กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=18)
-   -   เทศน์คาถาพัน (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=719)

เถรี 19-07-2009 09:43

เทศน์คาถาพัน
 
นักเทศน์แต่ละกัณฑ์จะได้รับการจองตัวล่วงหน้า บางทีจองล่วงหน้าเป็นพรรษาเลย ถึงเวลาก็จะจัดแต่งศาลาเหมือนกับป่า เพราะพระเวสสันดรโดนไล่ไปอยู่ในป่า โดยเฉพาะกัณฑ์กุมารกับกัณฑ์มัทรีชาวบ้านเขาจะชอบมาก ๆ

เคยฟังเทศน์มหาชาติ คนเทศน์ใช้ปากทำเสียงดนตรีได้ทุกประเภทเลย ยอดมนุษย์จริง ๆ ความจริงมีศีลอยู่ข้อหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านห้ามภิกษุขับลำด้วยเสียงอันยาว ท่านบอกว่าการขับลำด้วยเสียงอันยาวประกอบด้วยผลไม่ดีหลายอย่างด้วยกัน อย่างแรกก็คือคนฟังแล้วหลงติดในเสียงนั้น อย่างที่สองก็คือ ตัวเองพลอยหลงเสียงตัวเองไปด้วย ทำไปทำมาก็พลอยชอบด้วย แต่ว่าในเรื่องของเทศน์มหาชาตินี้ เห็นทีจะเป็นข้อยกเว้นเพราะสร้างศรัทธาเลื่อมใสให้กับโยมได้มาก แต่สมัยนี้ที่ไม่ค่อยมีใครเขาเทศน์กันเพราะมันเหนื่อย ตั้งนะโมอย่างเดียวนี่เป็นนาที

ในส่วนของเทศน์มหาชาติบางทีเรียกคาถาพัน เพราะประกอบด้วยส่วนของคาถาที่เปรียบเสมือนกับหัวเรื่อง รวมแล้วเป็น ๑๓ กัณฑ์ ๑,๐๐๐ คาถา เลยเรียกเทศน์คาถาพัน ประเทศไทยในปัจจุบันนี้น่าจะเหลือแค่ไม่กี่วัดที่ยังมีเทศน์มหาชาติอยู่ แล้วเทศน์ไม่ครบ ๑๓ กัณฑ์

สมัยก่อนเขาถือว่าถ้าได้จองเป็นเจ้าภาพเทศน์มหาชาติสักกัณฑ์หนึ่งแล้วจะไม่ตกนรก หรือถ้าได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์จะไม่ตกนรก

เทศน์มหาชาติก็เริ่มตรง ทศพร พระนางผุสดีขอพร ๑๐ ประการจากพระอินทร์ ก่อนที่จะลงมาเกิดเป็นพระนางผุสดี อย่างเช่นว่าขอให้ดวงตางามเหมือนตาเนื้อทราย ขอให้ตั้งท้องแล้วดูไม่ออกว่าท้อง กระทั่งคลอดก็ยังไม่ผิดปกติ

กัณฑ์ที่สอง หิมพานต์ กล่าวถึงตอนที่แม่ช้างนำเอาลูกช้าง คือ ปัจจัยนาค มาไว้ในโรงช้าง ก็เป็นช้างคู่บุญพระเวสสันดร

กัณฑ์ที่สาม ทานกัณฑ์ พระเวสสันดรเกิดมาก็ให้ทาน แล้วหลังจากนั้นก็ให้ทานมาตลอดชีวิต

พระเวสสันดรเกิดมาครั้งแรกที่พูดเลยก็คือ อะมะ (ข้าแต่แม่) ข้าพเจ้าต้องการให้ทาน เมื่อพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้วสามารถตรัสได้เลย นอกจากพระชาติที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้ว ก็มีชาติที่เป็นมโหสถบัณฑิตกับชาติที่เป็นพระเวสสันดร ชาติที่เกิดเป็นมโหสถบัณฑิตถือแท่งยามาด้วย บอกให้เอายานี้ไปรักษาพ่อ แล้วจะหายจากโรคปวดศีรษะ

กัณฑ์ที่สี่ วนประเวศน์ ไปอยู่ป่า เพราะว่าไปให้ช้างปัจจัยนาคซึ่งเป็นมิ่งขวัญของเมืองแก่เมืองอื่น ก็เลยโดนประชาชนช่วยกันขับไล่ ต้องพาพระนางมัทรีและกัณหาชาลีออกป่า พวกที่ช่างขอก็ขอจริง ๆ ท่านออกป่าด้วยรถม้าก็ขอรถ เหลือแต่ม้าก็ขอม้า ท้ายสุดก็ท่านต้องเดิน

ในแต่ละกัณฑ์ของเทศน์มหาชาติ จะมีความงามของสภาพของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เขาตั้งใจจะพรรณนาให้เห็น อย่างสภาพของป่าหิมพานต์เป็นอย่างไร สภาพของสิงสาราสัตว์ต่าง ๆ ที่ได้เจอในระหว่างเดินทางเป็นอย่างไร

เถรี 19-07-2009 09:57

กัณฑ์ที่ห้า กัณฑ์ชูชก กัณฑ์ที่ไม่ค่อยมีใครเป็นเจ้าภาพ เพราะเขาไม่ชอบขี้หน้าชูชก กัณฑ์นี้บรรยายชูชกซึ่งเป็นนักขอมือวางอันดับหนึ่ง ขอใครแล้วต้องได้

สมัยเด็ก ๆ ถ้าเกิดข้าวยากหมากแพงขึ้นมาก็จะมีพวกวณิพก ไปร้องรำทำเพลงแล้วก็ขอข้าวสาร พวกนี้จะเป็นชาวเกษตร ไปฟ้อนไปรำ ไปร้องเพลง ไปอ้อนขอความเห็นใจ เขาเรียกเปิดหม้อไม่มีข้าวสุก เปิดสมุกไม่มีข้าวสาร

ชูชกนี่เก่ง เข้าใจหลักจิตวิทยา ตรงที่ว่าจะเยินยออย่างไรให้คนใจอ่อน ยอมทำบุญกับตน จริง ๆ แล้วชูชกเป็นพราหมณ์แต่ว่าเป็นพราหมณ์ที่ไม่ได้ประกอบพิธีในลักษณะที่เป็นผู้นำของชุมชน ก็เลยฐานะยากจน อาศัยขอทานจนรวย ชูชกขอทานจนเงินท่วมย่าม เอาไปฝากเพื่อน แล้วก็หายไปเป็นเดือนเป็นปี เพื่อนก็คิดว่าน่าจะตายไปแล้ว ก็เลยใช้เงินแกหมด พอชูชกกลับมาไม่มีเงินจะคืนให้ ก็เลยต้องยกลูกสาวคือ นางอมิตดาให้

ชูชกแก่คราวปู่ นางอมิตดานี่รุ่นหลาน แต่ก็อย่างว่าสมัยก่อนผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียง ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิสตรีได้ เขายกให้เป็นสมบัติใครก็ต้องไป ต้องชมน้ำใจนางอมิตดาว่าทำหน้าที่ภรรยาได้ดีมาก ผัวแก่ขนาดนั้นก็ยังปรนนิบัติรับใช้ทุกอย่าง แต่มันดีเกินไป มันเกินหน้าเกินตา พวกชาวบ้านอยากให้เมียตัวเองทำแบบนางอมิตดาบ้าง นางอมิตดาก็เลยโดนเมียเขาด่า ก็มาร้องไห้บอกชูชกว่า จะไม่ทำงานแล้วเพราะโดนเพื่อนบ้านรุม ชูชกปลอบใจอย่างไรก็ไม่ยอม ท้ายสุดก็ตกลงว่า พระเวสสันดรไปอยู่ป่า ให้ไปขอพระลูกทั้งสอง ก็คือกัณหากับชาลีมาเป็นคนรับใช้ของเรา ชูชกก็เลยต้องไป

กัณฑ์ที่หก มหาพน มหาพนคือป่าใหญ่ (มหาพน = มหาวน)

กัณฑ์ที่เจ็ด จุลพน บรรยายลักษณะของป่าในเขาวงกต ที่พระเวสสันดรไปอยู่ มีพราหมณ์เจตบุตรและอจุตฤๅษีเป็นคนเฝ้าทาง ทั้งสองโดนชูชกหลอกต้ม ชูชกหลอกว่าตนเองเป็นทูตมาจากพระเจ้ากรุงสญชัย จะมารับพระเวสสันดรกลับ

กัณฑ์์ที่แปด กุมาร กัณหาชาลีรู้ว่าชูชกต้องมาขอตัวเองแน่ ก็หนีไปซ่อนอยู่ในสระ พระเวสสันดรตามไปอ้อนวอนขอให้ขึ้นมา ลักษณะนี้จะบรรยายได้ชัดเจนเลยว่าพระองค์ท่านปรารถนาพระโพธิญาณ 'ขอให้ลูกทั้งสองทำตัวเป็นสำเภาทอง ส่งพ่อให้ถึงฝั่งปรารถนา'

กัณฑ์ที่เก้า มัทรี พระนางมัทรีออกไปหาผลไม้ในป่า กำลังจะกลับ พระอินทร์ก็ให้เทวดาแปลงเป็นเสือเหลืือง เสือโคร่ง ราชสีห์ขวางทางอยู่

กัณฑ์ที่สิบ สักบรรพ กล่าวถึง พระอินทร์กลัวว่าพวกที่ไม่รู้ภาษาจะมาขอพระนางมัทรีไปเป็นเมีย เพราะขนาดลูกยังขอไปเป็นคนใช้ ท่านก็เลยแปลงเป็นพราหมณ์แก่ไปขอเสียเอง พอพระเวสสันดรยกพระนางมัทรีให้ ท่านก็แสดงตัวเป็นพระอินทร์ บอกว่ารับไว้แล้วก็ขอมอบให้พระเวสสันดรเอาไว้ใช้สอยอยู่เหมือนเดิม ห้ามให้คนอื่นอีกเพราะเป็นสมบัติของท่านแล้ว

กัณฑ์ีที่สิบเอ็ด มหาราช ชูชกพาสองกุมารเดินทาง โดนเทวดาพาหลงเข้าเมือง ไปเจอพระเจ้ากรุงสญชัย ท่านก็เลยไถ่ตัว ชูชกได้กินอิ่มหนำสำราญจนท้องแตกตาย

กัณฑ์ที่สิบสอง ฉกษัตริย์ พระเจ้ากรุงสญชัยก็ยกขบวนไปรับพระเวสสันดร ฉกษัตริย์ จริง ๆ บาลีมันเป็น ฉะ-กษัตริย์ แต่ว่ารัชกาลที่ ๔ ท่านไม่โปรด ในเมื่อท่านไม่โปรด เวลาที่สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ท่านถวายเทศน์กัณฑ์นี้ ท่านก็เลยอ่านเป็น ฉอ-กษัตริย์ แปลว่ากษัตริย์ทั้งหก รัชกาลที่สี่ทรงโปรดมากกว่า ท่านบอกว่าฟังดูไม่หยาบคาย

กัณฑ์ที่สิบสาม นครกัณฑ์ กลับคืนบ้านเมือง กรรมเก่าที่เคยสร้างไว้บัดนี้หมดลงแล้ว กลับไปครองเมืองสีพีแทนพระเจ้ากรุงสญชัย

รวมแล้วเป็น ๑๓ กัณฑ์ ๑,๐๐๐ คาถาพอดี สมัยก่อนเรียกเทศน์คาถาพัน


เทศน์ที่บ้านอนุสาวรีย์
๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒

เถรี 19-07-2009 09:59

เทศน์จบหลวงพ่อกล่าวว่า "ว่ามา ๑๓ กัณฑ์จำได้กี่กัณฑ์ แล้วจะจองกัณฑ์ไหน"

เถรีขอจองกัณฑ์ชูชกค่ะ เพราะบรรยายความอัปลักษณ์ของชูชกได้ถึงใจ :onion_wink:


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:49


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว