว