เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๖
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๖ |
วันนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ ที่พวกท่านทั้งหลายประชุมกันไป เพื่อเตรียมงานตักบาตรเทโวและทอดกฐินสามัคคี ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องเพราะว่าตัวกระผม/อาตมภาพเองนั้นมีความคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า ส่วนใหญ่แล้ววัดวาอาราม เมื่อไม่มีเจ้าอาวาส งานการทุกอย่างมักจะไปต่อไม่ได้
โดยเฉพาะถ้าหากว่าเจ้าอาวาสมรณภาพลงไป เจ้าอาวาสใหม่ที่มา ถ้าความสามารถสู้เจ้าอาวาสเก่าไม่ได้ วัดก็จะโทรมทันตาเลย แต่ต่อให้ความสามารถสู้เจ้าอาวาสเก่าได้ คนเขาก็จะคิดถึงแต่เจ้าอาวาสเก่า เพราะเขาอยู่กันมานาน เจ้าอาวาสใหม่ต้องทนทำความดีสู้ไปเรื่อย กว่าที่ญาติโยมจะยอมรับเต็มที่ ก็มักจะเป็นช่วงท้ายของชีวิตท่านแล้ว พอมรณภาพไป ปัญหานี้ก็จะเกิดกับเจ้าอาวาสใหม่อีก จนกระผม/อาตมภาพเรียกว่า "วงจรอุบาทว์" โดยเฉพาะในชีวิตนี้ ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมาหลายแห่ง แม้กระทั่งวัดท่าขนุนแห่งนี้ก็เช่นกัน เนื่องเพราะว่าทันทีที่สิ้นเจ้าอาวาส บุคคลใหม่ ถ้าหากว่าไม่ใช่ความสามารถไม่ถึง ก็เป็นคนงอมืองอเท้า ไม่ทำอะไร วัดวาอารามก็จะหมดสภาพในเวลาอันรวดเร็ว ในเมื่อมีประสบการณ์เช่นนี้ กระผม/อาตมภาพก็เลยพยายามวางระบบ ที่ถึงเวลาแล้ว ถ้าหากว่าตัวกระผม/อาตมภาพไม่อยู่ ท่านทั้งหลายจะต้องบริหารวัดได้ ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ วัดวาอารามก็จะไปได้ด้วยระบบ ไม่ใช่ตัวคน ๆ เดียว ก็คือทุกคนให้ความร่วมมือกัน ไม่ใช่รอแต่เจ้าอาวาสเท่านั้น เพียงแต่ว่าระบบพวกนี้ เราต้องการความสามัคคี กลมเกลียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเฉพาะในตอนประชุม ทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงเท่ากัน ไม่มีเด็ก ไม่มีผู้ใหญ่ ไม่มีพระ ไม่มีเณร ไม่มีแม่ชี ไม่มีฆราวาส เห็นว่าอะไรไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็ทักท้วง เห็นว่าอะไรที่ควรจะทำ ก็รีบเสนอความเห็น อย่าไปนั่งรอดูท่าทางอย่างเดียว ถ้าจะรักษาตัวเองแบบนั้น ก็อย่าเสียเวลาไปประชุม หลังประชุม ถ้าหากว่าในระหว่างการประชุมมีการล่วงเกินกัน เราก็มาขอขมากันทีหลัง สมัยที่อยู่วัดท่าซุง กระผม/อาตมภาพทำแบบนี้ทุกครั้ง เนื่องเพราะว่าส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเกรงใจกัน แล้วก็ไม่กล้าทักท้วงในสิ่งที่ผิด กระผม/อาตมภาพทักท้วงจนกระทั่งรุ่นพี่บางท่านถึงขนาดออกปากว่า "ลื้ออย่ามายุ่งกับเรื่องของอั๊ว" กระผม/อาตมภาพบอกว่า "ถ้าเป็นเรื่องของลื้อ อั๊วไม่ยุ่งหรอก แต่ไอ้เรื่องนี้ทำให้ส่วนรวมเสียหาย อั๊วต้องยุ่ง..!" มีใครกล้าพูดกลางที่ประชุมแบบนี้บ้างไหม ? แต่ว่าหลังประชุม กระผม/อาตมภาพก็กราบขอขมากลางที่ประชุม เพราะว่าเรา "เฉ่ง" เขากลางคนหมู่มาก ถึงเวลาก็ต้องขอขมาให้คนหมู่มากเห็น ไม่ใช่แอบไปขอกันสองคน ส่วนเขาจะติดใจหรือไม่ติดใจก็ช่างหัวมัน กูขอแล้ว..! ดังนั้น..ถ้าหากว่ารักที่จะทำงาน อย่ารักตัวเอง แต่ให้รักงานมากกว่า เพราะว่างานที่เราทำก็คืองานเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อความเข้มแข็งดำรงอยู่ได้ของพระพุทธศาสนาสืบไปข้างหน้า |
โดยเฉพาะส่วนหนึ่ง ในเรื่องของการทำงานทำการต่าง ๆ นั้น ถ้าขาดงบประมาณให้แจ้งมาที่กระผม/อาตมภาพ อย่าได้เที่ยวไปเรี่ยไรชาวบ้าน เพราะว่าผิดระเบียบวัด ไปอ่านดูระเบียบวัดข้อที่ ๑๓ เสียใหม่ ระบุเอาไว้ชัดว่าห้ามบอกบุญ ห้ามเรี่ยไร แต่ถ้าใครเซมาชนตีนก็อย่าได้ปฏิเสธ..! เพราะอันนั้นถือว่าเขาเต็มใจทำบุญเอง
แล้วก็ขอเตือนซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าหมดกระผม/อาตมภาพไปแล้ว ใครเป็นเจ้าอาวาสรูปต่อไป ให้ใช้อำนาจเจ้าอาวาสยกเลิกระเบียบข้อนี้เสีย เพราะว่าท่านก็คงจะสู้ผมไม่ได้หรอก ไอ้เรื่องที่รอให้เงินวิ่งมาใส่เอง ถ้าหากว่าเป็นเช่นนั้น ถึงเวลาแล้วเงินไม่มา เพราะว่าเราไม่บอกบุญ ไม่เรี่ยไร ก็เป็นอันว่าอยู่ไม่ได้ เพราะว่าสมัยนี้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ด้วยเงินทั้งสิ้น ดังนั้น..กระผม/อาตมภาพจึงมีความเห็นว่า ในเมื่อเราเองยืนหยัดได้แล้ว ก็เหลือหน้าที่หลักอยู่แค่สองประการ ประการแรกก็คือช่วยเหลือผู้อื่น ก็คือวัดอื่น ประการที่สองก็คือหากองทุนเข้าวัดของเราเอาไว้ คนที่มาเป็นเจ้าอาวาสรูปต่อไปจะได้ไม่ต้องหนักใจ เนื่องเพราะว่าในเรื่องของการบริหารจัดการวัด ส่วนที่ลำบากที่สุดก็คือดูแลรักษา การสร้างนั้นไม่ยากหรอก ต่อให้เป็นโบสถ์ทั้งหลัง ถ้าหากว่าเงินพร้อม คนพร้อม วัสดุอุปกรณ์พร้อม ไม่กี่เดือนก็เสร็จแล้ว แต่ไปหนักตรงคนดูแล แล้วการดูแลทุกอย่างก็ต้องมีงบประมาณค่าใช้จ่าย เรื่องพวกนี้จึงเป็นเรื่องที่พวกเราต้องตระหนักเอาไว้ว่า อันดับแรกเลย ถ้าเราไปบอกบุญเรี่ยไร ก็คือผิดระเบียบวัดของเรา แล้วระเบียบข้อสุดท้าย ข้อที่ ๒๕ ก็บอกไว้ชัดเจนว่า ถ้าหากว่าใครฝ่าฝืนระเบียบก็โดนไล่ออกจากวัด ท่านทั้งหลายจะเห็นว่า ถ้าไม่ใช่ญาติโยมอาสาไปทำหน้าที่แทนแล้ว กระผม/อาตมภาพไม่เคยเรี่ยไรใคร เพราะว่าส่วนตัวแล้วรู้สึกไม่ดีมาตั้งแต่เป็นฆราวาส คือบางทีไม่ได้เกิดศรัทธา ไม่ได้อยากที่จะทำบุญกับสถานที่นั้น หรือไม่อยากทำบุญกับบุคคลนั้น แต่เขาก็มาตื๊อ จนเราต้องทำไปแบบซื้อรำคาญ..! ดังนั้น..ทันทีที่มีอำนาจในการบริหารวัดวาอาราม กระผม/อาตมภาพอยู่ที่ไหนก็จะออกระเบียบไว้อย่างนี้ ก็คือห้ามบอกบุญ ห้ามเรี่ยไร ใครอยากจะทำบุญ ให้มาง้อทั้งน้ำตาแล้วค่อยรับเอาไว้ จึงอย่าได้รั้นแล้วตะแบงข้างไป เพราะว่าถ้าเขาเอาไปพูดในแง่ที่ไม่ดี จะเสียทั้งวัด แล้วถ้าพูดต่อ วัดวาอารามไม่ได้เสียอย่างเดียว พระพุทธศาสนาก็เสียไปด้วย อย่าเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะว่าศาสนาของเราอยู่ได้ด้วยศรัทธาของชาวบ้าน ในเรื่องของศรัทธานั้น เราจะสร้างได้ยากมาก แต่ว่าโดนทำลายได้ง่ายมาก..! จึงเป็นเรื่องที่เราท่านทั้งหลายต้องระมัดระวังอย่างที่สุด แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสเอาไว้ชัดเจนว่า "ภิกษุควรทำตัวเหมือนแมลงผึ้ง นำเอาน้ำหวานและเกสรดอกไม้ไป ก็อย่าทำให้ดอกไม้นั้นชอกช้ำ" |
เพียงแต่ว่าในปัจจุบันนี้ ถ้าหากว่าท่านรู้จักสังเกตจะเห็นอย่างชัดเจนว่า วัดวาอารามส่วนมากตกอยู่ในลักษณะของการประจบคฤหัสถ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า ห้ามประจบคฤหัสถ์ เพราะเป็นการประทุษร้ายตระกูล ก็คือทำลายซึ่งศากยตระกูลของพระพุทธเจ้า..!
ดังนั้น..เราจะเห็นว่าปัจจุบันนี้มีบรรดาเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัดหรือที่ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้น หลายต่อหลายท่านต้องไปพินอบพิเทาต่อฆราวาส เพราะว่าเขาเหล่านั้นเป็น "ขาใหญ่" ที่ทำบุญทีละมาก ๆ กับวัด แม้แต่กระผม/อาตมภาพเอง พรรคพวกเพื่อนฝูงก็ยังบอกว่า "อาจารย์เล็ก ช่วยแนะนำญาติโยมรวย ๆ ให้สักรายสองราย จะได้บริหารวัดได้ง่ายขึ้น" กระผม/อาตมภาพบอกว่าวัดท่าขนุนไม่มี ของเราเองญาติโยมทำบุญมา จะเป็น ๑ บาท ๒ บาท ๕ บาท ๑๐ บาท ๒๐ บาท ๕๐ บาท ๑๐๐ เอาทั้งนั้น แต่ไม่เคยบอกให้ใครเป็นเจ้าภาพโดยเฉพาะ เนื่องเพราะว่าถ้าหากว่าเราไปทำในลักษณะนั้น ก็คือเราต้องอาบัติ ศีลขาด เพราะประจบคฤหัสถ์ แล้วบุคคลที่ศีลขาดบ่อย ๆ ก็เหมือนกับคนที่มีแผลเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ การแสดงอาบัติไม่ได้หมายถึงว่าโทษนั้นหมดลง แต่เราปฏิญาณตนเพื่อบังคับตนเองว่าเราจะไม่คิดเช่นนี้อีก เราจะไม่พูดเช่นนี้อีก เราจะไม่ทำเช่นนี้อีก พอไปแสดงอาบัติแล้วเราก็ทำใหม่ เท่ากับโกหกกระทั่งพระพุทธเจ้า..! การที่ศีลขาดแต่ละครั้ง เหมือนปรากฏแผลขึ้นกับร่างกาย ถ้าหากว่าแผลเต็มตัว คนเห็นก็รังเกียจ แล้วจะไปเอาความเลื่อมใสจากญาติโยมมาจากไหน ? แล้วท้ายที่สุด พอไม่มีญาติโยมสนับสนุน วัดวานั้นก็อยู่ไม่ได้ แล้วก็จะมาบ่นว่าทำไมทำบุญแต่กับวัดท่าขนุน ไม่มาทำบุญที่วัดนี้บ้าง ? หรือไม่ก็วัดนั้นรวยแล้ว ทำไมแห่ไปทำบุญ ? ทำไมไม่ไปทำบุญกับวัดจน ๆ บ้าง ? แล้วทำไมไม่ลองพิจารณาดูว่า ไอ้ที่วัดตัวเองจนนั้นเป็นเพราะอะไร ? อย่างเช่นสมัยก่อน ถึงเวลาพระก็ทักทายญาติโยม "เอ้า..โยมทำนาปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?" โยมก็ตอบอย่างเสียงดังฟังชัดเลยว่า "ก็พอได้อยู่เจ้าค่ะ ถ้าหากว่าหนูไม่กัด วัดไม่กวน ก็คงจะรอดไปอีกปีหนึ่ง..!" ฟังดูแล้ว "น้ำตาจิไหล..!" พระภิกษุสามเณรของเราแทบจะไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้กับญาติโยมเขา เพราะฉะนั้น..ถ้าไม่จำเป็น อย่าไปรบกวนด้วยการขอเป็นอันขาด |
หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงบอกกับกระผม/อาตมภาพตั้งแต่บวชใหม่ ๆ ว่า "ถึงจำเป็นก็ไม่ควรรบกวนญาติโยมด้วยการขอ ให้เราปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมา ถ้าญาติโยมไม่เห็นดีเห็นงาม ไม่ให้การสงเคราะห์เรา ก็ยอมอดตายแล้วกัน..!" แล้วกระผม/อาตมภาพก็ไม่เห็นว่าหลวงพ่อท่านจะอดตาย วัดต่างจังหวัด ไกลลิบขนาดนั้น ก่อสร้างไปเป็นพันล้าน..!
ญาติโยมที่อยากทำบุญมีมาก แต่เขาต้องการพระเณรที่เขาไว้ใจได้ เมื่อทำบุญไปแล้วก็เอาไปก่อให้เกิดประโยชน์จริง ๆ ไม่ใช่บอกบุญสร้างโบสถ์มาเป็น ๑๐ ปีแล้วก็ยังมีแต่เสา ถ้าลักษณะนั้น จะให้โยมเขายินดีในการทำบุญกับท่านก็คงจะเป็นไปไม่ได้เหมือนกัน สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันอังคารที่ ๑๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:54 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.