กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เคล็ดวิชาต่าง ๆ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=11)
-   -   มวยไชยา (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=269)

วาโยรัตนะ 19-03-2009 16:00

มวยไชยา
 
มวยไชยา

:4672615: มวยไชยาเป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ ๕ - ๖ จนมีนักมวยจากไชยาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นมวยมีชื่อ

ประวัติกำเนิดมวยไชยา

มีวัดเก่าแก่อรัญญิกชื่อวัดทุ่งจับช้าง เป็นวัดรกร้างอยู่ในป่าริมทางด่านเดิมที่จะไปอำเภอไชยา วัดนี้มีชื่อเสียงเพราะสมภารซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “พ่อท่านมา” เป็นชาวกรุงเทพฯได้หลบหนีไปอยู่เมืองไชยาด้วยเรื่องใดไม่ปรากฏ “พ่อท่านมา”ได้ฝึกสอนวิชามวยไทยแก่ชาวไชยาจนขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองมวย แม้ทุกวันนี้นักมวยที่ปรารถนาความสวัสดีมีชัย ต้องร่ายรำมวยเป็นการถวายคารวะหน้าที่บรรจุศพก่อนที่จะผ่านไป เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลควรสงสัยว่าทำไมมวยสุราษฎร์ฯหรือมวยไชยา จึงมีชื่อเสียงกระเดื่องดังตลอดมา

.....มวยไทยไชยา จากหลักฐานและคำบอกเล่านั้นเริ่มต้นที่ พ่อท่านมา ไม่มีใครทราบว่าท่านมีชื่อจริงว่าอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าท่านเป็น ครูมวยใหญ่ จากพระนคร บ้างก็ว่าท่านเป็น ขุนศึก แม่ทัพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองจึงเรียกเพียงว่า พ่อท่านมา ท่านได้เดินทางมาที่เมืองไชยา และได้ถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ไว้ให้แก่ชาวเมือง และศิษย์ที่ทำให้ มวยเมืองไชยา เป็นที่รู้จักมากที่สุดในยุค ร.๕ คือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)

.....ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย เคยกล่าวไว้ว่า ท่าย่างสามขุม ของหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) อาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบฯ พ.ศ. ๒๔๖๔ (ซึ่งเป็นศิษย์เอกของ ปรมาจารย์ พระไชยโชคชกชนะ (อ้น) เจ้ากรมทนายเลือกครูมวยและครูกระบี่กระบองผู้กระเดื่องนาม ในรัชสมัย ร.๕) และปรมาจารย์ ขุนยี่สานสรรพยากร (ครูแสงดาบ) ครูมวยและครูกระบี่กระบอง ลือชื่อ ในสมัย ร.๖ นั้นมีความกระชับรัดกุม ตรงตามแบบท่าย่างสามขุมของ ท่านมา (หลวงพ่อ) ครูมวยแห่งเมืองไชยา ท่านนับเป็นต้นสายของมวยไชยา มรดกอันล้ำค่าของคนไทย

ศาลาเก้าห้อง
หลังจากที่กำเนิดมวยไชยาขึ้นแล้ว กิจการด้านนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับการชกมวยจึงเป็นกีฬาสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับเทศกาล,งานฉลองหรือสมโภชต่างๆ และมาเจริญสูงสุดครั้งหนึ่งคือสมัยศาลาเก้าห้อง

ศาลาเก้าห้องนี้ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลพุมเรียง สร้างโดยพระยาวจีสัตยารักษ์ สร้างขึ้นเป็นสาธารณสมบัติศาลานี้สร้างขนานกับทางเดิน (ทางด่าน) มีเสาไม้ตำเสา ๓๐ ต้น เสาด้านหน้าเป็นเหลี่ยม แถวกลางและแถวหลังเป็นเสากลม ระหว่างเสาสองแถวหลังยกเป็นพื้นปูกระดานสูงจากพื้นประมาณ ๑ เมตร ส่วนระหว่างแถวหน้ากับแถวกลางเป็นพื้นดิน ยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ยาวประมาณ ๑๓ วา ๒ ศอก ส่วนกว้างประมาณ ๓ วา หลังคาลิลา มุงสังกะสี มีบ่อน้ำทางทิศตะวันตก ๑ บ่อ

ปัจจุบันศาลาเก้าห้องเดิมได้ถูกรื้อถอนโดยนายจอน ศรียาภัย ลูกคนที่สามของพระยาวจีสัตยารักษ์ เมื่อออกจากราชการกรมราชทัณฑ์และกลับไปอยู่บ้านเดิมที่ไชยายังคงเหลือไว้แต่เพียงบ่อน้ำซึ่งแต่เดิมกรุด้วยไม้กระดาน และต่อมาราษฎรได้ช่วยกันสละทรัพย์หล่อซีเมนต์เสร็จ เมื่อปี ๒๔๗๑ และสร้างศาลาใหม่ขึ้นที่ด้านตะวันออกของศาลาเดิมแต่มีขนาดเล็กกว่ายังคงมีอยู่กระทั่งปัจจุบัน
นอกจากจะใช้เป็นที่พักคนเดินทางแล้ว ศาลาเก้าห้องแห่งนี้ยังใช้เป็นที่สมโภชพระพุทธรูป เนื่องในงานแห่พระพุทธทางบกในเดือน ๑๑ ของทุกปีประจำเมืองไชยาอีกด้วย และในงานแห่พระพุทธรูปทางบกและงานสมโภชนี้ ที่ขาดไม่ได้คือการชกมวยเป็นการสมโภชเป็นประจำทุกปีด้วย


การชกมวยที่ศาลาเก้าห้อง
เมื่อถึงเทศกาลแห่พระบกประจำปี จะมีการแห่พระมาที่ศาลาเก้าห้องและทำการสมโภชที่นั่น ประชาชนทั่วไปรวมทั้งเจ้านายก็ไปพร้อมกันที่ศาลาเก้าห้องแห่งนี้ ในการนี้นักมวยของแต่ละแห่งก็จะเดินทางเพื่อจับคู่ชกกัน
เมื่อการแห่พระพุทธรูปมาถึงศาลาเก้าห้องก็เริ่มพิธีสมโภช ครั้นเวลานักมวยจะไปชุมนุมกันหน้าศาลา โดยมีพระยาไชยาเป็นประธาน การจับคู่มวยในสมัยนั้นไม่มีการชั่งน้ำหนักเพียงแต่ให้รูปร่างพอฟัดพอเหวี่ยงกันก็เป็นการใช้ได้ หรือถ้ารูปร่างต่างกันมาก ก็ต้องแล้วแต่ความสมัครใจของคู่ต่อสู้ เพราะคนสมัยก่อนไม่เหมือนกับคนสมัยนี้ บางคนโกรธกันก็ถือเอาโอกาสนี้มาต่อสู้กันตัวต่อตัวต่อหน้าประธาน

วาโยรัตนะ 19-03-2009 16:08

การแต่งกายของนักมวย

การพันหมัด ที่เรียกว่าหมัดถักนั้นเมื่อผู้ใดได้คู่ชก ทางฝ่ายจัดรายการ จะแจกด้ายขนาดโตคนละม้วน เมื่อได้ด้ายดิบแล้วนักมวยก็จะนำด้ายดิบนั้นเข้าพุ่มไปให้พรรคพวกช่วยกันจับเป็นจับ ๆ (หนึ่งจับเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย) แล้วตัดออกเป็นท่อนๆยาวประมาณ ๔-๕ เมตร ชั้นแรกที่จะพันมือจะใช้ผ้าเรียบพันมือก่อน ชั้นที่สองซึ่งจะพันด้วยด้ายดิบซึ่งพรรคพวกจะขวั้นเป็นเกลียวจนเกิดเป็นปมอยู่ทั่วไป แล้วพันด้วยผ้าเรียบ แล้วพันด้วยด้ายที่ถูขวั้นเป็นเกลียวจนเกิดปม พันสลับกันเช่นนี้หลายชั้น การพันมือจะพันจนถึงข้อมือเท่านั้นส่วนปลายนิ้วมือจะพันขึ้นไปพอถึงข้อนิ้วแรก ให้กำหมัดได้สะดวก และขณะที่พันมืออยู่นั้น จะต้องใช้ปลายนิ้วมือคอยแหย่ไว้ตามช่องนิ้วมือระวังไม่ให้แน่นจนเกินไป เพราะถ้าแน่นจะทำให้กำหมัดไม่แน่นเวลาชก ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงนิ้วมือหักในขณะต่อสู้เมื่อชกโดนคู่ต่อสู้จังๆ โดย นักมวยไชยา จะคาดเชือกแค่บริเวณข้อมือ ส่วนนักมวยสายอื่น ๆ เช่น นักมวยโคราช จะคาดเชือกถึงบริเวณข้อศอกเพื่อใช้รับอวัยวุธต่างๆของคู่ต่อสู้ และ นักมวยสายลพบุรีหรือนักมวยภาคกลางอื่นๆเช่น มวยพระนคร จะคาดเชือกถึงบริเวณกลางแขน

การพันลูกโปะ (กระจับ) ในการพันลูกโปะจะใช้ผ้าสองผืน ผืนแรกจะใช้ผ้าขาวม้าก็ได้ หรือผ้าชนิดอื่นที่ยาวพอสมควร ผืนที่สองจะใช้ผ้าอะไรก็ได้ วิธีพันจะใช้ผ้าผืนแรกต่างเข็มขัด ปล่อยชายข้างหนึ่งยาวปลายข้างหนึ่งจะผูกเป็นปมหมดชายผ้า ปล่อยข้างยาวลงไปข้างล่าง ส่วนผืนที่สองจะม้วนเป็นก้อนกลม (คล้ายม้วนทูนหรือผ้าที่ม้วนรองบนศีรษะขณะทูนของที่ก้นไม่เรียบ) ใช้ผ้าผืนนี้วางลงทับแทนกระจับ ใช้ชายผ้าที่ปล่อยให้ห้อยลงของผืนแรกคาดทับลงไป แล้วเต้าชายผ้าส่วนนั้นเข้าระหว่างขาดึงให้ตึงไปผูกชายที่เหลือเข้ากับส่วนที่ผูกแทนเข็มขัดที่ด้านหลัง

ประเจียด เป็นเครื่องสวมศีรษะลักษณะเฉพาะของนักมวยไชยา ส่วนนักมวยภาคอื่นจะสวม"มงคล"แทน ประเจียดนั้นจะทำเป็นลักษณะแบนๆมากกว่าทำให้กลมมีการลงคาถาอาคม ลงเครื่องป้องกันต่างๆ ขณะชกถ้าประเจียดหลุดก็ยกมือขอเก็บมาสวมเสียใหม่ได้ วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการป้องกันมิให้เส้นผมลงปิดหน้าในขณะที่กำลังทำการต่อสู้

กติกา
สำหรับในการต่อสู้ใช้แม่ไม้มวยไทยได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น หมัด เท้า เข่า ศอกในการต่อสู้ใช้จำนวนยก ๕ ยก และใช้ยกเวียน หมายความว่าวันนั้นจับมวยได้กี่คู่ (ส่วนใหญ่ ๕ – ๖ คู่) ก็จะชกกันคู่ละ หนึ่งยก โดยคู่ที่ ๑ ชกยกที่ ๑ ก็เข้าพุ่ม (ที่สำหรับพักนักมวย) คู่ที่ ๒ ขึ้นชกยกที่ ๑ และยกที่ ๑ จนไปถึงคู่สุดท้าย คู่ที่ ๑ จึงจะชกยกที่ ๒ แล้วเวียนไปจนถึงคู่สุดท้าย คู่ที่ ๑ จึงขึ้นชกยกที่ ๓ การชกจะปฏิบัติเช่นนี้จนครบ ๕ ยก แต่ถ้ามีคู่ใดแพ้ชนะก่อนกันก็ตัดคู่นั้นไป ส่วนที่เหลือก็จะเวียนไปดังที่กล่าวมาแล้ว กติกาการหมดยกมี ๒ แบบคือ

ก. แบบที่ ๑ เมื่อมีฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำ ไม่สามารถป้องกันตัวได้ ก็ยกมือขอบอกเวลาหมดยก เพื่อเข้าพุ่มแก้ไขอาการที่เพลี่ยงพล้ำนั้น และคำว่า “ยก”ที่ใช้กันในทุกวันนี้ก็น่าจะมีความเป็นมาจากอาการที่ยกมือดังกล่าวแล้วก็อาจเป็นได้

ข. แบบที่ ๒ ในขณะชกเขาจะใช้ลูกลอยเจาะก้นลอยน้ำแบบที่ใช้ในการชนไก่แต่เดิม เมื่อลูกลอยจมน้ำเจ้าหน้าที่ก็จะตีกลองบอกหมดยก เพื่อให้คู่ต่อสู้ได้เข้าพุ่มเพื่อแก้ไข ให้น้ำและแนะนำการแก้ลูกไม้มวยส่วนคู่ต่อไปก็จะขึ้นชกกันต่อไป

สำหรับดนตรีที่ใช้มีปี่และกลองยาวประโคมก่อนและขณะทำการต่อสู้

วาโยรัตนะ 19-03-2009 16:09

ทุ่ม..ทับ..จับ..หัก ในมวยคาดเชือก
..........ทุ่ม ทับ จับ หัก ในมวยคาดเชือกนั้นเป็นกลมวยชั้นสูง ที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้พื้นฐาน การบริหารร่างกายเพื่อพาหุยุทธ์พร้อมฝึกฝน ท่าย่างสามขุมตามแบบของแต่ละครู เรียก'ท่าครู'รวมทั้งแม่ไม้ต่าง ๆ เช่นการออกอาวุธ ป้องปัดปิดเปิด ป้องกัน ตอบโต้ให้เชี่ยวชาญ ดีแล้ว จึงจะสามารถแตกแม่ไม้กล ลูกไม้ กลรับ กลรุก ล่อหลอก หลบหลีก ทั้งยังต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ใช้ออกไป จึงจะเกิดความคม เด็ดขาด รุนแรง ท่วงท่าลีลางดงาม เข้มแข็งดังใจ ..........เช่นท่าครูมวยไชยา(ท่าย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์)นั้นได้ชื่อว่ามีความรัดกุมเฉียบคม จนสามารถชนะการแข่งหน้าพระที่นั่งสมัย ร.5 เมื่อคราวจัดให้มีงาน ณ ทุ่งพระเมรุ ป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ คือ นายปล่อง จำนงทอง ที่สามารถใช้ 'ท่าเสือลากหาง' โจนเข้าจับ ทุ่มทับจับหักปรปักษ์จนมีชัย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 'หมื่นมวยมีชื่อ' ท่าที่ใช้จับทุ่มรับการจู่โจมด้วย เตะ ถีบ เข่า อย่าง ' ถอนยวง' นั้น สามารถทุ่มโยนปรปักษ์ออกไป หรือจับกดหัวให้ปักพื้นแล้วทับด้วยก้นหรือเข่าได้ หากเป็นการรุกด้วยหมัดนั้นให้แก้ด้วย ' ขุนยักษ์พานาง' หรือ 'ขุนยักษ์จับลิง' ศอกแก้ด้วย 'พระรามหักศร' และยังมีท่าอื่น ๆ อีกมาก ที่ครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านมิได้กำหนด ชื่อเอาไว้ ทั้งหมดนี้ผู้ใช้จำต้องรู้เคล็ดป้องปัดปิดเปิด และกลประกบประกับจับรั้ง เป็นท่าร่วมเพื่อเข้าจับหักด้วยมือ หรือ เกี้ยวกวัดด้วยท่อนแขน ฯลฯ


เวทีชกมวย
การชกมวยไชยา ในยุคแรกชกที่ศาลาเก้าห้อง โดยที่ศาลาเก้าห้องมีบริเวณที่ชกมวยก็คือสนามหน้าศาลา จะมีเจ้าหน้าที่ปักหลักสี่หลักแล้วใช้เชือกป่านขนาดใหญ่(เชือกพวน)ขึงกับหลักสามสี่สาย โดยในศาลาจะมีเจ้านาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆของเมืองไชยาจะพักอยู่ในศาลาเพื่อชมการชกมวยทุกครั้งไป


เวทีมวยวัดพระบรมธาตุไชยา
เมื่อการชกมวยที่ศาลาเก้าห้องต้องมีอันล้มเลิก เนื่องมาจากศาลากลางถูกย้ายไปอยู่ที่บ้านดอน พระยาไชยาก็ไปเป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอนดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นรวมทั้งได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาไว้ที่อำเภอไชยาในปัจจุบันก็เกิดสนามมวยแห่งใหม่ขึ้นที่บริเวณสนามวัดพระบรมธาตุ เพราะในสมัยนั้นวัดพระบรมธาตุมีงานประจำปีในเดือน 6 ของทุกปี การจัดให้มีการชกมวยก็ขึ้นที่สนามแห่งนี้ด้วย โดยครั้งแรกชกบนลานดินเหมือนที่ศาลาเก้าห้อง ที่ตั้งสนามอยู่ระหว่างพระเวียนกับถนนที่ตัดผ่านหน้าวัด(ถนนที่ผ่านทุกวันนี้แต่สมัยนั้นยังไม่มีกำแพงแก้วเหมือนปัจจุบัน) การชกและกติกาก็เหมือนที่ศาลาเก้าห้องทุกประการ จะต่างกันที่สนามวัดพระบรมธาตุมีการเก็บเงิน โดยใช้ปีกเหยี่ยว(ใบตาลโตนดผ่าซีกแล้วแล้วโน้มมาผูกติดกับก้านใบ) กั้นเป็นบริเวณสนามและเนื่องจากกีฬามวยเป็นที่สนใจของประชาชนโดยทั่วไป พระครูโสภณเจตสิการา(เอี่ยม)เห็นว่ามีหนทางที่จะเก็บเงินเป็นรายได้บำรุงวัด จึงดำริคิดสร้างเวทีมวยถาวรขึ้นที่สนามมวยแห่งนี้ โดยให้นายภักดิ์ ลำดับวงค์ เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง นายจอน แสงสิทธิ์ เป็นนายช่าง นายร่วง เชิงสมอ เป็นลูกมือช่าง และสร้างเสร็จในปี 2474 โดยท่านพระครูโสภณเจตสิการามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ทั้งสิ้น ประมาณ 500 บาท

เวที่ใหม่แห่งนี้ใช้ทางเหนือของสถานที่เดิมไปเล็กน้อย โดยเลื่อนใกล้ถนนเข้าไปอีก ลักษณะของเวที เป็นเสาปูนซีเมนต์เสริมเหล็กหน้า 8 นิ้ว จำนวน 4 ต้นกว้างและยาวด้านละ 4 วา เทคอนกรีตเท่าหน้าเสาทั้ง 4 ด้าน สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ตรงกลางถมดิน เสาสูง 6 ศอก หลังคามุงสังกะสี ไม้ที่ใช้เป็นไม้หลุมพอโดยตลอดเฉพาะเครื่องทำหลังคา

วาโยรัตนะ 19-03-2009 16:11

สมัยเริ่มแรก

การชกยกเลิกหมัดถักมาใช้นวม ยกเลิกยกเวียนมาเป็นยกตลอด คือแต่ละคู่ชกกันจนครบ 5 ยก แล้วจึงเป็นการชกของคู่ต่อไป กติกาการชกเหมือนปัจจุบัน
การจัดสนามและเวที สนามจะกั้นด้วยผ้าขาว เวทีกั้นเชือกแบบปัจจุบัน รอบขอบเชือกด้านนอกจนติดขอบคอนกรีตมีต้นกล้วยวางเรียงโดยรอบเพื่อป้องกันอันตรายให้แก่นักมวย พื้นเวทีซึ่งถมดินไว้ถูกปูทับด้วยแกลบหรือฟางข้าวแล้วปูทับด้วยกระสอบป่าน ซึ่งต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาใช้ผ้าใบ
การจับเวลา ใช้นาฬิกา การให้สัญญาณการชกและหมดเวลาใช้ระฆังของโรงเรียนวัดพระบรมธาตุ
เครื่องดนตรีใช้ปี่เป็นหลักและใช้กลองยาวช่วยในการประโคม
เครื่องขยายเสียงไม่มีใช้ ต้องใช้โทรโข่งทั้งประกาศและพากย์มวย นายชม จุลกัลป์ เป็นผู้ประกาศประจำเวทีเป็นคนแรก
กรรมการ กรรมการห้ามมวยคนแรกของเวที คือ นายอมโร อมรบุตร คนที่สอง คือ นายพันธ์ ทิพย์มณี สมัยดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอท่าฉาง คนต่อมาคือ นายชม จุลกัลป์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประจำแผนกอยู่ที่ว่าการอำเภอไชยา

สมัยสิ้นสุด
หลังจากพ้นยุคแรกมาการชกก็มีการเปลี่ยนแปลงจนเข้ารูปแบบของปัจจุบันทุกประการ แต่เมื่อสิ้นสมัยของพระครูโสภณเจตสิการาม(เอี่ยม) ท่านเจ้าคุณพุทธทาส(สมัยนั้น) ก็ให้ยกเลิกงานมหรสพและงานประจำปี คงรักษาไว้แต่พิธีทางศาสนา แต่ก็มีผู้คิดเปลี่ยนสถานที่ชกและสถานที่จัดงานไปไว้ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอไชยา แต่จัดได้ไม่กี่ปีก็ต้องมีอันล้มเลิกการจัดงานนั้นไป ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการชกมวยในงานต่างๆจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

นักมวยฝีมือเอกของไทยที่เคยผ่านการชกที่เวทีแห่งนี้มีมากมาย เท่าที่พอจะได้รายชื่อก็มี จำเริญ ทรงกิตรัตน์ , โกต๊อง แก้วอำไพ , กลยุทธ ลูกสุรินทร์ , บุญธรรม แสงสุเทพ , ไสว แสงจันทร์ , เชิด จุฑาเพชร


การรื้อถอนเวที่แห่งนี้
สาเหตุที่ต้องทำการรื้อถอนเวทีแห่งนี้ ก็เพื่อที่จะเตรียมสถานที่เพื่อรับเสด็จ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในคราวยกพระสุวรรณฉัตรพระบรมธาตุไชยา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2525 โดยทำการรื้อถอนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2524 ผู้ควบคุมการรื้อถอนได้แก่ นายนุกูล บุญรักษา ครูใหญ่โรงเรียนวัดพระบรมธาตุ ซึ่งอดีตเคยเป็นนักมวยฝีมือดีที่เคยผ่านการชกที่เวทีแห่งนี้มาก่อน ท่านบอกว่าเสียดายของเก่าแต่จำเป็นที่ต้องรื้อถอน

วาโยรัตนะ 19-03-2009 16:12

รางวัล
ในการชกสมัยนั้น เป็นการชกเพื่อสมโภชพระที่แห่ทางบกเป็นประจำทุกปี แต่ฝ่ายผู้จัดให้มีมวยในครั้งนั้นซึ่งทุกคนจะกล่าวเช่นเดียวกันว่าเงินรางวัลที่ได้จะได้จากพระยาไชยา เพราะในสมัยนั้นการชกมวยไม่มีการเก็บเงิน ดังนั้นรางวัลที่ได้จะมีไม่มากนัก คนละบาทสองบาทหรือมากกว่านั้นก็ต้องแล้วแต่ฝีมือหรือการต่อสู้แต่ละคู่หรือความพอใจของเจ้านาย แต่ส่วนใหญ่จะได้เท่ากัน ครั้นเมืองไชยาถูกรวมกับเมืองกาญจนดิษฐ์และย้ายศาลากลางไปไว้ที่บ้านดอน พระยาไชยาได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอน เมืองไชยาจึงไม่มีเจ้าเมืองตั้งแต่นั้นมา การชกมวยที่ศาลาเก้าห้องก็ต้องมีอันล้มเลิกไป แต่เนื่องจากไชยาเป็นเมืองมวย ก็ย่อมจะมีการชกมวยเกิดขึ้นที่แห่งใหม่ และสถานที่แห่งนั้นได้แก่สนามมวยวัดพระบรมธาตุไชยา


กองมวย
ตั้งแต่ที่มีการชกมวยที่ศาลาเก้าห้องแล้วนั้นเมืองไชยาได้เกิดมีกองมวยที่สำคัญเกิดขึ้น 4 กอง คือกองมวยบ้านเวียง กองมวยปากท่อ กองมวยบ้านทุ่ง กองมวยพุ่มเรียง แต่ละกองจะมีนายกอง 1 คน ถ้าเป็นปัจจุบันก็ได้แก่หัวหน้าคณะมวย และนายกองมีหน้าที่รับผิดชอบนักมวยในกอง เพราะนักมวยในกองจะได้รับสิทธิ์พิเศษต่างๆตามความสำคัญ ดังนี้

เฉพาะกองมวยของหมื่นมวยมีชื่อ(ปล่อง จำนงทอง)ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรัชชูฯ จำนวน 25 คน ส่วนที่เหลือต้องเสียภาษีนี้คนละ 4 บาทเหมือนบุคลอื่นทั่วไป
การใช้กำลังโยธา(การเกณฑ์ใช้แรงงาน) กล่าวคือในสมัยนั้นมีการเกณฑ์ใช้แรงงานเพื่อสร้างทางหรือสาธารณะสมบัติอื่นๆ ทุกคนในเมืองไชยาย่อมถูกเกณฑ์แรงงานไปใช้โดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นเงินทองหรือสิ่งของทุกคนจะต้องไปทำงานตามการเกณฑ์นั้น ยกเว้นบุคคลที่อยู่ใน “กองมวย” ซึ่งจะไม่ถูกเกณฑ์แรงงานเหมือนคนทั่วๆไป
บุคคลในกองมวย มีหน้าที่ฟิตซ้อมมวย และเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อที่จะเดินทางไปชกทุกแห่งตามที่ทางราชการต้องการ อย่างเช่นงานเฉลิมฯที่บ้านดอน งานรับเสด็จรัชกาลที่ 6 ที่บนควนท่าข้าม(พุนพิน) นายกองมวยจะต้องนำนักมวยของแต่ละกองไปชก แต่การไปนั้นได้รับการยืนยันว่า นักมวยที่ไปจะได้รับเบี้ยเลี้ยง ตามลำดับดังนี้ คือ 3 บาท 2 บาท 1บาท และ 50 สตางค์ เช่นหมื่นมวยมีชื่อจะได้วันละ 3 บาท นายกองอื่น 2บาท นักมวยสำคัญคนละ 1 บาท ส่วนนักมวยสำรองหรือลูกน้องจะได้คนละ 50 สตางค์ และจะได้รับเบี้ยเลี้ยงจนกว่างานนั้นจะเลิกหรือถึงวันกลับ
จะเห็นได้ว่านักมวยมีค่าและมีความหมายมากในสมัยนั้น เป็นบุคคลที่มีเกียรติ ดังนั้นในการเข้ากองมวย นายกองจะเป็นผู้พิจารณาจากรูปร่างของผู้ที่มาสมัครว่าพอจะเป็นนักมวยได้หรือไม่ และก็มีมากเหมือนกันที่เข้ากองมวยโดยหวังสิทธิ์พิเศษ แต่มีข้อแม้ที่น่าสังเกตคือบุคคลที่จะเข้ากองมวยได้ต้องซ้อมจริง ใครหลบหลีกนายกองมีสิทธิ์คัดชื่อออกทันที การคัดชื่อออกทำให้เสียสิทธิ์ที่กล่าวมาแล้วนั้นด้วย

วาโยรัตนะ 19-03-2009 16:14

ค่ายมวยที่สำคัญของไชยาและนักมวยเอกของค่าย

ค่าย ศ.ปักษี เป็นค่ายมวยที่เก่าแก่มาก ผู้ให้กำเนิดค่ายนี้ได้แก่ นายนิล ปักษี นักมวยฝีมือเยี่ยมลูกศิษย์พระยาไชยา นักมวยเอกของค่ายนี้ได้แก่ นายเนียม ปักษี ลูกชายนายนิล ปักษี , นายพรหม ราชอักษร , ผู้เคยปะทะนักมวยฝีมือเยี่ยมจากเมืองกรุง เช่น สวย จุฑาเพชร , ไสว แสงจันทร์ , เลื่อน ภู่ประเสริฐ และ ทองอยู่ ทวีสิน ปัจจุบันยังมีคนลูกหลานของสกุลปักษีบวชเป็นเจ้าอาวาสวัดพุมเรียง

ค่ายชัยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งค่ายมวยนี้ได้แก่ นายนุ้ย อักษรชื่น สาเหตุที่ตั้งค่ายมวยเพราะเห็นว่าขาดครูมวยทีจะฝึกหัดเด็กหนุ่มๆในหมู่บ้านและเห็นว่าวิชามวยจะสูญหายไป จึงตัดสินใจตั้งค่ายมวย โดยเฉพาะนายนุ้ยเองเป็นศิษย์คนหนึ่งซึ่งเคยฝึกมวยมาจากหมื่นมวยมีชื่อและสาเหตุที่ตั้งชื่อค่ายว่า “ชัยภิรมย์” ก็เพราะเป็นฉายาของนายนุ้ยที่ได้มาจากจังหวัดภูเก็ตคราวชกกับนายเปลื้อง นักชกจากกรุงเทพฯและได้รับชัยชนะเพราะเป็นคนใจเย็นชกด้วยความสุขุมรอบคอบ สำหรับนักมวยเอกของค่ายนี้ก็มีหลายคนเช่น นายหนูเคลือบ พันธุมาศ ผู้ใช้ชื่อในการชกมวยว่า สมจิต และเคยเดินทางเข้าชกในกรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อสมจิต ฉวีวงค์ (เท่ง) ปัจจุบันท่านผู้นี้บวชอยู่ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา (บวชที่วัดหน้าเมืองปัจจุบันเป็นวัดร้าง)

ค่าย วงค์ไชยา ผู้ตั้งค่าย วงค์ไชยา คือ นายจ้อย เหล็กแท้ เป็นศิษย์คนหนึ่งของนายนิล ปักษี เหตุที่ตั้งชื่อวงค์ไชยา เพราะตอนเดิน ทางเข้าชกมวยที่กรุงเทพฯ “แม่คุณ” (เป็นคำเรียกคุณนายชื่น ศรียาภัย ของนายจ้อย) เป็นผู้ตั้งชื่อชกมวยให้ว่า “เนียม วงค์ไชยา” และที่ให้ชื่อเช่นนั้นก็เพื่อให้เป็นที่ระลึกของบ้านเกิดของแม่คุณคือไชยา จึงถือเอา “วงค์ไชยา” เป็นมงคลนามมาตั้งเป็นค่ายเพื่อฝึกหัดศิษย์ ครูมวยของค่ายนี้นอกจากนายจ้อยเองแล้ว ยังมีผู้ช่วยอีกคน คือนายบุญ แห่งบ้านขนอน แต่ใช้ชื่อคณะว่า “ศ.วงค์ไชยา” นักมวยที่มีชื่อเสียงมากคือ นายปรีชา แห่งบ้านขนอน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา สำหรับคณะมวย “ศ.วงค์ไชยา” ตั้งอยู่ที่บ้านขนอน

ค่ายบำรุงหิรัญ คณะบำรุงหิรัญตั้งค่ายอยู่ที่บ้านท่าโพธิ์ หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา ผู้ตั้งคณะมวยนี้คือนายจ้วน หิรัญกาญจน์ นักมวยเสื้อสามารถเวทีวัดพระบรมธาตุ โดยฝึกมวยมาจากนายน้าว ซึ่งเคยเข้าชกโชว์ฝีมือในเมืองกรุงมาแล้วสมัยหนึ่ง และเคยรับพระราชทานหน้าเสือมาแล้ว สาเหตุที่ต้องตั้งค่ายมวย ก็เพื่อฝึกเด็กรุ่นหนุ่มบ้านท่าโพธิ์ และอีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะเวทีมวยวัดพระบรมธาตุได้ห้ามไม่ให้นักมวยที่ไม่มีชื่อคณะขึ้นชก นักมวยเอกของค่ายนี้มี

ทักษิณ บำรุงหิรัญ (เพชรสุวรรณ) เสียชีวิตแล้ว
เช่ บำรุงหิรัญ (อินทจักร) เสียชีวิตเล้ว
ยี้ บำรุงหิรัญ (อินทจักร) ปัจจุบันมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เที่ยง บำรุงหิรัญ (อินทจักร) ปัจจุบันมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง
ปลอด บำรุงหิรัญ (มณีรัตน์) เจ้าของฉายาไอ้มนุษย์รถถัง ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 3 ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
วัชระ บำรุงหิรัญ (สินธวาชีวะ) ปัจจุบันอยู่บ้านปากท่อ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
ประยงค์ บำรุงหิรัญ (ศรีสุวรรณ) ไอ้จอมทรหดของค่าย ปัจจุบันอยู่ที่บ้านทุ่ง ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา

คณะ ณ.ศรีวิชัย ผู้ก่อตั้งค่ายนี้ คือนายบุญส่ง เทพพิมล โดยเริ่มหัดมวยจากคุณตา อดีตนายกองมวยบ้านเวียง คือคุณตาเริก ส่วนคุณปู่ก็เป็นนักชกฝีมือเยี่ยม คือ ปู่นุช เหตุที่ตั้งค่ายมวยก็เหมือนกับค่ายบำรุงหิรัญ แต่ที่ตั้งชื่อเช่นนั้นเพราะบ้านเวียงเป็นที่ตั้งเมืองเก่าสมัยศรีวิชัย และลานฝึกซ้อมก็อยู่ในบริเวณกำแพงเมืองสำหรับนักมวยเอกของค่ายมี
วีระ ณ ศรีวิชัย (ให้ บุญเหมือน) นักชกหมัดหนักของค่าย และยังเป็นคู่ต่อสู้ที่ประชาชนยังพูดถึงความสนุกสนานและดุเดือดทุกครั้งที่ชกกับ สุวรรณ (ริม) ศ.ยอดใจเพชรนักชกจอมทรหดของบ้านพุมเรียงโดยเฉพาะนักชกคนนี้เคยปะทะกับบุญธรรม วิถีชัย มาแล้ว ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเวียง อำเภอไชยา
ชิงชัย ณ ศรีวิชัย (เขียน คงทอง) ผู้เคยประหมัดกับ ศักดิ์ชัย นาคพยัคฆ์ ปัจจุบันรับราชการเป็นตำรวจอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต
คล่อง ณ ศรีวิชัย (คล่อง เชื้อกลับ) ดาราศอกกลับเคยชกกับชาญ เลือดเมืองใต้ ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่หน้าวัดธารน้ำไหล อ.ไชยา
ยก , เทวิน (ไว้),ชาย(ให้) ณ ศรีวิชัย สามพี่น้องตระกูลเผือกสวัสดิ์
นายนาค , ปรีดา ณ ศรีวิชัย (ศักดิ์เพชร) สองพี่น้องลูกชายคนหนึ่งของยอดมวยเมืองไชยา คือ นายสอน ศักดิ์เพชรโดยนายนาค มี ฉายา “ไอ้เป๋” เพราะขาพิการแต่ด้วยเลือดของมวยไชยาโดยแท้ จึงขึ้นเวที่ชกทั้งขาเป๋ และได้รับชัยชนะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้องชายคือนายปรีดา เป็นนักชกจอมมุทะลุ ปัจจุบันนายนาคเสียชีวิตแล้ว นายปรีดา ดำเนินธุรกิจส่วนตัว ดำเนินธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่บ้านสะพานจันทร์ หมู่ที่ 3 ตำบลเวียง อำเภอไชยา นายนุกูล ณ ศรีวิชัย (บุญรักษา) ไอ้เสือหมัดซ้ายผู้เคยต่อสู้กับสมใจ ลูกสุรินทร์

คณะชัยสิทธิ์ ผู้ตั้งค่ายมวยแห่งนี้คือ นายกิมชุ้น ชัยสิทธิ์ ผู้ซึ่งได้รับการฝึกหัดวิชามวยมาจากอาจารย์แสง และนายนุ้ย อักษรชื่น ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วที่จังหวัดชุมพร ค่ายนี้มีสาขาแยกออกไป ทั้งตำบลทุ่งและตำบลป่าเว นักมวยเอกของค่ายนี้ที่พอจะรู้ได้ก็มี
นายมา ใสสะอาด กำนันตำบลป่าเวในปัจจุบัน
นายแพ ชัยอินทร์ กำนันตำบลตลาดไชยา
นายพร้อม ไวทยินทร์ ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านปากด่าน ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
คณะ ศ.สิงห์ชัย เป็นคณะมวยที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ก็มีนักชกที่มีชื่อเสียง เช่น
นายนับ ศ.สิงห์ชัย (ทองสาลี) จอมศอกหน้าหยก ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านดอนโด ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
เบี้ยว ศ.สิงห์ชัย ไอ้กำแพงเมืองจีนของไชยา ผู้เป็นตัวยืนคนหนึ่งที่คอยรับมือนักชกจากต่างถิ่น โดยเฉพาะที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
นอกจากคณะที่กล่าวมาแล้วก็มีคณะมวยอื่นอีก เช่น ชัยประดิษฐ์ ศ.ยอดใจเพชร แต่ในปัจจุบันนี้นักมวยที่ขึ้นชกที่เป็นนักมวยไชยาแล้วจะใช้คณะอื่นเกือบทั้งหมด เพราะในช่วงนี้ใครที่เคยชกมวยชนะสักครั้งหรือสองครั้งก็สามารถตั้งคณะมวยได้ ซึ่งเป็นการยากที่จะค้นคว้า จึงขอกล่าวแต่เฉพาะค่ายมวยที่มีมาแต่เดิม และมีชื่อเสียงมาก่อน มวยไชยายุคปัจจุบัน

หลังจากเวทีที่มวยวัดพระบรมธาตุสิ้นสุดลง วงการมวยไชยาก็เริ่มเสื่อมลงจนถึงทุกวันนี้ เกือบจะพูดได้เลยว่า มวยดังของไชยากำลังจะหมดไป เพราะขาดผู้สนับสนุนที่แท้จริง ทั้งๆที่คนไชยายังคงมีสายเลือดนักสู้อยู่เต็มตัว ความเป็นเมืองมวยกำลังสูญไปเพราะขาดผู้นำที่จริงจัง รวมทั้งปัญหาที่สำคัญที่ทำให้วงการมวยเสื่อมลงทุกวันนี้ที่เห็นได้เด่นชัดคือการพนันการต่อสู้ผลปรากฏจะอยู่ที่การพนันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่ที่ฝีมือนักมวย มวยไชยาจึงเสื่อมลงและเสื่อมลง จึงน่าที่จะปลุกวิญญาณของความเป็นนักสู้ของเมืองมวยในอดีตออกมาโชว์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์อีกสักครั้ง ผู้จัดทำเรื่อง “มวยไชยา” จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คงอีกไม่นานเกินไปนักที่นักชกจากเมืองมวย จะได้นำชื่อเสียงมาสู่เมืองมวยอีกสักครั้ง เหมือนที่ “หมื่นมวยมีชื่อ”เคยทำไว้ในอดีต

วาโยรัตนะ 19-03-2009 16:16

อดีตมวยฝีมือเยี่ยมเมืองไชยา

อดีตมวยฝีมือเยี่ยมเมืองไชยา ที่เป็นที่รู้จักกันดีได้แก่

หมื่นมวยมีชื่อ(นายปล่อง จำนงทอง)
นายสอน ศักดิ์เพชร
นายนิล ปักษี นักชกผู้พิการ
นายเนียม ปักษี
บุญส่ง เทพพิมล
คล่อง กัณหา
เต็ม กัณหา
พร้อม อินทร์อักษร
อินทร์ ศักดิ์เดช
นายนุ้ย อักษรชื่น (ชัยภิรมย์)
นายหมิก นิลจันทร์ ผู้ลบรอยแค้นให้นายสอน ศักดิ์เพชร เมื่อนายสอน ศักดิ์เพชร ต้องประสบความพ่ายแพ้ให้แก่ “หมัดลูกวัว”แห่งเมืองสงขลาจนถึงถิ่น นายสอนได้พกพาความแค้นกลับไชยา โดยหวังที่จะกลับไปแก้มือให้ได้ แต่เมื่อข่าวการพ่ายแพ้ของนายสอน รู้ถึงนายหมิก เพื่อนผู้เคยตะลุยเมืองกรุง และเป็นศิษย์ฝีมือเยี่ยมของหมื่นมวยมีชื่อ นายหมิกก็รีบเดินทางไปเมืองสงขลา และขอต่อสู้กับ “หมัดลูกวัว” ในการต่อสู้ครั้งนั้น นายหมิกได้รับชัยชนะอย่างง่ายดาย เมื่อได้รับชัยชนะก็กลายเป็นขวัญใจของผู้ชม และการชกครั้งนั้นเป็นการชกครั้งสุดท้ายของนายหมิก เพราะจากการเที่ยวเมืองสงขลาครั้งนี้เอง นายหมิกก็ได้รับโรคร้ายจนไม่สามารถขึ้นชกมวยได้อีกจนตลอดชีวิต
นายจ้อย เหล็กแท้ นักชกผู้ไม่ต้องการรางวัล
นอกจากนักชกที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีนักมวยฝีมือเยี่ยมและได้รับการกล่าวขวัญถึงอีกหลายคน เช่น

นายเวช จำนงทอง น้องชายหมื่นมวยมีชื่อ
นายสงค์ ศักดิ์เพชร พี่ชายนายสอน ศักดิ์เพชร
นายน้อย บุณยเกตุ หลานชายหมื่นมวยมีชื่อ ผู้เคยเข้าชกมวยคราวหาเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า และได้รับ “หน้าเสือ”เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติ
นอกจากนั้นยังมี นายเนิ่น คุ้มรักษ์ , นายเวียง , นายนิตย์ , นายจอน , นายจัน , นายทอง , นายกล่ำ, คนตำบลบ้านเลม็ด ลูกศิษย์หมื่นมวยมีชื่อ นายเหื้อย, นายหยอย, มวยตำบลบ้านเวียง ลูกศิษย์ นายนุช เทพพิมล และนักมวยที่กล่าวถึงนี้เป็นนักมวยที่เคยเดินทางเข้าเมืองกรุงเพื่อเก็บเงินซื้อปืนให้กองเสือป่าและถ้าใครได้รับชัยชนะก็จะได้ “หน้าเสือ” เป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติทุกคน

ปัจจุบันมีนักชกที่มีสายเลือด “กัณหา” เต็มตัวได้แก่ จรรยา ลูกกัณหา ซึ่งเป็นหลานชาย นายคล่องและนายเต็ม และได้กลายมาเป็นนักมวยมีชื่อเสียงของพุมเรียงมาระยะหนึ่ง

วาโยรัตนะ 19-03-2009 16:17

ครูแปรง..ครูมวยไชยาในยุคปัจจุบัน

ครูแปรง (ณปภพ ประมวญ)คือ ผู้สืบทอดวิชา สานต่อเจตนารมย์จากบูรพาจารย์ที่สืบสายวิชามวยที่ถูกลืมไปตั้งแต่มีกาที่มวย คาดเชือกถูกระงับการแข่งขัน
ให้เปลี่ยนไปใช้กติกาอิงสากล ลูกไม้กลมวย ต่างๆก็สูญหายไปมาก

ครูแปรงเป็นศิษย์ติดตามใกล้ชิด ครูทอง เชื้อไชยา ผู้สืบทอดวิชามวยไทยไชยานี้มาจาก ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย(ปรมาจารย์คนสุดท้ายของวงการมวยไทย)
ซึ่งได้เรียนวิชาจากพระยาวจี สัตยรักษ์เจ้าเมืองไชยาผู้เป็นพ่อ รวมทั้งได้เรียนวิชามวยโบราณจากครูอีก 13 ท่านจนแตกฉาน

วิชามวยไทยไชยานี้ นอกจากมือเท้าเข่าศอกที่เห็นได้ทั่วไปในมวยไทยกระแสหลักแล้วยังมีวิชาที่ถูก ลืมอย่างการ "ทุ่ม ทับ จับ หัก" ซึ่งมีความร้ายกาจไม่แพ้
วิชาการ ทุ่ม การล๊อคของศิลปะการต่อสู้อื่น หลักมวยอื่น ๆ ยังมีที่เป็นคำคล้องจองแต่มีความหมายลึกซึ้งทุกคำ อย่าง " ล่อ หลอก หลบ หลีก หลอกล่อ ล้อเล่น " หรือ " กอด รัด ฟัด เหวี่ยง " ซึ่งเป็นวิชาการกอดปล้ำแบบหนึ่งซึ่งหาไม่ได้แล้วในมวยไทยสมัยปัจจุบัน หรือแม้กระทั่ง " ล้ม ลุก คลุก คลาน " ซึ่งเป็นการฝึกม้วนตัว ล้มตัว

มิติการต่อสู้ของมวยโบราณอย่างมวยไทยไชยานั้นจึงไม่จำกัด เฉพาะการยืนต่อสู้เท่านั้น การต่อสู้เมื่อจำเป็นต้องล้มลงก็ทำได้ และด้วยพื้นฐานของมวยไทยโบราณ
ที่ถูกสร้างให้ใช้ในการศึกสงคราม การต่อสู้กับศัตรูพร้อมกันหลายคนนั้นเป็นอีกมิติหนึ่งที่ทำให้มวยไทยไชยา เป็นมวยที่ร้ายกาจ

การเรียนการสอนของมวยไทยไชยานั้นจะเป็นระเบียบระบบแบบโบราณ นักเรียนจะได้เรียนตั้งแต่พื้นฐานวิชา เรียนการป้องกันตัว " ป้อง ปัด ปิด เปิด " จนสามารถ
ป้องกันการโจมตีได้อย่างมั่นใจแล้ว ลูกไม้มวยไทยต่าง ๆ ก็จะค่อยได้เรียนรู้ แตกต่างจากมวยไทยกระแสหลักที่ฝึกฝนการโจมตี เตะ ต่อย ทำลาย โดยอาศัยความทนทานเข้ารับ ลูกเตะต่อยของคู่ต่อสู้ ดั่งที่ครูแห่งมวยไทยไชยานี้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ศิลปะการป้องกันตัวย่อมต้องป้องกันตัวได้จริง ไม่ใช้ศิลปะการแลกกันว่าใครจะทนกว่ากันก็จะเป็นผู้ชนะไป

ด้วยภูมิปัญหาของครูมวยโบราณที่สั่งสม แก้ไข ปรับปรุงจนวิชามวยไทยดั้งเดิมนั้นร้ายกาจ ด้วยกลเม็ด ลูกไม้ ไม้เด็ด หลากหลาย กลมวยสามารถแตกขยายไปได้
เหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด ในทางกลับกันนั้นการสั่งสอนวิชาอันร้ายกาจนี้ก็ฝึกฝนให้นักเรียนเป็นคนอดทน มุ่งมั่นใจเย็น สุขุม จนในท้ายที่สุดแล้ววิชามวยแห่งการต่อสู้นี้เป็นอุปกรณ์ พัฒนานักเรียนให้เป็น คนดีของสังคม ที่มีสติ ควบคุมกายให้ประพฤติตนดี มีครูสอนสั่ง

ครูแปรงได้วางแผนการสอนวิชาอาวุธที่คู่กับมวยไทยไชยาที่ รู้จักกันในชื่อ วิชากระบี่กระบองซึ่งมีวิชา ดาบสองมือ มีดสั้น พลองยาว ไม้ศอก รวมถึงอาวุธไทยโบราณ
แบบอื่นๆที่ไม่น่าจะหาเรียนได้ที่ไหนง่ายๆ เพื่อให้ครบหลักสูตรวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวของไทยโดยแท้

วาโยรัตนะ 19-03-2009 16:17

ครูเล็ก บ้านช่างไทย
ครูเล็ก หรืออาจารย์กฤดากร สดประเสริฐ
เริ่มฝึกมวยไทยตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยเรียนกับพี่ชายคนโต ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านปรมาจารย์กิมเส็ง ทวีศิษย์ (ครูมวยคนสุดท้ายของปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย) ครูเล็กได้เริ่มเรียนมวยไชยาตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยเรียนกับท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย จนเมื่อท่านปรมาจารย์เขตรเสียชีวิตลง ก็ได้เรียนต่อกับคุณครูทองหล่อ ยาและ ศิษย์รักของท่านปรมาจารย์เขตร จนครูเล็กอายุได้ 39 ปี คุณครูทองหล่อ ยาและได้เสียชีวิตลง ครูเล็กจึงเปิดสอนมวยไชยาอย่างเป็นทางการที่บ้านช่างไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วาโยรัตนะ 19-03-2009 16:28

:4672615:ท่านใดสนใจหาความรู้เพิ่มเติม เชิญที่ลิงค์ด้านล่างนี้ครับผม
http://www.muaychaiya.com/chaiyapratom.html


นับวันความเป็นไทยที่เราควรจะอนุรักษ์เอาไว้ยิ่งหายไป แต่ควรหรือไม่ที่เราจะรักษาคุณค่าเอกลักษณ์เหล่านี้เอาไว้:onion_you:

ทิดตู่ 19-03-2009 17:15

การย่างสามขุม จัดเป็นพื้นฐานการฝึกเบื้องต้นของผู้ฝึกมวยทุกคนหลังจากการขึ้นมวยไหว้ครูแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านพี่เคยบอกไว้ว่า การย่างสามขุมเพียงอย่างเดียว เมื่อแสดงออกโดยผู้ที่ชำนาญในทางมวยแล้วยังมีผลไม่เสมอกัน คือประหนึ่ง ม้าย่อง เสือย่าง สีหยาตร แค่ลำพังการย่างสามขุมก็แสดงออกได้ถึงฝีมือ และความชำนาญในการฝึกมวย การย่างสามขุมตามตำรับมวยไชยาที่ถือว่าเป็นแม่ไม้ที่สำคัญ อันแสดงออกถึงตำรับของมวยไชยานั่นก็คือการ"ย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์" ดังมีประวัติมา ดังนี้ครับ

ท่าครูมวยไชยา ซึ่งถือได้ว่าเป็น แม่ไม้ สำคัญ อันนับได้ว่าเป็นท่าอมตะนั้น มีชื่อว่า "ท่าย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์" ที่นอกจากจะมีความกระชับ รัดกุม ทะมัดทะแมง แล้วยังมีเรื่องเล่าเปรียบเทียบที่มาของชื่อท่า โดยอิงจากคติความเชื่อเรื่องเทพของฮินดู ดังจะขอยกเอาข้อเขียนของ ปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย ที่ท่านได้เคยกล่าวไว้ดีแล้ว เพื่อเป็นความรู้แก่อนุชนผู้สนใจ ใฝ่รู้ ดังนี้

....."...ครั้งนั้นพระอิศวรเป็นเจ้าประทับเกษมพระสำราญอยู่กับพระอุมาในแดนสวรรค์ (ตามคติของลัทธิฮินดูหรือไสยศาสตร์หมายความว่าแดนแห่งความสว่างรุ่งเรือง) พรั่งพร้อมด้วยเทพยดาและสาวสวรรค์ฟ้อนรำบำเรอถวาย โดยมีคนธรรพ
(ในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่ารูปร่างครึ่งคนครึ่งเทวดา) ขับกล่อมมโหรีปี่พาทย์ระคนเสียงปี่๖๐,๐๐๐เลา (คงดังเหมือนฟ้าร้อง) เมื่อเวลางานรื่นเริงของชาวสวรรค์ยุติลง อมรใหญ่น้อยทั้งปวงเตรียมแยกย้ายกันกลับวิมานแห่งตน พระผู้เป็นเจ้าทรงชายพระเนตรเห็นอสูรตาตะวันหมอบเฝ้าอยู่แทบฐานพิมานเมฆ ก็ทรงพอพระทัย (ชอบประจบ?) ในความจงรักภัคดี จึงตรัสปราศรัยด้วยถ้อยมธุรส ฝ่ายพญายักษ์เลยลำพองใจเห็นได้ท่าก้มหัวลงกราบทูล ขอประทาน ที่ดินเป็นกรรมสิทธ์ กว้างยาวโดยคณา ๓๐๐ โยชน์ (เท่ากับ๑๐๐ ตารางไมล์) พร้อมด้วยพรว่า สัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่า จะเป็นเดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา นาคา กุมภัณฑ์ หรืออสูรใดๆ หากบุกรุกเข้าไปในดินแดนแห่งกรรมสิทธิ์ของตนแล้ว ไซร้ ขอจับกินเป็นอาหารได้ตามอำเภอใจ พระอิศวร (แก่ให้พร แต่เรียกคืนไม่ได้) ก็จำต้องประทานพรและที่ดิน ให้แก่ยักษ์ตามขอ

.....เมื่อท้าวตาตะวันได้สิ่งพึงประสงค์ง่ายดายสมใจก็กลับคืนสู่ที่อยู่ ข้างเขาพระสิเนรุราชบรรพต (เทือกป่าหิมพานต์ ซึ่งเป็นป่าหนาวจัดแถบเหนือของอินเดีย) มีความปลาบปลื้มลืมตัว เมามัวอำนาจคาดคิดจะล้มฟ้า กำเริบอยากกิน สัตว์แปลกๆ เป็นอาหารตามสันดานเลว ตั้งพิธีเพิ่มตบะร่ายมนต์วิเศษขึ้น ( คงเป็นบทที่พระสังข์ทอง เรียกเนื้อเรียกปลา? ) ด้วยแรงฤทธิ์รากษสร้าย แรงฤทธิ์วิศวมนต์

เทวดามนุษย์และสัตว์โลกน้อยใหญ่หลากหลายที่ต้องมนต์พากันหลงใหลล่วงล้ำเข้าไปใน แดนมฤตยู โดยมิได้ตั้งใจ ท้าวตาตะวันเห็นดังนั้นดีใจจนน้ำลายไหลไล่จับกิน ได้สัตว์กินสัตว์ ได้มนุษย์กินมนุษย์ ตลอดจนเทวดานางฟ้าและคนธรรพ ต่างถูกกิน คราวละมากๆไม่เว้นแต่ละวัน ร้อนถึงพวกที่ยังไม่ถูกกินต่างพากันหวั่นเกรง นั่งนอนสะดุ้ง ประสาทเสื่อมไปตามๆกัน (ยิ่งกว่าสูดควันท่อไอเสีย) จึงปรึกษาหารือ ตกลงชวนกันขึ้นเฝ้าพระอิศวร (พิเคราะห์ดูแล้ว ไม่น่าแปลกที่มีการเดินขบวนร้องทุกข์ ต่อผู้อำนวยการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อสังคม) บรรยายทุกข์ร้อนให้พระผู้เป็นเจ้าทรงทราบ

.....พระอิศวรได้ฟังก็ทรงพระพิโรธ รับสั่งให้เทพบุตรไปตามพระนารายณ์ ซึ่งประทับบรรทมอยู่ ณ เกษียรสมุทร ให้รีบปราบยักษ์เพื่อกำจัดยุคเข็ญโดยด่วน


.....คนไทยส่วนมากย่อมทราบอยู่แล้วว่า พระนารายณ์เป็นเทพเจ้าซึ่งไม่โปรดยักษ์มารที่คดโกง การปราบปราม ก็เด็ดขาดรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตทุกราย เช่น ปราบยักษ์นนทุก ผู้ได้พรนิ้วเพชรแล้วเที่ยวชี้ใครต่อใครตายเป็นระนาว หิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน เดือดร้อนแก่เหล่ามัตตัย (คนไทย) ไม่มีที่อยู่ และอสูรหอยสังข์ ผู้ขโมยคัมภีร์พระเวท เป็นต้น

.....ครั้นพระนารายณ์ได้ทราบพระโองการของพระผู้เป็นเจ้า จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์รูปงาม นวยนาดเอื่อยๆ ล่วงล้ำเข้าไปในแดนหวงห้าม ด้วยลักษณะที่คณาจารย์มวยให้ชื่อว่า "นารายณ์ยุรยาตร" เพื่อสังเกตทีท่าอย่างระมัดระวัง แบบนักมวยได้ยินสัญญาณระฆังให้เริ่มต่อสู้กัน

.....ทันใดนั้นอสูรตาตะวันผู้ก่อความมืดมน (ความชั่ว) แก่โลก ก็ตวาดด้วยเสียงอันดังดุจฟ้าร้องว่า อ้ายหนุ่มเดนตาย มึงทะลึ่งเซ่อซ่าเข้ามาทำไม ไม่กลัวยักษ์จับกินหรือ

.....พราหมณ์แสร้งทำ (ลูกไม้) เป็นกลัว ตอบคำตะคอกของยักษ์ด้วยสำเนียงสั่นเครือว่า ท่านผู้ยิ่งใหญ่ไม่มีใครเทียบเท่า ข้าน้อยเดินหาที่ดินเพื่อประกอบพิธีตามตำรับพระเวทแห่งวิสัยพราหมณ์ สัก ๓ ก้าว (เล่ห์เหลี่ยม) ไม่ได้คำแหงหาญบุกรุกรบกวน ขอท่านอสูรได้โปรดเมตตาข้าด้วย เมื่อข้าประกอบพิธีเสร็จแล้ว แม้จะต้องตายก็ไม่เสียดายชีวิต เพราะขึ้นชื่อว่าได้ประพฤติสมบรูณ์แบบที่ได้กำเนิดเกิดมาในตระกูลพราหมณ์แล้ว

.....ท้าวตาตะวันไม่รู้กล (ไม้มวยไทย) ทะนงตนตอบว่า กูได้ที่ดินแห่งนี้มาจากพระอิศวร ถ้ามึงอยากได้เพียงใช้ประกอบพิธีกูก็จะยอมให้เท่าที่มึงต้องการโดยไม่คิดอะไรทั้งหมด
.....พราหมณ์แปลง แกล้งทำเป็นสงสัย ถามอีกครั้งว่า ท่านผู้เป็นใหญ่ (เหมือนคนไทยถูกยกย่องในครั้งแรก) ท่านกรุณาให้แล้ว จะกลับเอาคืนหรือไม่

.....อสูรตาตะวันไม่เฉลียวใจ ลั่นวาจาตอบด้วยความคะนองว่า เมื่อกูให้เป็นสิทธ์แล้ว กูก็รักษาสัจจะไม่เอาคืนเป็น อันขาด

.....ทันทีที่ได้ยินยักษ์ตั้งความสัตย์ พระนารายณ์แปลงก็สำแดงเดช ป่าหิมพานต์สะท้านสะเทือน "ย่างสามขุม" ยักเยื้องคลุมแดนยักษ์หมดทั้ง ๓๐๐ โยชน์

.....อสูรตาตะวันตกใจ ตะลึง คิดว่าคงไม่มีใครทำเช่นนั้นนอกจากองค์พระสี่กร นึกขึ้นได้ กลัวตาย รีบเผ่นหนี เพื่อเอาตัวรอด แต่ไปไม่รอด ต้องถึงกาลมอดม้วยมรณาด้วยเดชามหาอิทธิฤทธิ์แห่งเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์

.....เพราะฉะนั้นตามตำราพระเวทจึง (นับ)ถือเอาการ "ย่างสามขุม" หรือการก้าวจังหวะยักเยื้องสามเส้าเป็นแบบฉบับ ในขบวนการ "พาหุยุทธ์" หรือการชกต่อย และใช้อุปเท่ห์เล่ห์เหลี่ยมดำเนินการปลุกปราณ (จิตใจ) บรรดามัลละ ในขณะเริ่มการต่อสู้ด้วยคติที่ว่า อย่าแต่ว่าปฏิปักษ์ซึ่งเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาเลย แม้ยักษ์ เมื่อต้องประจันหน้ากับ ท่าทาง "ย่างสามขุม" ยังตกใจกลัวหนีจนไม่สามารถเอาชีวิตรอดได้

คัดจากฟ้าเมืองไทยเรื่อง"ปริทัศน์มวยไทย"โดย ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย
อ้างอิงจาก http://www.muaychaiya.com/chaiyapratom.html

คนเก่า 19-03-2009 17:38

จะว่าไปการย่างสามขุมเป็นพื้นฐานของการต่อสู้ทั้งปวง ใช่ไหมครับ ท่านทิด

ทิดตู่ 19-03-2009 20:51

ครับ สำหรับการฝึกศิลปะการต่อสู้หรือป้องกันตัว การก้าวเท้าก็มีหลายแบบแตกต่างกันไปในแต่ละแขนงวิชาที่ฝึก อย่างเช่น การก้าวเท้าแบบหมัดไท้เก็ก มวยมังกรแปดทิศ การรำเส้นแบบมวยหย่งชุน การก้าวเท้าแบบมวยเสาดอกเหมย การย่างเท้าสืบเท้าตามแบบของยูโด คาราเต้ ไอคิโด ซึ่งแต่ละวิชาก็จะมีการก้าวเท้า สืบเท้า สเต็ปเท้าที่แตกต่างกันไป แต่เท่าที่ผมได้เคยศึกษามาบ้างเล็กน้อยสังเกตได้ว่า การย่างสามขุมแบบของมวยไทยนั้น จัดเป็นการก้าวเท้าที่รวบรัด สั้น และรัดกุมที่สุด เพราะใช้การสืบ ก้าว ย่าง เพียง 3 จุด ก็สามารถทั้งรับและรุก โต้ตอบพร้อมออกอาวุธของแม่ไม้ได้อย่างเต็มที่ เหมาะกับการออกอาวุธที่รวดเร็วและรุนแรงอันมาพร้อมกับการป้องกันที่หนาแน่นในลักษณะ รับพร้อมรุก และรุกพร้อมรับ พร้อมที่จะบุกและถอยได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็ว อันแสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพชนที่ใช้เลือดเนื้อและศิลปแม่ไม้มวยของไทยปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทยผืนนี้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของเราสืบมา

เด็กเมื่อวานซืน 20-03-2009 07:45

ครูเขตร์ ศรียาภัย ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าย่างสามขุมไม่ดี ก็เอาดีทางมวยไม่ได้ครับ

คนเก่า 20-03-2009 09:58

รายละเอียดอาจแตกต่างตามวิถีชีวิตและอุปกรณ์ แต่หลักคงไม่ต่างกัน เพราะสรีระมนุษย์ย่อมเหมือนกันนะผมว่า

อย่างการสืบเท้าของญี่ปุ่น เขาย่อมชอบที่จะสไลด์เท้าไปกับพื้น เพราะญี่ปุ่นมีเครื่องห่อหุ้มเท้าไม่ว่าอยู่ในหรือนอกบ้าน ในขณะที่ไทยเราแต่เดิมถนัดเท้าเปล่า ขืนลากเท้าบ่อยๆ มีหวังได้เลือด

หากการออกอาวุธ-รับอาวุธ ไม่ว่ามือเปล่าหรือมีเครื่องทุ่นแรงก็ย่อมต้องอาศัยความมั่นคงของสรีระมนุษย์เป็นรากฐาน ถ้าพิจารณาท่าย่างสามขุมกับเพลงอาวุธต่างๆ ของไทย เช่น ดาบ หรือกระบี่กระบอง ก็ดูจะมีพื้นฐานเดียวกันทั้งสิ้น

วาโยรัตนะ 20-03-2009 15:37

:4672615:ตอนผมฝึกมวยกับพ่อ ท่านบอกเสมอว่า ลืมอะไรก็ลืมได้ แต่ห้ามลืม การย่างสามขุม แล้วท่านก็เอา ยางรถยนต์มาสามเส้น วางแบบสามเหลี่ยม แล้วให้ฝึกก้าวสลับไปสลับมาในวงกลมล้อยางรถยนต์นั้นครับ จนเราเดินก้าวรุก ก้าวถอยอย่างชำนาญ แต่ก็ไม่ได้ฝึกอะไรต่อ เพราะผมไปต่อยกับน้าชายซะก่อน :154218d4:

เด็กเมื่อวานซืน 20-03-2009 16:49

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ wonderisland (โพสต์ 2488)
:4672615:ตอนผมฝึกมวยกับพ่อ ท่านบอกเสมอว่า ลืมอะไรก็ลืมได้ แต่ห้ามลืม การย่างสามขุม แล้วท่านก็เอา ยางรถยนต์มาสามเส้น วางแบบสามเหลี่ยม แล้วให้ฝึกก้าวสลับไปสลับมาในวงกลมล้อยางรถยนต์นั้นครับ จนเราเดินก้าวรุก ก้าวถอยอย่างชำนาญ แต่ก็ไม่ได้ฝึกอะไรต่อ เพราะผมไปต่อยกับน้าชายซะก่อน :154218d4:

น่าเสียดายนะครับ ได้พื้นฐานแล้ว นี่ถ้าได้เรียนออกอวัยวุธอีกสักนิด จะเยี่ยมเลยครับ :msn_smileys-15:

เถรี 22-03-2009 15:18

แล้วท่า "บาทาลูบพักตร์" นี่จัดเป็นท่าหนึ่งของมวยไชยาหรือเปล่าคะ
หนูชอบท่านี้มาก ๆ เลย :45ed7b5f:

เด็กเมื่อวานซืน 22-03-2009 20:54

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ เถรี (โพสต์ 2521)
แล้วท่า "บาทาลูบพักตร์" นี่จัดเป็นท่าหนึ่งของมวยไชยาหรือเปล่าคะ
หนูชอบท่านี้มากๆเลย :45ed7b5f:

ท่าในมวยไชยานั้นแบ่งออกได้ ๒ หลักใหญ่ ๆ ครับ คือ

๑. ท่าแม่ไม้ หรืออาจเรียกว่า ท่าครู

๒. ท่าลูกไม้

ท่าแม่ไม้ จะเป็นท่าหลักในการตั้งต้นเพื่อเตรียมการต่อสู้สำหรับมวยไชยาครับ

ส่วน ท่าลูกไม้ คือท่าที่ประยุกต์ออกมาจากท่าแม่อีกที ซึ่งการจะแตกท่าลูกไม้นี้ ขึ้นแล้วแต่ประสบการณ์และความชำนาญของผู้ฝึกแต่ละท่านครับ เช่นท่า ไต่เขาพระสุเมรุ (แต่ในภาคกลางจะรู้จักท่านี้ ในชื่อที่เรียกว่า หนุมานเหยียบลงกา) ผมไม่แน่ใจว่า ในมวยไทยสายอื่น ๆ จะมีหลักในการแบ่งท่าเหมือนกับมวยไชยาหรือไม่นะครับ

สำหรับที่สอบถามว่า บาทาลูบพักตร์ นั้น เท่าที่สอบถามจากท่านผู้รู้มา ท่านบอกว่า ไม่น่าจะใช่ท่าหลักของมวยไชยาครับ เพราะวิธีการใช้ขาเพื่อต่อสู้ของมวยไชยา จะไม่เน้นเตะสูงมากนักเพราะจะทำให้ยากต่อการป้องกันตัวครับ ซึ่งจะต่างจากวิธีการเตะของมวยโคราช และ มวยท่าเสา และ มวยไทยสายกรมพละศึกษา((สมัยก่อนจะเรียกว่า มวยพระนคร ครับ) ครับ

เด็กเมื่อวานซืน 23-03-2009 00:23

อ้างอิง:

ข้อความดั้งเดิมโดยคุณ เถรี (โพสต์ 2532)
ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ที่หาคำตอบมาให้
เนื่องจากเถรีเคยไปวัดบางกุ้ง แล้วเห็นหุ่นปั้นที่สอนท่าแม่ไม้มวยไทยหลายหลายกระบวนท่าเลยติดใจค่ะ
เสียดายถ้าตนเองได้ฝึกมวยพวกนี้มาตั้งแต่เด็กๆก็คงดี เพราะตอนเด็กๆเถรีเห็นผู้ชายแล้วชอบเข้าไปกระโดดเตะค่ะ นี่ถ้าได้เรียนคงมีความสุขน่าดู เสียดาย...:l438412717dh8:


จะฝึกปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สายครับ ผมเคยเห็นคุณลุงท่านหนึ่ง ท่านมาฝึกมวยไชยาตอนอายุ ๕๐ ปีแล้วครับ แต่ท่านขยันและตั้งใจมากครับ

ตัววิชามวยไชยา นั้น ครูเขตร์ ศรียาภัย ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ท่านเอง เรียนวิชามวยมาตลอดชีวิต ก็ยังเรียนไม่จบ ครับ ครูเขตร์ ( ท่านฝึกมวยไชยากับบิดาของท่านตั้งแต่อายุ ๑๖ ปี จวบจนท่านเสียชีวิตเมื่ออายุได้ ๗๕ ปี ครับ )

ประโยคนี้คงจะสื่อให้เข้าใจได้ว่า วิชามวยนั้นเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในตัวของวิชาเองครับ สุดแล้วความสามารถของผู้เล่าเรียนแต่ละท่านครับ

ในมวยไชยาเองนั้น ก็มีสุภาพสตรีที่มีชื่อเสียงในเรื่องเชิงมวยมาแต่อดีต อย่างเช่น คุณป้าชื่น ศรียาภัย ท่านมีศักดิ์เป็น พี่สาว ของครูเขตร์ ศรียาภัยครับ ครูเขตร์ ท่านเขียนไว้ในบทความชื่อ ปริทรรศน์มวยไทย ที่ตีพิมพ์ในหนังสือฟ้าเมืองไทยว่า คุณป้าชื่น ศรียาภัย ได้ฝึกมวยไชยากับ บิดาของท่านครูเขตร์ (พระยาวจีสัตยารักษ์ : ขำ ศรียาภัย ) จนมีความสามารถสูงยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณป้าชื่นท่านต้องรับหน้าที่ดูแลอบรมบุตรหลานในตระกูลศรียาภัย หากบุตรหลานคนใดออกจะมีความซุกซนมาก เมื่อเด็กกำลังจะลุกขึ้นนั้น คุณป้าชื่น สามารถเตะสกัดจนเด็กไม่สามารถลุกขึ้นยืนเพื่อจะวิ่งเล่นได้ครับ ที่ว่าเตะนี้ ไม่ได้เตะจนเจ็บนะครับ แต่เตะในลักษณะช้อนไม่ให้สามารถทรงตัวลุกขึ้นวิ่งได้ครับ (ความเร็วในการเตะของคุณป้าชื่นมีมากแค่ไหนต้องลองตรองดูนะครับ )

นอกจากนี้ ครูเขตร์ ท่านยังเคยเขียนไว้ใน บทความเรื่อง ปริทรรศน์มวยไทย เกี่ยวกับคุณป้าชื่น อีกว่า คุณป้าชื่น ท่านเคยซ้อมมวยไชยากับ ภรรยาของ นายสอน เพชรศักดิ์ (แต่ในทะเบียนราษฎร์ กลับปรากฏเป็น นามสกุล ศักดิ์เพชร แทนครับ) ซึ่ง ภรรยาของนายสอน นี้ ก็มีความสามารถทางมวยไชยามากผู้หนึ่ง เพราะเป็นบุตรีของ หมื่นมวยมีชื่อ (นายปล่อง จำนงทอง) ความเก่งกาจของ ภรรยานายสอนนี้ ครูเขตร์ ท่านเขียนไว้ว่า เวลานายสอนอารมณ์เสีย มักจะมาระบายกับภรรยา (อย่าทำตามอย่างนะครับ ) โดยการไล่เตะภรรยา แต่เนื่องจากภรรยาเป็นมวย จึงสามารถหลบหลีกเอาตัวรอดได้ จนกระทั่งนายสอนเหนื่อยยอมแพ้ไปเองครับ

ที่เขียนมานี้ก็เพื่อจะบอกคุณเถรีว่า ยังสามารถเรียนได้อยู่ครับ ขอแค่ตั้งใจเท่านั้นเอง ก็เหมือนกับการภาวนาที่คุณเถรีชำนาญนั่นแหละครับ

นอกจากนี้ เท่าที่ทราบมาปัจจุบัน ก็ยังมีบางท่านสอนมวยโคราชอยู่เหมือนกันครับ แต่เป็นสายของ ครูบัว วัดอิ่ม (ร้อยโท บัว นิลอาชา) น่าเสียดายว่า มวยลพบุรี นั้นหมดผู้สืบทอดวิชาไปเสียแล้ว

:msn_smileys-15:


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:35


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว