กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   อักขระและคาถาอาคม (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=9)
-   -   ยันต์ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=277)

วาโยรัตนะ 20-03-2009 17:17

ยันต์
 
ยัญญ์ เป็นภาษาบาลี แปลว่า สิ่งที่มนุษย์ พึงเซ่น สรวงบูชา ให้มีความสุข ความเจริญ
แต่ภาษาไทย เราเปลี่ยนเขียนเป็น ยันต์ ซึ่งหมายถึง ถึงรอยเส้น ที่ขีดขวางไปมาสำหรับลงคาถา
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ตารางหรือลายเส้นเป็นตัวเลข อักขระ หรือ รูปภาพที่เขียน สักหรือ แกะสลักลงบนแผ่นผ้า ผิวหนัง ไม้ โลหะ เป็นต้น ถือว่าเป็นของขลัง เช่น ยันต์ตรีนิสิงเห ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ..เป็นต้น


สัก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๒๕ เขียนว่า สัก คือ การเอาเหล็กแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน ใช้เหล็กแหลมจุ่มหมึกหรือน้ำมันงาผสมว่าน ๑๐๘ ชนิด เป็นต้น แทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระเครื่องหมายหรือลวดลาย ถ้าใช้หมึกเรียกว่า "สักหมึก" ถ้าใช้น้ำมันเรียกว่า"สักน้ำมัน" ทำเครื่องหมายเพื่อแสดงเป็นหลักฐาน เช่น สักข้อมือแสดงว่าขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์หรือมีสังกัดกรมกองแล้ว สักหน้าแสดงว่าเป็นผู้ต้องโทษ เป็นต้น:4672615:

จากคำอธิบายดังกล่าวทำให้รู้ว่า การสักลายหรือลายสักของไทยคืออะไร ประเพณีการสักนั้นมีไม่แพร่หลาย บางหมู่บ้านจะพบว่า ผู้ชายไม่ว่าหนุ่มหรือแก่มักมีลายสักที่หน้าอก และแผ่นหลังตามสมัยนิยม ในขณะที่ผู้ชำนาญในการสักของท้องถิ่นแสดงความสามารถที่สืบทอดมาอย่างเต็มที่ผู้ที่ทำหน้าที่สักมีทั้งพระสงฆ์และคนธรรมดา

การศึกษาค้นคว้าศิลปะชาวบ้านประเภทนี้ ควรจะได้รับการศึกษาบันทึกเกี่ยวกับการออกแบบกรรมวิธีและพิธีกรรม ศึกษาเปรียบเทียบแต่ละกลุ่มชน ศึกษาค่านิยม และความเปลี่ยนแปลง ศึกษาการสักที่สืบทอดมาแต่โบราณ

การสักมีรูปแบบที่แตกต่างกันอยู่ ๒ รูปแบบ คือ ลายสักที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ และลายสักที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ แต่ละรูปแบบจะมีวิวัฒนาการตามแบบฉบับของมัน และแสดงให้เห็นรูปแบบของธรรมเนียมในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในแต่ละแง่แต่ละมุมของลายสักที่สืบทอดกันมาในสังคมไทยในอดีต

การสักที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ นักประวัติศาสตร์ซึ่งคุ้นเคยกับชีวิตแบบไทย ๆ คงจะทราบความจริงว่าข้าราชการของไทยจะทำตำหนิที่ข้อมือคนในบังคับซึ่งเป็นหน้าที่ของแผนกทะเบียนเป็นผู้บันทึกและรวบรวมสถิติชาย และอาจจะเดาได้ว่าการสักเป็นจุดเริ่มต้นของการแบ่งส่วนราชการของไทย หรือการสักเป็นไปตามการแบ่งส่วนราชการ การทำเครื่องหมายลงบนร่างกายนี้อาจมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑)

การสักที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อ วัตถุประสงค์ของการสัก ผู้ชายบางคนจะสักยันต์ด้วยเหตุผลทางเวทมนต์คาถา เพื่อความแข็งแกร่งของจิตใจและต้องการอยู่ยงคงกระพัน ซึ่งเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประเพณีนิยมในชนบางกลุ่ม การสักลักษณะนี้จะสักให้เฉพาะชายฉกรรจ์เท่านั้น

การสักมีลักษณะที่สอดแทรกไว้ด้วยความเชื่อและพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ก่อนทำการสักจะต้องมีการทำพิธีไหว้ครู ในการสักนั้นก็จะประกอบด้วยการร่ายเวทมนต์ โดยอาจารย์สักจะถูผิวหนังของผู้มาสักทั้งก่อน ขณะสักลายหรือสักยันต์ และหลังจากสักเสร็จแล้ว อาจารย์สักแต่ละคนจะมีรูปแบบของลวดลายเป็นของตนเอง และผู้ที่ต้องการจะสักสามารถเลือกลายที่อาจารย์มีอยู่ได้ตามต้องการ ส่วนมากจะเป็นสัตว์ในเทพนิยาย และเป็นอักขระขอมและเลขยันต์ อาจจะสักลายทั้งสามประเภทผสมกัน ดังนั้นลายสักของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

การสักในประเทศไทยอาจจะมีมาแต่โบราณ แต่จะมีมาตั้งแต่สมัยใดนั้นไม่มีหลักฐานชัดเจน การสักยันต์เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันนั้นเชื่อว่ามีมานานแล้วดังปรากฎในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน และวรรณกรรมอื่น ๆ แต่การสักมักมองว่าเป็นเรื่องของนักเลง จึงถูกมองไปในทางลบ ทำให้ศิลปะบนผิวหนังประเภทนี้เกือบจะสูญหายไปจากสังคมไทย

เหตุผลที่การสักยังคงมีอยู่คือ หลาย ๆ คนยังเชื่อว่า การสักจะทำให้มีโชค แคล้วคลาด ปลอดภัย และอยู่ยงคงกระพัน พ้นจากอันตรายต่าง ๆ รูปแบบของการสักแต่ละชนิดจะมีความขลังที่แตกต่างกัน ลายสักหรือยันต์บางชนิดสามารถช่วยผู้ที่สักให้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่ยุ่งยากได้ สัญลัษณ์บางอย่างของลายสักสามารถทำให้ผิวหนังเหนียวได้ ฟันไม่เข้า ศัตรูยิงไม่ออก เชื่อว่าการสักจะช่วยให้รอดพ้นจากสถานการณ์อันเลวร้ายได้ด้วย

นอกจากนี้ การสักทางไสยศาสตร์ยังเชื่อมโยงกับการระวังอันตรายและความปลอดภัย ทำให้แคล้วคลาดต่ออันตรายต่าง ๆ ศิลปะพื้นบ้านประเภทนี้ อาจจะกระตุ้นความรู้สึกให้เกิดศรัทธาความเชื่อมั่น เกิดความมั่นใจ มันอาจเป็นเครื่องแสดงความจริงต่าง ๆ วัฒนธรรมสมัยใหม่นั้นเมื่อมองแล้วอาจจะไม่ทำให้ปลอดภัย ส่วนวัฒนธรรมการสักยันต์จึงช่วยให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย เป็นทางหนึ่งที่ช่วยให้จิตใจเขามีความมั่นใจมั่นคงมากยิ่ง ๆ ขึ้น

การสักยันต์ที่มีลวดลายเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในบรรดาผู้ที่นิยมการสัก คือ ลวดลายสักที่ให้ผลทางไสยศาสตร์ ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ เพื่อผลทางเมตตามหานิยม และเพื่อผลทางคงกระพันชาตรี

เมตตามหานิยม เป็นการสักเพื่อผลทางเมตตามหานิยมมักจะสักเป็นรูปจิ้งจก หรือนกสาริกา เพื่อเป็นตัวแทนของความมีเสน่ห์เป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไป โดยเฉพาะให้ผลดีทางการเจรจา ค้าขายทำให้เจริญรุ่งเรืองทำมาค้าขึ้น หรือเป็นลักษณะตัวอักขระยันต์ เช่น ยันต์ดอกบัว ยันต์ก้นถุง ยันต์โภคทรัพย์ ซึ่งมีผลทางด้านการเงิน เป็นต้น

คงกระพันชาตรี เป็นการสักเพื่อให้แคล้วคลาดจากของมีคม อุบัติเหตุ หรืออันตรายทั้งปวง ลักษณะของลายสักเพื่อผลทางอยู่ยงคงกระพันชาตรีจะนิยมสักลวดลายซึ่งเป็นตัวแทนความดุร้าย ความปราดเปรียว ความสง่างาม ความกล้าหาญ ได้แก่ ลายเสือเผ่น หนุมานคลุกฝุ่น หงส์ และลายสิงห์ เป็นต้น หรือเป็นลายที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันภยันตราย เช่น เก้ายอด ยันต์เกราะเพชร หรือลายยันต์ชนิดต่าง ๆ เป็นต้น

วาโยรัตนะ 20-03-2009 17:33

และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เป็นแก่นแท้ของการสักเพื่อผลทางไสยศาสตร์และถือกันว่าเป็น “หัวใจของการสัก" ก็คือ หัวใจของคาถาที่กำกับลวดลายสักแต่ละลายอยู่ เพราะสิ่งนี้คือเคล็ดลับวิชาคาถาอาคมที่เป็นวิชาชั้นสูงของแต่ละอาจารย์ที่จะไม่เปิดเผยให้แก่ผู้ใดเป็นอันขาด นอกจากลูกศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้รับถ่ายทอดวิชาการสักยันต์ของอาจารย์สืบต่อไป

ลายสักดังกล่าวจะต้องถูกสักอยู่ในตำแหน่งที่ถูกที่ควร ไม่เช่นนั้นความขลังจะไม่เกิด โดยมากผู้มาสักประสงค์จะให้ลายสักอยู่ภายในร่มผ้ามากที่สุด ตำแหน่งที่นิยมสักเรียงตามลำดับดังนี้คือ หลัง หน้าอก คอ ศีรษะ ไหล่ แขน ชายโครง หน้า มือ และหัวเข่าของบุคคลในแวดวงการสักลาย เนื่องจากวัตถุประสงค์ของการสักคือเพื่อผลทางไสยศาสตร์ จึงต้องสักโดยครูอาจารย์ที่มีวิชาอาคมศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะเท่านั้น ฆราวาสหรือบุคคลธรรมดาที่ไม่มีวิชาความรู้ทางด้านนี้จะไม่ได้รับการยอมรับ ครู และอาจารย์ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากบุคคลทั่วไป และความศักดิ์สิทธิ์ของการสักก็มักจะได้รับการทดสอบจนเห็นผลเป็นที่ร่ำลือมาแล้ว

จากคำบอกเล่าของพระอาจารย์ชื่อดังท่านหนึ่งให้ความรู้ว่า ปัจจุบันอาจารย์สักที่ลงคาถาอาคมและมีอานุภาพดังคำร่ำลือ มีไม่เกิน ๑๐ สำนักในเมืองไทย ผลการศึกษาของนักวิชาการระบุออกมาว่า อาจารย์สักส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุ ๕๐ ปีขึ้นไป มีประสบการณ์มากกว่า ๒๐ ปี อาจารย์สักถ้าเป็นผู้หญิงจะไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เช่นเดียวกับผู้ที่มารับการสักโดยมากจะเป็นผู้ชาย จะเป็นผู้หญิงก็เป็นส่วนน้อย ซึ่งมักจะมาสักเพียงเพื่อต้องการจะดึงดูดเพศตรงข้าม หรือต้องการจะมีเสน่ห์ในการพูดจาเพื่อค้าขายได้คล่อง

ฉะนั้น...ลายสักนะหน้าทอง และสาริกาลิ้นทอง จึงเป็นลายสักที่นิยมในเพศหญิง ตรงกันข้ามกับฝ่ายชายที่มีความกระหายอยากจะได้ของดีติดตัว คือ เหตุผลที่มาเป็นอันดับหนึ่ง ความศรัทธาเชื่อมั่นในครูอาจารย์และเพื่อนฝูงญาติพี่น้องชักชวนให้มาสัก เป็นเหตุผลที่รองลงมาแต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ชายหรือหญิงคนนั้นจะต้องมีใจรักและเชื่อมั่นในเรื่องนี้อย่างเหนียวแน่น เท่าที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับการสักครั้งแรกไปแล้วก็มักจะกลับมาสักอีกครั้งเป็นอย่างน้อย บางคนอาจถึง ๑๐ ครั้งขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกวันนี้จะมีผู้เชื่อมั่นและศรัทธาในการสักอยู่ แต่ก็นับว่าลดลงไปมากเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา และนับวันข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับลายสักจะสืบค้นได้ยากยิ่งขึ้น เป็นเพราะขาดผู้รู้ผู้ชำนาญ อาจารย์บางท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ค่อยถ่ายทอดวิชาให้แก่ศิษย์ ทำให้นับวันผู้ที่รู้วิชานี้ยิ่งลดน้อยลงทุกที อีกทั้งสังคมปัจจุบันไม่ค่อยยอมรับคนที่มีลายสักโดยดุษฎีเช่นแต่ก่อนอีกแล้ว ในทางกลับกันทัศนคติของคนไทยในวันนี้กลับมองว่าคนที่มีรอยสักเป็นผู้ที่มีการศึกษาน้อย เป็นผู้มีอาชีพใช้แรงงาน เป็นนักเลงหัวไม้ หรือเข้าใจหนักลงไปอีกว่า คนที่สักลายคือ พวกขี้คุกขี้ตารางที่มีลายสักซึ่งสักกันเองภายในเรือนจำ ประกอบกับการสักเป็นอุปสรรคในการรับราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การสักไม่ได้รับความสนใจเหมือนในอดีต คือชาวเมืองและรวมถึงผู้คนทั่วไปมองว่า ผู้ที่มีลายสักเป็นคนชั้นต่ำ เป็นนักเลง ความคิดเช่นนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตกที่มองผู้ที่มีลายสักว่าส่วนใหญ่มักเป็นกะลาสีขี้เมา หรือคนจรจัด คนเมืองจึงเกิดความรู้สึกว่าลายสักเป็นวัฒนธรรมของคนบ้านนอก คนไม่มีการศึกษา

ทัศนคติเช่นนี้มิได้มีแต่คนกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่แพร่ไปสู่เมืองอื่น ๆ ด้วย โดยคิดว่าการสักลายเป็นเรื่องของคนจน กรรมกร และคนบ้านนอก ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องลายสัก จึงกระทำได้ยากในปัจจุบัน เพราะคนที่มีลายสักมักจะปกปิดลายสักไว้อย่างมิดชิด ผู้ที่จะให้ข้อมูลและเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการสักจะเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อในอำนาจของศิลปะโบราณนี้เท่านั้น

ความเสื่อมอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ได้รับการสักปฏิบัติตนไม่เหมาะสมใช้ผลของการสักทางไสยศาสตร์หรือการอยู่ยงคงกระพันชาตรีไปในทางที่ผิด เช่น โอ้อวด ท้าทาย ประลองต่อสู้กับผู้อื่น ทำตนเป็นมิจฉาชีพ ก่ออาชญากรรม ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ค่านิยมของคนที่มีต่อลายสักเป็นไปในทางลบยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ที่มีลายสักจำนวนไม่น้อยที่อยากจะลบรอยสักนั้นทิ้งเสีย อาจด้วยความรู้สึกว่าเมื่ออายุมากขึ้นลายสักบนผิวหนังกายทำให้แลดูสกปรกเลอะเทอะ หรือทำให้คนตั้งข้อรังเกียจไม่อยากเข้าใกล้ เป็นต้น ในบางรายก็ค้นพบด้วยตนเองว่าการสักไม่ได้ให้ผลทางไสยศาสตร์แก่ตนแต่อย่างใด เพราะความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันทำให้ไม่สามารถยึดถือปฏิบัติสัจจะที่ให้ไว้อย่างเคร่งครัดได้ ทว่า การลบรอยสักนั้นเป็นไปได้ยากมากเพราะหมึกที่ใช้สักถูกฝังลึกเข้าไปถึงชั้นของหนังแท้ ถ้าลบออกจะทำให้เกิดแผลเน่าน่าเกลียด แต่ก็อาจทำได้โดยกรรมวิธีศัลยกรรมตกแต่ง คือ ลอกผิวหนังตรงที่มีรอยสักทิ้งไป แล้วเอาผิวหนังส่วนอื่นของร่างกายปะไว้แทน แต่ก็จะเป็นรอยแผลเป็นอยู่ดี ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าการที่จะลบรอยสักโดยไม่ให้เหลือร่องรอยปรากฎอยู่เลยนั้น…ทำไม่ได้

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนจำนวนหนึ่งหันไปใช้วิธีสักด้วยน้ำมันแทนการสักด้วยน้ำหมึก เพื่อจะได้มองไม่เห็นลวดลาย และตัดปัญหาเรื่องการลบรอยสักออกภายหลังเมื่อไม่ต้องการ การสักในลักษณะนี้จึงทำให้ลวดลายที่สวยงามวิจิตรบรรจงและสื่อความหมายในรูปแบบต่าง ๆ ที่นิยมกันมาตั้งแต่ดั้งเดิมสูญหายไปทีละน้อย

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้ความคิดความเชื่อหลาย ๆ อย่างเสื่อมถอยไป แต่ลายสักก็ยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของบุคคลหลายกลุ่มแต่จะยึดยาวนานไปสักเท่าใดนั้น ต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

วาโยรัตนะ 20-03-2009 17:40

การจำแนกลักษณะยันต์
หน้านี้ว่าด้วยเรื่องยันต์แบบต่าง ๆ ตามความเชื่อของปรมาจารย์ เส้นที่ขีดลากไปมานอกยันต์นั้น หมายถึง "สายรกของพระพุทธเจ้า" ส่วนเส้นที่อยู่ภายในยันต์ เรียกว่า "กระดูกยันต์" ยันต์มีหลายแบบต่าง ๆ กันไป เช่น ยันต์แบบกลม ยันต์สามเหลี่ยม ยันต์สี่เหลี่ยม ยันต์รูปภาพ ส่วนความหมายของยันต์แต่ละแบบมีดังนี้

ยันต์กลม มีความหมายว่าเป็นพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ทางศาสนาพราหมณ์ หมายถึงพระพักตร์ของพระพรหม

ยันต์สามเหลี่ยม มีความหมายว่าเป็นพระรัตนตรัย หรือภพทั้งสาม ส่วนทางศาสนาพราหมณ์ให้ความหมายว่าเป็นพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ของพราหมณ์ คือ พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์

ยันต์สี่เหลี่ยม มีความหมายว่าเป็นทวีปทั้งสี่ หรือธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ

ยันต์รูปภาพ มีทั้งรูปภาพ เทวดา มนุษย์ และสัตว์ต่าง ๆ ส่วนความหมายก็อยู่ในตัวของรูปภาพนั้นๆ เช่น

....รูป สักยันต์หรือสักคาถา ความเชื่อ อยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย นิยมในกลุ่มนักรบชายไทย สมัยอดีตนับร้อยปี ปัจจุบันยังมีชายไทยและ ต่างชาตินิยมสักยันต์คาถาอยู่บ้าง ตามความเชื่อของแต่ละคน
....รูป หนุมาน ความเชื่อ มีพลังอำนาจมหาศาล ฟันแทงไม่เข้า อยู่ยงคงกระพัน เป็นลายสักที่นิยมมากในหมู่ชาวตะวันตก
....รูป เสือ ความเชื่อ มีอำนาจ ยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม มีพละกำลังคงทนต่อศาสตราวุธ
....รูป มังกร ความเชื่อ นิยมในกลุ่มคนเชื้อสายจีน เชื่อว่ามังกรเป็นสัญลักษณ์แห่งโชคลาภของชาวจีน การสืบตระกูลของคนจีน
....รูป ลิงลม ความเชื่อ ว่องไว เฉลียวฉลาดดุจพญาวานร

ประเภทรูปลักษณ์อักขระยันต์ที่มักได้รับความนิยมในการสัก

ให้คุณทางด้านโชคลาภ เงินทอง ค้าขาย เช่น ยันต์จินดามณี, ยันต์พระพิฆเนศวรปางนั่งบัลลังก์, ยันต์สายสังวาลย์ เป็นต้น

ให้คุณทางด้านอำนาจ บารมี เช่น ยันต์ธงมหาราช, ยันต์ราชสีห์, ยันต์หนุมานอมเมือง, ยันต์พระราหู, ยันต์แม่ทัพ, ยันต์พญาหงษ์ เป็นต้น

ให้คุณทางด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ปลอดภัย เช่น ยันต์หนุมานออกศึก, ยันต์ดำดื้อ, ยันต์แดงดื้อ, ยันต์เสือเผ่น
, ยันต์เกราะเพชร, ยันต์ลิงลม, ยันต์เก้ายอด เป็นต้น

ให้คุณครอบคลุมทุกด้าน เช่น ยันต์หอมเชียง(พระพุทธ ๑๐๘ องค์), ยันต์มงกุฏพระพุทธเจ้า(หมวกเหล็ก), ยันต์องค์พระพุทธ, ยันต์ไตรสรณาคมน์, ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์, ยันต์พระเจ้าสิบหกพระองค์, ยันต์พ่อแก่ฤาษี, ยันต์แปดทิศ, ยันต์หัวใจต่าง ๆ, ยันต์เทพคุ้มครอง เป็นต้น


วาโยรัตนะ 20-03-2009 17:51

รายชื่อยันต์ ความหมายและความเชื่อ

ยันต์รัตนตรัย ชนะศัตรู, เมตตามหานิยม
ยันต์พุทธคุณ คุ้มกันสารพัดภัย แคล้วคลาดจากอันตราย
ยันต์กันสะกด กันอันตรายจากขโมย
ยันต์มหาศิริมงคล เป็นมงคลยิ่งนักและคุ้มภัยอันตรายทั้งปวง
ยันต์ยอดมงกุฎ แคล้วคลาดจากอันตรายทั้งปวง
ยันต์บารมีพระพุทธเจ้า กันภูตผี ปีศาจ ป้องกันอันตรายทั้งปวง
ยันต์มหาสาวัง กันและแก้สารพัดโรคภัยและอันตราย
ยันต์เมตตามหานิยม เป็นเมตตามหานิยม เป็นเสน่ห์ทำให้คนรัก
ยันต์มหาอุด คงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม
ยันต์ห้ายอด คุ้มกันภัยและอันตรายทั้งปวง
ยันต์การะเวก ใช้ในทางเมตตามหานิยม เป็นเสน่ห์วิเศษดียิ่งนัก เวลาเข้าไปหาใครก็ตาม เช่น ไปสมัครงานนัดสัมภาษณ์ นักร้อง นักแสดง นักเทศน์ วิเศษยิ่งนัก


ยันต์ตะกรุดมหาระงับ เป็นยันต์นะจังงัง ยิง ฟัน แทงไม่เข้า
ยันต์ตะกรุดโทน กันอันตรายจากอาวุธทุกชนิด
ยันต์อาวุธทั้ง ๔ กันสารพัดภูตผีปีศาจ ถอนแก้คุณไสยทุกอย่าง
ยันต์โภคทรัพย์ ใส่ไว้ในกระเป๋าเงิน ทำให้เงินพอกพูนเพิ่มขึ้น
ยันต์พญาหงส์ทอง เมตตามหานิยม เป็นเสน่ห์ ทำให้ทุกคนรัก
ยันต์พญาราชสีห์ คนเกรงขาม เป็นตบะเดชะ มีอำนาจ
ยันต์พญาเสือ คนเกรงขาม เดินป่าป้องกันสัตว์ร้าย

ยันต์พญาหนุมาน อยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม
ยันต์ท้าวเวสสุวรรณ กันภูตผีปีศาจทุกชนิด กันและแก้คุณไสย
ยันต์นางกวัก สำหรับค้าขายให้มีกำไรดี ร่ำรวยเงินทอง
ยันต์พระเจ้าเปล่งรัศมี ไปไหนนำติดตัวไปด้วยทำให้คนรักใคร่
ยันต์ลายจิ้งจกคาบถุงเงินถุงทอง ลายสักนี้เหมาะกับพวกพ่อค้าที่จะช่วย เสริมธุรกิจทำมาค้าคล่อง
ยันต์ลายหนุมานตัวเก้า เหมาะสำหรับอาชีพ ราชการ ตำรวจ หรือองครักษ์เพื่อส่งเสริมให้การงานเจริญก้าวหน้า
ยันต์หนุนดวง หรือ ยันต์โภคทรัพย์ ๕ แถว เป็นอักขระขอมโบราณ ๕ แถว ความยาว ๗ นิ้ว กว้าง ๒ นิ้วครึ่ง
.... โดยแถวแรกเป็นคาถาเมตตามหานิยม
.... แถวที่ ๒ เป็นคาถาหนุนดวงชะตา
.... แถวที่ ๓ เป็นคาถาแห่งความสำเร็จ
.... แถวที่ ๔ เป็นคาถาราศีประจำตัว
.... และแถวที่ ๕ เป็นคาถามหาเสน่ห์
.... และแต่ละแถวจะมีพระปิดตา ช่วยเปิดช่องทางในการทำธุรกิจ คอยหนุนเรื่องการค้าให้ก้าวหน้า มั่นคงยิ่งขึ้น
.... ถ้าคนดวงไม่ดี การสักต้องสักเป็นยันต์หนุนดวง หรือ ยันต์โภคทรัพย์ ๕ แถว เพราะถือว่าเป็นยันต์คุณพระ ที่มีพลังอานุภาพครอบคลุมทุกด้าน และสามารถที่จะเกื้อหนุนดวงที่ตกต่ำให้โดดเด่นขึ้นมาได้


ยันต์พุฒซ้อน หรือ ยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์ เป็นยันต์ที่โด่งดังมากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นมหายันต์สูงสุดกว่ายันต์ทั้งปวง อุปเท่ห์ใช้ได้ สารพัดประโยชน์ โดยเฉพาะยันต์พุฒซ้อนได้นำมาใช้ในการลงนะหน้าทอง เมตตามหานิยม โชคลาภ ทำให้ผู้ใหญ่เมตตา ต้องการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เป็นมหาเสน่ห์รุนแรง

ยันต์หนุมานทรงฤทธิ์
(ลิงขาวผู้วิเศษ) ในเรื่องรามเกียรติ์ของอินเดีย หนุมานมีความเป็นอมตะ(ไม่ตาย) ต่อสู้เก่งมาก และโชคดีเรื่องความรัก หากท่านต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต การป้องกันศาสตราวุธ และโชคดีสุด ๆ ในด้านความรัก คุณควรเลือกลายสักนี้!

ยันต์ชูชก ชายแก่ที่แบกถุงเงินบนบ่า ชื่อเขาคือชูชก เริ่มแรกเขาเป็นขอทาน ต่อมาเขากลายเป็นเศรษฐี ลายสักนี้ดีต่อการค้าและทุกท่านที่ต้องการความร่ำรวย

ยันต์คาถาจินดามณี ในสมัยโบราณ พระสังข์ใช้เรียกเนื้อ, เรียกปลา (เกี่ยวกับการเงิน) ในปัจจุบันคู่แข่งขันทางธุรกิจมีมากมาย อ.เสือ จึงใช้ยันต์นี้ลงแผ่นหลังเพื่อช่วยผู้ที่มีปัญหาทางด้านการ เงินโดยเฉพาะ คุณเชื่อหรือไม่ยันต์จินดามณีสามารถทำให้คุณเงินไหลเข้าไม่หยุด จะนิยมมากในหมู่ คนที่ทำธุรกิจค้าขาย

ยันต์ไตรเพท หรือ ไตรวัฏฏ์, ไตรวัฏ ไตรเพท พระเวท ๗ อย่าง ซึ่งเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ได้แก่
๑. ฤคเวท ประมวลบทสวดสรรเสริญเทพเจ้า
๒. ยชุรเวท ประกอบด้วยบทสวดอ้อนวอนในพิธีบูชายัญ ต่าง ๆ
๓. สามเวท ประมวลบทเพลงขับ สำหรับสวดหรือร้องเป็นทำนองในพิธีบูชายัญ ต่อมาเพิ่มอถรรพเวท หรืออาถรรพณเวท อันว่าด้วยคาถาอาคมทางไสยศาสตร์เข้ามาอีกเป็น ๔

อันนี้กระผมจะหาข้อมูลให้ทุกท่านได้ศึกษากันต่อไปครับ

วาโยรัตนะ 20-03-2009 17:54

ความหมาย ของตัวเลขในยันต์

เลข หมายถึง คุณแห่งพระนิพพาน อันยิ่งใหญ่
เลข หมายถึง คุณแห่งพุทโธ
เลข หมายถึง คุณแห่งแก้ว ๓ ประการ (พระรัตนตรัย) และ อีกความหมาย คือพระไตรปิฎก
เลข หมายถึง คุณแห่งมรรค ๔ ผล ๔ หมายถึงคุณแห่งพระโลกบาลทั้ง ๔ หมายถึงพระพรหมวิหาร ๔ และ หมายถึง พระฤๅษีกัสสปะ
เลข หมายถึง คุณแห่งศีล ๕
เลข หมายถึง คุณแห่งไฟหรือ พระเพลิง หมายถึง คุณแห่งพระอาทิตย์
เลข หมายถึง คุณแห่งลม หรือ พระพาย
เลข หมายถึง คุณแห่งพระกรรมฐาน หมายถึงคุณ แห่งศีล ๘ และ หมายถึงคุณแห่งพระอังคาร
เลข หมายถึง คุณแห่งมรรค ๔ ผล ๔ พระนิพาน ๑ และ หมายถึงคุรแห่งพระเกตุ
เลข ๑๐ หมายถึง คุณแห่งครูบาอาจารย์,หมายถึงคุณแห่งอากาศ,หมายถึงคุณแห่งศีล ๑๐ และ หมายถึงคุณแห่งพระเสาร์ ๓๐ ทัศ
เลข ๑๒ หมายถึง คุณแห่งมารดา คุณแห่งพระคงคา,หมายถึงคุณแห่งพระราหู
เลข ๑๔ หมายถึง คุณแห่งพระสังฆเจ้า
เลข ๑๕ หมายถึง คุณแห่งพระจันทร์
เลข ๑๗ หมายถึง คุณแห่งพระพุธ
เลข ๑๙ หมายถึง คุณแห่งพระพฤหัสบดี
เลข ๒๐ หมายถึง คุณแห่งพระเสาร์กำลังสอง
เลข ๒๑ หมายถึง คุณแห่งบิดา,หมายถึงคุณแห่งพระธรณี,หมายถึงคุณแห่งพระศุกร์
เลข ๓๓ หมายถึง คุณแห่งอักขระ
เลข ๓๘ หมายถึง คุณแห่งพระธรรมเจ้า
เลข ๓๙ หมายถึง คุณแห่งพระแม่โพสพ หรือ ขวัญข้าว
เลข ๔๑ หมายถึง คุณแห่งอักษร หรือ อักขระ
เลข ๕๖ หมายถึง คุณแห่งพระพุทธเจ้า
เลข ๒๒๗ หมายถึง คุณแห่งศีล ๒๒๗

ยังไม่จบจ้ะ

วาโยรัตนะ 23-03-2009 08:33

การสักยันต์ มีมาแต่ในสมัยโบราณ์กาลแล้ว สมัยก่อนมีการสักยันต์สองประเภท คือ สักยันต์สำหรับพวกเล่นวิชา สักยันต์อีกแบบหนึ่งเรียกว่านักโทษ หรือ ทาส ในที่นี้จะกล่าวถึงการสักยันต์ที่เรียกว่านักโทษก่อน
สักยันต์ ที่เรียกว่านักโทษ หรือ ทาส นั้นในสมัยก่อนไม่มีกระดาษหรืออะไรที่แสดงว่าบุคคลที่ต้องอาญาหรือเป็นทาสแสดงได้ เขาจึงใช้การสักที่หน้าผาก โดยมีสัญญาลักษณ์ แต่ละแบบไม่เหมือนกัน เพื่อป้องกันการหลบหนี และทานคนนั้นขึ้นกับเจ้าขุนมูลนายท่านใด มองที่หน้าก็จะรู้ทันที

สักยันต์ แบบผู้เล่นวิชา มีมาแต่สมัยโบราณ์ผู้ที่สักหรือผู้ที่เล่นวิชาจะถือวิชาอย่างเคร่งครัดไม่ยอมผิดครูใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะกลัวว่าวิชาจะไม่กล้าแกร่งอย่างเต็มที่

สักยันต์นั้นมีมาแต่ในสมัยก่อนยุคกรุงสุโขทัย แต่เท่าที่เห็นได้ชัดมาปรากฏในยุคของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพราะเป็นช่วงของการเสียเมือง บรรดาททหาร ประชาชน ต่างต้องหาของดีไว้ป้องกันตัว แม้แต่พระองค์ท่านซึ่งไม่มีประวัติในการสักก็จริง แต่มีในส่วนของสมเด็จพระสังฆราชคือ สมเด็จพระวันรัตน์ วัดป่าแก้วเป็นผู้ที่ดูฤกษ์ชัย ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในยุคนั้น ไม่ว่า การบรรจุดวงพิชัยสงคราม การดูฤกษ์ออกรบ การปล้นค่าย รวมทั้งการทำพิธีอันศักสิทธิ์ทั้งหลายเพื่อให้ได้ชัยชนะอีกทั้งการทำดวงพิชัยสงคราม ในการหนุนดวงที่มีมาจนถึงปัจจุบันนี้

สักยันต์จะมาปรากฏให้เห็นเด่นชันในยุคปลายเสียกรุงศรีอยุธยา คือยุคบางระจัน ที่ชาวบ้านบางระจันป้องกันหมู่บ้านของตนเอง โดยมีพระอาจารย์ธรรมโชติ เป็นฝ่ายสงฆ์ ท่านเป็นพระผู้ให้และเสียสละ ทุกครั้งที่มีการต่อสู้กับพม่าท่านจะให้ศีลให้พร รวมทั้งการแจก ผ้ายันต์ ตระกรุด พิสมร ให้กับชาวบ้านไม่ว่าระดับเล็กหรือระดับใหญ่ และชาวบ้านส่วนมากก็มีการสักยันต์ การลงน้ำมันทาตัว เพื่อให้เหนียวและอยู่ยงคงกระพัน จนเป็นที่แปลกใจของบรรดาแม่ทัพพม่า ว่าชาวบ้านเพียงเล็กน้อย สามารถจะสู้กับกองทัพใหญ่ของพม่าได้

สักยันต์ ยุคของกรุงรัตน์โกสินทร์ ปรากฏในสมัยของเชื้อพระวงค์คือ กรมหลวงชุมพร หรือ ที่เรียกว่าเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพร ท่านเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านเรียนวิชา โหรศาสตร์ วิชาพระเวทย์ วิชาหมอยา เรียกได้ว่าเป็นผู้แกร่งกล้าอาคมเลยทีเดียว สามารถที่จะใช้วิชา เป่า เสก มนต์ต่าง ๆได้สมความประสงค์ เช่น เสกใบไม้เป็นต่อ เสกคนเป็นจระเข้ อีกทั้งการแก้ไขดวงชะตาตามพิธีกรรมเก่าแก่

มาในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปไม่ว่าการปกครอง ทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้วิชาการสักยันต์ได้หายสาบสูญไปเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ เช่น หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ หลวงพ่อแล วัดทรงบน หลวงพ่อไสว วัดปรีดาราม หลวงพ่อประเทือง จังหวัดเพชรบูรณ์ รวมทั่งอาจารย์ฆราวาส คือ อาจารย์ฟ้องดีสว่าง อาจารย์ทอง อาจารย์หลุน ขุนพันธ์ อาจารย์เฮงไพรวัลย์ อาจารย์ฮะ ซึ่งท่านเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นระดับผู้มีวิชา ถือย่างเคร่งครัด
การสักยันต์ ในที่นี้จะขอกล่าวประเภทของการสักยันต์มีสองประเภท
๑. สักยันต์แบบน้ำมัน
๒. สักยันต์แบบหมึก


๑. สักยันต์ แบบน้ำมัน เป็นการสักยันต์ที่ไม่ปรากฏภาพให้เห็น วัตถุที่ประกอบในการสักน้ำมันมี

๑.๑ น้ำมันสัก อาจารย์ส่วนใหญ่ท่านจะใช้น้ำมันงา เพราะเข้าร่างกายไม่เป็นอะไร

๑.๒ ว่านที่ใช้ผสมกับน้ำมันงา อยู่แต่ละประเภทของยันต์ หรือภาพยันต์ แต่การนำว่านที่มาผสมสักนั้นมิใช่ว่าจะซื้อมาก็ทำได้เลย ต้องมีพิธีกรรม โดยเมื่อได้หัวว่านมาแล้ว มีการหาฤกษ์ยามในการปลูก ถ้าคงกระพันใช้วันที่แข็ง ถ้าว่านทางเมตตาใช้วันอ่อน ระหว่างที่ปลูกต้องมีมนตร์คาถาปลูก และการรดน้ำว่านก็มีคาถากำกับเสมอ และในตอนสุดท้ายการขุดต้องหาวันขุดว่านด้วย ถึงจะได้สำฤทธิ์ผลของว่าน มิใช่ซื้อว่านมาก็ผสมได้ทันทีแบบในยุคปัจจุบันนี้ที่อาจารย์หลายท่านได้ทำกัน

การสักน้ำมันแบ่งเป็นสองประเภท

ก. สักทางด้านคงกระพัน แคล้วคลาด หนังเหนียว การสักยันต์ หรือภาพประเภทนี้ มี ยันต์มหาอุด ยันต์หนุมาน ยันต์ตะกร้อ ยันต์ปัดทมึน ยันต์เสือ ยันต์ลิงลม ยันต์พญาลิง แต่ละยันต์เหล่านี้ก็ใช้ว่านทางคงกระพันทั้งสิ้น ว่านที่นำมาส่วนใหญ่คือว่านสบู่เลือด ว่านผู้เฒ่าหนังแห้ง ว่านลิงดำ ว่านตะบะฤาษี ฯลฯ ข้อเสียของการใช้ว่านเหล่านี้คือ ถ้าปลูกไม่ตรงวัน หรือ การปลุกไม่ถูกต้อง อีกทั้งบางอาจารย์ซึ้อมาแล้วผสมทันที ก็อยู่ได้เพียงชั่วเบาเท่านั้น อีกทั้งมีข้อถืออยู่ด้วยเพราะจะเป็นการล้างว่านไปในตัวคือ ห้ามกินฟัก กินบวก กินแฟง ห้ามรอดกระไดหัวเดียว ห้ามลอดของต่ำ ก็เหมือนกับการกินยาจีนละครับ

และข้อเสียของทางด้านคงกระพันอีกอย่างคือใจร้อน ทำอะไรไม่ค่อยคิด ใครพูดผิดหูก็จะมีอารมณ์ร้อนทันที เป็นเหตุให้เสียงานเสียการเป็นอย่างมาก บางรายถึงขึ้นติดคุกไปก็มีมากแล้ว

ข. สักทางด้านเมตตา ส่วนใหญ่จะเน้นทางด้านค้าขาย เน้นเรื่องชายหญิง ให้เกิดความรัก เน้นเสน่ห์ ยันต์ส่วนมากที่ลงคือ ยันต์สาริกา ยันต์หงษ์ทอง ยันต์ไก่ฟ้า ยันต์ไก่ป่าหากิน ยันต์จิ้งจก ฯลฯ ว่านที่ใช้ประกอบ คือว่านสาวหลง ว่านจังงัง ว่านเสน่ห์จันทร์ ว่านดอกทอง ว่านเพชรหึง ฯลฯ ว่านทางเมตตา จะไม่มีการถือมาก เพราะว่านส่วนใหญ่ไม่เน้นคงกระพันหรือเหนียว

ข้อเสียทางด้านเมตตานั้นคงหายากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากการสักน้ำมันก็ไม่ใครเห็น อีกอย่างความใจร้อนก็ไม่เกิดเพราะเป็นเมตตา

๒. การสักยันต์แบบหมึก การสักสันต์แบบหมึกนี้ จะปรากฏเป็นภาพสีขึ้นมา โดยปกติการใช้หมึกนั้นส่วนใหญ่จะหมึกจีนเป็นหลักแต่ปัจจุบันนี้ได้มีหมึกเข้ามาในประเทศอย่างมาก บางอาจารย์ก็ใช้หมึกของต่างประเทศเพื่อให้ดูสวยงาม บางอาจารย์ใช้หมึกสีแดง สีเขียวเข้ามาประกอบด้วย เพื่อพัฒนาลวดลายของสำนักตนเอง แต่ที่ตามโบราณยึดถือกันมาเก่าแก่ คือหมึกจีนมากกว่า

วาโยรัตนะ 23-03-2009 08:48

ภาพของ ยันต์รูปแบบต่างๆ

http://www.mahamodo.com/modo/cabalis...iting_menu.asp

และ สามารถพิมพ์ มาพิจารณาได้ครับ จากลิงค์ด้านล่างนี้ครับ

http://www.thaiorc.com/astrology/yaun.php

:4672615:ปล. อ้างอิงมาเพื่อประกอบการค้นคว้าและทำความเข้าใจครับ

เถรี 23-03-2009 10:07

เถรีเคยเห็นเขาสักยันต์ก็ครั้งที่ไปกราบหลวงพ่อองอาจ ที่วัดศรีเอี่ยม
พอดีวันนั้นมีผู้หญิงโดนผีเข้ามาให้ท่านรักษา หลวงพ่อองอาจเลยให้เถรีช่วยจับตัวผู้หญิงคนนั้น แล้วท่านก็สักยันต์ข้างหลังและรดน้ำมนต์ให้เธอ ตอนสักยันต์นี่เลือดไหลซิบ ๆ เลย :msn_smilies-15: แฮ่ ๆ นี่ถ้าเหล็กที่หลวงพ่อเอาจิ้ม ๆ หลัง มันไม่ยาวและแหลม หนูก็คงขอสักด้วยคน
:154218d4:

วาโยรัตนะ 30-03-2009 08:52

มีท่านสมาชิกขอข้อมูล อ.หลุน ตอนนี้กำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมให้อยู่ครับ ผม ครูบาอาจารย์สายฆราวาสบางท่านก็ไม่มีข้อมูลมากนักครับ นอนจากจะเป็นที่รู้จักในแวดวงจำกัดในคณะลูกศิษย์ลูกหาครับ

วาโยรัตนะ 30-03-2009 18:38

เรามาดูกันต่อไปครับ ในเรื่อง หัวใจพระคาถา ๑๐๘

พระคาถายอดหัวใจ ๑๐๘ คือ นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ จะภะกะสะ หัวใจทั้ง ๑๐๘ นี้ สำหรับใช้ปลุกเสกได้สารพัดแล ทั้งทางอยู่คง ทางเมตตา ตามแต่จะปลุกเถิด หรือจะใช้ลงลูกประคำ ๑๐๘ ก็ได้ เป็นหัวใจต่าง ๆ แล้วภาวนาดังนี้

๑.หัวใจพระธรรม ๗ คัมภีร์ คือ สังวิธาปุกะยะปะ

๒.หัวใจพระสูตร คือ ทีมะสังอังขุ

๓.หัวใจพระวินัย คือ อาปามะจุปะ

๔.หัวใจสัตตะโพชฌงค์ คือ สะธะวิปิปะสะอุ

๕.หัวใจพระรัตนตรัย คือ อิสะวาสุ

๖.หัวใจพาหุง คือ พามานาอุกะสะนะทุ

๗.หัวใจพระพุทธเจ้า คือ อิกะวิติ

๘.หัวใจปฏิสังขาโย คือ จิปิเสคิ

๙.หัวใจพระไตรปิฎก คือ สะระณะมะ

๑๐.หัวใจยอดศีล คือ พุทธะสังมิ

๑๑.หัวใจธรรมบท (เปรต) คือ ทุสะนะโส

๑๒.หัวใจปถมัง คือ ทุสะมะนิ

๑๓.หัวใจอิธะเจ คือ อิทะคะมะ

๑๔.หัวใจตรีนิสิงเห คือ สะชะฏะตรี

๑๕.หัวใจสนธิ คือ งะญะนะมะ

คนเก่า 15-05-2009 10:06

สักยันต์นี่ ศัพท์นักเลงเขาเรียกว่าลงของ
สมัยรุ่น ๆ เคยเอากับเขาเหมือนกัน แต่เป็น
แบบสักน้ำมันเพื่อจะได้ไม่เป็นรอยหมึกถาวร
แต่ถึงกระนั้นการอักเสบจากทุกฝีเข็มยังทำให้
เกิดรอยนูนเป็นรูปและอักขระที่สักให้เห็นได้เป็นปี

นวศรี 29-05-2009 15:21

http://www.postimage.org/aVMCg7i.jpg

ยันต์ท้าวมหาชมภู


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:01


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว