กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ในวาระสำคัญต่าง ๆ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=40)
-   -   ธรรมบรรยายหัวข้อ "อานาปานสติเพื่อการเปลี่ยนแปลงภายใน" (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=8428)

ตัวเล็ก 11-03-2022 20:59

ธรรมบรรยายหัวข้อ "อานาปานสติเพื่อการเปลี่ยนแปลงภายใน"
 
ธรรมบรรยายหัวข้อ "อานาปานสติเพื่อการเปลี่ยนแปลงภายใน"



วันศุกร์ที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๐๐ น.

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ประธานชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุน ประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลท่าขนุน ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอทองผาภูมิ
บรรยายธรรมหัวข้อ "อานาปานสติเพื่อการเปลี่ยนแปลงภายใน" ตามโครงการบริการทางวิชาการเพื่อสร้างเสริมวิถีชุมชนแห่งการเรียนรู้ ของวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์
ผ่านระบบซูมมีตติ้งออนไลน์ ณ บ้านเลขที่ ๗๗/๒ ซอยโบฟอร์ต ๑ หมู่บ้านกุลพันธ์วิลล์ (โครงการ ๙) หมู่ที่ ๘ ตำบลบ้านแหวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

เถรี 15-03-2022 00:04

ขอโอกาสคณะครูบาอาจารย์ ตลอดจนกระทั่งนิสิตฝ่ายบรรพชิตทุกรูป และขอเจริญพรคณะครูบาอาจารย์และนิสิต ตลอดจนกระทั่งผู้สนใจเข้าร่วมฟังการบรรยายในวันนี้ฝ่ายคฤหัสถ์ทุกท่าน

กระผม/อาตมภาพ พระครูวิลาศกาญจนธรรม ต้องบอกว่าตำแหน่งหน้าที่มากจนตนเองก็จำไม่หมด ราว ๆ ๓๐ ตำแหน่ง คราวนี้บางคนก็ถามว่า "อาจารย์มีตำแหน่งเยอะขนาดนั้น ทำงานไหวได้อย่างไร ?" ก็ต้องบอกว่า "อยู่ได้ด้วยกรรมฐาน"

คำว่ากรรมฐาน ในที่นี้ก็คืออานาปานสติที่ท่านทั้งหลายสนใจนั่นแหละ แต่คราวนี้การที่เราจะไปถึงในระดับใช้กรรมฐานในชีวิตประจำวันได้ ต้องเริ่มจากพื้นฐานก่อน ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ก็กระโดดขึ้นมาเองแล้วจะเป็นเลย

พระภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่ใช่ผู้วิเศษ ไม่สามารถเสกทุกท่านให้สำเร็จมรรคผล หรือว่าบรรลุในสิ่งต่าง ๆ ได้ แต่ว่าทุกอย่างต้องเป็นไปโดยความพากเพียรพยายามของท่านเอง แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า อักขาตาโร ตถาคตา แม้ตถาคตก็เป็นเพียงผู้บอกเท่านั้น

ตรงจุดนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราบอกขั้นตอนการปฏิบัติธรรมไว้แล้วทุกอย่าง เพียงแต่ว่าพวกเราในปัจจุบันมักจะใจร้อน ใจเร็ว ปฏิบัติธรรม ๓ วัน อยากจะบรรลุเลย หรือไม่ก็ภาวนา ๑ ชั่วโมง อยากจะได้นั่น อยากจะสำเร็จนี่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้

บรรดาท่านทั้งหลายที่เป็นอุคฆฏิตัญญูบุคคล ฟังเทศน์ครั้งเดียวแล้วบรรลุมรรคผลเลย กระผม/อาตมภาพเชื่อว่าพระพุทธเจ้านำไปพระนิพพานหมดแล้ว พวกเราอย่างเก่งก็อยู่ในระดับวิปจิตัญญู ก็คือต้องอธิบายขยายความ หรือว่าเป็นเนยยะ ต้องจ้ำจี้จ้ำไช ย้ำแล้วย้ำอีก ปากเปียกปากแฉะอยู่ทุกวัน ไม่เช่นนั้นแล้วโอกาสที่จะเข้าถึงก็ยาก

โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันนี้ กระแสการบริโภค หรือว่ากระแสสื่อโซเชียลต่าง ๆ ดึงเราให้ห่างไกลจากความดีได้ง่ายที่สุด สิ่งที่จะรั้งเราเอาไว้กับความดีได้ก็คืออานาปานสตินี่เอง

เถรี 15-03-2022 00:09

คำว่าอานาปานสติ แปลเป็นไทยง่าย ๆ ว่าสติที่ไปในลมหายใจเข้าออก อานะ, อาปานะ รวมกันแล้วเป็น อานาปานะ ก็คือหายใจเข้าและออก ถ้าเราสามารถเอาสติไว้กับลมหายใจเข้าออกในปัจจุบัน ไม่คิดฟุ้งซ่านไปไหน เราก็จะเป็นผู้ที่มีความทุกข์น้อย

กระผม/อาตมภาพก็เหมือนกับท่านทั้งหลาย ก่อนหน้านี้ก็เป็นคนขี้กลัว ขี้กังวล หวาดระแวง เครียดง่าย แต่หลังจากที่มาปฏิบัติธรรมไปจนถึงระดับหนึ่งด้วยความพากเพียรไม่ท้อถอยแล้ว ปัจจุบันนี้ความกลัวไม่ทราบว่าหายไปไหน ยิ่งถ้าหากว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามธรรมตามวินัยแล้ว ถ้าใครทำผิดอยู่ตรงหน้า พร้อมที่จะพุ่งชนโดยไม่กลัวใครเลย ความขี้กังวล ถึงเวลาจะเกิดเรื่องอะไรขึ้น ก็คิดไป ๓ วัน ๓ คืนนอนไม่หลับ ตอนนี้มีอยู่อย่างเดียวก็คือหลับแล้วไม่ค่อยจะตื่น..!

เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ที่เปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ก็เพราะการปฏิบัติธรรม ซึ่งการปฏิบัติธรรมนั้น พวกเราทุกคนก็จะนึกถึงภาพการนั่งสมาธิ การภาวนา พุทโธ..พุทโธ หรือว่า พองหนอ..ยุบหนอ แต่โดยหลัก ๆ แล้วก็คือ การกำหนดสติอยู่กับลมหายใจเข้าออกนั่นเอง

พระพุทธเจ้าของเราให้ขั้นตอนเอาไว้เป็นลำดับไปตั้งแต่ต้น ก็คือสัมมาทิฐิ เราจะต้องเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของดี ควรที่จะปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในอนาคต และถ้าหากว่าบุญพาวาสนาช่วย เข้าถึงประโยชน์สูงสุดคือพระนิพพานได้ สามารถหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ก็ยิ่งดี

ข้อต่อไปคือ สัมมาสังกัปปะ ต้องเป็นผู้มีดำริ คือความคิดที่ถูกต้อง อย่างเช่นว่า เราคิดจะออกจากกาม คิดอยากจะพ้นจากความทุกข์ เราจึงต้องตั้งหน้าตั้งตามาพากเพียรพยายามกระทำกัน

คราวนี้จากความคิดซึ่งเป็นเรื่องของใจ ก็จะออกมาเป็นกายกับวาจา ก็คือต้องตั้งหน้าตั้งตารักษาศีล ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายยังคงเที่ยวเตร่เฮฮา ยังกินเหล้าเมายา ต้องอาศัยแสงสีเสียงต่าง ๆ ในการกระตุ้นตนเองให้มีความสุข จนกระทั่งบางทีก็ก่อความทุกข์ให้อย่างถนัดใจ

อย่างเรื่องราวที่ท่านทั้งหลายได้ข่าวจากสื่อต่าง ๆ ทุกวันนี้ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ไม่จบ ว่าเรื่องของความสนุกชั่วคราว แต่ไปทำเอาคนตกน้ำตาย เดือดร้อนกันไปหมด จนป่านนี้เรื่องก็ยังไม่จบลง สาเหตุทั้งหลายเหล่านั้นเกิดจากการขาดศีล ไม่มีการควบคุมกายวาจาของตนให้อยู่ในกรอบของความดี

เถรี 15-03-2022 00:12

พระพุทธเจ้าทรงกำหนดหลักของศีลทั้งหลายเหล่านี้ขึ้นมาตามความต้องการปกติของคน ดังนั้น...ศีลในความหมายหนึ่งจึงแปลว่า ความปกติ ก็คือ

ปกติคนเราไม่อยากให้ใครมาฆ่าเรา เราก็ไม่ควรที่จะไปฆ่าใคร ไม่ควรไปทำร้ายใคร

ไม่อยากให้ใครมาลักขโมย หยิบฉวยช่วงชิงสิ่งของของเรา เราก็ไม่ควรที่จะไปลักขโมย หยิบฉวยช่วงชิงสิ่งของของใคร

ไม่ต้องการให้เขามาแย่งคนที่รัก ของที่รักของเรา เราก็ไม่ควรที่จะไปแย่งคนรักของรักของใคร

ต้องการฟังแต่ความสัตย์ความจริง เราก็ไม่ควรที่จะโกหกมดเท็จใคร

ต้องการเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็ไม่ควรที่จะไปกินเหล้าเมายา เสพยาเสพติด เป็นต้น

อย่าคิดว่านี่เป็นของง่าย กระผม/อาตมภาพมั่นใจว่าคนไทยทั้งหมด ๖๗ ล้านคน ยอดตัวเลขนี้กรมการปกครองเพิ่งจะยืนยันมาเอง ที่มีศีล ๕ ครบถ้วนจริง ๆ ถึง ๖ ล้านคนหรือไม่ก็ยังไม่ทราบ ? นอกนั้นล้วนแต่ขาดตกบกพร่องอยู่เสมอ

คราวนี้คำว่าศีล ๕ นั้น เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มนุสสธรรม หลักธรรมที่ทำให้เราเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ ถ้าหากว่าศีลบกพร่อง แปลว่าความเป็นมนุษย์ของเราไม่สมบูรณ์ เรากำลังทำตัวขาดทุนแล้ว เพราะว่าการที่ท่านทั้งหลายได้โอกาสมาเกิดเป็นมนุษย์นั้น ท่านต้องมีต้นทุนในอดีต คือศีล ๕ สมบูรณ์มาก่อน แต่ในเมื่อปัจจุบัน ถ้ารักษาศีลได้ไม่ครบ ความเป็นมนุษย์ของเราบกพร่อง โอกาสที่จะไปอบายภูมิก็มีสูงมาก

คราวนี้การรักษาศีล เราจะเหนื่อยยากในระยะแรก พอรักษาไปจนชิน กลายเป็นของธรรมดา มีสติ ขยับตัวก็รู้ว่าศีลจะขาดบกพร่องหรือไม่ ถ้าถึงระดับนั้นศีลก็จะย้อนมารักษาเรา

เถรี 15-03-2022 00:15

ขั้นตอนต่อไปที่พระพุทธเจ้าสอนเราก็คือเรื่องของสมาธิ การที่เราตั้งหน้าตั้งตาระมัดระวังศีลทุกสิกขาบทให้สมบูรณ์บริบูรณ์ สติที่รู้ระมัดระวัง จะสร้างสมาธิให้เกิดโดยไม่รู้ตัว เมื่อเรามาตั้งหน้าตั้งตาภาวนาตามหลักอานาปานสติ คือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก จึงสามารถที่จะรักษากำลังใจให้ทรงตัวเป็นสมาธิได้ง่าย

แต่ว่าบ้านเราเมืองเรานั้น พระภิกษุสามเณร ตลอดจนกระทั่งญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ส่วนหนึ่งมีประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมน้อย ทำให้ไม่รู้ว่าถึงเวลาเราปฏิบัติธรรมแล้ว ต้องรักษาอารมณ์ใจนั้นเอาไว้ด้วย เพราะว่าถ้าท่านไม่สามารถรักษาอารมณ์ใจเอาไว้ได้ ถึงเวลาลุกขึ้นมาก็ทิ้งหมด

การปฏิบัติธรรมเป็นการทวนกระแสโลก เหมือนกับเราว่ายทวนน้ำ เมื่อถึงเวลาออกแรงว่ายไปเต็มที่ พอได้ระยะที่เรารู้สึกว่าพอแล้ว เราก็ปล่อยมือ ก็จะไหลตามน้ำไป พอต้องการที่จะว่ายขึ้นมาใหม่ ก็ตั้งหน้าตั้งตาว่ายอีก แล้วก็ปล่อยไหลตามน้ำไปอีก

ต่อให้เราขยันแค่ไหน ก็จะเป็นคนขยันที่ไม่มีผลงานอะไรเลย เพราะว่าทุกวันจะไหลตามน้ำไป แล้วถ้าหากว่าขี้เกียจขึ้นมาเมื่อไร ก็จะไหลไปไกลกว่านั้นอีก ยิ่งไหลไปไกลเท่าไร เราก็ต้องใช้เรี่ยวแรงในการที่จะว่ายทวนน้ำขึ้นมามากเท่านั้น ซึ่งจะทำให้ท่านทั้งหลายเกิดความท้อแท้ แล้วท้ายที่สุดก็เลิกการปฏิบัติธรรมไปโดยปริยาย


เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น ถ้าท่านทั้งหลายรู้จักวิธีว่า เมื่อเลิกจากการนั่งสมาธิภาวนาแล้ว กำลังใจเราสงบแค่ไหน เราต้องประคับประคองรักษาอารมณ์ใจนั้นให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนอิริยาบถไป จากนั่งเป็นยืน เป็นเดิน เป็นนอน เป็นดื่ม กิน คิด พูด ทำ ใจเราต้องอยู่กับการภาวนาหรือลมหายใจโดยอัตโนมัติ

ถ้าสามารถรักษากำลังใจไว้ในลักษณะนี้ได้บ่อย ๆ เราก็จะยืนระยะได้นานขึ้น จากที่ได้แค่ครู่เดียว เมื่อขยับเคลื่อนไหวสมาธิก็คลายตัวหมด เราก็จะเริ่มทำได้นานขึ้น จาก ๑ นาทีเป็น ๒ นาที ๕ นาที ๑๐ นาที ๑๕ นาที ครึ่งชั่วโมง จนกระทั่งเป็น ๑ ชั่วโมง ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง ครึ่งวัน ๑ วัน แล้วก็เป็น ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน ๗ วัน ๑๐ วัน ๑๕ วัน จนกระทั่งสามารถรักษากำลังใจได้นานเป็นเดือน ๆ

กำลังใจของเราเหมือนกับน้ำ ถ้าหากว่าไม่สงบนิ่ง มีการกระเพื่อมเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เราก็ไม่สามารถที่จะรู้เห็นอะไรได้ แต่ถ้ากำลังใจของเราสงบระงับ จะเหมือนกับน้ำนิ่ง สามารถสะท้อนสิ่งต่าง ๆ รอบข้างลงไปได้อย่างชัดเจน

เถรี 15-03-2022 00:18

ลักษณะตรงจุดนี้ ถ้าหากว่าท่านที่เป็นฆราวาสจำเป็นจะต้องทำงาน จะมีประโยชน์อย่างมหาศาล เพราะว่าท่านจะสามารถลำดับความสำคัญก่อนหลังเร็วช้าของแต่ละงานได้ ต่อให้มีงานมากเท่าไรก็ตาม เมื่อเราลำดับความก่อนหลังเร็วช้าของงานได้ เราก็จะหยิบจับงานที่เร็วที่สุดซึ่งมาถึงก่อนเพื่อนขึ้นมาทำก่อน เรื่องอื่นก็วางเอาไว้ตรงนั้น ถ้าเป็นในลักษณะอย่างนี้ เราก็จะมีงานอยู่ตรงหน้าชิ้นเดียว มีปัญหาอยู่ตรงหน้าเรื่องเดียว ซึ่งไม่เกินกำลังที่เราจะแก้ไขได้

แต่เนื่องจากว่ากำลังใจของท่านทั้งหลายมีความส่งส่ายวุ่นวายอยู่เสมอ ทำให้ท่านไม่สามารถที่จะรักษาสติเอาไว้อยู่กับเฉพาะหน้าได้ แยกแยะไม่ออกว่าอะไรก่อนหลังเร็วช้า เราก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้

โดยเฉพาะท่านที่เอาหลาย ๆ เรื่องมารวมกัน ก็ยิ่งเป็นปัญหาที่กองใหญ่ขึ้น แล้วท้ายที่สุด ปัญหาเหล่านั้นก็หนักเกินกำลัง จนเราเครียด กังวล นอนไม่หลับ ซึมเศร้า แล้วแต่อาการมากน้อย

ดังนั้น...การที่เรากำหนดสติอยู่เฉพาะหน้า ไม่ใช่ว่าสามารถทำได้เฉย ๆ จากที่กระผม/อาตมภาพกล่าวมา ทุกท่านจะเห็นว่ามีขั้นมีตอนในการที่เราจะค่อย ๆ ไป ตามลำดับ และอาจจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการพากเพียรพยามยามทำจริง ๆ

คำว่า ทำจริง ๆ ในที่นี้ก็จะมีอุปสรรคมากมายเกิดขึ้น อุปสรรคในทางโลกก็คือคนรอบข้างจะว่าเราบ้า..! ซึ่งตรงจุดนี้ ถ้าท่านไม่สามารถทนปากคนอื่นได้ ท่านก็จะเลิกไปโดยปริยาย แต่ถ้าหากว่าท่านสามารถทนปากคนอื่นได้ เห็นประโยชน์ว่าสิ่งที่เราทำนั้นก่อให้เกิดประโยชน์จริง ๆ เราก็จะสามารถต่อสู้ฟันฝ่าจนกระทั่งผ่านไป ก็จะไปเจออุปสรรคทางธรรมแทน

ก็คือการปฏิบัติของเราจะมีอาการแปลก ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่นว่า ขนลุก น้ำตาไหล สั่นเหมือนเจ้าเข้า บางคนก็เต้นตึงตังโครมครามไปเลย บางคนก็ลอยขึ้นทั้งตัว บางคนรู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวแตก ตัวระเบิด ถ้าหากว่ากลัว เราก็จะเลิกทำไปเลย แต่ถ้าเรารู้ว่านี่เป็นอาการเบื้องต้นของสมาธิที่จะต้องเกิดขึ้นกับเรา แล้วเราตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติต่อไป ก็จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคตรงนี้ไป แล้วเจอกับอุปสรรคที่หนักกว่านั้นอีก

ซึ่งตรงจุดนี้ตรงที่เราผ่านมานั้น ภาษาบาลีเขาเรียกว่าปีติ คืออาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งต้องมี ก็คือ ขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง ลอยขึ้นทั้งตัว หรือรู้สึกว่าตัวพองตัวใหญ่ เป็นต้น

เถรี 16-03-2022 00:31

เมื่อก้าวขึ้นไปจากจุดนั้น ก็จะเป็นส่วนที่บาลีเรียกว่า อุปกิเลส ก็คือใกล้จะเป็นกิเลส ถ้าเราไปถูกทางก็ไม่ใช่กิเลส แต่ถ้าเราไปผิดทางเมื่อไร จะเป็นกิเลสทันที ซึ่งประกอบไปด้วยโอภาส แสงสว่างเกิดขึ้น หลับตาภาวนาอยู่กลางคืน ไฟสักดวงก็ไม่ได้เปิด แต่มีแสงสว่างเจิดจ้าไปหมด สว่างไปทั้งห้องก็มี สว่างไปทั้งบ้านก็มี บางคนเห็นสว่างกว้างไกลไปทั้งโลกเลยก็มี สว่างยิ่งกว่าดวงอาทิตย์อีก..!

ถ้าเราคิดว่าเราบรรลุมรรคผลแล้ว ตรงจุดนี้ก็จะกลายเป็นกิเลสทันที ซึ่งความจริง สิ่งนั้นเกิดจากใจของเราที่สงบ เมื่อเข้าถึงความสงบ ตัวเราเองน้อยคนที่จะเห็นใจตนเอง แต่ว่าบุคคลอื่นหรือว่าผู้ที่อยู่ในมิติอื่นสามารถที่จะเห็นตรงนี้ได้

เพียงแต่ว่าบางท่านมีวิสัยมาทางด้านของวิชชาสาม อภิญญาหก เป็นต้น ก็จะสามารถรู้เห็นถึงความสว่างตรงจุดนี้ ก็คือความสว่างที่เกิดจากใจของเรา ซึ่งได้รับการขัดเกลา จนกระทั่งความมืดบอดเหลือน้อยลง..น้อยลง ก็จะส่องสว่างมากขึ้น..มากขึ้น

ถ้าใครทำมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ถ้า เป็นนักเรียนนักศึกษา เรื่องเรียนไม่มีอะไรยากเลย ตรงนี้กระผม/อาตมภาพพบมาด้วยตนเอง เพราะว่าตั้งแต่เด็กมาที่เรียนหนังสือ สมัยก่อนไม่ได้ตัดเกรด เขาคิดเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์
กระผม/อาตมภาพสามารถทำคะแนนเต็มร้อยได้เป็นปกติ เมื่อมาบวชเล่าให้พรรคพวกเพื่อนฝูงฟัง ก็ไม่มีใครเชื่อ

แต่เมื่อเริ่มเรียนนักธรรมบาลี สามารถทำคะแนนได้เต็ม ครูบาอาจารย์ก็เริ่มทึ่ง พอไปเรียนปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก เรื่องของการทำคะแนนเต็มร้อยของแต่ละวิชากลายเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่า "ของพระครูเล็ก ผมให้เต็มร้อยก็ได้ แต่เนื่องจากว่าท่านได้เต็มร้อยมามากแล้ว ผมก็เลยตัดท่านไป ๒ คะแนน..!" เหล่านี้เป็นต้น

ถ้าหากว่ากำลังใจของเราสงบ เราจะเรียนอะไรก็ตาม ฟังครั้งเดียวจะเข้าใจ และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือจดจำได้นานมาก จึงไม่มีวิชาอะไรยากสำหรับบุคคลที่ปฏิบัติในอานาปานสติมาจนถึงตรงนี้

จากเด็กที่เรียนไม่เก่ง ถ้าสามารถทำถึงตรงนี้ได้ ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดที่สุด คือเป็นคนเรียนเก่งโดยอัตโนมัติ จากเด็กที่ขี้กลัว แม้กระทั่งกลางคืนไม่กล้าไปห้องน้ำ เพราะว่ากลัวผี..! ทำมาถึงตรงนี้เมื่อไร บางทีเราไม่รู้ว่าความกลัวหายไปตอนไหน จากคนที่ขี้กังวลนอนไม่หลับ แค่จับลมหายใจเข้าออก พุทโธ..พุทโธ หรือ พองหนอ..ยุบหนอ ไม่กี่ครั้งก็หลับไปแล้ว

เถรี 16-03-2022 00:34

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อเปลี่ยนแปลงมาถึงระดับนี้แล้ว ท่านจะเป็นคนที่มีสติและสมาธิมั่นคง ถึงเวลาทำงานอะไร ก็จะสามารถทำงานนั้นได้ในลักษณะรวดเร็ว ยืนระยะเวลาได้ยาวนาน

ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นของแถมในการปฏิบัติ เพราะว่าหลักการปฏิบัติธรรมที่แท้จริงของพระพุทธเจ้านั้น ท่านหวังไปถึงความหลุดพ้นจากกองทุกข์เลย ถ้าตราบใดที่เรายังไม่หลุดพ้นจากกองทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม

แต่ถ้าหากว่าเราทำมาถึงตรงจุดนี้ก็ยังคงมีอุปสรรคอีก อย่างเช่นว่าความรู้ความสามารถหรือว่าเกียรติคุณปรากฏขึ้น ทำให้บรรดาญาติโยมทั้งหลายที่หวังพึ่งพาอาศัย หวังให้เราเป็นเนื้อนาบุญ ก็แห่กันมาเกาะ ถ้าท่านไม่มั่นคงต่อเป้าหมายในการปฏิบัติธรรม เมื่อ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เกิดขึ้น ก็จะเบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายทันที จากที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ก็กลายเป็นกอบโกย สะสมทุกอย่าง แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์อีก ก็คือยิ่งไม่ต้องการเท่าไรก็ยิ่งมา เหมือนกับเป็นการทดสอบอย่างหนึ่งเช่นกัน

เมื่อมาถึงตรงจุดนี้ เราจำเป็นต้องใช้อาวุธชิ้นสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก็คือปัญญา ถ้ามาถึงตรงจุดนี้แล้ว จากปัญญาเบื้องต้นที่เรียกว่า สหชาติกปัญญา ปัญญาที่มาพร้อมกับการเกิด ก็คือรู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักหลบภัย รู้จักสืบพันธุ์ ก็จะเริ่มปรับขึ้นมาเป็นปาริหาริกปัญญา เป็นปัญญาที่ก่อเกิดจากการเรียนรู้และประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต

เมื่อปัญญาที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต ถ้าหากว่าเราอยู่ในกรอบของศีลของธรรม เราก็เป็นพลเมืองดีของชาติ ถ้าหากว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็เป็นกำลังที่คอยค้ำจุนพระพุทธศาสนา

แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านต้องการปัญญาช่วงสุดท้ายที่เรียกว่า เนปักกปัญญา เป็นปัญญาที่รู้จักเอาตัวรอดจากวัฏสงสาร พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

เถรี 16-03-2022 00:36

ถ้าหากว่าตรงนี้ไม่ชัดเจน เราต้องดูที่พระสารีบุตรกล่าวถึงในสังคีติสูตร พระสุตันตปิฎก กล่าวถึงปัญญา ๓ ว่าประกอบไปด้วย

สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง เมื่อฟังมาแล้ว ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมีจิตที่สงบ สามารถทำความเข้าใจถึงได้ทันที

ถ้าหากว่ายัง ก็ต้องเพิ่มขั้นตอนที่สอง คือ จินตมยปัญญา ที่พวกเรามักจะอ่านว่า จินตามยปัญญา ก็คือปัญญาที่เกิดจากการขบคิด จนกระทั่งเข้าใจว่าสิ่งนั้นหมายถึงอะไร

แต่ว่าที่พระพุทธเจ้าท่านต้องการจริง ๆ คือปัญญาขั้นสุดท้ายที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ก่อให้เกิดความเจริญในจิตใจ โดยไม่มีวันตกต่ำอีก เป็นปัญญาของพระอริยเจ้าโดยเฉพาะ พูดง่าย ๆ ว่าถ้าเข้าไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน ยังไม่ใช่ภาวนามยปัญญาที่แท้จริง

ท่านทั้งหลายก็จะเห็นว่า เริ่มจากความคิด ก็คือสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ ก็ออกมาเป็นคำพูดและการกระทำ คือสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ แล้วก็เริ่มก้าวสูงขึ้นไปในส่วนของสมาธิจิต ก็คือไปเน้นในเรื่องของใจ คือสัมมาวายามะ เพียรได้ถูกต้อง

เราอาจจะสงสัยว่า คนเราขยันทำมาหากินเป็นความเพียรที่ถูกต้องหรือไม่ ? นั่นเป็นความเพียรที่ถูกต้องในทางโลก แต่ถ้าความเพียรที่ถูกต้องในทางธรรม ก็คือเพียรพยายามขับไล่ความชั่วออกจากใจของตน เพียรพยายามป้องกันไม่ให้ความชั่วนั้นเข้ามาในใจของเราได้อีก เพียรพยายามสร้างความดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของตน แล้วเพียรพยายามกระทำให้ความดีนั้นเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ถึงได้เรียกว่า สัมมาวายามะ ความเพียรที่ถูกต้อง

เถรี 17-03-2022 00:36

ถัดไปคือสัมมาสติ ท่านแปลเอาไว้ว่า เป็นสติที่ดำเนินไปถูกต้อง ก็คือสติที่อย่างน้อยต้องอยู่กับอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออก

ทุกวันนี้คนเรามักจะทุกข์เพราะความคิดของตนเอง เพราะถ้าเราคิด เราไม่ไปหวนหาอาลัยอดีต เราก็จะไปฟุ้งซ่านถึงอนาคต ในเมื่อเป็นเช่นนั้น แปลว่าเราคิดให้ตัวเราทุกข์เอง อยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ เริ่มอยากก็เริ่มทุกข์แล้ว

แล้วทำอย่างไรเราถึงจะหักห้ามความอยากตรงนี้ได้ ? เราก็ต้องอยู่กับอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า ถ้าเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า คืออยู่กับตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ภาษานักปฏิบัติท่านเรียกว่า อยู่กับปัจจุบันธรรม

ถ้าความคิดเราหยุดอยู่กับปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านไปในอดีต ไม่ฟุ้งซ่านไปในอนาคต ความทุกข์เราจะเหลือน้อยมาก ดังนั้น...ขอทุกท่านอย่าได้ซ้ำเติมตัวเองด้วยการคิดให้ตัวเองทุกข์

คนเราต้องมีความคิดความฟุ้งซ่านเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ต้องรู้จักหยุดให้เป็นด้วยลมหายใจเข้าออกนี่แหละ ถ้าสติเราอยู่เฉพาะหน้ากับลมหายใจเข้าออก เท่ากับเราหยุดความฟุ้งซ่านทั้งปวงลงได้ชั่วคราว เมื่อกำลังใจเราปักมั่นอยู่กับลมหายใจ รัก โลภ โกรธ หลง จะเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งที่จะนำพาให้เราทุกข์ก็ไม่มี ยกเว้นความทุกข์ตามสภาพที่เกิดขึ้นเพราะการมีร่างกายนี้

ซึ่งในลักษณะนั้นต้องบอกว่าทุกคนก็เป็น แม้แต่พระอริยเจ้าท่านก็มีความทุกข์ในส่วนนี้ เพียงแต่ว่าท่านทุกข์โดยที่ไม่ได้กังวล คือสภาพร่างกายจะเป็นอย่างไร ท่านก็มีหน้าที่ผ่อนคลายและบรรเทา รักษาธาตุขันธ์ไปตามสภาพ หิวก็หาให้กิน กระหายก็หาให้ดื่ม เจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษาพยาบาล สกปรกโสโครกก็ชำระร่างกาย ทำหน้าที่ไป เพราะว่าเรายังต้องอาศัยร่างกายนี้อยู่

โดยมารยาทของผู้อาศัย ก็ต้องดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด ซึ่งตรงจุดนี้สำคัญตรงที่ว่า เราต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอว่า ร่างกายนี้เป็นเพียงแค่ที่อาศัยชั่วคราวของเราเท่านั้น

เถรี 17-03-2022 00:38

ถ้าหากว่าเราไม่ไปยึดเกาะมากจนเกินไป สักแต่ว่าอยู่อาศัยเพื่อสร้างสมคุณงามความดี เมื่อเราทำความดีถึงที่สุดก็จะหลุดพ้นไปได้แล้ว ความคิดของเราก็จะอยู่กับปัจจุบันเฉพาะหน้า ไม่ไปคิดฟุ้งซ่านที่จะหาครอบครัว หาชื่อเสียงเกียรติยศ หาความร่ำรวยใส่ตัว มีแต่ทำไปตามหน้าที่

ตรงจุดนี้ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สรุปไว้เป็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็คือ สันโดษ คำว่าสันโดษ ไม่ได้แปลว่ายากจน คำว่า สันโดษ บาลีกล่าวแยกเอาไว้ว่า หนึ่ง...ยถาลาภสันโดษ ยินดีพอใจตามที่ได้มา ได้อะไรก็พอใจแค่นั้น สอง...ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลังที่ตนหาได้ ถ้าท่านมีเงินลงทุนเป็นร้อยล้านพันล้าน ท่านสามารถหาได้เป็นร้อยล้านพันล้าน ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้น...ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จึงสรุปไว้ชัดเจนว่า สันโดษไม่ได้แปลว่ายากจน

ข้อสุดท้าย ยถาสารุปปสันโดษ ยินดีตามฐานะของตน ถ้าหากว่าท่านมีเป็นพันล้านหมื่นล้าน จะขี่รถหรูคันหนึ่งสี่ห้าสิบล้านก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าหากว่าเรายังเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ จะนั่งรถเมล์ นั่งรถไฟฟ้า นั่งแท็กซี่ ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของเรา ทุกอย่างให้เป็นไปตามอัตภาพ

ให้เราเข้าใจว่า ความเป็นมนุษย์ของเรามีต้นทุนที่เสมอกันคือศีล ๕ แต่ว่าในเรื่องของฐานะ ในเรื่องของปัญญา เรามีไม่เท่ากัน เพราะว่าในเรื่องของฐานะ เกิดจากเรื่องของทานบารมี เรื่องของการปัญญา เกิดจากการภาวนารักษาใจ แต่ว่าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้นั้น จะเป็นผลบุญในอดีตที่ส่งผลถึงปัจจุบัน แปลว่าอดีตถ้าเคยให้ทานไว้ ปัจจุบันก็เป็นผู้ที่มากด้วยโภคสมบัติ ในอดีตถ้าหากว่าเคยบำเพ็ญภาวนา เคยให้สิ่งที่เป็นธรรมทาน ปัจจุบันก็จะเป็นผู้ที่มีปัญญามาก

แต่ว่าท่านทั้งหลายต้องเข้าใจว่า คำว่าอดีตนั้น คือเวลาที่ผ่านพ้นไปแล้ว จากวินาทีนี้ ถ้าผ่านไป เมื่อถึงวินาทีหน้า วินาทีนี้ก็เป็นอดีต ดังนั้น...ถ้าท่านสามารถทำดีในปัจจุบันให้ต่อเนื่องยาวนานเพียงพอ ในส่วนของความดีที่เราทำในชาตินี้ สามารถที่จะทำให้ท่านทั้งหลายได้รับผลในชาติปัจจุบัน แต่อาจจะอีกหลายปีข้างหน้า เพราะว่าต้องรอสั่งสมจนกว่าที่จะเพียงพอ

เถรี 17-03-2022 21:21

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อเราทำไปถึงระดับนั้นแล้วก็จะส่งผลชนิดที่ "ไหลมาเทมา" แต่ว่าสิ่งที่มานั้นเป็นโลกธรรม คือหลักธรรมที่มีอยู่ประจำโลก ได้แก่ การได้ลาภ ได้ยศ ได้รับการสรรเสริญเยินยอ ได้รับความสุขจากสิ่งต่าง ๆ แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็เป็นไปโดยหลักอนิจจังขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือสามารถที่จะเสื่อมสลายไปได้ ได้ลาภก็สามารถเสื่อมลาภได้ ได้ยศก็อาจจะโดนถอดยศเรียกคืน ได้รับการสรรเสริญ ก็อาจจะมีผู้นินทาว่าร้าย ได้รับความสุขก็อาจจะมีความทุกข์แทรกเข้ามาได้

ดังนั้น...การที่เราจะมีความสุขอยู่กับโลกนี้อย่างมีความสุขได้จริง ๆ เราจึงขาดอานาปานสติไม่ได้ ถ้าหากว่าเราอยู่กับอานาปานสติ คือลมหายใจเข้าออกอย่างแท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ โดยเฉพาะหน้าที่การงานเฉพาะหน้า จะเป็นงานที่มีคุณภาพ เพราะว่าเรามีสติ ให้ความสนใจจดจ่ออยู่กับงานนั้น ๆ และที่แน่ ๆ ก็คือมี กำลังที่จะยื้อสู้กับงานไปจนกว่างานนั้นจะเสร็จ ไม่ท้อถอย ไม่เบื่อหน่าย เพราะว่ากำลังสมาธิของเราสูงพอ จากการที่ฝึกหัดอยู่กับลมหายใจเข้าออกมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน จนกระทั่งกำลังใจมั่นคง

ตรงจุดนี้ ถ้าหากว่ากล่าวไปแล้ว ท่านทั้งหลายก็อาจจะสงสัยว่า การทำสมาธิให้กำลังใจมั่นคงนั้น มีคำเรียกที่ชัดเจนบ้างหรือไม่ ? ก็มีอยู่ แต่บางท่านฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าสูงเกินไป ก็คือเป็นผู้ที่สามารถทรงฌาน ทรงสมาบัติได้ เมื่อทรงฌาน ทรงสมาบัติได้ ท่านจะเป็นผู้ที่เข้มแข็ง ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ

ความเข้มแข็งในที่นี้ก็คือท่านจะเป็นผู้ที่มีจิตใจมั่นคง ไม่ไหลตามกระแสโลกไปง่าย ๆ ใครว่าอะไรดีก็พินิจพิจารณาด้วยปัญญาเสียก่อน ไม่ไหลตามกระแสโดยเชื่อในทันที เป็นผู้ที่มีสติ เสพรับข่าวสารต่าง ๆ เข้ามาแล้ว ก็รู้จักยั้งคิดว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นการนำเสนอจากนักข่าวเพียงมุมเดียว เหมือนกับบุคคลที่มองสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากส่วนเดียว ในลักษณะของตาบอดคลำช้าง

ถ้าบอกว่าช้างเหมือนกับต้นเสา ก็แปลว่านักข่าวคนนั้นคลำไปเจอขาช้าง บอกว่าช้างเหมือนปลิง แสดงว่าคลำไปเจองวงช้าง บอกว่าช้างเหมือนงอนไถ แปลว่าคลำไปเจองาช้าง บอกว่าช้างเหมือนไม้กวาด แปลว่าคลำเจอแค่หางช้าง บอกว่าช้างเหมือนกระพ้อม แปลว่าคลำเจอท้องช้างเข้าแล้ว

เถรี 17-03-2022 21:24

ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความจริงเพียงมุมเดียว และอาจจะเป็นการนำเสนอเพราะโดนชี้แนะชักนำด้วย เราก็หยุดใจของเราเอาไว้ อย่าเพิ่งไปยินดียินร้ายจนกระทั่งก่อให้เกิดมโนกรรม วจีกรรม หรือถ้าหากว่าพิมพ์สิ่งต่าง ๆ ในลักษณะของคอมเมนท์ ก็จะกลายเป็นกายกรรมไปด้วย

เมื่อเรามีอานาปานสติ สร้างกำลังใจของเราให้เข้มแข็ง เราจะรู้จักระงับยับยั้ง อย่างในปัจจุบันนี้สินค้าต่าง ๆ เสนอขายอย่างชนิดที่เราคิดไม่ถึงว่าเขาจะกล้าทำ ถ้าท่านไปที่ทองผาภูมิ อยากจะได้รถมอเตอร์ไซค์ป้ายแดงสักคันหนึ่ง ไม่ต้องมีเงินเลยก็ได้ มีแค่บัตรประชาชนใบเดียว เข้าไปถึง ทำสัญญาซื้อขายมอเตอร์ไซค์ ๑ คัน โดยที่เขาแถมพัดลม ๑ ตัว ร่ม ๑ คัน และให้เงินไปเติมน้ำมันอีก ๕๐๐ บาทด้วย มีกติกาว่าเอาไปขับก่อน ถ้าภายใน ๓ เดือน ถ้าไม่พอใจให้เอามาคืนได้

เมื่อท่านทั้งหลายนำรถออกมาขับ เป็นที่ปรากฏต่อสายตาพรรคพวกเพื่อนฝูง ก็จะมีคน "เฮ้ย...ออกรถใหม่นี่หว่า" "อ้าว...ป้ายแดงด้วย สวยดี ยี่ห้ออะไรวะ ? ดูน่าขับจังเลย" เมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เกิดขึ้น รถคันนั้นจากยานพาหนะที่ควรเป็น ก็กลายเป็นหน้าเป็นตาของเราไป ตั้งแต่เขาทำโครงการมา ยังไม่มีใครเอารถไปคืนเลย ครบ ๓ เดือนเมื่อไรก็ไปจ่ายเงินดาวน์แต่โดยดี แล้วก็ต้องออกแรงผ่อนเขาไปอีก ๔๘ เดือน ก็คือ ๔ ปี นั่นเพราะว่าเราขาดสติ ลืมนึกไปว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี

โดยเฉพาะการโฆษณาออกสื่อต่าง ๆ เขาศึกษาจิตวิทยามนุษย์มาแล้ว เห็น "อีโก้" หรืออัตตาในตัวของเรา เขาถึงกล้าที่จะทำโปรโมชั่นต่าง ๆ ออกมา เพราะทำให้เราเห็นว่าสามารถที่จะหามาได้ในราคาที่ไม่แพง แต่ความจริงแล้วแพงมาก

กระผม/อาตมภาพไปถามราคารถยนต์เงินผ่อน กับรถที่ซื้อโดยเงินสดเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว เมื่อบวกกับเงินดาวน์และจำนวนเงินผ่อน ๖๐ เดือน ปรากฏว่าเราต้องจ่ายเงินมากกว่าซื้อเงินสดประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาท เพราะเขาถือว่าเป็นดอกเบี้ย เท่ากับเขาให้เรากู้เงิน โดยที่เราต้องไปผ่อนใช้คืนเขาทีหลัง ซึ่งปกติแล้ว ถ้าหากว่าเราผ่อนครบ ๖๐ เดือน รถคันนั้นก็เหลือแต่ซากแล้ว ต้องซ่อมกันแล้วซ่อมกันอีก ถึงเวลานั้นเราก็ต้องไปดาวน์คันใหม่ แล้วก็เป็นหนี้เขาต่อไป เพราะว่าขาดสตินั่นเอง

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าหากว่าท่านมีการปฏิบัติในอานาปานสติจริง ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นกับเรา เพราะว่าเราสามารถที่จะระงับยับยั้งใจ รู้จักพินิจพิจารณา

เถรี 17-03-2022 21:30

กระผม/อาตมภาพรู้จักนายดาบตำรวจผู้หนึ่ง ต้องบอกว่านายดาบผู้นี้เป็นผู้ที่เข้าวัดเข้าวาเป็นปกติ กู้เงินจากสหกรณ์มาซื้อที่ดิน ๒ ไร่ สร้างบ้านของตัวเอง แล้วก็พยายามที่จะหาเงินโดยถูกต้อง อย่างเช่นว่า มีการขายสินค้าขายตรง มีการขายประกัน เมื่อพร้อมกับเงินเดือนในฐานะนายดาบตำรวจของตัวเอง ก็สามารถที่จะผ่อนใช้คืนสหกรณ์ได้

กระผม/อาตมภาพเข้าไปพูดคุยด้วยในฐานะผู้ที่คุ้นเคยว่า "นายดาบ..ทำไมถึงมากู้เงินสร้างบ้าน ทั้ง ๆ ที่มีบ้านหลวงให้อยู่ ?" ท่านตอบว่า "ถ้าผมอยู่บ้านหลวงไปจนเกษียณ ถึงเวลาเกษียณแล้วทางการเขาเรียกบ้านคืน ผมก็จะไม่มีที่อยู่"

เมื่ออยู่บ้านหลวง ใกล้ชิดกับข้างบ้าน ข้างบ้านเขามีอะไร เมียผมก็อยากได้อย่างนั้น ข้างบ้านมีตู้เย็น เมียผมจะเอาตู้เย็น ข้างบ้านเขามีรถยนต์ เมียผมจะเอารถยนต์ ข้างบ้านมีโทรทัศน์ มีโฮมเธียเตอร์ เมียผมจะเอา ผมก็เป็นหนี้หัวโตโดยที่ไม่มีอะไรเลย

แต่ตอนนี้ไปจนถึงเกษียณ ผมสามารถใช้หนี้เงินกู้ได้หมด พอผมเกษียณแล้ว มีทั้งบ้าน มีทั้งที่ดิน เมียผมได้แยกออกมาอยู่ต่างหาก ไม่ได้อยู่บ้านพักตำรวจ ไม่ได้เห็นในสิ่งต่าง ๆ ที่เร้าใจตนเอง แล้วอยากมีอยากได้ตามเขา ก็ต้องรู้จักเก็บเงิน และโดยเฉพาะการอยู่รวมกันมาก ๆ เวลาว่างมีเยอะ เดี๋ยวก็ชวนกันเข้าวงไพ่ แบบนั้นมีเงินเท่าไรก็หมด..!

ดังนั้น...เราจะเห็นว่าบุคคลที่มีสติ รู้จักคิด รู้จักพิจารณา จะดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างคนที่ไม่ทุกข์มาก แต่ถ้าเราขาดสติ วิ่งไล่ทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็จะเหนื่อยมาก แล้วขณะเดียวกันก็จะเครียด จะทุกข์มากกว่าคนอื่น เพราะว่าต้องกลายเป็นวัวงาน ทำงานงก ๆ อยู่ทั้งวัน เพื่อที่ไปผ่อนใช้หนี้ หนี้ทั้งหลายเหล่านี้ก็มีแต่ดอกเบี้ยที่เพิ่มพูนขึ้นมา แล้วยิ่งถ้าไปกู้หนี้นอกระบบก็ยิ่งหนักขึ้นไปอีก แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับท่านที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมจนเห็นผล

เพราะว่าอันดับแรกเลย กำลังใจของท่านเมื่ออยู่กับอานาปานสติจนชิน ถึงระดับที่ทรงฌานได้ ท่านจะมีกำลังเหนือ รัก โลภ โกรธ หลง แม้ว่าจะเหนือได้ชั่วคราว ไม่สามารถตัดขาดได้เลย แต่ก็จะรู้จักระงับยับยั้งชั่งใจตนเอง ถึงเวลาสิ่งใดที่หามาถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เราจะหาจะทำตามนั้น สิ่งใดที่จะมาซ้ำเติมให้ตัวเราและครอบครัวต้องเดือดร้อน เราก็จะไม่ทำสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น โดยเฉพาะจะตั้งตนเป็นพุทธมามกะที่ดี รู้จักทำบุญสุนทาน รู้จักปฏิบัติ กาย วาจา ใจของตนอยู่ในกรอบของศีล

เถรี 18-03-2022 20:57

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องที่พระพุทธศาสนาของเราต้องการ เพราะว่าจะเป็นบุคคลตัวอย่างที่สามารถนำไปแสดงให้คนอื่นเขาเห็นได้ ว่าคนที่เขาทำถึงจริง ๆ แล้วจะเป็นแบบนี้ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้จะมีขึ้นไม่ได้ ถ้าท่านทั้งหลายยังไม่รู้จักอยู่กับลมหายใจเข้าออก

คราวนี้การที่เราอยู่กับลมหายใจเข้าออก หรืออานาปานสติ ก็มีคำสอนหลายสำนักเหลือเกิน บางท่านก็ให้ภาวนา พุทโธ บางท่านก็ให้ภาวนา สัมมา อะระหัง บางท่านก็ให้ภาวนา นะมะพะธะ บางท่านก็ให้ภาวนา พองหนอ..ยุบหนอ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะว่าคำภาวนาเป็นแค่เครื่องโยงใจให้เป็นสมาธิ เมื่อเรามีสมาธิแล้วต่างหาก ถึงจะเป็นสาระ เป็นแก่นสาร ดังนั้น...คำภาวนาจะเป็นตัวบทพระคาถาใด ๆ ก็ได้

ถ้าอย่างหลวงปู่สมชาย วัดเขาสุกิม ท่านไม่ได้ใช้คำภาวนาเหมือนคนอื่น โยมพ่อของท่านเมื่อเลิกงานตอนเย็น ก็พาลูกไปกราบหลวงปู่หลวงพ่อที่วัด ไปสนทนาธรรม ด้วยความที่ใฝ่รู้ใฝ่ธรรม ก็เกรงว่าเด็ก ๆ จะรบกวนในระหว่างที่สนทนาธรรม จึงทิ้งหลวงปู่สมชายที่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ไว้ที่ศาลา พอเวลามืดค่ำขึ้นมา วัดป่า..ก็รู้อยู่บรรยากาศวังเวงน่ากลัวขนาดไหน ผู้ใหญ่ยังรับไม่ค่อยจะไหว แล้วนี่เด็กตัวเล็กนิดเดียว

หลวงปู่ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านหลับตากอดเข่า คิดอยู่อย่างเดียวว่า "กลัวแล้ว..ไม่มาแล้ว กลัวแล้ว..ไม่มาแล้ว" ก็คือเป็นตายก็จะไม่ไปวัดในลักษณะอย่างนี้อีก ปรากฏว่าท่านคิดแบบนั้นอยู่ไม่นาน อยู่ ๆ ก็รู้สึกว่าความมืดหายไปหมด สว่างเจิดจ้าจนกระทั่งมองเห็นเหมือนกับกลางวัน แล้วก็สงสัยว่าไอ้คนที่กอดเข่าเอาหัวซุกเข่า ร้องว่า "กลัวแล้ว..ไม่มาแล้ว" นั่นคือใคร ? หน้าตาเหมือนกับเราเลย แล้วตัวเราที่มองเขาอยู่นั่นคือใคร ?

เมื่อถึงเวลาเล่าให้โยมพ่อฟัง วันต่อไปโยมพ่อเอาไปเล่าถวายหลวงพ่อที่ท่านเคารพ หลวงพ่อท่านก็บอกว่า "ลูกเขาภาวนาเป็น เขามีบุญดี" เพราะฉะนั้น...แค่คำว่า "กลัวแล้ว..ไม่มาแล้ว กลัวแล้ว..ไม่มาแล้ว" ก็ทำให้เกิดสมาธิขึ้นมาในระดับนั้นได้

เถรี 18-03-2022 21:00

ท่านทั้งหลายจะเห็นว่าคำภาวนาไม่ใช่สาระ อะไรก็ได้ที่ย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ อยู่เสมอ เป็นการโยงจิตของเราให้เกิดสมาธิ สาระสำคัญก็คือรักษากำลังใจอยู่เฉพาะหน้า อยู่กับลมหายใจเข้า อยู่กับลมหายใจออก จนกระทั่งสมาธิทรงตัว ดับกิเลส รัก โลภ โกรธ หลง ได้ชั่วคราว

ถ้าท่านทำมาถึงตรงจุดนี้แล้ว ต่อให้ลูกหลานของท่านเป็นนักกินนักเที่ยวขนาดไหนก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงจากภายในจะปรากฏชัดออกมาภายนอกเลย เนื่องเพราะว่าเขาทั้งหลายเหล่านั้นสามารถดับไฟที่เผาตนเองอยู่ลงได้ ด้วยอำนาจของสมาธิที่เกิดจากลมหายใจเข้าออก

ไฟทั้งหลายเหล่านั้น ถ้าหากว่าท่านดูในอาทิตตปริยายสูตร ในพระสุตันตปิฎก บาลีกล่าวว่า ราคัคคิ ไฟคือราคะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ คือความรัก โลภ โกรธ หลง นั่นเอง เราโดนไฟทั้งหลายเหล่านี้เผาอยู่ทุกวัน เร่าร้อนแต่ไม่รู้ตัว รู้แต่ว่าต้องเต้นไปเรื่อยเหมือนกับมดที่อยู่ในกระทะร้อน ๆ แต่ไม่รู้ตัวว่าความร้อนมาจากอะไร ?

เมื่อท่านทั้งหลายอยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับอานาปานสติแล้ว เมื่ออารมณ์ใจทรงตัว กำลังสูงพอสามารถที่จะดับไฟที่เผาเราอยู่ได้ชั่วคราว ความสุขเยือกเย็นที่เกิดขึ้น ไม่สามารถอธิบายเป็นภาษามนุษย์ได้ เพราะว่าหลักธรรมนั้นเป็น "ปัจจัตตัง" เป็นภาษาใจ รู้ได้เฉพาะตน ความรู้สึกไม่กี่วินาทีที่เกิดขึ้น ถ้าพยายามอธิบายด้วยคำพูดก็ใช้เวลานาน ถ้าอธิบายเป็นตัวหนังสือก็อาจจะหลายหน้ากระดาษ

แต่ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความสุขอย่างแท้จริง เป็นความสุขจากการสงบระงับจากกิเลส เป็นความสุขที่ไม่ต้องมีสิ่งกระตุ้นเร้าจากภายนอก

เถรี 18-03-2022 21:02

ดังนั้น...ลูกหลาน หรือแม้กระทั่งตัวท่านเอง ที่ยังหลงไปไขว่คว้าความสุขภายจากนอก ต้องไปกิน ต้องไปเที่ยว ต้องไปเห็นแสงสี ต้องไปเต้นรำ ต้องดื่มสุรายาเมา สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นเป็นความสุขชั่วคราว ที่ต้องกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก ที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายไปสู่ใจ

เมื่อถึงเวลาไม่ได้ไป ไม่ได้รับการกระตุ้น ก็สูญหายไป เมื่อไปใหม่ ได้รับใหม่ ก็รู้สึกว่ามีความสุขใหม่ เลยทำให้กลายเป็นเด็กติดกิน ติดเที่ยว โดยที่ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นความสุขชั่วคราว มีแต่จะก่อความทุกข์ให้อย่างมหันต์

เมื่อท่านสามารถทรงอานาปานสติ จนเกิดความมั่นคง ความสุขภายในใจแล้ว ต่อให้เรื่องกินเรื่องเที่ยวขนาดไหน ก็ไม่สามารถเอามาเปรียบได้ ท่านจะเลิกความประพฤตินั้นไปเองโดยอัตโนมัติ แล้วหันมาไขว่คว้าสิ่งทั้งหลายในใจเหล่านี้แทน

ความเปลี่ยนแปลงจากภายใน ก็จะออกมาสู่ภายนอก ท่านจะมีความเปลี่ยนแปลง ทางกาย วาจา และใจที่ชัดเจน ทำให้คนสงสัย เมื่อถึงเวลาเขาสงสัยว่าทำไมเราเปลี่ยนไป เราก็ค่อยชี้แจงให้เขาทั้งหลายได้ทราบว่า เราเปลี่ยนเพราะอานาปานสติ เขาทั้งหลายเหล่านั้น ต่อให้ไม่เชื่อขนาดไหนก็ตาม ในเมื่อมีตัวเราที่เป็นตัวอย่างอย่างชัดเจนแล้ว เขาก็จำเป็นต้องเชื่ออยู่ดี ถ้าหากว่าอำนาจกุศลเก่าที่เขาทำเอาไว้มีพอ เขาก็จะคล้อยตามมา นำตัวเราเป็นตัวอย่าง โดยการพยายามปฏิบัติตาม

ถ้าหากว่าหลาย ๆ คนภายในบ้านช่วยกันทำ ครอบครัวนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุข หลาย ๆ ครอบครัวช่วยกันทำ หมู่บ้านนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุข หลาย ๆ หมู่บ้านช่วยกันทำ ตำบลนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุข หลาย ๆ ตำบลช่วยกันทำ อำเภอนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุข หลาย ๆ อำเภอช่วยกันทำ จังหวัดนั้นก็จะร่มเย็นเป็นสุข และถ้าหลาย ๆ จังหวัดช่วยกันทำ ประเทศชาติของเราก็จะมีความสงบสุขมาก จะมีความมั่นคงทั้งทางโลกและทางธรรม นี่คืออานุภาพแห่งอานาปานสติที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายใน แล้วสามารถปรากฏชัดออกมาเป็นความเปลี่ยนแปลงภายนอกได้

กระผม/อาตมภาพได้ใช้เวลามาพอสมควร ดังนั้น...ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมีคำถามอะไร ถ้าสามารถเปิดไมค์ฯ ได้ กดไมค์ฯ แล้วถามได้เลย แต่ถ้าหากว่าเปิดไมค์ฯ ไม่ได้ ให้ทิ้งคำถามไว้ในช่องแช็ต เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ของเราจะอ่านคำถามนั้น แล้วกระผม/อาตมภาพจะเป็นผู้ตอบให้ ตอนนี้ถ้าหากว่าใครมีอะไรสงสัย ขอเชิญไต่ถามได้เลยจ้ะ

เถรี 20-03-2022 00:37

ถ้ายังไม่มีคำถาม ก็จะขอเพิ่มเติมให้ว่า อานาปานสตินั้น ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายศึกษาจากพระไตรปิฎก จะมีอยู่ทั้งในทีฆนิกาย และมัชฌิมนิกาย เป็นหลักการปฏิบัติอย่างเดียวกัน เพียงแต่เพิ่มเติมรายละเอียดมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งจะมีปรากฏอยู่ในวิสุทธิมรรค

ในวิสุทธิมรรคนั้นจะให้รายละเอียดว่า การปฏิบัติในอานาปานสติของเรานั้นมีวิธีการแบบใดบ้าง อย่างเช่นว่า วิธีการแบบผุสนา คือจับลมกระทบ จะเอากี่ฐานก็แล้วแต่ความถนัดของเรา กำหนดลมกระทบฐานเดียวที่ปลายจมูกก็ได้ หรือว่าที่ศูนย์กลางกายก็ได้ หรือจะกำหนดลม ๓ ฐาน จมูก อก ท้อง...ท้อง อก จมูก ก็ได้ หรือจะกำหนด ๗ ฐานก็ได้

ส่วนอผุสนานั้นก็คือการไม่กำหนดลมกระทบฐาน แต่เป็นการกำหนดรู้ตลอดตั้งแต่เข้าจนออก แล้วก็ไล่ไปเรื่อย ๆ ในลักษณะของการทรงฌานในระหว่างภาวนาบ้าง การกำหนดภาวนาเป็นชุด ๆ นับ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ บ้าง แล้วแต่วิธีการว่าเราจะถนัดแบบไหน

ดังนั้น...ถ้าหากว่าท่านไปอ่านเจอเนื้อหาที่มีความแตกต่าง ขอให้รู้ว่าหลักอานาปานสตินั้น พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ ทั้งในทีฆนิกายคือพระสูตรที่มีเนื้อหายาว และมัชฌิมนิกายพระสูตรที่มีเนื้อหาปานกลาง แล้วพระพุทธโฆษาจารย์ซึ่งเป็นนักแต่งตำรา ก็ยังเขียนตำราปกรณ์วิเสสที่ชื่อว่าวิสุทธิมรรค กล่าวถึงอานาปานสติไว้ มีรายละเอียดอย่างมาก จัดอยู่ในส่วนของสมาธินิเทสในวิสุทธิมรรค ดังนั้น...ท่านทั้งหลายจะอ่านไปตรงจุดไหนก็ตาม ถ้าหากว่าเห็นความแตกต่าง ขอให้รู้ว่าหลักการเหล่านั้น สามารถที่จะปฏิบัติแล้วก่อให้เกิดผลได้เหมือน ๆ กัน

เถรี 20-03-2022 00:44

ถาม : การกำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก เราจะกำหนดอย่างไร ? บางทีแม้แต่ผมเองยังกำหนดไม่ทัน พอกำหนดแล้วรู้สึกว่าเราจะต้องเบ่งท้องให้ยุบ ให้พอง เบ่งท้องให้ผ่อนลม เพื่อให้ท้องยุบ ไปกำหนดที่ท้องพองยุบ เหมือนเรากับต้องไปบังคับ จะมีวิธีที่ให้เราสะดวก ไม่รู้สึกบังคับ จะทำอย่างไรดีครับ ?

ตอบ : โดยปกติแล้ว ในการปฏิบัติธรรมเขาก็ไม่ให้บังคับ เพียงแต่ว่าเราตั้งใจมากจนเกินไป จะเอาให้ได้ อานาปานสตินั้นก็คือการที่เราเอาสติตามลมหายใจเข้าไป ตามลมหายใจออกมา ลมหายใจจะแรง จะเบา จะยาว จะสั้น ปล่อยให้เป็นธรรมชาติ เราแค่เอาความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าเผลอไปคิดเรื่องอื่นเมื่อไร ก็ให้ย้อนกลับมาที่ตรงนี้ใหม่

ในระยะแรก ๆ นั้น จะมีการชักเย่อกันอยู่ ก็คือใจเราอยากจะฟุ้งซ่านไปหา รัก โลภ โกรธ หลง ตามที่ตนเองชอบ ส่วนตัวเรารู้ว่าอานาปานสติมีความดีอย่างไร เราอยากจะทำ ก็ไปรั้งคืนมา แรก ๆ จะเหนื่อยมากครับ แต่ว่าหลังจากทำไป ๆ กำลังเราจะสูงกว่า แล้วจะสามารถตะล่อมให้ใจของตนเองอยู่กับคำภาวนาได้ง่าย เมื่อถึงตอนนั้นแล้ว เราก็ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย แค่เอาสติประคับประคองลมหายใจเข้า ลมหายใจออกแค่นั้นก็พอ

ดังนั้น...ท่านทั้งหลาย ถ้าหากเริ่มปฏิบัติในระยะแรก ให้เข้าใจว่าเราจะต้องไม่มีการบังคับลมหายใจเข้าออกอะไรเลยครับ ก็คือร่างกายต้องการหายใจเท่าไร เราปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แค่เอาสติไหลตามเข้าไป ไหลตามออกมา ตามดูตั้งแต่ต้นทางไปจนสุด ตามดูตั้งแต่ออกจากท้องมาจนสุด เหล่านี้เป็นต้น ถ้าหากว่าทำอยู่แค่นี้ โดยที่ไม่ได้ใส่ใจอยากได้จนเกินไป สมาธิก็จะทรงตัวได้เร็ว

เถรี 20-03-2022 00:47

ส่วนท่านที่อยากได้มากจนเกินไป ก็จะใช้ความพยายามมาก แล้วยิ่งพยายามมาก ด้วยความอยากก็ยิ่งฟุ้งซ่าน บุคคลที่กำลังใจฟุ้งซ่าน จะเข้าถึงสมาธิยากมากครับ ดังนั้น...ควรที่จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติทั้งหมด

ส่วนที่อยากจะเพิ่มเติมให้ก็คือเด็กสมัยนี้ครับ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเด็กที่พลังงานล้นเกิน เป็นพวกไฮเปอร์แอคทีฟ อยู่นิ่งไม่ได้ สาเหตุใหญ่เลยเกิดจากพ่อแม่สมัยนี้ ด้วยความรักในลูก ทันทีที่รู้ว่าตั้งท้อง ก็พยายามหาสิ่งที่ดี ๆ มากินบำรุงเข้าไป พอคลอดออกมาแล้ว ก็ประเดประดังสารพัดวิตามินให้ กลายเป็นพลังงานสะสมอยู่ในร่างกายเด็กจำนวนมาก แต่สติสมาธิของเขามีแค่เด็กทั่วไปเท่านั้น ก็เลยแสดงออกในลักษณะของการอยู่นิ่งไม่ได้ กลายเป็นเด็กสมาธิสั้น ให้ความสนใจอะไรตรงหน้าไม่ได้นาน

ตรงจุดนี้พ่อแม่แก้ได้ด้วยการพยายามเอาลูกไปสวดมนต์ไหว้พระด้วย การสวดมนต์ไหว้พระเป็นการสร้างสมาธิอย่างหนึ่ง เพราะถ้าหากว่าสมาธิเราเคลื่อนเราก็จะสวดผิด เมื่อสมาธิเบื้องต้นของเขาได้แล้ว มีความเคยชิน เริ่มอยู่นิ่งได้บ้างแล้ว เราก็สอนให้เขาภาวนา ในส่วนนี้ถ้าหากว่าเราสามารถทำได้ จะแก้อาการเด็กสมาธิสั้น แก้อาการไฮเปอร์ฯ ได้

แต่ถ้าหากว่ายังทำไม่ได้ ก็สอนให้เขาเล่นกีฬาที่ต้องใช้ความเร็วสูง ๆ วิ่งแข่งขันก็ได้ หรือไม่ก็กีฬาที่ต้องออกกำลังมาก ๆ อย่างเช่นฟุตบอลก็ได้ ทำให้เขาใช้พลังงานให้เหนื่อย เมื่อเขาเริ่มเหนื่อยใกล้หมดสภาพแล้ว ถ้าเรานำเขามาฝึกปฏิบัติ เขาจะอยู่กับลมหายใจเข้าออกโดยอัตโนมัติ

ท่านทั้งหลายจะสังเกตว่าเวลาเราเหนื่อยมาก ๆ ใจเราจะอยู่กับลมหายใจเข้าออก พยายามหายใจให้ทัน เพื่อที่จะได้หายเหนื่อย ตอนนั้นเราแค่ใส่สติลงไปก็เป็นอานาปานสติแล้วครับ

เถรี 20-03-2022 00:49

ถาม : ในกรณีที่หนูพาเด็กไปสวดมนต์ไหว้พระ แต่ว่าความตั้งใจของเขาไม่ตั้งมั่น จะกลายเป็นปรามาสพระหรือไม่คะ ? เขาก็สวดมนต์ แต่ไม่เหมือนผู้ใหญ่ หนูควรจะให้เขาหยุดสวดมนต์หรือให้สวดมนต์ต่อไปคะ ?

ตอบ : รู้ไหมว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ? ก็เพราะว่าเราไปเอาระยะเวลาที่ทำได้ของผู้ใหญ่เป็นตัวตั้ง แล้วจะให้เด็กทำได้ตามนั้น ในเมื่อเด็ก ๆ สมาธิสั้น ต้องให้เขาทำแต่น้อย ๆ ก่อน ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายได้ศึกษาประวัติของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จะเห็นว่าท่านแม่ให้หลวงพ่อท่านภาวนา "พุทโธ พุทโธ พุทโธ" แค่ ๓ คำแล้วก็นอนไปเลย

เราไปจับเด็กสวดมนต์อยู่เป็นสิบ ๆ นาที หรือถ้าหากว่าเราสวดได้นาน เราให้เด็กสวดมนต์เป็นชั่วโมง เป็นไปไมได้อยู่แล้วที่เด็กเขาจะนิ่ง เพราะฉะนั้น...ต้องจัดให้เหมาะสมกับเวลาที่สมควรกับเด็กแต่ละคน พอเริ่มเห็นว่าเขาหมดความสนใจตรงนั้นแล้ว ก็ปล่อยให้เขาไปทำอย่างอื่น หรือว่าให้เขานอนได้เลย


เถรี 21-03-2022 09:45

ถาม : ช่วงเริ่มนั่งสมาธิดูลมหายใจจะมีการเกร็ง และแน่นหน้าอกสัก ๒ - ๓ ครั้ง แล้วจะหายไป จนนั่งได้ตามปกติ ไม่ได้เป็นทุกครั้ง แต่เป็นในบางครั้ง อยากทราบว่าเป็นเพราะอะไร ?

ตอบ : ลักษณะอย่างนี้ต้องบอกว่าเกิดจากลมหายใจของเราเอง ถ้าภาษานักปฏิบัติเขาเรียกว่า ลมหยาบ ถ้าหากว่าพูดกันแบบของวิทยาศาสตร์ ก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีในร่างกายมาก

เขาให้หายใจยาว ๆ สัก ๒ - ๓ ครั้ง เพื่อระบายลมหยาบนั้นให้หมดก่อน แล้วค่อยปล่อยลมหายใจเป็นไปตามปกติ จากนั้นก็กำหนดคำภาวนาและใส่สติตามลมหายใจเข้าไป ไม่อย่างนั้นแล้วถ้าหากว่าวันไหนที่เราหายใจสั้น ยิ่งในปัจจุบันนี้ยิ่งใส่หน้ากากอนามัย ก็จะยิ่งทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมในตัวเรามาก ก็จะเกิดอาการเกร็งทุกครั้งที่เราเริ่มภาวนา

ฉะนั้น...ให้ระบายลมหายใจยาว ๆ สัก ๒ - ๓ ครั้ง แล้วปล่อยตามปกติ จากนั้นก็ค่อยใช้คำภาวนาควบกับสติตรงหน้า ก็จะแก้ไขปัญหานี้ได้

เถรี 21-03-2022 09:47

ถาม : การปฏิบัติอานาปานสติให้ได้รับประโยชน์ ควรจะกำหนดเวลาที่ปฏิบัติหรือไม่ ? บางครั้งกำหนดเวลาแล้ว ผมทำไปช่วงหนึ่งเหมือนจะฟุ้งซ่าน แต่ยังไม่ครบเวลา ควรที่จะทำต่อจนครบไหมครับ ?

ตอบ : ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมนั้น เราต้องดูว่าเราปฏิบัติเพื่ออะไร ? ถ้าหากว่าเราปฏิบัติเพื่อความสงบระงับชั่วคราว เมื่อถึงเวลาใจเริ่มฟุ้งซ่าน เราก็เลิกได้

แต่ถ้าเราปฏิบัติหวังความหลุดพ้น แม้กระทั่งตาย เราก็ต้องยอม อย่าว่าแต่ความฟุ้งซ่านชั่วคราวแค่นั้น ก็แปลว่าเราต้องสู้ต่อไปจนกว่าที่จะชนะ ถึงฟุ้งซ่านหนักจนแทบอยากจะตะโกนด่าใครก็ต้องทนกัดฟันไว้ ภาวนาไปจนกว่าที่จะสงบไปเอง

ตรงจุดนี้ก็เลยมีข้อแม้ว่า ท่านปฏิบัติเพื่ออะไร ถ้าหากว่าเพื่อประโยชน์ทางโลก เพื่อความสงบชั่วครั้งชั่วคราว เมื่อถึงเวลาฟุ้งซ่านเราเลิกได้ แต่ถ้าต้องการประโยชน์ทางธรรมจริง ๆ ใช้คำของนักปฏิบัติสายวัดป่าที่ว่า ธรรมะอยู่ฟากตาย สู้กันแค่ตายไปข้างหนึ่ง ถ้าหากว่าไม่ได้ดี ให้ตายไปเลย ถ้าตัดใจแบบนี้ได้ ก็จะก้าวผ่านตรงจุดนั้นไปได้เช่นกัน

เถรี 21-03-2022 09:49

ถาม : ใช้ปากหายใจแทนจมูกได้ไหมครับ ?

ตอบ : ได้ทั้งนั้น ขอเพียงท่านสามารถกำหนดสติตามไปได้เท่านั้นเอง จะใช้ส่วนไหนของร่างกายหายใจไม่ใช่ปัญหา ปัญหาก็คือตามรู้ทันได้หรือไม่ ถ้าตามรู้เท่าทันได้ ก็สามารถที่จะใช้ได้ทั้งนั้น

เถรี 21-03-2022 09:55

ถาม : ระหว่างความมีสติกับความสุข อันไหนมาก่อนกัน เราต้องมีสติก่อนแล้วจึงมีความสุข หรือมีความสุขก่อนจึงจะมีสติครับ ?

ตอบ : ปัญหานี้ลักษณะ ๒ อย่างเหมือนกัน ว่าเป็นความสุขทางโลกหรือว่าเป็นความสุขทางธรรม ?

ถ้าหากว่าความสุขทางโลกนั้น บางทีขาดสติแล้วจะรู้สึกว่าเป็นสุข ความสุขก็เลยมาก่อน แต่ถ้าความสุขทางธรรมนั้น สติทรงตัว รู้เท่าทัน ไม่ปล่อยให้ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้น มีความอิ่มเอิบใจว่าเรารู้เท่าทันกิเลส สามารถที่จะบังคับไม่ให้กิเลสเกิดขึ้นได้แล้ว ถ้าหากว่าตรงนี้ สติต้องมาก่อนความสุขครับ

เถรี 21-03-2022 09:55

ถาม : ระหว่างความสุขกับความสำเร็จ เราต้องประสบความสำเร็จก่อนแล้วจึงจะมีความสุข หรือว่าเรามีความสุขก่อนแล้วจึงจะประสบความสำเร็จครับ ?

ตอบ : ลักษณะเดียวกัน บางท่านประสบความสำเร็จแล้วก็ยังเฉย ๆ เพราะว่าสติ สมาธิ ปัญญา มั่นคง เห็นความอนิจจังของโลกนี้ว่า มีมาได้ก็ไปได้เช่นกัน ก็จะเกิดอุเบกขาขึ้นมาแทน

แต่ถ้าหากสำหรับคนทั่ว ๆ ไป เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว บางทีก็เป็นสุขอยู่นาน ๆ พาให้คนรอบข้าง พ่อแม่พี่น้องต่าง ๆ ดีใจและเป็นสุขไปด้วย จึงควรที่จะดูว่ากำลังใจของคนนั้นอยู่ในระดับไหน

ถ้าหากว่าเป็นระดับของปุถุชน คนธรรมดาทั่ว ๆ ไป ความสำเร็จปรากฏขึ้น ความสุขก็จะเกิด แต่ถ้าหากว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม ต้องการความหลุดพ้น ความสุขเกิดขึ้น ถือว่าเราเริ่มก้าวเข้าสู่ความสำเร็จในเบื้องต้น ความสำเร็จที่แท้จริงยังรออยู่ข้างหน้าอีกไกลมาก ดังนั้น...จึงควรที่จะเร่งก้าวต่อไปโดยไม่ประมาท

เถรี 21-03-2022 09:59

ถาม : คนที่ออกไปกินไปเที่ยว เขาต้องไปหาความสุขภายนอกแบบคนขาดสติ ถ้าเราอยากที่จะมีความสุข แต่เป็นความสุขที่มีสติ เราจะต้องทำอย่างไรครับ ?

ตอบ : ตรงนี้ไม่ต้องถามเลย ที่บรรยายไปทั้งหมดนั่นแหละ ถ้าหากว่าเราอยู่กับอานาปานสติของเรา จนกระทั่งกำลังใจทรงตัวมั่นคง สามารถใช้สติประคับประคอง รักษาอารมณ์ใจไม่ให้ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นได้ ก็จะมีความสุขที่ยาวนานไปเรื่อย ๆ ตามความชำนาญของเรา ถ้าหากว่าได้เป็นเดือน เป็นปี เมื่อไร ไม่สามารถที่จะอธิบายได้เลยว่าเรานั้นมีความสุขขนาดไหน

เถรี 22-03-2022 21:53

ถาม : หนูสังเกตว่าหลายครั้งที่ปฏิบัติธรรมในวันพระ วันโกน มักจะมีบททดสอบหรือแรงกระทบเข้ามามากกว่าวันอื่น ๆ พระอาจารย์พอจะแนะนำเคล็ดลับในการทรงกำลังใจ และทำให้เราเข้าสมาธิได้เร็วขึ้นไหมคะ ?

ตอบ : ตรงจุดนี้ต้องบอกว่าเป็น ๒ คำถามที่ต่างกันมาก แต่เอามาเป็นคำถามเดียวกัน

สิ่งที่เราสังเกตก็คือว่าวันโกน วันพระ พอถึงเวลาเราปฏิบัติแล้วจะมีแรงกระทบมากกว่าวันอื่น ซึ่งความจริงอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะว่าแรงกระทบนั้น เป็นบททดสอบตามปกติของนักปฏิบัติทุกคน

เรายิ่งรู้สึกว่าตัวเองเข้าถึงความดีมากเท่าไร การทดสอบก็จะแรงขึ้นเท่านั้น ดังนั้น...ต่อให้ไม่ใช่วันโกน วันพระ ถ้าหากว่าการกระทำของเราไปถึงในระดับหนึ่ง จะมีการทดสอบเราขึ้นมา อาจจะหนักกว่าวันโกน วันพระเสียอีก

ส่วนการที่เราจะทรงกำลังใจและเข้าสมาธิได้เร็วขึ้นนั้น ต้องทำโดยไม่มีความอยาก ตรงจุดนี้จะก่อให้เกิดคำถามว่า ในเมื่อไม่อยาก แล้วเราจะทำไปทำไม ? ก็คือว่าเราทำดีเพราะเราอยากดี จะทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน เข้าถึงความดีได้ยาก

ดังนั้น...ก่อนที่จะทำ ต่อให้เกิดความอยากขนาดไหนก็ตาม ตอนที่เราเริ่มตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติภาวนา ให้เราลืมความอยากนั้นให้ได้ทั้งหมด ถ้าเราลืมความอยากทั้งหมดนั้นได้ ก็จะทำให้เราเข้าถึงได้เร็วขึ้น

สรุปง่าย ๆ ว่าเรามีหน้าที่ภาวนา จะได้หรือไม่ได้ จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ช่างมัน ถ้าเราทำกำลังใจแบบนี้ได้ ก็จะเข้าถึงได้เร็วกว่าปกติ แต่ถ้าเราทำไม่ได้ ยิ่งฟุ้งซ่านนานเท่าไรก็ยิ่งเข้าถึงได้ยากเท่านั้น


เถรี 22-03-2022 21:58

ถาม : เมื่อนั่งไปในระยะหนึ่งแล้ว ลืมลมหายใจ มีอาการฟุ้งซ่านด้วยจิตที่คิดขึ้นเอง ไม่ได้บังคับ ลักษณะเหมือนง่วง แต่สตินั้นยังมีอยู่ ควรที่จะกำหนดอย่างไรต่อไป ?

ตอบ : ลักษณะนั้นแสดงว่าจิตเริ่มเป็นสมาธิแล้ว แต่สติค่อนข้างจะตามไม่ทัน บางท่านถ้าหากว่าสติขาด จะรู้สึกเหมือนใจหายวาบ ตกจากที่สูงก็มี ตรงจุดนี้ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะว่าบางท่านกลัวแล้วก็เลิกปฏิบัติไปเลย

ให้เอาความรู้สึกคือสติของเราทั้งหมด ถ้าใช้คำว่าสติ บางคนไม่เข้าใจ ให้เอาความรู้สึกทั้งหมดของเราจี้ติดอยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่าให้ห่าง ห่างเมื่อไรจะเกิดอาการอย่างนี้ แล้วถ้าห่างมากขึ้นอีกนิดเดียว จะตัดหลับไปเลย แล้วเวลาที่เราหลับไป เราก็ไม่รู้ตัวด้วยว่าหลับ ได้สติขึ้นมาอีกทีหนึ่ง อ้าว...เราหลับไปตอนไหนก็ไม่รู้ ?

ดังนั้น...วิธีที่แก้ง่ายที่สุดก็คือ เอาความรู้สึกทั้งหมดของเราเกาะติดอยู่กับลมหายใจ อย่าให้ห่าง ห่างเมื่อไรจะเริ่มเกิดอาการอย่างนี้ ถ้าห่างมากเกินไป ก็จะตัดหลับไปเลย

เถรี 22-03-2022 21:59

ถาม : ในขณะนั่งภาวนาสักพัก รู้สึกว่าคำภาวนาหายไปเหมือนหลับ พอรู้สึกตัวขึ้นมา เราควรจะภาวนาต่อหรือทำอย่างไร ?

ตอบ : ลักษณะนั้นก็เหมือนกัน ก็คือสติเริ่มห่างออกไป ทำให้เรารู้ไม่เท่าทันคำภาวนา ในลักษณะอย่างนี้บางคนก็ไม่รู้ถึงลมหายใจเข้าออกด้วย แล้วก็ตกใจ ตะเกียกตะกายหายใจใหม่

การที่เราจะไปถึงตรงจุดนั้น สมาธิเริ่มทรงตัวแล้ว เหมือนกับการที่เราขึ้นบันได พอก้าวไป ๒ ขั้น ๓ ขั้นแล้ว แต่เราไม่สามารถรักษาระดับได้ ก็รูดกลับลงมา ในเมื่อรูดกลับลงมา วิธีที่ดีที่สุดก็คือเริ่มต้นก้าวใหม่ โดยที่กำหนดสติ ระมัดระวังไม่ให้พลาดรูดลงไปอีก ก็แปลว่าเราต้องเริ่มทำใหม่ และทำด้วยการตั้งหน้าตั้งตากำหนดใจอยู่กับคำภาวนาให้แน่นแฟ้นยิ่งกว่าเดิม ไม่เช่นนั้นแล้วอาการแบบนี้จะเกิดขึ้นทุกครั้ง

เถรี 22-03-2022 22:01

ถาม : ผมเปิดวิดีโอสอนกรรมฐานของหลวงพ่อในยูทูบแล้วปฏิบัติตามไป อยากจะรู้ว่าถ้าผมปฏิบัติตามไปเรื่อย ๆ จะส่งผลดีหรือไม่ครับ เพราะว่าปฏิบัติตามหลายครั้งแล้วทรงกำลังใจไม่ได้อย่างที่หลวงพ่อสอน ?

ตอบ : การปฏิบัติทุกอย่าง อย่าลืมว่าเป็นความดีทั้งสิ้น ที่ท่านบอกว่าไม่ได้ หมายความว่าไม่สามารถที่จะทรงสมาธิ ทรงสมาบัติอะไรได้ตามคำสอน แต่ว่าสิ่งที่ท่านได้แน่ ๆ ก็คือท่านระงับ กาย วาจา และใจของท่านให้อยู่ในกรอบของความดีเบื้องต้นได้

ตอนนั้นอยากจะทำชั่วก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเรานั่งสมาธิภาวนาอยู่ อยากจะคิดชั่วก็คิดไม่ได้ เพราะว่าเราคิดแต่คำภาวนาอยู่ อยากจะพูดชั่วก็พูดไม่ได้ เพราะว่าใจอยู่กับคำภาวนาอยู่ ก็แปลว่าอย่างน้อย ๆ เราตัดกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไปส่วนหนึ่งแล้ว มหากุศลต่าง ๆ ได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่ท่านทำ

การทำนั้นไม่ได้แปลว่าต้องประสบความสำเร็จ การทำของท่านทั้งหลายนั้นเป็นการปฏิบัติภายใน โดยการหยุดกายกรรม วจีกรรมภายนอก ในเมื่อมโนกรรม ไม่สามารถสำเร็จตามที่บอกกล่าวเอาไว้ แต่เราหยุดกายกรรมและวจีกรรมไว้ได้ ก็แปลว่าเราได้ความดีไป ๒ ใน ๓ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก ถ้าท่านสะสมไปเรื่อย ๆ จนกำลังเพียงพอ มโนกรรมของท่านก็พลอยที่จะได้รับผลดีไปด้วย

ตรงนี้ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาทำต่อไป อย่าลืมว่าถ้าเราทำด้วยความอยากจะได้ยากมาก อย่างที่เมื่อสักครู่กล่าวไปแล้วว่า เรามีหน้าที่ภาวนา ส่วนจะได้หรือไม่ได้ จะเป็นหรือไม่เป็น เราไม่ได้มีหน้าที่ที่จะบังคับ


เถรี 23-03-2022 18:00

ถาม : การปฏิบัติความเพียรแบบสายวัดป่าที่มีอาจารย์กล่าวถึงเมื่อสักครู่นี้ ต่างจากการปฏิบัติแบบตึงเกินไป ที่พระพุทธเจ้าสอนอย่างไรครับ ? เพราะว่าบางทีผมตั้งใจทำจนจิตเครียด เลยไม่รู้ว่าจะวางกำลังใจอย่างไรดี ว่าเราควรที่จะเพียรแบบช่างมัน ร่างกายจะเป็นโรคเส้นประสาทหรือตายก็ช่างมัน หรือว่าผ่อนลงมาแบบสบาย ๆ ครับ ?

ตอบ : ขอให้ท่านเข้าใจก่อนว่า หลักการปฏิบัติแบบสายวัดป่านั้น เป็นสายที่ค่อนข้างจะเข้มข้น และเหมาะสมกับชาวอีสาน คนอีสานนั้นตั้งแต่เกิดมาก็พบแต่ความยากลำบาก เพราะว่าดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย ต้องต่อสู้ดิ้นรนมากกว่าภาคอื่น ๆ ทำให้แต่ละคนมีกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข็งมาก ถ้าไม่ได้หลักธรรมที่โหดพอกัน จะเอาไม่อยู่ ดังนั้น..นักปฏิบัติสายวัดป่าจึงใช้คำว่า สู้แค่ตาย หรือว่า ธรรมะอยู่ฟากตาย

แต่ถ้าหากว่าเราเองไม่ได้มาในสายนั้น หลักการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านบอกเอาไว้ ๔ อย่าง ก็คือ

สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติง่าย แต่บรรลุยาก

สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติง่าย แต่บรรลุเร็ว

ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติยาก แต่บรรลุเร็ว

ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติลำบาก แล้วบรรลุช้าด้วย

เราต้องพยายามค้นให้เจอว่าตัวเราเหมาะกับตรงจุดไหน แต่ถ้าหากว่าไปดูในมหาปรินิพพานสูตร พระสุตตันตปิฎก จะเห็นว่าก่อนที่พระอานนท์จะบรรลุมรรคผล ท่านเพียรพยายามเดินจงกรมมาทั้งคืนแล้วไม่ได้อะไร จนกระทั่งเห็นว่าเหลือเวลาเพียงเล็กน้อย เราควรจะพักผ่อนดีกว่า พอกำลังใจคลายออกมา ตั้งใจจะพักผ่อน ก็ลงตัวได้ช่องพอดี ท่านก็บรรลุตรงนั้นเลย

ฉะนั้น..ถ้าหากว่าเป็นไปได้ของเราเองก็คือผ่อนหน่อย แต่เป็นการผ่อนทางร่างกาย เพียงแต่ว่าจิตใจของเราพยายามรักษาให้อยู่กับการภาวนาเอาไว้ ถ้าสามารถทำลักษณะอย่างนั้นได้ แล้วเกิดผลดี ก็ให้ทำต่อไป หรือถ้าหากว่ายังไม่เกิดผลดี ก็พยายามที่จะหาให้ได้ว่า ตัวเราเหมาะกับการปฏิบัติแนวไหนใน ๔ ทางที่พระพุทธเจ้าท่านว่ามา แล้วปฏิบัติไปตามนั้น

เถรี 23-03-2022 18:02

ถาม : เวลาทำสมาธิ สังเกตได้จากลมหายใจเข้าออกจนตัดหลับไป แต่เรารู้สึกว่าเราได้พักและรู้สึกชอบที่ได้พัก เพราะว่าเหนื่อยจากการทำงานและอาจจะพักผ่อนไม่พอ อย่างนี้ไม่สมควรใช่ไหม ? เพราะนั่งสมาธิเมื่อไรก็หลับ

ตอบ : ความจริงการที่ท่านนั่งสมาธิแล้วหลับ ถือว่าสมาธิทรงตัว เพราะว่าบุคคลที่กำลังใจไม่เป็นสมาธิจะหลับไม่ได้ ให้สังเกตว่าเวลาที่เราฟุ้งซ่าน นอนคิดทั้งคืน บางทีเรานอนเท่าไรก็นอนไม่หลับ

ตรงจุดนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการที่จะหลับ ให้สังเกตอารมณ์ใจสุดท้ายก่อนจะหลับ แล้วรั้งเอาไว้ให้ทัน ลักษณะของการปฏิบัติในช่วงนั้น กำลังใจของเราเหมือนกับไฟเทียนที่ค่อย ๆ หรี่ลงไปเรื่อย ๆ ถ้าหากว่าหรี่ไปจนสติตามไม่ทันก็ตัดหลับหายไปเลย แต่ถ้าหากว่าหรี่ลงไปถึงระดับหนึ่ง แล้วเราสามารถล็อกกำลังใจเอาไว้ตรงนั้นได้ ก็สามารถที่จะตื่นอยู่ทั้งคืนได้เหมือนกัน

ดังนั้น...ตรงจุดนี้ให้เราเลือกเอาเองว่า เรารักษากำลังใจเอาไว้ระยะหนึ่ง สักครึ่งชั่วโมง หรือ ๑ ชั่วโมง จนกระทั่งเพียงพอแล้ว เราก็ค่อยตัดหลับ ถ้าอย่างนั้นก็จะได้ผลดีทั้งการภาวนา และได้ผลดีจากการที่ร่างกายได้พักผ่อน

แต่ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายทำไป แล้วรู้สึกว่ายิ่งทำเรายิ่งมีกำลังใจดีขึ้น จนกระทั่งมีสติรู้ตลอดเวลา จะหลับและตื่นมีสติรู้เท่ากันหมด จนบางคนคิดว่าตัวเองไม่ได้หลับ นั่นจึงเป็นจุดที่นักปฏิบัติทุกคนต้องการ เพราะว่านั่นคือการเข้าถึงคำว่า พุทโธ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือเป็นผู้มีสติรู้ตลอดทั้งตื่นและหลับ หลับอยู่ก็รู้ว่าหลับ จะตื่นก็ต้องบังคับให้ตนเองตื่น ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ ท่านจะเริ่มเข้าถึงความดีที่นักปฏิบัติต้องการอย่างแท้จริง


เถรี 23-03-2022 18:10

ถาม : สภาวะเมื่อปฏิบัติไป จะรู้สึกสะอื้นครับ เป็นเพราะอะไรครับ ?

ตอบ : ถ้าหากว่าลักษณะที่เกิดกับร่างกาย บางคนไม่ได้สะอื้นเฉย ๆ ร้องไห้ดังลั่นเลยก็มี ตรงนั้นเป็นอาการเบื้องต้นของการใกล้เข้าถึงความดีที่เรียกว่า ปีติ

ถ้าหากว่าสงสัยว่าทำไมปีติถึงร้องไห้ ? อรรถกถาจารย์ท่านเปรียบเอาไว้ว่า เหมือนกับพ่อแม่ที่ทิ้งลูกเอาไว้ที่บ้าน แล้วตนเองไปทำงานทั้งวัน กลับมาตอนใกล้ค่ำ เด็กที่คิดถึงพ่อถึงแม่เต็มทีแล้ว พอเห็นก็ดีใจ "พ่อมาแล้ว แม่มาแล้ว" กระโดดโลดเต้น ร้องไห้เลยก็มี

นั่นคือลักษณะของจิตของเราที่จะกลับไปสู่ความสงบ เมื่อความสงบนั้นเป็นสิ่งที่เราเคยทำได้ในอดีต ตอนนี้พอกลับไปถึงตรงจุดนั้นแล้ว รู้สึกดีว่าเราได้เจอกับสิ่งที่เราคุ้นเคยแล้ว อาจจะมีการแสดงออกแปลก ๆ อย่างที่ได้กล่าวในเบื้องต้นว่ามีขนลุก น้ำตาไหล ตัวโยกไปโยกมา เต้นตึงตังโครมครามก็มี

เราแค่ไม่ใส่ใจ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็ช่างมัน ถ้ารู้จักสังเกตจะเห็นว่า จริง ๆ แล้วใจของเราสงบนิ่งอยู่กับการภาวนา เพียงแต่ว่าอาการร่างกายเกิดขึ้นตามปกติของร่างกายเท่านั้น ฉะนั้น..อย่าใส่ใจมาก อยู่กับการภาวนาของเราต่อไป เดี๋ยวก็ก้าวข้ามไปได้เอง

เถรี 23-03-2022 18:12

ถาม : สภาวะที่อุปาทานกินสมาธิ เป็นลักษณะอย่างไรครับ ?

ตอบ : อุปาทานนั้นจะว่าไปแล้ว เป็นสิ่งที่เราจดจำเอาของเก่า ๆ ที่เราได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้เห็นมา แล้วก็เอามาคิดในระหว่างที่ภาวนา ทำให้อาจจะเกิดการรู้เห็นอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ หรืออาจจะเกิดการคิดเรื่องบางอย่างที่มีความเข้าใจขึ้นมาได้

แต่ให้รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จริง ๆ แล้วไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ เป็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่ชั่วครั้งชั่วคราวในระหว่างนั้นเท่านั้น ถ้าเราไปใส่ใจ ก็จะกลายเป็นเครื่องกั้นเราจากความดี ฉะนั้น..ถ้ากลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็จะหมดไปเองครับ


เถรี 23-03-2022 18:14

ถาม : การอบรมแบบนี้จะมีอีกหรือไม่ และจะทราบตารางล่วงหน้าได้อย่างไร ?

ตอบ : ตรงนี้ก็คงต้องติดตามทางหน้าเว็บไซต์หรือไม่ก็เฟซบุ๊กของวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ พิมพ์คำว่า วิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ แล้วก็เลือกเอาว่าเราจะเข้าทางเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊ก ถ้าหากจะให้สะดวก ควรที่จะเป็นเฟซบุ๊ก เพราะว่าถ้าหากมีการอบรมหรือจัดกิจกรรมลักษณะนี้ ก็ต้องมีการประกาศออกเฟซบุ๊กเป็นปกติอยู่แล้ว..ขอเจริญพร



พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
ธรรมบรรยายหัวข้อ "อานาปานสติเพื่อการเปลี่ยนแปลงภายใน"
วันศุกร์ที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:18


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว