กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2327)

เถรี 15-12-2010 00:00

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓
 
ทุกคนขยับตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจของเรา หายใจเข้ากำหนดรู้ตามไปพร้อมกับคำภาวนา หายใจออกกำหนดรู้ตามไปพร้อมกับคำภาวนา

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓ เป็นการปฏิบัติธรรมประจำต้นเดือนธันวาคมวันแรกของเรา วันนี้มีบุคคลเป็นจำนวนมาก ที่ถามถึงสมาธิภาวนาต่าง ๆ และโดยเฉพาะมีอยู่ส่วนหนึ่ง ที่ไม่เข้าใจว่าแต่ละอารมณ์สมาธินั้นเป็นอย่างไร คืออะไร

การที่เราไม่มีความคล่องตัวในการที่จะเข้าออกสมาธิ ทำให้เวลาที่กิเลสเข้ามากินเราแล้ว เราไม่สามารถที่จะต่อต้านได้ทันท่วงที เพราะสภาพจิต เมื่อปราศจากสมาธิก็เท่ากับไม่มีเกราะป้องกัน ทำให้โดนกิเลสครอบงำได้ง่าย

การที่เราปฏิบัติในสมาธิภาวนา จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกซ้อมให้ชำนิชำนาญ สามารถที่จะเข้าออกสมาธิได้โดยคล่องตัว ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม จะเป็นเดิน ยืน นั่ง นอน หรือหกคะเมนตีลังกาอย่างไร ถ้าตั้งใจจะเข้าสมาธิต้องเข้าได้เลย เพื่ออาศัยกำลังสมาธิในการสกัดกั้นกิเลส

ถ้าสามารถทำได้คล่องตัวแล้ว ภาษาบาลีท่านเรียกว่า เกิดวสี คือ ความชำนาญ ขึ้นมา คำว่า วสีนี้ ไม่ใช่ นวสี ที่แปลว่า ป่าช้า ๙ อย่าง แต่เนื่องจากว่า วสีภาพ หรือลักษณะความชำนาญนี้ มี ๕ ประการด้วยกัน มักจะลงท้ายด้วยคำว่า นะ แล้วต่อด้วย วสี เราก็เลยไปเข้าใจว่า นวสี คือความคล่องตัวในการเข้าฌาน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่

วสีภาพ คือ ความคล่องตัว การทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งคล่องตัว เรียกว่า วสีทั้งสิ้น แต่ว่า นวสี ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้นเป็น การพิจารณาอสุภกรรมฐาน ๙ แบบด้วยกัน

เถรี 15-12-2010 16:25

วสีภาพ คือ ความชำนาญในด้านของสมาธิภาวนาต่าง ๆ มีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑. อาวัชชนวสี คือ เป็นผู้มีความชำนาญในการพิจารณาฌานต่าง ๆ หมายความว่า เราเป็นผู้รู้อารมณ์ฌานแต่ละระดับด้วยความคล่องแคล่วและชำนาญยิ่ง ว่าอารมณ์ในระดับนี้ ตอนนี้ กำลังอยู่ในฌานระดับไหน

ไม่ว่าจะเป็นอุปจารฌาน ที่สูงกว่าอุปจารสมาธิขึ้นมานิดหนึ่ง หรือว่าเป็น ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ อรูปฌานที่ ๑ อรูปฌานที่ ๒ อรูปฌานที่ ๓ อรูปฌานที่ ๔ ไม่ว่าอารมณ์จะตกอยู่ในฌานระดับไหน จะพิจารณารู้ได้ทันที ว่าตอนนี้เราอยู่ในอารมณ์ฌานระดับใด

๒. สมาปัชชนวสี มีความชำนาญในการเข้าสมาธิ สามารถเข้าสมาธิได้ทุกระดับ ทุกเวลาที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น อุปจารฌาน ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ หรืออรูปฌาน ๔ อย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องการเข้าระดับไหน เวลาใด สามารถเข้าได้ทันที จึงเรียกว่ามีความชำนาญในการเข้าฌานเป็นพิเศษ

๓. อธิษฐานวสี มีความชำนาญในการกำหนดใจให้เข้าสมาธิได้ตามเวลา อย่างเช่นว่า ตั้งเวลาไว้ ๑๕ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง ครึ่งวัน ๑ วัน ๓ วัน ๕ วัน ๗ วัน เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ถ้ามีความคล่องตัวมาก จะสามารถสั่งกำลังใจของตัวเองให้เข้าฌานได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้นั้นทันที เมื่อครบตามกำหนดเวลาแล้ว จิตก็จะคลายออกจากสมาธิมาเอง

๔. วุฏฐานวสี เป็นผู้ชำนาญในการออกจากฌาน คือไม่ว่าจะอยู่ในสมาธิระดับไหน ก็สามารถที่จะกลับออกมาสู่อารมณ์ปกติหรือออกไปเพื่อเข้าสู่อารมณ์สมาธิระดับขั้นอื่น ๆ ได้โดยง่าย

๕. ปัจจเวกขณวสี ถ้าว่ากันตามรากศัพท์ คือ มีความชำนาญในการพิจารณาอารมณ์ฌานต่าง ๆ คือ การที่สามารถเข้าฌานสลับกันไป สลับกันมา ไม่ว่าจะขึ้นหน้าหรือถอยหลัง ทำได้โดยคล่องตัวตามที่ปรารถนาทุกประการ

ถ้าเรามีวสี คือความชำนาญทั้ง ๕ อย่างนี้ เราก็สามารถที่จะเข้าสมาธิได้ในทุกเวลา เรียกว่าเสียเวลาไม่ถึงชั่วลัดนิ้วมือเดียว คือไม่ทันจะดีดนิ้วขึ้น ก็สามารถที่จะเข้าสมาธิได้อย่างที่ตัวเองต้องการแล้ว ถ้าท่านทั้งหลายมีความชำนาญในระดับนี้ จึงพอที่จะมีกำลังต่อต้านกิเลสได้ เพราะว่ากิเลสนั้นกินเราอยู่ตลอดเวลา

ตัวสมาธิภาวนาเหมือนกับเครื่องป้องกันที่เป็นทั้งเกราะและเป็นทั้งกำลัง คำว่าเป็นเกราะก็คือ ถ้าหากว่าเราเข้าสมาธิอยู่ กิเลสไม่ว่าจะเป็น รัก โลภ โกรธ หลง ใด ๆ ก็ตาม ถึงจะมากระทบ ก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงใจของเราได้ เพราะติดอยู่ที่เกราะภายนอก และเป็นกำลังด้วย ก็คือ เป็นกำลังที่เราจะไปต่อต้าน ต่อสู้ หรือว่าใช้ในการตัดกิเลส

เถรี 16-12-2010 11:12

เรื่องของสมาธิจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะกำลังของสมาธินั้น สร้างให้เกิดทั้งสติและปัญญา เมื่อมีสติมั่นคง สมาธิทรงตัว ปัญญาก็จะเกิด ทั้งแหลมคมและว่องไว ช่วยให้สามารถนำเอากรรมฐานคู่ศึกมาต่อต้านอารมณ์กิเลสได้ทันท่วงทีทุกครั้ง

ดังนั้น..ในการปฏิบัติของเรา ทำอย่างไรจะให้เกิดความคล่องตัวในการเข้าสมาธิ คือเข้าฌานออกฌานได้ตามใจปรารถนา ก็ต้องอยู่ที่การซักซ้อมบ่อย ๆ ให้คล่องตัว อย่างที่อาตมาเคยยกตัวอย่างตนเอง เล่าให้ฟังว่า สมัยที่ฝึกทุ่มเทกับการปฏิบัตินั้น จะซ้อมการเข้าออกสมาธิโดยการนอนลงและลุกนั่ง

ทันทีที่นอนลง สมาธิจะเข้าลึกไปตามลำดับ ๆ เมื่อร่างกายนอนราบถึงที่สุด ก็เข้าเต็มที่เท่าที่ตนเองทำได้ เมื่อเริ่มที่จะลุกขึ้น สมาธิก็จะคลายออกมาเป็นลำดับไปเรื่อย จนกระทั่งนั่งขึ้นมาก็จะออกมาที่อุปจารสมาธิพอดี

ถ้าถามว่าสมาธิที่เข้าลึกถึงระดับนั้น สามารถบังคับร่างกายให้เคลื่อนไหวได้ด้วยหรือ? ก็ขอบอกว่า ถ้ามีความคล่องตัวและชำนาญจริง ๆ เราสามารถบังคับร่างกายเคลื่อนไหวได้ อย่างที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงได้กล่าวไว้ว่า เป็นฌานใช้งานหรือสมาธิใช้งาน

แต่ถ้าเราไม่มีความคล่องตัว ขาดวสีภาพหรือความชำนาญแล้ว พอสมาธิเริ่มทรงตัว ร่างกายก็ไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้ เพราะจิตกับประสาทเริ่มแยกออกจากกัน ทำให้บังคับร่างกายไม่ได้

เถรี 16-12-2010 11:15

ดังนั้น..งานในวันนี้ของเราก็คือว่า ให้ทุกคนจับลมหายใจเข้าออกพร้อมกับคำภาวนา หรือภาพพระของเรา ให้กำหนดดู กำหนดรู้ไปเรื่อย ๆ และพยายามที่จะกำหนดดูว่า ในอารมณ์ของแต่ละระดับสมาธิของเรานั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้เกิดอาวัชชนวสี คือความชำนาญในการกำหนดว่า ตอนนี้เราอยู่ในอารมณ์สมาธิระดับไหน

ถ้าหากว่าเบาไป เกรงว่าจะเกิดอันตรายจากกิเลส ก็จะได้เข้าสมาธิให้ได้สูงขึ้น งานของเราก็คือ สร้างสมาธิให้เกิดและแยกแยะให้ได้ว่าเป็นสมาธิในระดับไหน นี่เป็นงานขั้นต้นของเราเท่านั้น

ให้เรากำหนดรู้ ลมหายใจเข้าออก พร้อมกับคำภาวนา หรือภาพพระของเราไป ในขณะเดียวกันก็เอาสติสมาธิกำหนดรู้เฉพาะหน้าไปด้วย ว่าตอนนี้แต่ละอารมณ์ใจมีสภาพเป็นอย่างไร ถ้าเข้าลึกเข้าไปอีกจะเป็นอย่างไร

อย่างเช่นว่า คำภาวนาเริ่มหายไป ลมหายใจเข้าออกเริ่มละเอียดขึ้น เบาลงหรือหายไปด้วย เป็นต้น ให้เรากำหนดดู กำหนดรู้อยู่เช่นนี้ พร้อมกับการกำหนดลมหายใจเข้าออก และคำภาวนาไปเรื่อย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันศุกร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:45


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว