การกวาดวัด เป็นวิหารทาน เป็นธรรมทานและอภัยทานด้วย
การกวาดวัด เป็นวิหารทาน เป็นธรรมทานและอภัยทานด้วย
สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตาตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้ ๑. เจ้าขาดกำลังใจตัวเดียว ทำให้เสียทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เวลาเจ้ากวาดใบไม้ อย่าเอาจิตเกาะใบไม้ เกิดตายตอนนี้ก็ไปเป็นหนอนหรือแมลงกัดกินใบไม้ ๒. จิตเกาะความสะอาดนั้นเป็นการดี แต่สภาวะในโลกนี้ความสะอาดจริง ๆ นั้นไม่มี ให้นำจุดนี้มาเป็นวิปัสสนาญาณ การรักษาความมีระเบียบและความสะอาดเรียบร้อย พึงมีอยู่ในหน้าที่ของพุทธบุตรทุกคน แต่เมื่อเป็นสภาวะกฎของกรรมที่เลี่ยงไม่ได้ ก็พึงทำใจให้เป็นอุเบกขาไว้ก่อน แล้วพิจารณาเห็นความสะอาดและความสกปรกของโลก มันไม่เที่ยงอยู่อย่างนี้ มันน่ารังเกียจและมันเป็นภาระที่หนัก เพราะการมีขันธ์ ๕ เป็นเหตุทำให้เจ้าต้องมาเหน็ดเหนื่อยกับการกวาดขยะ ซึ่งถ้าหากขันธ์ ๕ นี้สิ้นไปแล้ว ภาระอย่างนี้จักไม่มีกับเจ้าอีก ๓. "จงทำจิตให้พร้อมที่จักวางภาระนี้ให้สิ้นไปต่อเมื่อขันธ์ ๕ นี้พังลง ถ้าหากจะทำก็ให้คิดว่าเป็นหน้าที่ อย่าเอาจิตไปผูกพัน ให้มองดูสภาพของงานทางโลกตามความเป็นจริง งานที่หมดจดทางโลกนั้นไม่มี ไม่เหมือนงานทางจิต คือ มุ่งตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานไปพระนิพพานได้นั้น นั่นแหละหมดจดแท้ ๆ ๔. แต่ตราบใดที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่อย่าทิ้งหน้าที่ ให้ช่วยกันบำรุงเขตพระพุทธศาสนาในเวลาอันสมควร และในโอกาสที่สะดวกที่จักทำได้ ๕. กายทำงานทางโลก จิตทำงานทางธรรม ให้ทำแต่พอดี ๆ ในทางสายกลาง จิตและกายจักได้ไม่ถูกเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เอาความสุขของจิตเป็นเครื่องวัดผลของการปฏิบัติ อย่าทำแล้วยังให้เกิดทุกข์ ไม่ว่าทุกข์กายหรือทุกข์ใจก็ดี หรือทุกข์ทั้งกายและใจพร้อมกันก็ดี ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ขาดทุน ๖. จิตถ้าไม่สู้เสียแล้ว (เพราะขาดกำลังใจ) ความกระตือรือร้นในการทำงานก็ไม่มี การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน จักต้องทำใจให้สู้อยู่ตลอดเวลา แล้วต้องรู้ด้วยว่าสู้กับอะไร สู้กับอารมณ์จิตเลวที่ชอบคบกับกิเลสอยู่นี้ ถ้าหากมัวปล่อยให้จิตเศร้าหมองไม่แก้ไข ก็จักเป็นผลเสียไปในที่สุดลุกไหม้จนถึงหลังคาบ้านแล้ว ก็ดับยาก หรือยากที่จะดับได้ |
๗. “ต้นเหตุแห่งทุกข์ ใจเป็นผู้สร้างขึ้นเอง เพราะขาดการสำรวมอินทรีย์หรืออายตนะทั้งหก อะไรมากระทบหรือสัมผัสเข้า ไฟภายในก็ลุก เหมือนกับมีพระอาทิตย์เกิดขึ้นที่ใจ เป็นการเบียดเบียนตนเอง เบียดเบียนผู้อื่น และเป็นทั้งเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ขาดพรหมวิหาร ๔ อย่างชัดแจ้ง ต้นเหตุจริงก็เพราะลืมการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกหรืออานาปานุสติ ทำให้ขาดสติ-สัมปชัญญะตามลำดับ หากพวกเจ้าใคร่ครวญดี ๆ ก็จะพบกรรมทั้งหลายมาแต่เหตุทั้งสิ้น หรือเป็นอริยสัจโดยตรง ทุกอย่างอยู่ที่ความเพียรของพวกเจ้าเอง ตถาคตเป็นเพียงผู้บอก ผู้ชี้แนะเท่านั้น”
๘. “จงอย่ามุ่งเอาชนะผู้อื่น ให้มุ่งเอาชนะใจตนเอง ชนะกิเลสที่ตนเอง เราไม่สามารถจะห้ามคนชั่วไม่ให้ทำชั่วได้ฉันใด เราก็ควรจะหยุดจิต หยุดอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อน หาความชั่วที่จิตของเราให้ได้ก่อน จึงจะละความชั่วได้ และละที่จิตของเราเท่านั้น คนเราถ้าเอาจริงทำให้จริง ก็จักรู้จักคำว่าชนะ หากทำแม้ครั้งเดียววันต่อ ๆ ไปก็จักชนะมันได้ การปฏิบัติทั้งทางโลกและทางธรรมก็จักเจริญขึ้นได้สืบต่อไป ขอจงอย่าละความเพียรเสียอย่างเดียว การเผลอบ้างก็ต้องมีเป็นธรรมดา อย่าติตนว่าเลว ให้ลงตัวธรรมดา เพราะยังมิใช่พระอรหันต์” ๙. “ถ้าหากพวกเจ้าเข้าใจธรรมที่ตถาคตตรัสมาทั้งหมดนี้ได้ดีแล้ว ก็จักเห็นได้ว่าการกวาดวัด การช่วยทำความสะอาด เก็บขยะ การช่วยบำรุงรักษาซ่อมแซมวัตถุต่าง ๆ ในวัด โดยเอากายทำงานทางโลก แต่จิตอยู่กับพระธรรม คือ เอางานที่ตนทำนั้นมาพิจารณาให้เป็นพระกรรมฐาน ได้ทั้งสมถะและวิปัสสนาในคราวเดียวกัน ทำทุกอย่างก็เพื่อพระนิพพานจุดเดียว เป็นผู้ไม่ประมาทในความตาย คิดเสมอว่าเราจักทำให้ดีที่สุดเป็นครั้งสุดท้าย เพราะความตายเป็นของเที่ยง แต่ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง มีมรณาควบอุปสมานุสติไว้เป็นปกติ และมีกายคตานุสติควบอสุภะไปในตัว โดยไม่ลืมการกำหนดรู้ลมหายใจ (อานาปาฯ) เพื่อให้จิตสงบเป็นสุขอยู่เสมอ ผลที่เราได้รับจากกรรมหรือการกระทำของเรา เป็นการตัดได้ทั้งความโลภ-ความโกรธ-ความหลงไปในตัว เป็นการทำให้เกิดปัญญาตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้ในที่สุด ก็คือการให้ธรรมทานกับจิตตนเองซึ่งชนะทานทั้งปวง จัดเป็นบุญสูงสุดในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นอภัยทานด้วย คืออภัยให้กับความชั่วของผู้อื่น เพื่อที่จักชนะความชั่วของตัวเราเองนั่นเอง ขอให้พวกเจ้าหมั่นทบทวนจุดนี้ให้ดี ๆ “ |
ธัมมวิจัยกับคำสอน เรื่องการกวาดวัดเป็นวิหารธรรม เป็นธรรมทานและเป็นอภัยทานด้วย
ขอสรุปเป็นข้อ ๆ เพื่อการจดจำได้ง่าย ๆ ดังนี้ ๑. จิตเกาะอะไร อัตตาหรือตัวตนเกิดตรงนั้น เพราะโลกหรือโลกะ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า มีอันที่จักนำไปสู่ความฉิบหายในที่สุด หมายความว่าในที่สุดแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกจะไม่มีอะไรเหลือ คือมีอนัตตาในที่สุด เพราะโลกทั้งโลกแม้ใน ๓ โลก คือ มนุษยโลก, เทวโลก, พรหมโลก ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ คือไม่สามารถจะทรงตัวอยู่ในสภาพหรือสภาวะเดิมได้ ต้องเคลื่อนไปอยู่เสมอเป็นสันตติ เหมือนกระแสน้ำที่ไหลลงสู่ที่ต่ำตลอดเวลา และที่สุดก็อนัตตา คือเปลี่ยนจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่งโดยสิ้นเชิง ไม่ช้าก็เร็ว ๒. จิตเกาะใบไม้ จิตเกาะขยะ หากตายตอนนั้นก็เกิดเป็นแมลงเป็นหนอน เป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะตายในอารมณ์หลง หากกวาดใบไม้ กวาดขยะอยู่ จิตเกิดอารมณ์ไม่พอใจ จิตบ่นไปด้วยขณะทำงานทุกชนิด ก็เป็นอารมณ์ปฏิฆะหรือโทสะหรือโกรธ หากตายตอนนั้นก็เกิดในนรกขุมใดขุมหนึ่ง แต่หากเกิดอารมณ์พอใจหรือราคะขึ้น เช่น อยากได้สิ่งที่ตนกำลังกวาดอยู่ หรือทำงานทุกชนิดอยู่ก็เป็นอารมณ์โลภะ หากตายในขณะนั้นก็ต้องเกิดเป็นเปรตประเภทใดประเภทหนึ่ง ๓. หากจิตเกาะบุญ เช่น เกาะพระนิพพาน ตายตอนนั้นก็ไปพระนิพพาน จิตเกาะบุญเกาะความดีในพุทธศาสนา ตายตอนนั้นก็ไปเกิดในแดนสวรรค์ จิตเกาะความสงบสุขอันเกิดจากความสงบ ตายตอนนั้นก็ไปเกิดในแดนพรหม ๔. จิตเกาะสิ่งที่ไม่เที่ยงเท่ากับเกาะทุกข์ เพิ่มทุกข์ให้ตนเอง เลยจมอยู่กับทุกข์ เลยพ้นทุกข์ไม่ได้ อารมณ์เหล่านี้ล้วนเป็นโมหะจริตทั้งสิ้น ๕. ผู้มีปัญญาท่านถูกกระทบด้วยอายตนะสัมผัสทางทวารใดทวารหนึ่งใน ๖ ทวาร ท่านพิจารณาเข้าหาไตรลักษณ์หมด หรือเข้าหาทุกข์อันเป็นอริยสัจหมด คือยึดเมื่อใดทุกข์เมื่อนั้น อัตตาเกิดเมื่อนั้น ซึ่งใช้ตัดกิเลสทุกชนิดได้อย่างดี จากกิเลสหยาบ-กลาง-ละเอียดตามลำดับ ตามจิตในจิต ธรรมในธรรม จิตเจริญแค่ไหนก็รู้ธรรมได้ในระดับนั้น เป็นการลดสักกายทิฏฐิ ซึ่งแปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกายได้อย่างดี ๖. คนฉลาดเห็นทุกข์เป็นของธรรมดาหมด ไม่ฝืน เห็นแล้ววาง ไม่แบก เพราะหนัก คนโง่เห็นทุกข์แล้วแบกทุกข์ ไม่ยอมวาง เลยจมอยู่กับทุกข์ ๗. ทุกขสัจ คือ ทุกข์ของกาย เป็นของมีคู่มากับการเกิดมีร่างกาย ตั้งแต่วันเกิดจนกระทั่งวันตายไม่มีวันเว้น เรียกว่าทุกข์ทุกลมหายใจเข้าและออก แต่หากไม่กำหนดรู้ก็ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะชินอยู่กับมัน ด้วยความประมาทในความตาย จึงเท่ากับประมาทในพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ บท จงจำไว้ว่า ทุกขสัจหรือทุกข์ของกาย ต้องกำหนดจึงจะรู้ ไม่กำหนดรู้ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์ ๘. ต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์อยู่ที่ใจเป็นผู้ก่อ คือตัณหาหรือสมุทัย ที่คิดว่าการเกิดเป็นของดี ได้กินอาหารรสอร่อย ๆ ได้เที่ยวไปในโลกที่ไม่เที่ยง แต่ใจหลงคิดว่าเที่ยง ติดในรสอาหารหรือการกิน ติดในกามสัญญา ติดในการนอน คือ ติดกาม-ติดกิน-ติดนอน หลงคิดว่าเป็นสุข เลยถูกกิเลส-ตัณหา-อุปาทาน สร้างอกุศลกรรมให้เกิดอยู่ตลอดเวลา ถูกมันต้มเราเสียสุก เหมือนควายตาบอดที่ถูกจูงจมูกไปตามคำสั่งของกิเลส สรุปว่าตัณหาหรือสมุทัย เป็นสิ่งต้องละ และรีบละก่อนกายจะพัง ๙. ทุกข์ทั้งหลายล้วนเกิดจากจิตโง่ที่ไปยึดอุปาทานขันธ์ ๕ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา มีในเราทั้งสิ้น หากวางอุปาทานขันธ์ ๕ หรือวางร่างกาย หรือวางสักกายทิฏฐิได้จุดเดียว ก็จบกิจในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเรื่องนี้เฉพาะบุคคลที่มีความฉลาด หรือพวกพุทธจริตเท่านั้น บางองค์ก็บรรลุ ณ จุดนั้นเอง หรือต่อหน้าพระพุทธองค์ ๑๐. พวกใจร้อนมีโทสะจริตเป็นใหญ่ ชอบเอากิเลสของตนไปชนกับกิเลสของผู้อื่น (ชอบกีฬาไก่ชน) ชอบชนะความชั่วของผู้อื่นซึ่งทำไม่ได้ เพราะความชั่วของตนเองก็ยังเอาชนะไม่ได้ แล้วจะไปชนะความชั่วของผู้อื่นได้อย่างไร ถึงแม้บางครั้งอาจจะชนะได้ก็แค่ชั่วคราว ประเดี๋ยวก็ต้องแพ้ความชั่วของตนเองอีก เป็นการชนะไม่เด็ดขาด จะชนะมันได้เด็ดขาดจะต้องชนะใจตนเอง หรือพ้นภัยตนเองให้ได้ก่อน แต่ภัยที่ร้ายแรงที่สุดในการปฏิบัติธรรม ก็คือภัยที่เกิดจากอารมณ์จิตของเราเอง ทำร้ายจิตของเราเอง จุดนี้ต้องอาศัยพรหมวิหาร ๔ เต็มระดับทั้ง ๔ ข้อ สองข้อแรกคือเมตตา-กรุณา ก็แสนยากที่จะผ่านจุดนี้ไปได้ สองข้อหลังจึงยังไม่ต้องพูดถึง ถ้าสองข้อแรกยังไม่ผ่าน สรุปว่าบุคคลใดมีพรหมวิหาร ๔ เต็มระดับและทรงตัว บุคคลนั้นก็จบกิจเป็นพระอรหันต์ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๘ รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ขอเชิญทุกท่านเข้าไปอ่านได้ที่ www.tangnipparn.com |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:45 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.