กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลวงปู่สาย อคฺควํโส) (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=17)
-   -   เครื่องตัดสินกรรมดี - ชั่ว (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=707)

ชินเชาวน์ 16-07-2009 20:19

เครื่องตัดสินกรรมดี - ชั่ว
 
เครื่องตัดสินกรรมดี - ชั่ว
กรรมใดที่ทำทางกาย ทำทางวาจา ทำทางจิตใจ นึกคิดแล้วทำให้กิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง ฯลฯ ทำให้กิเลสเพิ่มพูนขึ้นในสันดานหรือในจิตอันเป็นกรรมฝ่ายชั่วไม่ควรทำ
ส่วนกรรมฝ่ายใดมีผลตรงกันข้ามกับที่กล่าวข้างต้น เป็นกรรมฝ่ายดีควรทำ ถ้าประสงค์จะทราบหลักการตัดสินที่ยิ่งของพระพุทธองค์ ต้องใช้ลักษณะทั้ง ๒ ฝ่าย ทั้งดีและชั่ว ที่ทรงแสดงแก่พระนางปชาบดีภิกษุณี จึงจะจัดเป็นหลักพิจารณาได้อย่างแท้จริง หลักนั้นพระองค์กล่าวถึงลักษณะตัดสินธรรมวินัย ๘ ประการ


คัดลอกจากหนังสืออนุสรณ์งานบำเพ็ญกุศลศพ ครบ ๑ ปี
พระครูสุวรรณเสลาภรณ์ (หลวงพ่อสาย อคฺควํโส)
อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ต. ท่าขนุน อ. ทองผาภูมิ จ. กาญจนบุรี

ชินเชาวน์ 16-07-2009 20:24

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕
อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต

สังขิตตสูตร

[๑๔๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมโดยย่อแก่หม่อมฉัน ซึ่งหม่อมฉันได้ฟังแล้ว จะพึงเป็นผู้หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่เถิด ฯ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า
๑. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด
๒. เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก
๓. เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
๕. เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ
๖. เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด
๗. เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
๘. เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย

ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัยไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดาฯ

ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า
๑. ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความกำหนัด
๒. เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้
๓. เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส
๔. เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก
๕. เป็นไปเพื่อสันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อไม่สันโดษ
๖. เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๗. เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร ไม่เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน
๘. เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก

ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดาฯ

จบสูตรที่ ๓

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ บรรทัดที่ ๕๙๐๘ - ๕๙๓๓. หน้าที่ ๒๕๕ - ๒๕๖.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php...33&pagebreak=0

ทิพย์ ปทุโม 14-10-2010 09:02

:onion_emoticons-26::onion_emoticons-18:
ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย เป็นไปเพื่อสันโดษ เป็นไปเพื่อความสงัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย
:4672615:ตกใจเล็กน้อย เพราะมาตรงกับนิสัยตัวเองเกือบทุกข้อ ยกเว้นข้อ " เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้ " ไม่เข้าใจ หมายถึงหาสัตว์มาเลี้ยงหรือเปล่าคะ เป็นภาษาที่เข้าใจยากจัง

สายท่าขนุน 15-10-2010 21:20

ขออภัยที่ไม่ใช่ "ผู้รู้" แต่บังอาจมาตอบตามความเข้าใจของตนเอง:onion_love:

เริ่มจากความหมายของคำว่า "ประกอบ" ที่ใช้กันธรรมดา...
ประกอบ ก. เอาชิ้นส่วนต่าง ๆ มารวมหรือคุมกันเข้าเป็นรูปร่างตามที่ต้องการ เช่น ประกอบรถยนต์;
ทํา เช่น ประกอบอาชีพ ประกอบธุรกิจ;

ประสมหรือปรุงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น ประกอบยา;
เสริม, เพิ่มเติม, เช่น อธิบายประกอบ.

และตามที่ได้ไปค้นหาอ่านเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎก...
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=23&i=167
อรรถกถา อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สันธานวรรคที่ ๑
๑๗. ภูมิจาลสูตร
อรรถกถาภูมิจาลสูตรที่ ๑๐ จาลวรรคที่ ๒
...ในบทว่า มาโร ปาปิมา นี้ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
ชื่อว่ามาร เพราะประกอบสัตว์ไว้ในความพินาศให้ตายไป.
บทว่า ปาปิมา นี้เป็นไวพจน์ของบทว่า มาโร นั้นนั่นแล.
จริงอยู่ มารนั้น เขาเรียกว่าปาปิมา เพราะประกอบด้วยบาปธรรม.
บทว่า ภาสิตา โข ปเนส ภนฺเต ความว่า จริงอยู่ มารนี้มาที่โพธิมัณฑสถาน ในสัปดาห์ที่ ๘
ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้สัมโพธิญาณแล้วทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า
พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายเพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นพระองค์ทรงบรรลุตามพระประสงค์แล้ว
สัพพัญญุตญาณพระองค์ทรงแทงตลอดแล้ว ประโยชน์อะไรที่พระองค์จะต้องทรงตรวจดูสัตว์โลกเล่า
แล้วทูลอาราธนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดเสด็จปรินิพพานในบัดนี้เหมือนในวันนี้.


หรือ
http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8...B8%95%E0%B8%A3
สฬายตนสังยุตต์ - ปัณณาสกะที่ ๓ - ๕. นวปุราณวรรค - ๖. อนันเตวาสิกานาจริยสูตร
พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน
อนันเตวาสิกานาจริยสูตร
[๒๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้อันไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์อยู่ เป็นทุกข์ ไม่สำราญ
ส่วนภิกษุไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ อยู่เป็นสุขสำราญ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ไม่สำราญเป็นไฉน
ธรรมทั้งหลายอันเป็นบาป เป็นอกุศล คือ ความดำริอันฟุ้งซ่านอันเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ
ย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้
เพราะ เห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมเหล่านั้นย่อมสิงอยู่ภายในของภิกษุนั้น
เพราะอกุศลธรรมสิงอยู่ภายในของภิกษุนั้น เหตุนั้น เราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอันเตวาสิก
เพราะอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นย่อมครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่ามีอาจารย์ อีกประการหนึ่ง
อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริอันฟุ้งซ่าน เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ
ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะฟังเสียงด้วยหู ... เพราะสูดกลิ่นด้วยจมูก ... เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น
...เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ...เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจ อกุศลธรรมเหล่านั้นสิงอยู่ภายในของภิกษุนั้น
เพราะอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นสิงอยู่ภายในของภิกษุนั้น เหตุนั้น เราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอันเตวาสิก
เพราะอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นย่อมครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอาจารย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีอันเตวาสิกมีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ อย่างนี้แล ฯ

ดังนี้จึงเห็นว่า ประกอบสัตว์ ก็คือผูกสัตว์ (โลก) ไว้
หากเป็น มาร หรือเป็นอกุศลธรรม ก็จะผูกสัตว์ไว้ในภพ ในวัฏสงสาร นั่นเอง

ทิพย์ ปทุโม 16-10-2010 09:10

ถ้าจะให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การปลดปล่อยตัวเองออกจากเครื่องร้อยรัดพันธนาการต่าง ๆ จุดมุ่งหมาย เพื่อให้เข้าถึงพระนิพพาน เวลาอ่านพระไตรปิฎกจึงเข้าใจยาก เพราะมีคำศัพท์ที่อ่านได้ แต่แปลไม่ได้ หรืออ่านไม่ได้ แปลไม่ได้ ไม่รู้ความหมาย

อ่านไป สงสัยไป แล้วสรุปสุดท้ายไม่เข้าใจ หรืออ่านแล้วตีความหมายผิด งงกับการตีความของตัวเอง จึงหันมาฟังเทศนาธรรมแทน แล้วเรามาดูกันว่า ความเข้าใจของผู้ที่เพิ่งเริ่มสนใจเรื่องนี้ จะเข้าใจวลีที่ว่า "การไม่ผูกสัตว์ไว้" ถูกต้องหรือเปล่า

ขอบคุณที่มอบแสงสว่างแห่งปัญญาค่ะ:875328cc:


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:45


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว