กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๙ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5052)

เถรี 29-06-2016 15:03

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๙
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกของเราไหลเข้าไปพร้อมกับลมหายใจ หายใจออก...ให้ความรู้สึกของเราไหลออกมาพร้อมกับลมหายใจ จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ สิ่งที่อยากจะบอกกันในวันนี้ ก็คือ ส่วนใหญ่แล้วพวกเราได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติพระกรรมฐาน แต่กลับไม่ค่อยจะสามารถเอาผลของการปฏิบัติไปใช้งานในชีวิตจริงได้ ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็คือการปฏิบัตินั้นเป็นหมัน ไม่เกิดผล เพราะว่าในชีวิตจริงของเราต้องเผชิญหน้ากับ รัก โลภ โกรธ หลง อยู่ตลอดเวลา แล้วเราไม่สามารถที่จะเอาการปฏิบัติธรรมของเราไปใช้ในชีวิต ประจำวันให้เกิดผล ก็ไม่สามารถที่จะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเราเป็นนักปฏิบัติธรรม

ความจริงจะว่าไปแล้ว พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย สอนเราให้ใช้หลักธรรมในการแก้ปัญหาชีวิตอยู่ตลอดเวลา แต่เรามักจะไม่เข้าใจหรือปัญญาไม่ถึง อย่างเช่นบางครอบครัวที่บอกว่า “เมื่อเกิดอะไรขึ้นให้หายใจลึก ๆ ไว้นะลูก” ก็คือการที่เรากลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก กลับมาอยู่กับอานาปานสติ ทำให้เราสามารถตั้งสติได้ ในเมื่อเราตั้งสติได้ ไม่ไหลไปตามกระแสเฉพาะตรงนั้น จิตใจของเราก็ไม่วุ่นวาย ไม่ขุ่นมัว ก็จะเห็นช่องทางในการแก้ปัญหาได้

เถรี 29-06-2016 15:04

บางท่านก็สอนลูกสอนหลานว่า “เกิดอะไรขึ้นให้นับ ๑-๑๐ นะลูก ไม่ก็นับ ๑-๑๐๐ เอาไว้” นั่นก็คือลักษณะของการตั้งสติเสียก่อน กลับมาอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันของเรา นับ ๑-๑๐ อาจจะตามช่วงลมหายใจเข้าออกก็ได้ นับ ๑-๑๐๐ บางทีก็รู้สึกว่านานไป แต่ก็ช่วยให้กำลังใจของเราเยือกเย็นลงได้มาก แปลว่าโบราณนั้นรู้จักการนำเอาหลักปฏิบัติกรรมฐานมาใช้ในชีวิตจริง แต่เราในปัจจุบันไม่ค่อยรู้จักนำหลักเหล่านี้มาใช้ในชีวิตของเรา

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ผลการปฏิบัติธรรมของเราจึงไม่บังเกิดผลอย่างแท้จริง เพราะไม่เคยเอาไปทดลองใช้ หรือว่าเอาไปใช้ก็แพ้ราบกลับมา ดังที่ได้กล่าวเมื่อครู่นี้ว่า สาเหตุใหญ่ก็คือเราขาดธัมมวิจยะ ไม่รู้ว่าตอนนี้สมาธิของเราดี กำลังใจของเราดีนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร ไม่รู้ว่าตอนนี้สมาธิของเราตก กำลังใจของเราตกนั้นเป็นเพราะสาเหตุอะไร

ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะรู้สาเหตุ ในเรื่องของความดีเราก็ไม่สามารถสร้างเหตุขึ้นมาได้ ในเมื่อสร้างเหตุไม่ได้ผลดีก็ไม่เกิด เราก็ต้องมาลำบากเดือดร้อนกับสภาพจิตที่ฟุ้งซ่านไปใน รัก โลภ โกรธ หลง ถ้าไม่รู้ว่าสมาธิของเราตกเพราะสาเหตุอะไร ไม่รู้ว่าความชั่วเข้ามาตอนไหน เราก็ไม่สามารถที่จะป้องกันใจของเราไม่ให้ความชั่วเล็ดลอดเข้ามาได้

เถรี 30-06-2016 13:27

เมื่อเป็นดังนี้...จึงอยากจะให้ทุกคนเมื่อเกิดเหตุเฉพาะหน้าขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกำลังใจของเราดีขึ้นในการปฏิบัติธรรม หรือว่าพังลงเพราะการปฏิบัติธรรม ให้เราค่อย ๆ ตั้งสติที่พอมีอยู่ นึกย้อนหลังไปว่า ตอนที่เราทำแล้วดี ความดีเกิดขึ้น จิตใจสงบระงับ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดไม่ได้ เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน เราภาวนาอย่างไร พิจารณาอย่างไร แล้วเราก็สร้างสิ่งแวดล้อมแบบนั้นขึ้นมาใหม่ หรือไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้นใหม่

อย่างเช่นว่ามาปฏิบัติธรรมที่บ้านวิริยบารมีอย่างนี้ ทำให้รู้สึกว่ากำลังใจทรงตัวได้ง่าย เพราะว่าทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นนักปฏิบัติเหมือน ๆ กัน กระแสใจไม่ขัดกัน เราก็ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนั้น เราใช้คำภาวนาแบบไหนแล้วกำลังใจทรงตัวได้ง่าย เราก็ใช้คำภาวนาแบบนั้น เราพิจารณาแบบไหนที่สภาพจิตยอมรับแล้วปล่อยวางลงได้ เราก็พิจารณาแบบนั้นใหม่ เมื่อเราสร้างเหตุที่ดี ที่ถูกขึ้นมา ผลดีก็ย่อมเกิดแก่เราเอง

ในเมื่อกำลังใจของเราพังลงไป ให้พยายามใช้สติที่มีอยู่ ย้อนทบทวนไปดูว่า เราคิด เราพูด เราทำอย่างไรสมาธิถึงได้ตก กรรมฐานถึงได้แตก แล้วก็ละเว้นจากสาเหตุทั้งหลายเหล่านั้น เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วที่สมาธิตก กรรมฐานแตกก็คือ เราปล่อยให้กิเลสเข้ามากินใจของเรา การที่เราจะปล่อยให้กิเลสให้มากินใจของเราได้ อันดับแรกเลย ก็คือ เราคิดผิด ในเมื่อเราคิดผิด สภาพจิตก็ปรุงแต่งในเรื่องของ รัก โลภ โกรธ หลง

ลำดับต่อไป คือ พูดผิด มัวแต่นั่งพูดคุยเฮฮากันจนไม่มีเวลารักษากำลังใจตนเอง สมาธิที่ทรงตัวอยู่เคลื่อนคลายไปตอนไหน บางทีก็สังเกตไม่ทัน

เถรี 30-06-2016 13:32

และท้ายที่สุดก็คือทำผิด หลักการปฏิบัติธรรมที่เราทิ้งไม่ได้เลยก็คือลมหายใจเข้าออก แต่เรากลับไปนั่งแผ่เมตตา ถ้าหากว่าลักษณะอย่างนี้ก็คือทำผิด ดังนั้น...ถ้าหากว่าใครเคยฝึกปฏิบัติตามแนวของหลวงพ่อวัดท่าซุง จะได้ยินท่านย้ำอยู่เสมอว่า ทำกรรมฐานกองไหนได้แล้ว ก่อนที่จะทำกรรมฐานกองอื่น ให้ทบทวนกองเก่าให้มั่นคงเสียก่อน ในเมื่อเราไม่ทิ้งของเก่าแล้วไปทำของใหม่ ถึงของใหม่จะยังไม่ได้ ของเก่าก็ยังทรงตัวอยู่ ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้ สภาพจิตของเราก็จะไม่มีช่องว่างให้กิเลสเข้ามาแทรกได้

ทุกท่านต้องรู้จักทบทวนว่าสิ่งที่ดีเกิดขึ้น เกิดจากสภาวะแบบไหน สิ่งแวดล้อมแบบไหน เราคิดอย่างไร ภาวนาอย่างไร พิจารณาอย่างไร สภาพจิตของเราที่ตก กรรมฐานที่ตก สมาธิที่ตก เกิดจากการที่เราคิด เราพูด เราทำอย่างไร แล้วก็เว้นสาเหตุที่ไม่ดี สร้างสาเหตุที่ดี ๆ ขึ้นมา เราก็จะมีความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติ และสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงของเราได้

ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๙

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:29


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว