เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๗
ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก..ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา ใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ตามที่เราถนัดมาแต่เดิม เรื่องของคำภาวนาอย่าไปเปลี่ยนบ่อย เพราะถ้าเปลี่ยนเมื่อไร กว่าที่สภาพจิตจะคุ้นเคย ก็ต้องเสียเวลาไปนาน
วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ก็อย่างที่ทุกท่านได้เห็นว่า อาตมาเองนั้นมีโรคภัยไข้เจ็บกำเริบเป็นปกติ ดังนั้น..เมื่อท่านทั้งหลายภาวนาจนกำลังใจทรงตัวแล้ว ไม่สามารถที่จะภาวนาต่อได้ กำลังใจจะคลายออกมาโดยอัตโนมัติ ก็ต้องหาเรื่องที่เกี่ยวกับวิปัสสนาญาณให้พิจารณา ไม่อย่างนั้นสภาพจิตจะเอากำลังจากการภาวนาของเรา ไปฟุ้งซ่านด้านรัก โลภ โกรธ หลงแทน และจะทำให้กิเลสกำเริบไปใหญ่โต จนผู้คนจำนวนหนึ่งถึงกับพูดว่า ยิ่งปฏิบัติธรรม กิเลสยิ่งมาก ความจริงกิเลสมีเท่าเดิม เพียงแต่แข็งแรงขึ้น เพราะว่าเราไปภาวนาสร้างกำลังไว้ แต่ไม่ได้นำกำลังนั้นไปพิจารณาร่างกาย ไม่ได้ดูให้เห็นความเป็นจริงของโลก กิเลสก็จะฉวยเอากำลังนี้ไปฟุ้งซ่านแทน ทำให้รู้สึกว่ารัก โลภ โกรธ หลง แรงกว่าปกติ ที่แท้ก็แรงเพราะเอากำลังที่เราภาวนาได้ไปใช้งาน เมื่อเราพิจารณาร่างกาย อย่างที่เมื่อวานกล่าวไว้ว่า ให้พิจารณาในลักษณะของ ภยตูปัฏฐานญาณคือเห็นว่าเป็นโทษเป็นภัย ร่างกายเหมือนอย่างกับเสือที่เราเลี้ยงไว้ พอมีกำลังขึ้นมาเสือตัวนั้นจะขบกัดเจ้าของทุกที มีแต่ความทุกข์เข้ามาอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวหิวต้องหาให้กิน เดี๋ยวกระหายต้องหาให้ดื่ม ถึงเวลาร้อนต้องหาเครื่องเย็นให้ ต้องอาบน้ำให้ ถึงเวลาหนาวต้องหาเสื้อผ้าความอบอุ่นให้ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ต้องรักษาพยาบาล ทั้ง ๆ ที่เราดูแลเป็นอย่างดี แต่สภาพร่างกายก็ทรยศขบถต่อเราอยู่ทุกวันเช่นกัน เมื่อพิจารณาเห็นจริงว่า ร่างกายนี้เป็นโทษเป็นภัย มีแต่ความเจ็บไข้เป็นปกติ มีความหิว ความกระหาย ความร้อน ความหนาว เป็นปกติ จิตของเราก็จะเกิดอาการเบื่อหน่าย กลายเป็นอาทีนวานุปัสสนาญาณ |
เมื่อก้าวเข้ามาถึงตรงจุดนี้ พอพิจารณาต่อไป ความเบื่อก็จะเกิดขึ้นมากขึ้น ๆ กลายเป็นนิพพิทาญาณ ช่วงนี้ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะถ้ากำลังสมาธิและปัญญาดี จะเกิดความเบื่อหน่ายชนิดที่หลายต่อหลายคนอยากจะตายให้พ้นจากโลกนี้ไปเลย อย่างในพระไตรปิฎกมีพระภิกษุที่ไปจ้างปริพาชกให้ฆ่าตัวเอง
แต่ถ้าเราพิจารณาให้เห็นว่า การที่เราดำรงชีวิตอยู่ ปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นในชาตินี้ ถ้าเปรียบกับการเวียนว่ายตายเกิดนับชาติไม่ถ้วนแล้ว เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ นิดเดียวเท่านั้น ทำไมเราจะทนอยู่กับร่างกายนี้ไม่ได้ กำลังสมาธิก็จะก้าวข้ามตัวนิพพิทา คือความเบื่อหน่าย กลายเป็นสังขารุเปกขาญาณ คือปล่อยวาง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดา ร่างกายนี้มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความแก่ชราเป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา มีความเสื่อมความตายเป็นธรรมดา ความจริงในระหว่างนั้น ตัวญาณต่าง ๆ สามารถเกิดขึ้นต่อเนื่อง และจะเกิดขึ้นเร็วมาก อย่างเช่นจะเกิดมุญจิตุกัมมยตาญาณ พิจารณาใคร่จะหนีไปจากร่างกายนี้เสีย แล้วหลังจากนั้นจะเกิดเป็นปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หาทางที่จะหลีกหนีไปจากร่างกาย สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเกิดขึ้นเร็วมาก บางทีต่อเนื่องเหมือนกับพริบตาเดียว ท่านที่จิตไม่ละเอียดจะแยกแยะไม่ออก ว่าขณะนี้อยู่ในวิปัสสนาญาณแบบไหน แต่ว่าท้ายสุดถ้าพิจารณาอนุโลมปฏิโลม สภาพจิตที่ทรงตัวก็จะปล่อยวางสภาพร่างกายนี้ หิวขึ้นมา..มีหน้าที่หาให้กินก็หาไป กระหายขึ้นมา..มีหน้าที่หาให้ดื่มก็หาไป เจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา..มีหน้าที่รักษาพยาบาลก็รักษาไป สภาพจิตไม่ได้ห่วงใยในร่างกายนี้แล้ว ก็ให้ตั้งเป้าว่า ถ้าหากว่าตายลงไปเมื่อไร เราขอไปพระนิพพานที่เดียว แล้วก็เอาใจจดจ่อที่พระนิพพานไว้เป็นที่สุดท้าย ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ ก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออก ถ้ามีคำภาวนาอยู่ก็กำหนดดู กำหนดรู้คำภาวนา ถ้าไม่มีลมหายใจหรือคำภาวนา ก็ให้กำหนดใจรู้อาการอย่างนั้นไว้ อย่าไปหวาดกลัวว่าตอนนี้เราไม่หายใจ และอย่าไปกลัวว่าเราจะตาย เพราะในความเป็นจริงเรายังหายใจอยู่ แต่ลมหายใจละเอียดมากจนสติที่หยาบจับไม่ติด เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เมื่อเรากำหนดดูกำหนดรู้ไว้เฉย ๆ สภาพจิตจะก้าวลึกเป็นสมาธิขั้นสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนท้ายสุดสามารถทรงฌาน ๔ เต็มระดับได้ ลำดับต่อจากนี้ไป ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี วันเสาร์ที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๗ (ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน) |
สามารถรับชมได้ที่
http://www.sapanboon.com/vdo/demo.ph...ame=2557-01-04 ป.ล. - สามารถชมบนไอโฟนและแอนดรอยด์ได้ - ห้ามคัดลอกไฟล์ไปเผยแพร่ที่อื่นเด็ดขาด ! |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:57 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.