นวกะ คือ หมวด ๙
พุทธคุณ ๙ (คุณความดีของพระพุทธเจ้า)
๑. อรหํ เป็นพระอรหันต์ หมายถึง พระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส เป็นผู้ควรแก่การสั่งสอนผู้อื่น ควรแก่การได้รับความเคารพบูชา ๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ หมายถึง ตรัสรู้อริยสัจได้ด้วยพระองค์เอง ๓. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ หมายถึง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาความรู้และจรณะความประพฤติ ๔. สุคโต เป็นเสด็จไปดีแล้ว หมายถึง พระองค์ทรงดำเนินพุทธจริยาให้เกิดผลประโยชน์แก่สรรพสัตว์ด้วยดี และแม้ปรินิพพานแล้วก็ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้เป็นประโยชน์แก่มหาชนสืบมา ๕. โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก หมายถึง ทรงทราบสภาวะอันเป็นความจริงของสิ่งทั้งปวง ๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกบุรุษ ไม่มีใครยิ่งกว่า หมายถึง เป็นผู้ฝึกคนอื่นได้ดีเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียบเท่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร สอนตั้งแต่มหาโจร คนสามัญ เจ้าลัทธิศาสนา จนถึงกษัตริย์ ๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย หมายถึง ทรงเป็นครูสอนทั้งเทวดาและมนุษย์ให้บรรลุคุณธรรม ๘. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว หมายถึงทรงเป็นผู้ตื่นจากการปฏิบัติที่นับถือกันมาแบบผิด ๆ ๙. ภควา ทรงเป็นผู้มีโชค หมายถึง ไม่ว่าพระองค์จะทำอะไรก็ตาม ล้วนแต่ประสบผลสำเร็จทุกประการ เช่น ทรงหวังโพธิญาณก็สำเร็จ แม้ถึงมีผู้คิดร้ายก็ไม่อาจทำอันตรายได้ พระพุทธคุณทั้ง ๙ ประการนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นวารหาทิคุณ |
มานะ ๙ (ความถือตัว)
๑. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา ๒. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา ๓. เป็นผู้เลิศกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา ๔. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา ๕. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา ๖. เป็นผู้เสมอเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา ๗. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลิศกว่าเขา ๘. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเสมอเขา ๙. เป็นผู้เลวกว่าเขา สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา ข้อ ๑, ๔, ๗ มีความหมายถึงลักษณะของผู้มีความทะนงตัวว่า ตนเองนี้ไม่มีใครเสมอเหมือน ข้อ ๒, ๕, ๘ เป็นเหตุให้ตีตนเสมอคนอื่น และเป็นการยกตนข่มท่าน พร้อมทั้งสร้างความตกต่ำให้ตัวเอง ข้อ ๓, ๖, ๙ เป็นลักษณะของบุคคลที่ถ่อมตัวหรือคนดูถูกตัวเอง ทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง |
โลกุตตรธรรม ๙ (สภาวธรรมพ้นจากโลก)
โลกุตตรธรรม คือ ธรรมอันเลิศ อยู่เหนือวิสัยของปุถุชน ภาวะพ้นจากโลกียะ ไม่เกี่ยวข้องกับกาม ตัณหา อวิชชา เรียกว่า นวโลกุตตรธรรม มี ๙ อย่าง ดังนี้ มรรค ๔ คือ ความรู้ที่เป็นเหตุให้กำจัดสังโยชน์ได้อย่างเด็ดขาด ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ คือ ผลจากการกำจัดสังโยชน์ได้แล้ว ได้แก่ ผล ๔ นิพพาน ๑ ความปราศจากกิเลส ภาวะดับสนิทแห่งกิเลสและทุกข์ทั้งปวง ในที่นี้หมายถึง อนุปาทิเสสนิพพาน คือ ดับกิเลสพร้อมทั้งเบญจขันธ์ (ชีวิต) ๑. โสดาปัตติมรรค ๒. สกทาคามิมรรค ๓. อนาคามิมรรค ๔. อรหัตตมรรค ๕. โสดาปัตติผล ๖. สกทาคามิผล ๗. อนาคามิผล ๘. อรหัตตผล ๙. พระนิพพาน |
วิปัสสนาญาณ ๙ (ญาณในวิปัสสนา)
๑. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ) หมายถึง มีความรู้พิจารณาเห็นการเกิดขึ้นและความดับไปของขันธ์ ๕ และพิจารณาเห็นไปจนถึงว่า สิ่งทั้งหลายก็มีการเกิดการดับไปด้วยทุกอย่าง ๒. ภังคานุปัสสณาญาณ (ญาณอันตามเห็นความดับ) หมายถึง รู้เห็นชัดซึ่งความไม่เที่ยงแท้ของสภาวธรรมทั้งปวง ว่าต้องมีการเสื่อมสลายไปทุกอย่าง ๓. ภยตูปัฏฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว) หมายถึง ได้พิจารณาเห็นว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงที่มีปรากฏขึ้น ล้วนแต่มีการแตกสลายไปในที่สุดทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดยั่งยืนถาวรได้เลย เมื่อรู้อย่างนี้จึงเกิดความกลัว ๔. อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงถึงการเห็นโทษ) หมายถึง เมื่อพิจารณาเห็นสภาวะความเป็นไปของสังขารดังข้อ ๓ นั้นแล้ว ก็เห็นโทษของการเกิดอีก ซึ่งมีความทุกข์ร่ำไป ไม่รู้สร่าง ๕. นิพพิทานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นความหน่าย) คือ เมื่อพิจารณาเห็นว่า สังขารเป็นโทษนั้นแล้วก็เกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยินดีเพลิดเพลินอีกต่อไป ๖. มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย) หมายถึง เมื่อเห็นความเป็นไปของสังขารดังที่กล่าวแล้ว จึงหาทางที่จะพ้นไปเสีย จึงกำหนดหาอุบายที่จะทำตนให้พ้นไป ด้วยการพิจารณาด้วยหลักไตรลักษณ์ ๗. สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร) คือ เมื่อได้พิจารณาสังขารโดยละเอียดแล้ว ก็ได้ความจริงว่า ธรรมดาของสังขารย่อมเป็นเช่นนั้นเอง จึงวางใจเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายแล้วมุ่งปฏิบัติไปสู่พระนิพพาน เพราะเห็นว่านิพพานนั้นเป็นที่สงบ ๘. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ) หมายถึง เมื่อไม่ใฝ่ใจยึดติดในสังขารทั้งหลายแล้ว ญาณย่อมพิจารณามุ่งตรงไปหานิพพาน วิปัสสนาญาณเหล่านี้ จะมีเหตุต่อเนื่องถึงกันไปตั้งแต่ต้นจนถึงสุดท้ายตามลำดับ คือ ครั้งแรกได้เห็นเหตุ คือ ความเกิดและดับของสังขาร ต่อไปก็เห็นความสลาย - เกิดความกลัว - เห็นโทษ - แล้วเบื่อหน่าย - ใคร่อยากจะพ้น - หาทางพ้น - ปลงใจได้ - แล้วหยั่งรู้อริยสัจ |
สังฆคุณ ๙ (คุณของพระสงฆ์)
๑. สุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว คือปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา และปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ๒. อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ ไม่หลอกผู้อื่นเลี้ยงชีพ ไม่มีมายาสาไถย ๓. ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง คือ ปฏิบัติเพื่อความรู้ในธรรม เพื่อออกจากทุกข์ ๔.สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร คือ ปฏิบัติชอบ น่านับถือ สมควรแก่สามีจิกรรมของมหาชนทั่วไป (๔ ข้อ ข้างต้นนี้จัดเป็น อัตตหิตคุณ คือ เป็นข้อปฏิบัติดีที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับผลเอง) ๕. อาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่การคำนับ คือ ท่านเป็นผู้ควรจะได้รับการสักการะต่างๆ ที่เขานำมาถวาย ๖. ปาหุเนยโย เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ คือ เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เพราะว่าท่านปฏิบัติดีงาม ๗. ทักขิเณยโย เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ คือ สมควรที่จะได้รับของที่เขานำมาถวาย ๘. อัญชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี คือ ท่านเป็นผู้มีคุณธรรมสูง ทำให้ผู้กราบไหว้มีความสุขใจ ๙. อนุตตรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ เป็นเนื้อนาบุญของโลก คือ คนที่ทำบุญกับท่านจะมีผลมาก (๕ ข้อหลังนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก ๔ ข้อข้างต้นเพราะเมื่อ ๔ ข้อต้นบริสุทธิ์ ท่านจึงจะได้ผลเหล่านี้มา) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:45 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.