เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๕
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ |
วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ งานใหญ่ของคณะสงฆ์อำเภอทองผาภูมิ คือการจัดอบรมพระนวกะประจำปี ๒๕๖๕ เป็นอันว่าเสร็จสิ้นลงด้วยดี ได้รับคำชมเชยจากผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นว่า อำเภอไกลปืนเที่ยงอย่างทองผาภูมิ ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดถึง ๑๔๐ กิโลเมตร แล้วยังต้องวิ่งจากตัวอำเภอไปยังสถานที่จัดงานอีกเกือบ ๓๐ กิโลเมตร แต่ปรากฏว่าสามารถจัดงานได้ดี มีความพร้อมทั้งสถานที่ ตัวบุคคลและสิ่งของ
เรื่องพวกนี้จะว่าไปแล้ว หากใครมีใจให้กับงานก็สามารถที่จะทำได้ทุกคน สำคัญตรงที่ว่าเรามีใจให้กับงานหรือเปล่า ? โดยเฉพาะถ้าหากเป็นทางโลกในปัจจุบันนี้ บางคนเปลี่ยนงานทุก ๒ เดือน ๓ เดือน ต้องบอกว่า อันดับแรกเลยก็คือ หาความจริงใจต่อหน่วยงานไม่ได้ พอไม่ถูกใจก็เปลี่ยน แล้วจะไปเอาความเชี่ยวชาญในงานนั้นมาจากไหน ? ในเมื่อคุณยังไม่ทันจะสั่งสมประสบการณ์เลย ก็ไปเสียแล้ว อันดับที่สองก็คือ สร้างความเสียหายให้กับหน่วยงาน เพราะเขาก็หวังว่าจะมีผู้มารับผิดชอบงานในส่วนนั้น แต่แล้วอยู่ ๆ คุณก็ทิ้งไปเฉย ๆ ให้เขาต้องหาคนใหม่ งานการที่ควรจะไปด้วยดีก็จะต้องมาสะดุดหยุดยั้งลง อันดับต่อไปก็คือ ถ้าค่านิยมเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ กิจการงานต่าง ๆ ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ด้วยดี เรื่องนี้ต้องดูญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง คนญี่ปุ่นมีความภักดีต่อองค์กร ทำงานกับบริษัทไหน ก็ทำเหมือนกับเป็นงานของตัวเอง ทำกันจนเกษียณอายุ หรือไม่ก็ตายคาบริษัทไปเลย ซึ่งการทุ่มเทตรงจุดนี้ ถ้าไม่ใช่บุคคลที่สร้างบารมีมาในระดับอย่างน้อยอุปบารมีขั้นปลาย จะทำได้ยากมาก เพราะว่ากำลังใจไม่ถึงที่จะเสียสละ หรือต่อให้กำลังใจถึง กำลังกายก็ไม่ถึง แต่ว่าในเรื่องลักษณะอย่างนี้ ถ้าหากว่ากำลังใจถึง กำลังกายถึงหรือไม่ถึงก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าความเข้มแข็งของกำลังใจ สามารถที่จะลากกายให้ทำงานนั้นไปจนได้ |
พวกเราทำงานครั้งนี้ อยู่ในลักษณะที่ว่าให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือ อย่างท่านอาจารย์เล็ก (พระอธิการธารธรรม วิสุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดปากลำปิล็อก ซึ่งเป็นเจ้าภาพสถานที่ในการอบรมพระนวกะปีนี้ ท่านเพิ่งจะเป็นเจ้าอาวาสได้ไม่นาน แต่ว่ามีกำลังใจที่เสียสละ ทำงานเพื่อส่วนรวมอย่างน่าชื่นชม โดยที่ท่านเองบอกว่าดูกระผม/อาตมภาพเป็นตัวอย่างมาตลอด
ฉะนั้น...ในเรื่องของงาน ถ้าหากว่าเราจะทำ ให้ทำแบบพระมหาชนก ก็คือเต็มที่กับงานทุกอย่าง เพียงแต่พระมหาชนกนั้นท่านมีแนวคิดว่า ถ้าพากเพียรจนสิ้นความสามารถแล้ว ก็สามารถตอบตัวเองได้ แต่กระผม/อาตมภาพนั้นวางกำลังใจอีกอย่างหนึ่ง ก็คือทำงานแบบคนมีวันนี้วันเดียว ในเมื่อทำงานแบบคนมีวันนี้วันเดียว ก็ต้องทุ่มเทให้เต็มที่ ถือว่าเป็นการ "ทิ้งทวน" ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เต็มกำลังที่เราทำได้ แต่คราวนี้สำหรับดีที่สุดของบางคน ส่วนใหญ่ก็มักจะตามไม่ไหว ไล่ไม่ทัน พระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีท่านก็ยังปรารภว่า ถ้าผู้บังคับบัญชาบางท่านที่ใจคอคับแคบ ก็จะเกลียดขี้หน้าคนประเภทนี้ไปเลย เพราะว่าหน้าที่การงานเด่นเกินผู้บังคับบัญชา แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้ากำลังใจของเราเข้มแข็งพอ และมั่นใจว่าตนเองทำอะไร เพื่ออะไร เราก็จะรับแรงกระทบตรงจุดนี้ได้ แต่ถ้ากำลังใจของเราไม่เข้มแข็งพอ ยังเก็บเอาการนินทากาเลต่าง ๆ มาเป็นอารมณ์ ก็เครียดเอง แล้วท้ายสุดก็อาจจะถึงกับหมดกำลังใจ ท้อแท้ เลิกทำงานไปเลย ในคณะสงฆ์จังหวัดกาญจนบุรีนั้นมีหลายท่าน ซึ่งปัจจุบันนี้ก็เป็นเจ้าคณะปกครองระดับสูงแล้วด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าท่านไม่ได้ทุ่มเทกับการงานเหมือนกับสมัยที่เป็นเจ้าอาวาสใหม่ ๆ ออกอาการ "หมดไฟ" ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง กระผม/อาตมภาพถึงได้บอกกับหลายท่านว่า ให้เราทำดีเพราะอยากทำ อย่าทำดีเพราะอยากดี การทำดีเพราะอยากทำนั้น เกิดจากน้ำใสใจจริงของเรา จึงสามารถทำได้ทน ทำได้นาน ไม่บรรลุเป้าประสงค์ก็ไม่เลิก แต่ว่าบุคคลที่ทำดีเพราะอยากดี ถ้าถึงเวลาแล้วดียังไม่สนองตอบ ก็อาจจะท้อแท้หมดกำลังใจไปเสียก่อน แต่ว่าบุคคลประเภทหลังนี้ก็ยังสามารถที่จะพัฒนาได้ เพราะว่าอย่างน้อย ๆ เขาก็ยังมีวิสัยในการทำดีอยู่ ถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชาสังเกตเห็น รู้ท่าที ถ้าตามหลักของการบริหารสมัยใหม่ เราก็ต้องให้ความหวังว่าเขาจะมีความก้าวหน้าในระดับนั้น ในระดับนี้ หรือว่าไปในช่องทางนั้น ช่องทางนี้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องจริงใจ ไม่ใช่หลอกใช้เขา |
พวกท่านจะเห็นว่า ถ้าตัวกระผม/อาตมภาพเองแล้ว อะไรที่เป็นประโยชน์ส่วนตนนี่ไม่เคยขอให้กับตัวเองเลย แต่อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อพระภิกษุสามเณรของเรา กระผม/อาตมภาพจะรักษาสิทธิ์ขอแทนพวกเราเสมอ แม้กระทั่งล่าสุด ที่ขอฐานานุกรมเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีให้กับทางด้านหลวงพ่อนิลกับครูบาหน่อแก้วฟ้าก็เช่นกัน พระเดชพระคุณพระเทพปริยัติโสภณ เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีท่านบอกว่า "ถ้าอาจารย์เล็กขอ ผมต้องรีบให้ เพราะสังเกตมาหลายปีแล้วว่า ไม่เคยขอให้กับตัวเองเลย"
แม้กระทั่งตำแหน่งหน้าที่การงานของตน ก็อยู่ในลักษณะที่คนอื่นทนดูไม่ได้แล้วก็ช่วยทำให้ อย่างพระครูสัญญาบัตรที่พระครูวิลาศกาญจนธรรม ความจริงถึงคิวมา ๗ - ๘ ปีแล้ว แต่กระผม/อาตมภาพก็ปล่อยเรื่อยเปื่อย ขี้เกียจทำประวัติ จนกระทั่งท้ายสุด พระครูวรกาญจนโชติ เจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิรูปปัจจุบัน ตอนนั้นท่านเป็นรองเจ้าคณะอำเภออยู่ ท่านบอกว่า "เอาอย่างนี้แล้วกัน หลวงพ่อวัดท่าขนุนสแกนลายเซ็นมาให้ผม เดี๋ยวที่เหลือผมจะช่วยทำให้" กระผม/อาตมภาพก็ถามท่านไปว่า "ทำไมต้องยุ่งกับชีวิตผมด้วย ? อย่างผมไม่ต้องมีตำแหน่งแห่งที่อะไร เป็นแค่หลวงพ่อเล็กของชาวบ้านก็พอแล้ว" ท่านบอกว่า "ไม่ได้ครับ ส่งประวัติคนอื่นไปเมื่อไร ผู้บังคับบัญชาก็จะถามว่า "แล้วหลวงพ่อเล็กอยู่ที่ไหน ?" กลายเป็นว่าอาวุโสมากเกิน จนไปค้ำคนอื่นเขาอยู่" หรือไม่ก็อย่างตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอ ถึงขนาดมีพระเถระบางรูปมากระซิบถามว่า "อาจารย์เล็กจ่ายไปเท่าไร ?" กระผม/อาตมภาพก็บอกว่า "ไม่ได้จ่ายอะไรเลยครับ ท่านให้มาพร้อมกับคำพูดประโยคเดียวว่า "ตั้งมาให้ทำงานนะ" ปรากฏว่าพระเถระรูปนั้นท่านก็ยังไม่เชื่อ ท่านบอก "เฮ้ย..ตำแหน่งแบบนี้เขาวิ่งกันเป็นล้าน..!" ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาวิ่งกันไปทำอะไร..? ถ้าหากว่าโดยคติส่วนตัวของกระผม/อาตมภาพก็คือ ตำแหน่งย่อมมาพร้อมกับหน้าที่ ถ้าคุณทำหน้าที่นั้นให้ดีไม่ได้ มีตำแหน่งไปก็เท่านั้นแหละ ดีไม่ดีก็โดนชาวบ้านเขาด่าด้วย เพราะเท่ากับว่าไปขวางทางก้าวหน้าของคนอื่นเขา |
ในเมื่อเป็นเช่นนั้น สิ่งที่พวกเราทำแล้วได้รับคำชมเชยจากผู้บังคับบัญชาว่า ใน ๑๓ อำเภอของจังหวัดกาญจนบุรี ทองผาภูมิไม่เคยหลุด ๑ ใน ๕ ในทุกด้านเลย โดยเฉพาะด้านการปกครองกับด้านการศึกษา รับประกันได้ว่าอยู่ในอันดับ ๑
ในด้านการศึกษาท่านทั้งหลายก็รู้อยู่ว่ากระผม/อาตมภาพนั้นทุ่มเทให้ขนาดไหน ใครจะเรียนระดับไหน ส่งเรียนทั้งหมดโดยไม่มีข้อแม้ ส่วนในเรื่องการปกครองนั้น เนื่องจากว่าเราไม่แย่งชิงตำแหน่งกันเอง เพราะฉะนั้น...ถึงเวลาจะเห็นว่า เจ้าคณะอำเภอ ๑ รูป รองเจ้าคณะอำเภอ ๒ รูป รวมแล้ว ๓ รูป ไม่ว่าไปงานที่ไหนก็ "แท็กทีม" กันไป เป็นที่อิจฉาของอำเภออื่นว่า ทำไมอำเภออื่นเขาไม่รักกันเหมือนอย่างกับอำเภอทองผาภูมิ ? กระผม/อาตมภาพก็ได้แต่บอกในใจ ไม่กล้าพูดเสียงดังว่า "ถ้าหากว่าไม่แย่งตำแหน่งกัน ก็รักกันแบบนี้ได้ครับ" เนื่องเพราะว่าหลายท่านถามตั้งแต่ต้นแล้วว่า "ทำไมอาจารย์เล็กปล่อยให้วัดเขื่อนฯ เป็นรองอำเภอไปก่อน ?" กระผม/อาตมภาพบอกกับเขาไปตามตรงว่า "ต่อให้วัดเขื่อนฯ เป็นยันเกษียณอายุ ๘๐ ผมยังอายุไม่เท่ากับท่านตอนนี้เลย แล้วผมจะรีบแย่งตำแหน่งไปทำไม ? ได้มาก็เหนื่อย" ในเมื่อพวกเรามีการเสียสละ ก็ไปตรงกับสิ่งที่ผู้รู้บางท่านบอกว่า ถ้าแย่งกันเป็นใหญ่ มักจะไม่ได้ใหญ่สักคน แต่ถ้าแบ่งกันเป็นใหญ่ ก็จะได้ใหญ่ทุกคน จึงเป็นอุทาหรณ์เรื่องทางโลก ๆ ให้พวกเราได้คำนึงว่า บางทีเราก็จำเป็นต้องเสียสละ และโดยเฉพาะเป็นการเสียสละที่หลายคนก็อาจจะฉวยโอกาส เรียกว่า "พ่วง" ไปกับการเสียสละของเรา แต่ก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการสร้างบารมีอย่างหนึ่ง โดยที่กระผม/อาตมภาพมีคติประจำใจอยู่อย่างหนึ่งว่า "ใครวางได้ก่อนก็สบายก่อน ใครอยากจะแบกไว้ก็ช่างหัวเขา เราไม่ได้หนักไปด้วย" จึงเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมว่า ในสิ่งที่ได้ทำไปนั้น บางอย่างคนอื่นเขาไม่เข้าใจหรอก แต่ถ้าเราทำเพราะอยากทำ ก็จงทำต่อไปเถอะ เป็นหน้าที่ของเรา ส่วนคนอื่นเขาจะทำหรือไม่ทำ จะเลียนแบบหรือไม่เลียนแบบก็เป็นเรื่องของเขา เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดแล้วก็เป็นอันว่าจบกัน จึงขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:58 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.