กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๙ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5213)

เถรี 16-09-2016 21:01

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๙
 
ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๙ สำหรับในเรื่องของการปฏิบัติกรรมฐานนั้น อันดับแรกเลยพวกเราต้องละทิ้งความกังวลทั้งหมดเสียก่อน คือความห่วงใยกังวลต่าง ๆ ไม่ว่าจะห่วงบ้าน ห่วงลูก ห่วงหลาน ห่วงการห่วงงาน อะไรก็ตาม เรานั่งอยู่ตรงนี้ไปทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น...ให้ทิ้งความห่วงความกังวลเหล่านั้นเสีย เพื่อปฏิบัติธรรมก่อน สภาพจิตจะได้ไม่ฟุ้งซ่าน

ลำดับต่อไปคือจะต้องจัดการกับนิวรณ์ คือกิเลสที่มาขวางกั้นความดีของเราทั้ง ๕ อย่าง ก็คือ กามฉันทะ ความพอใจใน รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ เป็นต้น พยาบาท ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้น ผูกโกรธคนอื่น ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจปฏิบัติ อุทธัจจะกุกกุจจะ ความหงุดหงิดฟุ้งซ่านรำคาญใจ และวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ หรือว่าสงสัยในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้จะหมดไปได้ ก็ต่อเมื่อสติของเราอยู่แน่วแน่กับลมหายใจเข้าออกตรงหน้า แล้วให้ทุกท่านกำหนดตั้งแต่แรกเริ่มว่าเราจะภาวนาสักกี่นาที เป็นการตั้งสัจจะของเราให้มั่นคง อย่างเช่นว่า ๑๕ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที ๑ ชั่วโมง แต่การตั้งสัจจะนั้นมักจะโดนทดสอบโดยกิเลสมาร ก็คือแต่ละนาทีนานเหมือนเป็นวัน ๆ ถ้าเราไม่มีความอดทนอดกลั้นที่จะต่อสู้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะถ้าหากว่าสัจจบารมีของเรายังอ่อนอยู่ เราก็ต้องทิ้งการทำสมาธิไปกลางคัน

เถรี 16-09-2016 21:06

การทรงสมาธิทรงฌานได้นั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลที่ทรงฌานได้เป็นบุคคลที่มารมองไม่เห็น เนื่องเพราะว่าอำนาจของฌานจะไปกดกิเลสใหญ่ทั้งหมดให้ดับสนิทลงชั่วคราว เมื่อไม่มีกิเลสต่าง ๆ ที่เป็นบริวารของมารส่งรายงานไปถึง มารก็ไม่สามารถที่จะหาเราพบได้ ดังนั้น...ในเรื่องของการทรงสมาธิให้ได้ฌาน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

ลำดับต่อไปเมื่อลมหายใจของเราเริ่มทรงตัว สมาธิเริ่มมั่นคงแล้ว ก็ให้ทุกคนกำหนดแผ่เมตตาออกไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพ ทุกภูมิ ทุกหมู่ ทุกเหล่า ว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เรายินดีเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั้งหลายทั่วโลก ขอให้เขาทั้งหลายนั้นล่วงพ้นจากกองทุกข์ ขอให้เขาทั้งหลายอยู่ดีมีสุข

การแผ่เมตตาทำให้จิตของเราสงบเยือกเย็น ควรแก่การปฏิบัติธรรม สมาธิก็ทรงตัวได้ง่าย เมื่อสมาธิของเราทรงตัวแล้ว แผ่เมตตาจนเต็มที่แล้ว พอกำลังใจไปต่อไม่ได้ก็จะเริ่มคลายออกมา เราก็ต้องระมัดระวังหาวิปัสสนาญาณมาให้สภาพจิตได้ครุ่นคิด เพราะถ้าหากว่าเราไม่หางานให้ทำ สภาพจิตก็จะไปเสวยอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ของตนเอง และด้วยความที่ได้กำลังจากสมาธิไป ก็จะฟุ้งซ่านได้อย่างเป็นหลักเป็นฐาน เป็นงานเป็นการ ทำให้เราไม่สามารถที่จะระงับยับยั้งได้

เถรี 18-09-2016 14:56

การที่เราจะคิดจะพิจารณานั้น ก็ให้คิดในแง่ของอริยสัจ คือมองให้เห็นทุกข์ และพยายามหาว่าสาเหตุของทุกข์นั้นมาจากไหน พอเราไม่สร้างสาเหตุนั้นทุกข์ก็เกิดไม่ได้ หรือจะมองในแง่ของสามัญลักษณะ คือเห็นว่าสภาพของทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด สภาพของทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะต้องทุกข์โดยสภาพก็ดี หรือทุกข์อยู่เนืองนิจก็ดี ทุกข์ที่เป็นไปตามสภาวะของสิ่งที่มากระทบใจก็ดี ไม่ว่าจะคน จะสัตว์ วัตถุธาตุสิ่งของต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่อยู่ในความทุกข์เช่นเดียวกัน

แม้กระทั่งภูเขาเลากาก้อนหินต้นไม้ต่าง ๆ ก็เป็นทุกข์ ก็คือทุกข์โดยสภาพที่ก้าวไปหาความเสื่อมอยู่ตลอดเวลา และท้ายที่สุดให้มองเห็นว่าสภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี ไม่มีอะไรให้ยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ เพราะประกอบขึ้นมาด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ทั้งนั้น ให้เราได้อาศัยอยู่ชั่วคราวตามบุญตามกรรมที่สร้างมา เมื่อถึงเวลาหมดอายุขัยตายไป ก็เปลี่ยนรูปเปลี่ยนขันธ์ไปตามบุญตามบาปของตน แต่จะเกิดมากี่ชาติก็พบกับความทุกข์ทั้งสิ้น เราจึงควรตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ที่พระนิพพาน

ถ้าใครสามารถยกจิตขึ้นเกาะพระนิพพานได้ ก็ยกจิตขึ้นเกาะพระนิพพาน ถ้าหากว่าทำไม่ได้ ให้นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบมากที่สุด ว่านั่นคือรูปแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน เรานึกถึงพระองค์ท่านคือเราอยู่ใกล้กับพระองค์ท่าน เราอยู่ใกล้กับพระองค์ท่าน คือเราอยู่บนพระนิพพาน

เมื่อเอาใจจดจ่อไว้ดังนี้แล้ว ก็ย้อนกลับมาดูลมหายใจเข้าออกของเรา ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ก็กำหนดดูลม ถ้ายังมีคำภาวนา ก็ให้กำหนดรู้คำภาวนาไปด้วย ถ้าลมหายใจเบาลง ให้กำหนดรู้ว่าลมหายใจเบาลง ถ้าคำภาวนาหายไป ให้กำหนดรู้ว่าคำภาวนาหายไป อย่าดิ้นรนออกจากสภาพนั้น และอย่าพยายามเข้าไปสู่สภาพนั้น เรามีหน้าที่แค่ภาวนาอย่างเดียว สภาพที่เกิดขึ้น จะเกิดหรือไม่เกิด จะเป็นหรือไม่เป็นก็ช่าง ไม่ต้องเอามาใส่ใจ

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๙

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:31


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว