กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เก็บตกจากบ้านอนุสาวรีย์ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=26)
-   -   เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ ต้นเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=2314)

เถรี 14-12-2010 12:32

ในขณะที่กำลังสนทนาเรื่องพหูสูตร พระอาจารย์กล่าวว่า "คำว่า พุทธะ ในพระไตรปิฎกและอรรกถาแบ่งเป็น
สัมมาสัมพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง
ปัจเจกพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่สั่งสอนผู้อื่นเป็นการทั่วไป
อนุพุทธะ เป็นผู้ที่ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ก็คือพระอรหันต์ทั้งหลาย
สุตตะพุทธะ เป็นผู้รู้โดยการศึกษามาก ฟังมามาก

สามอย่างแรกหมดกิเลสแน่นอน แต่อย่างสุดท้ายไม่แน่ อย่างสุดท้ายได้คำว่าพุทธะ (ผู้รู้) มา เพราะว่าท่านเรียนรู้ไว้มาก แต่อาจจะเป็นแค่รู้ทฤษฎีเฉย ๆ"

เถรี 14-12-2010 12:34

ถาม : เมื่อก่อนหนูจะฝันเหมือนทดสอบจิต แต่ช่วงหลังมาฝันว่ากลัวตาย
ตอบ : ความกลัวตายจะหมดได้ก็ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์จ้ะ เพราะฉะนั้น..ต่อให้เป็นพระโสดาบันหรือพระสกิทาคามีก็ยังมีความกลัวตายอยู่ เพียงแต่กลัวมากกลัวน้อยต่างกันเท่านั้นเอง

ถาม : ถ้าคิดถึงพระ ?
ตอบ : หมั่นคิดถึงบ่อย ๆ จ้ะ ไม่ใช่รอให้เหตุเกิดแล้วค่อยมาคิด

เถรี 14-12-2010 14:32

ถาม : คนที่ไม่ได้ตั้งใจละกิเลสสักอย่าง แต่เขาเชื่อว่า ถ้าเขาคิดถึงนิพพานก่อนตายเขาต้องได้ไปนิพพานแน่เลย เขาจะไปได้ไหมคะ ?
ตอบ : ถ้าไม่ทำความชั่วอื่นไปได้ คือ เลิกความชั่วทุกอย่างตั้งแต่บัดนั้นเลย อาจจะรักษาศีล ความดีอย่างอื่นไม่ได้ทำ เพียงแต่ว่านึกว่าจะไปนิพพานอยู่ตลอดเวลาก็ไปได้

เพราะการนึกว่าจะไปนิพพานตลอดเวลา เป็นการทรงสมาธิอยู่แล้ว และสมาธิที่ทรงในระดับนั้น จะตัดรัก โลภ โกรธ หลงโดยอัตโนมัติ เพราะคิดถึงแต่นิพพานอย่างเดียว ความชั่วอย่างอื่นเกิดขึ้นไม่ได้เลย ในเมื่อมีศีลเป็นเครื่องประกอบ กำลังใจมุ่งมั่นจริง ๆ ก็ไปได้ แต่ถ้าทำความชั่วอื่นด้วย อาจจะพังตั้งแต่กลางคัน

ถาม : ทำความชั่ว นี่คือผิดศีลห้า ?
ตอบ : ทั้งผิดศีลห้าหรือผิดธรรม กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ถ้าหากไปละเมิดอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตไม่บริสุทธิ์เพียงพอ มีโอกาสข้องติดอยู่กับวัฏฏะต่อไป

ถาม : ถ้าตลอดวันเขาทำงาน ฟุ้งซ่านไปเรื่อย เพียงแต่ว่าคิดจะไปนิพพานแน่
ตอบ : ก่อนนอนและตื่นนอนตั้งเป้าเอาไว้ให้แน่นอน ภาวนาเกาะนิพพานให้แน่ ๆ ไว้สัก ๓ - ๕ นาที ก่อนจะลุกไปทำงาน ก็ตั้งใจว่าวันนี้เราจะไปทำงานแล้ว ถ้าตายลงไปเพราะหมดอายุขัยหรือเพราะอุบัติเหตุใด ๆ เราขอไปอยู่กับพระพุทธเจ้าที่นิพพาน ให้ตั้งเป้าไว้ก่อนอย่างนี้

พอถึงเวลาก่อนนอน ก็ลักษณะเดียวกัน ให้คิดก่อนว่า ตอนนี้เราจะนอนแล้ว ถ้าไม่ได้ตื่นขึ้นมาเห็นตะวันขึ้น จะตายลงไปเพราะหมดอายุขัยหรือสาเหตุอะไรก็ตาม เราขอไปอยู่พระนิพพาน ทรงกำลังใจให้มั่นคงสัก ๓ - ๕ นาทีแล้วก็นอน ถ้าทำอย่างนี้ก็ไปได้ ถ้าไม่ได้ทำอย่างนี้ก็ยาก

ถาม : เพราะประมาทไป
ตอบ : ไม่ใช่ประมาทไป แต่ประมาทมากเลย คนที่เขาทำแทบล้มประดาตายยังไม่ได้ อย่างที่พระองค์ที่สิบท่านบอกว่า นิพพานไม่ใช่ภาษาพูด ไม่ใช่ภาษาเขียน เป็นภาษาใจ ใครทำใครได้ ทำแทนกันไม่ได้

บาลีบอกไว้ชัดว่า สุทธิ อสุทธิ ปัจจัตตัง ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน นาญโญ อัญญัง วิโสทะเย บุคคลหนึ่งจะทำให้อีกบุคคลหนึ่งบริสุทธิ์หาได้ไม่

เถรี 14-12-2010 17:30

ถาม : การที่ใจเราเปิดกว้างมาก ๆ เป็นดาบสองคมหรือไม่ ?
ตอบ : ถ้าไม่คำนึงถึงศีลธรรมก็เจ๊ง เพราะฉะนั้น..ต้องเอาศีลธรรมเป็นกรอบ ไม่ใช่ว่าเขาจะชั่วเท่าไรเราก็เปิดใจกว้างยอมรับได้ อย่างนี้ก็เจ๊งสิ..!

ถาม : ถ้าเราพร้อมอภัย ?
ตอบ : อภัยให้เขา แต่ไม่ใช่เราไปทำอย่างนั้นบ้าง

ถาม : ข้อดีของการเปิดใจมีอะไรบ้างคะ ?
ตอบ : อย่างน้อย ๆ เรื่องที่เราเคยแบก เราก็วางได้

ถาม : แล้วความเปิดกว้างของจิตใจนี้จะช่วยอะไรเราได้บ้าง?
ตอบ : ต่อไปจะทำอะไรก็ง่ายขึ้น เพราะเห็นคำว่าธรรมดามากขึ้น ใจที่เปิดกว้างได้เพราะเห็นคำว่าธรรมดา ธรรมดาของเขาเป็นอย่างนั้น อย่าไปว่าเขาเลย

เถรี 15-12-2010 10:49

พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "ตอนที่ไปรับการอบรมเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ท่านลงมาช่วยการอบรม ท่านเปิดโอกาสให้ทุกคนซักถามปัญหาต่าง ๆ ได้

มีคนถามปัญหาที่คิดไม่ถึง แทนที่จะเป็นปัญหาด้านการปกครอง เขากลับถามท่านว่า "ผมสร้างกุฏิทรงไทย น้ำฝนไหลเข้าไปข้างใน แล้วหยดลงมาบนเพดาน ควรแก้อย่างไรครับ ?" หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านบอกว่า "ควั่นหัวแปแล้วจะไม่เป็น.."

สำหรับเรือนทรงไทยจะมีลักษณะเฉพาะอย่างนั้น คือมีหัวไม้แปยื่นออกมา เราไปดูตรงใต้จั่ว จะมีไม้ที่ยื่นออก เขาเรียกว่าแป

ท่านเล่าให้ฟังว่า เคยเกิดปัญหานี้กับท่านมาก่อน ท่านถึงขนาดไปนอนดูอยู่ข้างบนเพดานตอนฝนตก พอฝนหยดรวมกันมากเข้า ๆ ก็จะไหลมาใต้แป พอมากเข้าก็ไหลเข้าไปอยู่ข้างใน แล้วหยดลงบนเพดาน ท่านบอกให้ควั่นหัวแป ควั่น ก็คือ บากให้เป็นรอยเพื่อสกัดน้ำเอาไว้ พอเราควั่นหัวแปแล้ว น้ำที่ไหลมาถึงตรงนั้นก็จะตกลงไป ไม่สามารถที่จะไหลต่อเข้าไปข้างในได้

อาตมาก็เพิ่งจะรู้ว่า พระกว่าจะขึ้นมาถึงระดับนี้ได้ ท่านผจญมาแล้วทุกอย่าง แม้กระทั่งเรื่องแบบนี้ท่านยังไปนอนสังเกตอยู่เป็นวัน ๆ ท่านจึงจะแก้ปัญหาได้

เรามาลองคิดดูว่า ในเรื่องการปฏิบัติเหมือนกัน ถ้าเราไม่รู้จักสังเกตอารมณ์ใจตัวเอง เราก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขให้ดีให้ชั่วได้อย่างที่เราต้องการ แก้ไขให้ชั่วคงไม่ต้องหรอก แต่ละชั่วแล้วทำดีให้ได้ก็พอ"

เถรี 15-12-2010 11:37

"ในเรื่องของการปฏิบัติ ถ้าเป็นคนช่างสังเกต ต่อไปเรื่องหยาบ ๆ ทางโลกก็สามารถที่จะแก้ไขได้ง่าย เพราะความละเอียดทางใจเราทำได้ก่อนแล้ว

ใครจะไปนึกว่า ท่านขึ้นไปเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ แต่ก่อนหน้านี้ทุกอย่างท่านทำด้วยตัวเอง ให้สังเกตว่าถ้าคนไม่เป็นงาน จะสั่งงานไม่ถูก แต่ถ้าบุคคลที่เคยเป็นงานมาก่อน จะสั่งงานได้ถูก นอกจากสั่งงานถูกยังไม่พอ ยังไม่มากเรื่องอีกด้วย เพราะรู้ว่าช่างแต่ละคนส่วนใหญ่ต้องการความอิสระในการทำงาน"

เถรี 15-12-2010 15:56

พระอาจารย์กล่าวว่า "เด็กสมัยนี้ที่ทำแท้งกันมากเพราะสภาพสังคมเปลี่ยนไป สมัยก่อนอย่างช่วงอาตมายังเป็นวัยรุ่น ถ้าผู้หญิงคนไหนท้องไม่มีพ่อ แทบจะต้องย้ายประเทศกันเลย เพราะสังคมจะรุมประณามกันรอบด้าน ไม่เหมือนสมัยนี้ที่เขาเห็นเป็นเรื่องปกติ

ในเมื่อสภาพสังคมไม่ช่วยควบคุม ทำให้เด็กเตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่ ไม่อย่างนั้นเขาจะต้องยั้งคิดว่า จะทำให้เสียหายถึงพ่อแม่ เสียหายถึงชื่อเสียงวงศ์ตระกูล เสียหายไปถึงพี่น้อง

สภาพสังคมของเราเปลี่ยนแปลง เพราะไปรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาแบบไม่บันยะบันยัง พูดกันง่าย ๆ ก็คือ รับเอาวัฒนธรรมอเมริกันเข้ามา วัฒนธรรมอเมริกันเขาเปิดกว้างในเรื่องของเพศก็จริง แต่เขามีข้อจำกัดที่ชัดเจนมาก อย่างเช่น ถ้าคุณแต่งงานแล้ว จะไปหาเศษหาเลยนอกบ้านไม่ได้เด็ดขาด อย่างที่ ไทเกอร์ วูดโดนไปเต็ม ๆ แทบจะอยู่ในสังคมไม่ได้

อีกอย่างก็คือ พอลูก ๆ เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ก็มักจะแยกตัวจากพ่อแม่ ทำมาหากิน หาเงินหาทองเอง ถ้าอย่างนั้นก็ถือว่าได้ แต่บ้านเรายังขอเงินพ่อแม่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ถึงเวลาจะไปเลี้ยงลูกได้อย่างไร เพราะตัวเองยังไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ก็เลยกลายเป็นปัญหาอย่างที่เห็นกัน"

เถรี 15-12-2010 15:59

"ถามว่ามีตัวอย่างบ้างไหม ที่รับเอาวัฒนธรรมเข้ามาแล้วปรับให้เหมาะสมกับสภาพสังคมตัวเอง มีชัดที่สุดก็ที่ประเทศเกาหลี ในเรื่องของวัฒนธรรมเกาหลีเขาเข้มแข็งมาก พอถึงเวลามีงาน เขาก็ใส่ชุดฮันบกของเขา และส่งผ่านวัฒนธรรมออกไปประเทศต่าง ๆ บ้านเราก็เห่อตั้งแต่แดจังกึมเป็นต้นมา และมีการเลียนแบบดาราเกาหลี แม้กระทั่งคนญี่ปุ่นก็ยังชื่นชอบดาราเกาหลี

เราจะเห็นว่าเขารับเอาวัฒนธรรมภายนอกมาก็จริง แต่เขาจะไม่ให้เกินเลยกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเขา ความเจริญทุกอย่างเขารับ แต่ในส่วนจิตวิญญาณเขายังเป็นเกาหลีแท้อยู่ ไม่เหมือนอย่างบ้านเรา ถ้าไม่กินแม็คโดนัลด์ ไม่กินเคเอฟซี ไม่ได้ซื้อคริสปี้ครีมก็ไม่ทันสมัย และไม่ได้ดูความเหมาะสมกับสภาพ

อย่างไอศกรีม ขนมเค้ก อาหารของฝรั่งประเภทแดกด่วน ส่วนใหญ่แล้วสารอาหารเขาสูงมาก เพราะเขาต้องการแคลอรี่เพื่อไปสู้กับความหนาว แต่บ้านเราเป็นเมืองร้อน กินเท่าไรก็เก็บหมด ไม่ได้นำไปใช้ เพราะฉะนั้น..เด็กบ้านเราจะป่วยเป็นโรคอ้วนกันเยอะมาก

หน้ามืดตามัว แห่ตามเป็นแฟชั่น ไปเข้าแถวยาวเป็นกิโล เพื่อที่จะไปซื้อขนมวง อาตมาจะบ้าแทน ชิมไปแล้วไม่เห็นจะงอกปีกงอกหางเป็นกินรีได้..! รสชาติก็ไม่เอาอ่าว ขนมอื่นอร่อยกว่าเยอะเลย อีกไม่เกินสามเดือน ก็คงจะสูญหายไปจากสังคมไทย คนก็จะไม่รู้จักขนมชนิดนี้อีกแล้ว เพราะว่าไม่ดีจริง"

เถรี 15-12-2010 16:19

"แบบเดียวกับตอนที่โรตีบอยเข้ามา อันนั้นอยู่ได้ตั้งสองเดือน สาขาที่ลงทุนหลัง ๆ เลยเจ๊งไปตาม ๆ กัน เพราะขายไม่ออก เนื่องจากว่ามีดีแต่กลิ่น กลิ่นหอมไปไกลเป็นกิโล ส่วนรสชาติไม่เอาไหนเลย

สังคมปัจจุบันเป็นลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา น้ำขึ้นต้องรีบตัก ว่ากันไม่ได้หรอก แต่ละคนก็ฉวยโอกาสกันทั้งนั้น โดยเฉพาะพวกรับจ้างเข้าแถว ๕๐๐ บาท เพื่อจะได้ทันสมัยไปคุยกับเขาได้ว่ากินมาแล้ว ตกลงราคาซื้อความทันสมัยนั้นแพงมากเลย

เราจะไปรอครูบาอาจารย์อย่างเดียวก็ไม่ได้ สภาพสังคมสมัยก่อน ความสัมพันธ์ในครอบครัวแน่นแฟ้นมาก ปู่ย่าตายายสอนพ่อแม่ลุงป้าน้าอามา รุ่นพ่อรุ่นแม่ลุงป้าน้าอาก็สอนลูกสอนหลานกันไป เป็นการถ่ายทอดและส่งผ่านรุ่นสู่รุ่นมาเรื่อย ในปัจจุบันนี้สภาพอย่างนั้นหาได้ยากมากแล้ว บ้านไหนที่ยังรักษาสภาพเช่นนั้นได้ ถือว่าโชคดีที่สุด เพราะสถาบันครอบครัวยังไม่ล่มสลาย

ถ้าเราไม่ช่วยกัน มัวแต่รอให้ครูบาอาจารย์ รอสภาพสังคมให้ช่วย ไม่ต้องไปหวังหรอก ทุกอย่างก้าวเข้าไปหาความเสื่อมอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะปัจจุบันนี้เป็นสังวัฏฏอสงไขยกัป เป็นกัปในด้านเสื่อม สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป ก็คือ กัปที่เสื่อมไปเรียบร้อยแล้ว หรือเราจะถือว่ายุคนี้เสื่อมไปเรียบร้อยแล้วก็ได้ ถัดจากนั้นก็จะเป็นวิวัฏฏอสงไขยกัป กัปที่ค่อย ๆ เจริญขึ้น จนถึงวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป กัปที่ตั้งอยู่ในความเจริญล้วน ๆ ก็น่าจะเป็นสมัยของสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย"

เถรี 15-12-2010 17:33

พระอาจารย์กล่าวว่า "เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา เป็นวันหนึ่งที่คนไทยมีความสุขมาก เพราะในหลวงเสด็จไปเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และเปิดสะพานภูมิพล ๑ ภูมิพล ๒

เราจะเห็นว่าพระองค์ท่านทุ่มเททรงงานเพื่อประชาชนมาโดยตลอด โดยไม่เห็นแก่พระวรกายของพระองค์เองที่ทรุดโทรม และได้ข่าวว่าทางวัดไทยกุสินารา ขออนุญาตสร้างพระบรมรูปเพื่อไปตั้งไว้ที่นั่น พอได้ยินแล้วอาตมารู้สึกไม่ค่อยดี เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา บุคคลที่ทรงความดีสูง ๆ ถ้ามีรูปแทนตัวเมื่อไรมักจะไปไม่เคยเกินสามปีทุกราย ให้ลองสังเกตดูว่าจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่

แต่จากสภาพของในหลวงแล้ว ถ้าคิดแบบไม่ประมาทก็ต้องดูกันวันต่อวัน เพราะพระองค์ท่านทรงตรากตรำมามาก พระวรกายชำรุดทรุดโทรมมาก พระชนมายุก็ถึง ๘๓-๘๔ พรรษาแล้ว โอกาสจะฟื้นคืนดีเหมือนหนุ่ม ๆ ก็ยากมากแล้ว ทำให้นึกถึงหลวงปู่ทองเทศ ตอนที่ยังอยู่ที่วัดท่าซุง ท่าน อายุ ๙๐ กว่าแล้ว หกล้มครั้งหนึ่งกว่าแผลจะหายก็เป็นเดือน คนอายุ ๙๐ กว่าเนื้อไม่ค่อยอยากจะงอกมาปิดแล้ว

ในเมื่อเป็นดังนั้น..เราก็ต้องดูกันวันต่อวัน แต่มีวิธีก็คือ สร้างความดีให้มาก ๆ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อพระองค์ท่านจะได้อยู่กับพวกเราไปนาน ๆ อย่างวัดท่าขนุนก็จัดบวชเนกขัมมะถวายเป็นพระราชกุศล ทั้งปีนี้และปีหน้าหลายรุ่นด้วยกัน"

เถรี 15-12-2010 17:37

ถาม : ตอนที่ผมบวช พระที่ร่วมในการสังฆกรรม ผมไม่แน่ใจว่าท่านจะมีศีลครบหรือเปล่า ตอนนี้ผมตั้งใจว่าจะบวชอีก ผมไม่แน่ใจว่าการบวชครั้งใหม่ จะเกิดอานิสงส์หรือไม่ ?
ตอบ : ก็ไปบวชในที่ที่เรามั่นใจสิ

ถาม : ของเก่าผ่านไปแล้วหรือครับ ?
ตอบ : ของเก่าผ่านไปแล้วก็แล้วกันไป บวชพระแล้วแต่ได้อานิสงส์ของเณรไป

ถาม : ผมกลัวว่าการบวชครั้งเก่าจะมีผลกับการบวชครั้งใหม่
ตอบ : ถ้าบวชใหม่ถูกต้อง สังฆกรรมไม่เสีย ก็เป็นอันว่าเป็นพระ เมื่อเป็นพระก็ปฏิบัติให้ดี ขึ้นอยู่กับเราว่าทำถูกหรือเราทำผิด ถ้าทำถูกก็ไม่เป็นไร ถ้าทำผิดก็เป็นอาบัติ

ถาม : ถ้าเป็นอาบัติที่ติดค้างจากครั้งก่อน ?
ตอบ : เวลาคุณแสดงอาบัติ สัพพาตา อาปัตติโย อาโรเจมิ แปลว่า ทั้งหมดเลย สัพพะคือทั้งหมด ไม่ใช่แค่ข้อใดข้อหนึ่ง ถ้าไม่ใช่อาบัติที่แสดงคืนไม่ได้ อย่างปาราชิกหรือสังฆาทิเสส เขาถือว่าแสดงคืนไปหมดแล้ว

เถรี 15-12-2010 18:22

ถาม : เรื่องจับลมสามฐาน พอจับไปสักพัก ก็จับสามฐานไม่ได้ จะเหลือแค่นิดเดียว เราต้องเอาให้ได้สามฐาน หรือเอาแค่นั้นก็พอ ?
ตอบ : เหลือแค่ไหน ให้กำหนดรู้แค่นั้น เพราะถ้าเราไปบังคับ แทนที่สมาธิจะสูงขึ้น กลายเป็นว่าลดกลับมาเหลือเท่าเดิม
อย่าไปบังคับจ้ะ แค่กำหนดรู้เฉย ๆ ว่าตอนนี้ลมหายใจของเรา แรงหรือเบา ยาวหรือสั้น จะเหลือกี่ฐานก็ช่าง เรามีหน้าที่ตามรู้อย่างเดียว

เถรี 15-12-2010 18:42

ถาม : อาการที่เป็นอย่างนี้ จะเป็นเยอะตอนทำสมาธิ จะขวางการทำสมาธิ
ตอบ : อาการเหล่านี้บางทีเขาเรียกว่า ขันธมาร เขาแค่ต้องการให้เราเข้าใจผิด คิดว่าการทำความดีแล้วมีผลไม่ดี หรือว่าทำความดีแล้วอาการเหล่านี้จึงเกิดขึ้น แล้วก็เลิกทำ เพราะฉะนั้น..ถ้าหากเราตั้งใจว่าตายเป็นตาย เขาก็จะแกล้งได้ไม่นาน เดี๋ยวก็ถอยไปเอง

ถาม : คราวก่อนไปสวดมนต์ข้ามปี เราก็เรอดังครับ
ตอบ : บอกแล้วให้ตั้งใจว่า ต่อให้ตายเราก็จะทำความดี

ถาม : มีอีกอย่าง บางคนที่มีเทพใหญ่ เราจะเกิดอาการนี้ด้วย ยิ่งหนักขึ้นทุกที
ตอบ : ปล่อยไป กำหนดรู้ไว้อย่างเดียวว่า อะไรก็ไม่เกินตายหรอก ต่อให้ตายเราก็จะทำความดี แต่ก็ดีอยู่อย่างหนึ่ง จะได้เป็นเครื่องวัดได้ว่า ที่ไหนที่เราไป มีสภาพอย่างไร อะไรที่มีพลังงานในส่วนที่ละเอียดอยู่ เราจะกระทบและรับได้เร็ว

ถาม : กลุ่มผมเวลาคุยกัน จะมีอาการเจ็บป่วยเหมือนกัน อย่างเราปวดหัว คุยกับเขา เขาก็ปวดด้วย หรือเขาปวดไหล่ เราก็ปวดไหล่กับเขา
ตอบ : อาจจะอยู่ในลักษณะที่ว่า ทำมาในลักษณะเดียวกัน ก็เลยสามารถที่จะรับรู้ในอาการเดียวกันได้

ถาม : เป็นเรื่องปกติหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : ถือว่าเป็นเรื่องปกติ

เถรี 15-12-2010 23:58

ถาม : เวลานั่งสมาธิ จะมีความรู้สึกว่าอยากออกจากสมาธิครับ ตอนแรกก็ห่าง ๆ แล้วก็จะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องออกจากสมาธิภายใน ๑ นาที ควรจะทำอย่างไรดีครับ ?
ตอบ : ฝืน...ถ้าไม่ได้ให้มันตายไปเลย ถ้าเราไม่คิดที่จะฝืนบ้าง กำลังของกิเลสที่สูงกว่า ก็จะผลักดันไม่ให้เราสร้างสมาธิไปตลอดชาติ

ลองสู้ดูซิ ถ้าเราทำต่อแล้วจะขาดใจตายไปไหม ? ถ้าเราสู้ได้สักครั้ง ต่อไปก็ใช้กำลังแค่นั้นแหละ ไม่ได้เกินนั้นหรอก ต้องคิดว่าคนอื่นสิบนิ้วเท่าเรา เขายังทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้

ถาม : แบบนี้จัดเป็นขันธมารหรือกิเลสมาร ?
ตอบ : ทั้งสองอย่างเลย

ถ้าเคยอ่านพระไตรปิฎกผ่านตามาบ้าง จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าท่านเริ่มโอวาทปาฏิโมกข์ด้วยขันติ คือ ความอดทน ถ้าไม่มีความอดทน ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ส่วนใหญ่ไม่มีความอดทน อยากได้ดีแต่ไม่มีความอดทน ก็เลยดียาก..!

เถรี 16-12-2010 00:07

ถาม : เวลาภาวนา ปกติจะกำหนดความรู้สึกตรงตาที่สาม เป็นวิธีที่ถูกต้องหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : เขาให้กำหนดที่ลมหายใจเข้าออก ถ้าไม่กำหนดที่ลมหายใจเข้าออก สมาธิจะทรงตัวยาก อย่างดีก็จะได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็หายไป

ต้องกำหนดความรู้สึกให้ไหลตามลมหายใจเข้าไป ไหลตามลมหายใจออกมา ให้รู้อยู่แค่นี้ ไม่ต้องไปที่อื่น ไปที่อื่นเมื่อไรก็ให้ดึงกลับมาที่นี่ใหม่

ถาม : อย่างเวลาเดิน อยากจะฝึกสติไปด้วย
ตอบ : กำหนดรู้รายละเอียดของการเคลื่อนไหว ถ้าจะเอาแบบละเอียดหน่อย จะเป็นยก..เป็นย่าง..เป็นเหยียบก็ได้ หรือแค่รู้ว่า ตอนนี้เท้าเคลื่อนไปข้างหน้า มือแกว่งไปข้างหลังก็ได้

ถ้าสติละเอียดมาก ๆ ลมพัดมากระทบร่างกาย ขนไหวกี่เส้นก็ยังรู้ได้

เถรี 16-12-2010 00:07

ถาม : เวลากินอาหาร ต้องกำหนดเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หรือว่ารสชาติ ?
ตอบ : แรก ๆ เขากำหนดการเคลื่อนไหวก่อน คือ ตอนนี้เราเคี้ยว ถ้าละเอียดขึ้นก็กำหนดรู้รสด้วย รู้การกระทบด้วย แม้กระทั่งจะกลืนก็มีสติรู้อยู่

ต้องค่อยไปทีละขั้น ที่คุณว่ามานั้นข้ามขั้นไป เรายังไม่ได้เรียน ป.๑ จะไปเรียนป.๔ ก็ไปได้ยาก

ถาม : เวลาอ่านหนังสือธรรมะ จะรู้สึกว่าจิตใจฟุ้งซ่าน ควรจะทำอย่างไรดีครับ ?
ตอบ : จดจ่ออยู่กับสิ่งเฉพาะหน้า ถ้าคุณฟุ้งแปลว่ากำลังใจหลุดไปที่อื่นแล้ว จ้องอยู่ตรงหน้า กำหนดสติตามรู้ไปทุกคำ คิดตีความ พยายามทำความเข้าใจไปด้วย

ถาม : เรากำหนดอยู่กับตัวอย่างเดียว แล้วเวลาเรียนหนังสือด้วย เราต้องฟังที่อาจารย์พูดด้วยหรือเปล่า ?
ตอบ : สามารถทำได้พร้อมกัน ฟังที่อาจารย์พูดไปด้วย คิดไปด้วย จดไปด้วย และท้ายสุดหาข้อสงสัยมาเตรียมไว้เพื่อถามด้วย

เถรี 16-12-2010 11:17

ถาม : ถ้าเราภาวนาคาถาเงินล้านตลอดทั้งวัน รวมแล้วได้ ๑๐๘ จบในแต่ละวัน นับรวมกันได้ไหม ?
ตอบ : อย่างไรก็ได้ ให้วันหนึ่งได้ ๑๐๘ จบเท่านั้น

ถาม : ก็คือ ถ้าภาวนาเกินก็ไม่เป็นไร ?
ตอบ : เอาให้ได้ ๑๐๘ จบก่อน ให้มียอดที่แน่นอนก่อน ถ้าได้เกินค่อยถือว่าเป็นกำไร

เถรี 16-12-2010 11:20

ถาม : ปฏิบัติไปแล้วอารมณ์จะอยู่ขั้นไหน ?
ตอบ : การปฏิบัติไม่ต้องไปใส่ใจว่าจะเป็นอย่างไร จะอยู่ขั้นไหน ต้องใส่ใจว่าเราได้ทำหรือไม่..!

ถาม : คนที่เป็นเอกัคคตารมณ์ จะต้องเห็นทุกข์ตลอดหรือเปล่า ?
ตอบ : ถ้าสามารถเห็นได้อย่างนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะถ้าตราบใดที่เรายังไม่เห็นทุกข์ เราก็ยังอยากเกิดอีก

ถาม : ถ้าเราออกไปผ่อนคลาย ไปออกกำลังบ้าง จะมีผลหรือไม่ ?
ตอบ : ก็ทำไปสิ ใครจะไปว่า จะได้ช่วยบรรเทาร่างกายนี้ให้มีทุกข์น้อยลง แต่ควรประคองรักษาอารมณ์สมาธิเอาไว้ด้วย

ถาม : แต่เราก็มีสติรู้
ตอบ : ให้มีสติรู้อยู่ว่า เราแค่อาศัยร่างกายนี้อยู่ชั่วคราวเท่านั้น

ถาม : สายสาวกภูมิ การปฏิบัติจะยากเหมือนเดิมเป็นปกติหรือเปล่าคะ ?
ตอบ : สายไหนก็ตาม เราทิ้งความดีไม่ได้หรอก ทิ้งไปความชั่วก็เข้ามาแทน แต่ปกติแล้ว ถ้ามาสายสาวกภูมิโดยตรง จะปฏิบัติได้ง่ายกว่า เร็วกว่า แต่ถ้าเป็นพุทธภูมิมาก่อนก็จะเจอของยาก

ถาม : ภาระหน้าที่ก็ยังมีเหมือนเดิมใช่ไหมคะ ?
ตอบ : ภาระหน้าที่มีเข้ามาก็สงเคราะห์ไปเฉพาะหน้า แต่ไม่ต้องไปตะกายหาภาระมาใส่ตัวเอง เรามีหน้าที่ก็จริง แต่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง อย่างน้อยก็ต้องมีเวลาว่างให้เรารักษาอารมณ์ปฏิบัติได้บ้าง ถ้าไม่มีก็ต้องแย่งเวลามาให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นข้ออ้างของคนขี้เกียจ..!

เถรี 16-12-2010 13:50

ถาม : ท่านที่อยู่กรรม ?
ตอบ : ท่านที่อยู่กรรม คือ บุคคลที่ศีลขาด ขาดจากความเป็นพระไปชั่วคราว จนกว่าจะได้รับโทษ คือ การอยู่กรรมครบที่กำหนดไว้ แล้วให้พระอย่างน้อย ๒๐ รูป สวดคืนความเป็นพระให้ จึงจะกลับเป็นพระได้อีกทีหนึ่ง

ดังนั้น..พระที่ต้องอาบัติแล้วไปอยู่ปริวาสกรรม ราคาสูงกว่าเณรนิดเดียว แต่ระยะหลังเขาไปปั่นข่าวว่า ทำบุญกับพระที่อยู่ปริวาสจะได้บุญมาก ก็เลยสงสัยว่า คนศีลขาดอย่างนั้นบุญจะมากได้อย่างไร ?

เถรี 16-12-2010 16:51

สมัยนี้เขานิยมจัดปริวาสเพราะญาติโยมช่วยกันสนับสนุน ทำให้ได้เงินเข้าวัดมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนที่จัดเพื่อเป็นการสงเคราะห์บุคคลที่โดนอาบัติหนักจริง ๆ เขาจึงต้องมีการประชาสัมพันธ์เป็นการปั่นราคากัน จนกลายเป็นว่า ทำบุญกับพระที่อยู่ปริวาสจะได้บุญมาก

เท่าที่มีประสบการณ์มา ปัจจุบันพระที่อยู่ปริวาสมักจะเละเทะ มีการไปตั้งกลุ่มกันในป่าปริวาส พวกที่ปลอมพระเครื่องก็ตั้งหน้าตั้งตาปลอมพระเครื่องไป พวกที่ติดยาบ้าก็ไปตั้งกลุ่มดูดยาบ้า พวกที่ตั้งตนเป็นอาจารย์สักก็ไปสักยันต์กันอยู่ในนั้น

ถ้าโยมเข้าไปข้างในได้แบบพระ เห็นแล้วจะหมดอารมณ์ กลายเป็นว่าเสือสิงห์กระทิงแรดไปรวมกันอยู่ที่เดียว และยังมีจำพวกหนึ่งที่เขาเรียกว่า พวกล่าปริวาส

พวกนี้จะมีรายการจัดปริวาสของวัดทั้งประเทศ ว่าขึ้นกี่ค่ำ แรมกี่ค่ำ เดือนไหน วัดไหนจะจัด แล้วก็แห่กันไป เป็นการเดินทางกันทั้งปี ก็จะไปเจอเหตุการณ์เดิม ๆ เหมือนกันทุกปี เจอหน้ากันทุกปี จนกลายเป็นขาประจำที่คุ้นหน้าคุ้นตากันไปเลย

เถรี 16-12-2010 17:09

ตอนแรกอาตมายังไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้ เพราะเพิ่งจะบวชได้ไม่นาน จึงได้กราบเรียนถามหลวงพ่อวัดท่าซุงว่า "ทำไมหลวงพ่อไม่จัดปริวาสบ้างครับ ?" ท่านถามว่า "พวกแกมีใครโดนอาบัติสังฆาทิเสสหรือ ?"

อาตมากราบเรียนว่า "ไม่มีครับ"
"ไม่มีแล้วจะจัดไปทำไม ?"
"เห็นที่อื่นเขาจัดกันครับ"
"แกรู้หรือเปล่าว่าทุกเช้าเขาจะต้องมาประกาศตนว่า ตนเองโดนอาบัติอะไร ถ้าแกไม่โดนแล้วไปประกาศว่าตัวเองโดน ก็เท่ากับโกหกเขาอยู่ทุกวัน..!"

พอได้ไปศึกษาเองจริง ๆ จึงได้รู้ว่าปริวาสแต่ละแห่งจัดเพราะมุ่งหมายเรื่องเงิน มีน้อยแห่งมากที่ตั้งใจจัดปริวาสเพื่อสงเคราะห์เพื่อนพระที่โดนอาบัติสังฆาทิเสส

สุทธันตปริวาสในปัจจุบัน จึงเป็นแบบหลับหูหลับตากำหนดเอา ส่วนใหญ่ก็คือ ๗ วันหรือ ๙ วัน

สุทธันตปริวาส หมายความว่า การอยู่ปริวาสของบุคคลที่โดนอาบัติ จนตัวเองจำไม่ได้ว่าตัวเองโดนมานานเท่าไร เขาให้กำหนดว่าจะต้องอยู่ปริวาสจนถึงความบริสุทธิ์ได้ในระยะเวลาเท่าไร แล้วให้คณะสงฆ์กำหนดลงไป แต่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ว่า ให้กำหนดเป็นเวลามากกว่าที่โดนอาบัติเอาไว้เสมอ เพื่อความปลอดภัย

อย่างเช่น เราโดนมาภายใน ๓ เดือน ก็ให้กำหนดอย่างน้อย ๓ เดือนกับ ๑ วัน แต่ปัจจุบันนี้ สุทธันตปริวาสที่เจอ เขากำหนด ๙ วันตลอด โดนมากี่ปีก็ ๙ วัน แล้วจะพ้นได้อย่างไร ? เหมือนกับคนที่ต้องโดนจำคุก ๒๐ ปี แล้วไปตัดสินว่าจำคุก ๙ วันก็พอ อย่างนี้จะยุติธรรมหรือ ? กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำไปก็ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

บุคคลที่ยังอยู่ปริวาสไม่ครบตามจำนวนที่ตนเองโดน แล้วไปเก็บมานัตต์ ก็ไม่ใช่มานัตตารหบุคคล คือ ไม่ใช่บุคคลที่สมควรแก่มานัตต์ ในเมื่อเป็นอย่างนั้นก็ไม่พ้นจากอาบัติสังฆาทิเสสที่ตัวเองโดนอยู่

เรื่องพวกนี้เขาไม่ค่อยจะบอกกัน เพราะหลายต่อหลายอย่างสร้างประโยชน์ให้ เขาจึงหลับหูหลับตาจัดกันไป เป็นอะไรที่น่าหนักใจมาก

สรุปง่าย ๆ ว่า ปริวาสในปัจจุบันเกิน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ มักเจอพวกเขี้ยวลากดินอยู่ข้างใน ประเภทที่อยู่รวมกับคนอื่นได้ยาก จะไปสุมหัวรวมกันอยู่ในป่าปริวาส..!

เถรี 16-12-2010 17:29

ถาม : เวลาเราจัดงานศพให้ผู้ตาย ผู้ตายได้บุญตอนไหน ตอนที่เราอุทิศ ?
ตอบ : ถ้าบุคคลนั้นสามารถรับอนุโมทนาได้ คือ รับส่วนกุศลแล้วอนุโมทนาได้ ก็จะได้ตอนที่เราประกาศอุทิศส่วนกุศล ดังนั้น..ตอนที่เราอุทิศส่วนกุศล เมื่อพระยถาสัพพี เราควรจะออกชื่อ-นามสกุล ว่ากุศลที่สร้างในครั้งนี้ขอให้แก่ใคร ขอให้เขามาโมทนา เราจะได้รับประโยชน์ความสุขเท่าไร ขอให้เขาได้รับด้วย

ถาม : แล้วที่พระสวด สวดให้ใคร ?
ตอบ : สวดให้คนเป็นฟัง คือให้รู้ว่าสิ่งที่ทำ อะไรดีอะไรชั่วแล้วให้เลือกทำ แต่สมัยนี้เขาฟังบาลีกันไม่ออก มีหลายวัดที่พยายามปรับปรุงด้วยการสวดมนต์แปล ในเมื่อสวดมนต์แปล เราฟังออก จะได้เก็บเอาหลักธรรมนั้นไปใช้ในการดำเนินชีวิต แต่เท่าที่อาตมาเจอก็มักจะพนมมือเฉย ๆ บางคนก็หันไปคุยกันอีกต่างหาก ก็เลยกลายเป็นไม่ได้ประโยชน์อะไร

ความจริงถ้าเราตั้งใจน้อมจิตฟังด้วยความเคารพ จะเป็นกุศลใหญ่อีกส่วนหนึ่งที่อุทิศให้แก่ผู้ตายได้ เพราะเท่ากับว่าเรากำลังปฏิบัติในธัมมานุสติ ถ้าเราระลึกว่าสิ่งที่พระสวดอยู่เป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ได้ทั้งพุทธานุสติ ธัมมานุสติ เห็นผู้สวดที่เป็นพระสงฆ์อยู่ก็ได้สังฆานุสติด้วย กลายเป็นเราปฏิบัติกรรมฐานใหญ่ซึ่งได้บุญมากที่จะอุทิศให้แก่ผู้ตายได้

แต่ปัจจุบันเป็นแค่รูปแบบพิธีกรรม การกระทำมักจะผิดไปจากเจตนาดั้งเดิมของบรรพบุรุษของเรา

เถรี 16-12-2010 20:00

แม้กระทั่งทุกวันนี้เวลาที่วัดมีงานศพ อาตมาต้องประกาศก่อนเคลื่อนศพเสมอว่า ญาติโยมทั้งหลายมาส่งศพ ให้เดินตามโลงศพ ไม่ใช่ทะลึ่งไปจูงสายสิญจน์..! การจูงสายสิญจน์เป็นหน้าที่ของพระ คนที่จะเดินข้างหน้า ก็คือ บุคคลที่ถือกระถางธูปกับรูปผู้ตายเท่านั้น แล้วโยมเห็นไหม ? บางที่เขาแย่งกันจูงสายสิญจน์จนพระไม่มีที่จะจูง การจูงศพขึ้นเมรุเป็นหน้าที่พระเณร ส่วนญาติโยมตามไปส่งเท่านั้น

แต่ที่อื่นเขาไม่ค่อยกล้าว่า ไม่ค่อยกล้าบอกเพราะกลัวโยม อาตมาเองไม่ค่อยจะเกรงใจโยมหรอก ต่อให้ใหญ่มาแค่ไหน ผิดท่าผิดทางอาตมาด่ากระจาย เพราะถ้าเราไม่บอกในสิ่งที่ถูกต้อง เขาก็จะผิดต่อกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งภายหลังจะกลายเป็นถูกไปเอง เพราะเขาทำต่อ ๆ กันมา รุ่นแล้วรุ่นเล่า

เถรี 17-12-2010 01:34

ปัจจุบันนี้มีธรรมเนียมหนึ่งที่ผิดจนกลายเป็นถูกไปแล้ว ก็คือ แต่งชุดดำไปงานศพ สมัยโบราณถ้าคนตายอาวุโสกว่า มากด้วยวัยวุฒิ คุณวุฒิ เราจะต้องแต่งชุดขาวไป ถ้าคนตายเด็กกว่า เราจึงแต่งชุดดำไป

ปัจจุบันนี้ ขนาดงานสมเด็จย่าเขายังแต่งชุดดำไป แสดงว่าใหญ่กว่าสมเด็จย่าทั้งนั้น..! แต่บางคนที่อายุน้อยกว่าแล้วมากด้วยคุณความดี หรือท่านที่สูงด้วยยศศักดิ์อย่างเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน เราแต่งชุดขาวให้ได้ แม้ว่าเราจะอายุมากกว่า

ถาม : กรณีที่หลานอายุน้อยกว่าเรา เราไปกราบไหว้ศพ ?
ตอบ : ไม่เป็นไร ถือว่าเราไหว้ธรรมะของพระพุทธเจ้า สัพเพ สัตตา มะรันติ จะ มะระณันตัง หิ ชีวิตัง สัตว์ทั้งหลายต้องถึงแก่ความตายแน่นอน ไม่มีใครล่วงพ้นความตายไปได้

ไหว้ไปเถิด ไหว้ให้ถูกก็แล้วกัน ไม่ใช่ไปไหว้ศพ เราไปไหว้พระธรรม

อะไรที่รู้ พยายามปรับให้ถูกไว้บ้าง ถ้าเขาสงสัยแล้วถาม ก็อธิบายให้เขาฟัง

ถาม : แล้วกระดูกพ่อแม่ควรไว้วัดหรือไว้ที่บ้าน ?
ตอบ : โบราณเขาจะเก็บไว้ที่บ้าน พอถึงเวลาสงกรานต์ก็จะทำบุญกระดูกกัน ปัจจุบันนี้เขากลัวผีกันมาก จึงเอากระดูกไปทิ้งไว้วัดกันหมด

ตามธรรมเนียมแล้ว พอถึงเวลาสงกรานต์เขาจะนำอัฐิพ่อแม่มาสรงน้ำอบน้ำหอม นิมนต์พระมาบังสุกุล อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

เถรี 17-12-2010 12:57

ถาม : ถ้าเรานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานแบบญี่ปุ่น จะมีผลให้เราถึงนิพพานหรือไม่ครับ ?
ตอบ : อยู่ที่การปฏิบัติของเรา แม้ว่าเราจะนับถือมหายานแบบญี่ปุ่นก็ดี ถ้าคำสอนของท่านถึงนิพพาน เราตั้งใจปฏิบัติตามจริง ๆ ก็ไปถึงได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าเราอาจจะไปติดอยู่กับรูปแบบพิธีกรรมต่าง ๆ มากมายมหาศาล ก็เลยกลายเป็นว่าเอาเปลือกมาบังแก่นเสียหมด

ถาม : เขาค่อนข้างบิดเบือนหรือผิดเพี้ยนไปเยอะ
ตอบ : อยากจะบอกว่าทางมหายาน ถ้าเป็นนิกายมูลสรวาสติวาทสมัยก่อน หลักการพอ ๆ กับเถรวาทเลย ตอนหลังมาแยกออกไปเป็นนิกายโยคาจารย์ ของท่านวสุพันธุ พอกระจายออกมาเนื้อหาก็เริ่มอ่อนลง

แม้กระทั่งศาสนาชินโตที่พระญี่ปุ่นมีเมียได้ ถ้าเราไม่เข้าใจจริง ๆ เราก็จะไปตำหนิเขา อาตมาเคยคุยกับพระของชินโต เขาพูดภาษาไทยได้ แต่เราต้องเอาล่ามแปลภาษาไทยอีกที สรุปได้ความว่า นิกายชินโตเกิดขึ้นมาในช่วงที่เป็นสงครามระหว่างเจ้าครองนครต่าง ๆ รบราฆ่าฟันกันทั้งปีทั้งชาติ

พระไม่รู้จะไปเผยแผ่ศาสนาอย่างไร ถ้าปล่อยให้อยู่ในสถานการณ์อย่างนั้นนาน ๆ ไป ศาสนาอาจจะสูญไปเลย เขาก็เลยตัดสินใจมีครอบครัว เพราะอย่างน้อย ๆ ก็สอนคนในครอบครัวตัวเองได้ มีเมีย ๑ คนสอนได้ ๑ คน มีลูกอีก ๑ คน สอนเพิ่มได้เป็น ๒ คน สอนพ่อตาแม่ยายได้อีกก็รวมเป็น ๔ คน เท่ากับว่าเขาลงทุนทุ่มเทด้วยชีวิตของเขาเลย เพื่อเผยแผ่ศาสนา

ถ้าเรารู้จุดมุ่งหมายของเขาแล้ว ก็จะไม่เสียเวลาไปตำหนิ แต่ถ้าไม่รู้จุดมุ่งหมายแล้ว บางทีก็ด่าเลย พระอะไรวะมีเมียได้ด้วย..!

เถรี 17-12-2010 12:59

ถาม : แต่ในเรื่องหลักการ ?
ตอบ : หลักการเขาดี แต่ในเรื่องข้อธรรมกลายเป็นว่า โอกาสที่จะเข้าถึงธรรมมีน้อยแล้ว เพราะมีครอบครัวมาลากถ่วง พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ชัดในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า เอกายโน หนทางของคนคนเดียว เพราะถ้าเป็นคนเดียวจะไม่มีความกังวลมาก แต่ถ้ามีหลายคนจิตใจจะมีห่วงกังวลมาก โอกาสที่จะปฏิบัติให้ผ่องใสเพื่อเข้าถึงธรรมก็น้อยลง

แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีโอกาส ถ้าเราสามารถทรงฌานได้คล่องตัวจริง ๆ อย่างที่เมื่อคืนได้กล่าวถึงความคล่องตัวที่เป็นวสีของระดับต่าง ๆ ถ้าทำอย่างนั้นได้ เราอยู่ที่ไหนก็สามารถที่จะทรงฌานได้ จิตใจของเราสามารถที่จะผ่องใสได้ตลอด เราก็จะใช้ปัญญาพิจารณาได้ถึงความทุกข์ของการมีครอบครัว

ถ้าถึงระดับนั้นกลับเป็นประโยชน์ เพราะเราจะเห็นทุกข์กว่าคนที่ไม่มีครอบครัว ถ้าเราเห็นทุกข์มากกว่าคนที่ไม่มีครอบครัวแล้ว จิตใจเบื่อหน่าย ปล่อยวางออกมา จะได้เร็วกว่านี้ แต่โอกาสที่จะทำให้คล่องตัวระดับนั้นจริง ๆ ก็มีน้อย

ถาม : แต่ในคราบของความเป็นภิกษุ ไม่ถือว่าปาราชิกหรือครับ ?
ตอบ : ถ้านับอย่างนั้นก็ใช่ บอกแล้วว่าหลักการถูกต้อง แต่วิธีการที่ปฏิบัตินั้นผิด

เถรี 17-12-2010 13:05

ถาม : ถ้าเราไปพบพระภิกษุท่านละสังขาร แล้วสังขารท่านไม่เน่าเปื่อย ถือว่าท่านเป็นพระอริยเจ้าได้ไหม ?
ตอบ : ถือไม่ได้ สังขารไม่เน่าเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน
สาเหตุแรก อาจจะเกิดจากการกินว่านยาบางอย่าง ทำให้สังขารไม่เน่า
สาเหตุที่สอง มีคาถาบางบทถ้าเสกข้าวกินประจำ ทำให้ไม่เน่าได้
สาเหตุที่สาม ท่านเองอธิษฐานทิ้งร่างเอาไว้ ถ้าถึงระดับนั้นส่วนใหญ่มักจะดี

ฉะนั้น..ตายแล้วศพไม่เน่า ไม่แน่ว่าจะต้องเป็นพระอริยเจ้า

เถรี 17-12-2010 13:29

มีโยมมาขอความเมตตาให้พระอาจารย์ท่านสวดบังสุกุลให้ ท่านกล่าวว่า "การบังสุกุลตาย บังสุกุลเป็น ถ้าไม่รู้เรื่องอะไรก็ได้ไปแค่เปลือก ถ้ารู้ว่าเขาให้ระลึกถึงมรณานุสติ คือ ความตาย ให้เอาใจเกาะพระ หรือเกาะพระนิพพาน ให้เป็นพุทธานุสติหรืออุปสมานุสติก็จะได้กำไร"

เถรี 17-12-2010 15:49

ถาม : คนที่เขาอยู่ต่างประเทศ เขาจะรู้ได้อย่างไรว่าปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว ?
ตอบ : ให้เอาศีลเป็นกรอบ ถ้าไม่หลุดออกจากกรอบของศีลก็ยังถูกอยู่

เถรี 17-12-2010 18:18

ถาม : จะขายที่เจ้าค่ะ
ตอบ : ไปจุดธูปบอกกล่าวเจ้าที่ตรงนั้น ว่าขออนุญาตขายที่ ถ้าขายได้แล้วจะถวายสังฆทานไปให้

เถรี 17-12-2010 18:56

วันเสาร์ พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า "เมื่อคืนประมาณตีสาม อาตมานิมิตว่าไปเฝ้าในหลวงที่โรงพยาบาลศิริราช พระองค์ทรงขอบใจที่นำพระเณรและญาติโยมสวดโพชฌังคปริตรถวายท่านทุกวัน พระองค์ตรัสว่าโรคภัยไข้เจ็บหายหมดแล้ว เหลือแต่โรคคนแก่ ถ้าหายก็แปลว่าไม่อยู่แล้ว

เป็นครั้งแรกที่นิมิตเห็นพระองค์ท่านแล้วอาตมาเป็นพระอยู่ ปกติแล้วถ้านิมิตเห็น จะเป็นข้าราชบริพารรับใช้พระองค์ท่าน อาตมาจึงฉวยโอกาสที่ไม่มีใครอยู่ จับ ๆ คลำ ๆ พระองค์ท่านไปหลายที ไปแล้วต้องเอาให้คุ้ม..!

วันนี้ก็เลยตื่นสาย..เพลินไปหน่อย เข้าเฝ้าแล้วไม่อยากกลับ มีความสุข เหมือนกับได้อยู่ใกล้พ่อแม่ที่มีความรักเรา เป็นความรักชนิดบริสุทธิ์จริง ๆ ไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไรจากลูกเลย ลูกทำความดีให้พระองค์ท่านก็ชื่นใจ บอกให้รู้ว่ารับรู้"

เถรี 17-12-2010 23:54

ถาม : ผมบวชแล้ว เพิ่งสึกมาไม่นาน สึกแล้วก็ยังพยายามถือศีลแปดทุกวันพระ การรักษาศีลแปดบางทีก็พร่องไปบ้าง ขอคำแนะนำครับ ?
ตอบ : ค่อย ๆ ใส่สติเพิ่มเข้าไป ถึงเวลาบอกกับตัวเองว่า "ไม่" ก็ต้องไม่จริง ๆ อย่าไปผ่อนผันให้กับตัวเอง ถ้าผ่อนผันให้กับตัวเองก็ต้องผ่อนเรื่อยไป ถ้าทำให้จริงจังเด็ดขาดแล้วจะสำเร็จทุกอย่าง

ถาม : เวลานั่งสมาธิ สมาธิระดับไหนจึงพอที่จะเจริญปัญญาขึ้นไปได้ ?
ตอบ : อย่างน้อยต้องปฐมฌานขึ้นไป

ถาม : การพิจารณาในขั้นของปัญญา ต้องพิจารณาอย่างไร ?
ตอบ : พยายามให้เห็นว่าทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้

ถาม : คิดเอาหรือครับ ?
ตอบ : ไม่ใช่คิดเอา แต่มองให้เห็นจริง แรก ๆ ก็อาจจะคิด พอทำบ่อย ๆ จะเริ่มเห็นและใจยอมรับ ตราบใดที่ใจยังไม่ยอมรับ ก็ยังใช้ไม่ได้

ถาม : ในเรื่องการปฏิบัติ ท่านมีอะไรแนะนำไหมครับ ?
ตอบ : ทำให้จริงเท่านั้นก็พอ

เถรี 17-12-2010 23:55

ถาม : อยากขอคำแนะนำ แผ่เมตตาให้จิตเราปราศจากโทสะได้เร็ว ๆ
ตอบ : ภาวนาให้กำลังใจทรงตัวเป็นฌานระดับใดระดับหนึ่ง แล้วค่อยแผ่เมตตา หลังจากนั้นก็มาใช้ปัญญาคิดว่า การที่เราโกรธเขาใครเป็นผู้ทุกข์กันแน่ ? ถ้าเราทุกข์เองแล้วเราจะไปโกรธเขาเพื่อซ้ำเติมตนเองไปทำไม ? ตายตอนนั้นก็ลงนรกอีกต่างหาก..! ถ้าใช้ปัญญาคิดเป็นจะหมดโทสะเร็ว

เถรี 17-12-2010 23:58

ถาม : ถ้าเราไม่อยากอยู่แล้ว แต่เรายังไม่หมดอายุขัย เราจะทำอย่างไรดีครับ ?
ตอบ : ถ้าหากว่าอยากตาย แปลว่ายังใช้ไม่ได้ เราต้องทำกำลังใจของเราว่า อยู่เราก็ได้ทำความดี ถ้าตายเราก็ได้ไปนิพพาน เพราะฉะนั้น..อยู่ก็ได้ ตายก็ดี ธรรมดาของมันเป็นอย่างนี้ เราอยู่ชาติเดียวก็จบ ชาติต่อไปจากนี้จะไม่มีอีกแล้ว

ถาม : ท่านทำกำลังใจอย่างไร ถึงไม่เบื่อสังขารร่างกาย ?
ตอบ : เราจะพ้นไปอยู่แล้ว วันพรุ่งนี้ไม่มีสำหรับเรา เราอยู่กับร่างกายแค่วันนี้เท่านั้น

เถรี 18-12-2010 01:53

ถาม : ช่วงนี้รู้สึกว่าไม่ค่อยก้าวหน้าในเรื่องการงาน รู้สึกว่าฝืดเคือง
ตอบ : ภาวนาคาถาเงินล้านของหลวงพ่อวัดท่าซุงให้มากไว้ ใช้เป็นคำภาวนาไปเลย

ถาม : เวลาว่างก็ภาวนาตลอด ?
ตอบ : เอาให้ได้วันละอย่างน้อย ๑๐๘ จบ แบ่งเป็นเช้า กลางวัน เย็น เป็นชุด ๆ ไป ให้ได้ครบ ๑๐๘ ทำให้จริง ๆ สักสองเดือนก็จะเห็นผล

เถรี 18-12-2010 12:04

ถาม : ถ้าเราภาวนาคาถาเงินล้าน แล้วจะควบกับการเดินจงกรม อย่างขวาพุท-ซ้ายโธด้วย จะทำอย่างไร ?
ตอบ : เอากำลังใจเกือบทั้งหมดไว้ที่ตัวคาถา ความรู้สึกสัก ๑๐-๒๐ เปอร์เซ็นต์อยู่ที่อาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่จำเป็นจะต้องไปว่าคาถาให้ตรงกับการเดิน แค่ให้รู้ว่าตอนนี้กำลังเดินอยู่ก็พอ

กำหนดรู้แค่อาการเคลื่อนไหว แต่กำลังใจส่วนใหญ่ให้อยู่ที่ตัวคาถา

ถาม : แล้วลมหายใจต้องรู้ไหมครับ ?
ตอบ : ถ้ารู้ได้ด้วยก็ดี แต่ถ้ารู้ลมหายใจครบฐานมักจะเดินไม่ออก

ถาม : ยุบหนอพองหนอกับลมหายใจสามฐาน ชุดเดียวกันหรือเปล่าครับ ?
ตอบ : จริง ๆ แล้วก็คือชุดเดียวกัน แต่จับคนละอย่างกัน ลมหายใจสามฐานเราจับลมเป็นหลัก พองหนอยุบหนอเราจับอาการเคลื่อนไหวของท้องเป็นหลัก

ถาม : ผมเดินจงกรม ทีนี้พระคาถายาว ?
ตอบ : ไม่ต้องใส่ใจ ให้ว่าไปเรื่อย ก้าวละคำก็ยังได้ ไปช้า ๆ เอาให้มีคุณภาพ

ถาม : แล้วเวลาเดินไปแล้ว ต้องมีหยุดหรือเปล่าครับ หรือเดินแล้ววนกลับ ?
ตอบ : แล้วแต่เราถนัด ขอให้ได้ทำเถอะ

เถรี 18-12-2010 12:05

ถาม : ตอนที่เราจับลมหายใจ ตอนแรกจับสามฐาน พอทำไปสักพักทุกฐานรู้พร้อมกัน ก็คือต้องรู้พร้อมกันใช่ไหมครับ ?
ตอบ : ใช่..รู้เท่าไรให้กำหนดแค่นั้น จะรู้ตลอดสายตั้งแต่บนยันล่างเลยก็ได้

ถาม : ถ้าเราจับภาพพระ ควรจะแบ่งความรู้สึกไว้ที่ตรงไหนมากกว่ากัน ระหว่างภาพพระกับลมหายใจ ?
ตอบ : ให้ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้าไปเลย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปแบ่ง ถึงเวลาก็ให้ภาพพระไหลเข้าไหลออกตามลมหายใจ

เถรี 18-12-2010 12:10

ถาม : เวลานั่งสมาธิไป บางทีหลับตาไปแล้ว..?
ตอบ : ความจริงก็คือถ้าเราไปสนใจ สมาธิก็จะเคลื่อน บอกแล้วว่าแม้แต่จะตายก็ไม่ต้องไปใส่ใจ คิดอยู่อย่างเดียวว่า เราทำความดีอยู่ ถ้าจะตายลงไปก็ยอม

ฉะนั้น..ถ้าเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรายังปล่อยให้กวนเราได้อยู่ สมาธิก็จะไม่ทรงตัว

ถาม : ตอนที่เรามากำหนดลมหายใจ บางทีเราไปกลัว มีวิธีที่ไม่ให้กลัวไหมครับ ?
ตอบ : ตัดสินใจว่าตายเป็นตาย ถ้าตัดสินใจได้..ก็ได้ ถ้าตัดสินใจไม่ได้..ก็เป็นอย่างนั้นต่อไป

ถาม : เวลาภาวนาจะมีกลิ่นเข้ามาทำให้สงสัย ถ้าเป็นตอนนั้นเราควรจะทำอย่างไร ?
ตอบ : กำหนดใจว่า สิ่งที่เราทำตอนนั้นเป็นบุญกุศลอย่างไร ขอให้ท่านเจ้าของกลิ่นจงโมทนา เราจะได้รับประโยชน์ความสุขเท่าไร ขอให้เธอจงได้รับด้วย แล้วเราก็ภาวนาของเราไป

เถรี 18-12-2010 18:37

ถาม : หนูสงสัยว่า อย่างอารมณ์ที่ถอนออกจากความยินดี ก็คือ การที่เราเห็นความพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วถอยออกมาจากสิ่งนั้น ใช่หรือเปล่าคะ ?
ตอบ : ยินดีตรงนี้ของเรานั้นเป็นส่วนของราคะ เป็นรติ ไม่ใช่ยินดีที่เป็นฉันทะในสิ่งที่จะทำความดี เป็นคนละอย่างกัน

ในเมื่อคนละอย่างกัน บางทีภาษาไทยไปเรียกเหมือนกัน จะกลายเป็นว่าเราไปถอนของดีทิ้ง ก็จะยุ่ง

ดังนั้น..ตัวที่เราว่าเป็น รติ คือ ความยินดีที่เนื่องด้วยราคะ พอเราเห็นทุกข์เห็นโทษ จิตก็จะเบื่อหน่าย คลายออกมา เพราะฉะนั้น...ตอนนี้เราต้องพิจารณาให้เห็นโทษของความยินดีที่เนื่องด้วยราคะไปก่อน พอเห็นโทษแล้วสภาพจิตยอมรับว่าไม่ดีจริง ๆ ก็จะหมดอยากเอง พอหมดอยาก ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดก็จะเกิดขึ้น ถ้าปัญญาเพียงพอ ก็จะถอนจิตออกมาเอง

ถาม : บางทีหนูก็แค่ออกจากตรงนั้น ก็จบแล้ว
ตอบ : บางทีอาจเป็นกำลังของสมาธิ เป็นกำลังของฌาน ไม่ใช่ตัวปัญญา อย่าเพิ่งเชื่อ

ถาม : ค่ะ เชื่อมาหลายยกแล้ว
ตอบ : เชื่อมาหลายยก ก็แปลว่าเจ๊งมาหลายยกแล้ว..!

ถาม : บางทีทำไป เหมือนกับอารมณ์ล้น พอล้น เราก็อยากที่จะเอาออก ไม่ว่าจะเอาออกด้วยการเสียสละสิ่งของ หรือแผ่กระแสสมาธิออกจากตัวเอง
ตอบ : พอเจอลักษณะนี้ให้เปลี่ยนสถานที่หรือเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่อย่างนั้นจะไปต่อไม่ได้

ถาม : หนูไม่รู้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากสมาธิหรือเป็นตัวที่เกิดจากปัญญากันแน่ บางทีสิ่งที่เราทำไป แต่ก็เหมือนกับไม่ได้ทำ ผ่านแล้วก็ผ่านไปเลย เมื่อเรามาคิดว่า เมื่อครู่เราทำหรือ ? เราทำก็เหมือนไม่ได้ทำ เพราะว่างเปล่าไปแล้ว
ตอบ : ในสภาพของกิเลสบางตัว อำนาจฉุดดึงร้อยรัดนั้นใกล้เคียงกัน คล้ายคลึงกัน ถ้าเราก้าวล่วงตัวหนึ่ง ตัวอื่น ๆ เราก็จะพลอยก้าวผ่านไปด้วย

เถรี 18-12-2010 18:41

ถาม : หลวงพ่อฤๅษีบอกไว้ในปฏิปทาท่านผู้เฒ่า อย่างอสุภะให้พิจารณาคนเหมือนถุงอุจจาระ จะได้เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย หรือรังเกียจขยะแขยง แต่หนูเอง ทำไมไม่ผ่านอารมณ์ขยะแขยง แต่กลับไปลงที่ตัวสังขารุเปกขาญาณ ไปลงที่ตัวอนัตตา หรือเห็นเป็นรูปเป็นนามไปเลย
ตอบ : ใช้ได้เหมือนกัน

ถาม : ได้ใช่ไหมคะ ?
ตอบ : อาตมาเองตั้งใจจะไปเอาเมตตาบารมีก็ไม่ได้ เพราะจิตกระโดดไปที่สังขารุเปกขาญาณเลย ขณะเดียวกันตั้งใจจะใช้ตัวอสุภกรรมฐานกับกายคตาสติมาตัดราคะ ก็ตัดไม่สำเร็จ แต่กลับไปตัดได้ด้วยตัวพรหมวิหารสี่แทน

ดังนั้น..บางมุมของกรรมฐานก็ไม่ได้เหมาะสำหรับเรา หรือไม่ได้เหมาะสำหรับคนทั่วไป เพราะแต่ละคนสร้างบารมีเก่ามาไม่เหมือนกัน ในเมื่ออยู่ในแง่มุมอื่น เราสามารถที่จะก้าวผ่านตรงจุดนั้นได้เหมือนกันก็ทำไปเถอะ

ถาม : หนูอยากรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วจะต้องผ่านตัวขยะแขยงก่อน แล้วค่อยไปลงที่อนัตตาหรือเปล่า ?
ตอบ : บางทีก็ข้ามไปได้เลย ไม่จำเป็นจะต้อง หนึ่ง สอง สาม อาจจะ สี่ ห้า หก ไปเลย

ถาม : อย่างหลวงพ่อฤๅษีบอกให้รังเกียจขยะแขยง อันนี้ไม่ถือว่าเป็นตัวยินร้ายหรือคะ ?
ตอบ : จะยินดีหรือยินร้ายก็ตาม ภายหลังก็จะต้องปล่อยออกหมดเหมือนกัน แต่ตัวที่ขยะแขยงตรงจุดนั้น จริง ๆ แล้วเพราะเราเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีจริง ๆ เป็นส่วนยินร้ายที่มีปัญญาประกอบเพราะรู้เห็นว่าไม่ดีจริง ๆ ไม่ใช่ส่วนที่ยินร้ายที่เป็นโทสะจริต


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:14


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว