กระดานสนทนาวัดท่าขนุน

กระดานสนทนาวัดท่าขนุน (https://www.watthakhanun.com/webboard/index.php)
-   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน (https://www.watthakhanun.com/webboard/forumdisplay.php?f=43)
-   -   ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๑๐ (https://www.watthakhanun.com/webboard/showthread.php?t=3810)

ลัก...ยิ้ม 29-04-2015 11:21

๒. อย่ากังวลเรื่องสิ่งของ ต้องใจเย็นเพราะเป็นปกติธรรมของการเกิดเป็นมนุษย์ ไม่หาก็ไม่มีเครื่องอยู่ หาแล้วคำว่าพอดีก็ไม่ค่อยจักมี ส่วนใหญ่ให้รู้สึกว่าขาดและเกินพอดีมากกว่า การนึกเบื่อนั้นนึกได้ แต่จงอย่าเบื่อผสมความทุกข์เพราะขาดปัญญา ต้องเบื่อแล้วปล่อยวาง เห็นเป็นเรื่องธรรมดาไม่ทุกข์ จึงจักเป็นการวางอารมณ์ที่ถูกต้อง จึงต้องหมั่นพิจารณาอารมณ์ของจิต ให้ทราบความจริงว่า ที่อึดอัดขัดข้องอยู่นี้เป็นด้วยเหตุประการใด อย่าให้โมหะจริตหรือวิตกจริตครอบงำจิตให้มากเกินไป พิจารณาให้ลงตัวให้ได้ แล้วจิตจักมีความสุขเกิดขึ้นได้ อย่าให้ความกังวลใด ๆ มาเป็นตัวถ่วงความเจริญของจิต ใช้อริยสัจให้รู้ว่าจิตที่เสื่อมมีอะไรเป็นต้นเหตุ ให้รู้ว่าจิตที่เจริญมีอะไรเป็นต้นเหตุเช่นกัน อย่าให้จิตตกอยู่ในกระแสของโลกนานเกินไป พยายามให้จิตอยู่ในโลกพระนิพพานนานเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น

ลัก...ยิ้ม 07-05-2015 15:47

๓. ดูร่างกายมันโทรมลงทุกวัน ให้เห็นความตายใกล้เข้ามาทุกที จงอย่ามีความประมาทในชีวิต ให้คิดอยู่เสมอว่า ความตายจักเข้ามาถึงชีวิตได้เสมอ แล้วจงอย่าทำความรู้สึกเสียดายชีวิต เพราะหนีความตายไปไม่พ้น ร่างกายเท่านั้นที่ตาย ตัวเราคือจิตไม่มีวันตาย การเจ็บป่วยนี่แหละเป็นการวัดกำลังใจตนเองว่า ละ - วางร่างกายได้ขนาดไหน การรักษาจำเป็นต้องมีเพื่อระงับเวทนาตามหน้าที่ แต่จิตไม่กังวลห่วงใยในร่างกาย ให้ทำความรู้สึกเหมือนเราดูแลเด็กตามหน้าที่ แต่ใจทุกข์ร้อนในเด็กนั้นไม่มี หมายความว่ามีปัญญายอมรับความจริงเกี่ยวกับการมีร่างกาย ว่ามันก็ต้องเป็นธรรมดาอย่างนี้เอง (เกิด - แก่ - เจ็บ - ตายเป็นของธรรมดา) จิตจึงจักคลายหรือวางความวิตกกังวลลงได้ ถ้ากิเลสตัณหาไม่สิ้นไปจากจิตเพียงใด ละจากภพนี้ก็ไปสู่ภพหน้าอีก ให้ตั้งใจเอาไว้เลยว่าต่อไปคำว่าภพชาติจักไม่มีกับเราอีก มีมรณาฯ บวกอุปสมานุสติมั่นคงอยู่กับจิตตลอดเวลา

ลัก...ยิ้ม 20-05-2015 16:56

๔. อย่าฝืนโลก อย่าฝืนธรรม แล้วจิตจักเป็นสุข ให้สังเกตอารมณ์ของจิต มักจักฝืนความจริงอยู่เสมอ แม้กำลังป่วย ๆ อยู่นี้ กิเลสยังหลอกว่าพรุ่งนี้ - มะรืนนี้ หรือประเดี๋ยวก็หาย จิตมันหลอกเก่งมาก การเตรียมพร้อมที่จักไปพระนิพพาน จักต้องเห็นร่างกายพังได้ตลอดเวลา รู้ลม - รู้ตาย - รู้นิพพาน มีมรณาฯ และอุปสมานุสติทรงตัวตลอดเวลา มิใช่จักทำแต่เฉพาะตอนมีร่างกายเจ็บป่วยเท่านั้น นั่นแหละจึงจักไปพระนิพพานได้

ลัก...ยิ้ม 21-05-2015 11:36

๕. อย่าตีตนไปก่อนไข้ แต่การไม่ประมาทนั้นเป็นของดี เพราะชีวิตของคนเรานั้นสั้นนิดเดียว (โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับภพอื่น ๆ) ให้พิจารณาชีวิตตามความเป็นจริง แล้วจักเห็นสิ่งที่เป็นความตายแฝงอยู่ทุกลมหายใจเข้า - ออก แต่ในยามปกติร่างกายอุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุ ๔ คนเราจึงไม่มีความรู้สึกตามความเป็นจริง มีแต่ความรู้สึกสบาย ไม่เคยคิดว่ามันจักแปรปรวน ทั้ง ๆ ที่ร่างกายก็แปรปรวนของมันอยู่เป็นปกติตลอดเวลา ความโง่เข้ามาบดบังจิตทำให้มองความจริงไม่เห็น ต่อนี้ไปจักต้องคอยดูให้มาก ๆ เมื่อถึงเวลาละร่างกาย จิตจักได้ปล่อยวางได้

ลัก...ยิ้ม 27-05-2015 17:17

๖. อย่าย่นย่อต่อการสร้างความดี ให้ทำจิตให้มั่นคงไว้เสมอ ทำอะไรไม่หวังผลตอบแทน นอกจากพระนิพพานจุดเดียวเท่านั้น ให้โจทย์จิตเอาไว้เสมอ มองชั่วแก้ชั่วเท่านั้น ความดีก็จักเข้ามาถึงเอง เรื่องประการอื่น ๆ จงอย่ากังวลและห่วงใยให้มากนัก ทุกอย่างให้ทำเป็นหน้าที่เท่าที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จักทำได้ นอกเหนือจากนั้นก็รักษากำลังใจให้เสมอต้นเสมอปลาย อย่าท้อแท้ เพราะอุปสรรคทั้งหลายที่เข้าทดสอบจิตนี้แหละเป็นครู

ลัก...ยิ้ม 28-05-2015 14:03

๗. รักษากาย - วาจา - ใจ ให้เป็นสุข มีความผ่องใส ให้แน่วแน่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างทำเพื่อพระนิพพาน คือการกระทำกาย - วาจา - ใจ ให้อยู่ในกรอบของศีล - สมาธิ - ปัญญา แล้วใครที่ไหนอื่นก็ไม่สำคัญเท่ากาย วาจา ใจ ของตนเอง อย่าไปเพ่งโทษตำหนิใครที่ไหนอื่น ให้เพ่งโทษตำหนิกาย - วาจา - ใจ ของตนเองเข้าไว้ จักได้ประโยชน์กว่า

เรื่องทุกข์จากการเลี้ยงลูก คุณหมอเลี้ยงเขาได้แค่ตัวเท่านั้น จิตใจหาเลี้ยงกันได้ไม่ ทุกอย่างล้วนแต่เป็นกฎของกรรมเป็นเครื่องชี้ ไม่มีใครทำเอาไว้หรอก กฎของกรรมมีแต่ตัวเราเองทำเอาไว้แต่อดีตทั้งสิ้น ให้พิจารณาแล้วจงยอมรับนับถือในกฎของกรรม ยิ่งคุณหมอมุ่งต้องการหนีกรรมเพื่อพระนิพพานในชาตินี้ เจ้ากรรมนายเวรก็มุ่งตามทวงตามขอ เพื่อให้ชดใช้หนี้กรรมเป็นของธรรมดา หากคุณหมอได้ทิพจักขุญาณ จักสามารถเห็นเจ้ากรรมนายเวร ผู้ให้โทษทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หรือให้โทษทางเจ็บไข้ได้ป่วย เขามายืนทวงหนี้กรรมกันเป็นทิวแถว ที่คุณหมอกำลังโดนอยู่นี้ยังเบา หากคุณหมอไปเผลอเกิดอีกชาติละก็ จักถูกกฎของกรรมเล่นงานหนักยิ่งกว่าชาตินี้อีก ให้พิจารณาดูเอาเถิด รักษากาย - วาจา - ใจ ให้มั่นคง อย่าได้ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งหลายทั้งปวงที่เข้ามารุมเร้า รักษากำลังใจให้ตั้งมั่น อดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ได้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้

ลัก...ยิ้ม 18-06-2015 18:11

๘. ร่างกายที่เห็น ๆ อยู่นี้เป็นของใครก็ไม่รู้ ดูให้ถนัด ๆ จักเห็นสภาวะธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีอากาศธาตุและวิญญาณธาตุเข้ามาอาศัยอยู่เท่านั้น เป็นสมบัติของโลกซึ่งไม่มีใครสามารถจักเอาไปได้ ถ้าหากยังหลงติดอยู่ในร่างกาย ก็เท่ากับถูกจองจำอยู่ในโลกไม่มีที่สิ้นสุด ไป ๆ มา ๆ เกิด ๆ ดับ ๆ อยู่กับร่างกาย ไม่มีทางหลุดพ้นออกไปได้

ในเมื่อพวกเจ้าต้องการถึงที่สุดของตัณหา ก็จงพิจารณาร่างกายให้ปรากฏชัดถึงอาการ ๓๒ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ สิ่งเหล่านี้เป็นของใคร ของเราหรือ ยึดได้ไหม พิจารณา..อย่าสักแต่ว่ารู้อย่างเดียว จิตยังไม่แจ้งแทงตลอด จิตรู้แต่ก็ยังไม่วางร่างกาย ยังคงยึดมั่นถือมั่นอยู่ จักต้องให้แจ้งแทงตลอดขึ้นมาในจิตนั่นแหละ จึงจักวางร่างกายลงได้อย่างสนิท (รู้แค่สัญญาเท่ากับรู้ไม่จริง เดี๋ยวก็ลืม รู้จริงต้องรู้ด้วยปัญญา)


อนึ่ง..ในวันนี้เจ้าได้ทำกระทงถวายให้แก่ท่านพระ...เป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา แล้วใส่เงิน ๑๐๘ บาท เป็นการทำพิธีสะเดาะเคราะห์รับพระเสวยอายุทั้งปี เรื่องนี้เป็นผลดีมาก แต่ต่อไปให้ทำทุกปี ปีละครั้ง จักได้ต่อเนื่องกันไป

ลัก...ยิ้ม 19-06-2015 17:53

๙.เรื่องของร่างกาย ต้องหมั่นดูหาความจริงเอาไว้เสมอ จักได้มีปัญญาเกิดขึ้นกับจิต มิใช่ท่องจำเอาเป็นเพียงสัญญา รู้สักเพียงแต่ว่ารู้แค่สัญญาก็วางอะไรไม่ได้เลย (ทรงตรัสสอนอุบายไว้มากมายหลายวิธี ตามจริตนิสัยของคนซึ่งทำกรรมมาไม่เหมือนกัน ใครพอใจวิธีใดก็หมั่นพิจารณาวิธีนั้น) ให้มองชีวิตร่างกายที่เห็นอยู่นี้มันเป็นของใครก็ไม่รู้ มันคืออะไรกันแน่ เป็นของเราหรือของใคร เที่ยงหรือไม่เที่ยง สกปรกหรือสะอาด ควรยึดหรือไม่ควรยึด ดูให้ชัด ๆ จึงจักต้องฝึกสติสัมปชัญญะ (สติ - สมาธิ - ปัญญา หรือสมถะวิปัสสนา ความจริงมันก็ตัวเดียวกัน) จิตมันชินอยู่กับกิเลสมานานแสนนานจึงต้องใช้ปัญญาหาความจริงให้พบว่า ร่างกายชีวิตมันหลอกเรา หรือว่าอารมณ์จิตของเราหลอกเราเอง ดูให้ชัด ๆ หมั่นดูบ่อย ๆ จึงจักวางอุปาทานขันธ์ลงได้ ฝึกจิตให้หมั่นดูกาย พิจารณาชีวิตให้เห็นถึงที่สุดของความทุกข์ นั่นแหละจึงจักวางทุกข์ลงได้ การฝึกต้องไม่ใจร้อน ให้ค่อยๆ ฝึกจิตไป แต่ก็อย่าแชเชือน ปล่อยปละละเลย ให้กรรมฐานว่าไปจากจิต (ไม่ตึง ไม่หย่อนไป ให้เดินสายกลาง) จะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ให้ดูอารมณ์จิตเอาไว้ด้วย

ลัก...ยิ้ม 26-06-2015 17:04

๑๐.ร่างกายมันเสื่อมลงทุกวัน นี่แหละอริยสัจหรือความจริงของร่างกาย ซึ่งทุกรูปทุกนามเหมือนกันหมด ไม่มีใครหนีความจริงไปได้ ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้ดูร่างกายตามความเป็นจริงอยู่เสมอ พิจารณาให้เห็นอยู่เนือง ๆ จนกระทั่งจิตวางร่างกายให้เป็นไปตามกฎของธรรมดา การอยู่จักต้องดูแลรักษาไปตามหน้าที่ แต่ถ้าหากมันตายจิตก็ไม่ผูกพัน ไม่ฝืนโลก ไม่ฝืนธรรม พร้อมที่จักปล่อยวางได้ในทันทีทันใด จุดนี้สำคัญมาก หากประมาทไม่หมั่นฝึก หมั่นซ้อมให้ชำนาญให้ผ่านจุดนี้ การจักเข้าถึงซึ่งพระนิพพานก็เป็นของยาก พิจารณาวันละเล็กวันละน้อย ให้จิตมันชินอยู่กับการพิจารณาร่างกาย ทำบ่อย ๆ ฝึกจิตให้เห็นความเป็นจริงของร่างกาย จิตก็จักคลายการเกาะติดร่างกายลงได้ทีละน้อย จนในที่สุดจักปล่อยวางร่างกายลงได้สนิท จงอย่าทิ้งความพยายาม (ความเพียรหรือวิริยบารมี) ก็แล้วกัน ทำไปแล้วจักเห็นผลเอง เฉพาะตัวของใครของมัน (ธรรมของตถาคตเป็นปัจจัตตัง ถึงแล้วจะรู้เอง)

ลัก...ยิ้ม 30-06-2015 16:54

๑๑. อย่ากังวลกับชะตากรรมของใครทั้งปวง หัดปล่อยวางด้วยการตรวจดูความกังวลของจิตอยู่เสมอ แล้วหาเหตุหาผลให้จิตยอมรับถึงกฎของความเป็นจริง คือไม่มีใครสามารถหนีกฎของกรรมได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ว่าคน สัตว์ วัตถุธาตุ ไม่มีอันใดทรงตัวได้เลย แม้ร่างกายที่จิตเราอาศัยชั่วคราว จิตคือเรา จึงยึดถืออะไรในโลกซึ่งไม่เที่ยง เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่ได้สักอย่างเดียว

พิจารณาถามตอบ หาเหตุหาผลให้พบ จิตจักเป็นผู้รู้ มีปัญญา มีสติสัมปชัญญะ จิตก็จักไม่ไปผูกพันกับโลกและขันธโลกให้เกิดทุกข์อีก จิตจักวางได้เองเป็นอัตโนมัติ (พระธรรมเปรียบประดุจเหมือนแพ ช่วยพยุงเราไม่ให้จมน้ำตาย พาเราไปให้ถึงฝั่ง เมื่อถึงฝั่งแล้วก็ไม่มีใครแบกแพเอาไปด้วย หรือไม่จำเป็นต้องแบกแพไปด้วย)

ลัก...ยิ้ม 03-07-2015 10:42

๑๒. มองทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ล้วนไม่เที่ยง ให้เห็นเป็นธรรมดา ความกังวลใจก็จักไม่มี การจักไปพระนิพพานต้องเห็นธรรมดาให้มาก และยอมรับนับถือให้มากด้วย ให้เห็นธรรมดาภายในด้วย (สันตติภายในคืออารมณ์จิตและพระธรรม เกิดดับอยู่เสมอ) เห็นธรรมดาภายนอกด้วย (สันตติภายนอกคือร่างกายกับเวทนาเกิดดับ ๆ อยู่เสมอ) พิจารณาธรรมดาให้มาก ๆ จิตจึงจักวางได้ เช่นร่างกายนี้ไม่ใช่แก่นสารก็จริงอยู่ แต่ในยามนี้กิเลสยังไม่สิ้น อายุขัยก็ยังไม่หมด จิตนี้อาศัยร่างกายอยู่เสมือนเรือนแพที่จำเป็นต้องอาศัยเพื่อข้ามฝั่ง การยังอัตภาพให้เป็นไป จึงยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จักไม่เป็นที่เบียดเบียนแก่จิตผู้อาศัย ร่างกายสุขจิตก็สุข ถ้าร่างกายเป็นทุกข์จิตก็เป็นสุขยาก ยกเว้นพระอรหันต์เท่านั้น ที่ท่านสุขอย่างอุกฤษฏ์ เพราะท่านแยกจิต แยกกาย แยกเวทนา แยกธรรมออกจากกันได้สนิทเท่านั้น

การแยกกาย เวทนา จิต ธรรมมาจากไหน ก็มาจากการพิจารณาธาตุ ๔ อาการ ๓๒ อันทำให้เกิดเวทนาในรูปแบบต่าง ๆ หรือจากการพิจารณาขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ก็ทำให้เข้าใจในเวทนาในรูปแบบต่าง ๆ ได้ เมื่อพิจารณาไป ๆ พอจิตละเอียดลงก็ปล่อยวางกาย เวทนา จิต ธรรมให้ลงเหลือสักแต่ว่าเท่านั้น จากการพิจารณาธรรมจุดนี้หนักเข้า จักเห็นธรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่ใช่เรา จิตอยู่ส่วนจิต กายอยู่ส่วนกาย เวทนาอยู่ส่วนเวทนา ธรรมอยู่ส่วนธรรม เห็นแจ้งแทงตลอดก็เรียกว่าถึงฝั่งพระนิพพาน พิจารณาเข้าไว้ อย่าละซึ่งความเพียร แล้วโอกาสจักไปพระนิพพานก็เป็นของไม่ยาก

ลัก...ยิ้ม 09-07-2015 11:51

๑๓. อย่าสนใจกรรมของบุคคลอื่น ให้พิจารณาลงตัวธรรมดาให้หมด ไม่มีใครหนีกฎของกรรมไปได้พ้น ถ้ายังไม่เข้าถึงพระนิพพานเพียงใด ก็ชื่อว่ายังไม่หมดกรรมเพียงนั้น ใครจักว่าการไปพระนิพพานเป็นของง่ายก็พึงอย่าไปคัดค้าน เพราะนั่นเขายังไม่รู้จักการไปพระนิพพานจริง แล้วจงอย่าไปเถียงเขา เพราะยากหรือง่ายของใครก็ไม่สำคัญ สำคัญอยู่แต่จิตของเราเท่านั้น ว่าไปได้ง่ายหรือไปได้ยาก แล้วใครตายแล้วไปพระนิพพานได้หรือไม่ได้ จงอย่ายืนยัน เพราะเวลานี้ไม่มีใครรับรองธรรมเหล่านี้ ท่านฤๅษีก็ได้ไปพระนิพพานแล้ว พูดไปก็สองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง ใครไปได้แค่ไหนก็เรื่องของเขา หันมาเอาจิตของตนเองให้ไปได้เสียก่อนเป็นดี

ลัก...ยิ้ม 15-07-2015 14:13

๑๔. พระอรหันต์ท่านไม่เบียดเบียน กาย วาจา ใจ ตนเองแล้ว จึงไม่เบียดเบียนกาย วาจา ใจ ของบุคคลอื่น พวกเจ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็พึงปฏิบัติตามท่านผู้จบกิจเหล่านั้น เรื่องความเป็นพระอริยเจ้าหรือไม่ จงอย่ารับรองตนเอง ให้พยายามปฏิบัติกาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อยอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยมัชฌิมาปฏิปทาตามท่านผู้เป็นพระอริยเจ้าเหล่านั้นก็เป็นพอ ทำอะไรให้นึกถึงความพอดีเข้าไว้ แต่อย่าดีตามกิเลสในจิตของตน ให้ดีตามศีล สมาธิ ปัญญา และดีให้เหมาะให้ควรแก่เหตุ แก่ผล แก่สังคมที่ตนอยู่นั้น ๆ ด้วย คือไม่ขัดต่อระเบียบของสังคมและกฎหมายด้วย

ตราบใดที่ยังมีร่างกายและอยู่ในวงสังคม จักเป็นชาวโลกหรือชาววัดก็ดีล้วนแล้วแต่เป็นสังคม มีกฎเกณฑ์ มีระเบียบวินัย มีกฎหมายปกครองทั้งสิ้น การอยู่อย่างมีระเบียบวินัยตามกฎที่เขาให้จักมีความสุข ไม่เป็นที่ขัดแข้งกับผู้ปกครอง ก็เรียกได้ว่าเป็นผู้อยู่ในที่สมควร

ลัก...ยิ้ม 24-07-2015 13:41

๑๕. ทำกำลังใจให้สบาย ๆ แล้วหมั่นทำกำลังใจให้เต็ม มองเจตนาของจิตให้ทราบชัดว่า ขณะจิตนี้หรือทุก ๆ ขณะจิตที่ทำกิจทุก ๆ อย่างนี้ ทำเพื่ออะไร ให้มุ่งทำกิจทั้งภายนอกและภายในเพื่อพระนิพพานนั่นแหละสมควร เพราะที่สุดของชีวิตก็คือความตาย ตายแล้วก็ไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้สักคน ที่สุดของโลกแล้วก็ไม่มีอะไรเหลือ จึงจักเอาอะไรมาเป็นที่พึ่งได้เล่า นอกจากพระธรรมคำสั่งสอนของตถาคตซึ่งเที่ยงแล้ว ไม่เสื่อม ไม่ดับตลอดกาล เป็นที่พึ่งได้ จุดนี้ต้องทำกำลังใจให้เต็มอยู่เสมอ วันนี้ให้ดูกำลังใจเกี่ยวกับกิจเพื่อพระนิพพานอย่างเดียว ว่ามั่นคงดีอยู่หรือพร่องลง เป็นเพราะประการใดบ้าง แล้วจักเห็นประโยชน์ของการดูกำลังใจตรงนี้

ลัก...ยิ้ม 29-07-2015 16:54

๑๖. ร่างกายที่เห็นอยู่นี้เป็นสมบัติของโลก ไม่มีใครเอาไปได้ ไม่ใช่ของเราหรือของใคร จงอย่าไปคิดว่าจักตายเร็วหรือตายช้า (อยากให้ตายเร็วหรือตายช้าเป็นตัวตัณหา) อารมณ์ที่ถูกต้องจักต้องเห็นร่างกายอยู่ในธรรมปัจจุบัน เห็นตัวเกิดตัวดับอยู่ตลอดเวลาเป็นสันตติ เห็นความตายเป็นของเที่ยง ไม่มีใครหนีพ้น จึงไม่จำเป็นที่จักต้องดิ้นรน ใครที่ยังกลัวตายจึงเป็นอารมณ์หลงที่ฝืนโลกฝืนธรรม ทำจิตให้เศร้าหมอง เป็นทุกข์ อารมณ์จิตที่ถูกต้องคืออารมณ์ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาในสัทธรรม ๕ (เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของธรรมดา) เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต พร้อมตายและซ้อมตายอยู่เป็นปกติธรรม กายพังเมื่อไหร่.. จิตเข้าถึงพระนิพพานเมื่อนั้น หรือจิตเกาะพระนิพพานตลอดเวลาที่มีสติกำหนดรู้ จุดนี้ผู้ไม่เผลอไม่พลาดเลยคือพระอรหันต์เท่านั้น

ลัก...ยิ้ม 31-07-2015 11:58

๑๗. นิพพานัง ปรมังสุขขัง คำภาวนาประโยคนี้ให้เตือนใจเตือนสติตนเองเอาไว้อยู่เสมอ จักได้ไม่ลืมจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ ดังนั้น..การปฏิบัติธรรมแล้วเห็นทุกข์ได้ตามความเป็นจริงจึงเป็นการถูกต้อง เพราะหากไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้ต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ก็พ้นทุกข์ไม่ได้ จุดนี้ก็คือเห็นอริยสัจนั่นเอง อริยสัจคือตัวปัญญาสูงสุดในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ต่างก็บรรลุเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยอริยสัจ และพระสาวกทุกองค์ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ด้วยอริยสัจ มีทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ทรงตรัสสั้น ๆ เท่านี้ เพื่อให้เอาไปคิดพิจารณาให้มาก แล้วจักเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง และละ หรือตัดสังโยชน์ได้ในที่สุด

ลัก...ยิ้ม 11-08-2015 16:59

๑๘. การไปพระนิพพานไม่ใช่ของง่าย การตั้งปรารถนาว่าจักไปพระนิพพานนั้น ใคร ๆ ก็สามารถตั้งได้ แต่การที่จักไปพระนิพพานได้นั้น จักต้องอาศัยการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อละความโกรธ โลภ หลง หากละได้ก็ไปได้ ละไม่ได้ก็ไปไม่ได้ นักปฏิบัติย่อมรู้อยู่แก่ใจตนเอง คนละได้จริงเขาไม่โอ้อวด และไม่มีใครเขารับรองตนเองด้วย แล้วจงอย่าไปรับรองคนอื่นด้วย ส่วนการยกย่องกันย่อมมี เป็นการให้กำลังใจ แต่การนินทาให้ร้ายไม่มี ถ้าจำเป็นต้องพูดก็พูดโดยธรรม จิตที่เป็นอคตินั้นไม่มี นั่นแหละเป็นวิสัยของพระอริยเจ้า

ลัก...ยิ้ม 17-08-2015 17:56

(พระธรรม ที่ทรงตรัสสอนในเดือนธันวาคม ๒๕๔๐)

ปกิณกธรรม

สมเด็จองค์ปฐม ทรงตรัสสอนปกิณกธรรมไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. พิจารณาตัวธรรมดาให้มาก ๆ อย่าพิจารณาเพียงแค่ผิวเผิน จักต้องพิจารณาให้ลึกลงไป ให้ละเอียดลงไป จนกระทั่งจิตมันยอมรับในธรรมดานั้น เมื่อถึงที่สุดของจิตที่ยอมรับธรรมดา จิตจักไม่ดิ้นรน มีความสุขอย่างอุกฤษฏ์ สุขในทุก ๆ สภาพ แม้หน้าที่การงานจักเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ก็สักแต่ว่าหน้าที่การงานเท่านั้น จิตหาได้มีความเร่าร้อนหรือดิ้นรนไปด้วยไม่ จุดนี้จักต้องดูจิตให้ดี ๆ พิจารณาอารมณ์ของจิตให้จงหนัก

ลัก...ยิ้ม 19-08-2015 11:29

๒. อย่าไปมุ่งเอาชนะใคร ให้ชนะใจของตนเองเท่านั้นเป็นพอ อะไรเกิดขึ้นกับเราให้อดทนเข้าไว้ ไม่ช้าไม่นานทุกอย่างก็จักสงบไปเอง จำไว้..ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ใครจักนินทาว่าร้าย จงอย่าไปต่อกรรมกับเขา อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่น การสนทนาพาดพิงถึงใครให้ระมัดระวังให้มาก เพราะจักมีคนคอยจับผิด ถ้าไม่สำรวมก็จักเป็นการสร้างศัตรูให้เกิดโดยไม่ตั้งใจ

ลัก...ยิ้ม 25-08-2015 11:34

๓. อย่ากังวลใจในเหตุการณ์ข้างหน้า ทำอะไรอย่าคาใจ (เพราะเป็นอารมณ์กังวลใจ เป็นวิจิกิจฉา) ไม่ว่างานใด ๆ ที่ทำ ให้รักษากำลังใจให้เสมอกันว่า ทำเพื่อพระพุทธศาสนา ทำเพื่อพระนิพพาน เช่น ฟังวิกฤติการณ์ของบ้านเมืองแล้ว ทำให้จิตยอมรับธรรมดา ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป ไม่มีที่ใดในโลกจักหนีกฎธรรมดาอันนี้ได้พ้น ขันธโลกเป็นอย่างไร โลกภายนอกก็เป็นอย่างนั้น มีเกิด - แก่ - เจ็บ - ตายเหมือน ๆ กันหมด อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องผิดธรรมดา


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 03:49


ค้นหาในเว็บวัดท่าขนุน

เว็บวัดท่าขนุน Powered by vBulletin
Copyright © 2000-2010 Jelsoft Enterprises Limited.
ความคิดเห็นส่วนตัวทุก ๆ ข้อความในเว็บบอร์ดนี้ สงวนสิทธิ์เฉพาะเจ้าของข้อความ ไม่อนุญาตให้คัดลอกออกไปเผยแพร่ นอกจากจะได้รับคำอนุญาตจากเจ้าของข้อความอย่างชัดเจนดีแล้ว