กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5116)

เถรี 23-07-2016 16:26

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙
 
ให้ทุกคนขยับนั่งในท่าที่ตัวเองสบาย ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา จะจับการกระทบของลมฐานเดียวก็ได้ สามฐานก็ได้ เจ็ดฐานก็ได้ แล้วแต่ความชำนาญของตน จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เราเคยทำมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่อยากจะเตือนในวันนี้ ก็คือ การปฏิบัติกรรมฐานของเรานั้น ต้องเป็นไปเพื่อการละกิเลส โดยมีเป้าหมายก็คือการหมดกิเลสเข้าสู่พระนิพพานเท่านั้น ส่วนอื่น ๆ เป็นส่วนเกินทั้งสิ้น โดยเฉพาะการรู้เห็นต่าง ๆ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วมักจะพาให้เสีย

เนื่องจากว่าอารมณ์ในการรู้เห็นนั้นมีอยู่ ๒ ระยะ ก็คือในระยะของอุปจารสมาธิกับในระยะของฌาน ๔ ละเอียด ในระยะของอุปจารสมาธินั้น เปรียบเหมือนว่าเราอยู่ในบ้านที่มี ๒ ชั้น ชั้นบนกับชั้นล่าง มีความกว้างยาวและวัสดุตกแต่งเหมือนกันหมดทุกอย่าง อุปจารสมาธิก็คือบ้านชั้นล่าง ส่วนฌาน ๔ ก็คือบ้านชั้นบน เมื่อเราเข้าไปถึง มีสิ่งใดอยู่เราก็สามารถรู้เห็นในสิ่งนั้นได้ แต่ถ้าอยู่ในระหว่างของการขึ้นบันไดจากชั้นหนึ่งไปชั้นสอง ก็คือ อยู่ในระหว่างของฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เราก็จะไม่รู้เห็นอะไร

เถรี 23-07-2016 19:01

ในเมื่อแค่อุปจารสมาธิเราก็เริ่มรู้เห็น เริ่มได้ยินเสียงต่าง ๆ แล้ว ถ้าหากว่าเราไปหลงยึดติดอยู่ มัวแต่สงสัยข้องใจในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ว่าจริงหรือไม่จริง ? ควรละหรือไม่ควรละ ? หรือหลายท่านก็ไปทุ่มเทความเชื่อถือยึดมั่นอยู่ตรงนั้นเลย ก็เป็นอันว่าการปฏิบัติของเราก้าวไปไม่ถึงไหน แม้แต่ปฐมฌานก็เข้าไม่ถึง เพราะมัวไปติดอยู่ในส่วนของการรู้เห็นนั้น ๆ

ขอให้ทุกคนตั้งเป้าหมายของตนให้ชัดเจน อย่าหลงลืมเป้าหมายเด็ดขาดว่าเราปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น เพื่อชำระขัดเกลากิเลสให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าเรามีสติระลึกรู้อยู่เช่นนี้เสมอ เราก็จะไม่เดินผิดทาง จะไม่โดนหลอกให้ไปยึดติดอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่ของจริง

ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ต้องบอกว่าเป็นอุตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยิ่งกว่ามนุษย์ทั่ว ๆ ไปจะทำได้ เมื่อรู้เห็น ได้ยินได้ฟังมา เราก็มักอยากจะพูด อยากจะบอกต่อ พอได้รับคำสรรเสริญเยินยอจากผู้คน ก็ยิ่งยึดมั่นถือมั่นหนักเข้าไปอีก พาให้เราหลงผิดจากเป้าหมายที่ตนเคยตั้งเอาไว้ แล้วก็ไปไม่ถึงไหน ตายเปล่าไปอีกชาติหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราจึงต้องระมัดระวังสุดขีด คำว่าระวังสุดขีด ก็คือ ต้องคอยระแวงอยู่เสมอว่า สิ่งเหล่านี้จะมาขวางมรรคขวางผลของเรา แต่ก็มีหลายท่านที่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก่อน การปฏิบัตินั้นก็คือปฏิบัติเมื่อได้แล้วจะใช้ไปในการละกิเลส แต่คราวนี้พอเราเริ่มรู้เห็นเราก็ไปยึดถือ แทนที่จะละกิเลสก็กลายเป็นพอกพูนกิเลสให้เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก ว่านักปฏิบัติมากต่อมากด้วยกัน น่าจะถึงร้อยละ ๘๐-๙๐ โดยเฉลี่ย ที่พอปฏิบัติไปแล้วก็ไปติดอยู่แค่ระดับนี้ ไม่สามารถที่จะก้าวล่วงไปยิ่งกว่านี้ได้

เถรี 24-07-2016 16:11

การรู้เห็นต่าง ๆ นั้น อาตมาอยากจะใช้คำว่า "เป็นของแถมในการปฏิบัติ" ถ้าหากว่าทำถึง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะมาเอง ไม่ต้องไปดิ้นรนไขว่คว้าก็มา แต่เราก็มักจะไปติดอยู่กับของแถม โดยลืมไปว่าเป้าหมายที่แท้จริงของเราคืออะไร ดังนั้น...ในการปฏิบัติของเราทุกคนจึงต้องระมัดระวังการรู้เห็นเอาไว้เป็นอย่างยิ่ง ว่าแทนที่จะพาให้หลุดพ้น ก็จะพาเรายึดติดยิ่ง ๆ ขึ้นไป

เมื่อทราบแล้วก็ขอให้ทราบว่า ในเรื่องของบรรลุมรรคผลนั้น เราต้องมีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างจริงใจ รักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ มีความรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราต้องตาย ถ้าหากว่าตายเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ไม่มีกติกาข้อไหนว่าต้องรู้เห็น ไม่มีกติกาว่าต้องระลึกชาติได้ ไม่มีกติกาว่าต้องรู้อดีต ต้องเห็นอนาคต ไม่มีกติกาว่าต้องรู้ใจคนอื่น

ในเมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่กล่าวมาจึงเป็นของแถมอย่างแท้จริง เมื่อเราเข้าใจเช่นนี้แล้ว ก็ขอให้เปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ตั้งเป้าหมายในการปฏิบัติให้ตรงเสียใหม่ ว่าการปฏิบัติของเราเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อให้เหลือกิเลสในใจของเราให้น้อยที่สุด ถ้าสามารถหลุดพ้นไปสู่พระนิพพานได้ นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของเรา แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา ของเราให้เต็มที่ ไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ ๆ ว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร ทำไปถึงไหน ยังห่างจากเป้าหมายใกล้ไกลเท่าไร ยังตรงต่อเป้าหมายหรือไม่ ถ้าเรามีการไตรตรองทบทวนไว้เสมอ ๆ เราก็จะไม่พลาดจากเป้าหมายที่เราตั้งไว้แต่ต้น

ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้สัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๙

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:43


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว