กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5412)

เถรี 16-02-2017 15:08

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันเสาร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๖๐ เรื่องที่จะกล่าวถึงในวันนี้ก็คือ การปฏิบัติธรรมของพวกเรา ส่วนหนึ่งสามารถรักษากำลังใจได้ในขณะที่ปฏิบัติอยู่ แต่พอขยับไปทำหน้าที่การงานอื่น ๆ ก็ไม่สามารถที่จะรักษากำลังใจให้ทรงตัวไว้ได้ เมื่อสมาธิเคลื่อนคลายออกมา ก็มักจะโดน รัก โลภ โกรธ หลง ทำอันตรายได้ทุกครั้ง

สำหรับปัญหานี้ความจริงแก้ไขได้ง่ายมาก คือ เราต้องเพิ่มสติและสมาธิของเราให้มากขึ้น คำว่า "มากขึ้น" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่า ต้องได้สติสมาธิที่เป็นฌานสมาบัติระดับสูง ๆ แต่คำว่ามากขึ้น ก็คือ ให้เรามีสติระลึกรู้อยู่ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็น ยืน เดิน นอน นั่ง กระทำการใด ๆ ก็ตาม เมื่อถึงเวลาก่อนที่จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เราต้องตั้งสติให้มั่นคงเสียก่อนแล้วค่อยขยับ สมาธิจะได้ไม่เคลื่อนไม่คลายไปไหน

ไม่ว่าจะทำหน้าที่การงานใด ๆ ให้เอาสติเข้าไปจับอยู่กับอาการเฉพาะหน้านั้น ๆ เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน ไม้กวาดไปทางด้านไหน ซ้ายหรือขวา แรงหรือเบา ยาวหรือสั้น ไม้ถูไปทางด้านไหน แรงหรือเบา ยาวหรือสั้น ให้กำหนดสติรู้อยู่ ไม่ว่าจะหุงข้าว ทำกับข้าว ซักผ้าก็เหมือนกัน สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบหรือที่เราไปกระทำ ต้องมีสติรู้เท่าทัน โดยการประคับประคองรักษาอารมณ์สมาธิของเราเอาไว้เฉพาะหน้า

เถรี 16-02-2017 15:10

คำถามคือ เรารู้ได้อย่างไรว่าอารมณ์สมาธินั้นเพียงพอต่อการใช้งานแล้ว ? อารมณ์สมาธิขั้นใดที่เราต้องรักษาประคับประคองเอาไว้เฉพาะหน้า ? ก็คือในขณะใดขณะหนึ่งที่ท่านทั้งหลายภาวนาไป พิจารณาไป จนกระทั่งรู้ลมหายใจได้เองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับก็รู้ลมหายใจเข้าออกได้ ไม่ต้องบังคับก็รู้คำภาวนาไปพร้อมกันได้ ถ้าลักษณะอาการนั้นจัดเป็นปฐมฌานละเอียด มีกำลังเพียงพอที่จะกดกิเลส คือ รัก โลภ โกรธ หลง ให้ดับลงได้ชั่วคราว เราก็แค่เอาสติประคับประคอง รู้ลมรู้คำภาวนาเช่นนั้นตลอดระยะเวลาที่ทำงานทำการต่าง ๆ อยู่

ถ้าพังไป หายไป จะทำอย่างไร ? ก็ต้องรีบกลับมาหาลมหายใจเข้าออกของเราใหม่ ถ้าทำหน้าที่การงานอยู่ร่วมกับคนอื่น เราไม่สามารถที่จะวางมือจากงานมาภาวนา อาตมาเคยใช้วิธีเข้าห้องน้ำ ก็คือไปนั่งภาวนาในห้องน้ำแทน คนก็แค่คิดว่าเราเข้าห้องน้ำนานไปหน่อยเท่านั้น พออารมณ์ใจทรงตัวแล้วก็ตั้งสติประคับประคองไว้ ออกมาสู้กับงานต่าง ๆ ใหม่

ถ้าเราสามารถทำเช่นนี้ได้ การรักษาอารมณ์ใจของเราให้ปราศจาก รัก โลภ โกรธ หลง ชั่วคราวก็เป็นไปได้ และไม่เกินกำลัง เพราะเมื่อสมาธิเราทำงานอัตโนมัติ เราแค่เอาสติไปควบคุม ระมัดระวังไว้อย่าให้สมาธิเคลื่อนคลายออกมา เมื่อเคลื่อนคลายออกมาก็พยายามรีบกลับเข้าไปหาสมาธินั้น ก่อนที่จะโดนกิเลสต่าง ๆ กินใจของเราได้

เถรี 18-02-2017 13:20

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ถ้าสามารถทำได้ ก็จะประคับประคองการปฏิบัติของเราให้มีความก้าวหน้า เพราะว่าเราไม่ได้นั่งปฏิบัติอย่างเดียวแล้ว แต่ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม เราสามารถอยู่ในอารมณ์ของการปฏิบัติธรรมได้โดยตลอด

ในเมื่อเราสามารถรักษาอารมณ์ใจอย่างนี้ได้ ความผ่องใสของจิตมีมาก ปัญญาก็จะเกิดขึ้น ทำให้รู้ว่าเราต้องประคับประคองอารมณ์ใจอย่างไร ต้องคิด ต้องพูด ต้องทำอย่างไร จึงจะรักษาอารมณ์ใจให้ผ่องใส ปราศจากกิเลสได้ ถ้าสามารถรักษาอารมณ์ผ่องใสปราศจากกิเลสได้เช่นนี้ต่อเนื่องยาวนานพอ กิเลสไม่สามารถที่จะเกิดได้ ก็จะโดนอำนาจของฌานสมาบัติกดจนเฉาตายไปเอง

แต่ถ้ารู้สึกว่าการใช้อำนาจของฌานสมาบัติกดกิเลสนั้น เป็นเรื่องที่ลำบาก เหนื่อยยาก ก็หันมาใช้ปัญญาพิจารณา ให้เห็นว่าร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ระหว่างดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ท้ายสุดก็ไม่มีอะไรให้ยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนเราเขาได้ ให้สภาพจิตของเรารู้แจ้งเห็นจริงตามนี้ ปราศจากความคิดที่อยากจะเกิดอีก มีสภาพจิตที่มุ่งตรงต่อพระนิพพานแห่งเดียว

ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็เอาสภาพจิตสุดท้ายของเรา เกาะไว้ที่พระนิพพาน ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ก็ดูลมหายใจ รู้ลมหายใจของเราไป ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ เราก็กำหนดคำภาวนาไป ถ้าลมหายใจเบาลงหรือหายไป หรือคำภาวนาหายไป ก็ให้เรากำหนดรู้ว่าตอนนี้ลมหายใจเบาลง ลมหายใจหายไป หรือคำภาวนาหายไป ประคับประคองอารมณ์เช่นนั้นเอาไว้จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันเสาร์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยเถรี)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:00


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว