กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5103)

เถรี 15-07-2016 21:58

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะจับการกระทบของลมฐานเดียวก็ได้ ๓ ฐานก็ได้ ๗ ฐานก็ได้ หรือว่ารู้ตลอดกองลมก็ได้

ส่วนคำภาวนา เราเคยถนัดอย่างไหนให้ใช้แบบนั้น คำภาวนาไม่ควรที่จะเปลี่ยนบ่อย ๆ เพราะถ้าเปลี่ยนบ่อยใจไปพะวงอยู่กับคำภาวนาใหม่ ความเคยชินของใจส่วนหนึ่งจะดึงไปหาคำภาวนาเก่า ก็จะเกิดอาการดึงกันไปรั้งกันมา บางคนก็ฟุ้งซ่านรำคาญจนไม่สามารถที่จะภาวนาได้เลย

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ช่วงที่ผ่านมาได้ไปบรรยายให้กับนักเรียนของวิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาฯ มีผู้ปรารภว่าการรักษาศีลเป็นเรื่องยาก สิ่งที่เขาว่ามานั้นเป็นไปตามกำลังใจ ถ้าคนที่ยังมีบารมีต่ำอยู่ การรักษาศีลก็จะเป็นเรื่องยาก เพราะว่าบารมีต้นพยายามจนเต็มที่แล้วก็รักษาศีลได้อย่างเดียว ไม่สามารถเจริญสมาธิภาวนาได้ ดังนั้น...การรักษาศีล ถ้าต้องการจะทำให้สมบูรณ์บริบูรณ์ ก็ควรที่จะมีทั้งในส่วนของศีลและสมาธิควบคู่กันไป

ในส่วนของศีลนั้น เราต้องเห็นคุณค่าความดีของศีล ว่าเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราตกสู่อบายภูมิ คือ บุคคลที่มีศีล ๕ สมบูรณ์บริบูรณ์ อย่างน้อยที่สุดก็จะได้เกิดเป็นมนุษย์ชั้นดี เนื่องจากว่าศีล ๕ มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า มนุสสธรรม ก็คือ ธรรมที่ทำให้เราเกิดเป็นมนุษย์ ป้องกันอบายภูมิ ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉานได้

แต่ถ้าเรามองตรงนี้ บางท่านก็รู้สึกว่าหนักเกินไป ก็ดูคุณของศีลในลักษณะเบา ๆ อย่างเช่นว่า เราเองก็ไม่ปรารถนาให้ผู้ใดมาฆ่าเรา เราก็ไม่ควรที่จะฆ่าใคร เราไม่ปรารถนาให้ผู้ใดมาลักขโมยของของเรา เราก็ไม่ควรที่จะไปลักขโมยของของใคร เราไม่ปรารถนาให้ผู้ใดมาแย่งชิงของที่เรารัก คนที่เรารัก เราก็ไม่ควรที่จะไปแย่งชิงของรัก หรือคนรักของคนอื่น เราอยากจะฟังแต่เรื่องที่จริง เรื่องที่เป็นความสัตย์ เราก็ไม่ควรที่จะโกหกหลอกลวงใคร เราอยากมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์บริบูรณ์ ควรที่จะงดเว้นจากสุราเมรัย และยาเสพติดทั้งปวง เป็นต้น

เถรี 16-07-2016 22:07

ดังนั้น...เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งว่า บุคคลที่รักษาศีลให้สมบูรณ์บริบูรณ์ได้ จึงต้องมีสมาธิเป็นเครื่องช่วย โดยปกติแล้วในขณะที่เราตั้งสติ ระมัดระวังไม่ให้ศีลขาด เท่ากับเรากำลังสร้างสมาธิให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่ว่าสมาธิในลักษณะอย่างนั้นบางทีก็เบาไป พังได้ง่าย จึงต้องมาจับลมหายใจเข้าออกอย่างจริง ๆ จัง ๆ รักษากำลังใจของเราให้มั่นคงอยู่กับลมหายใจเข้าออก เพื่อที่สภาพจิตของเราจะได้ไม่คิดชั่ว สภาพของวาจาก็จะได้ไม่พูดชั่ว สภาพของกายก็จะได้ไม่ทำชั่ว

ท่านที่บ่นว่าศีลเป็นเรื่องที่น่าหนักใจ แสดงว่าท่านทั้งหลายเหล่านั้นยังภาวนาไม่เป็น รักษากำลังใจในการอยู่กับลมหายใจเข้าออกไม่เป็น จึงควรที่จะมาเน้นในเรื่องของการตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออก หรืออานาปานสติของเรา เพราะว่าอานาปานสติ เป็นหนึ่งในสัพพัตถกรรมฐาน ก็คือกรรมฐานที่ก่อให้เกิดประโยชน์สารพัด ซึ่งประกอบไปด้วยอานาปานุสติ คือการระลึกถึงลมหายใจเข้าออก พรหมวิหาร ๔ ก็คือการที่เราซักซ้อมสภาพจิตของเรา ให้ประกอบไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

มรณานุสติ คือการที่เรารู้ตัวอยู่เสมอว่าต้องตาย และกายคตานุสติ มีสติอันรู้สภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้อย่างชัดแจ้ง

เถรี 16-07-2016 22:09

ในเมื่ออานาปานสติเป็นหนึ่งในกรรมฐานที่ก่อให้เกิดประโยชน์สารพัดอย่าง เราก็ไม่ควรที่จะทิ้ง แต่ละวันควรจะมีเวลาที่อยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างจริง ๆ จัง ๆ ถ้าไม่ได้มาก อย่างน้อยก็เช้า ๓๐ นาที เย็น ๓๐ นาที หรือถ้าหากว่าใครปลีกตัวได้ มีเวลาว่างด้วย ก็กลางวันอีกสัก ๓๐ นาทีเป็นอย่างน้อย พออารมณ์ใจของเราทรงตัวตั้งมั่นแล้ว การระมัดระวังในศีลก็เป็นเรื่องที่ง่าย เพราะว่าสติจดจ่ออยู่กับลมหายใจเฉพาะหน้า โอกาสที่จะละเมิดศีลก็ไม่มี

ถ้าหากว่าสมาธิทรงตัวเป็นอัปปนาสมาธิ เราก็ใช้กำลังของการรักษาศีลนี้ พิจารณาต่อไป ว่าไม่ว่าตัวเราหรือผู้อื่นจะเบียดเบียนกันด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ หรือไม่ก็ตาม ท้ายสุดก็ล้วนแล้วแต่ต้องตายทั้งสิ้น ถ้าหากว่าการตายแล้ว ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดใหม่ ก็ต้องประกอบไปด้วยความทุกข์ ในเมื่อเราเองเบื่อหน่าย ไม่ต้องการการเกิดที่เต็มไปด้วยความทุกข์เช่นนี้ ก็ให้ตั้งเป้าไว้ว่า ถ้าหากว่าเราตายลงไปเมื่อไร ขอไปพระนิพพานแห่งเดียว

เมื่อวางกำลังใจลักษณะนี้ได้ ก็ให้จับภาพพระ หรือจับพระนิพพาน แล้วภาวนาต่อไป ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้บ่อย ๆ นอกจากศีลทรงตัวแล้ว กำลังใจของเรายังค่อย ๆ ปลดค่อย ๆ ละออกจากร่างกายนี้ ออกจากโลกนี้ แล้วท้ายที่สุด ถ้าหากว่าเบื่อหน่ายคลายกำหนัด ไม่มีความต้องการการเกิดจริง ๆ ก็สามารถที่จะหลุดพ้นไปพระนิพานได้

ลำดับต่อไปขอให้ท่านทั้งหลาย ตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:51


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว