PDA

View Full Version : จริตทั้ง ๖


เถรี
22-08-2009, 15:06
จริต คือ ความเป็นไปของจิต มี ๖ อย่าง ด้วยกัน คือ

พุทธิจริต- ประกอบไปด้วยความฉลาดเป็นปกติ

ศรัทธาจริต- ประกอบไปด้วยน้อมใจเชื่อเป็นปกติ

โทสะจริต- เป็นคนมักโกรธเป็นปกติ

วิตกจริต - เป็นคนที่คิดไม่ได้ตรองไม่ตก ละล้าละลังเป็นปกติ

โมหะจริต- เป็นบุคคลที่มีกำลังใจมืดมนเป็นปกติ

ราคะจริต- เป็นบุคคลที่มีความรักสวยรักงามเป็นปกติ


ในแต่ละจริตนั้น มันล้วนแล้วแต่มีอยู่ในใจของเรา ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง ๖ ประการ เพียงแต่ว่า อย่างใดอย่างหนึ่งที่มันจะเด่นขึ้นมา อันนี้ต้องสังเกตเอง

เถรี
22-08-2009, 15:10
พุทธิจริต - เป็นคนฉลาด ฟังอะไรครั้งเดียวจำได้ สามารถที่จะทำอะไรได้คล่องตัว มีความเข้าใจแตกฉานในสิ่งต่าง ๆ

ราคะจริต - มีความรักสวยรักงามเป็นปกติ จิตมีความปราณีตละเอียด ทำอะไรทำแล้วทำอีก ถ้าหากว่าไม่ดีไม่เลิก

ศรัทธาจริต - เขาว่าอะไรดี ที่ไหนดี เราก็เชื่อ และต้องการไปยังสถานที่นั้น ไปกระทำสิ่งนั้น ๆ อันนี้เป็นศรัทธาจริต

โทสะจริต - เป็นคนมักโกรธ ฟังอะไร กระทบอะไร เห็นอะไรไม่ได้ เกิดโทสะขึ้นมาโดยพลัน

วิตกจริต - เป็นคนที่คิดไม่ตก ตรองไม่ตก กังวลอยู่เสมอ

โมหะจริต - เป็นคนที่หาปัญญาไม่ได้ คนอื่นเขามองเห็นช่องทางง่าย ๆ ของเราเองทำแล้วทำอีก ควานแล้วควานอีก ไม่ตรงเป้าเสียที

เถรี
22-08-2009, 15:15
พุทธิจริตนั้น - ท่านให้ใช้ กายคตานุสติ มรณานุสติ คือการระลึกถึงความเป็นจริงของร่างกายนี้ ตลอดจนกระทั่งความตาย และอุปสมานุสติ คือการระลึกถึงพระนิพพานอยู่เสมอ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เหมาะแก่ท่านผู้ที่เป็นพุทธิจริต เพราะว่าปัญญาท่านมาก สิ่งที่คนอื่นมองเห็นได้ยาก ท่านก็เห็น

ศรัทธาจริต- ท่านให้ระลึกใน พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นปกติ ว่ามีคุณความดีอย่างไร ? ในสีลานุสติ จาคานุสติ ให้ระลึกถึงคุณของการรักษาศีล การบริจาคให้ทานเป็นปกติ

ราคะจริต- ท่านให้ใช้ อสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ กอง พิจารณาให้เห็นว่า สภาพร่างกายของเรา ที่แท้จริงมันมีความไม่สวยไม่งามอย่างไร คนอื่นมันมีความไม่สวยไม่งามอย่างไร และให้ใช้กายคตานุสติกรรมฐาน คือให้เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้ ว่ามันไม่สวยไม่งาม มีแต่ความสกปรกเป็นปกติ ประกอบไปด้วยอวัยวะภายนอก ภายใน ใหญ่น้อยทั้งปวง ไม่ดูแล ไม่รักษา ไม่ขัดสีฉวีวรรณมัน แค่วันสองวัน กลิ่นมันก็เหม็นจนทนไม่ได้

โทสะจริต- ท่านให้ใช้ พรหมวิหารทั้ง ๔ ข้อ คือให้มีความรักเขา เสมอตัวเรา ความสงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์ ความยินดี เมื่อเขาได้ดีมีสุข และเมื่อไม่สามารถที่จะทำอะไร ตามกำลังความสามารถได้แล้ว ก็ให้ปล่อยวาง หรือใช้วรรณกสิณทั้ง ๔ คือเพ่งสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาวเป็นปกติ เพื่อที่จะรักษาอารมณ์ทรงตัว ต่อต้านอารมณ์ของโทสะได้

วิตกจริตกับโมหะจริต- ท่านให้ใช้อานาปานสติกรรมฐาน คือ ดูลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว เพราะว่าสองจริตนี้ ถ้าให้ทำอย่างอื่น กำลังใจของท่าน จะก้าวไม่ถึงจุดนั้น

เราเองก็มาพิจารณาดูว่า ตัวเราเหมาะกับจริตไหน สมควรแก่กรรมฐานกองไหน เพราะว่าจริตทั้งหกนี้ มันมีครบถ้วน ขึ้นอยู่กับว่า อันไหนที่มันเด่นออกมา เมื่อพิจารณาเห็นแล้ว ถ้ามีกรรมฐานหลายกอง ที่เหมาะกับจริตของเรา ให้เลือกกองที่เราชอบใจที่สุด รักมากที่สุด แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำกองนั้นไป มันก็จะได้ผล


คัดลอกจากหนังสือกรรมฐาน ๔๐
เรื่อง สีลานุสติ
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ

เถรี
22-08-2009, 15:30
หลวงพ่อเล็กเคยบอกว่าพุทธิจริตกับโทสะจริตจะคล้าย ๆ กัน คือ เป็นคนตัดสินใจรวดเร็ว ทำอะไรเร็วเหมือนกัน เพียงแต่ว่าพุทธิจริตจะใจเร็ว ไม่ใช่ใจร้อน แต่โทสะจริตจะใจร้อน ขี้โมโห