กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=47)
-   -   เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๖ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3713)

เถรี 15-04-2013 21:03

เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๖
 
ถาม : กระผมอยากทราบว่าภพภูมิเบื้องข้าง ที่เรียกว่าหมื่นโลกธาตุคืออะไรครับ ? และจากที่เคยได้ยินว่าภพมนุษย์มีหลายทวีป มีทวีปใดบ้างครับ ? และแต่ละทวีปมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ? บุพกรรมของการเกิดที่นั่นเป็นอย่างไร ? และทวีปของเราที่เรียกชมพูทวีปนั้น ดีกว่าทวีปอื่น ๆ อย่างไรครับ ?
ตอบ : ภพเบื้องข้างหมายถึงดวงดาวทั้งหมด พระพุทธเจ้าตรัสว่ามีอยู่แสนโกฏิจักรวาล แต่ละจักรวาลประกอบด้วยดวงดาวใหญ่น้อยมากน้อยไม่เท่ากัน ท่านกล่าวไว้ว่าแต่ละดวงดาวที่มีมนุษย์อยู่นั้น เกิดจากกำลังความดีที่ทำไว้ไม่เท่ากัน บางดวงดาวก็ยังต้องลำบาก ก็คือยังทำมาหากินเป็นปกติ บางดวงดาวเทคโนโลยีสูง ต้องการอะไรแค่กดปุ่มก็ได้แล้ว บางดวงดาวก็มีความเป็นทิพย์กึ่งเทวดา ต้องการข้าวปลาอาหารแค่นึกก็เกิดขึ้นเอง

ส่วนทวีปเท่าที่ปรากฏ มีกล่าวถึงอุตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป ปุพพวิเทหทวีป เป็นต้น ส่วนชมพูทวีปดีกว่าที่อื่นตรงที่เป็นมงคลจักรวาล เป็นทวีปที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาตรัสรู้แห่งเดียวเท่านั้น ฉะนั้น..อย่างนี้จะเรียกว่าดีหรือเปล่าก็ไม่รู้
?

ถาม : แล้วบุพกรรมในการเกิดของแต่ละทวีป ?
ตอบ : ส่วนใหญ่ก็เรื่องของทาน ศีล ภาวนาเหมือนกัน ความดีของเขายังไม่เพียงพอจะเป็นเทวดา แต่ก็ดีเกินกว่าจะมาอยู่ร่วมกับพวกเรา เพราะว่าบางแห่งบางดวงดาวกฎหมายของเขาคือศีล ๕ บางดวงดาวกฎหมายของเขาคือกรรมบถ ๑๐ เขาจึงดีเกินกว่าจะมาอยู่ร่วมกับเรา

การทำความดีความชั่วของเขาก็ไปนรกสวรรค์เหมือนกัน ถ้าเข้าถึงการหลุดพ้นก็ไปพระนิพพานได้เหมือนกัน แต่ยากมาก..เพราะบางที่มีความสุขจนบอกว่าทุกข์ก็มองไม่เห็น จะบอกว่าไม่เที่ยงอายุขัยของเขาก็หลายหมื่นปี เป็นต้น

เถรี 15-04-2013 21:05

ถาม : เคยอ่านเจอว่ามีพระวินัยห้ามมิให้พระสงฆ์แสดงธรรรมแก่ผู้ที่มีกิริยาไม่เคารพในธรรม หรือแสดงธรรมไปพร้อมกับพระสงฆ์ หากพระสงฆ์ให้พรด้วยบทสรรเสริญหรือบทพุทธคุณต่าง ๆ แล้วเราสวดไปพร้อมกับพระ จะทำให้พระท่านเข้าข่ายผิดพระวินัยหรือไม่เจ้าคะ ?
ตอบ : ในเรื่องพระภิกษุแสดงธรรมพร้อมกันแล้วต้องอาบัตินั้น ไม่ได้แปลว่าสวดมนต์พร้อมกับชาวบ้าน แต่หมายถึงพระแย่งกันสอนชาวบ้าน ดังนั้น..การสนทนาธรรมกับญาติโยม ถ้าไม่ใช่เขาถามเฉพาะเจาะจงขึ้นมา ก็จะมีพระหนึ่งรูปที่คุยกับโยมอยู่ ถ้าถามเจาะจงขึ้นมา รูปที่กำลังสนทนาอยู่ต้องหยุด รอท่านอื่นตอบคำถามเสร็จแล้วจึงว่าต่อได้

ไม่ใช่ว่าสวดมนต์พร้อมกันแล้วโดนอาบัติ เพราะว่าการสวดมนต์ทำวัตรต้องสวดพร้อมกันอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นวัดท่าขนุนโดนอาบัติทุกวันเป็นแน่แท้


ถาม : ในฐานะที่เป็นโยมควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
ตอบ : อย่าไปสอนพระก็พอ..!

เถรี 15-04-2013 21:06

ถาม : ถ้ามีคนถามหาเจ้าอาวาสวัดท่าขนุนควรทำอย่างไรคะ ?
ก.ให้ไปถามพระอาจารย์เล็ก
ข.ตอบว่าไม่ทราบจ้ะ
ค.มองซ้ายมองขวาแล้วหาตัวช่วย
ง.ถูกทุกข้อ

ตอบ : ให้คนถามมาถามอาตมาใกล้ ๆ หน่อย จะได้คำตอบที่ชัดมากเลย..! เขาเรียกว่ากินอิ่มเกินไปจนไม่มีอะไรจะทำ

เถรี 18-04-2013 08:52

ถาม : ถ้ามีชาวพุทธมาถวายสังฆทานในขณะที่พระทุกรูปในวัดกำลังทำพิธีบวชพระ ควรทำอย่างไรคะ ?
ตอบ : รอจนกว่าพระจะบวชเสร็จ ถ้ารอไม่ไหวไปถวายที่วัดอื่นก่อน เพราะสังฆกรรมเป็นสิ่งที่พระทั้งวัดต้องมีความเห็นร่วมกันว่าตกลงหรือไม่ตกลง อย่างเช่นจะรับบุคคลนี้เข้าเป็นอุปสัมบัน
หรือไม่ ? เพราะฉะนั้น..พระไม่สามารถที่จะปลีกตัวมารับสังฆทานได้อยู่แล้ว แม้กระทั่งพระที่ป่วยก็ต้องมอบฉันทะให้กับเพื่อนพระไป เพื่อที่จะบอกว่าถ้าเพื่อนพระมีความเห็นอย่างไรเราก็มีความเห็นตามนั้น


ถาม : ในพระวินัยมีไหมครับที่พระทำสังฆกรรมอยู่เกิดเหตุฉุกละหุก หยุดได้ ?
ตอบ : เขาจะระบุเอาไว้เฉพาะเรื่องการแสดงปาฏิโมกข์ แต่การแสดงปาฏิโมกข์ก็ไม่ใช่ว่าจะหยุด แต่ให้สวดย่อได้ เขาเรียกว่า ชักสุตบท อย่างเช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ อาคารที่กำลังทำสังฆกรรมพังลงมา สัตว์ร้ายเข้ามาในบริเวณนั้น เช่น เสือหรืองูเข้ามา พระราชาเสด็จต้องวางมือเข้าไปต้อนรับ หรือภิกษุเกิดผีเข้าในบริเวณนั้นก็ต้องหยุดก่อนเพื่อที่จะไปช่วยพยาบาล

ถาม : ผมสงสัยครับ ภิกษุสวดปาฏิโมกข์อยู่ในโบสถ์ผียังเข้าหรือครับ ?
ตอบ : ส่วนใหญ่เป็นผีระดับด็อกเตอร์ ยิ่งกว่าโบสถ์เขาก็เข้าได้

เถรี 18-04-2013 09:03

ถาม : บุพการีกับกตัญญูกตเวที ทำไมถึงจัดเป็นบุคคลหายากคะ ?
ตอบ : คนทั่วไปที่ทำประโยชน์โดยไม่หวังผลตอบแทน คิดว่ามีมากไหม ? ถ้ามีไม่มากก็หายาก บุคคลที่เขารู้ว่าเขาทำความดีกับเราแล้วพยายามหาทางตอบแทนเขาให้ได้ ก็ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่
ดังนั้น..บุรพการีหรือบุพการี คือผู้ที่ตั้งใจทำคุณแก่เราโดยไม่หวังผลตอบแทน กับกตัญญูกตเวที คือบุคคลที่รู้คุณแล้วพยายามแทนคุณท่าน ทั้งสองอย่างจึงเป็นบุคคลที่หาได้ยาก

เถรี 18-04-2013 09:20

ถาม : เนื่องจากผมไม่เข้าใจเรื่องการสวดมนต์ไปพร้อมกับการกำหนดลมหายใจและการนับลูกประคำ ไม่ทราบจะปรึกษาใคร ก็เลยนึกเอาเองว่า สวดไป ๑ จบก็เลื่อนนับลูกประคำไป ๑ ลูก
โดยกระผมหลับตาสวดไปเรื่อย ๆ ใจก็จดจ่อไปที่ลูกประคำ แต่ก็ไม่ได้ผลเรื่องลมหายใจ ปรากฏว่ามีดวงแก้วสว่างใส ๆ เกิดขึ้นในขณะที่สวด จึงดูดวงแก้วนั้นไปด้วยพร้อมกับสวดต่อไป พอสมาธิไม่นิ่ง ดวงแก้วนั้นก็หายไปครับ จึงขอกราบเรียนถามว่าการสวดมนต์ให้ตามลมหายใจเข้าออก หมายความว่าให้สวดตามปกติ แล้วให้กำหนดเรื่อย ๆ ว่าตอนนี้หายใจออกหายใจเข้า ถูกต้องไหมครับ ?
ตอบ : ถูก..จริง ๆ คือใช้คำสวดนั้นเป็นคำภาวนา

ถาม : การนับลูกประคำเพื่อทราบว่าเราสวดบทนั้น ๆ ไปกี่จบ แล้วถูกต้องหรือไม่ครับ ?
ตอบ : ถูกส่วนเดียว อีกอย่างหนึ่งเป็นการปฏิบัติในอิริยาบถและสัมปชัญญะในมหาสติปัฏฐานสูตร รับรู้อาการเคลื่อนไหวของตัวเราไปด้วย

ถาม : การนับนิ้วหรือครับ ?
ตอบ : การนับลูกประคำนั่นแหละ มือเราดึงลูกประคำมาอย่างไร ลูกประคำสัมผัสมือเราอย่างไร ให้กำหนดรู้โดยตลอด

เถรี 18-04-2013 09:42

ถาม : พระรูปหล่อรัชกาลที่ ๕ ควรหันหน้าไปทางทิศใด และถ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันตกมีผลอย่างไร ?
ตอบ : หันหน้าไปทางทิศที่เราไหว้สะดวก ส่วนจะไปหันหน้าไปทางทิศไหน ถ้าถือแบบตามหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านให้หันหน้าพระพุทธรูปไปทางเหนือหรือตะวันออก เราก็ยึดถือนั่นเป็นหลักก็แล้วกัน เพราะรัชกาลที่ ๕ ปัจจุบันก็ถือว่าท่านเป็นพระเหมือนกัน

ถาม : แล้วถ้าไม่สามารถหันหน้าไปทางทิศเหนือหรือตะวันออกได้จริง ๆ ?
ตอบ : ลองบูชาไปสักระยะ เดี๋ยวก็รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น..!

เถรี 18-04-2013 09:50

ถาม : บวชชีโดยที่พ่อแม่ไม่อยากให้บวช บาปหรือไม่ ?
ตอบ : การบวชชีถือว่าทำความดี อย่างน้อยก็รักษาศีลแปด ถามว่าบาปไหม ? ความดีไม่มีชั่ว เพราะฉะนั้น..ก็ไม่บาป แต่การที่เราขัดใจบิดามารดาออกไปลักษณะนั้น ถ้าเกิดสึกขึ้นมาก็จะเข้าบ้านไม่ได้

ถาม : บวชพระนี่ต้องขอก่อนใช่ไหมครับ ?
ตอบ : บวชพระบวชเณรต้องขอก่อน ถ้าพ่อแม่ไม่อนุญาตก็บวชไม่ได้

ถาม : แต่ถ้าพ่อแม่ไม่เห็นด้วยหรือเป็นมิจฉาทิฐิ ?
ตอบ : ถ้าเป็นมิจฉาทิฐิ หาผู้อาวุโสสุดในบ้านที่เป็นสัมมาทิฐิแล้วขออนุญาตท่าน ถ้าคนในบ้านเป็นมิจฉาทิฐิทั้งหมด เราค่อยตัดสินใจด้วยตนเอง

เถรี 18-04-2013 10:11

ถาม : ถ้าเรามีมวลสารไม่มาก แต่ต้องการขยายมวลสารนั้นเพิ่มให้เหมือนกับการขยายน้ำมนต์หรือน้ำมันชาตรีจะได้ไหมครับ ?
ตอบ : ได้..ปัจจุบันเขาก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น เพราะบางวัดสร้างพระเป็นหมื่น ๆ องค์ เอามวลสารเยอะอย่างไรก็ไม่พออยู่แล้ว ส่วนใหญ่เขาก็ใช้หยิบมือหนึ่ง ผสมกับอย่างอื่น เป็นตัน

ถาม : ถ้ามวลสารเป็นผงหรือโลหะก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน ?
ตอบ : เหมือนกัน..ถ้าโลหะก็ผสมแล้วไปหลอม ถ้าเป็นผงก็ผสมลงไปกวน

เถรี 19-04-2013 20:58

ถาม : แป้งเจิมที่เข้าพิธีรับยันต์เกราะเพชรมาแล้ว ถ้าแป้งเจิมนั้นแห้ง เวลาเติมน้ำมนต์เพื่อละลาย จำเป็นต้องเป็นน้ำมนต์ที่เข้าพิธีรับยันต์เกราะเพชรไหมครับ ?
ตอบ : น้ำมนต์อะไรก็ได้

ถาม : ถ้าน้ำมนต์หมด ใช้น้ำเปล่าได้หรือไม่ครับ ?
ตอบ : ถ้าหมดท่าจริง ๆ เสกเองก็ได้ ให้ขอบารมีพระ ว่าอิติปิโสสักหนึ่งจบแล้วก็ผสมไปเลย

เถรี 19-04-2013 21:01

ถาม : หลังจากหมดอานิสงส์กฐินแล้ว การรักษาผ้าครองจะเหมือนการรักษาผ้าครองภายในเวลาเข้าพรรษาหรือไม่ครับ ?
ตอบ : เหมือนกันทุกประการ

ถาม : ต้องรักษาผ้าครองก่อนอรุณเหมือนเดิม ?
ตอบ : พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าสว่างแล้วจะเก็บงำผ้าครองให้มิดชิด ก็ต้องอยู่ในสถานที่ซึ่งคุ้มได้ด้วยดาล ก็คือมีประตูที่ใส่กุญแจได้ เวลายามค่ำคืนก็ต้องอยู่ใกล้ตัว ไม่เกินระยะเอื้อมถึง เพื่อป้องกันโดนขโมย

ถาม : สมัยก่อนหาผ้ายาก ?
ตอบ : ไม่ใช่แค่หายาก แต่แขกขโมยกันเป็นปกติ แม้กระทั่งทุกวันนี้ ลองไปขึ้นรถไฟแขกดู เผลอแวบเดียวของก็หายแล้ว ขนาดเขาเอาโซ่ผูกหมาล่ามกระเป๋าติดข้อมือยังเหลือแต่โซ่เลย..!

เถรี 19-04-2013 21:17

ถาม : ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นผลของกรรมทั้งดีและร้ายในอดีต แล้วจะมีช่องว่างให้เราทำกรรมใหม่ในปัจจุบัน ที่เป็นการตัดสินใจของเราเองอย่างสมบูรณ์ ซึ่งไม่ใช่ผลของกรรมในอดีตบ้างไหมคะ ?
ตอบ : มีเต็มร้อย..แต่จังหวะนั้นมีน้อย ต้องรอจังหวะที่วาระบุญวาระกรรมขาดช่วงลงพอดี ซึ่งถ้าไม่ใช่บุคคลที่ฝึกในยถากัมมุตาญาณมาจนคล่องตัวจะไม่รู้ถึงจังหวะนี้

ถาม : ถ้าเกิดไม่ทราบในยถากัมมุตาญาณจะทำอย่างไรครับ หรือทำดีไว้ก่อน ?
ตอบ : ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส

ถาม : สาเหตุที่ถามเพราะคุณพ่อชอบบอกว่า ที่เป็นอย่างนั้นเพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กำหนดไว้หมดแล้ว เราเป็นเหมือนตัวละครเล่นตามบทไป แม้กระทั่งความคิดที่จะทำดีหรือทำชั่ว ก็เพราะผลของกรรมเก่ากำหนดให้ทำอย่างนั้น ก็เลยอยากจะหาผู้มีความรู้มาอธิบายว่า กรรมเราเองเราน่าจะเป็นคนกำหนด แต่ไม่แน่ใจว่าเราเล่นตามบทที่กำหนด กรรมเขากำหนดไว้อย่างเดียว หรือเราในปัจจุบันมีโอกาสเขียนบทใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง เพื่อกำหนดผลต่อไปบ้างไหม ?
ตอบ : เขียนบทเองได้เลย ไม่มีปัญหา ถ้าเขียนบทได้ยาวนานพอผลดีก็จะเกิดกับเราเอง แต่เท่าที่ฟังมาอย่าเอาคำตอบนี้ไปเถียงพ่อให้เสียเวลา ท่านไม่ฟังหรอก

ถาม : เราสามารถที่จะเลือกทำได้ ไม่ใช่กรรมกำหนดอย่างเดียว ?
ตอบ : ทำได้..อาตมาเองฝืนกรรมมาหลายยกแล้ว ถ้าไม่ฝืนป่านนี้ก็มีหลานแล้ว ไม่ใช่แค่มีลูกเฉย ๆ..!

เถรี 19-04-2013 21:31

ถาม : ห้องของผมในปัจจุบันถูกกำหนดให้นอนหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก จะมีวิธีแก้ไขการนอนให้เป็นมงคลทั้ง ๆ ที่ต้องหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกได้อย่างไรบ้างครับ ?
ตอบ : อาตมานอนหันศีรษะทิศตะวันตกมาตลอด..!

ถาม : ไม่เป็นไรหรือครับ ?
ตอบ : ก็หิ้งพระหันหน้าตะวันออก แปลว่าหิ้งพระอยู่ตะวันตก ถ้าหันหัวไปตะวันออก ก็หันเท้าเข้าหาพระ..ใช่ไหม ? ฉะนั้น..ต้องถือพระเป็นใหญ่ หันตะวันตกไปเลย
ถ้าโบราณเขาจะหันทิศใต้ ก็คือไม่ขวางเส้นแรงแม่เหล็กโลก แสดงว่าโบราณเขามีความรู้อยู่ แต่ถ้ากำลังใจของเราทรงตัวแล้ว ทิศไหนก็หันไปเถอะ


ถาม : ทิศไหนไม่เกี่ยว ?
ตอบ : คนทั่วไปที่หากำลังใจไม่ได้ หรือกำลังใจไม่ได้เกาะความดีเป็นปกติก็จะมีผลบ้าง ถ้าคนที่กำลังใจทรงตัวแล้ว หันทิศไหนก็หันไปได้เลย

เถรี 19-04-2013 21:37

ถาม : การหันหน้าพระพุทธรูปหรือการตั้งศาลพระภูมิ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ควรใช้ทิศตามดวงอาทิตย์หรือตามเข็มทิศคะ ?
ตอบ : หันหน้าศาลไปทางไหนก็ได้ที่เราบูชาถนัด ขอให้ตัวศาลอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้าน ถ้าไม่ได้ให้ใช้ทิศเหนือ ถ้าไม่ได้ให้ใช้ทิศตะวันออก สามทิศนี้เท่านั้น ทิศอื่นห้าม

ถาม : บางปีหรือบางเดือนพระอาทิตย์จะเปลี่ยนมุม ควรจะใช้ทิศตามดวงอาทิตย์หรือตามเข็มทิศคะ ?
ตอบ : ถ้าสับสนในชีวิตมากนักก็ย้ายตามดวงอาทิตย์ไปเลย..!

เถรี 22-04-2013 10:41

ถาม : ผู้ต้องการบรรลุธรรม จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องอ่านพระไตรปิฎกให้จบก่อนอย่างน้อย ๑ จบเพื่อให้รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรที่เป็นใบไม้ในกำมือ เพื่อการบรรลุธรรมไว้บ้าง หรือความรู้ในพระไตรปิฎกจะสามารถรู้เองได้โดยไม่ต้องอ่าน ถ้าเราปฏิบัติถึงขั้นแล้วครับ ?
ตอบ : ถ้าเราทำจริง ๆ แค่หัวข้อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็พอแล้ว อ่านพระไตรปิฎกดีไม่ดีก็พาฟุ้งด้วย แต่ถ้าเรามีพื้นฐานเก่าที่เป็นอภิญญาหรือปฏิสัมภิทาญาณมา ถ้าปฏิบัติถึงที่สุดจะเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกโดยอัตโนมัติ คนก็สงสัยว่าจะทรงพระไตรปิฎกอย่างไรโดยไม่ได้เรียน อยากจะบอกว่าในความเป็นทิพย์ช่วงนั้น สามารถบอกทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่เราได้ และโดยเฉพาะพระไตรปิฎกทั้งหมด กล่าวไม่ได้พ้นไปจากขันธ์ ๕ นี้เลย ดังนั้น..ถ้ารู้ในเรื่องร่างกายนี้ทะลุปรุโปร่งเมื่อไร ก็เท่ากับทรงพระไตรปิฎกนั่นเอง

ถาม : ก็คือไม่จำเป็นต้องอ่านให้จบ แต่ปฏิบัติไปเถอะ ?
ตอบ : เอาหัวข้อธรรมใดธรรมหนึ่งที่เราชอบและตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติให้เกิดผลก็พอแล้ว

เถรี 22-04-2013 10:43

ถาม : ตัวเลข ๘๔,๐๐๐ และ ๕๐๐ มีความพิเศษอย่างไรในสามโลกบ้างครับ นอกจากจำนวนพระธรรมขันธ์ในพระไตรปิฎก เพราะเห็นตัวเลขต่าง ๆ นี้มากมาย โดยเฉพาะคำว่าห้าร้อยชาติ บริวารต่าง ๆ ?
ตอบ : มีความพิเศษตรงที่ ๕๐๐ มีความสำคัญมากกว่า ๑ และ ๘๔,๐๐๐ มีความสำคัญมากกว่า ๕๐๐...!

ถาม : แล้วทำไมต้องโจร ๕๐๐ บริวาร ๕๐๐ ?
ตอบ : เหมือนสมัยนี้ที่ทำไมต้องเลข ๙ เพราะเขาถือมงคลอย่างนั้น ก็ต้องจัดไปตามนั้น

ถาม : ไม่ได้มีพิเศษไปกว่านี้ ?
ตอบ : มี..บางจังหวะก็ถูกหวยได้..!

เถรี 22-04-2013 13:20

ถาม : พรุ่งนี้ผมจะเข้าวัดท่าซุงเตรียมตัวบวช ท่านมีคำแนะนำอะไรไหมครับ ?
ตอบ : เอาอย่างที่หลวงปู่มหาอำพันแนะนำวันที่อาตมาไปลาบวช บอกว่า ถ้าบวชน้อยเอาให้ได้พระโสดาบัน ถ้าบวชมากก็เอาพระนิพพานไปเลย

ถาม : ผมจะไปบวชพราหมณ์ก่อน ไม่รู้จะได้บวชพระเมื่อไรครับ ?
ตอบ : อย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะพระหรือว่าฆราวาสโอกาสเข้าพระนิพพานมีเหมือนกัน เป็นผู้ตั้งใจปฏิบัติเขาเรียกพระโยคาวจร คือผู้เดินอยู่บนเส้นทางของการพ้นทุกข์ แต่เป็นพระบวชใหม่นี่เขาเรียกสมมติสงฆ์ ยังไม่เรียกว่าพระหรอก โยมได้เปรียบกว่าตั้งเยอะ แต่ถ้าเป็นภาคเหนือเขาเรียกเณรว่าพระ เรียกพระว่าตุ๊ สับสนดีจังเลย

เถรี 22-04-2013 13:25

เรื่องของการไปอยู่วัด ปฏิบัติที่วัด อย่าไปตั้งความหวังไว้สูงว่าทุกอย่างต้องดี เกิดจาก ๒ สาเหตุด้วยกัน สาเหตุที่ ๑ ก็คือ ไม่ว่าสถานที่จะดีแค่ไหน ครูบาอาจารย์ดีแค่ไหน แต่คนที่อยู่ในที่นั่นก็ยังเป็น “คน” ในเมื่อยังเป็น “คน” อยู่ โอกาสที่ “คน” กับ “คน” จะกระทบกระทั่งกันก็เป็นเรื่องปกติ ถ้าเราไปตั้งความหวังเอาไว้สูง คิดว่าทุกคนจะต้องดีกับเราหมดอย่างกับเป็นพระอรหันต์ ก็ฝันไปเถอะ..!

ประการที่ ๒ ก็คือ บุคคลที่ตั้งใจปฏิบัติจริง มักจะเจอการทดสอบหนัก ๆ แล้วการทดสอบก็มาในแง่ของรัก โลภ โกรธ หลง ดังนั้น..จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ต้องระมัดระวังตัวอยู่เสมอ ทำอย่างไรที่จะให้ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราสามารถเอามาพัฒนา กาย วาจา ใจ ของเราให้ดีกว่าปัจจุบันให้ได้ ถ้าทำอย่างนั้นได้ ก็แปลว่าเราจะมีแต่ความก้าวหน้าส่วนเดียว ถือคติง่าย ๆ แบบอาตมาตั้งแต่แรกคือ ใครวางก่อนก็สบายก่อน ใครไม่วางก็ช่างหัวมัน เชิญแบกไปเถอะ..!

ใหม่ ๆ ไปอยู่วัด อาตมายังเป็นวัยรุ่น ขนาดตอนบวชอายุ ๒๗ เจอบางคนก็ยังเรียกว่าเณรอยู่เลย ตอนนี้ ๕๔ ปี ค่อยดูเป็นพระขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ตอนนั้นหน้าตาไม่ให้ บุคลิกไม่ให้ แต่ดันเป็นคนไม่ค่อยชอบพูด เอาแต่ภาวนาอย่างเดียว คนอื่นเขาก็ยิ่งหมั่นไส้

เถรี 22-04-2013 13:40

จำได้ว่าปฏิบัติทุ่มเทกับหลวงพ่อจริง ๆ ตอนอายุ ๑๖ ปี ก็คือปี ๒๕๑๘ มาเริ่มพูดกับมนุษย์มนาตอนอายุ ๒๕ ปี เวลา ๙ ปีเต็ม ๆ ที่ไม่ค่อยพูด เพราะมีความสุขอยู่กับการภาวนา คอยระมัดระวังรักษาอารมณ์ตัวเองไม่ให้เสีย ก็เลยกลายเป็นเหมือนหยิ่ง ไม่ยอมพูดกับใคร

แต่คราวนี้ช่วงก่อนหน้านั้นประมาณ ๑ ปี เริ่มเป็นครูสอนมโนมยิทธิ ครูเลิกสอนก็นั่งเงียบ ลูกศิษย์เขาสงสัยอะไรก็ไม่กล้าถาม แล้วไปถามคนอื่น คำตอบมาเข้าหูพอดี ฟังก็รู้ว่าไม่ใช่ ก็เลยมาคิดว่า เอ..แล้วเราจะทำอย่างไร ? เราจำเป็นต้องพูดแล้ว ถ้าไม่พูดเดี๋ยวพวกไม่รู้จริงจะพาลูกศิษย์เข้ารกเข้าพงหมด

เห็นพวกพี่ป้าน้าอาเขาจับกลุ่มคุยกันอยู่ ก็เลยไปนั่งร่วมวงกับเขาดื้อ ๆ “ขออนุญาตผมคุยด้วยได้ไหมครับ ?” เล่นเอาเขาแตกตื่นกันหมดทั้งวงเลย โดยเฉพาะป้าน้อย (กานดา) แกประเภทเป็นคนพูดอะไรไม่เกรงใจใครอยู่แล้ว “แหม...ไอ้หนู ป้าคิดว่าชีวิตนี้เอ็งจะไม่พูดกับใครแล้ว” ตั้งแต่นั้นมาก็ค่อย ๆ หัดพูด คำว่าหัดพูดก็คือ ต้องตั้งสติระมัดระวังไว้ว่า สิ่งที่เราพูดควรจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นเขา ไม่อย่างนั้นจะเป็นวาจาไร้ประโยชน์

ก็เลยเป็นอะไรที่ตลกมาก ใครที่เคยพบอาตมาตอนก่อนอายุ ๒๕ ปี เขาไม่เชื่อหรอกว่าปัจจุบันนี้จะมานั่งพูดได้ทั้งวัน สมัยนั้นเอาแต่นั่งอมลิ้นมากกว่า

เถรี 22-04-2013 15:06

พระอาจารย์กล่าวว่า "สงกรานต์ แปลว่า ก้าวผ่าน ก้าวล่วง เป็นช่วงที่พระอาทิตย์ก้าวพ้นจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ สงกรานต์เป็นภาษาสันสกฤต พอมาถึงเมืองไทย ภาคกลางยังใช้สงกรานต์อยู่ แต่ภาคเหนือเรียกสังขาร ได้ยินว่าลาวก็เรียกสังขารเหมือนกัน เพราะฉะนั้น..บ้านเราประกวดนางสงกรานต์ บ้านอื่นเขาประกวดนางสังขาร บางทีภาษาข้ามกันไปข้ามกันมาตามวัฒนธรรม แล้วเราก็ไม่เข้าใจว่ามีต้นเหตุมาจากอะไร

อย่างขนมจีน ไม่ใช่ภาษาจีนด้วย แล้วก็ไม่ใช่ของจีนด้วย ขนมจีนมาจากภาษามอญ แม่บอกลูกว่า “คะนอมจีน (ขนมเสร็จแล้ว) มาเอาไปเลี้ยงเพื่อนคนไทย ” คะนอมจีนคือขนมเสร็จแล้ว คนไทยก็ดันไปจำว่าไอ้นี่เรียกว่าขนมจีน มอญเขาเรียกขนมว่าคะนอมมาตลอด เราไปเรียกตามเขา

พอกันกับคำว่า กลิ่นทะแม่ง ทะแม่งก็เป็นภาษามอญ แปลว่าปลาร้า เพราะฉะนั้นกลิ่นทะแม่งก็คือกลิ่นปลาร้า ภาษาข้ามไปข้ามมาจนงงไปหมด

อย่างพม่าเขาเรียกพี่ชายเขาเรียก โก เหมือนกัน ตกลงจีนเลียนแบบพม่า หรือพม่าไปเลียนแบบจีนกันแน่ ?"

เถรี 22-04-2013 15:14

ถาม : ทำไมพระโพธิสัตว์จึงใช้คำว่าสัตว์ ?
ตอบ : พระโพธิสัตว์ทุกรูปก็คือผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า โพธิ-สัตตะ คือ สัตว์ผู้รู้ บางคนรับไม่ได้กับคำว่า สัตว์ เขาก็เลยเขียนตามแบบภาษาบาลีใช้ ต.เต่า ๒ ตัวซ้อนกัน แต่ถ้าอ่านในหนังสือเกี่ยวกับธรรมะเก่า ๆ จะเห็นเขาเรียกว่า มหาสัตว์ คือสัตว์ผู้ยิ่งใหญ่ อย่างนั้นจะชัด

ถาม : อย่างเป็นแค่บริวาร จะเป็นโพธิสัตว์หรือเปล่า ?
ตอบ : อย่างอาตมาก็เหมือนกัน จะเรียกว่าบำเพ็ญพุทธภูมิ ก็เป็นพุทธภูมิแบบตกกระไดพลอยโจน ก็คือตามหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านมาเรื่อย ๆ ตามไปตามมาอีท่าไหนก็ไม่รู้ ตั้ง ๑๐ กว่าอสงไขยกัป ปกติบำเพ็ญบารมีเป็นพระพุทธเจ้า ๔ อสงไขยกับแสนมหากัปก็เป็นได้ระดับหนึ่งแล้วใช่ไหม ? ๘ อสงไขยกับแสนมหากัปก็เป็นอีกระดับหนึ่ง ตามหลวงพ่อมาเสีย ๑๐ กว่าอสงไขยกัปเข้าไปแล้ว เขาเรียกว่าตกกระไดพลอยโจน ไม่มีอะไรหรอก

ถาม : ถ้าประสงค์จะลาพุทธภูมิก็ได้ใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ประสงค์จะลาก็เชิญเลยจ้ะ ไม่มีใครเขาห้ามเราหรอก คือการลาพุทธภูมิ ถ้าเกิดว่าลากันอย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆ เขาให้ใช้ดอกบัวขาว ๕ ดอก เทียนขาว ๕ เล่ม และธูป ๕ ดอก เอาไปบูชาพระหน้าหิ้งพระหรือพระประธานที่ไหนก็ได้

จุดธูปเทียนบูชาท่าน แล้วก็ถวายดอกบัวขาวทั้ง ๕ ดอก ตั้งใจว่า ที่ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาพระโพธิญาณมาในอดีตชาติใดภพใดก็ตาม บัดนี้ข้าพเจ้าขอละซึ่งความปรารถนาอันนั้น และขอปฏิบัติตามธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เพื่อเข้าสู่พระนิพพานในชาตินี้ อันนี้เขาเรียกว่าลากันอย่างเป็นรูปธรรมเลย

หรือถ้าท่านใดได้มโนมยิทธิหรือได้อภิญญา ก็ขึ้นไปลาพระพุทธเจ้าบนพระนิพพานโดยตรงเลย ถ้าลาแล้วยังไม่มั่นใจ ก็มาทำพิธีแบบข้างล่างนี่อีกทีหนึ่ง บัวขาว ๕ เทียนขาว ๕ และธูป ๕ ธูปไม่ต้องขาวนะ ธูปธรรมดาก็ได้

เถรี 22-04-2013 15:27

พระโพธิสัตว์เป็นผู้มุ่งขนถ่ายสัตว์โลกข้ามวัฏสงสาร สิ่งที่ท่านทำเป็นการทำเพื่อคนอื่น ในเมื่อทำเพื่อคนอื่นโดยเฉพาะคนจำนวนมาก ก็เลยต้องศึกษาอะไรให้รู้มากที่สุด เพื่อที่จะได้สอนได้ทุกคน ในเมื่อเป็นดังนั้น ความรู้แต่ละขั้นกว่าจะได้ต้องย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก คนอื่นทำ ๑ - ๓ ครั้งอาจจะผ่านเลย ท่านต้องว่าเป็นร้อยเป็นพัน เป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง ฟัง ๆ ดูแล้วแปลก ๆ

พระโพธิสัตว์มักจะมีปัญญาฉลาดมาก แต่ตอนทำอะไรสักชิ้นหนึ่ง เหมือนกับทดลองแล้วทดลองอีก ทำวิจัยแล้ววิจัยอีก จนกระทั่งมั่นใจจริง ๆ ว่าไม่มีแง่มุมไหนลอดผ่านไปได้แล้ว ท่านถึงยอมวางมือ ก็เลยกลายเป็นช้ากว่าคนอื่น

เราเดินขึ้นบันไดมา บางทีไม่ได้นับหรอกว่าบันไดมีกี่ขั้น แต่พระโพธิสัตว์ท่านต้องรู้ว่าบันไดนั้นทำด้วยอะไร กว้างยาวเท่าไร ใช้วิธีไหนสร้างขึ้นมา ประกอบด้วยวัสดุอะไรบ้าง เพื่อที่ท่านจะได้ทำบันไดให้คนอื่นเขาเดิน ยากกว่ากันขนาดนั้น

การปรารถนาพระโพธิญาณไม่ใช่ของแปลก เพราะว่าพุทธประเพณีอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะต้องแสดงก็คือการเปิดโลก ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเบื้องบน ตั้งแต่พระนิพพาน เบื้องล่างยันอเวจี เห็นตลอดถึงกันหมด ทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นได้เห็นว่า นี่คือผู้ที่เลิศที่สุด ไม่มีใครยิ่งไปกว่า แล้วก็เลยเกิดความปรารถนาลึก ๆ ในใจว่า ถ้าเราเป็นอย่างนั้นได้ก็ดี

ตรงจุดนี้แหละที่เป็นจุดเริ่มต้นของการปรารถนาพระโพธิญาณของสรรพสัตว์ทุกรูปทุกนาม มดแดงแมงน้อยอะไรก็มีสิทธิ์ทั้งนั้น คราวนี้ก็บำเพ็ญบารมีไปเถอะ ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป นี่แค่หลักสูตรตอนสอบ ส่วนตอนเรียนนั่นต่างหาก ไม่ได้นับ บาลีเขาบอกว่า จิตติตัง สัตตะ สังเขยยัง นวะสัง เขยยะ วาจะกัง คิดว่าเราจะเป็นพระพุทธเจ้านี่ ๗ อสงไขย พูดว่าเราจะทำเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้านี่อีก ๙ อสงไขย แล้วตั้งตาตั้งตาทำเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้าอีก ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป รวมแล้ว ๒๐ กับเศษ ๑ ไม่เห็นต้นไม่เห็นปลายเลย ถ้ากำลังใจไม่แน่วแน่จริง ๆ ก็ถอยกันหมด

เถรี 23-04-2013 13:41

ถาม : ที่ท่านบอกว่าทำอานาปานสติมาก ๆ ทำแล้วบางทีก็สว่าง บางทีก็เป็นโพรง ?
ตอบ : จ้ะ..แล้วก็จะเย็นบอกไม่ถูก บางทีรู้สึกตัวเราเหมือนกับเป็นเปลือกบาง ๆ ชั้นเดียว แล้วเราก็นั่งไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว ยิ้มได้คนเดียว นั่นใกล้บ้าแล้ว..!

ถาม : เหมือนกับรู้อยู่แค่ตรงนี้
ตอบ : รักษาความรู้สึกของเราให้อยู่ตรงนั้น อย่าให้หลุดไปไหนก็ใช้ได้แล้ว ไม่ว่าเราจะยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน คิด พูด ทำอะไรก็ตาม รักษาความรู้สึกตรงนั้นเอาไว้ให้ได้ก็พอ ถ้าเรารักษาเอาไว้ได้ จะสังเกตว่าจิตใจสงบมาก สิ่งที่มากระทบกระทั่งเรามีน้อย แต่ถ้าเราหลุดออกมาจากตรงนั้นเมื่อไรเป็นได้เรื่อง กิเลสมากันฟ้าถล่มดินทลาย เพราะฉะนั้น..ทำได้เมื่อไร ให้รักษาความรู้สึกตรงนั้นไว้ แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง นึกถึงตรงนั้นไว้ตลอดเวลา ไม่ต้องมากหรอกแค่นิดเดียว ความรู้สึกหน่อยเดียว นอกนั้นเราจะทำอะไรก็ทำไป เหมือนกับเราเหลือบตามองตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ เป็นความรู้สึกที่นึกถึงตรงนั้น

ถาม : เหมือนกับว่าอยากอยู่อย่างนั้น จะได้ไม่ทุกข์ ?
ตอบ : อยู่อย่างนั้นแหละ จิตที่อยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปอดีต ไม่ไปอนาคต ไม่มีการปรุงแต่ง เราจะมีความทุกข์เฉพาะกายสังขารนี้เท่านั้น ก็คือร่างกายมีสภาวทุกข์อย่างไร มีนิพัทธทุกข์อย่างไร มีปกิณกทุกข์อย่างไรก็เรื่องของร่างกาย แต่สภาพจิตของเราเป็นสุขอยู่กับอารมณ์เฉพาะหน้าของเรา แล้วถ้าเรามีปัญญามากกว่านั้นนิดหนึ่ง ว่านี่แค่ก้าวแรกเท่านั้นเอง ยังไม่ทันจะขึ้นอนุบาล ๑ เลย เรายังมีความสุขอย่างนี้ แล้วบุคคลที่ท่านทรงฌานได้จริง ๆ กดกิเลสดับสนิทเลย ท่านจะสุขจะเย็นขนาดไหน ?

แล้วพระโสดาบันที่ท่านมั่นใจว่าตนเองพ้นอบายภูมิ จะมีความสุขขนาดไหน ? แล้วอย่างนั้นพระสกิทาคามี พระอนาคามีเป็นอย่างไร ? พระอรหันต์เป็นอย่างไร ? แล้วพระพุทธเจ้าที่ท่านเป็นสุดยอดพระอรหันต์จะมีความสุขแค่ไหน ? ถ้าเราคิดอย่างนี้ได้ เราจะเกิดความเคารพพระพุทธ พระธรรม พระอริยเจ้าอย่างสุดจิตสุดใจเลย

นั่นแหละคือก้าวแรกของความเป็นพระโสดาบัน คือเคารพ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ด้วยความจริงใจ ไม่ล่วงล้ำก้ำเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ เป็นการเคารพในคุณความดีของท่านจริง ๆ ไม่ใช่เคารพตัวบุคคลหรือวัตถุ นั่นคือก้าวแรกของความเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น..เราจะเห็นว่าถ้าทำถูกจริง ๆ แล้วง่ายมากเลย แต่ถ้าทำผิดก็คลำไปเถอะ พระโสดาบันนี่ไกลเหลือเกิน แต่ถ้าทำถูกนี่ใกล้นิดเดียว

ให้ไปประคับประคองรักษาตรงนี้เอาไว้ แล้วก็ระมัดระวังศีลทุกสิกขาบทของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เราไม่ทำให้ศีลขาด แล้วก็อย่าไปยุให้คนอื่นทำ เราไม่ยุให้คนอื่นทำ ถ้าเห็นคนอื่นทำแล้วก็อย่าไปยินดีด้วย ถ้าสามารถทำอย่างนี้ได้ คำว่าพระโสดาบันไม่ไปไหนหรอก อยู่ใกล้ ๆนี่เอง

เถรี 23-04-2013 13:47

ถาม : ถ้ากล่าวปรามาสพระสงฆ์ที่ยังไม่ได้บรรลุ กับกล่าวปรามาสบุคคลที่เป็นอริยบุคคล ?
ตอบ : สาหัสพอกัน พระจะเป็นสมมติสงฆ์หรือพระอริยสงฆ์ก็ตาม เป็นบุคคลที่มีศีลมากกว่าเราตั้งกี่เท่า เอา ๕ ไปเทียบกับ ๒๒๗ ก็เหมือนกับเอาไม้จิ้มฟันไปงัดไม้ซุงชัด ๆ พูดง่าย ๆ ว่าหาเรื่องเดือดร้อนเอง

โบราณมีอยู่คำหนึ่งที่เหมาะสมที่สุด แต่คนมักจะคิดว่าเป็นการช่างหัวมัน ก็คือคำว่า "ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์" เพราะถ้าไปแตะผิดนี่โทษมหันต์ แล้วเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราทำจะเป็นคุณอนันต์ ในเมื่อเป็นดังนั้นท่านก็เลยชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์ เราไม่ไปยุ่งด้วยหรอก คิดก็บาปกรรมแล้ว อย่าไปพูด อย่าไปทำให้บาปหนักขึ้นอีกเลย ยกเว้นว่าสิ่งที่เราเห็นนั้นเป็นความจริงแท้แน่นอน ว่าเป็นความเสื่อมทรามของตัวท่าน ว่าเป็นการทำลายพระศาสนา ถ้าจะว่ากล่าวก็ให้ใช้ตามหลักสาราณียธรรม ๖

หลักสาราณียธรรมพระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้ว่า จะคิดก็คิดต่อท่านด้วยเมตตา จะพูดก็พูดต่อท่านด้วยเมตตา จะทำก็ทำต่อท่านด้วยเมตตา ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ โทษที่เกิดขึ้นก็จะไม่มี เพราะว่าจิตไม่ได้มุ่งร้าย ไม่ได้เกิดโทสะ ไม่ได้เกิดวิหิงสาวิตก แต่ถ้าเราทำใจอย่างนี้ไม่ได้ โทษจะเกิดแก่ตัวเองมาก พระจะเป็นพระสมมติสงฆ์ หรือพระอริยสงฆ์ก็ตาม เหมือนกับไฟฟ้าเป็นหมื่นเป็นแสนโวลต์ มีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์ แตะผิดเมื่อไรโดนช็อตเกรียมทันที..!

เถรี 23-04-2013 13:52

ถาม : ถ้าเขาติฉินนินทาผู้ที่เป็นพระอรหันต์ ?
ตอบ : ปล่อยเขาเถอะ กว่าเขาจะรู้ก็ตอนตายแล้ว

ถาม : แต่ก็เป็นโทษ ?
ตอบ : เป็นจ้ะ...เพราะฉะนั้น..บุคคลที่เป็นพระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ยังพอทน บุคคลที่เป็นพระอรหันต์เขาต้องปรับให้ตายภายใน ๗ วัน เพราะถ้าอยู่แล้วคนอื่นไปแตะเข้า เดี๋ยวเฮงไม่รู้ตัว

ถ้าอยู่ในเพศของความเป็นพระเป็นเณรจะอยู่ได้ เพราะว่าเป็นอุดมเพศ คือเพศอันสูง ที่คนให้ความเคารพอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นฆราวาสเพื่อนไม่รู้ มาถึงก็ตบหลังป้าบ “เป็นอย่างไรบ้าง..?!” กลายเป็นทำร้ายพระอริยเจ้าโดยไม่รู้ตัวแล้ว ซวยอย่าบอกใครเลย เรื่องพวกนี้จึงต้องระวังให้หนัก...

เถรี 23-04-2013 13:58

พระอาจารย์กล่าวว่า "อาตมาเป็นห่วงญาติโยมหลายคน พอรู้ความจริงว่าการทำบุญในพระพุทธศาสนามีอานิสงส์สูง ก็มักจะทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีเดิม ๆ ของตนมาแล้วก็มาทำบุญ ซึ่งบางทีผู้ใหญ่เขารับไม่ได้ อาตมาเองสมัยที่เป็นฆราวาสรู้ว่าเรื่องนี้ดีแค่ไหนก็ตาม ไม่ว่าจะตรุษจีน สารทจีน เช็งเม้งอะไรก็ไปกับเขา พอทำทางนั้นเสร็จแล้วค่อยมาแอบถวายสังฆทานของเรา แค่นี้ก็จบแล้ว ไม่ต้องไปขัดกับใคร"

เถรี 23-04-2013 14:15

ถาม : ที่วัดท่าขนุนต้องอยู่นานเท่าไรถึงจะได้บวชคะ ?
ตอบ : แค่ท่องขานนาคได้ก็พอ ถ้าไปวันนั้นท่องขานนาคได้ก็ได้บวชแล้ว ที่วัดบวชง่าย แต่ถ้าพลาดเมื่อไรก็โดนไล่ออกเลย..!

ถาม : แล้วทำไมหลวงพ่อฤๅษีฯ ต้องตั้งกฎไว้ว่าอย่างน้อย ๓ เดือนถึงบวชได้ครับ ?
ตอบ : หลวงพ่อฤๅษีฯ ไม่ได้ตั้งกฎไว้ ๓ เดือน หลวงพ่อฤๅษีฯ ท่านตั้งกฎว่า บุคคลที่เข้ามาบวชวัดท่าซุงต้องฝึกมโนมยิทธิได้คล่องตัว เพื่อให้เขารู้เสียบ้างว่าทำดีแล้วจะได้อะไร ทำชั่วแล้วจะได้อะไร แล้วถ้าเขาอยากจะชั่วอีกก็เชิญ..! ท่านตั้งกฎไว้แค่นั้นแหละ ไม่มี ๓ เดือนหรอก ถ้ามี ๓ เดือนแสดงว่าเป็นกฎใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นมา

อาตมาเองตอนนั้นเป็นคนที่เสียสละมากที่สุด คือไปอยู่วัดเสีย ๓๗ วัน แต่จะไปฝึกมโนมยิทธิกับแมวที่ไหน เพราะตัวเองเป็นครูฝึกอยู่ จะไปฝึกการขานนาคหรืออะไร ๒ วันก็ได้หมดแล้ว สรุปก็เลยอยู่วัดนั่งท่อง ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนานไปเรื่อย ๓๐ กว่าวันท่องเสียเกลี้ยงไม่มีอะไรเหลือเลย บวชวันนั้นก็ออกงานสวดกับเขาได้เลย

ยังขำ ๆ ว่า ตอนนั้นหลวงพ่อเจ้าคุณอนันต์ท่านยังเป็นพระอนันต์เฉย ๆ ยังไม่ได้เป็นพระครูปลัดด้วย ไปถึงก็กราบท่าน “หลวงพี่ครับ ช่วยออกใบรับรองการบวชให้ผมหน่อยครับ ว่าผมผ่านการฝึกมโนมยิทธิแล้ว” หลวงพ่อเจ้าคุณอนันต์ท่านหัวเราะ “แกจะเอาไปทำซากอะไร ใคร ๆ ก็รู้ว่าแกเป็นครูฝึกมโนฯ” เพราะฉะนั้น..ท่านมีระเบียบไว้ แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่ารุ่นหลังการฝึกมโนมยิทธิมันอาจจะไม่ชัดเจน เนื่องจากว่าถ้าคนฝึกไม่เก่ง บางทีก็ไม่สามารถระบุได้ว่าลูกศิษย์ได้จริงหรือเปล่า ก็เลยใช้วิธีอยู่วัดนานหน่อยดีกว่า

นี่ยังดีนะ ถ้าพระป่าสายหลวงปู่มั่นที่ตั้งใจบวชตลอดชีวิตนี่ท่านให้อยู่วัดก่อน ๒ ปี เป็นตาผ้าขาว แต่ถือศีล ๒๒๗ ข้อ พูดง่าย ๆ ก็คือถ้าพลาดอะไรให้พลาดตอนนั้น เพราะพลาดตอนเป็นพระโทษจะหนัก คราวนี้ ๒ ปีผ่านไป ความเคยชินกับศีลมีแล้ว คุณถึงบวชได้

เถรี 24-04-2013 09:07

ถาม : หลวงตาวัชรชัยอยู่ก่อนบวช ๒ ปีหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : ถ้าเอาจริง ๆ หลวงตาวัชรชัย ๘ ปี อาตมาเองก็ ๒ ปี ก็คือ ระหว่างที่เราอยู่ปฏิบัติรับใช้หลวงพ่อนั่นแหละ คือการฝึกตัวตนของเราเอง อาตมาเองอยากจะอยู่นานกว่านั้น แต่หลวงพ่อท่านออกปากขอบวชให้ท่านเสียก่อน ก็เลยบวช ตามความคิดจริง ๆ คิดว่าถ้าทำตัวเป็นพระอริยเจ้าได้ บวชเข้าไปคนเขาจะได้ไหว้ได้เต็มที่ บวชแล้วไม่ต้องอายใคร แต่ปรากฏว่าทำเท่าไรไม่ได้สักที หลวงพ่อท่านคงรำคาญจึงลากไปบวชเสียก่อน

เถรี 24-04-2013 09:12

ถาม : การฝึกมโนมยิทธิ เราต้องฝึกกับครูหรือเปล่าคะ ถึงจะไปได้ไกล ?
ตอบ : ใช้ความพยายามของตัวเอง อย่าไปตั้งความหวังกับครู อาตมาเองไปฝึกมโนมยิทธิครั้งแรกปี ๒๕๒๑ หลายคนยังไม่ได้เกิดกระมัง ? ปรากฏว่าครูฝึกตรงหน้าบอกอะไรอาตมาไม่รู้เรื่องเลย
“สว่างไหม?” “มืดครับ”
“เห็นอะไรไหม?” “ไม่เห็นครับ”
“เห็นภาพพระไหม?” “ไม่เห็นอะไรเลยครับ”


ตอนนั้นทั้งบ้านสายลมมีอยู่แค่ ๗ คนที่ไปฝึก ได้ยินเสียงครูฝึกข้างหลัง จำได้ว่าเป็นเสียงป้าชอ ป้าชอบอกว่า “เธอสามารถนึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เธอรักเธอชอบได้ไหม?” โอ๊ย..สบาย อาตมาจับภาพพระเป็นกสิณมาตั้ง ๓ ปี ทำไมจะนึกไม่ออก รายละเอียดมีเท่าไรบอกได้หมดเลย เพราะฉะนั้น..สำคัญอยู่ตรงคำพูดของครูนิดเดียวเอง ถ้าครูใช้คำพูดผิด ลูกศิษย์อย่างอาตมาก็เจ๊ง

แบบเดียวกับอาตมาพาแม่ไปฝึกกรรมฐานที่วัดท่าซุง ให้ครูพรรณีเป็นคนดูแล ครูพรรณีเดินหัวเราะออกมาจากห้องฝึกกรรมฐาน “ท่านเล็กสอนแม่อย่างไร ? ถามแม่ว่าทุกข์หรือเปล่า แม่บอกว่าไม่ทุกข์” อาตมาได้ยินก็หัวเราะบ้าง “ครูกลับไปถามแม่ใหม่ ครูใช้คำพูดผิด ให้ถามแม่ว่าเกิดมาลำบากไหม แกอธิบายได้ ๓ วัน ๓ คืน เพราะแกเกิดมาลำบาก ไปบอกว่าทุกข์คนแก่ไม่รู้เรื่องหรอก” เห็นหรือยังว่าคำพูดสำคัญแค่ไหน ? ใช้คำพูดผิดนิดเดียวเท่านั้นเองพังเลย

เพราะฉะนั้น..ก็อย่างที่โยมว่านั่นแหละ บางทีไปเจอคู่ปรับที่ใช้คำพูดได้ถูกต้องพอดี เราก็ไปได้คล่องตัวเลย ถ้าไม่ได้ก็ต้องเพียรพยายามด้วยตัวเอง

เถรี 24-04-2013 09:17

ถาม : เขาได้กันหมด แต่ทำไมเราไม่ได้ ?
ตอบ : สำหรับมโนมยิทธิ ปอกกล้วยเข้าปากยังยากกว่าตั้งเยอะ เรานึกถึงบ้านได้ไหมตอนนี้ ? เรานึกถึงบ้านแล้วรู้สึกไหมว่ารูปร่างหน้าตาบ้านเป็นอย่างไร ? นึกถึงพ่อเรา นึกถึงแม่เรา นึกถึงพี่น้องเรา นึกได้ทั้งหมดใช่ไหม ? มโนมยิทธิคือลักษณะอย่างนั้นแหละ ถามว่าใช่ตาเห็นไหม ? ไม่ใช่หรอก แล้วทำไมถึงชัดล่ะ ?

เขาถึงได้ใช้คำว่า “มโน” คือห้วงนึก หรือใจที่นึกถึง เพราะฉะนั้น..ใครนึกอย่างนี้ได้ ใช้มโนมยิทธิได้ทุกคน เพียงแต่ว่าเรามาเปลี่ยนนึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เรารักเราชอบมากที่สุด

ในขณะเดียวกัน ทำตัวเป็นเด็กว่าง่าย ๆ อย่าไปดื้อ พอเขาบอกยกจิตขึ้นไปกราบพระจุฬามณี เรานึกเดี๋ยวนั้นเลยว่าตรงหน้าเราตอนนี้คือพระจุฬามณี ยกจิตขึ้นไปกราบท่านปู่พระอินทร์ที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ให้เรานึกเดี๋ยวนั้นเลยว่าตรงหน้าเราคือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ยกจิตขึ้นไปกราบพระบนนิพพาน ให้เรานึกเดี๋ยวนั้นเลยว่าตรงหน้าเราคือพระบนนิพพาน แรก ๆ เห็นไม่เห็นก็ช่างมัน ไม่เกี่ยว ให้มั่นใจว่ามีอยู่ตรงนั้น ในเมื่อเรามั่นใจว่ามีอยู่ตรงนั้น

คราวนี้ครูฝึกถามรายละเอียด อย่างเช่นว่าบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ มีลักษณะเป็นอย่างไร เราบอกไปเลย รู้สึกอย่างไรให้บอกตามนั้น จะเหมือนกับก้อนหิน เหมือนอย่างกับแท่น เหมือนอะไรก็ว่าไปตามนั้น อยู่ที่เรา พระจุฬามณีหน้าตาเป็นอย่างไร เรารู้สึกอย่างไรบอกไปตามนั้น คราวนี้ถ้าถูกครูฝึกจะรับรองให้ พอรับรองให้ ความตื่นเต้นของเราจะค่อย ๆ ลดน้อยลง เออ...เราก็รู้ถูกเหมือนกันนี่

จิตจะค่อย ๆ นิ่งขึ้นเรื่อย พอจิตค่อย ๆ นิ่งขึ้นเรื่อย ความชัดเจนจะมีมากขึ้น บางทีอยู่ ๆ สว่างวาบขึ้นมา เห็นรายละเอียดหมดจนเราตกใจ ว่าชัดขนาดนี้เชียวหรือ ?

เถรี 24-04-2013 09:43

แรก ๆ ไม่เห็นหรอก ซ้อมไปเรื่อย ๆ ให้มั่นใจว่าตรงหน้าเราคือสิ่งนั้นก่อน เพราะสภาพจิตของเราไม่มีอะไรขวางได้ ในเมื่อสภาพจิตของเราไม่มีอะไรขวางได้ เรานึกถึงอะไรก็จะไปอยู่ตรงนั้น ในเมื่อนึกถึงอะไรก็ไปอยู่ตรงนั้น เขาบอกเรายกจิตไปไหนเราก็นึกถึงที่นั่น บอกว่าไปบ้านเรานึกถึงบ้าน ไปวัดท่าซุงก็นึกถึงวัดท่าซุง ไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เรานึกถึงดาวดึงส์

ครูฝึกถามรายละเอียด ต่อให้มีหลายคนแล้วเขาตอบไม่เหมือนเรา ไม่ต้องสนใจ ตอบแบบที่เรามั่นใจ เพราะว่าสวรรค์ชั้นหนึ่ง ถ้าเปรียบแบบโลกมนุษย์ก็เหมือนเอาเข่งใหญ่ ๆ ใบหนึ่งมา แล้วก็เอาถั่วเม็ดหนึ่งหย่อนลงไปในเข่ง นั่นสวรรค์ชั้นหนึ่งกับมนุษย์ทั้งโลกนะ เราลองนึกถึงกรุงเทพฯ สิ ถ้าหากบอกว่ามากรุงเทพฯ คนหนึ่งลงอนุสาวรีย์ชัยฯ อีกคนไปลงทางด้านซังฮี้ อีกคนไปบางนา แล้วจะเห็นเหมือนกันไหม ? นั่นกรุงเทพฯ หรือเปล่า ? แล้วสวรรค์ชั้นหนึ่งใหญ่กว่าตั้งเท่าไร ?

เพราะฉะนั้น..ไม่ต้องไปสนใจว่าคนอื่นเป็นอย่างไร ตอบแต่ของเรา และอย่ากลัวผิด ถ้ากลัวผิดเมื่อไร เอ๊ะ...ไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ เอ๊ะ...น่าจะเป็นอย่างนั้น เจ๊งทุกราย เราต้องมั่นใจเลย ความรู้สึกแรกว่าอย่างไรให้ตอบไปตามนั้น พอซ้อมบ่อย ๆ เข้า เดี๋ยวความคล่องตัวเกิดขึ้น ความชัดเจนก็จะมีเอง

เถรี 24-04-2013 12:11

ถาม : เวลารู้ เหมือนกับรู้ข้างใน ?
ตอบ : เป็นความรู้ข้างใน ความรู้สึกที่วูบขึ้นมาแม้แต่เพียงไม่ถึงวินาที เราอธิบายได้เป็นหน้ากระดาษ เพราะรายละเอียดทุกอย่างจะมาพร้อมหมด ก็แค่นั้นเอง เหมือนกับเรียนหนังสือนั่นแหละ เรียนมาชั้นเดียวกันก็คุยกันรู้เรื่อง ถ้าเรียนมาคนละชั้นก็คุยกันไม่รู้เรื่องหรอก

ถาม : นอนกลางวัน นอนหลับแล้วหลุดออกไป ?
ตอบ : ก็ไม่มีอะไร ถ้านักปฏิบัติพื้นฐานเดิมเคยมีมาตามวิชชา ๓ หรืออภิญญา ๖ ปฏิบัติไปจนกำลังเพียงพอก็จะหลุดออกไปเป็นปกติ คราวนี้เราก็แค่ควบคุมว่าจะไปไหน ก็ให้ตั้งเป้าไว้เลย อย่างเช่นว่าเรานอนภาวนา ตั้งใจว่าถ้าเราหลุดออกไป เราจะไปกราบพระที่จุฬามณี ถ้าเราหลุดออกไป เราจะไปกราบพระที่พระนิพพาน แล้วเราก็ลืมเสีย ภาวนาของเราไป นั่นเป็นการจองตั๋ว ในเมื่อมีตั๋วแล้ว เดี๋ยวรถมาก็พาเราไปถึงที่เอง

ให้ตั้งใจไว้ว่าเราจะไปไหน หลังจากนั้นถ้าคล่องตัวมาก ๆ เดี๋ยวก็จะบังคับได้เอง แรก ๆ บังคับไม่ได้หรอก ออกได้ก็เปะปะไปเรื่อย พอไม่รู้จะไปไหนถึงเวลาก็กลับเอง


ถาม : เห็นเป็นดวงขาว ๆ ลอยออกไปไกล ?
ตอบ : จะเป็นอย่างไรก็ช่างมันเถอะจ้ะ จะไปไกลแค่ไหนก็แค่ตามดู เพราะว่าไม่มีอะไรที่เรารักเราห่วงกว่าร่างกายนี้แล้ว เผลอเมื่อไรเดี๋ยวก็กลับเอง เพราะฉะนั้น..ไปเลย ไปได้ไกลเท่าไรก็ไปเลย ไม่ต้องกลัวว่าไปแล้วกลับไม่ได้ วูบเดียวก็กลับแล้ว

เถรี 24-04-2013 12:26

ถาม : การไปแบบมโนมยิทธิเหมือนจิตจะออกนอกหรือเปล่าคะ ?
ตอบ : การส่งจิตออกนอกที่ส่งไปในลักษณะปรุงแต่งเรื่องอื่นทำให้เกิดทุกข์ แต่การส่งจิตออกนอกในลักษณะของมโนมยิทธิ เป็นการส่งไปโดยมีฌานสมาบัติคุมอยู่ ในเมื่อมีฌานสมาบัติคุมอยู่ สภาพจิตจะไม่ถูกปรุงแต่งไปในเรื่องของรัก โลภ โกรธ หลง แต่โอกาสพลาดก็มีตรงที่ว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เรารู้เราเห็น อาจจะเป็นการทดสอบกำลังใจของเรา ก็มีจุดเสียเหมือนกัน แต่อยู่ในลักษณะแลกกัน ลงทุนน้อยได้กำไรมาก

เพราะถ้าเราเห็นได้ชัดเจนว่าสภาพจิตที่ออกไป ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราเลย ถ้าเห็นชัดในจุดนี้จะเกิดความเบื่อหน่าย หมดอยากในร่างกายของตนเอง ในเมื่อหมดอยากในร่างกายของตนเองแล้ว เรื่องของคนอื่นก็ไม่สนใจไปด้วย ในเมื่อคนอื่นสัตว์อื่นไม่สนใจไปด้วย เราก็เหลืออยู่อย่างเดียวก็คือไม่ต้องการการเกิดแล้ว ไปพระนิพพานดีกว่า

เป็นการลงทุนนิดเดียวแล้วได้ผลมหาศาล แต่คนจะใช้มโนมยิทธิขอยืนยันว่าต้องมีปัญญามาก ๆ ถ้าปัญญาไม่พอ สติไม่พอ โดนหลอกหัวทิ่มทุกราย มัวแต่ไปสนุกสนานเฮฮา เดี๋ยวก็โดนเขาหลอกกลายเป็นหมอดูไปเท่านั้นเอง อาตมาก็เป็นมาเองแล้ว


ถาม : แล้วอย่างหนูต้องทำอีกนานไหมคะ ?
ตอบ : ซ้อมไปเรื่อย ๆ เอาใจเกาะพระเกาะนิพพานไว้เป็นหลัก เรื่องอื่นมาก็ไม่ใส่ใจ พอถึงเวลาขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพาน ตายเมื่อไรก็ขออยู่กับพระองค์ท่านที่นี่ เอาแค่นั้นเป็นหลัก
วัน ๆ หนึ่งประคองกำลังใจของเราให้อยู่กับพระนิพพานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จดจำไว้ว่าอารมณ์ที่ว่างจากรัก โลภ โกรธ หลงนั้นเป็นอย่างไร แล้วก็ประคับประคองรักษาเอาไว้ สภาพจิตที่ชินกับความบริสุทธิ์ไปนาน ๆ พวกกิเลสที่เป็นสิ่งสกปรกจะเกาะไม่ได้ เดี๋ยวก็หลุดพ้นไปเอง


มโนมยิทธิจริง ๆ ที่หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านต้องการก็คือ เรารู้จักพระนิพพาน เราไปพระนิพพานได้ เราเข้าถึงอารมณ์พระนิพพานได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ถึงเวลาเราก็รู้ว่าเราควรจะเลือกอะไรที่ดีที่สุดสำหรับเรา

เถรี 24-04-2013 13:03

ถาม : เราเห็นพระพุทธเจ้า เราไม่มั่นใจว่าองค์จริงหรือองค์ปลอม ?
ตอบ : ไม่ต้องไปใส่ใจ เรามั่นใจของเราก็ใช้ได้ จะเป็นองค์จริงองค์ปลอมก็ช่างเถอะ ขอให้มาก็เหมาว่าใช่ทั้งนั้น เพราะว่ากำลังใจของเรามุ่งตรงต่อพระพุทธเจ้า ต่อให้บุคคลนั้นที่มาไม่ใช่พระพุทธเจ้าก็เรื่องของเขา แต่เราว่าใช่

แบบเดียวกับพระอุปคุตกราบพญามาร หลังจากทรมานพญามารจนละพยศจนยอมรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งแล้ว พระอุปคุตท่านเกิดหลังพุทธกาล ๓๐๐ กว่าปี ท่านบอกว่าท่านไม่เคยเห็นกายเนื้อของพระพุทธเจ้า เห็นแต่ธรรมกายหรือกายทิพย์เท่านั้น ก็คือกายพระวิสุทธิเทพ ก็เลยขอร้องพญามารที่ได้เห็นกายเนื้อ เพราะว่าผจญกันมาตั้งแต่แรก ว่าช่วยเนรมิตกายเนื้อของพระพุทธเจ้าให้ดูหน่อยได้ไหม ?

พญามารก็บอกว่าได้ แต่ขออย่างเดียวว่า ถ้าท่านเนรมิตกายเป็นพระพุทธเจ้าแล้วอย่าไหว้ท่าน เพราะโทษใหญ่จะเกิดแก่ท่าน พระอุปคุตก็รับปาก พญามารเดินหลบไปหลังภูเขา กลับออกมากลายเป็นพระพุทธเจ้าพร้อมกับฉัพพรรณรังสี มีอัครสาวกซ้ายขวา พร้อมกับพระสงฆ์บริวารเป็นหมื่นเป็นแสน

เห็นหรือยังว่าคน ๆ เดียวเนรมิตได้เยอะขนาดนั้น พระอุปคุตพร้อมด้วยหมู่สงฆ์ และพระเจ้าอโศกมหาราชกับบริวารทั้งหมดเห็นก็คุกเข่ากราบ พญามารตกใจคืนร่างเดิม “พระคุณเจ้าไหนรับปากแล้วว่าอย่ากราบ ทำไมถึงกราบ เกิดโทษใหญ่แก่ข้าพเจ้าแล้ว” พระอุปคุตบอกว่าไม่เกิดโทษหรอก เพราะใจของท่านมุ่งตรงต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้กราบพญามาร

ลักษณะของเราก็เหมือนกัน ท่านจะมาเป็นใครก็ช่าง เรานึกถึงพระเรากราบก็แล้วกัน พูดง่าย ๆว่าใครเขามาก็ช่าง ใจเรามุ่งตรงเป้าเดิม ในเมื่อใจของเรามุ่งตรงเป้าเดิม โอกาสพลาดมีน้อยมาก มัวแต่ระแวงอยู่ก็ไม่ได้อะไร ถึงบอกว่านักปฏิบัติต้องมีปัญญา ทำอย่างไรถึงจะเลือกในสิ่งที่ทำให้กาย วาจา ใจของเราเจริญขึ้นไปเรื่อย ๆ

เถรี 24-04-2013 13:12

ถาม : กษัตริย์ไทยต้องไปเป็นพระสยามเทวาธิราชทุกพระองค์หรือคะ ?
ตอบ : ไม่เพียงเท่านั้น เชื้อพระวงศ์หรือบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศไทยมาก ๆ ถึงเวลาก็ต้องไปเป็นพระสยามเทวาธิราชเช่นกัน เพราะฉะนั้น..พระสยามเทวาธิราชไม่ได้มีพระองค์เดียวนะ มีเป็นร้อย ๆ เลย แต่ใช้ชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชเหมือนกัน เพราะว่าสมัยรัชกาลที่ ๔ ท่านสถาปนาขึ้นมา หล่อรูปขึ้นมาแทน

เถรี 24-04-2013 13:19

ถาม : เป็นไปได้ไหมคะ ที่ดวงจิตอยู่ข้างบน แล้วตัวลงมาเกิดข้างล่าง ?
ตอบ : เป็นไปไม่ได้จ้ะ ในเรื่องของจิต ถ้าอยู่ที่ไหนก็คือที่นั่นเลย ยกเว้นอยู่อย่างเดียวว่า ถ้ามีภาระหน้าที่ก็ไปปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ แต่ถ้าในความเป็นทิพย์ ท่านสามารถแยกจิตทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้ แต่ไม่ใช่แบ่งภาคไปเกิด ถ้าไปเกิดคือต้องไปทั้งหมด

เราเคยชินกับอวตารของฮินดูก็เลยไปคิดว่าแบ่งภาคไปเกิดแล้วตัวจริงยังอยู่...ไม่ใช่ ปกติของท่านถ้าอยู่ในเขตของความเป็นทิพย์ เป็นเทวดา เป็นนางฟ้า เป็นพรหม เป็นพระบนนิพพาน ท่านสามารถแยกจิตไปทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกันได้ แต่ถ้าท่านที่ไปเกิด ต้องไปทั้งหมด

บาลีเขาว่า จิตตัง เอกะจะรัง อะสะรีรัง คูหาสะยัง คำว่า จิตตัง เอกะจะรัง คือ จิตเดียวเที่ยวไป แต่ถ้าจะทำงานหลาย ๆ อย่างก็แยกไปทำ ท่านที่ไม่มีความชำนาญก็แยกได้น้อยหน่อย ท่านที่ชำนาญก็แยกได้เยอะหน่อย พระสมัยก่อนนั่งคุยอยู่ตรงนี้ อีกร่างหนึ่งบิณฑบาตไปโน่น แล้วก็ทำให้ลูกศิษย์ทะเลาะกันอยู่เรื่อย คนนั้นก็ “เฮ้ย..หลวงพ่ออยู่วัด..ข้าเห็นอยู่” รายนี้ก็ “ข้าใส่บาตรมากับมือเลย” เถียงกันตาย


ถาม : ทำแบบนั้นยากค่ะ
ตอบ : ไม่ได้ยากของท่าน ในพระไตรปิฎก พระจุลปันถกแยกที ๑,๐๐๐ องค์ ทำงานคนละอย่าง องค์นี้กวาดวัด องค์นั้นถูศาลา องค์นั้นย้อมผ้า เสร็จเร็วดี

ถาม : (ไม่ได้ยิน)
ตอบ : ท่านใช้คำว่าแยกกายในออกไปเหมือนถอดไส้หญ้าปล้อง เป็นอีกตัวหนึ่งเลย เหมือนตัวจริงทุกอย่าง ทำงานคนละอย่างกันด้วย คนนั้นก็ไปจัดอาสนะ คนนี้ก็ไปตั้งน้ำใช้น้ำฉัน องค์นั้นไปตามประทีป งานเพียบ เป็นสมัยนี้ต้องไปสมัครงานคนละบริษัท รับค่าแรงทีเดียว ๑,๐๐๐ รายซ้อนกัน เอาให้รวยในเดือนเดียวเลย

เถรี 24-04-2013 14:33

ถาม : ตอนที่เราเห็นภาพ ได้ยินเสียง แสดงว่าอยู่ที่อุปจารสมาธิหรือคะ ?
ตอบ : ถ้าสภาพจิตของเราเริ่มเข้าสู่อุปจารสมาธิ จะได้เห็นภาพได้ยินเสียงต่าง ๆ เป็นปกติ ถ้าเราไม่ใส่ใจ จดจ่ออยู่เฉพาะหน้า ก็จะชัดขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้าเราไปใส่ใจตั้งใจฟัง จะหายไปเลย เพราะสมาธิของเราเคลื่อนจากจุดที่รับฟังได้พอดี

หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านเปรียบเทียบว่า เหมือนกับยืดคอเลยช่องหรือก้มต่ำเกินไป ก็ไม่สามารถจะรู้เห็นได้ ทำไม่รู้ไม่ชี้ไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเขานินทาอะไรก็ได้ยินหมดแหละ

เถรี 24-04-2013 14:42

ถาม : จริง ๆ อยากรู้จิตผู้อื่น แต่หลวงพ่อวัดท่าซุงบอกว่าให้ดูจิตตัวเอง ?
ตอบ : เจโตปริยญาณเขาให้ดูจิตตัวเอง ดูจิตคนอื่นไม่ค่อยมีประโยชน์ ยกเว้นคนเป็นครูบาอาจารย์ ดูของคนอื่นเพื่อแก้ไขให้เขา โดยปกติแล้วเจโตปริยญาณเขาให้ดูจิตตัวเอง จิตใจตอนนี้มีความชั่วอะไรอยู่หรือเปล่า ? ถ้ามีก็ขับไล่ออกไป ระมัดระวังไว้อย่าให้เข้ามา จิตใจของเรามีความดีอยู่หรือเปล่า ? ถ้ายังไม่มีก็สร้างให้มีขึ้นมา ถ้ามีแล้วก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้น..ถ้าไม่ใช่ครูไม่ใช่อาจารย์ ไม่ต้องเสียเวลาไปดูคนอื่นหรอก

ถาม : ถ้าอดีตเคยได้อภิญญามา ?
ตอบ : วิสัยเดิมมาอย่างไรก็ไปอย่างนั้น

ถาม : เปลี่ยนไม่ได้ใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ไม่ใช่เปลี่ยนไม่ได้ แต่ยินดีพอใจแค่นั้น ที่เรารู้สึกว่าอยากจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ แสดงว่าวิสัยเดิมมาอย่างนั้น แบบที่ภาษิตทางเหนือเขาบอกว่า "ทางหนู..หนูไต่ ทางไหน่...ไหน่เตียว" หนูก็ไปตามทางที่ตนไป กระรอกกระแตก็ไปตามทางของตนเอง ในเมื่อเราชอบอย่างนั้น ก็ไปของเราเอง ไม่ต้องไปบังคับหรอก พอถึงเวลาถ้าเราชอบอย่างนั้นจริง ๆ แสดงว่าวิสัยเดิมของเราเป็นอย่างนั้นแหละ แต่ปัจจุบันนี้ที่ยังได้ไม่เต็มที่เพราะยังอยากอยู่ นักปฏิบัติถ้าอยากจะไม่ได้ มักจะมาตอนหมดอยากแล้ว

ถาม : เป็นเพราะเรายึดติดกับอดีตหรือเปล่า ?
ตอบ : ยึดไปก็ไม่มีประโยชน์หรอก กองไว้ตรงนั้นแหละ อดีตเลยมาแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ปัจจุบันสำคัญที่สุด อย่าลืมว่าไม่ว่าจะเรื่องของศีล ของธรรม ของกฎหมายบ้านเมือง เขาถือปัจจุบันเป็นใหญ่ ถ้าทำผิดก็ติดคุกชาตินี้ ไม่ใช่ไปติดคุกชาติหน้า

ไม่ว่าจะความสัมพันธ์ใด ๆ ก็ตาม ความสำคัญใด ๆ ก็ตาม ฟังให้ดี ๆ นะ
เคยเป็นนั่นเป็นนี่ เคยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้กับผู้ใดมา ถึงปัจจุบันถือว่าทิ้งไปได้เลย เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ถ้ามัวไปดูอดีตอยู่ก็ไม่ไปไหนหรอก ติดอยู่แค่นั้น แทนที่จะหลุดได้กลับไปฟื้นความสัมพันธ์กลับคืนมา กลายเป็นผูกพันกันมากขึ้น ในเมื่อทั้งผูกทั้งพันก็ไม่ต้องไปไหนหรอก ติดอยู่แค่นั้นแหละ

เถรี 24-04-2013 14:54

ถาม : ถ้าช่วยคนให้เขาพ้นทุกข์ ?
ตอบ : ขึ้นฝั่งให้ได้แล้วจะช่วยใครก็ช่วย ถ้ายังขึ้นฝั่งไม่ได้มัวแต่ไปช่วย เดี๋ยวก็จมน้ำตายไปด้วย ทางฝ่ายนั้นเขาถึงได้ว่าเราเป็นหินยาน ยานเล็ก ๆ ไปได้คนเดียว ของเขามหายาน เขาก็จะเอาไปเยอะ ๆ จมตายไปกี่ชาติแล้วก็ไม่รู้ ?

เถรี 24-04-2013 14:55

ถาม : ถ้าเราผิดคำมั่นสัญญากับครูบาอาจารย์ ?
ตอบ : ครูบาอาจารย์ท่านจะมาถือสาหาความอะไรกับเราเล่า ? รู้ว่าผิดก็เริ่มต้นใหม่ ถ้ารู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดีก็ตั้งหน้าตั้งตาทำใหม่ ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งดี เราผิดสัญญาก็ถือเป็นการเอาตัวรอดอย่างหนึ่ง


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 04:48


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว