กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ปกิณกธรรมจากเกาะพระฤๅษี (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=44)
-   -   วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2232)

เถรี 31-10-2010 21:52

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐
 
อบรมที่เกาะพระฤๅษี วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐

เรื่องของแบบธรรมเนียมบางอย่าง เราต้องรู้เองโดยอัตโนมัติ ต้องรู้จักสังเกต หูไว ตาไว ดูว่าเขาทำอย่างไรแล้วทำตาม ไม่ใช่พระกราบแล้วเณรก็กราบด้วย ถ้าหากว่าเจอพระที่ท่านไม่ถืออย่างอาตมาก็ไม่เป็นไร ไปเจอท่านที่ถือจะดุเอาซึ่ง ๆ หน้า บางท่านก็ด่าให้เลย

ถ้าพระกราบ เณร ชี ฆราวาสต้องรอไปก่อน พอท่านกราบกันเสร็จแล้ว เราค่อยกราบ ที่จริงเรื่องของการทำสามีจิกรรมคือกราบไหว้ ก็น่าจะมีการไหว้แล้วรับ แต่เนื่องจากว่าศีลพระท่านมากกว่า ท่านจึงถือว่าไม่ต้องรับก็ได้

อันนี้ที่จริงไม่น่าจะถูกต้อง พระบาลีบอกไว้ว่า วนฺทโก ปฏิวนฺทนํ ผู้ไหว้ย่อมได้การรับไหว้ตอบ* แต่ว่าเขานิยมกันอย่างนั้น ไปที่อื่นเราก็ว่าตามเขา จะได้ชิน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะชินในแบบที่ผิด ๆ ไป กลายเป็นไม่มีครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน

อย่างเราไปงานศพของหมวดประเสริฐ** หากว่าต่อไปข้างหน้า พวกคุณอยู่จนได้เป็นเจ้าอาวาสแล้ว ให้ถือเป็นตัวอย่างเลยว่า บุคคลใดก็ตาม ถ้าหากว่าเคยอุปถัมภ์ค้ำชูวัดมา หรือว่าเคยทำบุญกับวัดของเรามา หรือแม้กระทั่งเคยใส่บาตรกับเราสักทัพพีก็ตาม

ถ้าหากว่าเขาตาย มีเวลาให้ปลีกตัวไปงานเขาให้ได้ อย่างน้อย ๆ ก็ถือว่าเขาเป็นผู้มีพระคุณ ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงออกซึ่งความกตเวทีอย่างหนึ่ง ทำให้ญาติโยมเขาเห็นว่า เออ..ไม่เสียทีที่ไปทำบุญวัดนี้ อย่างน้อยตายขึ้นมาเขาก็ยังมางานศพเรา

ตรงจุดนี้จะว่าไปแล้วเราได้มวลชน ผมไปอยู่วัดท่าขนุน ผมก็พยายามทำตัวอย่างให้ดู แต่ปรากฏว่าเขาไม่ค่อยจะจำกัน เขารอให้นิมนต์แล้วค่อยไป ถ้ารอนิมนต์แล้วค่อยไป ศาสนาเราจะหดเล็กลงไปเรื่อย

ทุกวันนี้ที่ศาสนาเราไม่ก้าวหน้า ก็เพราะว่าอยู่วัดรอแต่โยมมาหา แล้วสมัยนี้จะมีโยมสักกี่คน ที่จะมีเวลาว่างพอที่จะเข้าวัด เพราะฉะนั้น..ในปัจจุบันนี้ มีแต่ว่าต้องไปหาโยม แต่ถ้าไป..ก็ให้ไปในลักษณะที่เขายินดีต้อนรับ

ไม่ใช่ไปในลักษณะที่ เขาบอกใบ้ก็แล้ว บอกตรง ๆ ก็แล้ว ไม่ยอมกลับสักที เพราะว่าหลายท่านไปเพื่อเอาประโยชน์ ถ้าหากว่าญาติโยมเผลอทิ้งที่อยู่หรือว่าเบอร์โทรศัพท์ไว้ ก็ไปตามตื๊อ ขอให้เป็นเจ้าภาพกฐิน เจ้าภาพผ้าป่า ไม่ได้ไม่เลิก เขาไม่มีศรัทธาก็ต้องให้ด้วยความรำคาญ เพราะไปตื๊ออยู่เรื่อย

ผมเตือนญาติโยมที่ฐานะดี ๆ หลายคน เวลาเขาให้เบอร์โทรศัพท์ให้ที่อยู่ไว้ บอกว่า อย่าเที่ยวไปให้คนอื่นส่งเดชอย่างนี้ ถ้าหากว่าไปเจอประเภทไม่รู้จักพอ เขาจะตามตื๊อจนเข็ด แล้วหลายรายก็บอกว่าเข็ดจริง ๆ



หมายเหตุ :
* ขุ.ชา.มหา.๒๘/๑๕๔
** ร.ต.ต.ประเสริฐ บุญยงค์ สภ.ทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

เถรี 01-11-2010 08:13

ของผมเองถ้าหากว่าโยมทำบุญมามากหน่อย บางทีผมก็ถามเอาดื้อ ๆ ว่า เขียนตัวเลขผิดหรือเปล่า ? หรือไม่ก็หยิบผิดหรือเปล่า ? เพราะบางทีตัวเลขเยอะมาก

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระภิกษุสามเณรให้ทำตัวเหมือนกับแมลงผึ้ง แม้ว่านำน้ำหวานไปจากดอกไม้แล้ว ก็ไม่ทำให้ดอกไม้นั้นชอกช้ำ ถ้าเราทำตัวเป็นคนขอไม่รู้จักพอ ญาติโยมเขาจะรังเกียจ

บาลีเขาบอกไว้ชัด ททมาโน ปิโย โหติ* ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอเป็นที่รังเกียจ พระมหากัสสปะไปถึงเมืองอาฬวี** เชื่อไหมว่าคนแตกตื่นหนีกันหมดเลย เขาบอกว่าชาวบ้านเหล่านั้นหวาดระแวงขนาดว่า เหลือบไปเห็นวัวก็กระโดดหนี เพราะสีของวัวคล้ายจีวร นึกว่าวัวเป็นพระ..!

เพราะว่าพระภิกษุของเมืองอาฬวีทั้งหลายเหล่านั้น ขอจนชาวบ้านเขาระอา พระพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติไว้ว่า ไม่ให้ขอของจากบุคคลที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา*** ญาตินี้เขานับเอาสายเลือดโดยตรง ขึ้นไป ๓ ลงมา ๓ นับขึ้นก็คือ พ่อ ปู่ ทวด ถ้าสายแม่ก็ แม่ ยาย ยายทวด

ถ้าลงมาคือ ลูก หลาน เหลน ส่วนเขยและสะใภ้ไม่นับเป็นญาติ เพราะฉะนั้น..ถ้าเราไปขอส่งเดช บุคคลที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ถ้าเขามีศรัทธาก็ดีไป ถ้าไม่มีศรัทธา ความเสียหายใหญ่ก็จะมาถึง

เสียหายอันดับแรกก็คือ เขาเห็นว่าเราเป็นนักบวช แต่ว่าขอไม่รู้จักพอ ทำให้เขาขาดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา บุคคลที่เลื่อมใสอยู่ ก็อาจจะหมดความเลื่อมใสไป บุคคลที่ไม่เลื่อมใสอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่เลื่อมใสหนักขึ้นไปใหญ่

ถ้าหากเขาตำหนิด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ ก็กลายเป็นเรากำลังสร้างนรกให้เขา หลวงพ่อวัดท่าซุง**** สอนผมว่า “ถ้าไม่จำเป็นอย่าไปขอ ถึงจำเป็นก็ไม่ควรขอ ถ้าเราตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว ถ้าโยมเขาไม่สงเคราะห์ เราก็ยอมอดตาย” แต่ผมยังไม่เห็นว่าโยมที่ไหนเขาจะไม่สงเคราะห์ ถ้าคุณตั้งใจทำดีกัน



หมายเหตุ :
*สํ.ส. ๑๕/๓๑๖
**พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ : พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ : ขุททกนิกาย : ชาดก ภาค ๑ : เรื่องที่ ๓ : มณิกัณฐชาดก
***พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ : พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ : มหาวิภังค์ ภาค ๒ : จีวรวรรค : สิกขาบทที่ ๙
****พระราชพรหมยาน(วีระ ถาวโร ป.ธ. ๔) วัดจันทาราม(ท่าซุง) ตำบลน้ำซึม อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี

เถรี 02-11-2010 08:14

ปัจจุบันนี้เราจะนั่งอยู่กับวัด รอให้โยมมาหาก็ยาก ก็ต้องไปหาโยม แต่ไปหาโยม ให้ไปในลักษณะที่ว่าเขายินดีต้อนรับ ผมทำการก่อสร้างที่วัดท่าขนุนตั้งแต่ ปี ๔๔ พูดง่าย ๆ ก็คือ ทั้งปีใช้พระใช้เณรเขามาก ผมก็พาพวกเขาไปเที่ยวเชียงใหม่เป็นการตอบแทน

แล้วพวกเขาก็แปลกใจว่าผมแวะได้ทุกจังหวัด โทรไปตรงไหนก็มีแต่คนนิมนต์ เขาดีใจจนแทบจะอุ้มขึ้นบ้าน นอกจากจะเตรียมอาหารถวายแล้ว ยังมีการถวายปัจจัยไทยธรรมให้ติดไม้ติดมือกลับมาอีก

เขาเห็นว่าการที่เราไปเหยียบบ้านเขานั้นเป็นมงคลใหญ่ ใคร ๆ ก็ต้องการให้ผมไป ทำอย่างไรที่พวกท่านจะทำอย่างนี้ได้ ? ก็คือเราต้องปลูกศรัทธาในจิตใจของญาติโยมเขาให้ได้ก่อน

ต้นศรัทธานี้ขึ้นยาก แต่ถ้าหากว่าเราบำรุงรักษาดูแลเอาไว้ จนกระทั่งงอกงามแล้ว ต้นศรัทธานี้จะตายยากที่สุด
ลงว่าศรัทธากันแล้ว ก็แปลว่าเชื่อจนตายกันไปข้าง ดีไม่ดี..ตายแล้วเกิดใหม่ ก็ยังศรัทธาต่อ การจะสร้างศรัทธาได้ก็คือ ตัวเราต้องปฏิบัติอยู่ในทาน ในศีล ในภาวนา อย่างเคร่งครัดและเอาจริงเอาจัง

ผมเองทำมาตั้งแต่ฆราวาส ญาติโยมส่วนใหญ่เขาเห็นอยู่ เป็นพระก็ยังทำอยู่เหมือนเดิม โดยเฉพาะกติกาไม่บอกบุญ ไม่เรี่ยไร ใครอยากจะทำบุญก็ให้ตะเกียกตะกายมาทำเอง แล้วผมเป็นคนที่สนิทสนมกับคนยากมาก

จริง ๆ แล้วสนิทง่าย แต่ผมจะมีขอบเขตอยู่ โดยเฉพาะพวกฐานะดี ๆ ผมจะกันเขาไว้อยู่ระยะห่าง ๆ จะรบกวนเขาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ เพราะผมถือว่า การกวนใคร แปลว่าเราติดหนี้บุญคุณเขา

หนี้อย่างอื่นเราสามารถที่จะใช้ได้หมด แต่หนี้บุญคุณนี้ใช้อย่างไรก็ไม่หมด เพราะฉะนั้น เป็นหนี้คนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ที่ผมติดไว้ที่ข้างฝานั้น เป็นผู้ยินดีในที่สงัด* คือ ถ้าไม่มีธุระจำเป็นก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับโยม จะยุ่งเกี่ยวก็เฉพาะที่จำเป็น

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะอีสาน กลาง เหนือ ใต้ ต่างก็อยากให้ผมไปหา แต่ผมไปเฉพาะที่มีเวลา ไม่ใช่ไปอย่างชนิดไม่ลืมหูลืมตา คิดว่าไปแล้วได้สตางค์ อันนั้นไม่ใช่ ที่ผมไปนั้น ผมตั้งใจไปสงเคราะห์เขาจริง ๆ พวกเราทุกคนจึงควรสังวรเอาไว้ว่า ในเรื่องของศรัทธานั้นปลูกยากที่สุด แต่ถ้าหากว่าปลูกขึ้นแล้ว ก็ตายยากที่สุดเหมือนกัน



หมายเหตุ :
* พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ : พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ : อังคุตตรนิกาย : อัฏฐกนิบาต : คหปติวรรค : อนุรุทธสูตร

เถรี 02-11-2010 08:18

พระพุทธศาสนาของเราทุกวันนี้ โดนเบียดเบียนจากศาสนาอื่นรอบข้าง แรงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเรายังนั่งรออยู่กับวัด ศาสนาก็ไม่สามารถที่จะเผยแผ่ไปให้กว้างไกลได้ แต่ถึงเราจะรุกเข้าไป อย่างเช่นว่า พวกท่านหน่อย* ท่านกอล์ฟ** เขาไปสอนในโรงเรียน อันนี้ถือว่าทำถูก เพราะว่าถ้ารอให้เขานิมนต์ก็จะยาก เราต้องแนะนำตัวเอง ให้เขาเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา

โดยเฉพาะปัจจุบันที่ถ้ำทะลุนี้ ถ้าเสาร์อาทิตย์เด็ก ๆ เต็มวัดเลย อย่างน้อย ๆ ก็ให้เขามีข้อคิดอะไรกลับบ้านไปบ้าง ถึงเวลาเขาจะได้มีอะไรติดตัวกลับไป เรื่องพวกนี้ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก ๆ ต้องปลูกฝังกันระยะยาว

เรายังไม่ใช่พระอริยเจ้า เรื่องหน้าที่ของตัวเอง หน้าที่เพื่อส่วนรวม เรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องของปัญญา เราต้องพยายามทำเข้าไว้ ในขณะเดียวกัน ต้องแนะนำศีล สมาธิ ปัญญาขั้นต้น ๆ แก่พวกเขาด้วย

ถ้าพวกท่านยึดหลักของหลวงปู่หลวงพ่อเอาไว้ รับรองว่าไม่ผิดหรอก แนะนำเขาไป มีเทคนิคมีอะไรที่จะสอนเด็ก ๆ ได้ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เราก็เข้าไปหา แต่ว่าอย่าให้เป็นการรบกวนคนอื่นมากจนเกินเหตุ ให้เป็นไปในลักษณะที่ว่า เราอยู่เขาก็เกรงใจ เราจากไปเขาคิดถึง ไปเมื่อไรเขาก็ยินดีต้อนรับ ถ้าอย่างนั้นถึงจะใช้ได้

อย่างสามเณร ผมเห็นตัวอย่างมามาก โดยเฉพาะพวกเณรแสบ ๆ ถึงเวลาจะเอาวิทยุเทปก็ต้องหามาให้ จะเอาซาวด์อะเบาท์ก็ต้องหามาให้ จะเอาวีซีดีต้องหามาให้ จะเอาดีวีดีต้องหามาให้ ถ้าไม่ให้แล้วจะสึก

พ่อแม่ก็ต้องตามใจ กลัวลูกจะสึก ขออะไรก็ให้หมด จนกู้หนี้ยืมสินเขามาก็ต้องให้ ถ้าเป็นผม..เณรพวกนั้นจะได้ไม้เรียวแทน..! เพราะไม่รู้จักพอ เราบวชเข้ามา เราไม่ได้ช่วยเหลืออะไรทางบ้านแล้ว ในเมื่อไม่ได้ช่วยเขา ก็อย่าไปซ้ำเติมด้วยการขอโน่นขอนี่แบบไม่รู้จักพอ

ถ้าไม่ถึงกับจะตายจริง ๆ ละก็ อย่าไปรบกวนทางบ้าน เรื่องพวกนี้ต้องพยายามทำให้ชินเข้าไว้ ถ้าเราเคยแล้วจะเป็นอุปนิสัยในด้านดี โยมบางคนปวารณาผมมา ๑๐ ปี ตามมาต่อว่า ว่าเมื่อไรจะขออะไรเสียที ก็ในเมื่อไม่มีอะไรขาด แล้วจะให้ผมขออะไร ?

แต่ว่าหลายต่อหลายคนไม่ได้เขาปวารณา แต่ก็มีท่านที่ไปตามตื๊อเขาอยู่ตลอดเวลา เพราะเห็นว่าเขาฐานะดี เรื่องพวกนี้เราต้องระมัดระวังไว้ ถ้าเราไม่สามารถที่จะยังพระศาสนาให้เจริญได้ ก็อย่าทำให้พระศาสนาต้องเสื่อมลงเพราะตัวของเราเองเลย

หมายเหตุ :
*พระครูสมุห์ธรรพ์ณธร ธมฺมทินฺโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าขนุน หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
**พระสมุห์ศราวุธ ฐานิสฺสโร เจ้าอาวาสวัดพุทธบริษัท หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

เถรี 02-11-2010 18:24

เพราะถ้าเราเป็นผู้ทำให้ศาสนาเสื่อม บุคคลที่จะเข้าถึงความดีก็น้อยลง กลายเป็นว่า เราสร้างกรรมใหญ่โดยไม่รู้ตัว ฉะนั้น..ต้องพยายามรักษา กาย วาจา ใจ ของเราให้ดีที่สุด เพื่อสร้างศรัทธาของญาติโยมให้เกิดขึ้น

เรื่องของศรัทธาเป็นเรื่องที่ต้องสั่งสมไปเรื่อย ๆ เรายังเป็นพระใหม่อยู่ เป็นผู้บวชใหม่อยู่ เรื่องของศรัทธาต้องสั่งสมกันนาน ๆ อย่าเพิ่งรีบร้อนอยากดี อย่าเพิ่งรีบร้อนไปอยากดัง ให้สั่งสมความรู้ความสามารถ ทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติให้มากที่สุด เมื่อถึงเวลาแนะนำคนอื่นเขาก็จะได้ง่าย เพราะว่าใครก็ตามที่ทำได้ เวลาที่จะแนะนำคนอื่นก็จะปฏิบัติได้ง่าย

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เราต้องปลูกฝังในจิตสำนึกของตัวเอง แล้วขณะเดียวกันก็พยายามช่วยเหลือในเรื่องงานของพระศาสนา เราเกิดมาหน้าที่ของเราคือ เพื่อเกื้อกูลพระศาสนา เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของหลวงปู่ หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ แล้วท้ายสุดก็คือ เพื่อมรรคผลนิพพานของพวกเราเอง อย่าลืมว่า ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด


-------------------------------


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:42


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว