กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เก็บตกจากบ้านอนุสาวรีย์ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=26)
-   -   เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๒ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=559)

เถรี 08-06-2009 17:47

เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๒
 
ถาม : การพิจารณา อาหาเรปฏิกูลสัญญา?
ตอบ : ให้เห็นสภาพว่า อาหารมาจากความสกปรก อาหารเติบโตมาจากดินที่ใส่ปุ๋ย ปุ๋ยก็เป็นของสกปรก พอกินเข้ามาอยู่ในร่างกายของเราที่มีความสกปรก ถ่ายออกมามันก็มีลักษณะของความสกปรกตามมาด้วย

บรรดาเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่มีเลือดมีคาว มันเน่ามันเหม็นอย่างไรเราก็นำมาพิจารณาดูได้ ถ้าหากพืชผลไม้เราจะดูไม่ออก เพราะมันมาตอนมันดี เราก็นึกถึงตอนมันเน่า ก็จะเห็นสภาพความเป็นจริง ใจจะได้ไม่ยึดติด

บางคนถึงขนาดว่าถ้ามีร้านอาหารดีที่ไหนก็พยายามตะเกียกตะกายไปกินจนได้ อย่างนั้นสมควรน่าจะพิจารณาตรงนี้

ควรสักแต่ว่ากินเพื่ออยู่ไปวัน ๆ หนึ่ง พิจารณาให้รู้เท่าทัน ว่าเรากินเพื่อยังอัตภาพร่างกายนี้ให้อยู่เท่านั้น ส่วนประเภทต้องการอาหารหน้าตาสวย ๆ ต้องการอร่อย ต้องการเชลล์ชวนชิม นั่นคือกิเลสมันต้องการ

ตักอาหารอย่างหนึ่งครั้งแรก เราอาจจะตักตามสภาพร่างกายต้องการ แต่ถ้าตักซ้ำของเดิมให้ระวังไว้ว่า เรากินตามกิเลสหรือเปล่า? กินเพราะรู้สึกว่ามันอร่อยหรือเปล่า? กระทั่งกินต้องระวัง"

เถรี 08-06-2009 17:50

ถาม : การรับยันต์เกราะเพชร ถ้ารับที่บ้านจะได้หรือไม่?
ตอบ : อยู่ที่ไหนก็รับได้ การสงเคราะห์ของพระท่านไม่จำกัดเขต อย่าว่าแต่ที่นี่หรือต่างประเทศเลย แม้แต่ต่างดาวก็ยังได้

เถรี 08-06-2009 22:25

พระอาจารย์เล่าว่า "ท่านเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมแมนยูฯ สมัยที่เขายังเตะบอลเอง ฝีมือก็ธรรมดา แต่เขาเข้าใจตัวเอง เขาเข้าใจตรงที่ว่า ถ้าเขาเล่นในสนามแล้วเขาจะควบคุมเพื่อนไม่ได้ เขาควบคุมทีมได้เฉพาะแต่ลูกบอลเท่านั้น แต่ถ้าเขาอยู่นอกสนาม เขาเห็นเพื่อน ๑๑ คนเล่น เขาจะควบคุมเกมส์อย่างไรก็ได้ เขาก็เลยเปลี่ยนไปเป็นผู้จัดการทีม

ลักษณะนี้อยากจะบอกพวกเราว่า
บางทีการที่ยืนอยู่ข้างหน้าก็ไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จ ยอมถอยไปข้างหลังสักก้าวสองก้าว มันก็อาจจะดีกว่าที่คิด

ตอนดูฟุตบอล คนจะเห็นแต่ผู้เล่น ๑๑ คนในสนาม ไม่มีใครเห็นอเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เพราะเขาอยู่ข้างนอก ยกเว้นกล้องจะถ่ายไปตอนที่เขากำลังใส่อารมณ์เต็มที่ เมื่อนักฟุตบอลยิงเข้าประตูจะกี่ลูกก็ตาม เวลาเขาถามว่าทีมนี้ประสบความสำเร็จได้เพราะใคร? เขาชี้มือไปที่คนข้างหลัง ไปที่อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ถ้าไม่มีคนนี้ก็จะไม่ประสบความสำเร็จ


บางทีเราคิดแต่จะก้าวล้ำไปข้างหน้า โดยที่ไม่ได้คิดว่าข้างหลังยังมีที่ให้ยืนอยู่อีกบานเลย เพราะคนเอาแต่แย่งกันอยู่ข้างหน้า
แต่ข้างหลังที่ยังว่าง จนสามารถนอนได้เลย ตั้งวงเตะตะกร้อได้อีกต่างหาก

บอกให้รู้ไว้เผื่อพวกเราไปใช้ประโยชน์ได้ คิดแต่จะอยู่ข้างหน้าก็แย่ ถอยไปข้างหลังสักก้าว พื้นที่มีอีกเยอะมาก"

เถรี 08-06-2009 22:30

พระอาจารย์กล่าวว่า "บางคนบอกว่าสันโดษ พระพุทธเจ้าสอนให้ขี้เกียจ พวกนี้มันฟังบาลีไม่ออก"

ท่านบอกว่า ยถาพลสันโดษ
หามาตามกำลังตนเองที่มีได้ อย่างคุณทักษิณ ชินวัตร หามาตามกำลังของเขา ก็มีเป็นหมื่นล้านพันล้าน คนมีเงินเป็นหมื่นล้านพันล้าน เขาขี้เกียจหรือเปล่า? ก็ไม่ใช่

ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีพอใจตามฐานะของตน พอใจตามฐานะของตน คุณทักษิณจะขี่เฟอร์รารี่ก็ไม่มีใครว่า ก็ตามฐานะของตน อันนั้นสันโดษ แต่ถ้าหากเป็นเราแล้วดันไปขี่เฟอร์รารี่ ก็ไม่สันโดษแล้ว

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ไขว่คว้าอะไรที่เกินกำลังของตัวเอง ถ้าลองฝืนดูครั้งหนึ่งแล้ว สองครั้งแล้ว สามครั้งแล้ว ยังไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับสภาพ แล้วถอยมายืนอยู่ในจุดของเรา แต่ถ้าฝืนแล้วไปต่อได้ ก็ตะกายต่อไป"

เถรี 08-06-2009 23:30

"เทคโนโลยี ถ้าให้เข้ากับสันโดษ เราก็ต้องยินดีตามที่ตนมีอยู่"

เราต้องรู้ว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ จะต้องเจริญไปตามสภาพของโลก แต่ถ้าเราไปวิ่งไล่กวดมัน เราวิ่งไม่ทันมันหรอก กว่ามันจะออกมา ก็ตกรุ่นไปแล้ว

แต่ละบริษัทเขาร้ายกาจมาก สมมติเขาออกรุ่น a มา เขาจะมีรุ่น b c d e รออยู่แล้ว เขาพัฒนาไปแล้วสี่รุ่น แต่เขาเอารุ่นนี้มาให้เราใช้ก่อน ถ้าเอารุ่นที่ห้ามาให้เรา เขาจะขายได้แค่ครั้งเดียว แต่ถ้าเขาเอารุ่นที่หนึ่งมาให้เรา ขายได้อีกตั้งสี่ครั้งกว่าจะไปถึงรุ่นที่ห้า เพราะฉะนั้น..ไม่ต้องไปวิ่งไล่หรอก เหนื่อยเปล่า ๆ มันตกรุ่นตั้งแต่เราซื้อแล้ว


กลายเป็นว่า
พวกเทคโนโลยีเราต้องดูว่ามันจำเป็นแค่ไหน แล้วก็ใช้แค่นั้น เราไม่สามารถปฏิเสธความเจริญได้ แต่ก็ต้องอยู่กับมันอย่างมีสติ ใช้แค่ที่จำเป็น อะไรที่ไม่เกินความสามารถของมนุษย์ทั่ว ๆ ไป ต้องใช้ความสามารถดูก่อน

ปัจจุบันนี้อาตมาซื้อของในตลาดทองผาภูมิ แม่ค้าเขายังถามว่า ราคาเท่าไร? พอเราหยิบสตางค์ให้ เขาจะถามว่าทอนเท่าไร? เพราะเขาใช้เครื่องคิดเลขไม่ทันเราคิด
ถ้าเด็กรุ่นใหม่ ๆ นี้ไม่พยายามใช้สมองตัวเองบ้าง คอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ตมันล่มไปวันไหน จะกลายเป็นคนที่น่าสงสารมากเพราะไม่มีอะไรเหลืออยู่ในหัวเลย

เพราะฉะนั้น..อย่าอาศัยเทคโนโลยีมาก อาศัยมากเดี๋ยวตาย..! กระดาษกับปากกาดีที่สุด ไม่ว่าจะเอ็มดีหรือไอพ็อด พวกนั้นถ้าถ่านหมดก็เจ๊ง ตอนอยู่วัดท่าซุงหลวงพ่อท่านเตือนตั้งแต่แรก ๆ ว่า กระดาษกับปากกาควรจะอยู่ใกล้มือไว้ เวลาพระหรือพรหม เทวดาหรือผีเขาบอกอะไร ถ้าไม่มั่นใจให้รีบจดไว้ก่อน อย่าให้รอจนสว่าง ถ้ารอสว่างแล้วจะลืม


สมัยที่อยู่วัดท่าซุง เวลาหลวงพ่อลงโบสถ์ท่านก็บันทึกเทป เราก็มีกระดาษไว้จด ซึ่งดีตรงที่ว่า
สิ่งที่สะดุดใจเรา คือสิ่งที่ตรงกับอารมณ์ใจของเราตอนนั้น สิ่งที่เราทำหรือเกินมาแล้ว จะไม่สะดุดใจ เพราะฉะนั้น..ที่เราจดคือประโยชน์ล้วน ๆ เลยสำหรับเราที่จะพึงได้ และแล้ววันหนึ่งก็ไฟดับ ปรากฏว่าวันนั้นพอออกจากโบสถ์มีแต่คนมาเดินตอมขอยืมสมุด เพราะฉะนั้น..เชื่อเถอะ ล้าสมัยไว้หน่อยเถอะ

บางคนบอกว่า "อาจารย์จะเอาคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ล่าสุด ก็ซื้อได้ ทำไมไปซื้อเครื่องพิมพ์ดีดอีแก่เครื่องนี้มา?" อาตมาบอกว่า "ไอ้นั่นไฟดับแล้วทำงานไม่ได้ แต่นี่ดับทั้งชาติข้าก็ทำงานได้" ถ้ามีไฟเราก็ใช้คอมพิวเตอร์ แต่ถ้าไม่มีเราก็ใช้เครื่องพิมพ์ดีดนี้

ซุนวูบอกว่า รุกข้างหน้าหนึ่งศอกต้องเตรียมทางถอยไว้หนึ่งวา"

เถรี 09-06-2009 08:16

"ญาติโยมทั้งหลายทำธุรกิจ ส่วนใหญ่คิดแค่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง ไม่ได้คิดมากไปกว่านั้น คิดแต่ว่าเราทำงานแค่นี้ วันหนึ่งมีรายได้แค่นี้ เดือนหนึ่งมีแค่นี้ ปีหนึ่งมีรายได้แค่นี้ เราคิดแต่ด้านได้อย่างเดียว ไม่ได้คิดไว้เลยว่าถ้ามันเจ๊งไปแล้วเราจะแก้ไขอย่างไร?

เราต้องคิดล่วงหน้าไปในด้านที่ร้ายที่สุดว่า ถ้ากิจการตรงนี้ที่เราทำเจ๊งไป เราจะแก้ไขอย่างไร? เราจะเอาตรงไหนมาค้ำจุน? เราจะถอยไปยืนอยู่ตรงจุดไหนที่มันจะไม่บาดเจ็บมาก? ถ้าให้คำตอบตรงนี้ได้ ทำไปเถอะ งานอะไรก็ทำได้


แต่ถ้าให้คำตอบตรงจุดนี้ไม่ได้ อย่าเพิ่งทำเลย โอกาสรอดมีน้อย ถ้ารอดก็แสดงว่าบุญเก่าดีจริง ๆ เพราะฉะนั้น..
อย่าคิดด้านได้อย่างเดียว ต้องคิดด้วยว่าถ้าเสียเราจะแก้ไขอย่างไร ถ้าได้คำตอบเรียบร้อยแล้วทำไปเถอะ"

เถรี 09-06-2009 09:06

"เลี้ยวกลับเข้าหาวัดได้แล้ว ถ้าออกทะเลแล้วจะหาฝั่งยาก แต่ที่บอกให้เลี้ยวกลับวัด ก็คือ ให้ทุกคนพิจารณาที่ตัวเองก่อน ถ้าพระเลี้ยวกลับวัด ก็คือ เลี้ยวกลับไปหาสิ่งที่ตัวเองคุ้นเคยและชิน

ส่วนเราก็ต้องมาพิจารณาตัวเองว่า ตัวเราเองถนัดอะไรมากที่สุด ชอบอะไรมากที่สุด ถ้าสามารถทำในสิ่งนั้นได้ เราจะทำได้ดีที่สุด อย่างอื่นที่เราไม่ถนัด ถ้าทำไปก็ต้องฝืนตัวเองมาก แล้วเราจะไม่มีความสุขในการทำงาน


ภาษิตจีนเขาบอกว่า
กระต่ายตัวเดียวอย่างน้อยมีสามโพรง ก็คือ มันไม่ได้ทำทางเข้าออกไว้ทางเดียว มันทำไว้อีกสองทางจากทางปกติ เพราะฉะนั้น..เวลาศัตรูมันเข้าทางนี้ กระต่ายมันจะหนีไปอีกทาง มันอาจจะหนีไปทางที่สามก็ได้ ซึ่งปกติสัตว์นักล่าอย่างเก่งที่สุดมันจะมาสองตัว เพราะถ้ามากกว่านั้นมันจะแย่งกัน ไม่พอกิน

อยากจะบอกพวกเราทุกคนว่า อย่าวางใจในความมั่นคงในอาชีพของตนเอง มีอะไรที่พอเป็นงานเสริมเป็นไซด์ไลน์ไปได้ ทำไปเถอะ ดีไม่ดี..ภายหลังไซด์ไลน์จะดีกว่างานจริง เราต้องเตรียมหาทางถอยไว้กับตัวเอง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ไม่มีผิด ท่านบอกว่า ทุกอย่างอนิจจังไม่เที่ยง แม้แต่หน้าที่การงานก็ยังไม่เที่ยง พอถึงเวลางานนี้มันไปไม่ได้ เราก็มีงานนั้นทำ ไม่เห็นต้องไปร้อนใจ คนอื่นเขาเดือดร้อนก็ช่างเขา เรานั่งกระดิกเท้าสบายใจเฉิบ

ดังนั้น..
พระเลี้ยวกลับวัด โยมก็ต้องเลี้ยวกลับไปพิจารณาตนเอง เราชำนาญอะไร เราชอบอะไร เราก็เลือกทำสิ่งนั้น"

เถรี 09-06-2009 09:24

"ในเรื่องการทำงานและการปฏิบัติ อย่าเปลี่ยนเป้าหมายบ่อย ๆ หลักการปฏิบัติก็ดี หลักการทำงานก็ดี อย่าเปลี่ยนบ่อย เคยเปรียบไว้ว่ามันเหมือนการขุดบ่อจะเอาน้ำ บางทีเราขุดไปสามเมตรสี่เมตรใกล้จะถึงแล้ว พอเขาบอกว่าตรงนั้นดีกว่า เราก็ขยับไปขุดตรงนั้น พอเขาบอกว่าตรงนี้ดีกว่า ก็ขยับมาขุดตรงนี้ ก็เลยไม่ถึงน้ำเสียที เพราะฉะนั้น..การทำงานเราก็ต้องจับเป้าหมายเดียวจริงจัง มันจะได้เร็ว

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า
ท่านทรงแสดงธรรมเหมือนราชสีห์จับเหยื่อ ก็คือ ราชสีห์เวลาล่าเหยื่อ ไม่ว่าเหยื่อจะตัวเล็กตัวใหญ่ก็ตาม มันทุ่มเทกำลังในการจับเท่ากันหมด เพราะฉะนั้น..จะไม่มีพลาด และสำคัญที่สุดมันเล็งเหยื่อตัวเดียว ถ้าหากมันไปละล้าละลังล่าตัวอื่นที่อยู่ใกล้ ตัวที่อยู่ข้างหน้ามันวิ่งตรง มันจะหนีไปได้ เพราะฉะนั้น..ราชสีห์มันล่าเหยื่อมันล่าตัวเดียว ตัวอื่นที่อยู่ใกล้มันจะไม่สน

ทำงานอะไรก็ตาม ถ้าเราทุ่มเทให้มันเต็มที่ มันจะไม่มีอะไรยากเกินความสามารถมนุษย์หรอก
ถ้าเราทุ่มเทเต็มที่แล้วก็จะเหมือนพระมหาชนก พระมหาชนกว่ายน้ำเจ็ดวันเจ็ดคืนไม่เห็นฝั่ง นางมณีเมขลาก็บอกว่ารู้ว่าว่ายแล้วไม่เห็นฝั่ง จะว่ายไปทำไม? พระมหาชนกก็บอกว่า อย่างน้อยเราได้ทุ่มเทกำลังเต็มที่ เราจะได้ตอบตัวเองได้ว่าเราได้ทำแล้ว

ที่ท่านบอกว่า ยาวเม เถว ปุริโส เกิดเป็นคนต้องมีความพยายามอยู่ร่ำไป ท้อถอยไม่ได้ มันอาจจะเหลืออีกหนึ่งช่วงที่ว่ายน้ำก็ถึงแล้ว

เรื่องของการปฏิบัติก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องของการสั่งสม สั่งสมความดีของศีล สมาธิและปัญญาไปทีละเล็กทีละน้อย
แรก ๆ มันไม่เห็นหน้าเห็นหลังหรอก แต่ถ้าเราดูย้อนหลังไปว่า ก่อนหน้านี้เรามีศีลห้าครบไหม? ปัจจุบันนี้เราได้กี่ข้อแล้ว? ถ้าเราได้ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ละเมิดด้วยตนเอง แล้วเราไม่ยุผู้อื่นให้ละเมิดหรือเปล่า? เราไม่ยุคนอื่นแล้ว ถ้าคนอื่นทำเรายินดีด้วยหรือเปล่า? เราค่อย ๆ ทบทวนเรื่องศีลไปเรื่อย ๆ ว่าเราทำสมบูรณ์หรือยัง โดยเปรียบย้อนหลังดู จะเห็นความก้าวหน้าของตัวเองไปทีละน้อย

ภาษิตจีนเขาบอกว่า
คนอื่นขี่ม้าแต่เรายังขี่ลา ถ้าจะสงสารตัวเองว่าไล่ม้าไม่ทัน ก็ไม่ต้องสงสาร หันกลับไปดูข้างหลัง คนที่ไม่มีอะไรจะขี่ เดินเท้าเปล่าเยอะแยะไป และท้ายที่สุด พวกที่ยังนั่งไม่ได้เริ่มเดิน มีอีกตั้งเท่าไหร่?

ถ้าหากว่ามองให้มองไปข้างหน้า ไม่ใช่มองไปข้างหน้าอย่างทะเยอทะยานอยากได้ แต่มองไปข้างหน้าเพื่อที่จะทำอย่างไรให้ได้เท่าเขาหรือมากกว่าเขา
มันเป็นการแสวงหาความก้าวหน้า ถ้าอย่างนี้ทางโลกก็เจริญทางธรรมก็เจริญ

เขาปฏิบัติได้ดีกว่าเรา เราต้องพยายามทำให้ได้เท่าเขา หรือไม่ก็เขาทำมาหากินมีความคล่องตัวกว่าเรา เขาทำอย่างไรเราก็พยายามทำให้ได้อย่างเขา"

เถรี 09-06-2009 15:59

พระอาจารย์เล่าว่า "เมื่อวันก่อนไปงานแต่งงานของโยม งานแต่งงานนี้เพื่อนเจ้าบ่าวก็ไม่มี เพื่อนเจ้าสาวก็ไม่มี มานึกว่าทำไมเป็นอย่างนั้น นึกมาได้หลายข้อ

ข้อที่หนึ่ง
เขาไม่รู้ธรรมเนียม ถ้าเป็นข้อนี้อเนจอนาถมากเลย ธรรมเนียมเก่า ๆ ความสำคัญอยู่ที่เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว แต่เขาไม่รู้จริง ๆ ว่าเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาสภาพเจ้าบ่าวเจ้าสาวให้ดีสุดเท่าที่จะดีได้ เพราะฉะนั้น..เขาต้องเป็นคนที่รู้ธรรมเนียมมากกว่า รู้ว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้าง และขณะเดียวกันถ้าหากว่าจำเป็นก็ต้องแต่งหน้าให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้บ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้ออกมาดูดี

ข้อที่สอง
เขาหาเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ได้ คนทั้งหมู่บ้านเขาหาเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวไม่ได้ ก็อาจแปลว่าเขาไม่มีเพื่อนฝูงเลย หรือการคบหาไม่มีเลย

ส่วนข้อที่สาม อนาถกว่านั้นอีก อาจเป็นเพราะว่า
เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาวสวยและหล่อกว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาว เลยไม่เอาดีกว่า เดี๋ยวจะมาขโมยซีน

แปลกดี..หลายต่อหลายเรื่อง เราดูตรงหน้าก็เห็นอะไรไปเรื่อย เห็นไปเรื่อยก็มานึกเปรียบเทียบไปเรื่อยว่า เขาไม่รู้ธรรมเนียมจริง ๆ เป็นที่น่าสงสารมาก เพราะพ่อเจ้าสาวมาสารภาพว่า ไม่รู้หรอกเรื่องนี้ พอถึงเวลางานแต่ง ก็ไปแค่ที่โต๊ะจีน ไม่ได้ดูบ้างเลยว่าเขาทำอย่างไรกันบ้าง


ตัวเองไม่รู้แล้วจะไปบอกลูกได้อย่างไร ในเมื่อปู่ย่าตายายไม่รู้ ไปบอกลูกบอกหลานไม่ได้ ลูกหลานก็ไปบอกลูกหลานของมันไม่ได้...ก็ไปกันใหญ่ ประเพณีไทยก็ถึงกาลวิบัติ..!"

เถรี 09-06-2009 16:19

"พิธีแต่งงานเสียสตางค์เยอะ ฝ่ายชายก็เรื่องสินสอดทองหมั้น ฝ่ายหญิงก็เรื่องการเลี้ยงแขก เสียไปตั้งเยอะแยะ อันนี้ต้องคิดให้เป็น ดูให้เห็น

ต้องบอกว่าคนโบราณเขาลึกซึ้งมาก
การแต่งงานที่เชิญแขกมาเยอะ ๆ นั้น เพื่อเป็นสักขีพยานว่า สองคนนี้เขาเป็นสามีภรรยากันแล้ว เพื่อที่คนอื่นจะได้ไม่ไปละเมิดคนที่มีเจ้าของ ให้รู้กันทั้งหมู่บ้าน ญาติพี่น้องมีกี่คนก็ต้องรู้ ต่างหมู่บ้านก็ต้องรู้ เพราะข่าวมันไปเรื่อย ยิ่งมีการคบหากับคนต่างจังหวัดยิ่งไปไกลใหญ่ คุณจะอ้างว่าไม่รู้ว่าเขาแต่งงานแล้วไม่ได้

โดยเฉพาะสมัยก่อน ก่อนจะแต่งงานเขาต้องสร้างเรือนหอก่อน ต้องพร้อมเป็นในเรื่องของงานฝีมือช่าง ผู้ชายจะน่าสงสารมากเลย กว่าจะเลื่อยไม้ได้แต่ละต้น จะซ่อมบ้านสร้างบ้านได้ แล้วก็ไปขอแรงเพื่อนฝูงมาลงแขกช่วยกัน กว่าจะเสร็จมันเป็นเดือน ๆ แล้วถ้ายิ่งเตรียมการล่วงหน้า บางทีมีการตัดไม้เลื่อยไม้ก็เป็นปี ๆ คนเขาจะรู้กันเยอะว่าคู่นี้เขาหมายหมั้นกันแล้ว เขาจะแต่งกันแล้ว


ถ้าหากว่าเป็นคู่แข่ง ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนใจอีกฝ่ายให้ทัน ถ้าสร้างเรือนหอเสร็จเมื่อไหร่ ก็แต่งกันร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นคือเรื่องของความลึกซึ้งในประเพณีของเรา

สมัยใหม่ใจร้อนกัน ไม่ได้จัดงานแต่งเพราะเปลืองเงิน จดทะเบียนกันเฉย ๆ มันเปลืองก็จริง แต่จดทะเบียนเฉย ๆ อย่างเก่งเพื่อนเป็นพยานสักสองคน ไม่มีสภาพกว้างไกลเหมือนสมัยก่อน แล้วสมัยก่อนการจัดงานมันแสดงออกซึ่งความสามัคคี บ้านนั้นก็มาช่วย บ้านนี้ก็มาช่วย ผู้ชายก็มาช่วยเรื่องการแบกการหาม จัดเตรียมสถานที่ ผู้หญิงก็จัดเตรียมข้าวปลา เขาได้ปฏิสัมพันธ์กันในหมู่เพื่อน เกิดความรักใคร่สามัคคีกลมเกลียวกัน เรื่องพวกนี้มันสร้างความสามัคคี"

เถรี 09-06-2009 17:27

"พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า สุขา สังฆัสสะ สามัคคี ความสามัคคีในหมู่คณะทำให้เกิดสุข โบราณก็บอกแล้วว่า ทำอะไรถ้าเหลือกำลังลาก ให้ออกปากบอกแขกช่วยแบกหาม

ถ้าไม่มีความสามัคคีในหมู่คณะ ก็จะไม่มีเพื่อนไม่มีฝูง งานใหญ่จะทำไม่สำเร็จ เราก็เลยมานึกถึงปัจจุบัน
รัฐนาวา นาวาคือ ประเทศชาติ ประเทศชาติของเราจะล่มแหล่มิล่มแหล่ นอกจากไม่ช่วยกันจ้ำ ไม่ช่วยกันพาย ไม่ช่วยกันวิดน้ำ อุดรูรั่วแล้ว ยังมีแต่ช่วยกันกระทืบซ้ำแล้วเจาะรูเรือให้รั่ว

ทำอย่างไรที่จะทำให้เขาเลิกแบ่งฝ่ายแบ่งสีกันเสียที ทำอย่างไรจะให้เลิกแบ่งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล ต้องดูตัวอย่าง แม่แบบประชาธิปไตย คือ ประเทศอังกฤษ

ประเทศอังกฤษจะมีแค่สองพรรค ถึงเวลาพรรคใดพรรคหนึ่งขึ้นไปเป็นรัฐบาล อีกพรรคหนึ่งจะตั้งรัฐมนตรีเป็นเงาตามเลย แต่เขาไม่ได้ตั้งไว้เฉย ๆ เหมือนอย่างบ้านเราที่คอยจับผิด เขาตั้งมาเพื่อเข้าไปร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย ไปรับรู้การบริหารทั้งหมดด้วย ถ้าหากว่ามีความคิดอะไรที่ดีกว่าตัวจริง เขาจะเสนอความคิดนั้นไป ตัวจริงเอาไปบริหารงานจะต้องให้เครดิตว่า นี่เป็นความคิดของฝ่ายค้าน บ้านเราไม่มีตรงนี้


บ้านเราถึงเวลาถ้าหากกูขึ้นได้ คนอื่นก็อย่าโงหัวมาเลย มันกลายเป็นแย่งชิงกัน ท่านผู้รู้บางท่านบอกว่า
"ถ้าผลัดกันเป็นใหญ่จะได้เป็นใหญ่กันทุกคน แต่ถ้าแย่งกันเป็นใหญ่ จะไม่ได้เป็นใหญ่กันสักคน" บ้านเรามันแย่งกันบ่อย ๆ

ต้นแบบประชาธิปไตยคือประเทศอังกฤษ เขาทำงานร่วมกัน ถ้ารัฐบาลล่มเมื่อไหร่ก็ตาม ฝ่ายค้านสามารถบริหารงานต่อได้โดยไม่สะดุด เพราะทุกคนทำงานร่วมกันมา รู้งานอยู่แล้ว


ดังนั้น..ทุกวันนี้ถ้าเรารักและห่วงในหลวงจริง ๆ ต้องรักใคร่สามัคคี ต้องทำงานร่วมกัน ทุกอย่างตั้งเป้าเอาไว้ว่าเพื่อในหลวงและประเทศชาติของเรา ถ้าอย่างนั้นจะไปรอด แต่ถ้ายังทำเพื่อตัวเอง รู้อยู่ว่าเช่ารถเมล์มันแพงกว่าซื้อ แต่ยังจะเช่า เพื่ออะไร? ไม่ต้องคิดก็รู้ คำตอบมันมีอยู่แล้ว


จุดที่แย่ที่สุดก็คือความเสื่อมทรามศีลธรรม ตรงจุดนี้แทบจะไม่มีอยู่ในใจของนักการเมืองเลย นึกถึงเพลโต เขาบอกว่า ความดีของบุคคลเริ่มสูญหายไปทันทีที่ก้าวเข้าไปเล่นการเมือง
เพราะฉะนั้น..ทั้งชีวิตของเพลโต ไม่แตะการเมืองเลย เขามีหน้าที่เป็นนักวิชาการ วิจารณ์อยู่ห่าง ๆ


ดังนั้น..สิ่งสำคัญปัจจุบันของเราคือ เรามีหน้าที่อะไร เราทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องของการเสียภาษีอากรเพื่อพัฒนาประเทศชาติ แม้ว่าจะเข้ากระเป๋าใครไปบ้าง แต่อย่างน้อยบางส่วนก็กลับเข้าสู่สังคม และเราก็ได้ชื่อว่า เราทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว อาตมายังเจอภาษีร้อยละ ๑๕ เลย ไม่น่าเชื่อว่าพระจะเจอขนาดนี้ เป็นภาษีเงินฝาก เงินวัดมันยังเอา..!"

เถรี 09-06-2009 18:03

พระอาจารย์สอนว่า "คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน การแสดงออกของแต่ละคนจะต่างกัน

(ท่านหยิบพวงมาลัยขึ้นมา) นี่ดอกมะลิ นี่ดอกรัก นี่ดอกกุหลาบ คนละเรื่องเลย แต่พอมารวมกันเป็นพวงมาลัย มันแลดูสวย ดอกไม้ที่รวมกันเป็นพวงมาลัยได้สวยอย่างนี้ เกิดจากอะไร? มันต้องมีแก่นแกนของมัน คือ เส้นด้ายใช่ไหม
?

พวกเราร้อยพ่อพันแม่ จะให้นิสัยเหมือนกันดั่งแกะออกมาจากบล็อกเดียวกันก็ไม่ได้ แต่ว่าพวกเรามีเบ้าหลอมคือศีล สมาธิ และปัญญาของพระพุทธเจ้า ถ้ายังมีไตรสิกขาอยู่ อย่างไรก็ไม่ล้นออกจากกรอบ ในเมื่อไม่ล้นออกจากกรอบไป อยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ มองอย่างไรมันก็งามจนได้


อย่าง
เต้ย(สุรจิตร) นี่ก็งามของเต้ย ลองหามุมให้เจอว่างามตรงไหน อาจจะงามแบบดอกตำแยที่ห้อยอยู่ปลายพวงมาลัยก็ได้ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าถึงแม้เป็นดอกตำแย แต่ก็ยังพอดูได้ ถ้าเราเห็นปกติธรรมดาตรงนี้ แก่นความเป็นจริงของบุคคลแล้ว เราจะไม่เสียเวลาไปตั้งความหวังกับใคร เพราะแต่ละคนสร้างกรรมมาไม่เหมือนกัน จะไปให้ออกมาเหมือนบล็อกเดียวกันก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าอย่าล้นกรอบก็พอ"

เถรี 09-06-2009 18:10

"ถ้าขาดเต้ยไปก็เฉาเลย เราจะเห็นความดีของเขาอยู่อย่างหนึ่ง คือ โดนเท่าไหร่ก็ไม่ยุบ กำลังใจแบบนี้เหมาะสำหรับนักปฏิบัติ แต่ให้ไม่ยุบเพราะคิดได้ ไม่ใช่ไม่ยุบเพราะด้าน

แยกให้ออก คิดได้...คิดเป็น...มีปัญญาก็จะปล่อยวาง โดนแล้ววางมัน ไม่ได้เก็บอารมณ์เอาไว้ ก็ไม่ต้องไปเสียใจ แต่ถ้าหากโดนแล้วมันด้าน ไม่รู้สึกรู้สา อย่างนั้นไม่เข็ด..ไม่ไป ต้องพิจารณาให้ดี ๆ ว่าเกิดจากอะไรแน่?"

เถรี 10-06-2009 09:54

ถาม : จะประกอบอาชีพร้อยพวงมาลัย ทำอย่างไรจึงจะทำออกมาได้สวย?
ตอบ : ให้ขอท่านปู่พระอินทร์ ไม่ใช่ขอให้สวยนะ แต่ขอให้เกิดความคล่องตัวในงานทุกอย่าง หรือไม่อีกอย่างก็ทำสมาธิให้ดี ๆ แล้วตั้งใจเลย ขอบารมีท่านปู่ท่านย่าช่วยสงเคราะห์ อะไรที่เป็นของเดิม ๆ ที่เคยฝึกขอให้กลับมา เดี๋ยวจับอะไรมันก็คุ้นไปหมด

ถ้าเราจะเอางานแม่บ้านแม่เรือนต้องเก็บความรู้สึกเก่า ๆ รู้สึกว่าควรจะเป็นอย่างไร อย่าไปฝืนมือ ปล่อยมันไหลตามสภาพมัน


ถ้าคุ้นมือของอาตมาคือพวกอาวุธ เนื่องจากเกิดเป็นทหารมาเยอะ พอได้จับก็คุ้น ใช้ได้คล่องทันที

อะไรที่มันตั้งใจมากเกินไปมันจะไม่ได้ดี แต่ขณะเดียวกันอะไรที่ขาดความตั้งใจ ก็ไม่ได้ดี ที่จะได้ดีจริง ๆ เกิดจากความชำนาญ ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า skill คนไทยเรียกว่าทักษะ ก็คือ ซ้อมบ่อย ๆ จนเป็นธรรมชาติ

เถรี 10-06-2009 10:08

"ตั้งแต่สมัยเด็กเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นพวกหนังสติ๊ก มีด ปืน ฯลฯ อาตมาจับมาหมด ตอนเด็ก ๆ เคยใช้หนังสติ๊กยิงดอกหญ้าตรงข้างถนน ดอกหญ้าเล็กนิดเดียวแต่เรายิงได้ขาด

ตรงนี้ก็เหมือนกับการปฏิบัติ ใครซ้อมจนคล่องตัวมันจะเป็นเองโดยธรรมชาติ ทิ้งไปนานแค่ไหนก็ตาม ถ้าคล่องตัวจริง ๆ แค่นึกถึงมันก็กลับ ก็เหมือนกับเล่นหนังสติ๊ก ไม่ได้เล่นมา ๓๐-๔๐ ปี ถึงเวลาจับขึ้นมาก็ใช้ได้

ถ้าเป็นการปฏิบัติเขาบอกว่าเกิดวสี คือความชำนาญที่จะกระทำ ฉะนั้น..ขอให้ชำนาญในด้านดี ถ้าชำนาญในด้านชั่ว แย่แน่ ๆ เพราะพวกชำนาญนี่จะทำได้ดีกว่าคนอื่นเขา"

เถรี 10-06-2009 10:25

พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "มีโยมเขาจัดงานแต่งงาน ทีนี้เขามากราบขอร้องให้อาตมาช่วยห้ามฝนให้เขาสองวัน อาตมาก็บอกว่ามากไป" เขาก็ต่อรองบอกว่า ถ้ามากไป เอาวันที่สามวันเดียวก็ได้ เราก็ตกลง

ปรากฏว่าพอถึงวันที่สี่ เราไปบิณฑบาตตัวเปียกไปหมด จำไว้เลยนะ
ถ้าทำให้เขา เราก็ต้องยอมรับซะด้วย

ที่ห้ามฝน ไม่ได้หมายความว่าฝนจะหยุดตกไปเลย แต่มันจะรวบยอดไปตกวันอื่นแทน แล้วมันเล่นงานตอนที่อาตมาบิณฑบาต สมน้ำหน้าตัวเองจริง ๆ เลย เพราะฉะนั้น..เรื่องของธรรมชาติอย่าไปยุ่งกับเขาดีที่สุด"

เถรี 10-06-2009 14:34

ถาม : มีคนเขาบอกว่า ให้ไปไหว้ขอขมาคนอีกคน เนื่องจากคนนี้เป็นเจ้ากรรมนายเวร กรรมที่ส่งผลอยู่จะหายไป ตรงนี้มันจริงหรือคะ?
ตอบ : บางทีก็จริงบางทีก็มั่ว ต้องถามคนที่ดูให้ว่าเขารู้จริงหรือเปล่า?

ถาม : ก็คือคนนี้เขาเป็นมะเร็ง แล้วมีคนดูให้ บอกว่าให้ไปไหว้ขอขมาคน ๆ นี้ ดิฉันสงสัยว่าเป็นมะเร็งแล้ว ไปไหว้คนที่มีตัวตนอยู่ ตรงนี้มะเร็งมันจะหายไปหรือคะ?
ตอบ : ตรงนี้ในอดีตเขาอาจจะเคยสร้างเวรกรรมกันไว้ เราสงสัยได้แสดงว่า มีปัญญามากกว่าพวกที่ฟังเฉย ๆ

สมมติเราไปฆ่าเขา คนที่เราฆ่านั้นก็ไปเกิดตามเวรตามกรรมของเขา แต่ว่าส่วนที่ตามจองเวรไม่ใช่คน ๆ นั้น แต่มันเป็นการกระทำที่เราทำต่อคน ๆ นั้น เพราะฉะนั้น..จริง ๆ ผลที่เราทำไว้นั่นแหละ มันมาเกิดกับเรา เขาก็เลยเรียกมีเจ้ากรรมนายเวร แต่ถ้าหากจำเป็นอยากจะรู้เหตุตรงนี้ เทวดาเขาก็แสดงให้ดูว่าเหตุมันเกิดมาอย่างนี้ ๆ

บังเอิญเราไปจำหน้าเขาได้ ก็ร้องอ๋อ..คนนี้เป็นเจ้ากรรมนายเวร จริง ๆ ไม่ใช่หรอก เป็นตัวเองทำตัวเองต่างหาก

เถรี 10-06-2009 14:58

ถาม : แนะนำเรื่องการปฏิบัติให้คนในครอบครัว แล้วเขาไม่เชื่อ
ตอบ : ในเรื่องการปฏิบัติ ถ้าเราทำแล้วเกิดผล มันจะสร้างศรัทธาได้ ทีนี้จะทำอย่างไรให้เกิดผล ก็ลองคาถาเงินล้านดูสิ เอาวันละเยอะ ๆ ถ้าเกิดผลเมื่อไหร่ ค่อยไปยืนยันกับเขา ให้เขาเชื่อ

เรื่องแบบนี้เราต้องเอาตัวเองเป็นตัวอย่าง ทำให้เกิดผล ปริยัติศึกษาตามตำรา ปฏิบัติเอาความรู้ที่ศึกษามากระทำให้เกิดผล ปฏิเวธเมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถนำผลเอาไปใช้จริงได้ ต้องครบ ๓ สถาน ถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่งเขาเรียกว่ายังศึกษาไม่จบ

เถรี 10-06-2009 15:19

ถาม : ถ้าในฝันเราละเมิดศีล เราจะผิดศีลจริงหรือไม่ ?
ตอบ : นั่นมันฝัน ไม่ใช่ของจริง แต่ก็บ่งบอกว่าในเมื่อมีโอกาสละเมิดศีล แม้แต่ในฝันยังละเมิด แสดงว่ากำลังใจยังไม่ดีพอ ถ้าแม้นในฝันพยายามต่อต้าน ไม่ยอมละเมิดศีล แสดงว่ากำลังใจใช้ได้

ตัวแสบจำเป็น 10-06-2009 16:53

ถาม : ตอนที่เราอ่านนิยาย มันจะมีบางตอนที่ตัวละครกินเหล้า แล้วทีนี้มันดันเป็นมุกตลกในวงเหล้า เราเผลอไปขำกับมุกตลกนั้นด้วย แบบนี้จะเหมือนกับเราไปโมทนาบาปของเขาหรือเปล่า? แบบไปยินดี ที่เขาดื่มเหล้าแล้วยิงมุกใส่กัน
ตอบ : อันนั้นมันอยู่ในจินตนาการ กินก็กินในจินตนาการ ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่ถือว่าโมทนาในบาปนั้น เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ถ้าเป็นเรื่องเหล้าจริง ๆ ล่ะก็ เผลอไปยินดีเข้า ก็ตัวใครตัวมันล่ะ

เถรี 10-06-2009 18:15

หลังจากที่พระอาจารย์ให้พรญาติโยมที่ทำสังฆทาน ท่านก็พูดขึ้นว่า "พวกเราน่าจะฟังภาษาบาลีออก เวลาที่พระสวดมนต์ เวลาที่พระให้พร จริง ๆ แล้วเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ทีนี้เราฟังไม่ออกก็กลายเป็นว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ ความจริงพรจะขลังและศักดิ์สิทธิ์ก็ต่อเมื่อเราทำตาม

พระองค์ท่านตรัสว่า อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ ผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ทรงศีลนั้น วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ ย่อมเป็นผู้ที่เจริญไปด้วยธรรมะสี่ประการ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ เจริญด้วยอายุ เจริญด้วยวรรณะ เจริญด้วยความสุข เจริญด้วยกำลัง

พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ทั้งนั้น ทีนี้พวกเราฟังไม่ออก ไม่รู้แปลว่าอย่างไร รับไปขลัง ๆ เท่านั้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก เพราะถ้าฟังออกจะรู้ว่ามีอะไรดี ๆ เยอะมาก

พระพุทธเจ้ากล่าวถึงธรรมะของพระองค์ท่านว่า มีอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว ท่านมาพบเข้าจึง วิวรติ วิภชติ เอามาจำแนก เอามาแยกแยะ อาจิกฺขติ เทเสติ เอามาบอกกล่าว เอามาแสดง ปญฺญเปติ ปฏฺฐเปติ เอามาบัญญัติ เอามาก่อตั้ง อุตฺตานีกโรติ ทำของลึกให้ตื้น (ทำของยากให้ง่าย)

สมัยหลัง ๆ นี่คนเขาชอบสอนของยากให้ยากยิ่งขึ้น คนก็เลยเข้าถึงธรรมได้น้อย ความจริงพระพุทธเจ้าท่านสอนธรรม ท่านสอนในระดับเด็กอนุบาลเลย ถ้าใครไปอ่านพระไตรปิฎกฉบับเต็ม ๆ อาจจะรำคาญ เพราะพระองค์ท่านย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีกในหัวข้อนั้น จริง ๆ ก็คือเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่กำลังใจผู้ฟัง แต่ว่าของเราไปอ่านแล้วรู้สึกว่า อ้าว..ซ้ำอีกแล้ว พูดง่าย ๆ ว่าย้ำแทบทุกคำ พระองค์ท่านสอนง่ายจริง ๆ เช่น

ตัง กิง มัญญะถะ ภิกขะเว อย่างไรเล่าภิกษุทั้งหลาย ? ภิกษุมีความสำคัญว่า รูปัง นิจจัง วา อะนิจจัง วา รูปนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยงเล่า ? อนิจจัง ภันเต ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า ยัมปะนา นิจจัง ทุกขัง วา ตัง สุขัง วาติ ก็ถ้าไม่เที่ยงแล้วเป็นสุขหรือทุกข์เล่า ? ทุกขัง ภันเต ทุกข์พระเจ้าข้า

พระองค์ท่านถามตอบทีละประโยคเหมือนกับถามเด็ก พูดง่าย ๆ ว่าอารมณ์ใจของเราถ้าหากน้อมตามไปทีละขั้นนี่ จะไม่บรรลุก็ไม่ได้แล้ว เพราะว่าง่ายจริง ๆ เพียงแต่ว่าสมัยหลัง ๆ เขาเอาของยากมาสอนให้ยากยิ่งขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่าเรียนมาก กลัวเขาจะไม่ชมว่าเก่ง เลยต้องสอนให้ยาก ๆ เข้าไว้ก็เป็นได้"

เถรี 10-06-2009 22:50

พระอาจารย์กล่าวถึงพระที่วัดท่าขนุนว่า "ไม่แน่ใจว่าพระรุ่นนี้จะเป็นโชคหรือเป็นเคราะห์ของเขา เพราะอาตมาดันมีเวลาว่าง เนื่องจากเรียนจบแล้ว ฉะนั้น..ทุกวันนี้เขาจะได้ยินอาจารย์บ่นวันละสามเวลา

บางทีการที่เราฝึกฝนเขา เขาก็ไม่รู้ว่ากำลังศึกษาอะไรอยู่ จริง ๆ แล้วก็คือหลักมหาสติปัฏฐาน ให้เขาสังเกตการออกบิณฑบาต ถ้าหากเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ในช่วงนั้น จะสามารถคงสภาพจิตของตนเองไม่ให้ยินดียินร้ายได้หรือไม่ ? อย่างเช่นว่าเดินอยู่ท้ายแถว บังเอิญโยมเขามาใส่บาตร แล้วกับข้าวหนักมาก แต่เด็กวัดดันไปเดินอยู่หัวแถว ไม่ได้สนใจที่จะมาเก็บกับข้าวไป เพราะเขาไม่ได้มองกลับหลังมา เราจะถือบาตรเดินไปโดยดีหรือจะด่าพ่อด่าแม่เด็กวัดดี ? ตรงนี้ก็คือพวกจิตในจิต ธรรมในธรรม

มีบ้านของโยมคนหนึ่งที่เขาเป็นอัมพฤกษ์ แล้วเขาลุกนั่งไม่ได้ เวลาไปบิณฑบาตที่บ้านเขา บันไดจะชันมาก ๆ ขึ้นลงต้องระวังมากกว่าปกติหลายเท่า โดยเฉพาะตอนฝนตก ถ้าลื่นนี่เป็นเรื่องแน่นอน อาตมาบอกว่าให้ทุกคนสังเกตตัวเอง ขณะที่เดินอยู่ตามพื้นปกติกับตอนที่เดินขึ้นบันได ความรู้สึกต่างกันแค่ไหน ? ทำอย่างไรที่เราจะรักษาความมีสติรู้ระวัง เหมือนกับตอนขึ้นบันไดตรงนั้นให้ได้ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น..พระรุ่นนี้ถ้าหากเขาทำได้อย่างที่ต้องการ ก็คงจะมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติมาก แต่ถ้าคนไหนทำไม่ได้ก็จะโดนทิ้งห่างมากเลย ตามพวกไม่ทัน ตอนนี้ก็เลยถือเป็นภาระว่า ตอนอยู่วัดอย่างน้อย ๆ ตอนเช้า ตอนเพล หรือตอนทำวัตรเย็น ต้องมีการพูดคุยอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์แก่พวกเขา

รู้สึกว่าอยากทำ เพราะรุ่นนี้มีพระหลายต่อหลายรูปที่เขาตั้งใจปฏิบัติกันจริง ๆ รุ่นนี้เขายอมลำบาก ถึงเวลาฉันเพลเสร็จ ขออนุญาตเดินทางไปถ้ำทะลุโดยเท้า ระยะทางไม่ไกลเท่าไรหรอก ๒๕ กิโลเมตรเท่านั้น ไปกลับก็ ๕๐ กิโลเมตร บางรูปก็ขออนุญาตไปภาวนาอยู่คนเดียวในป่าที่ลึก ๆ สามวันบ้าง หนึ่งวันบ้างแล้วแต่กำลังใจ อาตมาก็อนุญาตทั้งหมด

แต่เตือนพวกท่านเอาไว้ว่า บวชใหม่ ๆ อย่าเพิ่งห่างครูบาอาจารย์ ตอนที่เป็นฆราวาสเราจะเก่งขนาดไหนก็ตาม อารมณ์ใจในตอนบวชจะไม่ใช่อย่างนั้น และโดยเฉพาะในเรื่องของศีล โอกาสพลาดเรามี พลาดเมื่อไรก็มีโทษเมื่อนั้น

นี่กำลังรอผลอยู่ว่าถ้าออกพรรษารับกฐินแล้ว ถ้าท่านสึกกันเกลี้ยงแสดงว่าทนอาตมาไม่ไหว แต่ถ้าท่านอยู่ต่อได้แสดงว่ามีความก้าวหน้า"

เถรี 10-06-2009 22:51

แล้วท่านก็พูดถึงเรื่องการฉันข้าวว่า "ช่วงบวชใหม่ ๆ เวลาพระฉันอาหารถ้าขาดสติ ช้อนจะกระทบกับจานเสียงดัง พอเตือนพวกท่านไป เสียงจะเงียบไปอึดใจเดียว แล้วต่อมาเสียงจะดังกว่าเดิม ที่ดังกว่าเดิมเพราะเวลาตั้งใจระวัง จะเกิดอาการเกร็ง เวลาพลาดจึงดังกว่าเดิม

การฝึกสติลักษณะนี้ก็ดีไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะได้ลองกับของจริง ในขณะเดียวกันถ้าเกร็งมาก ๆ ก็เป็นเรื่องเหมือนกัน"

เถรี 11-06-2009 08:25

พระอาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องการถ่ายทอดความรู้ว่า "หลายคนมีความสามารถ เรียนรู้ได้เก่งมาก ผ่านการทดสอบด้วยคะแนนที่น่าเชื่อถือ แต่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ของตนเองให้คนอื่นเขาเข้าใจได้ ตรงนี้ขาดอะไรไปใครรู้บ้าง ?

สมัยก่อนเวลาบรรยายร่วมกับ ดร.โกมล แพรกทอง อาตมาต้องแปลไทยเป็นไทยอีกที เพราะท่านจะบรรยายในแบบที่ท่านรู้ โดยไม่ได้ดูว่าคนฟังเป็นใคร ท่านขึ้นสูงแล้วลงไม่เป็น ถามว่าดร.โกมล เก่งไหม ? เก่งมาก..ความรู้แน่นเลย ประเภทพูดได้หลาย ๆ ชั่วโมงโดยไม่ต้องเปิดตำราดูแม้แต่นิดเดียว แต่ชาวบ้านฟังไม่รู้เรื่อง ก็เลยมักจะมีปัญหา

ทำอย่างไรเราจะถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ให้คนอื่นรู้ ในลักษณะที่ว่าง่ายสำหรับเขา ตรงจุดนี้แหละที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทำของลึกให้ตื้น ทำของยากให้ง่าย ส่วนพวกเรานี่ถนัดในการทำของยากให้ยากยิ่งขึ้น"

เถรี 11-06-2009 22:37

ถาม : ในกรณีที่พระยืมเงินฆราวาสหรือยืมเงินพระด้วยกัน แล้วมีการรับปากว่าจะใช้หนี้ ปรากฏว่าหายไปไม่ได้ติดต่อกัน ตรงนี้จะเป็นอย่างไร ?

ตอบ : ถ้าหากท่านเจตนาโกง แต่ญาติโยมยังไม่ทอดธุระ คือ ยังติดตามอยู่ ท่านยังไม่โดนอาบัติ แต่ถ้าหากญาติโยมทอดธุระ ตัดใจว่าไม่เอาแล้ว ถ้าเกินแม้แต่หนึ่งบาท ก็ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระไปเลย

จริง ๆ แล้วพระไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินขนาดนั้น แต่ก็แปลกใจที่มีการกู้ยืมอยู่ตลอดมา อาตมาไปอยู่ที่เกาะพระฤๅษีไม่นาน ก็มีคนมาขอกู้เงิน รายแรกเป็นผู้ใหญ่บ้าน รายถัดไปเป็นเจ้าแม่เงินกู้อยู่แถว ๆ นั้น เขาจะเอาเงินไปปล่อยให้ชาวบ้าน เขาบอกไว้เสร็จสรรพเลย จะเอาไปปล่อยร้อยละ ๗ เขาจะให้อาตมาร้อยละ ๓ ก็บอกเขาไปว่าให้กู้ไม่ได้หรอก เป็นพระแล้วมาปล่อยเงินกู้ได้อย่างไร เขาบอกว่าพระนี่แหละที่หนูยืมมาเยอะแล้ว..!

ตั้งแต่นั้นมาใครมาขอกู้เงิน อาตมาไม่เคยปฏิเสธเลย มาเลยจะเอาเท่าไร ทำสัญญามาเลย คิดดอกร้อยละ ๑๒๐ หักดอกไว้เลย ปรากฏว่าไม่เห็นมีใครมาเอาสักคน..! ถ้าเขายืมเราสักหมื่นหนึ่ง เราก็ได้หมื่นสองแถมเขายังต้องติดหนี้เราอีกหมื่นหนึ่งด้วย

ไม่อยากปฏิเสธเดี๋ยวเสียน้ำใจ ยินดีให้กู้ทุกราย"

เถรี 11-06-2009 22:58

พระอาจารย์ได้บอกว่า "อีกห้าปีข้างหน้าจะมีงานร้อยปีหลวงปู่สาย ครั้งนี้จะมีศิษย์เก่าคืนสู่เหย้า

วันก่อนตอนประชุมคณะกรรมการวัด บอกว่างานร้อยปีหลวงปู่สาย พวกลูกศิษย์เก่าจะแก่แค่ไหนต้องมา ถ้ารวมได้ไม่ถึงร้อยถือว่าไม่รักหลวงปู่จริง เพราะตั้งใจจะบวชพระถวายหลวงปู่สักร้อยรูป"

เถรี 12-06-2009 03:42

ถาม : มีฌานใช้งานแล้ว มีวิปัสสนาแบบใช้งานหรือไม่คะ?
ตอบ : มี

ถาม : รู้สึกอารมณ์ใจเบากว่าเมื่อก่อน ไม่หนัก..แต่ว่าก็ยังกระเพื่อมอยู่
ตอบ : กระเพื่อมไม่เป็นไร รู้ตัวก็รีบหนี เหมือนกับโผล่หัวออกมาจากรู เห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีก็ผลุบกลับไปใหม่ รู้จักเต่าใช่ไหม ? นั่นเลย โผล่หัวมาเจออันตรายก็ผลุบเข้ากระดองไป ใส่เกราะเอาไว้ก่อน จะได้ไม่เจ็บตัว

เถรี 12-06-2009 03:51

พระอาจารย์ได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติว่า "การปฏิบัติจริง ๆ เขาเอาแค่เพียงอย่างเดียว บางทีเราไปทำหลายอย่างก็ทำให้ช้าได้ ถ้าหากว่าทำอย่างเดียวจนกำลังใจทรงตัวแล้ว เอากำลังนั้นไปใช้ในการพิจารณาตัดกิเลสก็จะง่าย ถ้าทำถึงที่สุดแล้ว วิสัยเดิม ๆ จะกลับมา ไม่ต้องไปเสียเวลาฝึกหลายอย่าง

อันความรู้รู้กระจ่างเพียงอย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล"

เถรี 12-06-2009 13:02

พระอาจารย์บอกว่า "เวลาทำอะไรอย่าทำแบบเป็ด เพราะเป็ดทำได้ทุกอย่าง แต่ทำดีได้ยาก โบราณเขาบอกว่า

แม้นจะขันขันได้ไม่เหมือนไก่ บินก็ได้แต่ไม่ทันพรรณปักษา ว่ายน้ำได้ก็ไม่ทันเหล่าพรรณปลา เหมือนวิชารู้หลายสิ่งไม่จริงจัง

เคยได้ยินเป็ดขันไหม ? ขันไม่ได้เรื่องเลยทีเดียว เขาบอกว่า อย่าเอาเป็ดไปขันประชันไก่ เพราะอย่างไรก็สู้ไม่ได้ ก็หมายความว่า อย่าเอาคนที่ไม่ถนัดไปทำงานแข่งกับคนที่ถนัด

ส่วนเป็ดที่บินแต่ก็บินสู้นกไม่ได้ เพราะว่าเป็ดต้องบินเป็นช่วง ๆ แล้วต้องพัก แต่นกนี่บินยาวได้เลย ส่วนเป็ดนี่ดำน้ำได้ แต่มันดำได้ครึ่งค่อนตัวเท่านั้นแหละ เขาถึงได้บอกว่า ทำอะไรอย่าทำแบบเป็ด เพราะเป็ดทำเป็นทุกอย่าง แต่ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ในเรื่องกรรมฐานเหมือนกัน เอาให้จริงให้ได้สักกองหนึ่งแล้ว ใช้กำลังนั้นไปตัดกิเลส แต่ถ้าไปหยิบหลาย ๆ กองแล้วจะเป็นแบบเป็ด"

เถรี 12-06-2009 13:36

พระอาจารย์สอนเรื่องการเลี้ยงลูกว่า "เลี้ยงลูกอย่ารักลูกมาก ปล่อยให้เขาทำอะไรด้วยตัวเองให้เร็วที่สุด ถึงเวลาเกิดปุ๊บปั๊บเขาไม่มีเรา เขาจะได้อยู่ได้ ไปตามปกป้อง ไปตามดูแล ไปตามสงเคราะห์ ถ้าหากเราตายก่อน เขาจะทำอะไรไม่เป็น เราซวยหนักเข้าไปอีก เคยอ่านเรื่องพ่อแม่รังแกฉันบ้างไหม ? ที่เขาว่า...


มีซินแสแก่เฒ่าได้เล่าไข ถึงเรื่องงิ้วว่าเล่นกันเช่นไร

มีข้อใหญ่นั้นก็เป็นเช่นละคร

แต่ข้อหนึ่งแกเล่าเขาประสงค์ มุ่งจำนงในข้างเป็นทางสอน
ชี้ทางธรรม์มรรยาทแก่ราษฎร เหมือนละครสุภาษิตไม่ผิดกัน

เราบวชนาคโกนจุกในยุคก่อน มีกล่าวกลอนเพราะพริ้งทำมิ่งขวัญ
การขันหมากยุคเก่าท่านเล่ากัน มีสวดฉันท์เรียกว่าสวดมาไลย์

เค้าก็คือท่านหวังจะสั่งสอน แต่ผันผ่อนตามนิยมสมสมัย
มีเฮฮาพาสนุกเครื่องปลุกใจ สมกับได้มีงานการมงคล ฯลฯ

ลองไปหาอ่านดู เรื่องพ่อแม่รังแกฉัน ของพระยาอุปกิตศิลปสาร"

เถรี 12-06-2009 14:24

พระอาจารย์ท่านบอกว่า "ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ต้องวางอารมณ์ให้พอดี ถ้าไม่พอดี เกินหรือขาด โอกาสที่จะเข้าถึงเป้าหมายจะยาก แล้วที่ทุกคนจะต้องเจออยู่จุดหนึ่งก็คือ พอทำ ๆ ไปช่วงหนึ่งแล้วตัน ไปต่อไม่ได้ อันนั้นไม่ได้หมายความว่าเราทำแล้วไม่ได้ผล หากแต่ว่าเกิดจากว่าสติ สมาธิ ปัญญาของเราที่สั่งสมมา ยังไม่พอที่จะก้าวพ้นจุดนั้นได้ ดังนั้น..จึงไม่ใช่เลิกทำ แต่ว่าต้องย้ำแล้วย้ำอีก ทำแล้วทำอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ในลักษณะนั้นจะเบื่อไม่ได้

พอถึงเวลาแล้วไม่ได้อย่างใจ ความต้องการที่จะได้อย่างใจ ก็จะทำให้เราหงุดหงิด เบื่อ เซ็ง บางคนก็ประชดชีวิตเลิกทำไปเลย เราจะเบื่อไม่ได้ ให้รู้ไว้ด้วยว่านั่นเกิดจากการสั่งสมของศีล สมาธิ ปัญญายังไม่ได้ในระดับหนึ่ง ต้องซักซ้อมใหม่ ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ตอกหัวตะปูเข้าไป เดี๋ยวก็จมมิดไปเอง ถ้ากำลังพอแล้ว ถึงเวลาเมื่อเราก้าวล่วงไปแล้ว หันไปดู อ้าว...คราวที่แล้วโง่ฉิบหายเลย เสือกโง่เอง

เหมือนกับว่า นักโทษเจาะกำแพง เจาะไป ๆ มุดเข้าไปทั้งตัวแล้วยังไม่ทะลุสักที เบื่อ ถอยกลับ ทั้งที่เหลือกำแพงหนาแค่นิ้วเดียวเท่านั้น แต่หมดกำลังใจ ท้อถอย เลิกทำเสียก่อน น่าเสียดายมาก"

เถรี 12-06-2009 14:26

พระอาจารย์สอนว่า "กรรมฐานให้เริ่มจากกองที่เราถนัด พอเราทำที่ถนัดจนอารมณ์ใจทรงตัวสูงสุดแล้ว เราค่อยถอยลงมาเริ่มของใหม่ที่เราจะทำ แต่ถ้าเรามาถึงแล้วก็ไปเริ่มใหม่ มาถึงก็ไปเริ่มใหม่ ก็จะ ก.ไก่ ข.ไข่อยู่เรื่อย"

เถรี 12-06-2009 19:50

พระอาจารย์บอกว่า "ในการจารตระกรุดมหาสะท้อน กำลังใจต้องได้ชนิดที่ว่าจารเสร็จใช้งานได้เลย"

เถรี 13-06-2009 00:13

พระอาจารย์บอกว่า "ที่เราเจอมา บางทีสิ่งที่เราสอนมันเป็นดาบสองคม ดังนั้น..ในเรื่องการปฏิบัติสำคัญที่สุดก็คือเป้าหมาย เราต้องทบทวนไตร่ตรองอยู่เสมอ ๆ คือ ตัววิมังสาในอิทธิบาท

เราทำเพื่ออะไร? ตอนนี้ทำถึงไหน? ยังตรงเป้าหมายหรือเปล่า? เหลืออีกใกล้ไกลเท่าไหร่? ถ้าหากเราไม่ทวนตรงนี้บ่อย ๆ ก็จะหลุดเป้า แล้วเดี๋ยวจะเตลิดเปิดเปิงไปตามที่เขาหลอก"

เถรี 13-06-2009 13:13

ในเรื่องความกลัวนั้น พระอาจารย์บอกกับพระลูกศิษย์ว่า "ถ้าหากเข้าใจว่าความตายเป็นเรื่องปกติแล้ว เราจะหมดความกลัวทุกอย่างเลย

ผมตามดูมาเป็นปี ๆ เรื่องกลัวตาย เช่น กลัวผี ผีหลอกแล้วจะทำอย่างไร ? ก็บีบคอเราแล้วเราจะเป็นอย่างไร ? เราก็ตาย หรือเข้าป่ากลัวงูกัด กัดแล้วเป็นอย่างไร ? เดี๋ยวก็ตาย ท้ายสุดมาลงที่ตายหมดเลย เพราะฉะนั้น..ผมเลยมาสรุปว่าความกลัวทั้งหมด ไม่ว่ากลัวจากภายในหรือภายนอกก็คือกลัวตายอย่างเดียว

กลัวแล้วไปปรุงแต่ง ผมไปนั่งกรรมฐานในป่าช้า พอดึก ๆ เสียงอะไรดังจะได้ยินชัดมาก ผมก็ฟัง..เสียงดังขนาดนี้เหมือนเสียงงูตัวเล็กเลื้อย ก็ถือไฟฉายไปส่อง ที่ไหนได้ยังไม่ทันได้ส่องเลย ใจไปแวบว่า "ตัวขนาดนั้น ถ้ามีพิษเราโดนกัดก็ตายนะ" คราวนี้คิดไปใหญ่เลย "ตัวอาจจะใหญ่กว่าขนาดที่เราคิดไว้" คิดไปเรื่อย ประมาณชั่วโมงเดียวงูตัวนั้นใหญ่เท่าเสาเลย..! ก็คือปรุงแต่งเพิ่มขนาดไปเรื่อย

ในสถานการณ์จริงสิ่งที่เราซ้อมมายังใช้ไม่ได้ ยังเป็นแค่เราจำได้ ยังไม่ใช่ทำได้ เพราะฉะนั้น..ทำอย่างไร เราก็สมมติสถานการณ์และก็ไปซ้อมบ่อย ๆ ครูบาอาจารย์ท่านถึงได้บอกว่าต้องออกธุดงค์ ต้องเข้าป่า ต้องนอนป่าช้า ซ้อมให้จิตเคยชินเอาไว้ พอมาเจอสภาพแบบนั้นจริง ๆ จะได้ไม่กลัว

ผมเองก็อยากรู้ที่โบราณเขาบอกว่า เข้าป่าธุดงค์อย่าไปปักกลดขวางทางสัตว์ ผมก็ปักเลย อยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คราวนี้ขวางทางเดินประจำของเขา ก็เป็นเรื่องสิครับ เสือจะลงกินน้ำ ผมขวางอยู่เสือก็ไม่กล้าลง เสือก็กลัวนะ ไม่ใช่ไม่กลัว ก็เดินวน ๆ เดี๋ยวก็คำรามไปเรื่อย เมื่อเห็นผมไม่ไปแน่ ก็ตะกุยต้นไม้แคว่ก ๆ รุ่งเช้าไปดู โอ้โห..ต้นไม้แหกอย่างกับซอยมะละกอจะทำส้มตำ..!

ต้องหัดให้ได้อย่างนี้ก็คือ ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ให้สติอยู่ตรงหน้า รู้อยู่ว่าความตายเป็นของธรรมดา ร่างกายที่เรารักนักรักหนานี้ไม่ใช่ของเราหรอก เหมือนกับรถยนต์คันหนึ่ง เราเหมือนกับคนขับรถ เวลารถพังถ้าเปิดประตูได้ก็ลงไปหารถคันใหม่ ถ้าเห็นเป็นธรรมดาเราจะไม่กลัวตาย แต่ถ้าเราไปเห็นว่าเราไม่ใช่คนขับรถ ตัวเราเป็นรถยนต์ ที่นี้จะกลัวเป็นบ้าเป็นหลังเลย ใครเข้าใกล้นี่ก็กลัว เดี๋ยวใครเขาจะชนจะเฉี่ยวเอา

ทีนี้กว่าจะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา ก็ต้องมานั่งแยกรูปแยกธาตุ กว่าจะเห็นว่าเป็นธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลมได้ ต้องแยกแล้วสลายออก แยกแล้วรวมเข้า แยกแล้วแยกอีก จนในยอมรับจริง ๆ ว่าไม่ใช่ของเรา ความกลัวตายจะลดลงจนหายไปเอง

ก่อนหน้านี้ตอนเด็ก ๆ ผมกลัวผี แล้วห้องน้ำก็ไม่ได้อยู่ข้างในบ้าน ส้วมหลุมอยู่ข้างนอกบ้านไกลมาก ต้องเดินผ่านป่าไปด้วย มืดตื๋อเลย กลัวผีมาก จนต้องอั้นขี้อั้นเยี่ยวอยู่จนสว่าง แต่พอเข้าใจแล้วก็สามารถไปได้ เพราะว่าไม่กลัวแล้ว"

เถรี 13-06-2009 13:16

พระอาจารย์บอกว่า "ในการปฏิบัติธรรมต้องรู้จักสังเกตอารมณ์ตัวเอง

การสังเกตแยกแยะก็คือ ตัวธัมมวิจยะในสัมโพชฌงค์ ต้องแยกแยะได้ ว่าเกิดจากอะไร ถ้าสิ่งที่ดีเกิดก็พยายามทำต่อไป จะได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าสิ่งที่ไม่ดีเกิด ต้องดูว่าเกิดจากอะไร แล้วพยายามเลิกทำสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น..เราต้องสังเกต สังเกตไปสังเกตมา จะเป็นตัวมหาสติปัฏฐานสูตร จิตในจิต ธรรมในธรรม จะเข้าใจมากขึ้นไปเรื่อย ๆ "

เถรี 13-06-2009 14:18

ถาม : อารมณ์ปีติ?
ตอบ : ต้องปล่อยให้เต็มที่ ถ้าเกิดขึ้นต้องปล่อยให้เต็มที่ไปทีเดียวเลย อาการจึงจะเลิก แต่ถ้าเราไปรั้งไว้เพราะอายคน เพราะกลัวคน ก็ยังคาอยู่ แต่ถ้าเราสังเกตดู ถึงแม้ว่าจะดิ้นตึงตังโครมคราม น้ำตาไหล หรือลอยไปทั้งตัว อะไรก็ตาม ใจเราก็ยังนิ่งอยู่ข้างใน

ในเมื่อใจนิ่ง ร่างกายอยากดิ้นก็ปล่อยให้ดิ้นไป ถ้าเต็มที่แล้วก็จะเลิกไปเอง แต่ถ้าหากเราไปห้ามไว้ กำลังใจถึงตรงนั้นเมื่อไร กำลังใจลงล็อกเมื่อไร จะเป็นอย่างนั้นทุกที จะเป็นไม่เลิกหรอก เพราะว่าเราไม่ยอมปล่อยจนก้าวผ่าน ฉะนั้น..ถ้าหากเป็นต้องปล่อยให้เต็มที่ ไม่ต้องไปปรุงอะไร แค่เราตามดูเฉย ๆ

อาตมาดิ้นตึงตังโครมครามมาสองเดือนกว่า ก็ตามดูไปเรื่อย อ๋อ "ใจเรานิ่ง" ถ้าใจนิ่งตัวอยากดิ้น..ก็ดิ้นไปเถอะ

เถรี 13-06-2009 15:12

พระอาจารย์บอกว่า "สำคัญที่สุดก็คือ อย่าทิ้งอานาปานสติ เรื่องของการดูลมหายใจเข้าออก ถ้าหากเราไม่ทิ้งตรงนี้ กำลังใจจะทรงตัวจะมีกำลังพอ ถึงเวลารัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นมาจะมีกำลังในการยั้งคิด ในเมื่อยั้งคิดแล้ว แรก ๆ ก็อาจจะอกแตกตาย พอโกรธขึ้นมาก็อยากด่า แต่เราจะมีกำลังพอที่จะห้ามกิเลสได้

หลังจากนั้นพอฝึกซ้อมมากขึ้น ๆ จะเจอวิธีลดความโกรธนั้นลง ลดความโลภลง ลดราคะลง ทำไปท้ายสุดก็จะมีความแตกฉาน แล้วก็จะคว้าขึ้นเอามาใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง ๆ ที่อยู่ตรงหน้า แต่กว่าจะเป็นอย่างนั้นหกล้มหกลุกทุกราย พูดง่าย ๆ ถ้าเป็นนักรบก็แผลทั้งตัว

กิเลสไม่เคยปรานีเราหรอก ถ้าเห็นเราจะหนีก็ตีตายเลย เพราะฉะนั้น..มีทางเดียวคือต้องสู้กันจริง ๆ"

เถรี 13-06-2009 17:15

พระอาจารย์บอกว่า "จริง ๆ ถ้าทำไปถึงจุดหนึ่งแล้ว หลับกับตื่นจะเท่ากันหมด ถ้าหากหลับกับตื่นอารมณ์ใจเท่ากัน กิเลสจะกินเราไม่ได้ แต่แรก ๆ จิตจะไม่ละเอียดพอ เมื่อสติขาด ก็จะตัดหลับไปเลย

บาลีเขาว่า พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ก็คือหลับกับตื่นรู้เท่ากัน หลับก็รู้อยู่ว่าหลับ จะตื่นก็บอกตัวเองว่าพร้อมจะตื่นหรือยัง ถ้าพร้อมแล้วต้องทำอะไรบ้าง จะบอกทีละขั้นเลย บอกทีละขั้นเหมือนกับหุ่นยนต์ เรารู้สึกว่าช้ามาก แต่คนอื่นเขาจะเห็นเราดีดตัวลุกขึ้นยืนเลย แต่ความละเอียดและความไวของจิตจะเห็นตอนนั้นช้ามาก ๆ แล้วถ้าเกิดขั้นตอนไหนผิดพลาดก็จะแก้ไขระหว่างนั้นได้ทัน

ถ้าจิตมีความเร็วขนาดนี้ถึงจะสู้กิเลสได้ ไม่เช่นนั้นกิเลสเกิดเร็วแล้วเราระวังไม่ทัน อาตมาเองทำมายาก แล้วก็รู้ด้วยว่าถ้าเขาทำแบบอาตมา บางทีเขาอาจจะท้อและเลิกไปเลย เพราะฉะนั้น...ใครมาถามอาตมาไม่ปิดไม่บังเลย อาตมาบอกหมด ให้เขาทำได้จริง ๆ เถอะ

ญาติโยมเขามาตรงนี้ เขาถามอะไรอาตมาบอก บางขั้นตอนเป็นปี ๆ ต้องซ้อมแล้วซ้อมอีก ย้ำแล้วย้ำอีก จนกว่าจะเกิดความชำนาญก้าวผ่านไป ถ้าคนถาม..ถามแล้วเอาไปปฏิบัติและมีความเชื่อตามนั้น เดี๋ยวเดียวเขาก็ได้แล้ว ไม่ต้องไปเสียเวลานาน ๆ คนเสียเวลานานมักจะท้อแท้และหมดอารมณ์"

เถรี 13-06-2009 21:08

พระอาจารย์ได้กล่าวกับพระว่า "จริง ๆ ทุกท่านได้เปรียบคนอื่น เราเรียนบาลี โอกาสที่จะเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้าได้ตรงกว่าคนอื่นมันมี เพราะสามารถแปลได้เอง

แต่ว่าการแปลเป็นในส่วนที่เป็นภาษาหนังสือ การปฏิบัติมีส่วนที่เป็นภาษาใจ ส่วนของภาษาใจนี่แหละ ที่เราไม่สามารถจะพูดออกมาได้ เพราะว่าภาษาเขียน ภาษาหนังสือมันหยาบเกินที่จะอธิบายได้ เขาถึงได้ใช้คำว่า ปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน

อย่างเช่นไฟมันร้อน เราก็เขียนคำว่าร้อน ทุกคนก็รู้หมดว่าไฟมันร้อน แต่มันรู้ตามหนังสือ จะรู้จริง ๆ ก็ตอนไหม้แล้วร้องโอ๊ย อ๋อ..ที่เขาบอกว่าร้อนอาการมันเป็นอย่างนี้ แต่ก่อนหน้านี้เราพูดว่ารู้ตามหนังสือยังไม่ใช่รู้จริง ๆ


เพราะฉะนั้น..
สิ่งที่เราศึกษามันเป็นพื้นฐาน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง แปลได้ไม่ผิดพลาด แต่หลังจากนั้นแล้วต้องทำให้เกิด โดยเฉพาะเรียนบาลีอย่าท้อ ถ้าหากว่าทำสมาธิได้ควรจะทำ ถ้าสมาธิไม่ทรงตัว เรียนไปแล้วยาก เราจะท้อหมดกำลังใจ

ถ้าสมาธิทรงตัว จิตที่กระเพื่อมตลอดเวลามันจะนิ่ง เหมือนกับน้ำนิ่ง ตอนน้ำกระเพื่อมมันใช้ประโยชน์ไม่ได้ แต่ตอนที่น้ำมันนิ่ง มันสะท้อนเห็นทุกอย่าง


เวลาที่มันนิ่ง สมาธิมันได้ที่ ฟังอาจารย์แค่ครั้งเดียวก็จำได้หมด"


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:54


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว