กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุุกร์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๑ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6119)

เถรี 11-04-2018 20:32

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุุกร์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๑
 
ให้ทุกคนตั้งกายตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกของเราทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกของเราทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๑ วันที่ ๖ เมษายนตรงกับวันจักรี คือวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นมา เพื่อทดแทนราชวงศ์เดิมที่เสื่อมสลายไปจากการศึกการสงคราม จากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ก้าวขึ้นปีที่ ๒๓๗ แล้ว

กรุงรัตนโกสินทร์ของเรา ๒๓๗ ปีมีพระมหากษัตริย์มาถึงพระองค์ที่ ๑๐ คือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลปัจจุบัน เราจะเห็นว่าระยะเวลา ๒๓๗ ปีโดยประมาณ เกือบ ๑๐ รัชกาล ก็แปลว่าเฉลี่ยแล้วรัชกาลละประมาณ ๒๓ ปี แต่จริง ๆ แล้วมีหลายรัชกาลที่ระยะเวลาสั้นมาก อย่างรัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ รัชกาลที่ ๘ เป็นต้น แล้วหลายรัชกาลก็ยาวนานมาก อย่างรัชกาลที่ ๙ ทรงครองราชย์ถึง ๗๐ ปี

เรามีพระมหากษัตริย์ที่เหมาะสมกับยุคสมัยมาโดยตลอด แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป สุดยอดนักรบอย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ดี สุดยอดนักปกครองอย่างสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ก็ดี หรือว่าสุดยอดพระมหากษัตริย์ผู้เสียสละเพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน อย่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรก็ตาม ท้ายสุดก็เสด็จสวรรคตทั้งสิ้น แม้แต่ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ปัจจุบันก็ย่างเข้าสู่ ๖๖ พรรษาแล้ว

เถรี 11-04-2018 20:35

เราจะเห็นได้ว่าแม้แต่บุคคลที่ถือว่าเลิศที่สุดในหมู่ปวงชนชาวไทย คือพระมหากษัตริย์ ก็ล่วงลับไปรัชกาลแล้วรัชกาลเล่า ตัวเราที่ไม่ได้มีบุญบารมีระดับนั้น ขึ้นชื่อว่าจะรอดพ้นจากความตายนั้นไม่มี

องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “สัตว์โลกเกิดมาเท่าไร ตายหมดเท่านั้น” แปลว่าการเกิดและการตายนั้นเท่ากัน เพียงแต่ว่าการเกิดนั้นใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ ๙-๑๐ เดือน แต่การตายนั้นส่วนใหญ่แล้วใช้เวลาหลายสิบปี เราจึงเห็นเหมือนกับว่าการเกิดนั้นมากกว่า แต่ความจริงแล้วเกิดกับตายนั้นเท่ากัน ก็คือใครเกิดมาก็ย่อมต้องตายอย่างแน่นอน

ความตายนั้นไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย ก้าวเข้ามาหาเราอยู่ตลอดเวลา แม้จะมีสิ่งตักเตือนล่วงหน้ามาบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเราก็เมาวัย เมาอายุ เมาร่างกาย เห็นว่าอายุยังน้อย เห็นว่าอายุเราต้องยืนยาวมากกว่านี้ เห็นว่าเรายังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ เป็นต้น ทำให้เราไม่ได้ใส่ใจในคำเตือนของสภาพร่างกาย ที่ผมหงอก ฟันร่วง สายตายาวบ้าง มัวบ้าง เจ็บโน่น ปวดนี่ เมื่อยนั่น ร่างกายเริ่มคดค้อมลง เดินเหินลำบาก

เรามักจะไปคิดว่าเราต้องอยู่ยั้งยืนยง ทั้ง ๆ ที่สภาพร่างกายนี้ก็ดี ร่างกายคนอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี แม้กระทั่งตึกรามบ้านช่องที่สร้างอย่างมั่นคงแข็งแรง ล้วนแล้วแต่ก้าวไปหาความเสื่อมอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรายังขาดสติ เมื่อตายไปแล้วต้องลงสู่อบายภูมิ ก็น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งที่จะเป็นการประกันความเสี่ยงให้แก่เราได้ แม้จะไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ก็คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ที่ใช้คำว่าไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะว่าพวกเราส่วนใหญ่ทำได้ไม่ถึงที่สุด แต่ว่าแม้จะทำได้ไม่ถึงที่สุด ถ้าสภาพจิตของเรายึดเกาะเป็นปกติ อย่างน้อยก็มีสุคติเป็นที่ไป

ดังนั้น...ในแต่ละวันเราท่านทั้งหลายจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องทบทวนศีลของเราทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ฆราวาสทั่วไปก็ศีล ๕ อุบาสกอุบาสิกาก็ศีล ๘ สามเณรก็ศีล ๑๐ พระภิกษุสงฆ์ก็ศีล ๒๒๗ ให้ดูว่ามีข้อไหนที่ขาดตกบกพร่องในแต่ละวัน ก่อนจะนอนลงก็ตั้งใจว่า ตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ศีลของเราจะบริสุทธิ์บริบูรณ์ แล้วพยายามประคับประคองรักษาเอาไว้ให้ได้

เถรี 18-04-2018 20:31

ในเรื่องของสมาธิ อย่างน้อยเราต้องปฏิบัติสมาธิภาวนา จับลมหายใจเข้าออก จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ที่เราถนัด ไม่ว่าจะเป็นพุทโธ นะมะพะธะ พองหนอยุบหนอ สัมมาอะระหัง หรือว่าจะเป็นตัวบทพระคาถาใด ๆ ก็ได้ที่เรารักเราชอบ เพราะว่าคำภาวนาเป็นเครื่องโยงใจให้เป็นสมาธิ เมื่อสมาธิทรงตัวในยามเช้า เราก็จะมีสติในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ถ้าหากว่าปัญหามีมาก กำลังไม่เพียงพอ ก็แอบหาเวลาภาวนาเพิ่มเติมในช่วงกลางวัน

ส่วนก่อนนอนนั้นเราเหนื่อยมามากแล้ว ก็เอาแค่ง่าย ๆ ว่ากราบพระ สวดมนต์ไหว้พระสั้น ๆ ก็ได้ หลังจากนั้นก็นอนภาวนาส่งใจนึกถึงพระ หรือส่งใจไปเกาะพระนิพพาน ตั้งใจว่าเรานอนลงก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว ถ้าไม่ได้ลืมตามาดูโลกในวันใหม่ เราก็ขอไปอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน แล้วหลังจากนั้นข้อสุดท้ายก็คือ ต้องรู้ตัวอยู่เสมอว่าเราต้องตาย

บุคคลที่เป็นเลิศที่สุดในหมู่มนุษย์อย่างพระมหากษัตริย์ก็ยังสวรรคต ตัวเราต้องก้าวไปสู่ความตายเป็นแน่แท้ ขึ้นชื่อว่าการเกิดใหม่มามีแต่ความทุกข์ยากเช่นนี้ เราไม่ต้องการอีก การเกิดมาในโลกนี้เต็มไปด้วยความเร่าร้อนเช่นนี้ เราไม่ต้องการอีก เราต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน แล้วเอาสติสมาธิของเราจดจ่ออยู่กับภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งใจว่านั่นคือพระพุทธนิมิตแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน เราเห็นพระองค์ท่านคือเราอยู่ใกล้พระองค์ท่าน เราอยู่ใกล้พระองค์ท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน

ให้รักษากำลังใจเอาไว้อย่างนี้ทุกวัน เช้าเย็นอย่างน้อยวันละ ๒ วาระ ถ้าทำอย่างนี้ก็มีโอกาส ถ้าหากท่านเสียชีวิตไปโดยเข้าไม่ถึงที่สุดของทุกข์ ไม่สามารถล่วงพ้นเข้าสู่พระนิพพานได้ อย่างน้อยเราก็จะได้มีสุคติเป็นที่ไป

ลำดับต่อไปให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันศุกร์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๑

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทาริกา)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 11:26


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว