กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๙ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=4930)

เถรี 27-03-2016 14:57

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๙
 
ให้ทุกคนขยับนั่งในท่าที่ถนัดของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัด ไม่ว่าจะเป็น พุทโธ นะมะพะธะ สัมมาอะระหัง พองหนอยุบหนอ หรือจะเป็นตัวบทพระคาถาใด ๆ ก็ได้ ที่เราเคยภาวนาจนขึ้นใจมาแล้ว การกำหนดลมหายใจจะให้สัมผัสจุดเดียว ๓ จุด ๗ จุดหรือรู้ตลอดกองลมก็ได้

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เมื่อครู่นี้มีโยมถามว่า เปิดเสียงสวดมนต์ทั้งวัน จะมีผลอย่างไรบ้าง ? ซึ่งความจริงสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าการปฏิบัติภาวนาของเรานั้น สิ่งที่สำคัญก็คือต้องประคับประคองอารมณ์ใจของเรา ให้อยู่กับความดีให้ได้ทั้งวัน ซึ่งเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เราจะต้องมีเทคนิคและวิธีการซึ่งเหมาะเฉพาะตน แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไรที่ให้เรารักษาอารมณ์ใจเอาไว้ได้

อย่างอาตมาสมัยก่อน ตื่นเช้าขึ้นมาเจริญกรรมฐานตอนตี ๓ เมื่อล้างหน้าล้างตาเรียบร้อยแล้ว ก็จะอ่านหนังสือกรรมฐาน ๔๐ ของหลวงพ่อวัดท่าซุงหนึ่งบท โดยอ่านในลักษณะควบกับลมหายใจเข้าออกไปด้วย ซึ่งต้องบังคับตัวเองอย่างหนักว่าต้องอ่านให้จบ ไม่อย่างนั้นทันทีที่นึกถึงลมหายใจเข้าออก สมาธิจะทรงตัวไปเลย ก็ไม่อยากจะอ่านหนังสือแล้ว

ในระยะแรก ๆ ก็อาศัยคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุง เป็นเครื่องโยงใจให้เป็นสมาธิ ทำให้เข้าถึงสมาธิได้เร็วมาก เมื่ออ่านจบแล้วก็นั่งภาวนาต่อไป หลังจากนั้นเมื่อภาวนาจนเต็มที่แล้ว อารมณ์ใจคลายออกมา ในช่วงนั้นยังไม่เข้าใจวิธีพินิจพิจารณาในวิปัสสนาญาณ ก็จะอาศัยบทพระคาถาต่าง ๆ ที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเคยให้ไปทำ ซึ่งแต่ละบทท่านบอกว่าต้องภาวนาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง และต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ก็ทำมาจนเคยชิน

เมื่อมีผลแล้วไปกราบถวายรายงาน ท่านก็ให้คำชมและให้พระคาถาบทใหม่ที่มีผลอย่างอื่นมา เพื่อนำไปภาวนาต่อ ทำให้มีตัวบทพระคาถาเป็นจำนวนมาก จึงใช้วิธีกำหนดว่า เราจะภาวนาพระคาถาบทนี้ ๓๐ นาที บทนี้ ๓๐ นาที เป็นต้น

เถรี 27-03-2016 14:59

แม้ขณะที่ทำหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นกวาดบ้าน ถูบ้าน หรือว่าทำการทำงานตามอาชีพก็ตาม ก็จะไม่ลืมเรื่องของลมหายใจเข้าออก พร้อมกับภาวนาบทพระคาถาไปด้วย จนกว่าจะครบถ้วน ซึ่งทำให้สามารถรักษาอารมณ์ใจอยู่กับการภาวนาได้ ในระยะเวลาที่ยาวนาน

จนกระทั่งมีตัวบทพระคาถาหลายสิบบท กินเวลาเป็นวัน การทำอย่างอื่นก็ลำบาก เพราะว่าจะมีการภาวนาเช้า กลางวัน และเย็นอย่างละรอบใหญ่ พร้อมกับแผ่เมตตาเป็นปกติ จึงใช้วิธีลดเวลาในการภาวนาพระคาถาลง อย่างเช่นว่าเคยภาวนาบทละ ๓๐ นาที ก็เหลือบทละ ๑๕ นาที เป็นต้น

เมื่อภาวนาไป ๆ เกิดความคล่องตัวขึ้นมาก็ไม่ต้องอาศัยนาฬิกา เพราะว่าเมื่อครบ ๑๕ นาที สมาธิจะคลายตัวออกมาเอง เหลือบดูนาฬิกาเห็นว่าตรงเวลาแล้ว ก็เปลี่ยนไปภาวนาคาถาบทใหม่ เมื่อภาวนา สมาธิก็จะกลับทรงตัวลึกเข้าไปตามเดิม และจะคลายออกมาเมื่อถึงเวลาเปลี่ยนบทพระคาถาใหม่อีก ดังนี้เป็นต้น

เถรี 28-03-2016 15:30

พอมาระยะหลังเมื่อเกิดความเคยชิน สภาพจิตก็เริ่มแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ คือเริ่มดิ้นรนจนไม่ยอมอยู่กับความสงบ ก็ต้องอาศัยเทคนิคในการกำหนดดวงกสิณแบบต่าง ๆ อย่างเช่นว่าสีขาว สีเขียว สีแดง สีเหลือง สลับกันอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จนกระทั่งจิตเคยชินอีก ก็เปลี่ยนมากำหนดภาพพระพุทธรูป อย่างเช่นว่า ภาพพระวิสุทธิเทพ ภาพพระพุทธชินราช ภาพพระแก้วมรกต เป็นต้น สลับไปสลับมา เช่น หายใจเข้าให้ภาพพระแก้วมรกตไหลลงไปในท้อง ภาพพระพุทธชินราชอยู่กลางอก ภาพพระวิสุทธิเทพอยู่บนศีรษะ สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ เป็นต้น

หรือถ้าถึงเวลาแล้วสภาพจิตรู้สึกว่าเต็มแล้ว ไม่สามารถที่จะภาวนาต่อได้ ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีเปิดเสียงสวดมนต์แทน ซึ่งเสียงสวดมนต์ที่ชอบใจที่สุด กลับเป็นเสียงสวดมนต์แบบทิเบต เปิดแล้วทำให้รู้สึกว่าจิตใจโปร่งเบา สามารถทำงานไปด้วยกำหนดลมหายใจไปด้วย ก็ใช้วิธีดังนี้

ดังนั้น...ญาติโยมทั้งหลาย ถ้าหากเห็นว่าวิธีการไหนเหมาะสมแก่ตัวเอง สามารถประคับประคองรักษาอารมณ์ใจของตนเอาไว้ได้ ก็ให้เลือกใช้วิธีการทั้งหลายเหล่านั้น เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราต้องรู้เองว่าอะไรเหมาะอะไรควรแก่เราเป็นการเฉพาะตัว ไม่ใช่ว่าเหมาะควรแก่เราไปเสียทุกอย่าง

และที่ต้องไม่ลืมก็คือ เมื่ออารมณ์ใจทรงตัว ถ้าหากว่าไม่ยอมภาวนาแล้ว ให้รีบหาวิปัสสนาญาณมาให้คิด ไม่เช่นนั้นแล้วจิตจะเอากำลังสมาธิไปฟุ้งซ่าน แล้วเราจะเดือดร้อน เพราะว่าดึงคืนได้ลำบาก เนื่องจากจิตเอากำลังของสมาธิไปฟุ้งซ่านแทน

ลำดับต่อไปก็ให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๙

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 04:44


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว