กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เคล็ดวิชาต่าง ๆ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=11)
-   -   ตำราช้าง ฉบับรัชกาลที่ ๑ (แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=861)

เด็กเมื่อวานซืน 16-08-2009 12:55

ตำราช้าง ฉบับรัชกาลที่ ๑ (แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
 
วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขาลจัตวาศก(๑) จำลองแล้ว ทานแล้ว

ศุภมัสดุ อันนี้กล่าวในพระศิวกรรม เมื่ออาทิสรรค์บังเกิดช้างพังพลาย จึ่งพระพรหมบังเกิดช้างพังพลายจำพวกหนึ่ง ชื่อพรหมพงศ์

พระพิษณุบังเกิดช้างพังพลายจำพวกหนึ่ง ชื่อพิษณุพงศ์

พระอิศวรเป็นเจ้าบังเกิดช้างพังพลายจำพวกหนึ่ง ชื่ออิศวรพงศ์

พระเพลิงบังเกิดช้างพังพลายจำพวกหนึ่ง ชื่ออัคนิพงศ์

เป็นอำนวยพงศ์ช้างทั้ง ๔ ประการ มีสังสถานรูปพรรณต่าง ๆ ในตัวช้างนั้น


หมายเหตุที่

๑. ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๕
๒. การเรียกศกตามเลขท้ายของปีที่ลงได้แก่
- ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข ๑ เรียก "เอกศก"
- ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข ๒ เรียก "โทศก"
- ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข ๓ เรียก "ตรีศก"
- ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข ๔ เรียก "จัตวาศก"
- ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข ๕ เรียก "เบญจศก"
- ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข ๖ เรียก "ฉศก" (อ่านว่า ฉอสก)
- ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข ๗ เรียก "สัปตศก"
- ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข ๘ เรียก "อัฐศก"
- ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข ๙ เรียก "นพศก"
- ปีจุลศักราชที่ลงท้ายเลข ๐ เรียก "สัมฤทธิศก"

๓. วิธีการคำนวณเพื่อเทียบเวลาจาก จุลศักราช เป็น พุทธศักราช ให้นำตัวเลขจำนวน ๑๑๘๑ บวกเข้าไปกับตัวเลขของ จุลศักราช ก็จะได้เป็นปี พุทธศักราช ที่ต้องการ

เด็กเมื่อวานซืน 22-08-2009 23:36


อันว่าพรหมพงศ์นั้นไซร้ ช้างนั้นสังสถานแห่งตัวช้าง มีขนงอกขึ้นเป็นสองเส้นคู่กัน แลขนนั้นยาว มีตนอันน้อยแลยาว มีกระดุจดอกกรรณิการ์ มีงาอันงามแต่ต้นถึงปลาย มีเอ็นอันเล็ก มีเสียงศัพท์ดุจเสียงวัวผู้ มีพรรณเหลืองขาวแลเขียวพรายดุจขนนกยูงเห็นขาวในอก
มีงาใหญ่ แลตางามดุจแก้ว ทั้งนี้ว่าจะให้จำเริญโภไคยไอยศุริยสิริสมบัติแล

เด็กเมื่อวานซืน 22-08-2009 23:36

อันว่าพิษณุพงศ์นั้นไซร้ มีสังสถานแห่งตัวช้างนั้น มีลักษณะคอนั้นสั้น แลอกใหญ่ แลตัวสั้น แลงาใหญ่ มีกระชั้นควาญอันงาม มีเสียงอันคำครึ้ม หูนั้นมีพรรณแดง กระหมวดหัวงามแลใหญ่สมบูรณ์ มีกระละเอียด มีเดชอาจให้มีชัยชำนะทุกเมื่อแล


อธิบายคำศัพท์
กระ หมายถึง จุดเล็ก ๆ มีสีต่าง ๆ
กระชั้นควาญ หมายถึง สะโพกช้าง หรือ ตำแหน่งที่นั่งควาญช้าง(ท้ายช้าง)

กระหมวด หมายถึง จอมประสาทศรีษะช้าง หรือ โขมดกลางกระหม่อมช้าง เป็นอวัยวะสําคัญที่เกิดขนช้างฐาน ๑ ใน ๕ ฐาน คือ ขนที่หู, หาง,บรรทัดหลัง,กระหมวดหรือโขมด,ราวชัก หรือ สีข้างช้าง แต่โดยนิยมถือเอาเฉพาะแนวที่สายประโคนรัด ซึ่งถัดจากขาหน้าไปหน่อยหนึ่ง ในการดูลักษณะช้างเผือกใช้ตรวจขนทั้ง ๕ ฐานนี้ เป็นทางประกอบการพิจารณา.

คำครึ้ม หมายถึง กระหึ่มก้อง
พรรณ หมายถึง ชนิด,สี,ผิว
พรหมพงศ์ หมายถึง ชื่อตระกูลช้างที่กำเนิดจากเทวฤทธิ์ของพระพรหม ลักษณะเป็นช้างวรรณะพราหมณ์

พิษณุพงศ์(วิษณุพงศ์) หมายถึง ชื่อตระกูลช้างที่กำเนิดจากเทวฤทธิ์ของพระวิษณุ(พระนารายณ์) ลักษณะเป็นช้างวรรณะแพศย์


โภไคย หมายถึง ทรัพย์สมบัติ
ไอยศุริย(ไอศูรย์,ไอศวรรย์) หมายถึง ความเป็นเจ้า เป็นใหญ่ อำนาจ ความเป็นเจ้าแผ่นดิน

เด็กเมื่อวานซืน 30-08-2009 15:37

http://i117.photobucket.com/albums/o...i/100_2346.jpg
ภาพประกอบ ช้างในตระกูลอิศวรพงศ์ ชื่ออ้อมจักรพาฬ มีลักษณะงาซ้ายสั้นกว่างาข้างขวา และงาจะอ้อมมาข้างหน้างวง


อันว่าอิศวรพงศ์นั้นไซร้ มีสังสถานตัวช้างนั้นเกลี้ยง แลมิได้หม่นหมอง มีกระประดับเสมอแลงาม
งานั้นยาวเสมอกัน หูใหญ่แลอ่อน กระบอกตานั้นใหญ่แลงาม มีเดชกล้าแข็งบ่มิได้หวั่นไหว มีชัยชำนะทุกเมื่อแล

เด็กเมื่อวานซืน 30-08-2009 15:39

http://i117.photobucket.com/albums/o...i/100_2344.jpg

ภาพประกอบ ช้างในตระกูลอัคนิพงศ์


อันว่าลักษณะช้างอันชื่ออัคนิพงศ์นั้นไซร้ มีกระอันเล็กเสมอแลงาม มีตาดุจพรรณน้ำผึ้งรวง
เส้นขนกลมแลงาม มีพรรณละเอียด หูนั้นแดง ปากแดง งาแดงซ้ำไล้มีประการดุจไฟป่าและอาจชนะยุทธทุกเมื่อแล

อธิบายคำศัพท์

ชำนะ หมายถึง ชนะ (แผลงมาจาก ชนะ)
ซ้ำไล้ หมายถึง ทาทับ (มาจาก ซ้ำ แปลว่า ซ้อน,ทับ : ไล้ แปลว่า ฉาบ,ทา)
ประการ หมายถึง อย่าง,ชนิด

เด็กเมื่อวานซืน 21-09-2009 08:43

http://i117.photobucket.com/albums/o...49-Copy_cr.jpg
มโหทโร มหากาโย คชภกฺโตฺร มหพฺพโล
นาโค นาคยชโย โหติ ศิวปุตฺโต มหิทฺธิโก
คชธโร คชสิทฺธี ภวนฺตุ เต
เอกทนฺตปรมรํโส นาคภรณภูสิโต
กมฺมธาโร กมฺมธาโร กมฺมสิทฺธี ภวนฺตุ เต
โอม เห เห เห คชลกฺขณ เตเชน คชฺโช คชสฺวาห

เด็กเมื่อวานซืน 21-09-2009 08:49

http://i117.photobucket.com/albums/o..._2383-Copy.jpg

ภาพ พระศิวบุตรพิฆเนศวร(กลาง),ฤๅษีเทพกรรม(ซ้าย),ฤๅษีเทพบุตร(ขวา)


เมื่อถึงคราวให้นึกถึงพระเจ้านี้แล้ว แลอ่านมนต์นี้ ๓ คาบ เป็นคัดเชิงช้างตัวอื่น แลพระเจ้านี้ชื่อ ศิวบุตรพิฆเนศวร ลูกพระเพลิง ผิผู้ใดจะทรงคชศาสตร์นี้ไซร้ ให้ไหว้ให้บูชาคุรุบาทิยาย
จึ่งจะสิทธิจำเริญแห่งช้างนั้นแล

อันนี้อาทิสรรค์ให้เป็นช้างตัวผู้เกิด อันนี้อาทิสรรค์ให้เป็นช้างหนมือขวา ตัวเมียหนมือซ้าย

พระพิฆเนศวรนี้คือ พิฆ ชื่อโกญจนาทเนศวร ชื่อศิวบุตร

ฤๅษีเทพกรรมนี้ ฤๅษีตนนี้ ฤๅษีเทพบุตร

เด็กเมื่อวานซืน 21-09-2009 09:02

http://i117.photobucket.com/albums/o..._2382-Copy.jpg

ภาพ พระเทพกรรม(กลาง),ฤๅษีทรภาศเทพกรรม(ซ้าย),ฤๅษีสิทธิพระกรรม(ขวา)


พญาองค์นี้ชื่อ เทพกรรม

ฤๅษีทรภาศเทพกรรม ฤๅษีสิทธิพระกรรม

เทพบุตร


มโหทโร มหากาโย ศิวปุตฺโต มหิทฺธิโก
หตฺถาธาโร หตฺถิชโย ฉ จาหิ ปาสธโร
นาคปาโส นาคพนฺโธ คชรกฺโส จ อาไจ
สพฺพเตเช จ เทวราช ตูริยเทว จ เม สิทฺธิ
โอม เห เห ติษจหนยเตเชน อไส สฺวาหาย สฺวาผัด

มนต์นี้ อ่าน ๓ คาบ คัดบาศถูกย่อมลุ้ยแล


อธิบายคำศัพท์

โกญจนาท หมายถึง การเปล่งเสียงเหมือนเสียงนกกระเรียน, ความกึกก้อง โดยมากใช้แก่เสียงช้าง

โกญจนาทเนศวร หมายถึง พระโกญจนาเนศวร ตามตำราสร้างโลกกล่าวถึงตำนานการกำเนิดช้างเผือกว่า พระโกญจนาเนศวรศิวบุตร เกิดจากเปลวเพลิงที่พุ่งจากพระกรรณ(หู)เบื้องซ้ายของพระอัคนี

คัดเชิง หมายถึง การกำกับท่าที การสยบท่าที

คัดบาศ หมายถึง การขดเชือกให้เป็นบ่วง หรือ บาศ

คุรุบาทิยาย, ครูบาทิยาย หมายถึง ผู้ที่มีความรู้เรื่องช้างอย่างเชี่ยวชาญชำนาญสูงยิ่งกว่าหมอช้างผู้ใหญ่

ทรงคชศาสตร์ หมายถึง ศึกษาวิชาว่าด้วยเรื่องช้าง

พญาเทพกรรม หมายถึง เทพเจ้าผู้มีสิทธิอำนาจในเรื่องช้าง บางตำราเรียกว่า เทพกรรม หรือ พระกรรมบดีก็มี ศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจาก พระพิฆเนศวร และ พระโกญจนาเนศวร
มีฤๅษีเป็นบริวาร ๒ ตน คือ ฤๅษีทรภาศเทพกรรม หรือ ธรรมเทพ และ ฤๅษีสิทธิพระกรรม

พระศิวบุตรพิฆเนศวร หมายถึง พระพิฆเนศวร

ลุ้ย หมายถึง สะดวก คล่องแคล่ว

หน หมายถึง ทาง ทิศ

สรรค์ หมายถึง สร้างให้มีให้เป็นขึ้น มักใช้เข้าคู่กับคำว่า สร้าง เป็น สรรค์สร้าง หรือ สร้างสรรค์


หมายเหตุ

คำว่า "อาไจ" และ "อไส" ในหนังสือท่านไม่มีคำแปลครับ

เด็กเมื่อวานซืน 21-09-2009 09:11

กราบเรียนสอบถาม พี่สุธรรม ครับ

ในคาถาบท

มโหทโร มหากาโย คชพกฺโตฺร มหพฺพโล
นาโค นาคยชโย โหติ ศิวปุตฺโต มหิทฺธิโก
คชธโร (คชธโร) คชสิทฺธี ภวนฺตุ เต
เอกทนฺตปรมรํโส นาคภรณภูสิโต
กมฺมธาโร กมฺมธาโร กมฺมสิทฺธี ภวนฺตุ เต
โอม เห เห เห คชลกฺขณ เตเชน คชฺโช คชสฺวาห

ตรงข้อความสีน้ำเงิน ควรจะพิมพ์เพิ่มไหมครับ เนื่องจากว่า ท่านผู้แปลหนังสือท่านบอกว่า ของเดิมไม่มี แต่เพื่อให้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ จึงได้เสริมขึ้นมาครับ


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 13:59


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว