กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุุกร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6385)

เถรี 12-11-2018 10:02

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุุกร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราเอาไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๒ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ ก่อนกรรมฐานได้กล่าวไปแล้วว่า ส่วนใหญ่พวกเรานั้นทุกข์เพราะความคิดของตัวเอง เพราะว่าไม่สามารถที่จะหยุดใจอยู่กับปัจจุบันได้ ถ้าหากว่าไม่ไปหวนหาอาลัยในอดีต ก็จะฟุ้งซ่านไปในอนาคต ซึ่งจะสร้างความทุกข์แก่เราทั้งคู่

ถ้ากำลังใจของเราสามารถยึดโยงอยู่กับปัจจุบันเฉพาะหน้า คือตอนนี้เดี๋ยวนี้ จะเป็นกำลังใจที่มีความทุกข์น้อยที่สุด เพราะว่าความทุกข์จะเหลือแค่ตามสภาพร่างกายเท่านั้น สภาพจิตไม่ได้ไปปรุงแต่งซ้ำเติมให้ความทุกข์นั้นขยายตัวมากขึ้น

คราวนี้การที่จะหยุดกำลังใจของเราให้อยู่กับปัจจุบัน ให้สังเกตว่าทุกครั้งเมื่อเริ่มกรรมฐาน อาตมาจะบอกว่าให้ตั้งสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าให้ตามรู้เข้าไปจนสุด หายใจออกก็ให้ตามรู้ออกมาจนสุด ถ้าเผลอสติคิดถึงเรื่องอื่นเมื่อไร ก็ให้ดึงกลับมาตรงนี้ นี่คือการหยุดอยู่กับปัจจุบัน คือเอาสภาพจิตของเราที่เหมือนกับลิงซึ่งมีความซนมาก เตลิดเปิดเปิงไปทุกที่ทุกทางที่เขาอยากไป เอาลิงตัวนั้นมาผูกอยู่กับโซ่ ล่ามโซ่เอาไว้

โซ่นี้ก็คืออานาปานสติหรือว่าลมหายใจเข้าออก แรก ๆ ลิงก็จะดิ้นรน ก็ฟุ้งซ่านไปโน่นไปนี่ตามเดิม แต่ไปได้แค่สุดปลายโซ่ ถ้าสุดเมื่อไรก็เจ็บตัวเพราะว่าจะโดนโซ่กระชากกลับ หลังจากที่ต่อต้านกันอยู่ระยะหนึ่ง ถ้าเราไม่เลิกไปเสียก่อน ลิงตัวนั้นคือใจของเรา ก็จะอ่อนกำลังลงไปเรื่อย ๆ ท้ายสุดก็ต้องยอมอยู่กับโซ่นั้นแบบนิ่ง ๆ ระยะยาวนานบ้าง สั้นบ้าง ปานกลางบ้าง แล้วแต่กำลังใจของเราแต่ละคนที่ทำได้

เถรี 13-11-2018 21:48

เมื่อกำลังใจของเราหยุดอยู่กับปัจจุบัน ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ความทุกข์ทั้งหลายที่เรานึกคิดปรุงแต่งขึ้นมาเผาผลาญตัวเอง ก็จะลดน้อยถอยลง เพราะว่าสภาพจิตหยุดการคิดลงได้แล้ว เหลืออยู่แต่การตามดูลมหายใจเข้า ตามดูลมหายใจออก เมื่อถึงตรงจุดนี้ สภาพจิตก็จะเริ่มนิ่งทรงตัวเป็นสมาธิ ถ้าเรารู้สึกว่ากำลังใจของเรา ยังมีความต้องการความดีมากกว่านี้ ก็ให้ควบกับพุทธานุสติ โดยใช้คำภาวนาว่า พุทโธ ก็ได้ สัมมา อะระหัง ก็ได้ เพราะว่าทั้งสองคำนี้ ล้วนแล้วแต่ยึดโยงอยู่กับภาพพระ

ถ้าเรารู้สึกว่าการใช้ลมหายใจควบกับคำภาวนาแล้ว ก็ยังไม่เต็มกำลังใจของเราเอง กำลังใจยังสามารถรองรับได้มากกว่านั้น ก็ให้กำหนดภาพพระขึ้นมา จะเป็นพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบ จะเป็นภาพสมเด็จองค์ปฐมก็ได้ ภาพพระวิสุทธิเทพก็ได้ หรือว่าจะเป็นพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช หลวงพ่อโสธร ก็อยู่ที่เราชอบ หรือถ้ามีวัตถุมงคลที่เป็นรูปพระพุทธรูปองค์ใดอองค์หนึ่ง ที่เรามีความรักความชอบเป็นการส่วนตัว ก็นึกถึงพระพุทธรูปที่เป็นวัตถุมงคลชิ้นนั้น

หายใจเข้าให้มีความรู้สึกว่า ภาพพระนั้นไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออกให้ภาพพระนั้น ไหลตามลมหายใจออกมา พร้อมกับคำภาวนาของเรา ถ้าหากว่าเราทำอย่างนี้ สภาพจิตมีงานหลายอย่างที่ต้องระมัดระวัง คือการตามรู้ลมหายใจเข้าออกอย่างหนึ่ง การตามรู้การกำหนดคำภาวนาอย่างหนึ่ง การตามนึกถึงภาพพระอีกอย่างหนึ่ง เมื่อสภาพจิตต้องระมัดระวังงานหลายอย่างพร้อมกัน ก็จะไม่ฟุ้งซ่านไปที่อื่น จะมั่นคงอยู่เฉพาะตรงหน้าของเรา ทำให้ใจของเราสามารถหยุดอยู่กับปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่าน สมาธิก็จะค่อย ๆ ทรงตัวแนบแน่นขึ้น จะก้าวข้ามอาการกำหนดคิดว่าเราจะภาวนา ก้าวข้ามอาการกำหนดรู้ว่าตอนนี้เราภาวนา

บางทีก็เกิดอาการแปลก ๆ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น อย่างเช่น ขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกไปโยกมา บางคนก็ลอยขึ้นทั้งตัว บางคนก็รู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวรั่วเป็นรู ตัวแตก ตัวระเบิด บางคนก็เห็นแสงเห็นสีต่าง ๆ เป็นต้น ขอให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นกับเรา อย่าไปใส่ใจ ให้กำหนดใจอยู่กับลมหายใจเข้าออกและคำภาวนา ตลอดจนกระทั่งภาพพระของเราเท่านั้น

เถรี 14-11-2018 19:02

ถ้ารู้สึกว่ากำลังใจหลุดไปที่อื่น เมื่อรู้ตัวก็ให้รีบดึงกลับมาที่คำภาวนาและลมหายใจเข้าออก ตลอดจนภาพพระของเรา ในการกำหนดภาพพระนั้น ก็อย่าเอาความชัดเจนเป็นหลัก อย่าเอารายละเอียด เพราะว่าใหม่ ๆ แค่สามารถกำหนดได้ว่ามีภาพพระอยู่กับเราก็ใช้ได้แล้ว จะเห็นหรือไม่เห็นไม่ใช่สาระ

สาระสำคัญก็คือกำหนดนึกถึงภาพพระได้ พอกำลังใจทรงตัวแล้ว ความชัดเจนจะค่อย ๆ มีขึ้น เป็นไปตามลำดับสมาธิที่ลึกขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงระดับนั้นรายละเอียดต่าง ๆ ก็จะมาเอง

ให้ทุกคนพยายามรักษากำลังใจเอาไว้เช่นนี้ เมื่อสมาธิคลายตัวออกมาก็หาวิปัสสนาญาณอย่างใดอย่างหนึ่งให้คิด ให้พิจารณา อย่างเช่นเห็นว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง เห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์ เห็นว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อย่างใดอย่างหนึ่ง แรก ๆ ให้คิดพิจารณาให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะละเอียดได้ ซักซ้อมทำไปบ่อย ๆ สภาพจิตมีความดื้อน้อยลง เมื่อถึงเวลาบอกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่มีการเถียงอีก ไม่มีการต่อต้านอีก จึงนับว่าใช้ได้

ลำดับต่อไปขอให้ทุกท่านภาวนาและกำหนดการพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันศุกร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๑

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทาริกา)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:44


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว