กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   เทศน์ในวาระสำคัญต่าง ๆ (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=40)
-   -   ปกิณกธรรม ช่วงบวชเนกขัมมะปีใหม่ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๒ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=6908)

เถรี 13-02-2020 09:04

คราวนี้ก็ต้องซักซ้อมการเข้าออกสมาธิให้ชำนาญ พยายามประคับประคองอารมณ์ไว้ หลุดไปไม่ต้องเสียดาย ให้เริ่มต้นใหม่ ยิ่งทำจะยิ่งคล่องตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ ต่อไปจะสั่งได้ดั่งใจ เข้าลึกเข้าตื้นขนาดไหน จะออกเมื่อไรกำหนดได้หมด

สภาพจิตพอตื่นอยู่ เวลาเราหลับเราจะรู้ว่าหลับ ถึงเวลาจะตื่น ถามตัวเองว่าพร้อมจะตื่นหรือยัง ? ถ้าพร้อมจะตื่นก็จะขยายความรู้สึกไปตามประสาทร่างกาย ตลอดไปถึงปลายมือ..ปลายเท้า..รู้ตัวทั่วพร้อมแล้วลืมตา..พลิกตัว..ลุกนั่ง..ยืน..เดินไปห้องน้ำ คนอื่นเห็นแต่ดูไม่ออกว่าละเอียดขนาดนั้น เพราะว่าดูเหมือนกับพลิกได้ก็ลุกไปเลย แต่ในความรู้สึกของเราที่ยิ่งปฏิบัติ ความแหลมคมว่องไวของจิตมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าแต่ละขั้นตอนช้ามาก เหมือนกับค่อย ๆ สั่งทีละอย่างเลย

เถรี 13-02-2020 09:04

การปฏิบัติสภาพจิตที่แหลมคมว่องไวขึ้น มีแต่จะทำอะไรเร็วขึ้น และเร็วขึ้นไปเรื่อย ๆ เป็นการเร็วโดยไม่ผิดพลาด ถ้าสภาพจิตของเราเร็วไม่พอ เราจะป้องกันกิเลสไม่ทัน กิเลสเกิดเร็วมาก ตาเห็นรูปก็ไปแล้ว กิเลสกินเราไปครึ่งตัวแล้ว ไม่ทันรู้ตัวหรอก หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสก็เช่นกัน เราต้องป้องกันเอาไว้ก่อน ไม่ใช่รอให้กิเลสกินเราแล้วค่อยมาแก้ อย่างนั้นโอกาสชนะมีน้อยมาก เราต้องป้องกันไว้ก่อนโดยการใส่เกราะ อยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับสมาธิ

เถรี 13-02-2020 09:06

ถ้าอยากได้ร้อยอย่างอาจารย์ต้องทุ่มเทเกินร้อย ยอมเหนื่อย ยอมมอบกายถวายชีวิต

ใคร ๆ ก็บอกว่าท่านพาหิยทารุจีริยะเป็นเอตทัคคะทางขิปปาภิญญาคือบรรลุเร็วที่สุด ฟังเทศน์สั้น ๆ แค่ว่า “พาหิยะ...เธอจงอย่าสนใจในรูป” แค่นั้นก็บรรลุแล้ว ที่เห็นว่าเร็วคือเร็วชาตินี้ ชาติที่แล้วมาท่านอดตาย ทำบันไดปีนขึ้นไปบนถ้ำบนยอดเขา ถ้าไม่บรรลุเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณเหาะไปบิณฑบาตได้ จะยอมอดตาย แล้วก็ถีบบันไดทิ้งเลย...ท่านตายจริง ๆ...!

กำลังใจต้องเด็ดขาดเข้มแข็งแบบนั้น แต่ละชาติท่านลำบากมามากแล้ว เหมือนคนเก็บเงินมาจนพอ รถเบนซ์ราคาสามล้านห้า ถึงเวลาควักเงินสดซื้อได้เลย เราก็รู้สึกว่าเขารวยมาก เช่นเดียวกับท่านพาหิยทารุจีริยะ เราไม่ได้ดูว่าท่านสะสมมากี่ชาติ พวกเราเองจะได้สักเสี้ยวหนึ่งของท่านไหม ? ถ้าไม่ใช้ความพยายาม พิจารณาตนเองด้วยนะ

เถรี 13-02-2020 09:07

ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เรียกว่าปฐมเทศนา เป็นการประกาศความรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นความกล้าหาญ เพราะว่าสมัยนั้นมีความเชื่ออยู่สองอย่างคือ เชื่อว่าตายแล้วเกิด กับเชื่อว่าตายแล้วสูญ โดยมีที่สุดของเขาคือ ปรมาตมันหรือตัวตนอันยิ่งใหญ่ หรือว่าพรหมมัน ตัวตนแห่งพระพรหม หรือโมกษะ ความหลุดพ้นของเขา เขาว่ามีการฝึกปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงแค่สองวิธี

อย่างแรกคืออัตตกิลมถานุโยค ทรมานตน

อย่างที่สองคือกามสุขัลลิกานุโยค คลุกอยู่กับกาม หลักการของตันตระมี ๕ ม. มัทนะ..กินเหล้า เมถุน..เสพกาม มังสะ..กินเนื้อ มันตรา..ท่องบ่นมนต์ และมุทรา..ร่ายรำ ถ้าทำให้เต็มที่ไปเลย จะเบื่อไปเอง จริงไหม..? ยากมาก..!

พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วว่า การกิน การนอน การเสพกาม การเสวยอำนาจ ถ้าไม่ใช่บุคคลผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ไม่มีใครเบื่อหรอก อาจจะเบื่อพักเดียว เดี๋ยวก็อยากใหม่

เถรี 13-02-2020 09:09

ดังนั้น...สายอัตกิลมถานุโยค การทรมานตน จึงได้รับความนิยมสูงสุด มั่นใจว่าบรรลุโมกษะได้ บรรลุปรมาตมันได้ บรรลุพรหมมันของเขาได้ พระพุทธเจ้าแหวกกลางขึ้นมาบอกว่าบรรลุไม่ได้ทั้งคู่

สมัยนั้นมีศาสดา ๖๒ ลัทธิ ปุพพันตกัปปิกทิฏฐิมีอยู่ ๑๘ ลัทธิ พวกนี้ระลึกชาติได้ เขาบอกว่าระลึกได้ร้อยชาติบ้าง ห้าร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง หมื่นชาติบาง แสนชาติบ้าง หนึ่งกัปบ้าง สองกัปบ้าง ห้ากัปบ้าง สิบกัปบ้าง ในเมื่อระลึกได้ไม่เท่ากัน ก็เลยตั้งทฤษฎีที่ไม่เหมือนกันขึ้นมา สมมุติว่าคนเราเกิดมาต้องเรียนจบ ป. ๔ อีกสำนักหนึ่งบอกว่าต้องเรียนจบ ป. ๗ อีกสำนักหนึ่งบอกว่าต้องจบ ม. ๓ อีกสำนักหนึ่งบอกว่าต้องจบ ม. ๖ แต่ไม่จบสักสำนัก ระลึกชาติได้ไม่เท่ากัน

เถรี 13-02-2020 09:09

อปรันตกัปปิกทิฏฐิอีก ๔๔ ลัทธิ เห็นอนาคต คนตายแล้วไปไหน ตายแล้วเป็นสัตว์นรกบ้าง ตายแล้วเป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกาย บ้างเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นรุกขเทวดาบ้าง เป็นภุมมเทวดาบ้าง เป็นอากาสเทวดาชั้นที่ ๑ บ้าง ชั้นที่ ๒ บ้าง ชั้นที่ ๓ บ้าง ไล่ไปเลย ๔๔ ลัทธิเห็นไม่เหมือนกัน ตัวเองเห็นแค่ไหน บอกแค่นั้น ยืนยันผล คนถึงได้เลื่อมใส พวกเขาเก่งจริง เพียงแต่ว่ายังเก่งสู้พระพุทธเจ้าไม่ได้

เถรี 13-02-2020 09:10

ในการที่จะเสนอของใหม่ขึ้นมาสู้กับสิ่งที่มีอยู่เดิม ก็ต้องเสนอทฤษฎีที่แปลกใหม่ขึ้นมา แต่ของท่านไม่ใช่ทฤษฎี ทฤษฎีคือเรื่องที่เขาเห็นว่าใช่ ตราบใดที่ยังไม่มีคนเถียง ก็ว่าตามนี้ก่อน แต่ถ้ามีคนเถียงได้เมื่อไร ทฤษฎีนี้ก็จะตกไป ทฤษฎีใหม่จะขึ้นมาแทน แต่ของพระพุทธเจ้าเถียงไม่ได้ เพราะว่าพระองค์ท่านรู้จริง ใช้คำว่าทฤษฎี (Theory) ไม่ได้ ของพระพุทธเจ้ามีคำเดียวคือ Theorem ทฤษฎีสัมบูรณ์ ไม่ต้องเถียงแล้วจบแค่นี้

เถรี 13-02-2020 09:17

พระพุทธศาสนาไม่ใช่ปรัชญา ปรัชญาเป็นการตั้งสมมติฐานเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นมา แล้วถกเถียงหาข้อยุติกัน ยุติได้เมื่อไรก็เป็นศาสตร์ อย่างเช่นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ จิตศาสตร์ เป็นต้น หลักธรรมของพระพุทธเจ้าจัดเป็นปรัชญาไม่ได้ หลักธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นอริยสัจ เป็นความจริงแท้ ใครก็เถียงไม่ได้

เถรี 13-02-2020 09:18

ท่านบอกว่าคนเราเกิดมาแล้วทุกข์ มีใครบอกว่าไม่ใช่บ้าง..? เกิดมาแล้วไม่เที่ยง ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายเป็นตัวตนได้ แล้วทำอย่างไรถึงจะเข้าถึง..? พระองค์ท่านบอกว่าหนทาง ๘ ประการ ย่อลงมาเหลือ ศีล สมาธิ ปัญญา

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก เห็นว่าไม่เที่ยง เห็นว่าเป็นทุกข์ เห็นว่าไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา
สัมมาสังกัปปะ ความดำริถูก ดำริอยากพ้นจากกองทุกข์ อยากออกจากกาม

สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นปัญญา

เถรี 13-02-2020 09:18

สัมมาวาจา พูดดี พูดถูก
สัมมากัมมันตะ ทำดี ทำถูก คือไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ดื่มสุราเมรัย ไม่เสพยาเสพติด
สัมมาอาชีวะ ทำมาหาเลี้ยงชีพถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม

สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นศีล

เถรี 13-02-2020 09:19

สัมมาวายามะ เพียรได้ถูกต้อง เพียรในการขับไล่ความชั่วออกจากใจ เพียรระวังไว้อย่าให้ความชั่วเข้ามาใหม่ เพียรสร้างความดีให้เกิดขึ้นกับใจ เพียรพยายามระวังรักษาให้ความดีนั้นเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
สัมมาสติ มีสติตั้งมั่น ตั้งมั่นเพราะว่าเป็นมหาสติ
สัมมาสมาธิ มีสมาธิทรงตัว เป็นอัปปนาสมาธิ คือตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป

ก็แปลว่า ปัญญา ศีล สมาธิ ไม่ใช่ ศีล สมาธิ ปัญญา
พระองค์ท่านบอกทำตามนี้แล้วจะหลุดพ้นอย่างแท้จริง เพราะว่าปัญญารู้เห็นชัดเจน จนหมดความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางได้ทั้งหมด คือ รู้เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เถรี 13-02-2020 09:20

ทุกข์ คือสิ่งที่ต้องทน ทนมาก ทนน้อย เป็นทุกข์หมด
สมุทัย สาเหตุที่เกิดทุกข์

พระพุทธเจ้าไม่พูดถึงสาเหตุก่อน แต่พูดถึงทุกข์ก่อน เพราะเวลาคนทั่วไปทุกข์ขึ้นมา จะไม่คิดถึงสาเหตุของทุกข์ รู้แต่ว่าทุกข์เหลือเกิน ทุกข์จนกระทั่งหาทางออกไม่ได้ ทุกข์มาก ๆ เข้า จึงค่อยไปหาสาเหตุ ถึงได้รู้ว่าทุกข์เพราะว่าเราอยากมากเกินไป

พระพุทธเจ้าตรัสอริยสัจตามสภาพจิตของคน จิตใจรู้สึกอย่างไรก็พูดแบบนั้น เจอทุกข์ รู้สึกทุกข์ พูดถึงทุกข์ก่อน พอเริ่มมีปัญญาหาทางออกจากทุกข์ ค่อยมาหาว่าสาเหตุของทุกข์คืออะไร

เถรี 13-02-2020 09:20

นิโรธ ความดับ
มรรค หนทางเข้าถึงความดับ

นิโรธกับมรรคก็เช่นกัน อยู่ ๆ ไฟที่กำลังไหม้อยู่ดับลง สบายเหลือเกิน ไม่ได้คิดหรอกว่าดับเพราะอะไร ก็เลยพูดถึงนิโรธคือความดับก่อน..ความเย็น..ความสบาย แล้วหลังจากนั้นพอร้อนใหม่ ทุกข์อีกแล้ว จึงค่อยหาทางดับ ดับได้..เย็น..สบาย ก็สรุปเอาทางดับมาไว้ทีหลัง คือมรรค ๘ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

เถรี 13-02-2020 09:21

เรื่องของการอธิษฐาน คนจะไปพระนิพพานชาตินี้ ต้องเห็นทุกข์ ต้องเข็ดกับความทุกข์ ถึงจะเบื่อหน่าย หมดความอยากเกิด ถ้าเราไม่ขยันพิจารณาทุกข์อย่างที่สอนไปเมื่อตอนกรรมฐานภาคเช้า ก็จะเกิดสภาพโดนบังคับให้ทุกข์ ถ้าโดนบังคับเมื่อไรก็จะสาหัส เพราะฉะนั้น..ถ้าอยากดำเนินชีวิตง่าย ๆ สะดวกราบรื่นแบบคนอื่น ก็ให้พิจารณาทุกข์ไว้ทุกวัน

เถรี 13-02-2020 09:22

พระพุทธเจ้าบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เสวยวิมุตติสุขอยู่ ๔๙ วัน กำลังอย่างพวกเราอยู่ไม่ไหว พระพุทธเจ้ามีกำลังเท่ากับช้างหนึ่งแสนเชือก ไม่ใช่เจ็ดช้างสารแบบพระอานนท์ กำลังขนาดนั้นเอามาจากแรงบุญ บุญบันดาลให้เป็นไป

แบบเดียวกับหลวงพ่อวัดท่าซุง ป่วยออด ๆ แอด ๆ มีอยู่วันหนึ่งร่างกายดีขึ้นมา บอกให้อาตมายกเครื่องโยกออกกำลัง ลักษณะคล้ายกรรเชียงเรือ มีสปริงขนาดแขนอยู่สองข้าง ท่านโยกไม่กี่ทีสปริงขาดเลย..!

ท่านเดินยังไม่ค่อยจะไหว แต่โยกสปริงขาด..! ต้องนึกถึงรถสิบล้อเครื่องไม่ดี วิ่งไม่เต็มสูบ สิบล้อวิ่งไม่เต็มสูบแต่ถ้าชนรถเก๋ง รถเก๋งจะเหลือไหม..? ก็แปลว่าลำพังกำลังตัวเองแบกน้ำหนักตัวเองไม่ไหว แต่การปะทะกับของอื่นเป็นเรื่องเล็ก


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
ปกิณกธรรม ช่วงบวชเนกขัมมะปีใหม่ ๒๕๖๓ ณ วัดท่าขนุน
วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย ทะเลและนาทาม)


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:55


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว