กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๑ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6094)

เถรี 26-03-2018 09:33

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๑
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม จะจับการกระทบของลม ฐานเดียว ๓ ฐาน ๗ ฐาน หรือรู้ตลอดกองลมก็ได้

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ส่วนหนึ่งจากคำถามที่ได้ถามมาในเว็บก็ดี หรือว่าฝากคำถามมากับบุคคลที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็ดี แสดงออกให้เห็นชัดว่า ญาติโยมทั้งหลายที่สอบถามมานั้น ส่วนใหญ่กำลังใจไม่สามารถที่จะทรงสมาธิได้ เพราะว่าถ้ากำลังใจทรงสมาธิได้ ก็จะไม่ไปฟุ้งซ่านถามคำถามในลักษณะแบบนั้น

การทรงสมาธินั้นสำคัญที่สุดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หรือที่เรียกว่าอานาปานสติ ถ้าความรู้สึกของเราอยู่กับลมหายใจเข้า อยู่กับลมหายใจออก กิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ต่าง ๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้ชั่วคราว แม้กระทั่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังตรัสว่า บุคคลที่ทรงฌานได้มารจะมองไม่เห็น เพราะว่าผู้ที่ทรงฌานได้ อำนาจของฌานจะกดกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ให้ดับลงชั่วคราว ในเมื่อไม่มีกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ที่เป็นบริวารคอยรายงาน คอยส่งข่าว มารก็ย่อมหาผู้ทรงฌานไม่เจอ

เราจะเห็นว่าแม้ในความเป็นโลกียะ ก็คือยังคลุกคลีอยู่กับโลก เราก็สามารถที่จะหลีกหนีมารได้ชั่วคราว แต่ถ้าก้าวขึ้นถึงโลกุตระคือเหนือโลก โอกาสที่เราจะพ้นเงื้อมมือมารก็เป็นไปตามลำดับขั้นที่เราก้าวไปถึง ดังนั้น...ในส่วนของอานาปานสติจึงเป็นกรรมฐานที่สำคัญที่สุด ที่เราควรจะจดจ่อ ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติ ชนิดที่ทุ่มเทเอาชีวิตเข้าแลก ไม่ใช่ปฏิบัติแค่พอเป็นนิสัย

ถ้าหากว่าบุคคลเราตั้งใจปฏิบัติภาวนา ตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกจริง ๆ ในระยะเวลาไม่เกิน ๑๐ วันหรือครึ่งเดือน จะต้องทรงฌานได้แน่นอน เพียงแต่ว่าทรงฌานแล้ว ท่านทั้งหลายจะรักษาฌานนั้นเอาไว้ได้นานแค่ไหน นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เถรี 27-03-2018 20:29

เนื่องเพราะว่าถึงเวลามารรู้ว่าเราจะพ้นมือไป ก็พยายามที่จะขัดขวางสุดชีวิต ถ้าตัวเราไม่มีสัจจะคือความมั่นคง ไม่มีขันติคือความหนักแน่นอดทน ไม่วิริยะคือความพากเพียรไม่ย่อท้อ เราก็จะพ่ายแพ้ให้แก่มารเสมอ

ดังนั้น...ในการปฏิบัติธรรมของเรานั้น ความจริงจัง จริงใจ ความพากเพียรบากบั่น อดทนอดกลั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด อยากได้ดีต้องขยัน คำว่า ขยัน ในที่นี้ ถ้าหากเอาตามแบบหลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านบอกว่าต้องทรงสมาธิได้ตลอดเวลา ถ้าเราไม่สามารถทรงสมาธิได้ตลอดเวลา อย่างน้อยในแต่ละวันช่วงเช้า ๆ เย็น ๆ ต้องทรงสมาธิให้ได้ โดยเฉพาะช่วงเช้าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ถ้าเราสามารถทรงสมาธิได้ก็จะอยู่สุขอยู่เย็น เพราะว่ากิเลสโดนดับลงชั่วคราว ถ้ารักษาอารมณ์ได้ดี ๆ ก็จะเย็นกายเย็นใจได้ทั้งวัน

ส่วนช่วงค่ำนั้นส่วนใหญ่เราปฏิบัติภารกิจมาตลอดทั้งวัน ร่างกายอ่อนล้าแล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไรมากมาย อาศัยเวลาก่อนนอนกราบพระสักสามครั้ง เมื่อนอนลงก็ให้ตั้งใจว่าร่างกายนี้เหยียดยาวลงก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว ถ้าไม่สามารถที่จะลืมตาตื่นขึ้นมาดูโลกในวันรุ่งขึ้น เราก็ขอไปอยู่พระนิพพาน แล้วเอากำลังใจของเราจับภาพพระหรือภาพพระนิพพานเอาไว้ กำหนดภาวนาจนกระทั่งหลับไป จิตของเรามีสภาพจำ และหลับไปในขณะที่ภาวนา ถ้าตายลงไปตอนนั้น ท่านก็จะไปตามกำลังสมาธิของท่าน

ดังนั้น...ในส่วนของการปฏิบัติ ถ้าทำมากไม่ได้คือทรงกำลังใจทั้งวันไม่ได้ ก็ให้ทำน้อยลง คืออย่างน้อยให้ทรงกำลังใจไว้ได้สักเช้า ๆ เย็น ๆ หรือถ้ารู้สึกว่าไม่พอเพียงก็ให้เพิ่มช่วงกลางวันขึ้นมา เราจะได้มีกำลังใจในการต่อสู้กับกิเลส และต่อสู้กับการงาน ยิ่งสมาธิทรงตัวมากเท่าไร เรื่องของการปฏิบัติงานก็ยิ่งเป็นเรื่องที่เราจดจ่อ ตั้งมั่น และทำได้ดีมากขึ้นเท่านั้น

ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๑

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:29


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว