กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๑ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6234)

เถรี 04-07-2018 22:25

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๑
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก... ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าเผลอสติไปคิดเรื่องอื่น เมื่อรู้ตัวก็รีบดึงความรู้สึกกลับมาที่ลมหายใจเข้าออก ส่วนการกระทบของลมนั้น จะใช้ฐานเดียว ๓ ฐาน ๗ ฐานก็แล้วแต่ความถนัด คำภาวนาก็ใช้ตามความถนัดแต่เดิมของเรา

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ จะกล่าวถึงในเรื่องการปฏิบัติของเราว่า ส่วนใหญ่แล้วพวกเราปฏิบัติธรรมอยู่ แต่มักจะกังวลคิดโน่นคิดนี่อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ้าน เรื่องครอบครัว เรื่องสามี เรื่องภรรยา บางคนฟุ้งซ่านไปถึงขนาดหนี้สินต่าง ๆ ก็มี ขอให้เราทุกคนทำใจว่าเรานั่งอยู่ตรงนี้ ต่อให้เป็นห่วงเป็นใยเท่าไร เราก็ไปแก้ไขเรื่องเหล่านั้นไม่ได้ ที่แน่ ๆ ถ้าหากกำลังใจเราฟุ้งซ่านแบบนี้ ถ้าตายลงไปเราอาจจะลงสู่อบายภูมิ เมื่อรู้จักเตือนสติตัวเองแบบนี้ กำลังใจก็จะได้อยู่กับลมหายใจเข้าออกมากขึ้น

ส่วนที่ ๒ คือเรื่องนิวรณ์ทั้ง ๕ อย่างที่เป็นกิเลสหยาบ มากั้นความดีไม่ให้เข้าถึงใจของเรา คือ กามฉันทะ ความข้องเกี่ยวกับรูปสวย เสียงเพราะ รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ พยาบาท ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นผู้อื่น ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ขี้เกียจปฏิบัติ อุทธัจจะกุกุจจะ ความฟุ้งซ่าน ความหงุดหงิดรำคาญใจ และวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลการปฏิบัติ ซึ่งนิวรณ์ ๕ นี้ ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจของเรา ความดีก็จะเข้าไม่ถึง แต่การละนิวรณ์นั้นง่ายมาก ก็คือเอาสติของเราจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก ตราบใดที่ยังไม่หลุดไปจากลมหายใจ ตราบนั้นนิวรณ์ก็ยังกินเราไม่ได้

ในขณะเดียวกันก็ขอให้เราเป็นบุคคลที่มีสัจจะ ทำความดีเพื่อความดี ปฏิบัติธรรมเพื่อธรรม อย่างที่ภาษาบาลีว่า ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ก็คือปฏิบัติให้สมควรแก่ธรรม ก็แปลว่าเราจำเป็นที่จะจดจ่อต่อเนื่องอยู่กับการปฏิบัติของเรา โดยไม่ส่งส่ายกำลังใจไปที่ไหน พยายามทบทวน ตามดูตามรู้ลมหายใจของเรา ว่าตอนนี้ลมหายใจเข้าออกนี้ แรงหรือเบา ยาวหรือสั้น ซึ่งปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของร่างกาย เรามีหน้าที่ตามดูตามรู้เท่านั้น และเราจะตามดูตามรู้เช่นนี้ตลอดไปโดยไม่ทอดทิ้ง ก็แปลว่าเราต้องเป็นคนมีสัจจะมั่นคง จริงจัง จริงใจต่อการกระทำของเรา

เถรี 05-07-2018 21:44

ลำดับต่อไป เมื่อลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาเริ่มทรงตัวแล้ว ก็ให้ทุกคนตั้งใจแผ่เมตตาไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า ตั้งใจว่าเราไม่เป็นศัตรูกับใคร เรายินดีเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั่วโลก การแผ่เมตตาทำให้สภาพจิตของเราชุ่มชื่น เยือกเย็น ไม่รู้สึกแห้งแล้ง ทำให้อยากที่จะปฏิบัติธรรม

เมื่อแผ่เมตตาจนกำลังใจทรงตัวดีแล้ว ก็ให้กำหนดภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารักชอบมากที่สุด เอาไว้บนศีรษะของเรา หันหน้าไปทางเดียวกับเรา จะมีขนาดสีสันอย่างไรอยู่ที่เราชอบใจ หายใจเข้าให้ภาพพระเลื่อนลงไปในท้อง หายใจออกให้ภาพพระเลื่อนขึ้นไปบนศีรษะ ใหม่ ๆ อย่าเพิ่งไปเอาความชัดเจน ความชัดเจนจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อสมาธิเราทรงตัวมากขึ้นไปเรื่อย ๆ แรก ๆ ให้สามารถนึกได้ว่ามีภาพพระอยู่บนศีรษะของเรา ไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา ทำได้เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

เมื่อภาพพระชัดเจนสว่างไสวเพียงพอแล้ว ก็ยกเอาหัวข้อธรรมต่าง ๆ มาพินิจพิจารณา ก็คือดูให้เห็นว่า สภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี ของวัตถุธาตุสิ่งของต่าง ๆ ก็ดี มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ระหว่างดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ คือ ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย ทุกข์ของการพลัดพรากของรักของชอบใจ ทุกข์ของการปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นต้น

และร่างกายนี้ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา เพราะว่ารวมขึ้นมาจาก ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้เป็นส่วนที่เราอาศัยอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อถึงเวลาก็ตายพังไป เราก็ต้องไปหาร่างกายใหม่ตามบุญตามกรรมที่เราสร้างมา ถ้าไม่นิยมการเกิด สภาพจิตสลัดถอนการยึดมั่นถือมั่นออกไปได้ เราถึงจะหลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน

ให้ทุกคนหยิบยกข้อธรรมต่าง ๆ ขึ้นมาพิจารณา หลังจากที่กำลังใจของเราภาวนาจนทรงตัวแล้ว ถ้ารู้สึกว่าการพิจารณาไม่ชัดเจน ก็ให้กลับมาหาภาพพระ กลับมาหาลมหายใจของเราใหม่ ทำสลับกันไปสลับกันมาดังนี้ จนกระทั่งสภาพจิตยอมรับจริง ๆ ว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ก็เอาจิตเกาะภาพพระไว้เป็นจุดสุดท้าย ตั้งใจว่านั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน เราเห็นพระองค์ท่านเท่ากับเราอยู่กับพระองค์ท่าน เราอยู่กับพระองค์ท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน แล้วก็ตั้งหน้าภาวนาพิจารณาไป จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๖๑

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)

สุธรรม 06-07-2018 01:32

:4672615:


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:13


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว