กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5491)

เถรี 27-03-2017 18:48

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๐
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเขาออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

ในเรื่องของคำภาวนานั้นอย่าเปลี่ยนบ่อย เพราะว่าถ้าเราไม่มีความชำนาญแล้วไปเปลี่ยนคำภาวนาบ่อย สภาพจิตไปยึดโยงกับของเก่าแต่ถูกบังคับให้ใช้ของใหม่ จะเกิดการต่อต้านกัน แล้วการภาวนาก็จะไม่เป็นผล

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ สำหรับการปฏิบัติธรรมของพวกเรานั้น ส่วนใหญ่แล้วเคยมีประสบการณ์ที่ได้รู้ ได้พบ ได้เห็น บางสิ่งบางอย่างจากการปฏิบัติภาวนา หรือว่าเคยมีใจสงบจากการภาวนาไปตามลำดับแล้ว แต่มาภายหลังกลับไม่รู้ไม่เห็น มีจิตใจไม่สงบ เนื่องเพราะว่าส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการปฏิบัติแล้วเราอยากได้เหมือนเดิม

ในเมื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า "อยาก" ก็แปลว่าเราวางกำลังใจผิดแล้ว ถ้าถามว่าไม่อยากแล้วจะให้ทำไปเพื่ออะไร ? ก็ต้องตอบว่า “อยากได้ แต่ตอนภาวนาให้ลืมความอยากนั้นเสีย เรามีหน้าที่ภาวนาอย่างเดียว กำลังจะทรงตัวหรือไม่ทรงตัวก็ช่าง” ถ้าสามารถวางกำลังใจลักษณะอย่างนี้ได้ ก็จะทำให้อารมณ์ใจของเราทรงตัวได้ง่าย

แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วก็ไม่สามารถที่จะทำให้กำลังใจตั้งอยู่ในตัวอุเบกขาลักษณะอย่างนี้ เมื่อทำไปแล้วอยากได้ อยากมี อยากเป็น จึงทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าถึงการปฏิบัติที่แท้จริงได้เสียที

เถรี 27-03-2017 18:49

อีกส่วนหนึ่งก็คือ การปฏิบัติของเรานั้นจำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับลมหายใจเข้าออก สมาธิจึงจะทรงตัวได้ ถ้าเราทิ้งลมหายใจเข้าออกเมื่อไร รัก โลภ โกรธ หลง จะกระหน่ำตีจนกระทั่งเราไม่สามารถที่จะรักษากำลังใจได้ เมื่อเราไม่สามารถที่จะรักษากำลังใจได้ การปฏิบัติจะให้ได้ผลก็ย่อมเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

อีกส่วนหนึ่งก็มัวแต่เกรงใจสังคม การปฏิบัติธรรมของเราเป็นการทวนกระแสโลก แต่เราไม่สามารถที่จะทนขี้ปากชาวบ้านได้ พอโดนคนอื่นตำหนิด่าว่า กล่าวหาว่าบ้าบ้าง อายุยังน้อยจะปฏิบัติไปทำอะไร เราก็ไหลตามกระแสไป ละทิ้งการปฏิบัติไปอย่างน่าเสียดาย

อีกส่วนหนึ่งคือเมื่อกำลังใจทรงตัวตั้งมั่นแล้ว ไม่รู้จักประคับประคองรักษาเอาไว้ ทำให้กำลังใจนั้นสูญหายไป พังไป แล้วเรายิ่งไปอยากได้ ยิ่งไปเร่งการปฏิบัติก็ยิ่งไม่ได้ จนบางคนท้อใจ เลิกการปฏิบัติไปเลยก็มี

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นประสบการณ์ที่นักปฏิบัติทุกคนจะต้องได้พบได้เจอ ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถปรับกำลังใจของเราได้เร็วเท่าไร อาตมาเคยเปรียบเทียบว่า มีคนเดินมา ๒ คนแล้วล้มลงพร้อมกัน คนหนึ่งลุกขึ้นได้ก็เดินต่อไปเลย ส่วนอีกคนหนึ่งก็มัวแต่นั่งคร่ำครวญว่า เดินทางมาไกลแล้ว ไม่น่าจะล้มเลย เจ็บเหลือเกิน ปวดเหลือเกิน แล้วเมื่อไรเราจะได้ระยะทางเท่ากับคนอื่นเขา ?

เถรี 28-03-2017 21:46

ฉะนั้น...ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมของเรา เมื่อ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น เราไปพ่ายแพ้ต่อกิเลส ก็อย่าไปเศร้าหมองกับกิเลสเนิ่นนานนัก ให้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมของเราใหม่ ตั้งหน้าตั้งตารักษาศีล รักษากำลังใจของเราใหม่ พอ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เกิด ความดีพังทลายไป รู้ตัวเมื่อไรก็รีบวิ่งกลับมาหาความดีของเราทันที

เนื่องเพราะว่าหน้าที่ในการปฏิบัติธรรมของเรานั้น จริง ๆ แล้วมีน้อยมาก ถ้าหากกล่าวเป็นหลักธรรมเขาเรียกว่า ปธาน ๔ ปธานะ คือความเพียร มี ๔ อย่างด้วยกัน คือ

๑. สังวรปธานะ หรือ สังวรปธาน ได้แก่ การระมัดระวังไว้ไม่ให้มีความชั่วเกิดขึ้นในใจของเรา

๒. ปหานปธาน เมื่อมีความชั่วเกิดขึ้นแล้วก็พยายามที่จะกำจัดขับไล่ออกไปจากใจ

๓. ภาวนาปธาน
ถ้าหากว่ายังไม่มีความดีอยู่ ก็เพียรสร้างความดีให้เกิดขึ้นในจิตในใจของเรา

๔. อารักขนานุปธาน เมื่อมีความดีเกิดขึ้นแล้วก็เพียรพยายามระมัดระวังรักษา ให้ความดีนั้นเจริญงอกงามยิ่ง ๆ ขึ้นไป

หน้าที่หลัก ๆ ของเรามีแค่นี้ ในส่วนอื่นนั้นก็ขึ้นอยู่กับเราจะพลิกแพลงปฏิบัติกันไปเท่านั้น

เถรี 28-03-2017 22:28

อย่าลืมว่าเราจำเป็นจะต้องมีอานาปานสติ คือ ลมหายใจเข้าออกเป็นพื้นฐานใหญ่ มีพรหมวิหาร ๔ เพื่อรักษาความแช่มชื่นเบิกบานของสภาพจิตใจของเราไว้ มีมรณานุสติเพื่อที่จะไม่ประมาท ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมเพราะรู้ว่าความตายจะมาถึงเราอยู่ตลอดเวลา มีอุปสมานุสติหรือพุทธานุสติเป็นจุดยึดเกาะ เป็นเป้าหมายว่าถ้าเราหมดอายุขัยตายไป หรือว่าเกิดอุบัติเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิต เราขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือขอไปอยู่ที่พระนิพพาน

หลักธรรมทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นต้องมีอยู่เพื่อเป็นแนวทางที่จะนำพาเราสู่ทางแห่งการพ้นทุกข์ หลังจากนั้นก็มาทบทวนศีลทุกสิกขาบทของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล ทำความเคารพใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างจริงใจ ไม่ละเมิดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีความรู้ตัวเสมอว่าเราต้องตาย ตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว

ถ้าในแต่ละวันเราทบทวนว่าหลักธรรมทั้งหลายเหล่านี้ หลักการปฏิบัติทั้งหลายเหล่านี้มีอยู่ในใจของเราหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ทำให้มีขึ้นมา มีแล้วก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป หน้าที่ในการปฏิบัติธรรมของเราก็จะมีเหลืออยู่เพียงเท่านี้เอง

ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้สัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๐

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:45


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว