เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔
เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ |
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ ช่วงประมาณอาทิตย์หนึ่งที่ผ่านมา จะมีคลิปที่ส่งกันในกลุ่มไลน์ หัวข้อชัดเจนมากว่า "พระกับขอทานต่างกันตรงไหน ? ไปหุงข้าวกินให้เป็นเสียก่อนดีไหม ค่อยมาสอนชาวบ้านเขา ?"
ถ้าใครฟังไม่จบ ดีไม่ดีก็ด่าคนออกคลิปไปแล้ว แต่ความจริงก็คือเขามาตอบคำถามตรงนี้ว่า พระต่างกับขอทานตรงไหน ? เนื่องจากว่ามีบรรดานักบวชที่สิ้นสติ ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณร ออกไปแสดงบทบาทที่ไม่สมควร ด้วยการไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แล้วก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามด่ามาในลักษณะนี้ แต่คราวนี้ใครจะชี้แจงเรื่องนี้ก็ตาม ความชัดเจนจะไม่เหมือนกับพระของเราชี้แจงเอง โดยเฉพาะในเรื่องของการบวช มีการว่ากล่าวกันไปต่าง ๆ นานาว่า การบวชนั้นมีทั้ง "อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารเสื่อม เอือมเจ้านาย ยายให้บวชแก้บน..!" เหล่านี้ เป็นต้น ถ้าหากว่าในบาลีก็มีอุปชีวิกา บวชเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่รู้จะทำมาหากินอะไร อุปกีฬิกาบวชเอาสนุก เห็นเวลาคนอื่นเขาบวชมีแห่ตึงตังโครมคราม มีเลี้ยงโต๊ะจีนมีอะไร ก็อยากทำอย่างนั้นบ้าง แต่ที่สำคัญคืออุปนิสฺสรณิกา บวชเพื่อการพ้นทุกข์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา กำหนดนักบวชไว้ในฐานะเดียวกับขอทาน ก็คือต้องขอเขากิน คำว่า ภิกขุ หรือที่เปลี่ยนเป็นภาษาไทยว่า ภิกษุ มีความหมายหนึ่งว่า "ผู้ขอ" ก็คือ ภิกขาจาร มีความประพฤติในการขออาหารเป็นปกติ |
อันดับแรกเลย ก็เพื่อเป็นการลดทิฐิมานะในตน เพราะว่าต้องไปขอคนอื่นเขาถึงจะได้กิน บางทีเขาไม่มีศรัทธาแล้วไปขอ เขาก็ด่าเอาเสีย ๆ หาย ๆ อย่างเช่นด่าว่า "สมณะโล้น" บ้าง อะไรบ้าง อย่างที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ถ้าเราแบกทิฐิมานะอยู่ ไม่ใช่บุคคลที่ตั้งใจปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ก็ไม่สามารถที่จะทำใจได้ในการเป็นผู้ขอ
การที่เราจะเป็นผู้ขอ ก็ต้องทำตัวให้สมควร ไม่ใช่นั่งรถเบนซ์รุ่นล่าสุด ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนรุ่นล่าสุด อยู่กุฏิติดแอร์เย็นฉ่ำ ๕๐๐ ตารางวา แล้วไปขอชาวบ้านกิน ถ้าลักษณะอย่างนั้นเชื่อว่าคงไม่มีใครให้..! การที่เราจะทำตัวให้สมควรกับการเป็นผู้ขอ ก็คือประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนมา ไม่ว่าจะเป็นอะนูปะวาโท เว้นจากการว่าร้ายผู้อื่น อะนูปะฆาโต เว้นจากการทำร้ายคนอื่น ปาฏิโมก เข จะสังวะโร สำรวมในศีลตามพระปาฏิโมกข์ มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง รู้จักประมาณในการกิน ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง รู้จักหาที่นั่งที่นอนอันสงัด ที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรม และอะธิจิตเต จะ อาโยโค หมั่นประกอบสมาธิ ให้จิตของเราอย่างน้อยเว้นว่างจากกิเลส ถ้าอย่างมาก สามารถขัดเกลากิเลสจนหมดสิ้นลงไปได้ เพื่อที่จะเป็นการเบียดเบียนญาติโยมให้น้อยที่สุด เนื่องจากว่าเราเองไม่ได้ทำมาหากินอย่างอื่น ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้แก่ญาติโยม แล้วไปขอเขากิน อย่างที่หลวงพ่อฤๅษีฯ วัดท่าซุงสอนพวกผมว่า "ภิกษุแม้แปลว่าผู้ขอ แต่ไม่จำเป็นก็อย่าไปขอ ให้ปฏิบัติตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเราเอาไว้ ถ้าญาติโยมไม่สงเคราะห์ เราก็ยอมอดตายไปเลย..!" |
อีกประการหนึ่ง การที่ท่านกำหนดเอาไว้ให้เราเป็นผู้ขอ ซึ่งฉันมื้อเดียวบ้าง ฉันสองมื้อบ้าง เพื่ออนุเคราะห์ให้ร่างกายนี้มีกำลังในการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ ก็เพื่อตัดกังวลในการที่ต้องเสาะหาอาหารอยู่ทุกวัน
ประการต่อไปคือลดกิเลสของตัวเองลง โดยเฉพาะความอยากในอาหาร เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะได้อะไร อยากได้เย็น อาจจะได้ร้อน อยากได้อ่อน อาจจะได้แข็ง อยากได้จืด อาจจะได้เผ็ด ได้มาก็ต้องทนฉันไปตามสภาพ เพื่อให้ร่างกายพอมีกำลังในการปฏิบัติธรรมของตน เรียกง่าย ๆ ว่าโดนบังคับให้ลดกิเลส เพราะว่าขอเขากิน อยากจะไปกินของอร่อย ราคาแพง ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ต่อไปก็คือ ให้มีจิตสำนึกว่า การเลี้ยงชีวิตของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราต้องทำตนให้เขาเลี้ยงง่าย อย่างที่เราพิจารณากันบ่อย ๆ ว่า ปรปฏิ พัทธาเม ชีวิตา ติ ในเมื่อเราอยู่ได้ด้วยคนอื่น ก็พึงสำนึกในบุญคุณที่ญาติโยมเขาสงเคราะห์ ต้องหาทางตอบแทนให้สมกับที่ญาติโยมสงเคราะห์ ก็คือรักษากำลังใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่ออานิสงส์ในการที่ญาติโยม ที่สละอาหารบิณฑบาตมาให้แก่เรา จะได้มากขึ้นเป็นทวีคูณด้วยร้อย อย่างเช่นว่า การให้อาหารแก่สัตว์เดรัจฉาน ถ้ามีผลเป็นร้อย การให้อาหารแก่บุคคลที่ไม่มีศีล มีผลเป็นหมื่น การให้อาหารแก่บุคคลที่มีศีล แล้วศีลบกพร่อง มีผลเป็นล้าน การให้อาหารแก่บุคคลที่ศีลบริสุทธิ์ มีผลเป็นร้อยล้าน เหล่านี้เป็นต้น คราวนี้การที่เราจะอนุเคราะห์สงเคราะห์ญาติโยมได้ ก็ต้องทำตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็คือ เที่ยวบิณฑบาต อย่างที่พระอุปัชฌาย์อาจารย์ต้องบอกเสมอ ถ้าหากว่าพระใหม่บวช ตัวเราเองก็ได้ยิน เวลาคนอื่นบวชก็ได้ยิน ก็คือ ปิณฑิยาโลปะโภชะนัง นิสสายะ ปัพพัชชา ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตก็คือการเที่ยวบิณฑบาต ไม่ใช่บอกใบ้ให้หวย ไม่ใช่เสกตัวต่อออกจากปาก เพื่อให้โยมศรัทธาแล้วจะได้มาให้..! |
การที่เราเที่ยวบิณฑบาต ภาษาโบราณเรียกว่าโปรดสัตว์ ก็คือไปอนุเคราะห์สงเคราะห์แก่ญาติโยมที่ทำบุญ อันดับแรก...จะได้มีแหล่งเนื้อนาบุญของตน อันดับที่สอง...ต้องการสร้างปัญญาให้ตัวเรา คือมีสติสำนึกอยู่เสมอว่า เราอยู่ได้ด้วยการอนุเคราะห์สงเคราะห์ของญาติโยม เลือดเนื้อร่างกายทุกส่วนของเรา ไม่ใช่ของพ่อแม่ให้แล้ว ทันทีที่บวชเข้ามา กลายเป็นญาติโยมให้เรา เพราะว่าเขาเลี้ยงเราแทนพ่อแม่แล้ว หน้าที่ของเราก็คือต้องปฏิบัติตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงดีได้ ด้วยความอดทน อดกลั้น ในการขัดเกลากิเลสของตนเอง เพื่อให้เป็นผู้มักน้อย ผู้สันโดษ
ดังนั้น...ในส่วนนี้จะเห็นได้ชัดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราแฝงหลักธรรม และวัตถุประสงค์เอาไว้มากมาย ในการที่ให้พระของเราเป็นขอทาน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ก่อนบวชมามีจำนวนมากที่เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นมหาเศรษฐี เป็นพราหมณ์มหาศาล คำว่า พราหมณ์มหาศาล คือนอกจากร่ำรวยด้วยความรู้แล้ว ยังร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง แต่สละสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งมีประโยชน์แค่ทางโลก เข้ามาบวชปฏิบัติธรรม เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางธรรม ซึ่งสามารถพาเราให้พ้นทุกข์ได้ ไม่ใช่คนจนมาบวชเพื่ออาศัยกิน ไม่ใช่บวชตามที่เราพูดกันเล่น ๆ ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ความชัดเจนตรงนี้ พระของเราจะมีมากที่สุด จึงต้องออกมาอธิบายให้ญาติโยมได้เข้าใจวัตถุประสงค์ตรงนี้ ไม่อย่างนั้นแล้วโยมที่ออกคลิปมาก็พูดได้ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะตัวอาตมาเอง มาบวชในขณะที่ชีวิตกำลังรุ่งที่สุด ทั้งตำแหน่งหน้าที่ ทั้งเงินเดือน แต่ตัดสินใจมาบวช เพราะหวังการพ้นทุกข์ และที่แน่ ๆ ก็คืออาตมาหุงข้าวเป็น..อร่อยด้วย..! เพราะว่าหุงข้าวมาตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๒ ทำกับข้าวมาตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๒ ซักผ้ารีดผ้าตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ ๒ หุงข้าวเป็นทั้งเตาแกลบ เตาถ่าน เตาฟืน เตาแก๊ส หม้อไฟฟ้า ขาดอยู่อย่างเดียวก็คือไมโครเวฟ เพราะว่าบวชไปก่อนนานแล้วถึงจะมีเตาแบบนี้..! |
ดังนั้น..ถ้าใครบอกว่าหุงข้าวให้เป็นก่อนแล้วค่อยมาสอน อาตมายืนยันว่าหุงเป็น และเก่งกว่าญาติโยมด้วย..! เพราะโยมสมัยนี้ถ้าหากว่าขาดไมโครเวฟหรือหม้อไฟฟ้าก็อดตาย แต่อาตมามีแค่ผ้าผืนเดียวหรือกระบอกไม้ไผ่ ก็สามารถหุงข้าวได้..!
ในส่วนนี้จึงอยากจะตักเตือนท่านทั้งหลาย ไม่ว่าจะฝ่ายนักบวชที่ทำตัวไม่สมควรกับนักบวช ก็คือไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองว่า สิ่งที่เราทำนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ญาติโยมเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ส่วนญาติโยมที่เห็นความไม่ดีไม่งามตรงนั้น แล้วเกิดโทสะ ไปว่า ไปกล่าว ไปด่า ก็รังแต่จะก่อให้เกิดโทษแก่ตนเอง เพราะว่าเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย ก็แปลว่าเสียหายทั้งสองฝ่าย และท้ายที่สุด คนที่ได้ยินได้ฟังเกิดความรำคาญ ก็พลอยเสื่อมศรัทธาจากพระพุทธศาสนา กลายเป็นทั้งสองฝ่ายช่วยกันทำลายศาสนานี้ลงไป ถ้าหากว่านับโทษในทางธรรม ก็หนักหนาสาหัสมาก ถ้าเป็นไปได้ โปรดละเว้นความประพฤติ ไม่ว่าจะทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ดังที่ได้กล่าวมาเป็นต้น ก็ขอเรียนถวายต่อพระภิกษุสามเณรของเรา ตลอดจนญาติโยมที่ฟังอยู่ ไม่ว่าจะอยู่ที่นี่ ทางบ้าน ในประเทศ หรือต่างประเทศ เอาไว้แต่เพียงเท่านี้..ขอเจริญพร พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:35 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.