กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๙ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5337)

เถรี 23-12-2016 19:14

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๙
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม จะจับการกระทบของลมจุดเดียว ๓ จุด ๗ จุดก็ตามแต่ที่เคยทำมา

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ เมื่อครู่ที่ได้กล่าวถึงความถนัด ความชำนาญในการเข้าออกฌาน ในการสลับฌาน ในการทรงฌานตั้งเวลา การที่เราจำเป็นต้องฝึกซ้อมให้คล่องตัวขนาดนั้น ก็เพราะว่าถ้าเราเผลอสติแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว กิเลสจะสามารถแทรกเข้ามาในใจเราได้ทันที ถ้าเราไม่มีความชำนาญในการเข้าออกฌาน เราจะรับมือกับกิเลสไม่ทัน มักจะโดนกองทัพกิเลสยึดบ้านยึดเมืองยึดใจของเราไปก่อนแล้ว

การที่เราจะฝึกซ้อมให้เกิดความคล่องตัวนั้น ต้องพยายามที่จะทรงสมาธิในขณะที่เคลื่อนไหวให้ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่สมควรจะต้องฝึกหัดเอาไว้ ก็คือการเดินจงกรม การเดินจงกรมถึงเวลาเรากำหนดภาวนาได้ด้วย ถ้าสมาธิทรงตัวแน่นเราจะก้าวไม่ออก เราก็ต้องคลายสมาธิออกมานิดหนึ่งให้อยู่ในระดับที่เราก้าวได้ หลังจากนั้นสมาธิจะกลับลึกเข้าไปเราจะก้าวไม่ได้อีก ต้องคลายออกมาใหม่

ซักซ้อมทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ระดับที่เราเคลื่อนไหวได้กับสมาธิจะสูงขึ้นไปเรื่อย จนกระทั่งท้ายสุดไม่ว่าจะทรงฌานในระดับไหนก็ตาม เราจะสามารถเดินไปด้วย กำหนดภาวนาไปได้ด้วย หรือถ้าท่านเกรงว่าการเดินจงกรมจะกลายเป็นขี้ปากชาวบ้าน กลัวคนอื่นเห็นแล้วจะว่าเราบ้าบ้าง เพี้ยนบ้าง ถ้าอย่างนั้นเราก็มาปรับให้ทรงอารมณ์สมาธิในขณะที่เราทำงานแทน

เถรี 23-12-2016 19:16

อาตมาเองชอบการถูพื้นศาลา หรือว่ากวาดใบไม้ เวลาไม้ถูหรือไม้กวาดจะไปซ้ายไปขวา ไปแรงไปเบา ไปยาวไปสั้น เรากำหนดรู้ไปด้วย ทำให้เราทำงานโดยเพลิดเพลิน ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เพราะสมาธิจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย

ถ้าหากว่าเราสามารถทรงสมาธิในขณะที่เคลื่อนไหวได้ อันดับแรกเลย คือ กองกรรมฐานนั้นจะหนักแน่นมั่นคงมาก ไม่พังง่าย เพราะว่าการเคลื่อนไหวนั้น โดยปกติสำหรับคนทั่วไปจะทรงสมาธิไม่ได้ หรือทรงได้ยาก ในเมื่อเราทรงได้กรรมฐานของเราก็จะพังยาก ทำให้เราสามารถประคับประคองรักษาอารมณ์ที่เราปฏิบัติได้ ให้อยู่กับเราได้ยาวนานกว่าการนั่งภาวนาตามปกติ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่เราควรจะซักซ้อมให้คล่องตัวเอาไว้

ส่วนในเรื่องของการทรงฌานตั้งเวลานั้น เป็นการกำหนดจิตให้จำ อย่างเช่นว่าเรานั่งสมาธิลงไป ให้ตั้งใจเลยว่า ๑๕ นาทีนี้เราจะไม่คลายสมาธิออกมา ถ้าบางคนจะนึกเป็นเข็มนาฬิกาวิ่งขึ้นหน้าไป เป็นเลข ๒ หลัก เช่น ๑๕ นาทีก็ได้ เมื่อครบ ๑๕ นาที สมาธิจะคลายออกมาเอง ถ้าเผลอก็จะฟุ้งซ่านไป รัก โลภ โกรธ หลง เลย ถ้าท่านทั้งหลายซักซ้อมแบบนี้ไว้บ่อย ๆ ต่อไปไม่ว่าเป็นเวลาน้อยก็ดีหรือมากก็ดี เราจะสามารถสั่งการได้ว่า จะให้ทรงสมาธินานเท่าไรตามที่เราต้องการ

โดยเฉพาะท่านทั้งหลายที่ต้องมีนาฬิกาปลุก ถ้าหากว่าเราทรงฌานตั้งเวลาได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้นาฬิกาปลุกอีก เพราะเราสามารถกำหนดใจปลุกตัวเองได้ทุกเวลาตามที่ต้องการ

เถรี 26-12-2016 18:32

ถ้าใครฝึกหัดใหม่ ๆ เมื่อนอนลงไปก็ให้นึกถึงภาพนาฬิกา อย่างเช่นว่าเข็มสั้นชี้ที่เลข ๓ เข็มยาวชี้ที่เลข ๑๒ คือเวลาตี ๓ ตั้งใจว่าถึงตี ๓ ตรง เราจะตื่นนอน หลังจากนั้นก็ภาวนาให้หลับไป แล้วสังเกตดูว่าเราตื่นตรงตามเวลาที่ต้องการหรือไม่ ? พอซักซ้อมบ่อย ๆ เข้า ความชำนาญมีมาก แค่คิดว่าจะตื่นเวลาไหน สภาพจิตก็จะตื่นเวลานั้น ถ้าเรามีกิจ มีความจำเป็นที่จะทรงฌานเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้ชั่วโมง พอใจกำหนดภารกิจว่าเท่าไร นานเป็นเวลากี่นาที กี่ชั่วโมง ถ้าหากว่ายังไม่ครบตามเวลาจิตจะไม่เคลื่อนไม่คลายออกมา จะทรงอยู่ในสมาธิได้นานตามที่เราต้องการ

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านกำหนดการภาวนาพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันเสาร์ที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๙

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยคะน้าอ่อน)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:34


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว