กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3658)

เถรี 11-02-2013 09:31

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖
 
ให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบายของตน ตั้งกายให้ตรง กำหนดสติไว้เฉพาะหน้า เอาความรู้สึกทั้งหมดของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอย่างไรก็ได้ตามที่เราถนัด

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๖ เป็นการปฏิบัติธรรมต้นเดือนกุมภาพันธ์วันแรกของพวกเรา เมื่อครู่ได้กล่าวถึงการอบรมเด็กนักเรียนในหัวข้อเศรษฐกิจพอเพียง หัวใจของเศรษฐกิจพอเพียงจริง ๆ ก็คือทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา

มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง เป็นหลักธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศขึ้น ท่ามกลางความเชื่อของบุคคลในยุคนั้น ที่แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่ายด้วยกัน ฝ่ายแรกเชื่อว่าการปฏิบัติอย่างเข้มงวด เคร่งครัดด้วยการทรมานตนนั้น จะทำให้บรรลุโมกษะ คือเข้าสู่ความหลุดพ้นได้ อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าการคลุกคลีอยู่กับกามสุขต่าง ๆ นั้น ถ้ามีมากจนเบื่อ ก็จะทำให้บรรลุโมกษะได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด แต่ผู้คนในยุคนั้นก็น้อมจิตเชื่อไปในทาง ๒ สายนี้

เมื่อองค์สมเด็จพระชินสีห์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศทางสายกลางขึ้นมา จึงกลายเป็นหลักการใหม่ แต่เป็นหลักการใหม่ที่เพิ่งปรากฏขึ้น ในท่ามกลางความเชื่ออย่างฝังหัวของหลักการเก่า ๆ เราจะเห็นได้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ประกอบด้วยความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะเปลี่ยนแปลงความเชื่อของบุคคล การที่พระองค์ท่านกล้าหาญถึงขนาดนั้น เนื่องจากว่าพระองค์ท่านถึงพร้อมด้วยทศพลญาณ ๑๐ ประการ สามารถที่จะรู้ว่าบุคคลใดที่มีวิสัยจะเข้าถึงมรรคผล ก็เสด็จไปโปรดสงเคราะห์บุคคลนั้น ๆ เมื่อประกาศหลักธรรมที่ประกอบด้วยทางสายกลาง บุคคลที่มีปัญญา มีวิสัยที่จะบรรลุมรรคผล ตรองตามแล้วเห็นจริง จึงน้อมใจเชื่อ รับเอาหลักธรรมไปปฏิบัติ จนกระทั่งสามารถล่วงพ้นจากกองทุกข์ได้

เราจะเห็นได้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยแรกเริ่มที่ทรงประกาศพระศาสนานั้น ต้องต่อสู้กับความเชื่อเก่า ๆ อย่างนี้ อย่างชนิดที่เรียกว่า ลำบากยากเข็ญเป็นอย่างยิ่ง เพราะบุคคลส่วนใหญ่มีความเห็นผิดไปอย่างนั้นเสียแล้ว เมื่อพระพุทธศาสนาของเราดำเนินมา ๒๕๕๖ ปีอย่างปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะในประเทศไทยของเรา เมื่อกล่าวถึงสายกลาง พวกเรายอมรับได้โดยง่าย แต่ก็ยังไม่แน่ว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง เนื่องจากทางสายกลางนั้น ไม่มีจุดพอเหมาะพอดีที่ขีดเป็นมาตรฐาน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ได้ เพราะทางสายกลางของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับบุญบารมีที่สั่งสมมา และขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายในปัจจุบัน บุคคลที่สั่งสมบุญญาบารมีมาดี มีสภาพร่างกายที่แข็งแรง ทางสายกลางที่ท่านเหล่านั้นปฏิบัติ สำหรับเราอาจจะเห็นว่าเป็นอัตตกิลมถานุโยค คือทรมานตัวเองด้วยซ้ำไป

เถรี 12-02-2013 19:51

เมื่อเป็นดังนั้น..เราจะพิจารณาอย่างไรว่า ทางสายกลางที่พอเหมาะพอควรกับเราคืออะไร สิ่งนี้เราจะรู้ได้จากการปฏิบัติภาวนาของเรา สมมติว่าเราตั้งเวลาการภาวนาของเราไว้ ๓๐ นาที เมื่อครบเวลาแล้ว ถ้ารู้สึกว่ายังสามารถปฏิบัติต่อไปได้ ก็ลองเพิ่มเวลาขึ้นไปอีกสัก ๒ - ๓ นาที หรือ ๕ นาที ถ้าทำดังนี้เราก็จะรู้ได้ว่า กำลังของเราเต็มที่ได้แค่ไหน

แต่ขณะเดียวกันก็ให้ระมัดระวังด้วยว่า เรื่องของกิเลสจะมาหลอกลวงเรา บอกว่าไม่ไหวแล้ว..พอแล้ว ถ้าไม่ไหวแล้ว..พอแล้ว ให้ทุกคนลองฝืนดู ถ้าสามารถฝืนแล้วไปต่อได้ แสดงว่าเมื่อครู่นี้กิเลสหลอกเรา แต่ถ้าฝืนแล้วไปต่อไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งทิ้งการภาวนา แต่ให้เปลี่ยนอิริยาบถไปทำอย่างอื่นแทน

อย่างสมัยก่อนที่อาตมาปฏิบัติภาวนาใหม่ ๆ พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงท่านจะค่อย ๆ มอบคาถาให้ทีละบท พอไปทำจนเกิดผล มารายงานผลต่อท่าน เมื่อท่านรับรองแล้วก็ให้คาถาบทใหม่ไปภาวนา เมื่อจะภาวนาของใหม่ ท่านให้ทวนของเก่าให้กำลังใจทรงตัวก่อน แล้วจึงภาวนาของใหม่ เมื่อนานไปคาถาก็มีมากบทขึ้น เป็นสิบ ๆ บท เมื่อเราต้องทวนของเก่าก่อนค่อยมาภาวนาของใหม่ ก็ทำให้ระยะเวลาในการปฏิบัตินั้นยืดยาวขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อระยะเวลายืดยาวขึ้นไปเรื่อย ๆ จากที่เราคิดว่านั่งกรรมฐาน ๓๐ นาทีก็แย่แล้ว กลายเป็นว่าบางที ๒ - ๓ ชั่วโมง สมาธิจิตก็ยังไม่คลายออกมา เนื่องจากสภาพจิตรู้ว่ายังมีงานทำอยู่ ยังภาวนาไม่ครบตามที่เคยตั้งไว้ เมื่อจิตไม่คลายออกมา เราก็สามารถดำรงอยู่ในสมาธิ อยู่ในความปราศจากรัก โลภ โกรธ หลงได้นานขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราจะเห็นได้ว่า การปฏิบัตินั้น..ถ้าเราทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอในสายกลางที่พอเหมาะพอดีแก่ตนเองแล้ว ความก้าวหน้าในการปฏิบัติก็จะมีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามลำดับ แต่ถ้าเราทำผิด ทำพลาด หรือไปเชื่อกิเลสว่าทำแค่นี้ก็เพียงพอแล้ว ถ้าอย่างนั้นโอกาสที่จะก้าวหน้าก็ไม่มี

องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศทางสายกลางมา ๒,๖๐๐ ปีแล้ว มาถึงเราในปัจจุบัน หลักธรรมนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่เหมาะสม ปฏิบัติได้ทุกวาระ ทุกโอกาส ดังนั้น..ให้พวกเราทั้งหลายหาจุดที่พอเหมาะพอดีในการปฏิบัติภาวนาของตน ในทางสายกลางของแต่ละคน เมื่อได้จุดที่พอเหมาะพอดีแล้ว ก็ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำไป จนกว่าผลทั้งหลายเหล่านั้นจะเกิดขึ้นแก่เราอย่างแท้จริง

ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกคนตั้งใจภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกาและเถรี)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:22


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว