PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันเสาร์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒


เถรี
26-07-2009, 10:11
ทุกคนนั่งในท่าของตนเองที่สบาย หายใจเข้าออกยาว ๆ สักสองสามครั้ง เพื่อระบายลมหยาบให้หมดไป เมื่อเวลาลมละเอียด จะได้ไม่เกิดอาการแปลก ๆ กับร่างกาย จากนั้นให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจของเรา หายใจเข้ากำหนดรู้ตามเข้าไป หายใจออกกำหนดรู้ตามออกมา หายใจเข้าผ่านจมูก....ผ่านกลางอกลงไปสู่ที่ท้อง หายใจออกจากท้อง....ผ่านกลางอกไปสุดที่ปลายจมูก พร้อมกับคำภาวนาที่เราถนัด
จะเป็นพุทโธ นะมะพะธะ สัมมาอะระหัง พองหนอยุบหนอ หรือกรรมฐานกองใดกองหนึ่งที่เราถนัดก็ได้

สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจคือว่า การปฏิบัติกรรมฐานนั้นให้ใช้กองเดิมอยู่เสมอ จนกว่าจะทำได้ถึงที่สุดแล้วจึงค่อยเปลี่ยนกองใหม่ แม้ว่าเราจะทำกองใหม่ได้แล้วก็ต้องย้อนทวนของเก่าอยู่เสมอ ๆ ด้วย เนื่องจากถ้าหากเรายังทำของเก่าไม่ได้ แล้วไปเปลี่ยนทำกรรมฐานกองใหม่ ก็จะเป็นอย่างที่เคยเปรียบว่าเหมือนคนขุดบ่อ ตั้งใจจะเอาน้ำ แต่ไม่เคยถึงน้ำเสียที ลงไปได้ระยะหนึ่ง พอรู้สึกว่าที่อื่นน่าจะดีกว่า ก็ย้ายที่ไป พอขุดลงไปได้อีกหน่อย อีกที่น่าจะดีกว่า ก็ย้ายที่ไป ถ้าเราทำอย่างนี้จะกลายเป็นคนขยันทำงานบ่อย แต่ผลงานที่เป็นเนื้อเป็นหนังอย่างแท้จริงจะไม่มี ดังนั้น..ใครเคยถนัดแบบไหน ทำกรรมฐานอย่างไรมา ให้ทำตามความถนัดของตน เพียงแต่อย่าทิ้งลมหายใจเข้าออก เนื่องจากว่าอานาปานสติเป็นพื้นฐานใหญ่ของกรรมฐานทั้งปวง

วันนี้ตรงกับวันที่ ๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ เป็นที่น่ายินดีว่า มีคนมาสอบถามปัญหาในการปฏิบัติ หลายรายที่มีความก้าวหน้าในการภาวนามากขึ้น แต่เหตุที่ไม่ก้าวหน้าไปมากกว่านั้น มีหลายสาเหตุด้วยกัน ประการที่หนึ่ง คือ ให้ความสนใจกับร่างกายมากเกินไป เมื่อรู้สึกว่าร่างกายจะชา แข็ง ก็ไปสนใจอยู่กับร่างกาย ร่างกายมันโยกโคลง มันน้ำตาไหล ก็ไปสนใจอยู่กับร่างกาย ถ้าหากว่าเป็นเช่นนี้เราจะก้าวไม่พ้นจุดที่ติดขัดอยู่ ดังนั้น..ในขณะที่เราทำความดีอยู่ แม้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายก็ตามอย่าไปสนใจ ต่อให้มันไม่หายใจ อึดอัดจะขาดใจลงเดี๋ยวนั้นก็ต้องยอม คิดเสียว่าเราทำความดีอยู่ ถ้าเราตายตอนนี้เราไปดีแน่นอน ถ้าตัดสินใจอย่างนี้ได้ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจึงจะมีได้

ประการต่อไปก็คือว่า การที่เราไม่ก้าวหน้านั้นเกิดจากความช่างสงสัย นำสิ่งที่เรารู้ไปเปรียบเทียบกับอารมณ์กรรมฐานที่เกิดขึ้น ขอบอกว่าถ้าทำอย่างนั้น โอกาสที่จะก้าวหน้ามีน้อยมาก เพราะว่าอารมณ์ปฏิบัติจริง ๆ ที่เป็นปัจจัตตังนั้น ละเอียดกว่าคำพูดหรือตัวหนังสือที่จะอธิบายได้ เราจะเข้าใจตามคำอธิบายหรือตัวหนังสือแค่เพียงผิวเผินเท่านั้น จนกว่าจะได้พบกับอารมณ์การปฏิบัติที่แท้จริง จึงจะเข้าใจว่า ที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกมานั้น หมายถึงอย่างนี้นี่เอง

ในประการสุดท้ายที่ทำให้เราไม่ก้าวหน้า เพราะว่าเมื่อผ่านขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ที่เกิดความรู้สึกว่าดี อย่างเช่น ปีติเกิดขึ้น ความสุขเกิดขึ้น หรือเอกัคคตารมณ์ อารมณ์ที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียวเกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาปฏิบัติเราก็อยากให้มีอย่างนั้น เราอยากให้เป็นอย่างนั้น แล้วก็คอยไปจดจ้องตามดู ว่าเมื่อไรมันจะเป็น ครั้งก่อนขั้นตอนเป็นอย่างนี้ ถึงเวลาแล้วจะเป็นอย่างนี้ ต่อไปมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้าไปตามจี้อยู่อย่างนี้ อารมณ์ใจจะไม่มีทางเข้าถึงจุดที่ตัวเองต้องการ เพราะว่ามันกลายเป็นอุทธัจจกุกกุจจะ เป็นความฟุ้งซ่านใจของตนเอง อารมณ์ก็จะไม่รวมลงในสิ่งที่เราต้องการ

ดังนั้นแม้เรื่องเหล่านี้จะเป็นเรื่องพื้นฐานของการปฏิบัติก็ตาม แต่บางทีโดยสัญชาตญาณของเรา เราก็อดไม่ได้ที่จะไปข้องแวะ ที่จะไปเกี่ยวข้องกับอารมณ์ใจทั้งหลายเหล่านี้ จึงทำให้เราหาความก้าวหน้าไม่ได้

เถรี
26-07-2009, 10:17
ดังนั้น..ให้ทุกท่านทำใจเลยว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้นก็ตาม เรามีหน้าที่รับรู้ไว้เท่านั้น ร่างกายมันจะชาให้รู้ว่ามันชา ร่างกายมันจะแข็งให้รู้ว่ามันแข็ง ลมหายใจมันจะเบาให้รู้ว่ามันเบา ลมหายใจจะไม่มีให้รู้ว่าไม่มี คำภาวนายังมีอยู่ก็กำหนดรู้คำภาวนาไป คำภาวนาไม่มีก็กำหนดรู้คำภาวนาไม่มี ทำใจในลักษณะของคนดู อย่าโดดลงไปเป็นผู้เล่นเสียเอง ถ้าสามารถเอาใจตามดูอารมณ์ที่เกิดขึ้น สภาพที่เกิดขึ้น เป็นคนดูอย่างเดียวโดยไม่ข้องเกี่ยวกับมัน ความก้าวหน้าในการปฏิบัติจะเกิดขึ้น เพราะเมื่อจิตของเราไม่ไปข้องแวะกับอารมณ์ต่าง ๆ นั้น มันก็จะดิ่งลึกลงไปตามสภาพของมัน ท้ายสุดก็สามารถทรงเป็นฌาน ๔ ได้

เมื่อทรงฌานจนเต็มที่แล้ว โดยสภาพปกติก็คือ สมาธิจะถอนออกมาเอง ยกเว้นบุคคลที่ซักซ้อมการเข้าออกสมาธิจนมีความคล่องตัว ก็จะสามารถถอนอารมณ์ออกมาได้ทุกเวลาที่ต้องการ ถ้าหากว่าอารมณ์ใจมันถอนออกมาเมื่อไหร่ ไม่ว่าจะโดยความต้องการของตน หรือโดยปกติของมันที่จะต้องถอนออกมาก็ตาม ให้คิดในสิ่งที่เป็นวิปัสสนาญาณ ก็คือ ให้คิดเห็นไตรลักษณ์ก็ดี คิดตามอริยสัจก็ดี หรือคิดตามนัยวิปัสสนาญาณ ๙ ก็ดี พยายามตะล่อมความคิดทั้งหลายให้เข้ามาในจุดเหล่านี้ ไม่อย่างนั้นมันจะฟุ้งซ่านไปในรักโลภโกรธหลง และจะฟุ้งซ่านเป็นหลักเป็นฐานอย่างชัดเจนมาก ๆ เพราะว่ามีกำลังสมาธิไปช่วย เราต้องใช้กำลังสมาธิมาช่วยในการคิดวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่เอากำลังสมาธิไปฟุ้งซ่าน

การพิจารณานั้นถ้าเราถือไตรลักษณ์เป็นหลัก ก็ขอแจ้งให้ทุกท่านทราบว่าถ้าตราบใดการปฏิบัติของเรายังไม่เห็นไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นตัวตนให้ยึดถือมั่นหมายได้ ตราบนั้นเราไม่สามารถเรียกตัวเองเป็นนักปฏิบัติที่แท้จริงได้

การปฏิบัติต้องพยายามมองให้เห็น ดูให้เห็น อย่างที่กล่าวไว้ในธรรมนิยามที่ว่า สัพเพ สังขารา อนิจจาติ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุธาตุ เป็นสิ่งของใด ๆ ก็ตาม มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และสลายตัวไปในที่สุด เป็นปกติ เป็นสภาพธรรมดาของมัน สัพเพ สังขารา ทุกขาติ สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ถ้าเราไปยึดถือมั่นหมาย ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ เพราะว่าสภาพมันบังคับบัญชาอย่างใจไม่ได้ เราก็จะเกิดความทุกข์ขึ้น สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ท้ายสุดทุกสิ่งทุกอย่างก็ไม่เหลืออะไรเป็นตัวตนเราเขาได้ มันต้องเสื่อมสลายตายพังไปหมดสิ้น

เถรี
26-07-2009, 10:21
เราต้องเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในแต่ละวัน ให้ปรากฏสภาพของความไม่เที่ยง ของความเป็นทุกข์ ของความไม่มีอะไรให้เรายึดถือมั่นหมาย ให้เป็นปกติธรรมดา เห็นได้ทุกครั้ง รู้สึกได้ทุกครั้ง ไม่ว่าจะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดก็ตาม ต้องรู้เท่าทันว่ามันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็สลายตัวไป มันเป็นทุกข์ ถ้าเราไปยึดถือมั่นหมาย เราจะทุกข์แน่นอน มันเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรดำรงทรงอยู่ได้ ท้ายสุดก็เสื่อมสลายไปทั้งหมด ถ้าสามารถเห็นได้ดังนี้ตลอดเวลา จึงจะได้ชื่อว่าเราเป็นนักปฏิบัติที่แท้จริง

แต่ก็เป็นได้เพียงนักปฏิบัติเท่านั้น จนกว่าจิตใจเราจะยอมรับว่าสภาพทั้งหลายเหล่านั้น เป็นปกติ ธรรมดาของการเกิดมา ของการมีร่างกาย ของการปรากฏสรรพสิ่งในโลกนี้ จะต้องมีสภาพไม่เที่ยงเป็นปกติ เป็นทุกข์เป็นปกติ ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้เป็นปกติ แล้วจิตใจก็ถอนความปรารถนาในร่างกายตนเอง ถอนความปรารถนาในร่างกายคนอื่น ถอนความปรารถนาในการเกิดขึ้นมาได้ ถ้าอย่างนั้นจึงจะได้ชื่อว่าเราเป็นนักปฏิบัติ เป็นผู้ที่กระทำเพื่อมรรค เพื่อผลจริง ๆ

ดังนั้น..ท่านทั้งหลายเมื่อภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว ต้องรู้จักคลายออกมาพิจารณาหรือถ้าหากว่ามันคลายออกมาเองก็รีบหาวิปัสสนาญาณให้มันโดยเร็ว หาไม่มันจะเกิดโทษแก่เรา เพราะมันจะฟุ้งซ่านไปเองโดยอัตโนมัติ

ตอนนี้ก็ให้ทุกท่านกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก กำหนดรู้คำภาวนาตามสภาพแต่ละคน ลมหายใจแรงรู้ว่าแรง ลมหายใจเบารู้ว่าเบา ลมหายใจไม่มีให้รู้ว่าไม่มี ยังภาวนาอยู่ให้รู้ว่าภาวนา ไม่ภาวนาแล้วก็กำหนดรู้ความนิ่งไปเฉย ๆ จนกว่าจะหมดเวลาแล้วบอกให้เลิกได้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
วันเสาร์ที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๒