เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติความรู้สึกทั้งหมดไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม
วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๒๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ เป็นการปฏิบัติธรรมต้นเดือนกรกฎาคมของเรา แต่ต้องมาปลายเดือนมิถุนายนแทน เพราะว่าวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ต้นเดือนกรกฎาคมนั้น ติดงานสำคัญ คืองานบวงสรวงไหว้ครูประจำปี และเป่ายันต์เกราะเพชร ดังที่ได้กล่าวเอาไว้ก่อนการปฏิบัติธรรมว่า การที่พวกเราปฏิบัติธรรมนั้น เราได้ปฏิญาณตนว่า ขอมอบกายถวายชีวิตต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แปลว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อมรรคเพื่อผลนั้น จะยากเย็นแสนเข็ญถึงขนาดสิ้นชีวิตลงไปเราก็ต้องยอม ถ้าไม่มีความมุ่งมั่นขนาดนั้น เราก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะกิเลสได้ เพราะว่ากิเลสนั้นฝังรากลึกอยู่ในใจของเรามานับชาติไม่ถ้วน ถ้าไม่มีความมุ่งมั่นที่จะขุดคุ้ยรื้อถอนอย่างจริงใจ เราก็ไม่สามารถที่จะรื้อถอนกิเลสออกจากจิตจากใจของเราได้ ถ้าหากว่าตามแนวการปฏิบัติในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ท่านใช้คำว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา คำว่า อาตาปี คือประกอบความเพียรซึ่งเป็นตบะในการเผากิเลส ถามว่าความเพียรระดับไหนถึงจะเผากิเลสให้หมดสิ้นหรือว่าตายลงไปได้ ? ก็คงประมาณว่าต้องขนาดเผาเหล็กจนละลาย แต่พวกเราทั้งหลายเมื่อประกอบความเพียรไปในเบื้องต้น พอกิเลสเริ่มรู้ตัวว่าเราเอาจริง ก็จะดิ้นรนแสดงมายาการออกมา อย่างเช่นว่า ไม่ไหวแล้ว เมื่อยเหลือเกิน ปวดเหลือเกิน จะขาดใจตายลงไปแล้ว อาการของโรคทุกอย่างกำเริบหมด เหล่านี้เป็นต้น ความจริงการปฏิบัติธรรมของเราก็คือการบำเพ็ญเพียรเพื่อเผากิเลส แต่พอกิเลสเริ่มร้อนก็หลอกลวงเราว่าเราจะตาย ซึ่งความจริงสิ่งที่จะตายก็คือกิเลส เพียงแต่ว่ากิเลสอาศัยร่างกายของเราอยู่ เรามีความรักความห่วงใยในร่างกายนี้มาก เราก็โดนกิเลสหลอกทุกทีว่าร่างกายนี้จะตาย แล้วเราก็เชื่อ หลงผิด ไปปล่อยให้กิเลสมีโอกาสในการเจริญเติบโตต่อไป |
ข้อที่ ๒ ท่านใช้คำว่า สัมปชาโน ประกอบไปด้วยอาการรู้ตัว คือรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร ในการปฏิบัติธรรมนั้นภาษาบาลีกล่าวว่า ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ก็คือต้องปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม สิ่งที่ทรงคุณค่า หาได้ยาก แม้แต่อัจฉริยะมนุษย์สุดประเสริฐขนาดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดนับชาติไม่ถ้วน ช่วงสุดท้ายของการบำเพ็ญบารมีต้องใช้เวลาถึง ๔ อสงไขยและแสนมหากัป จึงสามารถค้นพบธรรมที่แท้จริงได้ ถ้าหากว่าเราไม่ทุ่มเท ไม่รู้ตัวว่าเราทำอะไร สมควรจะทำอย่างไรถึงจะถูกต้องเหมาะสม เราก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงธรรมได้
ตัวสุดท้ายต้องบอกว่า สติมา การประกอบไปด้วยสติ คือการระลึกได้ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเบื้องต้น เป็นพื้นฐาน เป็นแก่นของการปฏิบัติธรรม เพราะว่าถ้าขาดสติ เราก็จะไหลตามกิเลสไป คราวนี้สตินั้น ถ้าจะทรงตัวมั่นคง ต้องมีสมาธิเป็นเครื่องหนุนเสริม ถ้าหากว่าไม่มีสมาธิ สติก็ไม่แหลมคม ไม่ว่องไว ไม่รู้เท่าทันกิเลส ดังนั้น...คำตอบของการที่เราจะทรงสติได้ก็คือสมาธิ สมาธิเป็นโซ่ข้อกลางที่จะเชื่อมทุกอย่างเข้าด้วยกันระหว่างสติ สมาธิ และปัญญา มีสติ มีสมาธิ สภาพจิตของเรานิ่งสงบ มีความผ่องใส ปัญญาก็จะเกิด จะเห็นว่าปัญหาทุกอย่าง ความทุกข์ทุกอย่าง เกิดมาจากการมีร่างกายนี้ ทำอย่างไรที่เราจะเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หมดความปรารถนาในร่างกายนี้ ก็ต้องเห็นทุกข์เห็นโทษว่า ร่างกายนี้นำพาให้เกิดทุกข์โทษเวรภัยแก่เราตลอด ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนหลับตาลงไป ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่ประเดประดังเข้ามาหาเรา ก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากการมีร่างกายนี้ทั้งนั้น ถ้าปัญญารู้แจ้งแทงตลอด เห็นชัดเจนเช่นนี้ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด หมดความปรารถนาในการเกิดมามีร่างกายนี้ เมื่อหมดความปรารถนาในร่างกายของตน ก็ย่อมหมดความปรารถนาในร่างกายของคนอื่น หมดความปรารถนาในการที่จะเกิดมาในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อน สภาพจิตก็จะเคลื่อนคลาย ถอนออกจากความยึดมั่นถือมั่น การที่เราจะหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพานก็จะเกิดขึ้นได้ ลำดับต่อไปให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ วันศุกร์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทาริกา) |
เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:45 |
ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน
เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.