กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เก็บตกจากบ้านเติมบุญ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=65)
-   -   เก็บตกจากบ้านเติมบุญ ต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5927)

เถรี 31-12-2017 22:21

:onion_wink: เก็บตกเดือนธันวาคม ๒๕๖๐ หมดแล้วค่ะ :onion_wink:
ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทาริกา คะน้า เถรี รัตนาวุธ และเผือกน้อย

เถรี 01-01-2018 19:26

เก็บตกเพิ่มเติม:4672615:

ถาม : ผมสงสัยเกี่ยวกับข้อความของพระสงฆ์ท่านหนึ่ง ท่านเขียนเรื่อง "ความเข้าใจพระพุทธศาสนาใน ๑๐ นาที" ผมไม่แน่ใจว่าผิดถูกมากน้อยแค่ไหน เพราะบางอย่างอ่านแล้วเหมือนจะจริง จะใช่ แต่ก็ยังรู้สึกว่าผิดอยู่ แต่หาข้อผิดที่ชัดเจนไม่ได้ครับ ผมอยากทราบคำตอบที่ถูกต้องครับ ข้อความนั้นมีดังนี้

ข้อ ๑. พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ?
อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ
สมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์
นิโรธ คือความดับทุกข์
มรรค คือข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์

ตอบ : ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ซึ่งเท่ากับใบไม้กำมือเดียว

ถาม : ข้อ ๒. พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องอะไร ?
ทุกข์กับการดับทุกข์
ตอบ : คำตอบข้างบน

ถาม : ข้อ ๓ ภาพรวมของพระพุทธศาสนา มีดังนี้

๓.๑ ให้มองโลกตามความเป็นจริง (จริงขั้นสมมุติ=สมมุติสัจจ์, จริงแท้=ปรมัตถสัจจ์) อาทิ ตัวเรามีอยู่ แต่หาใช่ตัวตนที่แท้จริงไม่
๓.๒ ให้ถือทางสายกลาง ทางตึง (ทรมานกายให้ลำบาก) ก็ดี, ทางหย่อน (ฟุ้งเฟ้อหลงใหล มัวเมา) ก็ดี, มิใช่แนวทางของพระพุทธศาสนา แต่ของพระพุทธศาสนา คือ มรรคมีองค์ ๘ ทางสายกลางพอดี ๆ
๓.๓ ให้พึ่งตนเอง มิใช่พึ่งเทวดา โชคชะตาราศี หรือดวงดาว ฤกษ์ยาม
๓.๔ ไสยศาสตร์ การบนบานศาลกล่าว อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การดูฤกษ์ยาม การเจิม ฯลฯ มิใช่พุทธศาสนา
๓.๕ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) มีใช่เกิดขึ้นเองลอย ๆ หรือพรหมลิขิต จะดับทุกข์ได้ต้องดับที่เหตุ
๓.๖ โอวาทที่เป็นหลักเป็นประธาน (โอวาทปาฏิโมกข์) คือ ให้ละชั่ว ทำกุศลให้ถึงพร้อม และทำจิตให้บริสุทธิ์
๓.๗ สิ่งทั้งอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา, แม้พระนิพพาน ก็เป็นอนัตตาเช่นกัน หาใช่อัตตาตัวตนไม่
๓.๘ ให้เชื่อในหลักธรรม คือ ทำดี-ได้ดี, ทำชั่ว-ได้ชั่ว. ให้ทำตนอยู่เหนือดี เหนือชั่วนั่นแหละ จึงจะพบนิพพาน (คือเหนือกรรม)
๓.๙ จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือนิพพาน (ได้แก่สภาวะจิตที่สงบเย็น ปราศจากทุกข์)
๓.๑๐ สรุปธรรมทั้งปวง รวมลงในเรื่องเดียว คือ “ความไม่ประมาท”

ตอบ :ทุกสิ่งไม่เที่ยง ทุกสิ่งเป็นทุกข์ ทุกสิ่งไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา

เถรี 01-01-2018 19:29

ถาม : ข้อ ๔. การศึกษาธรรมะ ๒ สมัย

๔.๑ สมัยปัจจุบัน คือ รู้จัก กับ รู้จำ อาศัยการฟัง อ่านค้นคว้า จึงมีความรู้อยู่ในสมองและในสมุด พูดธรรมะคล่องแต่ปฏิบัติไม่ค่อยได้ จึงได้ผลน้อย
๔.๒ สมัยพุทธกาล คือ รู้แจ้ง โดยเมื่อฟัง – จำแล้ว ลงมือปฏิบัติ ทำจริงในขณะนั้นทันที เกิดผลเป็นความรู้แจ้งเรื่องชีวิต ดับทุกข์ในขณะนั้นทันที

ตอบ : จะสมัยไหนถ้าพระธรรมยังสมบูรณ์อยู่ มรรคผลก็ยังมีเป็นปกติ

ถาม : ข้อ ๕. วิธีศึกษาพระพุทธศาสนา
เมื่อแรกพุทธปรินิพานนั้น สิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งให้ถือเอาเป็นศาสดาแทนพระองค์ มีเพียง ๒ คือ ธรรมและวินัย หลังจากนั้นมา ๓๐๐ ปี จึงเกิดมีพระไตรปิฎกขึ้น (สุตตันตปิฎก วินัยปิฎก และอภิธรรมปิฎก) บัดนี้ล่วงกาลมาถึง ๒,๕๐๐ กว่าปี คำสอนเดิม ขั้นปรมัตถ์ค่อย ๆ หายไป หมดไป เกิดมีคำสอนใหม่ ๆ เป็นพุทธศาสนาเนื้องอกจับใส่พระโอษฐ์ ว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอันมาก ดังนั้นในการศึกษาพระพุทธศาสนาพึงอาศัยหลักดังนี้

– ด้านปริยัติ (ความรู้เนื้อหา) อ่าน ฟัง คิด วิจัย ให้เข้าใจคือให้ปฏิบัติได้จริง หากสงสัย ให้อาศัยหลักกาลามสูตรเข้าพิจารณาตัดสิน มิใช่เชื่อไปเสียหมด
– ด้านปฏิบัติ การปฏิบัติทุกอย่างของพระพุทธศาสนาไม่ว่าการทำทานรักษาศีล ภาวนา พระพุทธองค์ทรงสอนให้ ทำเพื่อ “ละกิเลส” มิใช่เพื่อเอาหวังได้นั่นได้นี่ อันทำให้ยิ่งเพิ่ม โลภะ โทสะ โมหะ หาใช่พุทธศาสนาไม่ ทุกวันนี้ไหว้เพื่อเอา เพื่อขอ ทำบุญเพื่อเอาสวรรค์ นิพพาน หวังผลทั้งชาตินี้ชาติหน้า ซึ่งกลายเป็นพอกกิเลสยาวนาน
– ด้านปฏิเวธ (ผล) ทำเพื่อละ จะพบนิพพาน (จิตบริสุทธิ์ มีความสะอาด สว่าง สงบ) แต่ทำเพื่อเอา จะทำเพื่อเอา จะพบกิเลสในตนพอกพูนยิ่งขึ้น ๆ ยาวนาน และยิ่งมีทุกข์มาก
ดังนั้น จงมุ่งปฏิบัติเพื่อห่างไกลทุกข์โดยส่วนเดียว ให้ได้เห็นผลด้วยตนเอง (สันทิฏฐิโก)

ตอบ : คำตอบในข้อ ๔

เถรี 01-01-2018 19:34

ถาม : ข้อ ๖.จะศึกษาพุทธศาสนาได้ที่ไหน ?
ให้ศึกษาในร่างกายนี้ ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และมิใช่จะต้องศึกษากับพระ และในวัดวาอารามเท่านั้น จึงศึกษาตนเอง อย่ามัวศึกษานอกตัว หรือมัวติดอยู่แค่พิธีกรรม หรือได้แต่ทำตาม ๆ เขาไป จะเสียทีที่ได้มีโอกาสเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ได้ลิ้มรสแค่เปลือกกระพี้ มิได้ชิมรสอันเป็นเนื้อใน อันได้แก่ธรรมรสของความเย็นอกเย็นใจ (นิพพาน)

ตอบ : ศึกษาในศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งปริยัติและปฏิบัติ จนเกิดปฏิเวธ

ถาม : ข้อ ๗. เหตุแห่งทุกข์และการดับทุกข์
เหตุ เกิดจากอุปทาน คือ การเข้าไปยึดถือว่า นี่คือ ตัวตนของเรา นี่ของ ๆ เรา
การดับ โดยละอุปทานเสีย (โดยพยายามปฏิบัติให้ “เห็นอนัตตา”) เถิด จะโดยบังคับจิตเป็นสมาธิ (เจโตวิมุตติ) หรือโดยพิจารณาธรรมด้วยปัญญา (ปัญญาวิมุตติ) ก็ได้

ตอบ : ตัณหา (ความอยาก) เป็นเหตุ จึงเกิดอุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่น)

ถาม : ข้อ ๘. พุทธพจน์ “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”
คำว่า “เห็นธรรม” คือ เห็นปฏิจจสมุปบาท คือ วงจรที่ทุกข์เกิด และดับ โดยเริ่มต้นจากอวิชชา จนเกิดทุกข์

ตอบ : เห็นธรรมที่เข้าสู่มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ไม่ใช่ปฏิจจสมุปบาทอย่างเดียว

เถรี 01-01-2018 19:38

ถาม : ข้อ ๙.จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
คือ นิพพาน (สภาวะจิตที่สงบเย็น) ปราศจากกิเลส เครื่องร้อยรัดทั้งปวง (ชาวบ้านพูดว่า เย็นอก เย็นใจ) หาพบได้ที่ใจตัวเอง

ตอบ : เย็นอกเย็นใจของชาวบ้านระดับไหน ?


ถาม : ข้อ ๑๐. สรุป ความทุกข์เกิดที่จิต พึงรักษาจิตให้เป็นประภัสสรไว้เสมอ ระวังการกระทบ (ผัสสะ) ทางตา หู ฯลฯ ให้ดี มีสติรู้ทันว่า…เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน อย่าให้เวทนา ตัณหา เกิดได้ แล้วท่านจะพบความสงบเย็นตลอดเวลา ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะเห็นผิดเมื่อผัสสะ ความทุกข์จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่เมื่อผัสสะ

ตอบ : กิเลสใหญ่อยู่ที่จิต ต้องระวังภายนอก ขัดเกลาภายในไปพร้อมกัน ไม่ใช่ระวังภายนอกอย่างเดียว


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:27


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว