กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=39)
-   -   เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=5603)

เถรี 16-05-2017 21:42

เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐
 
ให้ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดสติคือความรู้สึกของเราเอาไว้ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกของเราไหลตามลมหายใจออกมา จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้เป็นวันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ในเรื่องของการปฏิบัติกรรมฐานนั้น ถ้าเราจับจุดกรรมฐานกองใดกองหนึ่งที่เรารักเราชอบได้แล้ว ก็ให้เร่งรัดปฏิบัติกรรมฐานกองนั้นไป หรือว่าเรายึดถือแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานสายไหน ก็ให้เราเร่งรัดปฏิบัติตามสายนั้นไป

อย่าเปลี่ยนกองกรรมฐานบ่อย จนกว่ากองเดิมจะได้ผลแล้ว หรืออย่าเปลี่ยนสายการปฏิบัติกรรมฐานบ่อย ๆ จนกว่าเราจะปฏิบัติตามจนได้ผลแล้ว ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นคนที่จับจด ปฏิบัติอะไรก็ไม่จริงจัง เหมือนกับคนที่ขุดบ่อตั้งใจจะเอาน้ำ พอขุดลงไปได้ ๒ เมตร ๓ เมตร มีคนบอกว่าตรงจุดโน้นน่าจะขุดแล้วได้น้ำดีกว่า เราก็ย้ายที่ไปขุดตรงโน้น พอขุดตรงโน้นลงไปได้ ๓ เมตร ๔ เมตร มีคนบอกว่าอีกที่หนึ่งดีกว่า เราก็ย้ายไปขุดที่ใหม่อีก

ลักษณะอย่างนี้แหละที่ทำให้เรากลายเป็นคนขุดบ่อแต่ไม่เคยได้น้ำเลย เช่นเดียวกับการที่เราเปลี่ยนสายการปฏิบัติกรรมฐาน หรือเปลี่ยนกองกรรมฐานบ่อย ๆ โดยที่ยังไม่ได้ทำของเดิมให้ได้ผลเสียก่อน เมื่อถึงเวลาเราเริ่มเคยชิน อารมณ์ใจเริ่มทรงตัวกับกรรมฐานกองนี้ ยังไม่ทันที่จะทำให้ถึงที่สุด เราก็ย้ายเปลี่ยนไปทำกรรมฐานกองอื่น ลักษณะอย่างนี้เราก็เท่ากับเป็นคนขุดบ่อแล้วไม่ได้น้ำ

หรือเปรียบโลกนี้เป็นคุกที่กักขังเราเอาไว้ เราเจาะกำแพงเพื่อที่จะให้ได้ช่องทางในการหลบหนี กำแพงนี้ค่อนข้างจะหนา เราเจาะเข้าไปได้สักศอกสักวา คนบอกว่าจุดโน้นน่าจะเจาะได้ง่ายกว่า เราก็ย้ายที่ไปเจาะใหม่ กลายเป็นเปลืองกำลังโดยใช่เหตุ เพราะว่าไม่สามารถที่จะทะลุ หลุดพ้นจากการกักขังนั้นไปได้สักที

เถรี 17-05-2017 17:53

กรรมฐานทุกกองนั้น อารมณ์ตอนปลายเท่ากัน ก็คือจบลงที่ฌาน ๔ บางท่านอาจจะแย้งว่าอรูปฌานนั้นจบลงที่ฌาน ๘ อาตมาขอยืนยันว่า อรูปฌานนั้นเป็นฌาน ๘ ด้วยกำลังของฌาน ๔ ก็คือต้องใช้กำลังเท่ากับฌาน ๔ ในการปฏิบัติ แล้วบวกกับการพินิจพิจารณาในอารมณ์กรรมฐานนั้น ๆ จนกระทั่งเขาแยกไปนับเป็นฌานที่ ๕ ที่ ๖ ที่ ๗ ที่ ๘ แต่ความจริงแล้วกองกรรมฐานตรงนี้ ก็มีกำลังเท่ากับฌาน ๔ นั่นเอง เพียงแต่มีการแยกแขนงออกไปเล็กน้อยเท่านั้น

เพราะฉะนั้น...ในเรื่องของการปฏิบัติของเรา ตราบใดที่เรายังไม่สามารถทรงฌานได้คล่องตัว ตราบนั้นเราก็ยังเป็นทาสกิเลสอยู่เต็มตัว

การที่เราทรงฌานได้คล่องตัว สภาพจิตเราจะพ้นจาก รัก โลภ โกรธ หลง ได้ชั่วคราว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า มารจะมองไม่เห็นเมื่อบุคคลทรงฌาน เนื่องจากว่าสภาพจิตระงับ รัก โลภ โกรธ หลง ลงไปได้ รัก โลภ โกรธ หลง ที่เป็นบริวารไม่สามารถรายงานให้พญามารรู้ได้ว่าเราทำอะไร ? อยู่ที่ไหน ?

เถรี 17-05-2017 17:54

ถ้าหากเราพินิจพิจารณาในวิปัสสนาญาณเพิ่มเติมเข้าไป สภาพจิตของเรายอมรับว่า การเกิดมานี้ไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด สภาพจิตยอมรับว่าการเกิดมานี้มีแต่ความทุกข์ เกิดก็เป็นทุกข์ แก่ก็เป็นทุกข์ เจ็บก็เป็นทุกข์ ตายก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากของรักของชอบใจก็เป็นทุกข์ ได้รับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ ปรารถนาไม่สมหวังก็เป็นทุกข์

สภาพจิตของเรายอมรับได้ว่าสภาพร่างกายของเราก็ดี ของคนอื่นก็ดี ของสัตว์อื่นก็ดี ของวัตถุธาตุทั้งหลายก็ดี ประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ให้อาศัยได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น หลังจากนั้นก็เสื่อมสลาย ตายพังกลับคืนเป็นสมบัติของโลก ไม่มีอะไรหลงเหลือเป็นเราเป็นของเราเลยแม้แต่นิดเดียว

ถ้าสภาพจิตของเรายอมรับเช่นนี้ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ปราศจากความต้องการในการเกิด ไม่มีความปรารถนาทั้งในกายของตนเองและกายของผู้อื่น สภาพจิตก็จะหลุดพ้นจากการยึดเกาะในร่างกายนี้ ในโลกนี้ การหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพานก็จะพึงมีพึงเกิดแก่เราได้

ลำดับต่อไปก็ขอให้ทุกท่านตั้งใจภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านเติมบุญ
วันศุกร์ที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐

(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยทาริกา)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:17


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว