กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5979)

เถรี 28-12-2017 18:01

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๐
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นการเจริญกรรมฐานที่บ้านเติมบุญวันสุดท้ายของปี เมื่อวานนี้เรากล่าวถึงว่า ถ้าการปฏิบัติของเราไม่สามารถที่จะทรงอารมณ์ได้นาน ก็ให้ใช้วิธีภาวนาพระคาถาต่าง ๆ แต่ละบทให้เรากำหนดไปว่าจะใช้ระยะเวลาเท่าไร หรือจะภาวนาให้ได้กี่จบ ถ้าสภาพจิตรู้ว่ามีงานทำ ก็จะไม่คลายออกมาจากสมาธิง่าย ๆ หรือว่าเมื่อเราภาวนาอารมณ์ใจเริ่มทรงตัวแล้ว ก็คลายออกมาระลึกถึงอนุสติต่าง ๆ มีพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เป็นต้น โดยมีอานาปานสติคือลมหายใจเข้าออกเป็นพื้นฐานกำกับไว้

สำหรับวันนี้จะกล่าวถึงท่านที่มาทางด้านสายของอภิญญา คือฝึกมาในด้านของกสิณ ๑๐ บางทีการปฏิบัติของเราไปถึงระดับหนึ่ง รอเวลาในการสั่งสมกำลังเพื่อที่จะก้าวผ่านไป บางครั้งเป็นระยะเวลาถึง ๓ ปี ๕ ปี ซึ่งในช่วงนั้นบางทีเมื่อเราไม่เห็นว่าเกิดผลอะไรขึ้นมา บางทีก็จะเกิดความท้อ เบื่อหน่าย เกิดความรำคาญได้ เราก็ใช้องค์กสิณของเราที่ฝึกปรือได้ เอามาทำเป็นกีฬาสมาธิแก้เบื่อให้กับตัวเอง

อย่างที่อาตมาเคยแนะนำให้ใช้เมตตาพรหมวิหารประกอบกับองค์กสิณในการกำหนดแผ่เมตตา ไม่ว่าจะแผ่กว้างออกไปหรือกลับมาสว่างที่ตัวเองก็สามารถทำได้ หรือว่าจะกำหนดองค์กสิณต่าง ๆ เอาไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็ได้ อย่างเช่นไว้ข้างบนศีรษะสัก ๒ ดวง ไว้ด้านหน้า ๒ ไว้ด้านหลัง ๒ ไว้ด้านซ้าย ๒ ไว้ด้านขวา ๒ เป็นต้น

เถรี 28-12-2017 18:03

หรือจะรวมองค์เข้าด้วยกันซ้อนเป็นชั้น ๆ ขึ้นมา ดวงแรกก็เล็กที่สุด ดวงที่ ๒ ซ้อนใหญ่ขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ดวงที่ ๓ ซ้อนใหญ่ขึ้นมาหน่อยหนึ่ง จนถึงดวงที่ ๑๐ หรือเราเองจะประยุกต์กสิณดวงอื่นเข้ามาด้วยกัน อย่างเช่นว่ากสิณดินควบคู่กับกสิณสีเหลือง กสิณน้ำควบคู่กับกสิณสีเขียว กสิณไฟควบคู่กับกสิณสีแดง กสิณลมควบคู่กับกสิณสีขาว เป็นต้น

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ขึ้นอยู่ที่เราว่าจะทำอย่างไร แต่ว่ามีเคล็ดลับอยู่อย่างหนึ่งว่า ต้องกำหนดใจให้เห็นดวงกสิณทุกดวงให้ชัดเจนสม่ำเสมอกันจึงจะใช้ได้ ถ้ามีชัดบ้างไม่ชัดบ้างก็อย่าโลภมากทำทีเดียวทั้ง ๑๐ กอง ให้เริ่มจาก ๒ กองก่อน ก็คือดวงที่ ๑ กับดวงที่ ๒ ให้มีความชัดเจนเสมอกัน ซักซ้อมจนมั่นใจแล้วว่าชัดเจนเสมอกันแล้ว ค่อยเพิ่มดวงที่ ๓ ดวงที่ ๔ ไปตามลำดับ เป็นต้น

หรือจะจัดเรียงดวงกสิณไว้ตามลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ ๑-๒-๓-๔-๕-๖-๗-๘-๙-๑๐ ไปจนสุดลมหายใจ หายใจออกก็ ๑๐-๙-๘-๗-๖-๕-๔-๓-๒-๑ จนออกมาสุดลมหายใจ เป็นต้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่ากีฬาสมาธิ ทำให้ใจเราไม่เบื่อไม่หน่าย และสามารถทรงสมาธิได้นานตามที่ต้องการ

เถรี 30-12-2017 08:35

สำหรับญาติโยมทั้งหลายแล้ว ในเรื่องของกสิณนั้นถ้ารู้สึกว่ายาก เราก็เปลี่ยนมาใช้ภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบมากที่สุดแทน เพราะว่าการกำหนดภาพพระพุทธรูป ก็คือการกำหนดภาพกสิณนั่นเอง จะเอาภาพพระพุทธรูปเป็นสีขาว สีเหลือง สีแดงเพื่อเป็นวรรณกสิณก็ได้

จะแยกพระพุทธรูปเป็น ๑-๒-๓-๔ องค์ หรือว่ารวมกลับเข้ามาเป็น ๔-๓-๒-๑ แทนก็ได้ ท้ายสุดก็กำหนดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่บนพระนิพพาน เราเห็นพระองค์ท่านคือเราอยู่ใกล้พระองค์ท่าน เราอยู่ใกล้พระองค์ท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน ตั้งใจกำหนดใจว่าถ้าหมดอายุขัยตายลงไปก็ดี หรือเกิดอุบัติเหตุอันตรายใด ๆ ถึงแก่ชีวิตก็ตาม เราขอมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระนิพพานนี้แห่งเดียว

หลังจากนั้นถ้ามีลมหายใจอยู่ก็ตามดูลมหายใจเข้าออก ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ก็กำหนดรู้คำภาวนาไป ถ้าลมหายใจเบาลง ก็กำหนดรู้ว่าลมหายใจเบาลง ถ้าลมหายใจหายไป คำภาวนาหายไป ก็ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจหายไป คำภาวนาหายไป อย่าไปดิ้นรนกลับมาหายใจใหม่ และอย่าพยายามบังคับให้เข้าไปอยู่ในสภาพอย่างนั้น เรามีหน้าที่ตามดูตามรู้ในระหว่างภาวนาเท่านั้น ส่วนอารมณ์ใจที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ทางร่างกายมีสภาพอย่างไรอย่าไปสนใจ

อันดับต่อไปก็ให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๐

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:51


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว