กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   พระครูวิลาศกาญจนธรรม (หลวงพ่อเล็ก สุธมฺมปญฺโญ) (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=18)
-   -   ปฐมนิเทศการปฏิบัติแบบมโนมยิทธิ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=1701)

พระเมตตา 26-03-2010 16:58

ปฐมนิเทศการปฏิบัติแบบมโนมยิทธิ
 
เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๑

พระอาจารย์เป็นประธานในการอบรมพระกรรมฐานตามแบบ "มโนมยิทธิ" ให้แก่พนักงานของบริษัท AAA (Asia Asset Advisory)ที่ รอยัล ริเวอร์แคว รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี สิ่งที่ท่านแนะนำในวันนั้น ทำให้เกิดความกระจ่าง เป็นการปรับพื้นฐานความเข้าใจ และไขข้อข้องใจของนักปฏิบัติทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ที่มีความสนใจในมโนมยิทธิ

พระเมตตาได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย คิดในใจว่า "สุดยอดเลยหลวงพี่เรา คำแนะนำครั้งนี้ ถือเป็นการปฐมนิเทศมโนมยิทธิที่ดีที่สุด เท่าที่เราเคยได้ยินมา อยากให้ลูกศิษย์ทั่วไปได้ฟังบ้าง" ประมาณนั้น และตอนนี้พระเมตตาพอมีเวลาว่างแล้วเนื่องจากเพิ่งจบปริญญาโท จึงมาถอดเทปเสียงของพระอาจารย์ให้ท่านสาธุชนทั้งหลาย ได้รับความรู้โดยทั่วกัน

หมายเหตุ : จะพยายามหาเวลาและโอกาส ทยอยลงให้จนครบนะครับ

พระเมตตา 26-03-2010 17:18

เจริญพรญาติโยมทุกท่าน ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวก่อน ทางซ้ายมือของอาตมาคือ ท่านพระมหานันทวัฒน์ เขมธมฺโม ถัดไปคือ พระมหาสมเกียรติ ฐิตธมฺโม สองท่านนี้มาจากวัดปากน้ำ ภาษีเจริญจ้ะ ส่วนทางขวามือของอาตมา คือ พระมหาจรูญโรจน์ ทีปงฺกโร มาจากวัดสามพระยา ท่านอุตส่าห์มาช่วยงาน ส่วนตัวของอาตมาเอง คือ พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ ปัจจุบันนี้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

ยังได้ปรารภกับคุณป๋อมว่า ไปที่วัดท่าขนุนโน่นจะสะดวกกว่าเยอะเลย แต่พวกเราดูท่าจะกลัวเขื่อนแตกกัน วัดท่าขนุนอยู่ปากเขื่อน เพราะฉะนั้นหากเขื่อนแตกตูมเดียว ที่วัดไม่มีสิทธิ์กระดิกเลย ๕ วินาทีน้ำถึงวัดก่อน ดังนั้น..ถ้าอาตมาย้ายวัดหนีเมื่อไรโยมค่อยขยับตามแล้วกันนะจ๊ะ

สำหรับวันนี้เป็นโอกาสอันดี เป็นรายการทรมานบันเทิงประจำปีของพวกเรา มีใครเข็ดกันบ้าง ? ของคนอื่นต้องถามว่าเข็ดกันบ้างหรือยัง ? ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม คือการที่เราหาอาหารให้กับใจ เราได้รับอาหารทางกายมาเยอะต่อเยอะด้วยกันแล้ว แต่หลายท่านไม่รู้ว่าใจต้องการอาหารมากกว่าร่างกายอีก

ดังนั้น..จะเห็นว่าคนจำนวนมาก ที่เขารู้สึกว่าขาดอะไรบางอย่าง แล้วก็ไปเสาะแสวงหาจากข้างนอก ได้เป็นสิบล้านก็หาเป็นร้อยล้าน ได้เป็นร้อยล้านก็หาเป็นพันล้าน ได้เป็นพันล้านก็หาเป็นหมื่นล้าน พอได้เป็นหมื่นล้านไม่มีแผ่นดินจะอยู่ เพราะว่าหาผิดวิธี..! รู้แต่ว่าตัวเองขาด โดยที่ไม่รู้ว่าขาดอะไร จริง ๆ แล้วคือขาดที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวทางใจ

วันนี้เป็นวันเริ่มต้น ถือว่าเป็นการคุยกันเพื่อปรับพื้นฐานก่อน หลายต่อหลายท่านมีพื้นฐานการปฏิบัติมาดีมากแล้ว แต่บางอย่างหากไม่ได้กล่าวถึงภาพรวมของการปฏิบัติ บางทีการเข้าใจของเราก็ไม่ปะติดปะต่อกัน เหมือนกับจิ๊กซอว์ที่หลุดเป็นชิ้น ๆ ต้องมาปรับความเข้าใจให้ตรงกันก่อน การปฏิบัตินั้น ถ้าว่ากันตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว คือเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ถ้ารู้สึกว่ามากเกินไป ย่อลงเหลือแค่ ศีล สมาธิ ปัญญา ๓ อย่างก็ได้ โดยศีล ควบคุมกาย วาจา ให้เรียบร้อย สมาธิ รักษากำลังใจของเราให้ตั้งมั่น แล้วก็ปัญญา สร้างความรู้แจ้งเห็นจริงให้เกิดขึ้นกับจิตใจของเรา

พระเมตตา 27-03-2010 10:39

สำหรับการปฏิบัติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ โบราณาจารย์ท่านกำหนดไว้ว่ามี ๔ แนวทางด้วยกัน แนวทางที่ ๑ เรียกว่า สุกขวิปัสสโก ไม่ทราบเหมือนกันว่า ใส่บาลีมาก ๆ พวกเราจะมีความเข้าใจเท่าไร ? เพราะเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องของพระโดยตรง ถ้าใครไม่เข้าใจสามารถยกมือประท้วงได้ เดี๋ยวจะแปลไทยให้ฟัง

สายแรกเรียกว่า สุกขวิปัสสโก เป็นการปฏิบัติแบบเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่ใช่คนขี้สงสัย ใครว่าอะไรเชื่อตาม ถ้าอย่างนี้ปฏิบัติตามสายนี้แล้ว ก็บรรลุมรรคผลไปตามลำดับขั้นของตน โดยที่ความสามารถพิเศษด้านอื่นไม่มี

สายที่สองท่านเรียกว่า เตวิชโช หรือ วิชชา ๓ ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงมรรคผล โดยประกอบด้วยความรู้พิเศษหลายอย่างด้วยกัน

อย่างแรกเรียกว่า จุตูปปาตญาณ เมื่อทำถึงแล้วสามารถรู้ได้ว่าคนและสัตว์ ก่อนจะเกิดเขามาจากไหน ? และถ้าตายแล้วไปไหน ?

อย่างที่สองเรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสติญาณ สามารถระลึกชาติได้ว่า ในอดีตชาติของเราแต่ละชาติที่ผ่านมา เราเกิดเป็นอะไร ? มีความเป็นอยู่อย่างไร ? เทือกเถาเหล่ากอเป็นอย่างไร ? สามารถบอกได้ แต่ว่าบอกได้มากน้อยไม่เท่ากัน เป็นไปตามวาสนาบารมีที่สั่งสมมา

อย่างที่สามเรียกว่า อาสวักขยญาณ แปลว่าความรู้ที่ทำให้กิเลสหมดไปได้ สำคัญที่สุดตัวสุดท้ายนี้ ดังนั้นสายที่สองที่เรียกว่า วิชชาสามนั้น สำคัญที่สุดตรงตัวสุดท้าย คือทำกิเลสให้หมดไปได้

พระเมตตา 27-03-2010 13:25

สายที่สามบาลีเรียกว่า ฉฬภิญโญ แปลไทยว่า อภิญญาหก มีความรู้พิเศษยิ่ง ๖ อย่างด้วยกัน คือ

๑.อิทธิวิธิ สามารถแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
๒.ทิพโสต มีหูทิพย์ ใครแอบนินทา จะอยู่ใกล้อยู่ไกลก็รู้ คนละมุมโลกก็รู้ สมัยนี้บางทีเขาบอกว่า โทรศัพท์ก็เหมือนกับหูทิพย์เหมือนกัน
๓.เจโตปริยญาณ การรู้ทันกำลังใจหรือความคิด ทั้งของตนเองและผู้อื่น ที่สำคัญคือการรู้ใจตนเองว่า ขณะนี้ใจของเรามีความชั่วอยู่หรือไม่ ? ถ้ามีอยู่ก็ขับไล่มันออกไป แล้วระมัดระวังไว้อย่าให้มันเข้ามาได้อีก ใจของเรามีความดีอยู่หรือไม่ ? ถ้าไม่มีก็พยายามทำให้มีขึ้นมา ถ้ามีแล้วก็ทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
๔.ปุพเพนิวาสานุสติญาณ สามารถระลึกชาติได้
๕.ทิพจักขุ คือมีตาทิพย์ ใครจะทำอะไร อยู่ที่ไหน สามารถรู้ได้
๖.อาสวักขยญาณ จะซ้ำกับวิชชาสาม แปลว่าความรู้ที่ทำให้หมดกิเลสได้ นี่เรียกว่า สายอภิญญาหก

สายที่สี่ สายสุดท้ายนี้เรียกว่า ปฏิสัมภิทาญาณ สายนี้มีความสามารถครอบคลุมทั้ง แบบสุกขวิปัสสโก เตวิชโช และฉฬภิญโญ ทั้งหมด และมีความรู้พิเศษอีก ๔ อย่าง คือ

๑.อรรถปฏิสัมภิทา และ ๒.ธรรมปฏิสัมภิทา สามารถรู้เหตุและรู้ผลของทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านั้น เกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยเหตุอะไร ? หรือถ้าทำเหตุอย่างนั้นแล้ว ผลจะเป็นอย่างไร ? นี่เป็นสองในปฏิสัมภิทาญาณ ๔

อย่างที่สามเรียกว่า นิรุกติปฏิสัมภิทา สามารถรู้ได้ทุกภาษา ซึ่งเขามีการพิสูจน์กันแล้วว่า เป็นไปได้จริง ๆ

และสุดท้ายอย่างที่สี่เรียกว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทา สามารถมีความเฉลียวฉลาด ชนิดที่ใครต้อนก็ไม่จน ประมาณปลาไหลแช่น้ำมันอะไรทำนองนั้น

คราวนี้หลักการปฏิบัติทั้ง ๔ สายที่ว่ามา ขึ้นอยู่กับจริตนิสัยของเราว่าชอบแบบไหน

ถ้าหากว่าบอกอะไรเชื่อเลย ปฏิบัติตามแบบสุกขวิปัสสโกจะง่ายที่สุด หากว่าบอกแล้ว ยังขี้สงสัยไต่ถาม แต่ไม่ได้ซักไซ้ไล่เลียงละเอียดมากความนัก ก็ปฏิบัติตามสายวิชชาสาม

ถ้าเป็นคนขี้สงสัยมาก ไล่เลียงเอาชนิดอาจารย์แทบจะเก็บของกลับบ้าน ถ้าอย่างนั้นต้องฝึกแบบอภิญญา ๖ แต่ถ้าซักไซ้กันเต็มที่แล้ว ยังจับเอาอาจารย์ไปแยกธาตุทำวิจัยอีก นั่นต้องฝึกแบบปฏิสัมภิทาญาณ
ขึ้นอยู่กับจริตนิสัยของเราแต่ละคน

คราวนี้จริง ๆ แล้วคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เมื่อสรุปลงมาเป็นสายปฏิบัติทั้ง ๔ สายนี้แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีเดิมของเราว่าจะชอบแบบไหน...

พระเมตตา 27-03-2010 15:43

ถ้าหากดูกันตามแบบแนวปฏิบัติครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ในประเทศไทยของเรา หากเป็นแบบธรรมกายถือว่าเป็นสายอภิญญาเลย ถ้าหากสายของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง
สายมโนมยิทธินั้น จะถือว่าเป็นวิชชาสามก็ได้ แต่ท่านบอกว่าเป็นอภิญญาเล็ก เพราะได้แค่ ๑ ใน ๖ เท่านั้น ถ้าอย่างสายของหลวงปู่มั่น หรือหลวงพ่อพุทธทาส หรือสายพองหนอ-ยุบหนอ ของหลวงปู่พม่า อันนั้นถือว่าเป็นส่วนของ สุกขวิปัสสโก


แต่คราวนี้เราจะเริ่มฝึกสายไหนมาก็ตาม ถ้าในอดีตเคยสะสมความดีเอาไว้ สะสมบุญในด้านของ ทาน ศีล ภาวนา เอาไว้มาก ถ้าเคยได้ของเก่าเอาไว้ระดับไหน เมื่อกำลังใจสงบถึงระดับหนึ่ง ของเก่าก็จะกลับมาเอง ดังนั้น..แม้เราจะศึกษาสายสุกขวิปัสสโก แต่ว่าสามารถเกิดอภิญญาได้ เพราะเคยทำของเก่าเอาไว้

หรือว่าเรามาสายอภิญญา แต่พยายามฝึกเท่าไร ทำไมถึงหาความก้าวหน้าไม่ได้เลย ? ก็อาจจะเป็นเพราะว่า ในอดีตเรายังไม่เคยสร้างจริตนิสัยนี้เอาไว้ จึงทำให้เราไม่สามารถจะก้าวหน้าในสิ่งนั้นได้ ก็ต้องมาเริ่มต้นแบบสุกขวิปัสสโกกันใหม่ เหล่านี้เป็นต้น

จะขอย้อนมากล่าวถึงในเรื่องของมโนมยิทธิ ที่คราวนี้เราจะมีการฝึกกัน

มโนมยิทธิ แปลว่า มีฤทธิ์ทางใจ สำเร็จด้วยใจ มาจาก มโนมัย บวกกับ อิทธิฤทธิ์ มโนมัย คือ การสำเร็จด้วยใจ อิทธิฤทธิ์ คือ ฤทธิ์ที่มีมากเกินกว่าคนอื่นเขา

คนที่เก่งมาก ๆ สามารถถอดเอาใจ หรือกายในของตัวเองออกมาได้ ให้เห็นเป็นตัวเป็นตนชัด ๆ เลย แต่สำหรับทั่ว ๆ ไปแล้วคือ สามารถที่จะเอากายในเราไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าในโลกนี้หรือโลกอื่น

ในการรู้พื้นฐานล่วงหน้า ก็มีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ที่ดีก็คือว่า เราสามารถรู้ได้ว่าแนวการฝึกเป็นอย่างไร ? รับเอาความรู้นี้ไป ถึงเวลาครูฝึกท่านสอน เราก็สามารถที่จะน้อมใจตามไปได้ง่าย

แต่อีกประเภทหนึ่งก็คือ รับไปแล้วฟุ้งซ่าน อยากจะเป็นอย่างนั้น อยากจะได้อย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นแล้วท่านจะได้ยากมาก เพราะว่าการฝึกประเภทนี้ ท่านเปรียบว่า เหมือนกับเราต้องการจะมองที่ช่องตรงหน้าของเราตรง ๆ คนที่ความอยากน้อย ก็ก้มต่ำไป คนที่ความอยากมาก ก็ยืดคอเลยช่องไป จึงไม่สามารถที่จะเห็นอะไรได้ทั้งนั้น...


พระเมตตา 29-03-2010 17:30

เมื่อครู่นี้ได้กล่าวแล้วว่า ถ้าพื้นฐานเดิมของเรามี ฝึกแบบไหนก็ตาม ก็จะได้เหมือนกัน ในเรื่องของมโนมยิทธินี้ เป็นการทวนของเก่า ถ้าหากใครเคยมีของเก่าพวกนี้อยู่ เราจะสามารถฝึกตามได้โดยง่าย

ถามว่าในปัจจุบันนี้ ถ้าว่ากันตามหลักการปฏิบัติแบบมโนมยิทธิ มีสายปฏิบัติไหนที่ใกล้เคียงที่สุด ต้องบอกว่าแบบธรรมกายใกล้เคียงที่สุด

ธรรมกายนั้น จริง ๆ แล้วเป็นต้นแบบของมโนมยิทธิ เนื่องจากว่าธรรมกายนั้น มีพื้นฐานมาจากกสิณ โดยเฉพาะอาโลกกสิณ คือการกำหนดลูกแก้ว ส่วนมโนมยิทธินั้นเป็นการใช้ผลของกสิณ ฟังดี ๆ นะ..! อย่างหนึ่งเริ่มจากการสร้างเหตุส่วนอีกอย่างหนึ่งใช้ผลเลย

ถ้าจะเปรียบไปแล้ว ก็เหมือนกับเราสร้างบ้าน ธรรมกายจะเริ่มตั้งแต่ถมพื้นที่ อ่านแบบ วางแปลน เทฐานรากขึ้นมา จนกระทั่งสร้างเป็นบ้านเสร็จเรียบร้อย ส่วนมโนมยิทธินั้นเป็นลูกคนรวย ควักเงินในกระเป๋าไปซื้อคอนโด ฯ ก็มีที่อยู่เหมือนกันใช่ไหม ? แต่ถ้าเอาพื้นฐานแล้ว จะสู้ธรรมกายไม่ได้ เพราะว่าธรรมกายมาจากนับหนึ่ง จะมีความมั่นใจกว่ามาก เพราะเริ่มต้นมาจากพื้นฐานเลย

แต่ถ้าหากเราซ้อมจนคล่องตัว ท้ายสุดก็จะเหมือนกัน เพราะว่ามาจากหลักเดียวกัน คือพื้นฐานของกสิณ เพียงแต่ว่ามโนมยิทธินี้ ในอดีตเราทำได้ ปัจจุบันไม่ได้ทำ ก็แค่มาย้อนทวนของเก่า มีเงินเต็มกระเป๋าแต่เปิดใช้ไม่เป็น ครูจะมีหน้าที่บอกว่า ต้องเปิดกระเป๋าอย่างไรเท่านั้น แต่ถ้าธรรมกายนี่ เราอาบเหงื่อต่างน้ำ หาเงินมาเองเลย เพราะฉะนั้น..พื้นฐานจึงแน่นกว่ามาก...

พระเมตตา 30-03-2010 08:43

ในพระไตรปิฎกมีตัวอย่างที่ชัดที่สุด ก็คือ พระจูฬปันถกเถระ ท่านบอกว่า มโนมยิทธิของพระจูฬปันถกเถระนี้เป็นเอตทัคคะ คือ เลิศที่สุดในหมู่สาวกทั้งปวงของพระพุทธเจ้า สามารถกำหนดกายในออกมาอยู่ตรงหน้าของตัวเองได้ เหมือนอย่างกับถอดไส้หญ้าปล้อง หรือว่าชักดาบออกจากฝัก กลายเป็นอีกองค์หนึ่งอยู่ข้างหน้าเลย และท่านสามารถกำหนดได้มากถึงหนึ่งพันองค์ แล้วทั้งพันนั้นทำงานคนละอย่างกัน

ทาสี คือผู้รับใช้ของพระนางวิสาขามหาอุบาสิกา ไปนิมนต์พระจูฬปันถกเถระ ไปถึงเจอพระเต็มวัดเลย ทั้ง ๆ ที่ท่านบอกว่า วัดนี้มีพระเหลือรูปเดียว พอถามว่า "รูปไหนคือพระจูฬปันถกเถระ ?" ทุกรูปตอบว่า "อาตมาเอง.." จึงวิ่งกลับไปบอกเจ้านายว่า "นิมนต์พระมาไม่ได้ พระแม่เจ้าบอกให้ไปนิมนต์พระรูปเดียว นี่มีตั้งพัน แล้วทุกรูปก็ยืนยันว่าเป็นพระจูฬปันถกเถระ.."

ทางพระนางวิสาขามหาอุบาสิกาท่านฉลาดมาก ท่านบอกว่า "ไปถามใหม่ ว่าใครคือพระจูฬปันถกเถระ ? ถ้ารูปไหนตอบก่อน ให้จับแขนรูปนั้นแล้วดึงมาเลย.." ต้นแบบต้องตอบก่อน ที่เหลือเป็นเสียงสะท้อนเท่านั้น เมื่อทาสีทำดังนั้น ก็เลยสามารถนิมนต์พระจูฬปันถกเถระมาได้ เพราะว่าพอจับตัวจริงได้ ตัวปลอมทั้งหมดก็รวมกลับเป็นหนึ่งเดียว...

พระเมตตา 30-03-2010 15:49

แต่ว่าของเราที่ฝึกมาตามสายของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤๅษีลิงดำตามที่เขารู้จักกันนั้น เท่าที่อาตมาประสบพบมา ยังหาความชัดเจนระดับนั้นไม่ได้ แต่ว่าออกไปแล้ว ความรู้สึก การรู้เห็นชัดเจนเหมือนตัวเองไปมีมาก แล้วชัดขนาดที่เป็นแค่ตัวในเท่านั้น แต่ความรู้สึกสามารถรับรู้ได้ชัดเจนเหมือนกับตัวเองไป ลมพัดถูกตัวก็รู้ แดดส่องก็รู้ว่าอุ่น รถยนต์วิ่งมาทั้ง ๆ ที่คนอื่นเขามองไม่เห็น แต่ตกใจว่ารถมา กระโดดหลบ ความจริงยืนให้รถชนก็ได้ ไม่เป็นไรหรอก

คราวนี้ในเรื่องของมโนมยิทธิ เมื่อครู่อาตมาบอกว่า ถ้าใครมีวิสัยเดิมจะสามารถฝึกได้ง่าย บางคนก็มานั่งปลงว่า แล้วชาตินี้ข้าพเจ้าจะได้บ้างไหมนี่ ? ขอยืนยันว่า ถ้าใครคิดอยากจะทำ คนนั้นต้องมีพื้นฐานเดิมมาบ้างแล้ว และการฝึกกรรมฐานจริง ๆ การรู้เห็นต่าง ๆ เป็นของอันตราย เพราะว่าส่วนใหญ่พอรู้เห็นแล้ว ไม่สามารถที่จะจัดการได้ถูกต้อง เมื่อไม่สามารถจัดการได้ถูกต้อง หลงผิดทางไปมากต่อมาก การฝึกมโนมยิทธิ ที่อาตมาเจอมานั้น เกิน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ที่ผิดทาง

ถามว่าผิดแล้วมีอันตรายไหม ? ถ้าอันตรายในทางโลกทั่ว ๆ ไปไม่มี แต่ว่าทำให้เข้าถึงธรรมได้ช้าลง มัวแต่ไปหลงสนุกอยู่กับการรู้เห็น ไปเที่ยวดูว่าคนนั้นเป็นพ่อฉัน คนนี้เป็นแม่ฉัน นั่นพี่ฉัน นี่น้องฉัน โน่นเคยเป็นสามี นี่เคยเป็นภรรยา

ปกติแล้วการฝึกกรรมฐานทุกประเภท จุดมุ่งหมายคือ ต้องการความหลุดพ้น ต้องการพ้นทุกข์ ต้องการปลดกิเลส ต้องตัดภาระทุกอย่างให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ แต่ว่าแบบนี้กลายเป็นการฟื้นความสัมพันธ์ใหม่ กลายเป็นสร้างภาระเพิ่มขึ้น จึงได้เตือนให้รู้ล่วงหน้า

แม้ว่าเราไม่ได้ฝึกสายมโนมยิทธิมาก็ตาม แต่ถ้าของเก่าในอดีตของเรามี ภาวนาไป ๆ จิตสงบถึงที่ การรู้เห็นจะบังเกิดเอง จิตเราปกติจะกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลาเหมือนน้ำ น้ำที่กระเพื่อมอยู่ เราส่องหน้าตัวเองไม่เห็น หรือว่าเห็นแต่ก็เบลอ..ไม่ชัดเจน

แต่พอฝึกไปถึงระดับหนึ่ง จิตจะค่อย ๆ นิ่ง เหมือนอย่างกับน้ำที่นิ่ง พอน้ำนิ่งสามารถสะท้อนเงาทุกอย่างที่อยู่รอบข้างลงไปในน้ำได้ สภาพจิตของเราก็นิ่งลักษณะเดียวกัน
ถึงเวลาก็จะสะท้อนภาพทุกอย่างลงไปได้ การรู้เห็นก็จะปรากฏขึ้น

คราวนี้เราก็จะลำบาก ลำบากตรงที่ว่า เวลารู้นั้นรู้เยอะมาก แต่เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าควรพูดแค่ไหน ? แล้วก็จะได้รับคำสรรเสริญจากเพื่อนเวลาเราไปเล่าให้เขาฟังว่า บ้า..! เพราะฉะนั้นใครที่เป็นนักปฏิบัติ ถ้ายังไม่ได้รับการสรรเสริญจากคนรอบข้างว่าบ้า นั่นยังเอาดีได้ยาก ขอยืนยัน..!

พระเมตตา 31-03-2010 07:47

คราวนี้มโนมยิทธินั้น ลักษณะการรู้เห็น รู้เห็นแบบไหน ? การรู้เห็นนั้นเป็นการเห็นด้วยใจ ไม่ใช่สายตา โปรดลืมสายตาของเราไปได้เลย แล้วถามว่าใจเห็น เห็นแบบไหน ? อย่างเช่นว่าเรานึกถึงบ้าน นึกถึงคนที่เรารู้จัก ก็จะชัดเจนในความรู้สึกของเรา แต่ถามว่าเห็นหรือไม่ ? ไม่ใช่ตาเห็นแน่นอน..ใช่ไหม ? ลักษณะของมโนมยิทธิจะเป็นแบบนั้น แต่คราวนี้บ้านของเรา หรือว่าคนที่เรารู้จัก เราสามารถกำหนดรู้ได้ชัดเจนมาก เพราะเราคุ้นชินกับสิ่งนั้น

แต่ว่าในเรื่องอื่น ๆ ถ้าเทียบการฝึกมโนมยิทธิ ครูฝึกถ้าต้องการพิสูจน์ อาจจะนำเราไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่เราไม่เคยไป หรือว่าไปนรกไปสวรรค์โน่นเลย เราไม่เคยชินกับสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เพราะฉะนั้น..ความรู้สึกแรกที่ปรากฏขึ้นกับใจจะสำคัญที่สุด..! เราต้องเชื่อความรู้สึกนั้น เอ๊ะ..แม้แต่นิดเดียว แปลว่าพลาดอย่างแน่นอน

ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แรก ๆ มองไม่เห็นภาพหรอก มืดสนิท..! คุยในเรื่องความรู้สึกล้วน ๆ น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ หรือว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ตอบส่งไปได้เลย แล้วตอบไปก็ถูกด้วย แต่ว่าเราต้องจำอารมณ์นั้นเอาไว้ให้ได้ เหตุที่ต้องจำอารมณ์นั้นเอาไว้ให้ได้ก็เพราะว่า ถ้าทุกครั้งเรากำหนดกำลังใจลักษณะอย่างนั้น การรู้เห็นจะสามารถรู้ได้ถูกต้อง พอทำไป ๆ ความมั่นใจเริ่มมี คราวนี้จิตจะนิ่งได้ระดับหนึ่ง ภาพก็จะปรากฏ

ตอนภาพปรากฏนี่เสียคนอีกเยอะเลย เพราะว่าทันทีที่ภาพปรากฏอยู่ตรงหน้า ความที่อยากรู้เห็นอย่างชัดเจน เราจะใช้สายตาเพ่งเอา อย่าลืมว่ามโนมยิทธิเป็นการส่งใจออก ปกติการส่งใจออกนอก เป็นสาเหตุของทุกข์อย่างแน่นอน แต่มโนมยิทธิไม่สร้างทุกข์ให้ในช่วงนั้น เพราะว่าเป็นการส่งออกด้วยการควบคุมของสมาธิ ไม่ใช่ส่งออกไปฟุ้งซ่านแบบไม่มีกำลังสมาธิควบคุม ถ้าหากว่าส่งออกแบบฟุ้งซ่านนั้น จะเป็นต้นเหตุของทุกข์ที่เรียกว่า สมุทัย

เมื่อจิตส่งออกไปถึงที่นั้น จะรู้เห็นสิ่งนั้น แต่ทันทีที่เราเห็น เราใช้สายตาเพ่งเพราะต้องการให้ชัดขึ้น การนึกถึงตา คือนึกถึงตัวเอง เป็นการดึงกำลังใจกลับมา ในเมื่อใจพ้นจากตรงนั้น ภาพที่เห็นจะหายไป ฉะนั้น..ทันทีที่เราเพ่ง ภาพจะหายทันที แล้วเราก็จะมากลุ้มใจว่า เอ๊ะ..! ทำไมเมื่อกี้เห็น แต่ตอนนี้หายไปแล้ว

พอใจนิ่งใหม่ ก็เห็นอีก เพ่งอีกก็หายอีก หลายต่อหลายท่านติดอยู่ตรงขั้นตอนนี้เป็นปี ๆ จนกว่าเราจะวางกำลังใจได้ว่า การรู้เห็นครั้งแรกที่มีแค่ความรู้สึกโดยไม่ต้องเห็นภาพ ก็ถูกต้องดีแล้ว...

พระเมตตา 01-04-2010 08:31

เพราะฉะนั้น..ภาพจะปรากฏหรือไม่ปรากฏก็ตาม เป็นเรื่องของมัน ถ้าหากเราทำกำลังใจอย่างนี้ได้ เขาเรียกว่ามีอุเบกขา สมาธิทุกขั้นตอนต้องมีอุเบกขา ถ้าไม่มีก็ไม่ทรงตัว อุเบกขาในที่นี้จะสรุปง่าย ๆ ว่า คือการที่เรามีหน้าที่ภาวนา มีหน้าที่ทำตามที่ครูฝึกบอก ก็ทำไป จะเห็นหรือไม่เห็น เป็นเรื่องของมัน ถ้าตัดใจอย่างนี้ได้ ก็จะง่าย

โดยเฉพาะอาตมาอยากจะบอกว่า คนเราทุกคน ถ้าคิดเป็น ได้มโนมยิทธิทุกคน เพียงแต่เราใช้ความคิดเป็นไหม? อย่างตอนนี้เราคิดถึงบ้าน ถ้าบุคคลที่ได้อภิญญาจะเห็นเราไปอยู่ที่บ้านแล้ว ถามว่าต้องใช้ยานพาหนะอะไรบ้างไหม ? จะต้องไปเปิดประตูออกไปไหม ? ต้องไปขึ้นรถ ต้องเสียเวลาขับรถอีกเป็นชั่วโมง ๆ กว่าจะถึงหรือเปล่า ?

แต่ว่ามโนมยิทธินั้นแค่คิดก็ถึงแล้ว ไม่โดนจำกัดด้วยขั้นตอนของร่างกายใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นกำลังใจ เราคิดถึงดวงอาทิตย์ตอนนี้ กำลังใจเราก็อยู่ที่ดวงอาทิตย์ คิดถึงดวงจันทร์ กำลังใจของเราก็อยู่ที่ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ห่างจากโลกของเรามาก แสงที่ใช้เวลาเดินทาง ๑๘๖,๐๐๐ ไมล์ต่อวินาที ใช้เวลา ๘ นาทีกว่าจะถึงโลกเรา แต่เราคิดถึงดวงอาทิตย์ กำลังใจเราไปจ่ออยู่ที่นั่นเดี๋ยวนั้นเลย ไม่ติดด้วยขั้นตอนของการเดินทาง หรือว่ารูปแบบของร่างกาย เพราะเป็นกำลังใจอย่างเดียวจริง ๆ...

พระเมตตา 01-04-2010 16:39

ข้อห้าม..! ในการฝึกมี ๔ ข้อด้วยกัน

ข้อที่หนึ่ง ต้องไม่กลัว ส่วนใหญ่กลัวว่า การถอดจิตออกไปจะกลับได้หรือเปล่า ? ถ้ากลับไม่ได้ก็แย่เลย..! หรือว่าออกไปแล้วจะเจอสิ่งที่น่ากลัว เช่น เจอผี เป็นต้น ถ้าหากว่ากลัว กำลังใจของเราไม่มั่นคง ฝึกไปก็ไม่ได้ผล

ข้อที่สอง ต้องไม่อยาก อยากมากจนเกินไปก็ไม่ได้ จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สิ่งที่จะรู้เห็นเหมือนกับช่องกลม ๆ อยู่ตรงหน้าพอดี ๆ ยืดคอเลยช่องจะไปมองอะไรเห็น

เวลาครูฝึกบอกเราว่า ให้เลิกการภาวนา ขอให้เลิกจริง ๆ ท่านใดที่มีพื้นฐานการภาวนามาก่อน ฝึกมโนมยิทธิจะได้ยากเย็นเข็ญใจที่สุด

เนื่องจากว่าการรู้เห็นมี ๒ ระดับ ระดับแรกเรียกว่า อุปจารสมาธิ ซึ่งก็คือดวงปฐมมรรคของธรรมกาย ภาพจะปรากฏตอนนั้น ระดับที่สองเป็นฌานสี่ไปเลย ในระหว่างกลางคือ ฌาน ๑,๒,๓ นั้นจะไม่เห็นอะไร

เหมือนกับมีห้องสองห้อง อยู่ชั้นบนกับชั้นล่าง การตกแต่งทุกอย่างเหมือนกันหมด เราอยู่ชั้นบนก็สามารถบรรยายได้ว่า ห้องนั้นมีสภาพอย่างไร อยู่ชั้นล่างก็สามารถบรรยายได้ ว่าห้องนั้นมีสภาพอย่างไร แต่ถ้าเราอยู่ระหว่างบันไดจะไม่รู้เห็นอะไรเลย..!

เพราะฉะนั้น ถ้าบอกให้เลิกภาวนา คนที่มีพื้นฐานเก่าขอให้เลิกจริง ๆ ลดกำลังใจลงมาสบาย ๆ เหมือนเราจะคุยกับใครสักคน หลับตาลงเบา ๆ กำหนดรู้ตามที่ครูฝึกบอก มีความรู้สึกอย่างไร ? ให้ตอบไปตามนั้นเลย

พระเมตตา 02-04-2010 08:32

ข้อที่สาม อย่าเป็นคนขี้สงสัย ส่วนใหญ่พวกเรา รับรู้เรื่องต่าง ๆ มามากต่อมากด้วยกัน แล้วจะเป็นคนขี้สงสัย การรู้เห็นนั้น เรารู้เห็นตามสภาพปัจจุบัน ตอนนั้น เดี๋ยวนั้น แต่สิ่งที่เรารับฟังมานั้นไม่ใช่ ถ้าเราไปเอาสิ่งที่เรารับฟังมาไปเปรียบเทียบ เขาเรียกว่า ติดอุปาทาน

ขอยกตัวอย่างตัวเองให้ฟังว่า อาตมาฝึกครั้งแรก เพราะอยากเห็นพระอินทร์ เคยดูลิเกมาเยอะ พระอินทร์ต้องตัวเขียว ๆ ใส่ชฎาด้วย ปรากฏว่าพอไปเข้าจริง ๆ ถึงบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ไม่ได้เจอพระอินทร์อย่างที่ตัวเองรู้จัก

เจอลุงกำนันท่านหนึ่ง อ้วนพุงปลิ้นเลย ใส่กางเกงขาสามส่วน มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ แถมสูบบุหรี่มวนโตอีกต่างหาก ก็ไปยืดคอมอง นี่หรือพระอินทร์ ? ท่านก็ลุกขึ้นนั่งถามว่า แล้วเอ็งอยากดูแบบไหน ? ในช่วงไม่กี่วินาที ท่านเปลี่ยนให้ดูเป็นร้อย ๆ แบบ แล้วท้ายสุดก็คือแบบที่เราคิดว่าใช่ ก็คือต้องตัวเขียว ๆ แล้วใส่มงกุฏแหลม ๆ ด้วย

ดังนั้นถ้าหากเราเป็นคนขี้สงสัย ยึดเอาอุปาทานจนเกินไป อย่างเช่น นางฟ้าไม่ใส่เสื้อ ยุ่งแน่ ๆ เลย อย่าลืมว่าท่านรวยกว่าเราเยอะ ถึงขนาดไม่มีเสื้อใส่นี่หมดสภาพเลย อันนั้นเป็นเทคนิคของโบราณที่เขาวาดภาพในแนวอีโรติก เพื่อจะดึงดูดความสนใจของคน เลยไม่ใส่เสื้อให้นางฟ้า

ข้อที่สี่ ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง ส่วนใหญ่คนที่ขาดความมั่นใจ พอฝึกได้ในช่วงอยู่ต่อหน้าครูฝึก ลับหลังไปแล้วก็สงสัยว่า เอ๊ะ..! เมื่อกี้จะจริงหรือเปล่า ? โดยเฉพาะกลับบ้านไปแล้วทำต่อไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ก็เป็นวิธีเดียวกันนั่นเอง

:4672615:อย่าลืมข้อสรุปนะ

๑.ต้องไม่กลัว

๒.ต้องไม่อยากจนเกินไป ต้องคลายสมาธิของตัวเองลงมาให้หมดก่อน ยกเว้นว่าใครทรงฌาน ๔ ได้คล่องตัว ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้อง

๓.ต้องไม่เป็นคนติดสงสัย เอาของเก่ามาปะปนกับเรื่องที่พบในปัจจุบัน ตอนนั้น เดี๋ยวนั้น

๔.ต้องมีความมั่นใจในตัวเอง


ถ้าใครสามารถทำได้ดังนี้ โดยเฉพาะเคล็ดลับตรงที่ว่า มโนมยิทธิแค่คิดก็ถึงแล้ว ถ้าหากครูฝึกท่านบอกว่า ให้ยกกำลังใจขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็ให้กำหนดความรู้สึกของเราทั้งหมดว่า ที่อยู่ตรงหน้านี่คือดาวดึงส์

ถ้าครูฝึกถามว่า มีสภาพอย่างไร ? ความรู้สึกตอนนั้นบอกว่าอย่างไร ? ให้ตอบไป เห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เป็นไร เอาความรู้สึกแรกเข้าว่า พอครูฝึกบอกเราให้ทำตามไปเรื่อย ๆ สภาพจิตที่ตื่นเต้นตอนแรก ก็จะค่อย ๆ นิ่งลง เหมือนกับน้ำนิ่ง การรู้เห็นจะชัดขึ้นเรื่อย ๆ

สุธรรม 17-01-2011 14:24

ส่วนที่สำคัญก็คือ เมื่อทำได้แล้วอย่าทิ้ง ให้ซักซ้อมเอาไว้บ่อย ๆ จะได้เกิดความคล่องตัว ถึงเวลาจะได้ใช้งานได้จริง อย่างเช่นมีปัญหาในหน้าที่การงาน เราคิดหาทางแก้ไขไม่ได้ ก็ยกจิตขึ้นไปกราบถามพระ หรือ ถามพรหมเทวดาองค์ใดก็ได้ที่เราคุ้นเคย อย่างที่หลวงปู่สด วัดปากน้ำท่านว่า "มีอะไรให้ถามพระธรรมกายเอา.." บางทีวิธีแก้ไขที่ท่านบอกมา ก็ง่ายจนเราคิดไม่ถึง ช่วยประหยัดเวลาของเราไปได้มาก

โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา ถ้าติดขัดเรื่องเรียน สามารถที่จะถามได้ทันที แม้แต่เวลากำลังทำข้อสอบอยู่ ก็ยกจิตไปถามพระได้เดี๋ยวนั้น ถ้าคล่องตัวจริง ๆ จะตอบได้ถูกต้องและถูกใจผู้ตรวจข้อสอบด้วย อาตมาเองทำคะแนนเต็มร้อยมาจนนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว ก็ด้วยการใช้มโนมยิทธินี่เอง แต่ควรที่จะอ่านหนังสือเอาไว้เป็นพื้นฐานด้วย เพราะถ้าไม่อ่านหนังสือเลย เวลาที่คำตอบออกมาแล้วไม่คุ้นเคย เราอาจจะไม่กล้าตอบ เพราะไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือเปล่า

สุธรรม 17-01-2011 14:26

แต่ที่สำคัญที่สุด และเป็นจุดประสงค์ของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำจริง ๆ ในการสอนมโนมยิทธินั้นก็คือ การที่เราสามารถยกจิตขึ้นไปกราบพระบนพระนิพพานได้นั้น ทำให้เราคุ้นเคยกับสภาพจิตที่ปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง ถ้าเราจำอารมณ์นั้นมา แล้วพยายามประคับประคองรักษาเอาไว้ จิตใจของเราก็จะผ่องใสมาก

ยิ่งสามารถเอาจิตเกาะพระนิพพานได้นานเท่าไร จิตของเราก็จะผ่องใสได้นานเท่านั้น เมื่อสภาพจิตคุ้นชินกับการปราศจากรัก โลภ โกรธ หลง ไปนาน ๆ ในที่สุดกิเลสทั้งหลายเหล่านี้ไม่สามารถที่จะงอกงามต่อไปได้ ก็จะเหี่ยวเฉา หมดสภาพ ตายไปเอง ทำให้เราสามารถบรรลุถึงพระนิพพานได้อย่างแท้จริง บาลีเรียกว่า เจโตวิมุตติ เป็นการหลุดพ้นด้วยการใช้กำลังใจในการกดกิเลสเอาไว้ จนกิเลสหมดสภาพ ดับสิ้นไปเอง

สุธรรม 17-01-2011 14:28

เมื่อเห็นประโยชน์ชัดเจนแล้ว ก็ขอให้ทุกคนตั้งใจฝึกฝน โดยการวางกำลังใจไว้ว่า วันนี้เราจะฝึกมโนมยิทธิ ครูฝึกว่าอย่างไรเราจะปฏิบัติตาม จะได้ผลหรือไม่ก็ไม่เป็นไร ขอให้เราได้ฝึกก็แล้วกัน ถ้าทำใจอย่างนี้ได้ การฝึกก็จะมีผลกับทุกท่านอย่างแน่นอน

ท้ายนี้ขอบารมีคุณพระศรีรัตนตรัย และครูบาอาจารย์ทุกท่าน อำนวยพรให้ท่านทั้งหลาย สามารถฝึกมโนมยิทธิได้คล่องตัว สามารถรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ถ้วนทั่วทุกตัวคนด้วยเทอญ...จากนี้ไปขอให้ทุกท่านเตรียมสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานจ้ะ


วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑

การปฐมนิเทศก่อนฝึกมโนมยิทธิแก่พนักงานของบริษัท AAA (Asia Asset Advisory)
ที่ รอยัล ริเวอร์แคว รีสอร์ท จังหวัดกาญจนบุรี


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:52


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว