กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   กระทู้ธรรม (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=2)
-   -   บุญที่ยิ่งใหญ่ จากการสาธยายพระไตรปิฎก (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=881)

ป้านุช 19-08-2009 15:37

บุญที่ยิ่งใหญ่ จากการสาธยายพระไตรปิฎก
 
ทำไมการสาธยายพระไตรปิฎกจึงเป็น “บุญที่ยิ่งใหญ่”


“ อานนท์!

ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว

บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย

จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย

โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”


:875328cc::875328cc::875328cc:


จากหนังสือ ทำไมการสาธยายพระไตรปิฎกจึงเป็น “บุญที่ยิ่งใหญ่”
ได้รับอนุญาตแล้ว จากปัตติยา ผู้รวบรวมและเรียบเรียง

ป้านุช 19-08-2009 15:53

:4672615:สาธยายพระไตรปิฎกทำไปเพื่ออะไร?
ทำแล้วจะได้อะไร?

การสาธยาย หมายถึง การสวด การท่อง การอธิบายเรื่องราว
ซึ่งเป็นคำโบราณในภาษาอินเดียที่ใช้ในหมู่พวกพราหมณ์
มักจะนิยมใช้กับบทภาษิต คาถา หรือมนต์ที่มีความเคารพ ศรัทธาเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์
เช่น การสาธยายมนต์ การสาธยายพระเวท

:4672615:สำหรับในพระพุทธศาสนาก็ได้มีการใช้คำนี้มาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล
ดังปรากฏในพระไตรปิฎก (การรวบรวม พระธรรมวินัยเป็น ๓ หมวดหมู่)
ซึ่งพระมหากัสสปเถระ (ผู้ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศในทางธุดงค์)
ได้เป็นผู้นำให้เกิดการสังคยานาพระไตรปิฎกขึ้น

โดยมีเรื่องราวปรากฏใน อรรถกถา ฉบับธรรมทาน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑๑ หน้า ๗๐ ว่า

:4672615:เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประนิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ท่านพระมหากัสสปเถระได้ระลึกถึงคำของภิกษุชราชื่อ สุภัททะ
ที่ได้กล่าวจาบจ้วงพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้ง ๆ ที่พระพุทธองค์เพิ่งปรินิพพานได้ ๗ วัน
ท่านพระมหากัสสปเถระจึงคิดว่าเมื่อพระศาสดาสิ้นแล้ว
พวกฝ่ายตรงข้ามจะพากันย่ำยีพระสัทธรรมให้อันตรายในเวลาไม่นานนัก
ฉะนั้นเราควรจะทำการสังคายนาพระธรรมและพระวินัย เพื่อพระศาสนานี้จะมั่นคงดำรงอยู่ชั่วกาลนาน


:4672615:ท่านพระมหากัสสปเถระเลือกพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ โดยเลือกเอาเฉพาะภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ประเภทวิชชา ๓
(ระลึกชาติได้ รู้ความเป็นไปของสัตว์คือเมื่อตายแล้วจะไปเกิดเป็นอะไร และรู้ที่จะทำให้กิเลสหมดสิ้นไป) เป็นต้น

ซึ่งพระอรหันต์เหล่านั้นทรงพระปริยัติ คือมีความรอบรู้ทั้งพระธรรมและ พระวินัยและเป็นผู้บรรลุปฏิสัมภิทา
(รู้ทั้งอรรถ ธรรม ภาษา และมีปฏิภาณ)

มีอานุภาพยิ่งใหญ่ และได้คิดที่จะทำสังคายนาที่บริเวณใกล้ประตูถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระเขตกรุงราชคฤห์
โดยเริ่มสังคายนาพระวินัยก่อน เพราะพระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา
เมื่อพระวินัยตั้งอยู่พระศาสนาก็ได้ชื่อว่ายังดำรงอยู่


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 19-08-2009 16:02

:4672615:ในการทำสังคายนาพระมหากัสสปเถระได้สมมติตนเองเพื่อถามพระวินัย และพระอุบาลีเถระ
(เป็นผู้ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศในการปฏิบัติตามพระวินัยได้อย่างถูกต้อง)
สมมติตนเพื่อตอบพระวินัย

:4672615:พระมหากัสสปเถระได้เริ่มต้นถามพระวินัยด้วยบทปฐมปราชิก
ซึ่งเป็นพระวินัยข้อแรกที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติแก่พระสาวก

เมื่อพระอุบาลีเถระตอบแล้ว พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ตอบรับตรงกันก็ได้ทำ คณสาธยาย (สวดเป็นหมู่)

ในเวลาที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์เริ่มสวด แผ่นดินใหญ่ได้เป็นเหมือนให้สาธุการ ไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน
จากนั้นก็ทำการสังคายนาแต่ละคัมภีร์
และพระอรหันต์เริ่มทำการคณสาธยายแผ่นดินใหญ่ก็ได้ไหวเหมือนดังข้างต้น

:4672615:ครั้นสังคายนาพระวินัยเสร็จแล้วท่านพระมหากัสสปเถระ ก็ได้สังคายนาพระธรรม
(สุตตันตปิฎกและอภิธรรมปิฎก)
ต่อไป โดยสมมติตนเป็นผู้ถาม และพระอานนท์เถระ
(เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้ายกย่องว่าเป็นเลิศทางพหูสูตร คือ มีความจำดี) เป็นผู้ตอบ

เมื่อพระอานนท์เถระตอบแล้ว และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ตอบรับตรงกัน จึงเริ่มทำคณสาธยายพระธรรมในแต่ละพระสูตร
ซึ่งในเวลาที่พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ทำคณสาธยายนั้น แผ่นดินใหญ่ก็ได้ไหวเหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้ว

:4672615:จากเรื่องราวที่ปรากฏในอรรถกถาข้างต้น
จะพบว่าการสาธยายพระไตรปิฎกได้ทำกันมาตั้งแต่ในอดีตคือครั้งพุทธกาล

หลังจากที่ได้ทำสังคายนาเสร็จแล้ว ต่อจากครั้งนั้นไม่มีหลักฐานว่าได้มีการทำคณสาธยายพระไตรปิฎกอีกเลย
ไม่ว่าจะทำโดยฝ่ายพระภิกษุหรือฝ่ายฆราวาส ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยในครั้งพุทธกาลยังไม่มีการจารอักษร(จดบันทึก)
ฉะนั้น จึงต้องใช้การทรงจำโดยการท่องพระธรรมและพระวินัย
ซึ่งได้เล่าเรียนมาจากผู้เป็นอาจารย์ และถ่ายทอดสืบมาด้วยการท่องจำ

:4672615:การสังคายนาในครั้งนั้น ก็เพื่อจะสอบทานพระธรรมและพระวินัยให้ตรงกัน
จึงต้องมีการถามตอบต่อหน้าพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์
ที่ได้ฟังธรรมเฉพาะเบี้องพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เมื่อยอมรับตรงกันจึงได้ทำการคณสาธยายคือสวดพร้อมกันทั้ง ๕๐๐ องค์

และด้วยกำลังของพระอรหันต์ผู้มีอานุภาพยิ่งใหญ่
จึงทำให้แผ่นดินใหญ่ได้ไหวประหนึ่งเป็นการรับรองสาธุการในพระธรรมและพระวินัยที่ได้สังคายนาแล้วนี้

พระอรหันต์ทั้งหลายเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
มีกิจที่จะพึงกระทำคือการจาริกไปเพื่อประกาศพระธรรมที่ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 20-08-2009 15:15

การจะมาร่วมกันสาธยายพระธรรมวินัยจึงเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้เพราะพระธรรมวินัยซึ่งมีจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นี้
ผู้ที่จะทรงจำ รู้ และเข้าใจอย่างลึกซึ้งก็ต้องเป็นผู้บวชเรียนและได้รับการถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณ

ฉะนั้นผู้ที่เป็นฆราวาส เป็นผู้ครองเรือนมีกิจในการทำมาหาเลี้ยงชีพจึงไม่อาจจะทำได้

ต่อมาได้มีการประดิษฐ์อักษรเพื่อใช้ในการสื่อสาร จึงทำให้มีการบันทึกพระธรรมวินัยเป็นลายลักษณ์อักษร
เพื่อไม่ให้คลาดเคลื่อนไปจากพระพุทธพจน์ที่ได้แสดงไว้เมื่อครั้งพุทธกาล
ซึ่งการจารอักษรพระไตรปิฎกครั้งแรกได้ทำเป็นภาษาสิงหล ณ เมืองลังกา

ต่อมาประเทศไทยได้รับมาในรูปแบบของพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี จากนั้นจึงมาแปลภาษาไทยในภายหลัง
แต่การสาธยายก็ยังไม่สามารถกระทำได้ เนื่องด้วยคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการศึกษา
ไม่สามารถอ่านเขียนหนังสือได้ และในขณะนั้นการพิมพ์หนังสือพระไตรปิฎกก็ยังไม่แพร่หลาย

แต่ปัจจุบันการศึกษาเล่าเรียนของคนไทยได้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้น
ทำให้คนไทยทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดสามารถอ่านเขียนหนังสือได้อย่างดี
นอกจากนั้นการพิมพ์หนังสือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพระไตรปิฎกหรือหนังสือทุก ๆ ประเภท ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดี

ประกอบกับคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
จึงเป็นการสมควรและเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ที่เหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะมาช่วยกันดำรงพระศาสนา
ประกาศพระธรรมด้วยการสาธยายพระไตรปิฎก

ได้มีคำกล่าวว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ ๕,๐๐๐ ปี ฉะนั้นช่วงนี้จึงถือได้ว่าเป็นช่วงกึ่งพุทธกาล
(ท่าน Piyaratana พระชาวศรีลังกาบอกว่า ถ้าจะนับปีให้ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ปีนี้ (๒๕๕๑) ในประเทศไทย คือ ปีพ.ศ. ๒๕๐๐
ส่วนประเทศศรีลังกาจะเป็นปี ๒๕๐๑ เพราะที่ประเทศศรีลังกาได้ทำการฉลองกึ่งพุทธกาลคือ ๒๕๐๐ ปี ไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทางศรีลังกาจะนับปีมากกว่าประเทศไทยหนึ่งปี)


จากที่พระศาสดาได้ทรงพระปรินิพพานจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาอันยาวนานมาก พวกเราไม่ได้มีโอกาสได้พบพระศาสดา
(หรืออาจจะเคยในภพก่อนแต่ความทรงจำในอดีตได้ลบเลือนไปแล้ว)


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 21-08-2009 12:13

:875328cc:เราจึงทำได้เพียงแค่วาดภาพและรำลึกถึงพระองค์อยู่ภายในจิตใจ ซึ่งพระองค์คงทรงทราบความนี้
จึงได้มีพระดำรัสกับพระอานนท์ ในกาลก่อนจะทรงพระปรินิพพาน
ดังปรากฏในพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๑๐ หน้า ๑๒๒ มีความว่า

“ อานนท์!

ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว

บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย

จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย

โดยกาลล่วงไปแห่งเรา”

จากพระพุทธพจน์นี้บอกเราให้ทราบว่า

:875328cc:เมื่อเรานำพระไตรปิฎกมาวางตรงหน้า แล้วนั่งลงสาธยายพระไตรปิฎกนั้น

ก็เสมือนหนึ่งว่าเรากำลังอยู่หน้าเบื้องพระพักตร์ของพระศาสดา


จิตใจเดิมอันร้อนรุ่ม วุ่นวาย ฟุ้งซ่าน ไม่มีที่ยึดเกาะเหมือนคนหลงทางได้สิ้นสุดลง

บัดนี้จิตใจของเราได้มีที่พึ่งแล้ว ไม่ต้องซัดเซพเนจรอีกต่อไป

พระศาสดาประทับอยู่เบื้องหน้า จะมีความปีติสุขใจอื่นใดมากไปกว่านี้อีกเล่า


:875328cc:แม้พระศาสดาก็เคยตรัสในเรื่องการสาธยายพระธรรมว่า

"เมื่อสาธยายอยู่ ปีติและความสุขในธรรมย่อมเกิดขึ้น

เมื่อทำกรรมฐานไว้ในใจอยู่ ความสุขอันสงบย่อมเกิดขึ้น"


(อรรถกถา ฉบับธรรมทานพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ ๒๔ หน้าที่ ๒๔๑)

:875328cc:นอกจากนั้นพระพุทธองค์ยังได้ตรัสอีกว่า

"เมื่อภิกษุนั้นสาธยายอยู่ คิดอยู่ บอกอยู่ ประกาศอยู่ซึ่งพระไตรปิฎก
คือ พุทธพจน์ ด้วยสามารถแห่งอรรถ แห่งบาลี แห่งอนุสนธิ แห่งบทต้นและบทปลายอยู่
เมื่อนั้น กิเลสทั้งหลายย่อมไม่ได้โอกาส"


(อรรถกถา ฉบับธรรมทานพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ เล่มที่ ๗๘ หน้าที่ ๑๘๗)


และเมื่อเราได้เข้าเฝ้าผู้มีศักดิ์ใหญ่ สิ่งที่พึงกระทำคือ ต้องมีสติ มีความรู้สึกตัวในทุก ๆ การกระทำ
การมีสตินี้เองเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ เพราะเมื่อมีสติก็จะไม่ประมาท
และการไม่ประมาทคือธรรมข้อสุดท้าย ที่พระพุทธองค์ทรงประทานเป็นปัจฉิมโอวาท
ดังปรากฏในพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่มที่ ๑๐ หน้าที่ ๑๒๔ ดังความว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"



:875328cc:การสาธยายพระไตรปิฎก จึงเป็นเหมือนการฝึกสติ
เมื่อเข้าร่วมสาธยายและสาธยายด้วยความตั้งใจ ก็จะเป็นการได้ฝึกสติจนเกิดความชำนาญ
ทำให้เป็นผู้มีสติดี ไม่หลงลืม ขาดสติ เลอะเลือน จนเกิดโทษกับตนเองและผู้อื่นในที่สุด
เพราะสติที่แข็งแรงจะเป็นรากฐานของสมาธิ และสมาธิที่แข็งแกร่งจะช่วยเสริมสร้างปัญญา
ที่จะพาเราให้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่คับขันได้


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 24-08-2009 00:58

:4672615:ดังเรื่องราวของพระกุณฑลเกสีเถรี

ซึ่งได้บวชเป็นภิกษุณี ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนมชีพอยู่
ในพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๓๓/๒ หน้าที่ ๑๓ ในกุณฑลเกสี วรรคที่ ๓ มีความว่า

:baa60776:ในภพนี้ ดิฉันเกิดในสกุลเศรษฐีในพระนครราชคฤห์
เมื่อเป็นสาวได้เห็นราชบุรุษนำโจรไปเพื่อจะฆ่า มีความรักในโจรนั้น
ต้องการที่จะได้โจรเป็นคู่ครอง จึงขอร้องบิดาให้ช่วยโจร
บิดาจึงไปไถ่ตัวโจรมาจากราชบุรุษด้วยทรัพย์หนึ่งพันกหาปนะ (หน่วยเรียกเงินอินเดียในสมัยนั้น)

ดิฉันรักใคร่โจรมาก ต่อมาโจรมีความโลภต้องการทรัพย์สินเครื่องประดับของดิฉัน
จึงออกอุบายบอกดิฉันว่าจะต้องไปบวงสรวงเทวดาที่เหวทิ้งโจร
ดิฉันช่วยขนเครื่องบวงสรวงไปที่เหวทิ้งโจรกับโจรเพียงสองคน ไม่มีทาสตามไปด้วย
เมื่อโจรคิดจะฆ่า ดิฉันจะรักษาชีวิตของตัวไว้ จึงประนมมือไหว้โจรผู้เป็นศัตรูเป็นอย่างดีแล้วกล่าวว่า

“นายผู้เจริญ สร้อยทองคำ แก้วมุกดาและแก้วไพฑูรย์เป็นอันมากทั้งหมดนี้
ท่านเอาไปเถิด อย่าฆ่าฉันเลย”

โจรกล่าวว่า “ จงตายเสียเถิด อย่ามัวรำพันนักเลย เราต้องการจะฆ่านาง”

:onion_love:ดิฉันจึงตอบว่า “ตั้งแต่ฉันได้เห็นท่าน ฉันก็ไม่เคยรักใครมากกว่าท่านเลย
มาเถิด ฉันจักขอกอดท่าน ทำความเคารพแล้วจะไหว้ท่านทั้งสี่ทิศ

(คือไหว้ข้างหน้า ข้างขวา ข้างซ้าย และข้างหลัง)เพราะท่านกับดิฉันจะไม่ได้อยู่ร่วมกันอีกต่อไป”

:4672615:โจรก็ยืนให้ไหว้ พอโจรเผลอ ดิฉันก็ผลักโจรตกเหวไป ดิฉันฆ่าโจรได้ในครั้งนั้น
ก็เพราะเนื่องด้วยมีสติเต็มอยู่ในจิต เมื่อมีสติก็จะมีปัญญาคิดในเรื่องนั้น
และหาทางออกได้อย่างรวดเร็ว ผู้ใดไม่รู้จักเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ผู้นั้นมีปัญญาเขลา ย่อมถูกเขาฆ่าเหมือนโจรที่ถูกฆ่าที่เหวทิ้งโจร

:4672615:พระกุณฑลเกสีเถรียังกล่าวต่อไปอีกว่า
“ในที่ทุกแห่ง ใช่ว่าบุรุษเท่านั้นจะเป็นบัณฑิต ถึงสตรีก็เป็นบัณฑิตเฉลียวฉลาดได้เช่นเดียวกัน
และในที่ทุกแห่ง ใช่ว่าบุรุษเท่านั้นจะเป็นบัณฑิตคิดความได้ว่องไว ใช่ว่าบุรุษจะคิดเหมาะสมในเรื่องเดียวเร็วพลัน
สตรีก็มีความสามารถเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ผู้ใดรู้จักเรื่องที่เกิดขึ้นได้ว่องไว ผู้นั้นก็พ้นจากพวกศัตรู
เหมือนดิฉันพ้นจากโจรที่เป็นศัตรูในครั้งนั้น”


:4672615:การสาธยายพระไตรปิฎก
นอกจากจะยังประโยชน์โดยตรงให้กับผู้สาธยายแล้ว แม้ผู้ที่ไม่สามารถจะสาธยายได้
แต่อาศัยเพียงจิตสงบ น้อมฟังพระธรรมก็สามารถสำเร็จประโยชน์อันหาประมาณมิได้เช่นกัน


ดังเช่น ค้างคาวหนู ๕๐๐ ตัวที่ห้อยอยู่ที่เงื้อมเขาแห่งหนึ่ง ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ
ครั้งนั้นได้มีพระเถระ ๒ รูปจงกรมแล้วท่องพระอภิธรรมอยู่ในบริเวณนั้น
ค้างคาวเป็นสัตว์ดิรัจฉานไม่รู้ภาษามนุษย์ ไม่รู้ว่า “เหล่านี้ชื่อว่า ขันธ์ เหล่านี้ชื่อว่า ธาตุ”

:4672615:ด้วยเหตุว่าถือเอานิมิตในเสียงของพระเถระทั้งสองเท่านั้น จุติจากการเป็นค้างคาวนั้นพร้อมกัน
แล้วเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติสิ้นพุทธันดรหนึ่ง
จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว เกิดเป็นมนุษย์ในกรุงสาวัตถีเกิดความเลื่อมใสในยมกปาฏิหาริย์
(พระพุทธเจ้าทรงแสดงก่อนที่จะเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาที่ดาวดึงส์ในพรรษาที่ ๗)
บวชในสำนักของพระสารีบุตรทั้ง ๕๐๐ คน และเมื่อพระสารีบุตรได้แสดงพระอภิธรรมแล้ว
พระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ก็ได้เป็นผู้ชำนาญในปกรณ์ ๗ (พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์) และบรรลุพระอรหันต์

(อรรถกถา ฉบับธรรมทาน เล่ม ๔๒ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต หน้า ๓๑๕)

ป้านุช 26-08-2009 01:18

:4672615:ในบรรดาหมู่สัตว์ทั้งหลายที่ยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะ
จะกระทำกรรมเหมือนกันตลอดอัตภาพหนึ่ง ๆ ไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นไปได้
ด้วยเหตุดังนั้น วิบากกรรมจึงส่งให้สัตว์ทั้งหลายได้รับผลของกรรมต่างกัน
ค้างคาวหนูทั้ง ๕๐๐ ก็เช่นเดียวกัน แต่ละตัวมีวิบากกรรมที่ต่างกันไป

:4672615:แต่ด้วยการกระทำกรรมสุดท้ายอย่างเดียวกันคือ ได้ฟังพระเถระ ๒ รูปท่องพระอภิธรรม
การกระทำที่เหมือนกันในครั้งนี้ ทำให้วิบากกรรมที่จะนำไปสู่อบายภูมิ
(ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก)
ในภพชาติต่อไปถูกตัดทอนเสียสิ้น

ค้างคาวเหล่านั้นมีภพเหลือเพียง ๒ ภพคือ สุคติภพ (เทวโลก) และมนุษย์เท่านั้น

:onion_yom:ทั้งนี้ด้วยอานิสงส์ของการน้อมจิตฟังพระธรรม ได้ส่งผลอันยิ่งใหญ่แก่ค้างคาวทั้ง ๕๐๐
และอานิสงส์นี้มิใช่จะยังประโยชน์เฉพาะแก่ค้างคาวเท่านั้น
เพราะเมื่อผู้ใดก็ตามได้น้อมจิตถึงซึ่งพระธรรมแล้ว
ผู้นั้นย่อมจะได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่นั้นเสมอกัน


นอกจากนี้ยังได้มีกล่าวไว้ในอรรถกถา ฉบับธรรมทาน เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้าที่ ๒๒๔ ว่า

:4672615:“ ในครั้งที่พระอนุรุทธเถระ (เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นเลิศทางทิพยจักษุ)
นั่งสาธยายธรรมอยู่ในเวลาใกล้รุ่ง ที่บริเวณนั้นได้มียักษิณีตนหนึ่งชื่อ ปิยังกรมาตา สดับพระธรรมนั้น จึงรำพึงว่า

:d16c4689: “เรารู้บทธรรมแล้ว จะปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของเราข้อนั้นพึงมี เราพึงสำรวมในสัตว์ทั้งหลาย
ไม่พึงกล่าวเท็จทั้ง ๆ ที่รู้ พึงศึกษาความเป็นผู้มีศีลของตน เราก็จักพ้นจากกำเนิดนี้ได้”


นางยักษิณีได้บรรลุโสดาปัตติผลในวันนั้นเอง


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 29-08-2009 00:17

:4672615:จากที่ได้กล่าวมาแล้วจะพบว่า เมื่อมีผู้สาธยาย ก็จะมีผู้ฟังการสาธยาย
ฉะนั้นเพื่อประโยชน์ที่จะพึงบังเกิดขึ้น จึงต้องทำด้วยความตั้งใจ ทั้งผู้สาธยายและผู้ฟังการสาธยาย

เพราะในครั้งแรกเมื่อเรายังไม่รู้บทธรรมนั้น ๆ เราจะเป็นผู้ฟัง
ต่อมาเมื่อเราเข้าใจและทรงจำบทธรรมนั้นได้ เราก็สามารถเป็นผู้ประกาศบทธรรมแก่ผู้อื่น
ประโยชน์จะพึงเกิดขึ้นแก่ตัวเราเองและหมู่ชนเป็นจำนวนมาก

:4672615:ในเรื่องนี้พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงวิมุตตายตนะ ๕
(อายตนะที่ช่วยนำพาให้การหลุดพ้น ๕ ประการ) ดังนี้คือ

๑. การสดับธรรมเทศนาที่ผู้อื่นแสดง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน(หู)
๒. การแสดงธรรมตามที่ตนได้สดับมาแล้ว เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเหล่าอื่น(ลิ้น)
๓. การสาธยายธรรมที่ตนได้สดับมาแล้ว(ลิ้น)
๔. การตรึกถึงธรรมตามที่สดับมาแล้วด้วยใจ(ใจ)
๕. อารมณ์อันสมควรแก่กรรมฐาน ๔๐ มีกสิน ๑๐ อสุภะ ๑๐(ใจ)

(อรรถกถา ฉบับธรรมทาน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่มที่ ๖๘ หน้าที่ ๑๘๘)


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 31-08-2009 00:23

นอกจากนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้ายังได้ทรงแสดงธรรม ๑๐ ประการเป็นอาหารของธรรม ๑๐ ประการ

พระไตรปิฎก ฉบับธรรมทาน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์ เล่มที่ ๒๔ หน้า ๑๒๐ ดังนี้

๑. ความไม่เกียจคร้าน ความขยันหมั่นเพียร เป็นอาหารของโภคสมบัติ

๒. การประดับ การตกแต่งร่างกาย เป็นอาหารของวรรณะ

๓. การกระทำสิ่งที่เป็นที่สบาย เป็นอาหารของความไม่มีโรค

๔. ความเป็นผู้มีมิตรดี เป็นอาหารของศีลทั้งหลาย

๕. การสำรวมอินทรีย์ เป็นอาหารของพรหมจรรย์

๖. การไม่แกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง เป็นอาหารของมิตร

๗. การกระทำการสาธยาย เป็นอาหารของความเป็นพหูสูต

๘. การฟังด้วยดี การสอบถาม เป็นอาหารของปัญญา

๙. การประกอบความเพียร การพิจารณา เป็นอาหารของธรรม

๑๐. การปฏิบัติชอบเป็นอาหารของสัตว์ทั้งหลาย

พระธรรมบทนี้จึงบอกให้เราทราบว่า

สิ่งที่หล่อเลี้ยงให้เกิดเป็นพหูสูต เป็นผู้มีปัญญานั้น ก็คือการสาธยายธรรมและการฟังธรรมนั่นเอง

และผู้ที่สามารถยืนยันพระพุทธพจน์ได้อย่างดี คือเหล่าสาวกและสาวิกาทั้งหลายที่ได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว


และได้กล่าวภาษิตสรรเสริญการฟังธรรมดังปรากฏในพระไตรปิฎก
ฉบับมหาจุฬาฯ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่มที่ ๒๖
ตามลำดับหน้าต่อไปนี้

หน้าที่ ๓๑๖กุมาปุตตเถรคาถา ภาษิตของพระกุมาบุตรเถระ ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

การฟังเป็นความดี

การประพฤติตนเป็นคนมักน้อยเป็นความดี

การปฏิบัติเพื่อละกามคุณ ๕ ทุกเมื่อเป็นความดี

การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี

การปฏิบัติตามโอวาทโดยเคารพเป็นความดี

กิจมีการฟังเป็นต้น เป็นเครื่องหมายความเป็นสมณะ


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 04-09-2009 01:28

:4672615:หน้าที่ ๓๕๐ เมฬชินเถรคาถา
ภาษิตของพระเมฬชินเถระ ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

เมื่อใด เราได้ฟังธรรมของพระศาสดาผู้ทรงแสดงอยู่
เมื่อนั้น เรารู้ธรรมทั้งปวง
จึงไม่รู้สึกสงสัยในพระศาสดาที่ใคร ๆ ชนะไม่ได้

:4672615:หน้า ๓๕๒ มหาจุนทเถรคาถา
ภาษิตของพระมหาจุนทเถระ ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

การฟังด้วยดีเป็นเหตุให้การศึกษาเจริญ
การศึกษาเป็นเหตุให้ปัญญาเจริญ
บุคคลรู้ประโยชน์ได้ก็เพราะปัญญา
ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้วนำความสุขมาให้



:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 07-09-2009 09:00

:4672615:หน้าที่ ๔๒๕ มหากัจจายนเถรคาถา
ภาษิตของพระมหากัจจายนเถระ ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

บุคคลย่อมได้ยินเสียงทุกอย่างด้วยหู
ย่อมเห็นรูปทุกอย่างด้วยตา
ส่วนนักปราชญ์ไม่พึงละทิ้งทุกอย่างที่ได้เห็น ที่ได้ยิน


:4672615:หน้าที่ ๔๕๕ ภาษิตของท้าวสักกเทวราชท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

ข้าพเจ้านี้สดับธรรมซึ่งมีอรรถรสมาก จึงเลื่อมใสอย่างยิ่ง
ธรรมที่คลายกำหนัดพอใจ เพราะไม่ยึดมั่นโดยสิ้นเชิง

(เป็นภาษิตที่ ๑ ในโสฬสกนิบาต อัญญาโกณฑัญญเถรคาถา )


:4672615:หน้า ๔๘๓ อังคุลิมาลเถรคาถา
ภาษิตของพระองคุลิมาลเถระ ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

เมื่อพบพระพุทธเจ้า เราได้วิ่งตาม
เพื่อต้องการชีวิตของพระพุทธองค์
ได้สดับพระพุทธภาษิตว่า

“เราหยุดแล้ว แต่ท่านสิยังไม่หยุด”

จึงได้สติโยนดาบและอาวุธทิ้ง
และกราบทูลว่า “ข้าพระองค์นั้น ได้สดับพุทธภาษิต
ซึ่งประกอบด้วยธรรมของพระองค์จะเลิกละบาปตั้งพัน”


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 09-09-2009 16:53

หน้า ๕๐๐ สารีปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระสารีบุตรเถระ ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระจักษุ ได้ทรงแสดงธรรมโปรดผู้อื่น
เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ เรามุ่งประโยชน์ได้ตั้งใจฟัง
การตั้งใจฟังของเรานั้น ไม่ไร้ประโยชน์ จึงเป็นผู้หลุดพ้นแล้วหาอาสวะมิได้


หน้า ๕๐๘ อานนทเถรคาถา
ภาษิตของพระอานนทเถระ ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

ผู้หวังความรู้แจ้งธรรมพึงคบหาท่านผู้เป็นพหูสูต
ทรงธรรม มีปัญญา เป็นพุทธสาวกเช่นนั้น

ป้านุช 12-09-2009 23:52

:4672615:หน้าที่ ๕๖๑ อุตตมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุตตมาเถรี ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

เราได้เข้าไปหาภิกษุณีผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้
ท่านได้แสดงธรรมคือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุแก่เรา
เราฟังธรรมของท่านแล้ว ได้ปฏิบัติตามที่ท่านพร่ำสอน
เอิบอิ่มด้วยสุขที่เกิดแต่ปีติ
นั่งขัดสมาธิท่าเดียวตลอด ๗ วัน
ในวันที่ ๘ ทำลายกองความมืดได้แล้ว จึงเหยียดออก


:4672615:หน้าที่ ๕๖๗ อัญญตราเถรีคาถา
ภาษิตของพระอัญญตราเถรี ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

ตั้งแต่เราบวชมาตลอด ๒๕ พรรษา
ยังไม่ประสบความสงบจิต แม้ชั่วเวลาเพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย
ได้เข้าไปหาภิกษุณีผู้มีวาจาที่เชื่อถือได้
ท่านได้แสดงธรรม คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุแก่เรา
เราฟังธรรมของท่านแล้ว เข้าไปนั่ง ณ ที่สมควร
ระลึกชาติได้ ชำระทิพยจักษุให้หมดจดแล้ว
เราชำระเจโตปริยญาณและโสตธาตุให้หมดจดแล้ว
แม้ฤทธิ์ เราก็ทำให้แจ้งแล้ว ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะเราก็บรรลุแล้ว
อภิญญา ๖ เราก็ทำให้แจ้งแล้ว เราได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 15-09-2009 14:45

:4672615:หน้าที่ ๕๗๑ สกุลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสกุลาเถรี ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

เมื่อเรายังอยู่ในเรือน ฟังธรรมของภิกษุแล้ว
ได้เห็นนิพพานซึ่งเป็นธรรมปราศจากกิเลสดุจธุลี
เป็นทางถึงความสุข ไม่จุติ
เรานั้นละบุตรธิดา ทรัพย์และข้าวเปลือก โกนผมแล้วบวชเป็นบรรพชิต
ชำระทิพยจักษุที่อบรมแล้วอย่างดีให้หมดมลทินได้
เห็นสังขารทั้งหลายเป็นอนัตตาอันเกิดแต่เหตุ
มีสภาวะทรุดโทรมโดยความเป็นอนัตตาแล้ว
ละอาสวะทั้งปวงได้ จึงเป็นผู้เย็นดับสนิทแล้ว


:4672615:หน้าที่ ๕๗๒ โสณาเถรีคาถา
ภาษิตของพระโสณาเถรี ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

เราได้เข้าไปหาภิกษุณี
ภิกษุณีนั้นแสดงธรรม คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุแก่เรา
เราฟังธรรมของท่านแล้วก็โกนผมบวช
เมื่อเราศึกษาอยู่ ก็ชำระทิพยจักษุให้หมดจด
ไม่ยึดมั่น ดับสนิทแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก ...


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 15-09-2009 14:46

:4672615:หน้าที่ ๕๗๗ วาสิฏฐีเถรีคาถา
ภาษิตของพระวาสิฏฐีเถรี ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

เราฟังธรรมของพระองค์แล้วบวชเป็นบรรพชิต
เพียรพยายามในคำสอนของพระศาสดา
ได้ทำให้แจ้งซึ่งบทธรรมอันปลอดโปร่ง


:4672615:หน้าที่ ๕๘๖ อุปจาลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุปจาลาเถรี ท่านได้กล่าวคาถาไว้ดังนี้

เราได้ฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ยินดีอยู่ในคำสอน
ได้บรรลุวิชชา ๓ ได้ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
กำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวงได้แล้ว ทำลายกองความมืดได้แล้ว
มารผู้ชั่วช้าเลวทราม ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ท่านถูกเรากำจัดแล้ว...


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 16-09-2009 16:52

:4672615:ฉะนั้นการฟังจึงถือได้ว่าเป็นหัวใจแห่งองค์ความรู้ทั้งหลาย
เพราะในอดีตเมื่อยังไม่มีตัวอักษรที่ใช้สื่อสารกัน เราก็จะใช้วิธีเล่าสู่กันฟังจากครูถึงศิษย์ จากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน
ผู้ที่มีความทรงจำดีเป็นพหูสูต ก็จะสามารถทรงจำเรื่องราวทั้งหมดได้โดยทันที ส่วนผู้ที่จำไม่ค่อยได้ก็อาจใช้วิธีท่องจำ

:4672615:แม้ในปัจจุบันนี้ เมื่อเราอยู่ในวัยเยาว์ยังไม่ได้เข้ารับการศึกษาจากสถานศึกษาใด ๆ มารดาบิดาจะเป็นผู้อบรมสั่งสอน
จึงต้องอาศัยการฟังอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังอ่านหนังสือไม่ออกและเขียนหนังสือไม่ได้ เมื่อตั้งใจฟังจนเข้าใจแล้ว
เราจึงนำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังนั้นมาตรึกตรองหาเหตุและผลอย่างมีสมาธิ การทำเช่นนั้นย่อมนำมาซึ่งปัญญา
และปัญญาที่เกิดขึ้นจะพาเราข้ามความไม่รู้จนกลายเป็นความรู้ (จากอวิชชาเป็นวิชชา)

:4672615:เมื่อความรู้ความเห็นที่ถูกที่ควรได้เกิดขึ้นแล้ว การยึดมั่นถือมั่นในสิ่งสมมติทั้งหลายก็จะถูกละวางลง
การสิ้นสุดแห่งภพชาติก็จะตามมาในที่สุด

นอกจากนี้ เรายังพบว่าการจะรู้และเข้าใจในเรื่องบางเรื่อง ไม่อาจทำได้ด้วยการอ่านอย่างเดียว
เช่นการหัดขับรถ การว่ายน้ำ หรือแม้แต่การเล่นโยคะเป็นต้น

:4672615:เราต้องพบผู้รู้ที่สามารถอธิบายรายละเอียดตามขั้นตอน เมื่อเราตั้งใจฟังอย่างมีสมาธิก็จะเข้าใจและสามารถลงมือปฏิบัติได้
สัตว์เลี้ยงทั้งหลายก็เช่นกัน เนื่องจากสัตว์เหล่านั้นไม่สามารถสื่อสารกับเราด้วยคำพูดได้ แต่เมื่อเราต้องการให้พวกเขาทำอะไร
เราจะเป็นฝ่ายพูดและพวกเขาก็จะรับฟังและทำตาม จนทำให้ผู้ที่รักสัตว์เลี้ยงทั้งหลาย
มีความเมตตาและเอ็นดูในความฉลาดของสัตว์เหล่านั้น ซึ่งความฉลาดนั้นก็ต้องอาศัยการฟังเป็นรากฐานเช่นกัน

ป้านุช 18-09-2009 13:13

:4672615:ด้วยความที่จิตของเรามีความทรงจำที่ดี สามารถเก็บสะสมเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างมากเกินกว่าเราจะคาดเดาได้
แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยผ่านไปนานจนข้ามภพข้ามชาติ จิตของเราก็ยังเก็บบันทึกเรื่องราวนั้น ๆ ไว้อย่างดี
จนกระทั่งเราได้มาพบเรื่องราวเดิมอีกครั้ง จิตที่ปลอดโปร่งก็จะระลึกได้และสามารถนำเรื่องราวนั้นมาใช้ประโยชน์ได้
ตัวอย่างเช่น

:4672615:ในบางครั้งเมื่อเราพบผู้ที่เราเคยรู้จัก แต่เมื่อจากกันไปนานจนไม่อาจจะจำชื่อได้ และไม่ว่าจะใช้ความพยายามเท่าไร
ก็ไม่สามารถจะนึกได้ แต่เมื่อเรากลับถึงบ้านได้พักผ่อนจนสบายใจ เราก็จะนึกชื่อนั้นขึ้นมาได้เอง
นั่นเพราะจิตได้เก็บสะสมเรื่องราวนั้นไว้นาน จึงต้องใช้เวลา ความว่าง และความโปร่งเบาสบายของจิต
ที่จะนำเอาความทรงจำนั้นกลับคืนมา ซึ่งก็เช่นเดียวกับการที่เราเก็บของจำนวนมากไว้ในห้องเก็บของ
และเมื่อเราต้องการของชิ้นใดชิ้นหนึ่งในห้องนั้น เราจะไม่สามารถหาของชิ้นนั้นได้เลย
จนกว่าเราจะทำให้ห้องนั้นว่างขึ้น เราก็จะเห็นของที่เราต้องการในทันที

:4672615:จิตของคนเรานั้นมีองค์ประกอบสองส่วนคือ จิตสำนึกและจิตไร้สำนึก ขณะที่จิตสำนึก (หรืออาจจะเรียกว่าสามัญสำนึก)
ทำหน้าที่บอกเราว่า เราควรจะทำอะไรและไม่ควรจะทำอะไร เช่นเรามีอาชีพเป็นครู จิตสำนึกจะบอกเราว่า

เรามีหน้าที่ที่จะถ่ายถอดวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ เราก็จะทำหน้าที่นั้นตามกำลังของตนเองให้ดีที่สุดในแต่ละวันที่เราตื่นอยู่
แต่จิตไร้สำนึกจะต่างออกไปเพราะจะทำหน้าที่โดยปราศจากผู้ควบคุม จนบางครั้งเราไม่รู้ว่าเราเป็นคนทำ

:4672615:หรือบางครั้งเราทำโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเราเรียกว่าสัญชาตญาณ เช่น ในเวลากลางคืน เรารู้สึกว่าอากาศเย็น
เราจะหยิบผ้ามาห่มทั้ง ๆ ที่เรายังหลับอยู่ เมื่อเวลาเช้าเราคิดว่ามีใครมาห่มผ้าให้เรา
นั่นเพราะจิตไร้สำนึกทำงานและพยายามปกป้องร่างกายตามสัญชาตญาณ
ในเวลากลางคืนที่จิตสำนึกไม่ได้ทำงานเพราะเราหลับ ส่วนจิตไร้สำนึกจะทำงานที่สัมพันธ์กับร่างกายตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัว

:4672615:ฉะนั้นถ้ามีอะไรที่เข้ามากระทบร่างกาย จิตไร้สำนึกจะทำการสนองตอบโดยทันที
ทั้งนี้การกระทำที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนเราเองก็อาจจะไม่ได้พิจารณาว่าสมควรจะกระทำหรือไม่

เป็นการกระทำแบบไม่ได้ตั้งใจ ขาดสติ ทำตามสัญชาติญาณของการเอาตัวรอด ซึ่งมีอยู่ในมนุษย์และสัตว์ทุกประเภท

ป้านุช 21-09-2009 15:02

:4672615:จากการที่จิตไร้สำนึกทำงานโดยไร้การควบคุมนี้เอง
จิตไร้สำนึกจึงทำงานอย่างอิสระ และจะทำงานสนองตอบต่อความต้องการของเราตลอดเวลา เมื่อเรามีกิเลส
ถ้าเป็นความโลภ ต้องการในสิ่งใดก็ตาม จิตไร้สำนึกก็จะสนับสนุนให้เรามีความยินดีมากขึ้น และทำทุกอย่าง
เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เราต้องการ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและเหมาะสม

:4672615:หรือถ้าเรากำลังโกรธใคร จิตไร้สำนึกก็จะผลักดันให้เราทำร้ายผู้ที่เรากำลังโกรธนั้นให้ย่อยยับไปต่อหน้า และในเวลานั้น
ถ้าเราไม่สามารถเรียกสติให้กลับคืนมาได้ทัน ความเสียหายก็จะตามมาอย่างมากมาย และถ้าความหลงเข้าครอบงำ
เราจะมัวเมาขาดสติ มองไม่เห็นความจริงของไตรลักษณ์ (อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา)

:4672615:เราจะมีความยึดมั่น ถือมั่นกับทุกสิ่งทั้งที่มีชีวิต เช่น คน สัตว์ และสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง
ด้วยการเข้าครอบครองเป็นเจ้าของ คิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะอยู่กับเราอย่างยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลงจนลืมกฎของธรรมชาติว่า
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไป แม้กระทั่งตัวเราเอง ก็มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

:4672615:เราค่อย ๆ เติบโตจากสภาพของทารกเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเราต้องการให้ตนเองคงสภาพของวัยหนุ่มสาวตลอดไป เราก็จะเป็นทุกข์
ทั้งนี้เพราะเราไม่สามารถบังคับร่างกายได้เลย เราไม่สามารถสั่งผมบนศีรษะไม่ให้ยาว หรือร่วงหลุดออกมา หรือกลายเป็นสีขาว
เราไม่สามารถบอกกับขาของเราว่า ต้องไม่เมื่อยเมื่อเดิน หรือไม่เป็นเหน็บเมื่อนั่งนาน การที่เราไม่สามารถบังคับตนเองได้
เราก็ย่อมไม่สามารถที่จะไปบังคับใครหรืออะไรได้เลย

:4672615:ฉะนั้นถ้าเราหลงคิดไปว่า นี่เป็นสามี ภรรยา หรือบุตรของเรา นี่เป็นทรัพย์สิน เงินทองของเรา สิ่งที่ตามมาคือ
เราจะยึดติดกับคนและสิ่งของเหล่านั้น เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราจะไม่สามารถยอมรับได้ เกิดความน้อยใจ
เสียใจ และที่สุดอาจถึงขึ้นการทำร้ายหรือทำลายชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รักและตนเอง ซึ่งจิตของผู้ทำลายจะไม่ใช่จิตที่แจ่มใสอย่างแน่นอน

:4672615:จิตที่ขุ่นมัวและเศร้าหมองจะจมดิ่งลงสู่เบื้องล่างด้วยน้ำหนักของกรรมที่ตนเองกระทำ ฉะนั้นด้วยความหลง มัวเมา และความไม่รู้นี่เอง
จึงทำให้เราต้องเวียนว่ายในวัฏฏะ (กิเลส กรรม วิบาก) ไม่รู้จักจบสิ้น

:4672615:การไม่มีสติทำให้เราตกอยู่ในบ่วงของกิเลส จากนั้นเราก็จะทำกรรมเพื่อสนองกิเลสนั้น ๆ
และสุดท้ายเราก็ต้องรับวิบาก (ผล) ของกรรมด้วยตัวเราเองเพราะเราเป็นผู้กระทำกรรมนั้น


:875328cc::875328cc::875328cc:

ป้านุช 28-09-2009 17:04

:4672615:เมื่อกฎแห่งกรรมทำงาน
ไม่ว่าเราจะอยู่ในน้ำ อยู่ในถ้ำ อยู่ใต้ดิน หรือเหาะอยู่กลางอากาศ เราก็ไม่อาจหลบหลีกผลของกรรมนั้นไปได้
และไม่มีใครจะสามารถช่วยเราให้รอดพ้นจากผลของกรรมได้เช่นเดียวกัน

:4672615:ถ้าเราทำกรรมดีจิตของเราจะแจ่มใส สิ่งที่เราจะได้รับตามมาคือความสุขใจสบายใจ
แต่ถ้าเราทำกรรมไม่ดี เป็นโทษ เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ว่าเราจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เราก็จะทุกข์ใจ ไม่สบายใจ
แม้ว่าคนอื่นจะยังไม่รู้และยังไม่ได้รับผลในสิ่งที่เราทำ แต่เราเองจะรู้อยู่ตลอดเวลาว่าเราได้ทำอะไรลงไป

ฉะนั้นสิ่งที่เราทำไปนั้นได้ส่งผลให้เราเป็นคนแรก ก่อนที่จะส่งผลไปยังคนอื่น
ผู้ที่ทำกรรมดีก็จะมุ่งที่จะสะสมกรรมดีต่อไปเรื่อย ๆ เพราะรู้ว่าจะได้พบความสุขเป็นผลตอบแทน

:4672615:สำหรับผู้ที่เพลิดเพลินกับกิเลส ติดใจอยู่กับการทำความชั่วเพื่อสนองกิเลส
ก็จะทำให้เราเป็นผู้ที่มีลักษณะของกิเลสนั้น ๆ สะสมอยู่ในจิตส่วนลึก
เช่นคนที่สะสมความโลภ เห็นอะไรก็อยากได้ ไม่รู้จักประมาณ ไม่มีคำว่า “พอ”
จนสามารถทำความชั่วทุกอย่างได้เพื่อสนองความต้องการของตัวเอง

ส่วนคนที่สะสมความโกรธ เมื่อเป็นมากขึ้นสิ่งใดที่มาขัดหูขัดตา ก็จะขัดใจไปด้วย
และที่สุดก็จะใช้กำลังเพื่อให้สิ่งที่มาขัดหูขัดตานั้นราบเรียบไป

และที่สำคัญที่สุดคือ ความหลงซึ่งเป็นกิเลสอย่างละเอียด ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนเกิดเวียนตายไม่รู้สิ้นสุด

:4672615:เหล่าพระสาวกที่ได้บรรลุพระอรหันต์แล้ว และสามารถระลึกชาติได้
บางท่านกล่าวว่าในภพก่อนที่ท่านได้ฟังพระธรรมนั้น ท่านผ่านมาและฟังธรรมอย่างเดียวเท่านั้น
เมื่อฟังเสร็จก็กลับไป เมื่อเวลาใกล้ตายท่านนึกได้ว่าเคยฟังธรรม
แม้จะไม่เข้าใจในธรรมนั้น ก็ทำให้ท่านไม่เคยไปทุคติ (ดิรัจฉาน เปรต อสุรกาย สัตว์นรก)เลย
ทั้งนี้เพราะกรรมดีที่ได้ทำ (ฟังพระธรรม)

:4672615:ต่อมาเมื่อท่านได้มาเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันคือ พระโคดมพุทธเจ้า
ท่านได้ฟังพระธรรมบทเดิมที่เคยฟังในภพก่อน ก็สามารถทำให้ท่านสามารถบรรลุพระอรหันต์ได้อย่างรวดเร็ว


นี่เป็นเพราะท่านได้เก็บสะสมบทพระธรรมนั้น ๆ ไว้ภายในจิตใจ โดยที่ท่านเองก็ไม่รู้ตัว
พระพุทธองค์จะเรียกว่า “จริต” ซึ่งแต่ละคนจะมีต่างกัน ทำให้บรรลุธรรมของแต่ละคนก็ต่างกันไปด้วย

ป้านุช 06-10-2009 15:24

:4672615:เมื่อฝึกจิตได้ในระดับหนึ่ง
จนจิตเกิดความว่าง ทำให้ระลึกถึงพระธรรมที่เคยฟังในครั้งก่อนที่จิตได้เก็บสะสมไว้ได้
และบางท่านกล่าวว่า ได้ช่วยประกาศพระธรรม ด้วยการแสดงธรรมเองหรือบอกกล่าวให้ผู้อื่นมาฟังธรรม
ซึ่งผลของการฟังธรรมและช่วยประกาศพระธรรมในครั้งนั้น ทำให้ท่านไม่เคยไปทุคติเลย
ท่านจะเกิดแต่ใน ๒ ภพเท่านั้นคือ ในเทวโลกและในโลกมนุษย์
และเมื่อเกิดในเทวโลกก็ได้เสวยราชสมบัติใหญ่อันเป็นทิพย์
ครั้นเกิดในเมืองมนุษย์ก็จะเกิดแต่ในสองตระกูลคือ ตระกูลกษัตริย์และตระกูลพราหมณ์
ไม่เคยเกิดในตระกูลที่ต่ำทรามเลย ในชาติสุดท้ายได้บรรลุอรหันต์

:4672615:ในที่นี้จะแสดงถึงผลของการฟังธรรมที่พระสาวกผู้บรรลุพระอรหันต์ได้กล่าวไว้ในพระไตรปิฎก
ฉบับสยามรัฐ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่มที่ ๓๒ ดังต่อไปนี้


:4672615:ปุณณมันตานีปุตตเถราปทานที่ ๗ เล่มที่ ๓๒/๑ หน้าที่ ๒๓ ว่าด้วยผลแห่งการแสดงธรรม
ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ เราเป็นพราหมณ์ พวกศิษย์ห้อมล้อมได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เราได้ฟังธรรมนั้นแล้ว ได้บังคมพระศาสดา เดินกลับทางทิศใต้ เพื่อสาธยายธรรมแก่ศิษย์ตามที่ได้ฟังมานั้น ทั้งโดยย่อและโดยพิสดาร
ศิษย์ทุกท่านดีใจ ฟังคำเรา ทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ฉะนั้นเราเป็นผู้ฉลาดในนัยแห่งพระอภิธรรม
เป็นผู้ฉลาดในความหมดจดแห่งกถาวัตถุ ด้วยผลแห่งการแสดงธรรม ทำให้เราไม่พบทุคติเลย นับแต่ภพนั้นมา
ในภพสุดท้ายนี้เราได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

:4672615:เอกรังสนิยเถราปทานที่ ๘ เล่มที่ ๓๒/๑ หน้าที่ ๑๑๘ ว่าด้วยผลแห่งการเลื่อมใสในการฟังธรรม
ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า อัตถทัสสี ทรงแสดงธรรมอยู่ เรายังจิตของตนให้เลื่อมใส ประนมกรอัญชลีบนเศียรเกล้า
ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว บ่ายหน้ากลับไปทางทิศตะวันตก ผลแห่งการเลื่อมใสในการฟังธรรม ทำให้เราไม่พบทุคติเลยนับแต่ภพนั้นมา
ในภพสุดท้ายนี้เราได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

:4672615:ธรรมสัญญกเถราปทานที่ ๔ เล่ม ๓๒/๒ หน้า ๕๔ ว่าด้วยผลแห่งการฟังธรรม
ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ทรงประทับอยู่ ณ โคนไม้โพธิ์ สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคแวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์
ทรงประกาศ (อริย) สัจจะ ๔ ทรงแสดงโดยย่อ และทรงแสดงโดยพิสดาร เราได้ฟังธรรมของพระองค์ ถวายบังคมแทบพระบาทของพระศาสดาแล้ว
บ่ายหน้ากลับไปทางทิศเหนือ ด้วยการฟังธรรมนั้น ทำให้เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการฟังธรรม
ในภพสุดท้ายนี้เราได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

:4672615:ธรรมสวนิยเถราปทานที่ ๙ เล่มที่ ๓๒/๒ หน้าที่ ๗๕ ว่าด้วยผลแห่งการฟังธรรม
ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงประกาศสัจจะ ๔ เพื่อช่วยให้คนพ้นทุกข์
สมัยนั้นเราเป็นชฎิล (ฤๅษี) สามารถเหาะไปในท้องฟ้าได้ วันหนึ่งเมื่อเราเหาะไปในอากาศ
เราเหมือนดังนกบินไปกระทบภูเขาหินไม่สามารถผ่านไปได้ เราคิดว่า
“เหตุเช่นนี้ไม่เคยเกิดแก่เรา ชะรอยคงมีมนุษย์ผู้ประเสริฐอยู่เบื้องล่าง เราจะลงไปดู เพื่อประโยชน์อันพึงมีจะเกิดแก่เรา”

:4672615:เราจึงลงจากอากาศได้ฟังเสียงของพระศาสดา ซึ่งกำลังตรัสอนิจจตา (ความไม่เที่ยง) แก่หมู่ชนทั้งหลายอยู่
เราจึงเข้าไปฟังอนิจจตานั้น ครั้นฟังอนิจจสัญญาแล้ว ได้กลับไปสู่อาศรมของเรา เราอยู่ตราบสิ้นอายุขัยแล้ว
ก่อนตาย ณ ที่นั้น เราระลึกถึงการฟังธรรมนั้นได้ ด้วยกุศลกรรมที่เราทำแล้วนั้น เราได้ไปสู่ดาวดึงส์ เราอยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัป
ได้เสวยราชสมบัติในเทวโลก ๕๑ ครั้ง ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๑ ครั้ง และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยจะคณนานับมิได้

:4672615:ในภพสุดท้ายนี้ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ บิดาของเราได้นิมนต์พระสงฆ์มานั่งบนเรือน พระสงฆ์ได้แสดงคาถาเรื่องความไม่เที่ยง
เราระลึกถึงสัญญานั้นได้ว่า

“สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ความที่สังขารเหล่านั้นสงบระงับเป็นสุข”
เราจำได้ถึงพระธรรมบทนี้ ขณะที่เรานั่งฟังอยู่บนอาสนะเดียวนั่นเอง ก็ได้บรรลุอรหันต์ เรามีอายุ ๗ ปี ได้เป็นพระอรหันต์

หมายเหตุ
๑.อนิจจตา คือ ความเป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่แน่นอนแห่งสังขารทั้งหลาย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมแตกสลายไป หรือ เปลี่ยนแปลงแปรสภาพเรื่อยไป


๒.โคนไม้โพธิ์

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ สุธรรม (โพสต์ 21561)
โพธิ์ ถ้าโพธิต้องมีคำนำหน้าหรือต่อท้าย เช่น พระศรีมหาโพธิ โพธิบัลลังก์ เป็นต้น



เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:07


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว