กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1083)

ป้านุช 17-09-2009 15:00

ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น
 
คำสอนสมเด็จองค์ปฐม
เวทนา


จงทำจิตให้ยอมรับเวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ว่าเป็นของธรรมดา แล้วพยายามลดการยึดเกาะในเวทนานั้น
ด้วยการระงับอาการของสังขาร คือ ไม่ปรุงแต่งธรรมนั้น ๆ นี้คือสัจธรรมของการมีร่างกาย
เมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีเจ็บ มีแก่ มีตายเป็นธรรมดา

จงวางอารมณ์ให้สงบ ยอมรับธรรมที่ยังต้องปรุงแต่งนี้ เพราะเป็นสิ่งที่หลีกหนีกันไม่พ้น

เมื่อมีการเกิดของร่างกายแล้ว
จงกำหนดรู้เอาไว้ว่า เป็นทุกข์ของการมีร่างกายอยู่เนือง ๆ พยายามทำจิตให้ยอมรับนับถือกฏของธรรมดา
แยกจิตออกมาอย่าให้ทุกข์ตามไปด้วย พยายามทรงอารมณ์จิตไว้ให้เป็นสังขารุเบกขาญาณ

แม้จักเป็นอ่อน ๆ ก็ควรจักพยายามซักซ้อมกันเอาไว้ อย่าให้จิตมีอารมณ์บ่น แม้แต่ในใจก็ใช้ไม่ได้
เพราะนั่นคือการเกิดอารมณ์ปฏิฆะ
และเป็นการคัดค้านสัจธรรมที่ฝืนความเป็นจริงของร่างกาย

ตั้งแต่นี้ต่อไปอาการสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาอันสืบเนื่องมาจากร่างกาย
จักเป็นครู เข้ามาทดสอบจิตของเจ้าอยู่เนือง ๆ ขอให้เตรียมใจสอบกันให้ดี ๆ


ถ้าลงธรรมดาไม่ได้ก็ถือว่าไม่ผ่านข้อสอบ ดูอารมณ์กระทบให้ดี ๆ
จักพอใจหรือไม่พอใจก็ใช้ไม่ได้ ต้องลงอุเบกขาญาณเข้าไว้ อาการสุขหรือทุกขเวทนานี้
ต้องนับเนื่องไปหมดทางอายตนะ ๖ ขอให้ดูอารมณ์ของจิตเข้าไว้ให้ดี ๆ


อนึ่ง การทบทวนธรรม (ธัมมวิจัย) ก็จงทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
และให้สังเกตอารมณ์ของจิตนั้นว่าเคลื่อนไหวไปได้อย่างไรบ้าง



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 18-09-2009 16:59

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

กายทำงานทางโลก แต่จิตทำงานทางธรรม


ขอให้มั่นใจในธรรมที่ปฏิบัติอยู่ เดินมรรคด้วยจิตอย่างไม่หยุดยั้ง ร่างกายจักทำอะไรอยู่ก็ตาม
จงกำหนดจิตให้อยู่ในอารมณ์พระกรรมฐานตลอดเวลา จักเป็นสมถะหรือวิปัสสนาก็ได้


จงกำหนดรู้อยู่ให้เกิดความเคยชินอยู่เสมอ
เผลอบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง มันก็ต้องมีอยู่เป็นของธรรมดา
อย่าเพิ่งตำหนิตนว่าเลว จักทำให้จิตเสียกำลังใจ
เผลอบ้าง ฟุ้งบ้าง ง่วงนอนบ้าง ก็ลงตัวธรรมดา

ตั้งใจใหม่เมื่อระลึกได้
วาระหลังต่อสู้กับอารมณ์ใหม่ ทำบ่อย ๆ ก็เหมือนตักน้ำใส่ตุ่ม
เก็บเล็กเก็บน้อยทำให้น้ำเต็มตุ่มได้ฉันใด
การปฏิบัติธรรมก็สามารถเป็นสันตติเต็มจิตได้ฉันนั้น

แต่ควรจักระมัดระวังอารมณ์โมหะ โทสะ ราคะ ระงับเข้าไว้ไม่ให้มันมีกำลังแรงกล้า
ความร้อนจากแสงอาทิตย์ทำให้น้ำในตุ่มเหือดแห้งได้ฉันใด
ไฟอารมณ์ก็สามารถทำจิตให้แห้งจากความดีได้ฉันนั้น

ขึ้นชื่อว่าความร้อนใจ พยายามระงับให้มันดับไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จักเร็วได้

ให้กระทำตามขั้นตอนที่ให้ไว้ แยกแยะอารมณ์ให้ถูกต้องก็แล้วกัน


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 21-09-2009 16:20

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

มรณานุสติ

เจ้าจงหมั่นจำอารมณ์ตัดตายนั้นไว้ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติครั้งต่อ ๆ ไป
ทางที่ดีอย่าเลือกตั้งอารมณ์นี้เฉพาะเวลา ควรตั้งไว้ให้จิตพร้อมอยู่เสมอตลอดเวลา
เพราะเป็นอารมณ์สละร่างกาย คลายความเกาะเวทนาลงไปได้เด็ดขาด


จิตกำหนดรู้ลมหายใจอยู่ตลอดเวลา
อย่าพึงคิดว่าทำไม่ได้ จักต้องคิดว่าทำได้
ทุกอย่างสำเร็จลงได้ด้วยความเพียร



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 23-09-2009 10:58

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

อย่ากลัวกิเลสมารและขันธมาร

อย่ากลัวการประจันหน้ากับขันธมารและกิเลสมาร
เพราะนั่นคือครูที่จักทดสอบอารมณ์จิตของพวกเจ้าว่า จักผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้หรือไม่


ขันธมารและกิเลสมารเป็นของจริงที่นักปฏิบัติกรรมฐานจักต้องลุยผ่านทุกคน
ถ้าชนะได้ก็ถึงพระนิพพาน
แต่ถ้าแพ้ก็ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป

อย่าหนีความจริง ขันธมารกับกิเลสมารเป็นของคู่มากับร่างกาย
ซึ่งมันได้ผูกจิตจองจำ กักขังเรามานานนับอสงไขยไม่ถ้วน อดทนต่อสู้เข้าไว้


ถ้าชาตินี้ยอมพ่ายแพ้แก่มัน ชาติต่อ ๆ ไปก็ไม่มีทางชนะมันได้
ทำกำลังใจให้เต็ม เมื่อรู้แล้วว่าร่างกายนี้มีแต่ทุกข์หาสุขไม่ได้
เป็นเหยื่อของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม
เราโง่หลงผูกติดกับร่างกายนี้มานาน หลงอารมณ์ที่เพลินไปกับกิเลสมารชาติแล้วชาติเล่า
อย่างไม่รู้เท่าทันความทุกข์อันเกิดจากขันธมารและกิเลสมารนั้น

มาบัดนี้พวกเจ้ารู้ทุกข์อันเกิดจากขันธมารและกิเลสมารมาพอสมควรแล้ว
จงรักษาอารมณ์ตัดตาย สละร่างกายนี้ทิ้งไป เพื่อเป็นฐานกำลังของจิต
ควบคู่กับอานาปานสติให้ทรงอยู่เสมอ ๆ
จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จักทำให้การเจริญสมณธรรมของพวกเจ้า
มีผลเจริญขึ้นตามลำดับ จงจำเอาไว้ให้ดี


ถ้าคราวใดขึ้นต้นตั้งอารมณ์นี้ไม่ถูก ก็ให้พิจารณาร่างกาย ไม่ว่าภายในหรือภายนอก
วัตถุธาตุใด ทรัพย์สินต่าง ๆ พังสลายไปหมด กล่าวคือพิจารณาไตรลักษณ์
เห็นทุกสิ่งทุกอย่างพังหมด ไม่มีอะไรเหลือ
(อารมณ์อากิญจัญญายตนะฌาน)

จนในที่สุด หาสิ่งยึดถือมาเป็นสาระแก่นสารไม่ได้
โลกและขันธโลกมีความเสื่อมสลายไปในที่สุด ค่อย ๆ คิดพิจารณาจนจิตยอมรับ
แล้วจึงจับลมหายใจเข้าออก จนจิตเข้าถึงฌาน ให้จิตทรงตัวอยู่ระยะหนึ่ง
จึงหวนกลับมาจับวิปัสสนาญานตามความต้องการต่อไป

อย่าลืม ทำกรรมฐานทุกครั้ง ให้แผ่เมตตาไปทั่วจักรวาลก่อน
เป็นการทำอารมณ์จิตให้เยือกเย็นอยู่ในพรหมวิหาร ๔ จนเกิดวิสัยเคยชิน
ฝึกได้เมื่อไหร่แผ่เมตตาไปเมื่อนั้น มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
ให้แก่จิตและกายของตนเอง และพร้อมกันนั้น มีให้แก่จิตและกายของบุคคลอื่นด้วย

อารมณ์พรหมวิหาร ๔ นี้ จะลดไฟโมหะ โทสะ ราคะให้เจือจางไปจากจิตได้
และในบางขณะที่ระลึกได้ ก็ควรจักนำพรหมวิหาร ๔ ขึ้นมาพิจารณา
เพื่อให้เป็นคุณแก่อารมณ์ของจิตอย่างเอนกอนันต์ด้วย


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 28-09-2009 16:49

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

การรู้สภาวะที่แท้จริงของร่างกายในปัจจุบัน คือ อริยสัจ


๑.การรู้สภาวะที่แท้จริงของร่างกายในธรรมปัจจุบัน คือ อริยสัจ
เป็นทุกขสัจที่พระอริยเจ้าจักต้องยอมรับนับถือ

สภาวะที่แท้จริงของร่างกายไม่มีใครเขาฝืนมันได้ ยิ่งฝืนมากเท่าไหร่ ยิ่งทุกข์มากเท่านั้น
ร่างกายมันเป็นไปตามสภาวะปกติของมัน คือ ทำงานหนักมากเกินกำลัง
มันก็เสื่อมโทรมให้เห็นปรากฏชัด เป็นเวทนาอยู่ภายใน

หากจิตรับทราบเวทนานั้นแล้ว วางเป็นสังขารุเบกขาญาณ
คือยอมรับสภาพของร่างกายในขณะนั้น ๆ จิตก็จักไม่ดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากสภาวะนั้น ซึ่งไม่มีใครพ้นไปได้

เมื่อยอมรับจิตก็จักมีความสุข ด้วยเห็นร่างกายนี้มีความเสื่อมไปตามปกติของมัน


๒.ประการสำคัญต้องรู้อยู่เสมอว่า ร่างกายนี้มิใช่เรา มิใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา
จิตก็จักผ่อนคลายจากความยึดเกาะในเวทนานั้น
ดังนั้นการกำหนดรู้ว่าร่างกายเสื่อมนั้นเป็นของจริง จิตก็ควรจักยอมรับความจริงนั้น ๆ


๓.ในเมื่อรู้ก็สมควรพัก ดูความเสื่อมและเห็นความดับไปของความเสื่อมนั้น
เมื่อร่างกายได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว ก็จักเห็นความไม่เที่ยงของร่างกายอย่างชัดเจน



๔.บุคคลผู้รู้จริงจักไม่ฝืนสภาพของร่างกาย
กล่าวคือ ไม่มีความเบียดเบียนร่างกายให้เกินไปกว่ากฎธรรมดา
ผู้เห็นทุกข์จริงจะไม่ฝืน และไม่เพิ่มทุกข์ให้กับตนเอง


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 30-09-2009 14:16

๕.กฎธรรมดาคืออะไร

อย่างร่างกายแก่ก็ไม่ฝืนความแก่
อย่างสตรีแก่แต่ไม่ยอมแก่ ไปผ่าตัดเสริมสาว
ทำร่างกายให้เจ็บปวดก็เป็นการเบียดเบียน
หรือคนเจ็บป่วยมีหนทางรักษาแต่ฝืนกฎธรรมดา
ไม่ยอมรักษา ไม่ยอมใช้ยา ไม่ยอมหาหมอ ก็เบียดเบียนร่างกาย
อย่างร่างกายเสื่อม ต้องการเปลี่ยนอิริยาบถ จิตไม่รู้เท่าทัน ถือทิฐิ
นั่งนาน ยืนนาน เดินนาน นอนนาน ก็ฝืนกฎธรรมดา คือเบียดเบียนร่างกายเช่นกัน



๖.คำว่าสังขารุเบกขาญาณ ต้องแปลว่า วางเฉยอย่างรู้เท่าทันในกองสังขารทั้งปวง
คือ ยอมรับกฎธรรมดาอันเป็นความจริงของสภาพร่างกาย



๗.อย่าคิดว่าเกิดมาชาตินี้ขอมีร่างกายเป็นชาติสุดท้าย แล้วตะบี้ตะบันใช้งานมันไปอย่างไม่มีปัญญา
ร่างกายถูกเบียดเบียนเท่าไหร่ จิตอาศัยเป็นเครื่องอยู่ ก็จักมีเวทนาที่ถูกเบียดเบียนเท่านั้น


๘.จักต้องรู้จักกฎธรรมดาของร่างกาย จิตจึงจักอยู่เป็นสุขได้
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ร่างกายมันมีความสกปรก ต้องอาบน้ำชำระล้างทุกวัน
จิตเหมือนคนอยู่ในบ้าน บ้านสกปรกตามกฎธรรมดาของโลก
ถ้าไม่เช็ด ไม่ล้าง ไม่ถูให้สะอาด คนอยู่จักหาความสบายใจได้หรือไม่
ร่างกายก็เช่นกัน กฎธรรมดามันเป็นอย่างนั้น
ถ้าฝืนกฎธรรมดาไม่อาบน้ำให้มัน จิตก็ทุกข์ไม่สบายใจเช่นกัน


๙.นี่คือธรรมในธรรมของร่างกาย
ที่เจ้าจักต้องศึกษาเรียนรู้เพื่อก้าวไปสู่อารมณ์สังขารุเบกขาญาณที่ถูกต้อง
โดยไม่ฝืนกฎธรรมดาของร่างกาย...

ป้านุช 02-10-2009 12:48

๑๐.จำไว้ว่าธรรมของตถาคต
ต้องเป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตใจ
ยอมรับกฏธรรมดาของร่างกายและจิตใจ


* ทุกข์ของร่างกาย หรือโรคของร่างกาย ระงับได้ก็พึงระงับอย่างรู้เท่าทัน
* ทุกข์ของจิตใจ หรือโรคของจิตใจ อันได้แก่สังโยชน์ ๑๐
ก็จักต้องกำหนดรู้กฎธรรมดาของอารมณ์ที่มีสังโยชน์นั้น ๆ

แล้วพึงอาศัยพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคต
เป็นยารักษาโรคหรือทุกข์ของจิตใจ ให้หายขาดจากโรคนั้น ๆ



๑๑.อารมณ์กำหนดรู้จักต้องมี รู้ร่างกาย รู้จิตใจ รู้ระงับ รู้รักษา ให้ตรงจุดที่เป็นโรค
จิตก็จักเป็นสุข หมดความเบียดเบียนทั้งร่างกายและจิตใจ

ป้านุช 02-10-2009 13:07

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ทุกสิ่งในโลก พระองค์จับเอาเป็นธรรมได้หมด

ผู้มีธรรมประจำอยู่ในจิต ย่อมมองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมได้หมด
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา ถ้าเข้าใจ

สมถะ คือ ธรรมดาในธรรมนั้น ๆ
วิปัสสนา คือ ทุกข์หรืออริยสัจอันเป็นกฎของธรรมนั้น ๆ


ดังนั้น ท่านจึงหยิบยกขึ้นมาอุปมาอุปไมยเป็นคำสอนได้ เพราะเข้าใจและรู้แจ้งเห็นจริง

ธรรมดาในธรรมดา เห็นทุกข์ในธรรมดานั้น ๆ
ธรรมดาของโลกไม่เที่ยง ยึดเมื่อไหร่ก็ทุกข์เมื่อนั้น

อย่าคิดสงสัยในธรรม จงคิดพิจารณาในธรรม จักเห็นความจริงของกฎของธรรมทั้งปวง

เห็นทุกขสัจในทุก ๆ เรื่องที่ตถาคตกับพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ๆ ตลอดจนพระสาวกแสดงมา
จิตพวกเจ้าจงกำหนดรู้ว่า ทุกข์ทั้งหลายนั้นมีจริง ให้ยอมรับในทุกข์นั้น ๆ
สร้างความเบื่อหน่ายทุกข์ให้เกิด จนจิตคลายจากอารมณ์กำหนัดในการเกาะทุกข์นั้น ๆ ลงได้ในที่สุด

บุคคลผู้มองไม่เห็นทุกข์ ก็มักจักไม่ยอมรับว่าทุกข์นั้นมีจริง
เป็นของจริงที่สิงอยู่ในจิตของผู้มากด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม
จึงทำให้มีอารมณ์กำหนัด ไปยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ที่เกิดจากไฟโมหะ โทสะ ราคะ นั้น ๆ

เมื่อมองไม่เห็นทุกข์ จิตจึงไม่ยอมวางทุกข์ ตกเป็นทาสของอารมณ์
ด้วยไม่เห็นของจริงอันเป็นกฎของกรรม หรืออริยสัจนั้น ๆ


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 08-10-2009 13:23

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ทุกสิ่งในโลก พระองค์จับเอาเป็นธรรมได้หมด (๒)

จงอย่าประมาทในธรรมเป็นอันขาด
พวกเจ้าจงจำเอาไว้ เผลอมากเท่าไหร่ประมาทมากเท่านั้น


ดูอารมณ์ของจิต ให้คงไว้ในพระกรรมฐานให้มากที่สุดเท่าที่จักมากได้

เวลานี้พวกเจ้าประหนึ่งกำลังทำสงครามยื้อแย่งพื้นที่ของจิต
โลกธรรมหรือโลกียวิสัยมันครอบครองจิตของเจ้ามานาน ต้องหมั่นพยายามสร้างเสริมกองทัพธรรม
หรือโลกุตระวิสัยให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของจิตให้มากขึ้นเรื่อย ๆ
เพื่อเป็นการขับไล่กองทัพโลกียวิสัยนั้นให้ถอยออกไปจากจิตให้ได้มากที่สุด

อย่าเผลอให้บ่อยนัก
กิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม มันเหมือนครอบครองเป็นเจ้าถิ่นอยู่
มันก็จักยึดทำเลพื้นที่ของจิตได้อย่างชำนาญเกมการรบ
พวกเจ้าต้องดูอารมณ์จิตไว้ให้ดี ๆ อดทนกัดฟันต่อสู้กับเจ้าถิ่นเดิม
ด้วยการเกาะอารมณ์พระกรรมฐานเข้าไว้อย่างแนบแน่น
เผลอให้น้อยที่สุด สักวันหนึ่งชัยชนะก็จักเป็นของพวกเจ้า



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 08-10-2009 13:45

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ภาพจักชัดหรือไม่ชัดไม่สำคัญ (๑)
ขอให้ใช้อารมณ์ปักตรงต่อพระนิพพานก็แล้วกัน


ร่างกายยิ่งเหนื่อยมากเท่าไหร่ ก็สมควรจักยิ่งซ้อมตาย ทิ้งร่างกายมากขึ้นเท่านั้น
อารมณ์จับภาพพระนิพพานแม้จักไม่แจ่มใสตามปกติ
ก็จงพยายามกำหนดจิตขึ้นมาอยู่บนวิมานแห่งนี้

ภาพจักชัดหรือไม่ชัดไม่สำคัญ ขอให้ใช้อารมณ์ปักตรงต่อพระนิพพานก็แล้วกัน

กิจการงานที่เจ้าทำ ก็ถือได้ว่าเป็นกิจพระพุทธศาสนา
จงมีความภูมิใจหากร่างกายมันจักตายลง ในขณะเหน็ดเหนื่อยในหน้าที่การงานนี้
ก็ถือว่าเพื่อพระพุทธศาสนา เป็นความดีที่เจ้าได้ทำอยู่ ตายก็ตายอยู่กับความดี
จักตายครั้งสุดท้ายเพื่อพระนิพพานหรือเพื่อความไม่เกิดไม่ดับอีก

อย่าทำงานเหนื่อยแล้วทำจิตให้บ่น
ทำเช่นนั้นเจ้าจักขาดทุน การบ่นเป็นอารมณ์ปฏิฆะ จัดเป็นอารมณ์ไม่พอใจ
จงดูและกำหนดรู้ให้ดี ๆ จึงจักละซึ่งอารมณ์กามฉันทะและปฏิฆะได้

พยายามละอารมณ์บ่นให้ได้มากที่สุด
ไม่ว่าจักเป็นมโนกรรมหรือวจีกรรม บ่นเมื่อไหร่ถือว่าเจ้าพ่ายแพ้ต่ออารมณ์ปฏิฆะเมื่อนั้น
เวลานี้รบกับอารมณ์ จักต้องตั้งใจต่อสู้กับอารมณ์ของจิตให้ดี ๆ
ไม่ใช่สู้แบบไม่รู้จักหน้าค่าตาของศัตรู จักถูกเขาเอาดาบฟันตายอยู่รอมร่อแล้ว
ยังมองไม่เห็นภัยของศัตรูอีก

แยกแยะอารมณ์ให้ถูกตลอดวันตลอดเวลาอย่าเผลอ
จักบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ อารมณ์ของตน ตนเองไม่รู้ แล้วจักให้ใครที่ไหนช่วยรู้ได้
เมื่อรู้เองไม่ได้ ก็แก้ไขอารมณ์จิตของตนเองไม่ได้เหมือนกัน
ชาตินี้ทั้งชาติเจ้าอย่าหวังได้พระอนาคามีผลเลย
ก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป อย่างนี้จักดีหรือ


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 12-10-2009 14:17

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ภาพจักชัดหรือไม่ชัดไม่สำคัญ (๒)
ขอให้ใช้อารมณ์ปักตรงต่อพระนิพพานก็แล้วกัน


กลัวการเกิดให้มาก ๆ อย่ากลัวความตาย อย่ากลัวความเหนื่อย
อย่ากลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นอริยสัจ

เป็นทุกขสัจของการมีอัตภาพร่างกาย เป็นกฎของธรรมดา

จงกำหนดจิตยอมรับกฎของธรรมดาหรืออริยสัจนี้เป็นชาติสุดท้าย
ให้รู้จักเข็ดทุกข์อยู่ในจิต ไม่ขอกลับมาเกิดให้พบทุกข์เยี่ยงนี้อีก

อย่าบ่นเมื่อทุกข์มาเยือน อย่าลิงโลดเมื่อสุขทางโลกมาเยือน
จงพยายามทรงอารมณ์จิตให้เบื่อหน่ายในอารมณ์กามฉันทะและปฏิฆะนั้น ๆ
และทรงพรหมวิหาร ๔ ให้จิตมีกำลังวางทุกข์วางสุขนั้น ๆ
โดยมีความรัก ความสงสารจิตของตนเองเป็นประการสำคัญ

หมั่นทรงอารมณ์เฉยเข้าไว้
ใหม่ ๆ เฉยบ้าง ไหวบ้างก็อย่าท้อใจ
เฉยน้อย ๆ จักเป็นเฉยใหญ่ได้ในภายภาคหน้า
จนกระทั่งเข้าสู่สังขารุเบกขาญาณได้ในที่สุด

อย่าลืมนึกถึงความตายเข้าไว้เสมอ ๆ
เป็นการตัดอารมณ์กามฉันทะและปฏิฆะเข้าไว้
หากเจ้าคิดว่าร่างกายจักตายในขณะจิตนี้เสียอย่าง อารมณ์ก็จักระงับได้ง่าย
เพราะมัวแต่ตกเป็นทาสของอารมณ์ ตายไปก็ไม่ถึงพระนิพพาน

อย่าลืมคิดตามนี้ให้จิตมันชิน
จักได้คลายความประมาทในธรรมที่เข้ามากระทบได้



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 14-10-2009 14:53

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ให้เลิกบ่นเพราะเป็นอารมณ์ปฏิฆะ

ในเมื่อเจ้ากำหนดรู้ได้ว่า อารมณ์ใดเป็นอารมณ์ที่ตกเป็นทาสของนิวรณ์เข้ามารบกวน
ก็จงหมั่นระงับนิวรณ์นั้น ในทุกครั้งที่กำหนดรู้ว่ามีอารมณ์ในขณะจิตนั้นลงด้วยเถิด


ต้องทำการระงับให้บ่อย ๆ จักได้มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ของจิตที่ตกเป็นทาสของนิวรณ์เข้ารบกวน
ระงับได้มากเท่าไหร่ ผลของการปฏิบัติจักได้มากขึ้นเท่านั้น



อารมณ์ใดที่เกิดขึ้นกับจิต เจ้าต้องหมั่นกำหนดรู้
อย่าคิดปล่อยอารมณ์ไปโดยคิดว่าไม่เป็นไร นั่นคือการประมาทในธรรมโดยแท้



โดยเฉพาะอย่างยิ่งอารมณ์หลงที่คิดว่าไม่เป็นไร เรายังจักไม่ถึงที่ตาย
แล้วเที่ยวส่งจิตออกไปว่าคนนั้นคนนี้ ตำหนิกรรมของผู้อื่นไปตามความไม่ชอบใจ
สรรเสริญคนโน้นที ไปยุ่งก้าวก่ายกับกฎของกรรมของผู้อื่น

มัวแต่มีอารมณ์ยินดียินร้ายในกรรมของบุคคลอื่น ทำให้เสียผลของการปฏิบัติ
เขาดีหรือเขาเลวก็ไม่ได้มาช่วยให้จิตของเจ้าดีขึ้น
ถ้าหากละเลยไม่สนใจผลของการปฏิบัติ มัวแต่มองผลของกรรมของบุคคลอื่น
สังขารุเบกขาญาณก็เกิดขึ้นได้ยาก

อย่าลืมอารมณ์ใครก็ไม่สำคัญ สำคัญที่อารมณ์จิตของเรา
พยายามดูอารมณ์ของตนเองเข้าไว้เป็นสำคัญ

อารมณ์คนอื่นดูแล้วละไปจากอารมณ์ของเราโดยเร็ว
ให้ลงตัวปกติในธรรมของบุคคลนั้น ๆ อย่าใช้อารมณ์ของเราเข้าไปปรุงแต่งธรรม
มันจักทำให้อารมณ์จิตของเราเสีย ทำให้เกิดอารมณ์ตำหนิกรรม ไม่มากก็น้อย


จงระมัดระวังให้มาก ดูอารมณ์จิตตัวนี้เอาไว้ให้ดี ๆ ที่เอาดีกันไม่ค่อยจักได้
ก็เพราะมัวแต่สนใจอารมณ์ของบุคคลอื่นนี่แหละ


ขาดอุเบกขารมณ์เป็นสำคัญ พรหมวิหาร ๔ ขาดตัวปลาย อีก ๓ ตัวกำลังก็ยังอ่อน
เจ้าจงหมั่นพยายามเจริญพรหมวิหาร ๔ ให้มาก ไม่ใช่ท่องจำ
ต้องหมั่นเอามาคิดพิจารณาทุกครั้งที่จิตเสวยอารมณ์ที่เบียดเบียนตนเอง
ต้องรู้ด้วย จำด้วย และทำด้วยในพรหมวิหาร ๔ อย่าจำแค่ตัวหนังสือ จักหาผลได้ยาก
พรหมธรรมทำไม่ได้ ก็เป็นพระอนาคามีไม่ได้ จักหวังอะไรกับพระอรหัตผล


จงหมั่นทำไปอย่าละความเพียรและห้ามบ่นท้อแท้ด้วย
กิเลสมันไหลออกมาทางวาจา ยิ่งบ่นยิ่งเพิ่มอารมณ์ จักมีประโยชน์อันใด
เลิกจริยานี้เสียที


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 19-10-2009 16:32

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

จิตเหมือนเด็ก ชอบของเล่นใหม่ ๆ และวิธีแก้ไข

สภาพของจิตมันจักตื่นเต้นกับงานชิ้นใหม่ ๆ จึงฟุ้งไม่รู้จักหยุด เช่นเดียวกับการเจริญพระกรรมฐาน
หากได้ภาพกสิณใหม่ ๆ เจ้าก็มักจักชมชอบเล่นอยู่อย่างนั้น
แต่พอไประยะหนึ่ง จิตก็จักคลายจากอารมณ์การชมชอบนั้น

งานก็เช่นกัน สักระยะหนึ่งก็จักลงตัวเบื่อหน่าย
นี่หากเจ้าสามารถเบื่อกิเลสได้เยี่ยงนี้บ้าง ก็จักดีมาก

หากจักกล่าวไปตามความเป็นจริงแล้ว งานทุกอย่างไม่ใช่ของใหม่
ในชาติก่อน ๆ เจ้าก็เคยทำงานเหล่านี้มาแล้ว และบุคคลอื่น ๆ ก็เคยทำงานเหล่านี้มาแล้ว
ชีวิตร่างกายมันหายไป ก่อนที่งานเหล่านั้นมันก็จักหายไปบ้าง จิตมันก็หลงวนเวียนติดงาน
กลับมาเกิด แล้วทำอีก ชอบบ้าง เบื่อบ้าง หลงบ้างอยู่เยี่ยงนี้ตลอดกาลตลอดสมัย

กิเลสก็เช่นกัน เป็นกิเลสตัวเก่า ไม่มีอะไรนอกเหนือไปกว่าโมหะ โทสะ ราคะ
แต่จิตไม่รู้เท่าทันจึงหลงติดอยู่ในบ่วงกิเลส ยังอารมณ์ให้เกิดชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง
เบื่อบ้าง อยากบ้าง แต่ไม่รู้จักเบื่อจริง ๆ เพื่อคลายกำหนัดในกิเลสทั้งปวง

นี่เป็นเพราะเจ้าไม่รู้เท่าทันอารมณ์ของจิต รู้ไม่เท่าทันสภาวะของไตรลักษณญาณ
จึงได้ตื่นเต้นอยู่กับของใหม่ ๆ อยู่เรื่อย แม้จักเป็นวิหารทานก็ตาม ภาพกสิณก็ตาม อย่าตื่นหลงของใหม่ จนหลงลืมความตาย

มรณะภัยที่จักมาเยือนได้ได้ทุกขณะจิต
ระงับความฟุ้งซ่านไม่อยู่ก็เท่ากับประมาท เพราะอารมณ์จิตไม่เกาะพระนิพพานเข้าไว้
จิตมีกิเลสโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยากให้ภาพกสิณนั้นมันทรงตัวอยู่เช่นนั้นตลอดไป
ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างเกิด ดับเป็นปกติ

บุคคลผู้ฉลาดนำภาพกสิณเกิด ดับ มาพิจารณาเป็นวิปัสสนา
จนอารมณ์จิตสบาย แล้วจึงกำหนดอานาปานัสสติขึ้นมาใหม่ และกำหนดภาพกสิณขึ้นใหม่
ทำอยู่เยี่ยงนี้จึงไม่รู้จักเบื่อในภาพกสิณนั้น ๆ

งานก็เช่นกัน ที่เจ้าฟุ้งอยู่นี้ เพราะใช้จิตทำงานไปล่วงหน้า
ซึ่งงานเหล่านี้ต้องอาศัยร่างกายเป็นตัวทำ โดยมีจิตบงการอยู่เบื้องหลัง
ทำงานให้มีสติอยู่กับงานเฉพาะหน้าเท่านั้น จิตจึงจักเป็นสุข ไม่เบื่องาน
อย่าวาดแผนงานไปในอนาคต จงอยู่กับงานปัจจุบัน จิตก็จักไม่ฟุ้งซ่าน
เจ้าเห็นสาเหตุของอารมณ์ที่เกิดหรือยัง

ความใจร้อนตัวนี้แหละที่ทำให้อารมณ์ของเจ้าเสียทั้งงานทางโลกและทางธรรม
มรรคยังไม่ทันเดิน ก็ครุ่นคิดไปถึงผลเสียแล้ว งานทุกอย่างย่อมมีขั้นตอน เมื่อใจร้อนก็เสร็จไม่ทันใจเจ้า
ทั้งงานทางโลกและงานทางธรรม อารมณ์ท้อแท้เบื่อหน่ายก็เกิดขึ้น
เจ้าเห็นจุดด่างพร้อยของจิตจุดนี้หรือยัง

เมื่อเห็น ก็จงหมั่นแก้ไข กำหนดรู้ลมหายใจให้มาก ๆ อารมณ์จักได้ไม่ฟุ้งซ่านไปในธรรม
อนาคตที่ยังมาไม่ถึงค่อย ๆ ทำไปอย่าใจร้อน เตือนจิตตนเองเอาไว้ให้ดี ๆ
ละอารมณ์อย่างนี้ไม่ได้ ก็เอาดีไม่ได้เช่นกัน สาเหตุนี้คือต้นเหตุของอารมณ์เบื่องานทั้งทางโลกและทางธรรม
เจ้าจงหมั่นแก้ไข

หมั่นพิจารณาพรหมวิหาร ๔ ซึ่งเป็นกรรมฐานซึ่งทำให้จิตเยือกเย็น
สลับกันไปกับภาพกสิณพระ โดยอาศัยอานาปานัสสติเป็นพื้นฐาน ทำให้จิตทรงตัว
และจงหมั่นคิดถึงความตาย กันความประมาทเข้าไว้เสมอ ๆ

จงพยายามพิจารณาให้เห็นสภาพที่แท้จริงของร่างกาย
นอกจากความเสื่อมและสกปรกแล้ว มันยังตายได้ทุกขณะจิต และจงคิดอยู่เสมอ
งานทางโลกหรือกิเลสก็ดี เราจักเพียรทำไปตามหน้าที่ งานทางโลกทำไป การเพียรละกิเลสก็ทำไป

กำหนดรู้ว่างานและกิเลสไม่ใช่ของใหม่ ล้วนแต่เป็นของเก่าที่เราพบมาแล้วอย่างจำเจ
ควรทำจิตให้พ้นเสียที อย่าผูกพันกับมันให้มากนัก


งานทางโลกรู้ สักแต่ว่ามีร่างกายก็ต้องทำมันไป กิเลสที่เข้ากระทบก็รู้
สักแต่ว่ามีร่างกายมันก็ต้องกระทบเป็นธรรมดา จิตพร้อมที่จักปล่อยวางงานทางโลก
เมื่อร่างกายมันพังลงไป ยิ่งกิเลส ยิ่งสมควรพร้อมที่จักละ แม้ร่างกายยังไม่พังลงไปก็ตาม
อย่าเอาจิตไปผูกพัน ให้รักษาอารมณ์จิตเอาไว้ให้ดี ๆ


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 21-10-2009 18:45

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

ศรัทธาคือขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ในพุทธศาสนา

จงหมั่นสร้างความศรัทธาและเลื่อมใสในธรรมให้เกิดแก่จิตของตนเองเข้าไว้
ด้วยการพิจารณาเห็นคุณประโยชน์ของสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน
จักได้มีกำลังเสริมสร้างอิทธิบาท ๔ ให้เข้มข้นขึ้นในจิต
และจักเห็นคุณค่าของพระธรรม เมื่อจิตสามารถเดินมรรคได้ตามกำลังที่พิจารณาธรรมนั้น ๆ


ตถาคตและพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์
ต่างก็อาศัยความศรัทธาและเลื่อมใส เป็นกำลังพิจารณาวิโมกขธรรม
และนำธรรมนั้นไปสอนแก่ผู้มีศรัทธาและเลื่อมใสเท่านั้น มรรคผลจึงจักเกิดขึ้นได้



เพราะฉะนั้น เจ้าจงศึกษากำลังศรัทธาและเลื่อมใสของจิตที่มีต่อพระธรรมให้ดี ๆ
และดูศึกษากำลังศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาของบุคคลภายนอกด้วย
อย่าขัดศรัทธา หรือทำลายความเลื่อมใสของเขาเป็นอันขาด
จงส่งเสริมและสนับสนุนบุคคลเหล่านั้น เพื่อเป็นกำลังให้พระศาสนาต่อไป


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 26-10-2009 13:39

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


ข้อคิดจากพระธรรม

ศูนย์ปฏิบัติพระกรรมฐานมี ๒ แห่ง คือภายนอกกับภายใน
ภายนอก หมายถึงศูนย์ทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่อยู่ตามวัดและบ้านคน รวมทั้งสถานที่ต่าง ๆ ที่สมมติขึ้นมา
ภายใน มีอยู่แล้วที่จิตของเราทุก ๆ คน คือจิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน
ท่านแนะให้ดูอารมณ์ของจิตตนเองอย่างเดียว


จุดนี้แหละ คือศูนย์การปฏิบัติพระกรรมฐานที่แท้จริง
ที่พระพุทธเจ้าต้องการให้เราปฏิบัติ เพราะมีอยู่แล้วทุก ๆ คนที่ตัวเรา ทรงหมายถึงกายกับจิต
พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน ๘๔,๐๐๐ บท ก็ล้วนอยู่แค่กายกับจิตเท่านั้น
จึงเสมือนเรามีตู้พระไตรปิฎกอยู่แล้วทุกคน แต่ขาดปัญญาที่จะศึกษาปฏิบัติให้พบความจริงคือ อริยสัจ เท่านั้น


จุดมุ่งหมายของศูนย์นี้ ก็เพื่อมุ่งตัดสักกายทิฏฐิ
ซึ่งแปลว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย ตัดได้ก็จบกิจในพุทธศาสนา


วิธีปฏิบัติ ก็มุ่งตรงตัดด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา (อริยมรรค ๘)
ทาน ศีล ภาวนา (ปฏิบัติบูชา) และโอวาทปาฏิโมกข์ (ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องใสอยู่เสมอ)
สิ่งใดที่ขัดต่อหลักปฏิบัติดังกล่าวแล้ว จงอย่าทำ



จงพร้อมอยู่ในความไม่ประมาทตลอดเวลา
เผลอเมื่อไหร่ประมาทเมื่อนั้น แค่ไม่ประมาทอย่างเดียวก็จบพระไตรปิฎกแล้ว


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 27-10-2009 16:59

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


การระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านและวิตกจริต ๑

การวิตกกังวลทำให้สติสัมปชัญญะบกพร่อง
เจ้านึกอยู่แต่ว่าจักทำงานโน้น งานนี้ จิตถูกส่งไปตามงานที่คิด จึงลืมงานปัจจุบันไปเสียสนิท



งานบางอย่างไม่ควรที่จักนำมาคิดล่วงหน้า
ควรแก้ไขอยู่แต่ในธรรมปัจจุบัน คิดแก้ไขหรือวางแผนไปล่วงหน้ารังแต่จักเสียอารมณ์

เจ้าต้องหัดวางอารมณ์ที่ฟุ้งซ่านเรื่องงานภายนอกทิ้งไป ในขณะที่เวลานั้นเป็นชั่วโมงเจริญพระกรรมฐาน

ต้องทำงานภายใน เป็นการระงับนิวรณ์ ๕ ซึ่งต้องระงับกันอยู่ตลอดเวลา
ในเวลาก็ต้องระงับ นอกเวลาก็ต้องระงับ รู้ตัวหรือไม่ว่าฟุ้งซ่านมากไป


นี่เป็นเพราะเจ้าลืมลมหายใจเข้าออก จิตจึงไม่มีกำลังบังคับอารมณ์สติสัมปชัญญะจึงเสื่อมทรามลงไป
อารมณ์ที่คิดไปล่วงหน้าและหมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่ผ่านไปเบื้องหลัง จักต้องหมั่นสลัดทิ้งไป
ต้องแก้ไขอารมณ์เหล่านี้ลงให้ได้ มิฉะนั้นการเจริญพระกรรมฐานจักไม่มีผลเท่าที่ควรจักได้


พยายามให้จิตคิดอยู่เสมอว่า ถ้าฟุ้งซ่านอยู่อย่างนั้น มันจักตายหรือไม่ตาย
เกิดตายในขณะฟุ้งซ่าน ก็เท่ากับเสียท่ากิเลส ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในหน้าที่การงานอย่างนี้อีก


เหนื่อยหรือไม่เหนื่อย คำว่าการมีขันธ์ ๕ แล้วจักไม่เหนื่อยนั้นไม่มี
เจ้าต้องการจักไม่มีขันธ์ ๕ อีก ก็จงหมั่นระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านนี้ทิ้งไป


ดอกสว่านหักก็จงเคารพในความไม่เที่ยงในฝีมือของเจ้าเอง
ธรรมะเหล่านี้เป็นของธรรมดา มิพึงจักนำมาคิดให้ฟุ้งซ่าน
เรื่องคุณปอจักเอาของมาให้ก็เป็นเรื่องของอนาคตซึ่งไม่เที่ยง ชีวิตของเจ้าทั้งสองคน
คนใดคนหนึ่งอาจจักแตกดับก่อนที่อนาคตนั้นจักมาถึงก็เป็นได้ ใยจึงไปคิดให้ฟุ้งไกลนักเล่า

และจงอย่าขัดศรัทธาของคน จงทำตนให้เป็นผู้รับที่ดี สิ่งใดควรรับก็รับ ควรจ่ายให้ทานก็จงจ่าย

สิ่งใดรับไม่ได้จักเป็นโทษ ก็ชี้แจงเขาไปโดยตรง บุคคลทั่วไปย่อมมีเหตุผลของตนเอง
หากเจ้าชี้แจงเหตุผลให้เขาฟัง เขาย่อมจักเข้าใจ อย่าวิตกให้ไกลเกินไป


ต้นเหตุจากมีคนจะเอาของมาให้ใช้ส่วนตัวมากเกินเหตุ
เพราะไม่เห็นทุกข์หรือปัญหาที่จะพึงเกิดขึ้นภายหลัง จิตจึงฟุ้งซ่านเป็นของธรรมดา

ธรรมของตถาคตมิใช่ของเนิ่นช้า (จะ) ละสิ่งใด สิ่งนั้นจักมากระทบจิต เพื่อทดสอบอารมณ์อยู่ตลอดเวลา
ยินดีก็แพ้ต่อกิเลส ยินร้ายไม่พอใจก็แพ้ต่อกิเลส

ตถาคตจึงกล่าวว่าให้ชี้แจงเหตุผลให้เขาทราบ

รักษาอารมณ์ใจให้เป็นกุศล
เพื่อประโยชน์สุขของผู้ให้ทาน เขาจักได้รับผลใหญ่ด้วยจิตของเจ้าที่เป็นกุศลนั้น



จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 28-10-2009 20:25

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม

การระงับอารมณ์ฟุ้งซ่านและวิตกจริต ๒

เรื่องอาหารการกินก็เช่นกัน เจ้าเห็นทุกข์เห็นโทษตามที่ตถาคตและทุกองค์ตลอดจนท่านฤๅษีเฝ้าพร่ำสอน
แต่เจ้าจักให้บุคคลอื่นเห็นทุกข์ เห็นโทษของการบริโภคอาหารเหมือนกับเจ้าย่อมเป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้น จงดูเจตนาที่เขาหวังดีกับเจ้าเป็นสำคัญ


บุคคลผู้ยังเกาะติดอยู่ในกายมาก ก็ย่อมคิดที่จักบำรุงกายนั้นเพื่อให้ทรงอยู่ตลอดเวลา
นี่เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่เขาห่วงกายเรา จึงเฝ้าบำรุงบำเรอ คิดว่ามันจักทรงตัว
นี่เป็นความดีของเขาที่มีเมตตาต่อร่างกายเจ้า
นั่นเป็นธรรมดาของเขาที่เจ้าควรจักยอมรับกฎธรรมดานั้น


มาศึกษาทางด้านจิตของเจ้าเอง
กลับมาคิดมากจนขาดเมตตาจิตของเจ้าเอง เอามาป็นอารมณ์ฟุ้งหาจุดลงไม่ได้
นี่เป็นโทษใหญ่ แม้ทั้ง ๆ ที่รู้ว่ากายนี้ไม่ใช่เรา แต่กายนี้มันก็ยังทรงอยู่ในปัจจุบัน
การต้องการบริโภคอาหารก็ยังมีอยู่เป็นปกติของผู้ยังมีกายอยู่ ก็เป็นกฎธรรมดาอีกนั่นแหละ


แม้เจ้าจักพยายามละกามคุณอยู่
แต่ควรกำหนดรู้ว่า การมีร่างกายก็ยังจักต้องเกี่ยวข้องอยู่กับกามคุณ ๕
การละต้องดูอารมณ์จิตเป็นสำคัญ
อย่างกรณีอาหารและเครื่องอุปโภคที่เขาจักนำมาให้ ก็จงดูอารมณ์ของใจเป็นสำคัญ
ถ้าหากยังฟุ้งอยู่ด้วยความยินดีหรือไม่ยินดี ก็นับว่าอารมณ์ยังเลวอยู่
ขาดเมตตาจิตต่อจิตของตนเอง จึงยังอารมณ์ให้หวั่นไหวอยู่
และอารมณ์นั้นก็สร้างทุกข์ให้เกิด อย่างนี้เสียผลของการปฏิบัติหรือไม่


การคิดให้สับสน
นำเรื่องโน้นเรื่องนี้เข้ามาหลายเรื่อง ทำให้อารมณ์จิตวุ่นวาย หาความสงบมิได้
จุดนี้ขอให้เจ้าพิจารณาให้ดี ๆ อย่าสักแต่ว่าเรื่องภายนอก
แม้กระทั่งธรรมภายในก็เช่นกัน จับโน่นวางนี่

กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง หากไม่ขึ้นต้นด้วยอานาปานัสสติให้ทรงตัวเสียก่อนแล้ว
จิตเจ้าก็ไปคว้าหมวดโน้นนิด หมวดนี้หน่อย ก็ทำให้อารมณ์จิตสับสนวุ่นวาย สุดท้ายก็เอาอะไรดีไม่ได้



ธรรมะไปสายเดียวกันก็จริงอยู่ เอโกธัมโมนั้นถูกต้อง
แต่จิตของเจ้าไม่ฉลาดพอ จึงไม่รู้เท่าทันอารมณ์ จับโน่นนิด คิดนี่หน่อย
เลยฟุ้งไปเสียก่อนที่จักได้ดี ปรับอารมณ์ตรงนี้เสียใหม่

พยายามบังคับจิตให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก
ควบสมถะภาวนากองใดกองหนึ่ง ให้ถึงที่สุดเสียก่อนทุกครั้ง
จิตจักได้มีกำลังต่อสู้กับกิเลส


มิฉะนั้น เจ้าก็ต้องย่ำเท้าอยู่อย่างนี้ หาความก้าวหน้าในมรรคผลของการปฏิบัติไม่ได้


ตั้งใจให้จริง อย่าทิ้งความตั้งใจทำจริง เพื่อมรรคผลนิพพานเป็นสำคัญ
ต้องจดจำเอาไว้เสมอ จักได้พ้นทุกข์ของจิตเสียที


อย่าลืม สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ควรยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา
ถ้าอยากให้อารมณ์จิตเป็นสุขและไม่ฟุ้งซ่าน จงอยู่ในธรรมปัจจุบัน
อย่ายุ่งกับธรรมในอดีตและธรรมในอนาคต อย่าจับปลาหลายตัว
ให้จับทีละตัวแบบกรรมฐาน ๔๐ ทำให้ดีที่สุดกองเดียวก่อน


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 30-10-2009 11:15

คำสอนหลวงพ่อฤๅษี ๑ ส.ค.๒๕๓๖

มนุษย์หัวแถว ยังไม่ดีเท่าเทวดา นางฟ้าท้ายแถว

เรื่องท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ นั้น ใครจะไหว้หรือไม่ไหว้ พวกเอ็งก็ไปไหว้ท่านก็แล้วกัน
วัดท่าซุงนี้อยู่ได้ด้วยพระ พรหม เทวดา นางฟ้า ท่านช่วยสงเคราะห์อยู่เบื้องหลัง
พระคุณของท่านทั้งหลายตอบแทนเท่าไรก็ไม่หมด
เป็นคนจงอย่าลืมตัว มนุษย์หัวแถวยังไม่ดีเท่าเทวดา นางฟ้าท้ายแถว
ท่านเป็นผู้ไม่มีขันธ์ ๕ ไม่สกปรก ไม่ร้อน ไม่หนาว ไม่หิวกระหาย และขี้ก็ไม่เหม็นอย่างเรา ๆ


มีสมมติสงฆ์บางองค์ไม่ยอมกราบท้าวมหาราชทั้ง ๔ เพราะคิดด้วยความหลงผิด จิตเป็นมิจฉาทิฏฐิว่า
ท่านมีศีลไม่ครบ ๒๒๗ ฉันแน่กว่า เพราะฉันมีศีล ๒๒๗
จิตผู้ใดก็ตาม ที่เริ่มต้นด้วยมิจฉาทิฏฐิ อะไร ๆ ที่ตามมาก็เป็นมิจฉาทิฏฐิหมด


ข้อเท็จจริง
แม้เทวดาชั้นยามาและดุสิต ท่านมีศีลพระครบ ๒๒๗
เทวดาและพรหมที่เป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอนาคามี ท่านจะอยู่ชั้นใด ท่านก็มีศีล ๒๒๗ ครบ
ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ล้วนแต่เป็นอนาคามีทุกองค์ รวมทั้งพระยายมราชและพระอินทร์ด้วย
เทวดา นางฟ้าที่วัดท่าซุงมีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ท่านเป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูง คือพระอนาคามีกันทั้งนั้น


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 04-11-2009 18:20

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


การต่อสู้กับอารมณ์นิวรณ์ที่เข้ามาสิงใจ

ฟังเรื่องราวของใครมากระทบหู ก็จงหมั่นดูอารมณ์จิตของตนเองไว้
จับตาดูว่าฟังแล้วอารมณ์อันใดเกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ

ที่เอาดีกันไม่ได้ก็คือ ไม่ค่อยจักรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติ
โกรธจนชิน รักจนชิน ห่วงจนชิน กลัวจนชิน
เลยไม่รู้ว่าอารมณ์อะไรเป็นอะไร
อย่างนี้ทำกรรมฐานไปจนร่างกายตายแล้วตายอีกหลายตลบก็ไม่รู้เรื่อง


หรือบางขณะก็รู้อยู่ว่าอารมณ์ใดเกิด แต่จิตไม่คิดแก้ไข
ปล่อยอารมณ์ให้ตกอยู่ในนิวรณ์อยู่อย่างนั้น ก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน



การต่อสู้กับอารมณ์นิวรณ์ที่เข้ามาสิงใจ
จักต้องมีความเพียรแก้ไขอารมณ์นั้น ๆ อย่างขันติอดทน มีความตั้งใจจริง

เหมือนจอมทัพที่เห็นข้าศึก ก็ตั้งใจเคลื่อนทัพเข้าประจัญ รบราฆ่าฟัน
เพื่อมุ่งหวังในชัยชนะทุกครา มิใช่ทำจิตเป็นผู้ไม่แกล้วกล้า
เห็นข้าศึกมาก็ง่วงเหงาซึมเซาอยู่แต่ในกระดอง ไม่กล้าคิดที่จักออกมาโรมรันศัตรู
แล้วอย่างนี้ เมื่อไหร่จิตเจ้าจักรู้จักชนะนิวรณ์ได้เล่า


ตั้งอารมณ์ของจิตเสียใหม่นะ
พยายามแข็งใจเอากรรมฐานแก้จริตเข้าสู้ทุกครั้งที่อารมณ์ตกเป็นทาสของนิวรณ์



จงหมั่นกำหนดรู้อารมณ์ที่เป็นกิเลสอันเกิดขึ้นแก่จิต แม้สักนิดหนึ่งก็ต้องรีบแก้ไข
อย่าปล่อยให้อารมณ์นั้นลุกลามไปใหญ่โต ต้องอดทน ข่มใจ อดกลั้นต่อความชั่วของอารมณ์ของจิตตน


จงตั้งใจทำความเพียร ละอารมณ์ที่เป็นกิเลสตั้งแต่เวลานี้ไป
หากเจ้ามีความท้อถอยคราวใด จงคิดอยู่เสมอว่า ร่างกายนี้กำลังจักตายอยู่ในวินาทีข้างหน้านี้
จักได้คลายความประมาทในธรรมลงได้ เวลาและความตายไม่คอยใคร


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน

ป้านุช 09-11-2009 15:15

คำสอนสมเด็จองค์ปฐม


การหลับอย่างผู้ไม่ประมาท

ร่างกายต้องการพักผ่อน ประสาททุกส่วนเสื่อมหมด จิตไม่มีกำลังที่จักแข็งขืนปฏิกิริยาของร่างกายได้
มันเป็นธรรมดาที่จิตพลอยอยากพักผ่อน หรืออยากหลับไปด้วย


เมื่อฝืนไม่ได้เยี่ยงนี้ก็จงอย่าฝืน หากแต่ก่อนที่จักหลับจงปลงมรณาควบอุปสมานุสสติให้ตั้งมั่น พยายามระเบิดกายหยาบทิ้งไป
ให้เห็นกายในนั่งหลับอยู่บนพระนิพพาน หรือไม่ก็ปลงอสุภจนกายหยาบละลายไป
กลายเป็นกายนิพพานขึ้นแทน กำหนดนั่งหลับอยู่บนพระนิพพานต่อหน้าพระก็ได้



จงคิดเอาไว้ก่อน ฟังคำสอนของท่านฤๅษีก็ได้ หรือไม่ก็คิดเอาขณะนั่งลงไปยังวิหาร ๑๐๐ เมตรก็ได้
โดยเห็นจิตหรืออทิสมานกาย นั่งอยู่บนวิมานที่พระนิพพานแทน



จงรู้เอาไว้ว่า ขณะใดนิวรณ์ ๕ เข้าแทรกแซงอารมณ์ของจิต ก็ถือว่าจิตนั้นถูกเบียดเบียนให้ตกอยู่ภายใต้ความประมาท
และขณะใดร่างกายตกอยู่ภายใต้อาการของความเสื่อม ทุกข์อันเป็นปกติของร่างกายก็สร้างความเบียดเบียนให้เกิดแก่อารมณ์ของจิต
ก็ถือว่าจิตนั้นถูกเบียดเบียนให้ตกอยู่ภายใต้ความประมาทเช่นกัน


ดังนั้น ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงอรหัตผล จึงยังไม่หมดสิ้นความเบียดเบียน จึงเท่ากับมีความประมาทในธรรม
อารมณ์ย่อมตกเป็นทาสของขันธมาร และกิเลสมารอยู่เป็นธรรมดาไม่มากก็น้อย
เจ้าจงหมั่นละความประมาทลงด้วยประการฉะนี้เถิด


จากหนังสือ ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่มที่ ๖
รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:15


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว