กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6673)

เถรี 28-06-2019 06:32

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๒
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราเอาไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเราไหล ตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัด มีความชำนาญมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ เมื่อครู่นี้จากคำถามทำให้เห็นว่า หลายคนยังไม่เข้าใจว่าในส่วนของกรรมฐานนั้นเป็นอย่างไร กรรมฐาน เป็นคำรวม แปลว่า ที่ตั้งแห่งการกระทำ แต่ส่วนใหญ่แล้วหมายถึงการปฏิบัติสมาธิภาวนา เรียกว่าเป็นที่เข้าใจกันเช่นนั้น แต่จริง ๆ แล้วการกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจของเรา จัดเป็นกรรมฐานทั้งหมด

กรรมฐานแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ก็คือ สมถกรรมฐาน ปฏิบัติแล้วใจสงบสงัดจากกิเลสได้ชั่วคราว ยกเว้นว่าสามารถทรงได้ตลอดยาวนาน ก็จะสามารถตัดกิเลสได้ เรียกว่า เจโตวิมุตติ คือหลุดพ้นได้ด้วยการใช้กำลังใจกดกิเลสไว้จนดับไปเอง

อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน ปฏิบัติแล้วมีความรู้แจ้งเห็นจริงว่า ปกติธรรมดาของโลกนี้ ของร่างกายนี้มีสภาพอย่างไร แล้วยอมรับความจริงตามนั้น ถ้าหากว่าในส่วนนี้ปฏิบัติไปแล้วปัญญายอมรับ ก็จะเข้าถึงความดีตามลำดับไป จนกระทั่งกลายเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ คือหลุดพ้นโดยการใช้ปัญญาพิจารณาธรรม

เถรี 30-06-2019 08:14

คราวนี้ทั้งในส่วนของเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตตินั้น เมื่อปฏิบัติไปจนเข้าถึงมรรคถึงผลแล้ว ท่านยังแบ่งออกอีกเป็น ๔ ประเภทด้วยกันก็คือ ประเภทที่หนึ่ง สุกขวิปัสสโก เป็นผู้ปฏิบัติแบบเรียบ ๆ ง่าย ๆ ถึงเวลาก็บรรลุมรรคบรรลุผลเลย โดยไม่มีคุณวิเศษอื่นเพิ่มเติม

ประเภทที่สองเรียกว่า เตวิชโช เรียกภาษาไทยง่าย ๆ ว่า วิชชา ๓ คือมีความรู้พิเศษเพิ่มขึ้นมา ๓ อย่าง ได้แก่
๑. ปุพเพนิวาสนุสติญาณ ระลึกชาติได้
๒. จุตูปปาตญาณ รู้ว่าคนและสัตว์ก่อนเกิดมาจากไหน ตายแล้วไปไหน
๓. อาสวักขยญาณ สามารถทำกิเลสให้สิ้นไปได้

ประเภทที่สามเรียกว่า ฉฬภิญโญ เรียกง่าย ๆ อีกอย่างว่า อภิญญา ๖ ประกอบไปด้วยกำลังใจของเราที่ปฏิบัติแล้วเกิดความสามารถพิเศษขึ้นมา ๖ อย่าง ก็คือ
๑. ทิพโสต มีหูทิพย์
๒. ทิพจักขุ มีตาทิพย์
๓. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้
๔. จุตูปปาตญาณ รู้ว่าคนก่อนเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน หรือว่าสัตว์ก่อนเกิดมาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน
๕. ยถากัมมุตาญาณ รู้ว่าการกระทำดีชั่วแต่ละอย่างนั้น จะส่งผลอย่างไร
๖. อาสวักขยญาณ สามารถทำกิเลสให้สิ้นไปได้

เราจะเห็นว่า ในส่วนของอภิญญา ๖ นั้น ครอบงำวิชชา ๓ อยู่ภายใน

เถรี 30-06-2019 08:16

ส่วนสุดท้ายเรียกว่า ปฏิสัมภิทัปปัตโต บางคนเรียกง่าย ๆ ว่า ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ มีความสามารถครอบงำทั้ง ๓ ประเภทแรก และมีความรู้พิเศษเพิ่มขึ้นมา ๔ อย่าง ก็คือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทา รู้ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากอะไร
๒. ธัมมาปฏิสัมภิทา รู้ว่าผลทั้งหลายทั้งปวงนั้นเกิดจากเหตุอะไร
๓. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา มีความคล่องแคล่วว่องไวในปฏิภาณไหวพริบมาก
๔. นิรุกติปฏิสัมภิทา มีความรู้พิเศษ สามารถเข้าใจภาษาต่าง ๆ ได้มาก ทั้งภาษาคน ภาษาสัตว์ ภาษาในโลกทิพย์ เป็นต้น

คราวนี้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ จะสามารถแบ่งสรรปันส่วนได้ ก็ต่อเมื่อเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า อย่างเช่นว่า ความเป็นสุกขวิปัสสโก จะเริ่มปรากฏก็ต่อเมื่อเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน ฉฬภิญโญ หรืออภิญญา ๖ จะเข้าถึงได้ก็ต่อเมื่อความเป็นพระโสดาบันปรากฏ ไม่เช่นนั้นก็ได้แค่อภิญญา ๕ เป็นต้น เพราะว่าอาสวักขยญาณ คือตัวทำให้กิเลสสิ้นไป ยังไม่ปรากฏ ส่วนปฏิสัมภิทาญาณนั้น กติกาหนักขึ้นไปอีก อย่างน้อยต้องเป็นพระอนาคามีขึ้นไป ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ ถึงจะปรากฏได้

แต่ว่าทั้ง ๔ หมวด ที่บอกว่าสุกขวิปัสสโกนั้น บรรลุง่าย ๆ โดยไม่มีความสามารถพิเศษ ความจริงแล้วบรรลุยากมาก ที่บรรลุยากเพราะว่าทั้ง ๔ หมวด ท้ายสุดก็ต้องมาใช้กำลังส่วนของสุกขวิปัสสโก คือพิจารณาธรรม เมื่อพิจารณาไปจนสภาพจิตยอมรับ เข้าถึงตามวาสนาบารมีของตน แล้วก็ส่วนประกอบที่สั่งสมมา อยู่ที่ว่าเราได้มากได้น้อยเท่าไร บางท่านก็ได้เป็นพระโสดาบัน บางท่านก็เป็นพระสกทาคามี บางท่านก็เป็นพระอนาคามี บางท่านก็สิ้นกิเลส เป็นพระอรหันต์ไปเลย

เถรี 30-06-2019 08:18

ในส่วนนี้เราจะเห็นได้ว่า ท้ายสุดเราก็ต้องกลับมาใช้ปัญญาพิจารณา คราวนี้การที่เราจะใช้ปัญญาพิจารณาอย่างเดียวนั้น ไม่มีความมั่นคงแน่นอน เพราะว่าลำพังปัญญาเปรียบเหมือนอาวุธที่มีความคม ถ้าไม่มีกำลัง เราก็จะยกอาวุธไม่ขึ้น สมถภาวนาเปรียบเหมือนการเพาะกำลัง พอแข็งแรงแล้ว แต่ถ้าไม่มีอาวุธ จะตัดจะฟันอะไรก็ลำบาก จึงต้องปฏิบัติทั้งสองอย่างควบกัน คือภาวนาจนกำลังใจทรงตัวแล้วมาพิจารณา พอพิจารณาไป สมาธิจะเริ่มทรงตัวเองโดยอัตโนมัติ เราก็มาภาวนาต่อ

ดังนั้น..ที่ท่านทั้งหลายบอกว่า สุกขวิปัสสโกนั้น ไม่มีคุณวิเศษอะไรเลยนั้นไม่ใช่ การเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้านั้น ถือเป็นคุณวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งก็คือสมาธิจิตที่สามารถเข้าถึงฌานสมาบัติได้ แต่เป็นการเข้าถึงโดยที่ท่านไม่รู้ตัว เพราะว่าพิจารณาธรรมไปเรื่อย ๆ สมาธิจิตก็ดิ่งลึกไปตามลำดับ ทรงเป็นฌานโดยที่ตัวท่านก็ไม่เข้าใจ ยิ่งทรงฌานได้สูงมากเท่าไร โอกาสตัดละเป็นพระอริยเจ้าก็มีมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น..ในส่วนของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน เราจึงต้องทำควบกัน สลับกันไปสลับกันมา เพื่อให้เรามีกำลังและมีปัญญาในการใช้ตัดละกิเลส ถ้าหากว่าทำดี ทำถูก ก็เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้ง่าย แต่ถ้าหากว่าเน้นในเรื่องของสมถภาวนาอย่างเดียว หวังบรรลุโดยเจโตวิมุตติ ก็แปลว่าต้องกดกิเลสนิ่งสนิทเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก เหมือนกับใช้ของหนักทับหญ้าเอาไว้ ต้องทับให้นานพอ หญ้าถึงจะตายได้ เป็นต้น

ดังนั้น..เรื่องของเจโตวิมุตติจึงกล่าวได้ว่าเป็นความประมาทอย่างหนึ่งของนักปฏิบัติ ควรจะใช้ปัญญาพิจารณาให้มากขึ้น เพื่อจะได้มรรคได้ผลตามวาสนาบารมีของเรา

ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๒

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย นายกระรอก)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:58


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว