PDA

View Full Version : เทศนาวันอาสาฬหบูชา วันศุกร์ที่ ๒๗ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑


หยาดฝน
31-07-2018, 09:09
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

เทฺวเม ภิกขะเว อันตา ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา
โย จายัง กาเมสุ กามะสุขัลลิกานุโยโค
หีโน คัมโม โปถุชชะนิโก อะนะริโย อะนัตถะสัญหิโตติ

ณ บัดนี้อาตมภาพรับหน้าที่วิสัชนาในปฐมเทศนากถา เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาและเพิ่มพูนบารมี แก่บรรดาท่านธนิสราทานบดีทั้งหลาย ที่พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ณ วัดท่าขนุนแห่งนี้

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย อันว่าวันอาสาฬหบูชาของเรานั้น เป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เนื่องจากว่าเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขอยู่ ๔๙ วันแล้ว พระองค์ท่านก็ได้เดินทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ซึ่งในสถานที่นั้นบรรดาผู้ที่เคยถวายการรับใช้พระองค์ท่านอยู่ ก็คือปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้หลบหนีไปอยู่ยังสถานที่นั้น เมื่อเห็นพระองค์ท่านเลิกทรมานตน ด้วยคิดว่าไม่สามารถที่จะเข้าถึงธรรมอันเป็นเครื่องหลุดพ้นแล้ว จึงได้หลีกลี้หนีไปอยู่กันเองตามลำพังที่ ป่าอิสิปตนมฤคทายาวัน ซึ่งสถานที่นั้นเป็นสถานที่อันเหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง

หยาดฝน
31-07-2018, 09:10
บรรดาฤๅษีชีไพรทั้งหลายในสมัยนั้น ที่ได้อภิญญาสมาบัติ เมื่อถึงเวลาจะหาสถานที่อันเหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรม ก็ใช้อำนาจของฤทธิ์อภิญญาเหาะไป เมื่อผ่านไปยังสถานที่แห่งนั้นซึ่งเป็นป่า มีกวางอยู่มาก เป็นที่อันร่มรื่น เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ก็จะเหาะลงไป แล้วหาสถานที่อันเหมาะสม เพื่อที่จะได้อยู่ปฏิบัติให้เข้าถึงธรรม ตามความปรารถนาของแต่ละตน การที่ฤๅษีทั้งหลายเหาะไปแล้ว อยู่ ๆ ก็ลงหายไปตรงนั้น เขาถึงได้เรียกว่า “อิสิปตน” “อิสิ” คือ พระฤๅษี “ปตนะ” แปลว่า ในความตก “อิสิปตนมฤคทายวัน” “มฤค” คือ เนื้อหรือกวาง ก็แปลว่า เป็นอุทยานสวนกวางอันเป็นที่ฤๅษีตก ก็คือฤๅษีเหาะหายลงไปบริเวณนั้น

ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ สมัยที่ยังเป็นพราหมณ์อยู่ ได้หลีกลี้หนีจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปปฏิบัติกันเองที่นั่น เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรลุอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ก็พิจารณาดูว่า พระองค์ท่านสามารถที่จะโปรดผู้ใดได้ ก็นึกถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร ท่านอาจารย์ทั้งสองที่เคยสอนพระองค์ท่านให้เข้าถึงสมาบัติที่ ๗ และสมาบัติที่ ๘ ในสมาธิชั้นสูง

หยาดฝน
31-07-2018, 09:11
แต่ปรากฏว่าเป็นที่น่าเสียดายมาก เพราะว่าอาฬารดาบส กาลามโคตรนั้น ได้สิ้นชีวิตลงไปเมื่อ ๗ วันที่ผ่านมา ส่วนอุทกดาบส รามบุตรนั้น ยิ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะว่าเสียชีวิตลงในเช้าวันนั้นนั่นเอง เมื่อท่านอาจารย์ทั้งสองได้สิ้นชีวิตลง ก็ไปจุติในพรหมโลก ซึ่งเป็นพรหมโลกที่ไร้รูป ก็คือเป็นอรูปพรหม เนื่องจากท่านเข้าถึงอรูปฌานที่ ๓ และอรูปฌานที่ ๔

เมื่อไปเกิดเป็นพรหมที่ไร้รูป ไม่มีอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เหลือแต่เพียงใจอย่างเดียว ไม่สามารถที่จะสดับรับรสพุทธพจน์เทศนาได้ ก็ถือว่าเป็นการพลาดจากความดีไปอย่างน่าเสียดายที่สุด เนื่องเพราะว่าถ้ามีโอกาสได้ฟัง ก็จะสามารถบรรลุมรรคผลได้ทันที เพราะว่าอินทรีย์ คือคุณงามความดีที่สั่งสมไว้นั้น แก่กล้าเพียงพอแล้ว ประหนึ่งดอกบัวที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ถ้าหากว่ากระทบแสงแดดก็จะบานได้ในทันที

เมื่อเป็นเช่นนั้น องค์สมเด็จพระภควันบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงพิจารณาต่อไปว่า แล้วผู้ใดหนอที่เราจะโปรดให้เข้าถึงมรรคผล เพื่อเป็นผู้ที่ยืนยันการตรัสรู้ของเราได้ ในข่ายพระญาณก็ปรากฏปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ขึ้นมา พระองค์ท่านจึงเสด็จไปยังสถานที่ซึ่งปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ อยู่ ก็คือป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ซึ่งห่างจากสถานที่ตรัสรู้คือพุทธคยา เป็นระยะทาง ๒๓๐ กิโลเมตรตามทางรถยนต์ในปัจจุบัน

หยาดฝน
31-07-2018, 09:13
องค์สมเด็จพระภควันเสด็จไปเป็นเวลา ๑๑ วัน จึงเดินทางไปถึงสถานที่นั้น เมื่อปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา ก็พากันนึกว่า สิทธัตถราชกุมารไม่สามารถจะทนความลำบากได้ ละความเพียรเสียแล้ว คงแวะมาหาเราเพื่อต้องการให้เราช่วยดูแลรับใช้เหมือนเดิม พวกเราทั้งหลายจงอย่าได้สนใจ อย่าได้ลุกรับ อย่าได้ถวายน้ำใช้น้ำฉัน อย่าได้ปูอาสนะต้อนรับ เป็นต้น

ครั้นตกลงกันเรียบร้อยแล้ว เมื่อองค์สมเด็จพระประทีปแก้วเสด็จไปถึง ด้วยอำนาจพุทธานุภาพอย่างหนึ่ง และความเคยชินอย่างหนึ่ง ก็ทำให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ลืมข้อสัญญัติที่ตกลงกันไว้ ต่างคนต่างลุกขึ้นต้อนรับ รับเอาบาตร รับเอาไม้เท้า แล้วก็ปูอาสนะ ถวายน้ำใช้น้ำฉันให้ แต่ว่ายังคงแสดงความมานะอยู่ ด้วยการเรียกว่า “อาวุโส” ซึ่งเป็นคำที่แปลว่า “ผู้มีอายุ” เป็นคำที่ผู้ใหญ่เรียกผู้น้อยในลักษณะยกย่อง เหมือนอย่างกับที่บ้านเราเรียกผู้น้อยว่า “ไอ้หนุ่ม” เป็นต้น

หยาดฝน
31-07-2018, 09:15
องค์พระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า “อย่าเลยท่านทั้งหลาย บัดนี้เราบรรลุธรรมแล้ว ขอให้ตั้งใจฟังเถิด เราจะแสดงธรรมให้ฟัง” ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็ยังไม่เชื่อ เนื่องจากในสมัยนั้นเชื่อว่า การทรมานตนเองเท่านั้นจึงจะหลุดพ้นได้ สิทธัตถราชกุมารหันมาบำรุงร่างกายตนเองจนมีกำลังเช่นนี้ ไหนเลยจะหลุดพ้นได้

องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่า “ท่านทั้งหลาย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่อยู่ด้วยกันมา ท่านเคยเห็นเราพูดในเรื่องที่ไม่เป็นจริงหรือไม่ ?” ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จึงระลึกขึ้นได้ว่า ตั้งแต่ติดตามสิทธัตถราชกุมารออกมหาภิเนษกรมณ์เป็นต้นมา ท่านไม่เคยกล่าววาจาอันเป็นเท็จเลย ดังนั้นจึงตั้งใจฟัง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือการหมุนวนของกงล้อแห่งธรรม ที่จะนำไปสู่ความเจริญ “ธัมมจัก” คือ กงล้อแห่งธรรม “วัตตนะ” คือ ความหมุนวนไปสู่ความดี ความงาม ความเจริญ

หยาดฝน
31-07-2018, 09:17
สูตรนี้ที่ได้ยกขึ้นต้นเป็นอุเทศว่า ในส่วนที่ท่านทั้งหลายจะปฏิบัตินั้น ให้พึงละเว้นจากส่วนสุดสองอย่าง ได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค คือการประกอบด้วยกาม และในส่วนของอัตตกิลมถานุโยค คือการทรมานตนจนเกินไป ให้ละเสียทั้งสองอย่าง แล้วหันมาปฏิบัติในมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางแทน

ซึ่งมัชฌิมาปฏิปทานั้น ประกอบด้วยองค์ ๘ ได้แก่
“สัมมาทิฐิ” ความเห็นชอบ เห็นถูก คือ เห็นว่าการละชั่วทำดีนั้น เป็นสิ่งสมควรต้องกระทำให้ได้
“สัมมาสังกัปปะ” การดำริชอบนั้น คือ การคิดในการออกจากกาม การคิดหาทางพ้นทุกข์ เป็นต้น

ทั้งสองส่วนนี้ก็คือ สัมมาทิฐิ การเห็นชอบ เห็นถูก และสัมมาสังกัปปะ การคิดชอบ คิดถูก นั้น จัดอยู่ใน “ปัญญาสิกขา” คือ การทำความดีนั้น จะต้องขึ้นต้นด้วยปัญญาก่อน

หยาดฝน
31-07-2018, 09:18
หลังจากนั้นก็เป็น “สัมมาวาจา” คือการพูดดี พูดถูก ได้แก่การที่เราทั้งหลายพูดในวาจาที่เป็นจริง ไม่โกหกหลอกลวงใคร พูดในวาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน ไม่กล่าวคำหยาบ พูดในวาจาที่เป็นความจริง เป็นประโยชน์ ไม่กล่าววาจาที่เพ้อเจ้อเหลวไหล พูดในวาจาที่สร้างความรักใคร่สามัคคี ไม่ก่อให้เกิดความแตกร้าวกัน อันนี้เรียกว่า “สัมมาวาจา” คือ การพูดที่ถูกต้อง

“สัมมากัมมันตะ” การกระทำที่ถูกต้อง ก็คือการที่เราเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการดื่มสุราหรือเสพยาเสพติด เป็นต้น สัมมากัมมันตะ การกระทำที่ถูกต้องเป็นดังนี้

ต่อไปคือ “สัมมาอาชีวะ” การดำเนินอาชีพในทางที่ถูกต้อง คือเว้นจากมิจฉาวณิชชา การค้าขายในทางที่ไม่ถูกต้อง ได้แก่ การค้าขายสุรา ยาเสพติด การค้าขายอาวุธ การค้าขายมนุษย์ การค้าขายสัตว์ที่มีชีวิต การค้าขายยาพิษ เป็นต้น ในเมื่อเราละเว้นจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้ว ประพฤติปฏิบัติในการค้าขายในส่วนที่ถูกต้อง ตามกฎหมายและศีลธรรม จึงเรียกว่า “สัมมาอาชีวะ”

ดังนั้นในส่วนของ สัมมาวาจา การพูดถูกต้อง สัมมากัมมันตะ การกระทำที่ถูกต้อง และ สัมมาอาชีวะ การดำเนินชีพที่ถูกต้อง จัดอยู่ในส่วนของ “อธิสีลสิกขา” คือการที่เราต้องศึกษาและปฏิบัติในศีลนั่นเอง

หยาดฝน
31-07-2018, 09:20
ข้อต่อไปของมรรค ๘ นั้น คือ “สัมมาวายามะ” มีความเพียรในทางที่ถูกต้อง ได้แก่ การเพียรละชั่ว ทำดี การเพียรละชั่วทำดีอย่างไร ? ท่านบอกว่าเพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นในใจของเราอย่างหนึ่ง เพียรระมัดระวังไม่ให้ใจของเรามีความชั่วเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง เพียรสร้างความดีให้เกิดขึ้นในใจของเราอย่างหนึ่ง และเพียรรักษาความดีนั้น ๆ ให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกอย่างหนึ่ง จึงเรียกว่า “สัมมาวายามะ” ความเพียรในด้านที่ถูกต้อง

ข้อต่อไปคือ “สัมมาสติ” เราต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ สิ่งใดชั่วเราก็ไม่ทำ สิ่งใดดีเราต้องเร่งขวนขวายทำให้มากเข้าไว้ โดยเฉพาะการกำหนดสติไปในกาย ไปในเวทนา ไปในจิต ไปในธรรม ที่เรียกว่า “มหาสติ” ซึ่งเป็นการปฏิบัติในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไป

และข้อสุดท้ายคือ “สัมมาสมาธิ” คือการพยายามสร้างกำลังใจของเราให้มั่นคงเข้มแข็ง จะได้ละชั่วได้โดยที่ไม่โดนดึงเข้าไปอยู่ในวังวนของการประพฤติชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ขณะเดียวกันก็จะได้มีกำลังในการสร้างความดี ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจเช่นกัน

ดังนั้นในส่วนของความเพียรชอบ คือ สัมมาวายามะ ในส่วนของการตั้งสติไว้ในทางที่ชอบในทางที่ถูก คือ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ การสร้างสมาธิที่ถูกต้อง ไม่เป็นมิจฉาสมาธิ นี่จัดอยู่ใน “จิตตสิกขา” คือการที่เราศึกษาในเรื่องของการบำเพ็ญจิตให้เกิดสมาธิ จะได้มีกำลังในการตัดละความชั่วทั้งปวง

หยาดฝน
31-07-2018, 09:23
ดังนั้น..เราจะเห็นว่า ปฐมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ท่านสอนให้เราดีพร้อมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ การที่เราจะดีพร้อมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็ต้องมีปัญญาก่อนว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ดี เราจึงตั้งใจทำตาม

หลังจากนั้นก็ควบคุมกายและวาจา ด้วยศีล ด้วยสมาธิ เมื่อสามารถทำไปได้ถึงระดับหนึ่ง คุณความดีทั้งหลายนี้จะปรากฏแก่สายตาคนทั่วไป เราก็จะมีเกียรติยศชื่อเสียงเป็นที่เชื่อถือแก่บุคคลอื่น ว่าเราเป็นผู้อยู่ในศีลกินในธรรม ไปไหนก็มีคนยินดีต้อนรับ มีแต่คนรักใคร่นับถือ นี่คือ “ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์” ประโยชน์สุขในปัจจุบันที่เราเห็นกันอยู่

ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะสร้างศีล สร้างสมาธิ ด้วยปัญญาที่มีอยู่ จนกำลังใจทรงตัว เมื่อถึงเวลาถ้าหากว่าสิ้นชีวิตลงไปแล้ว เราจะมีสุคติ คือโลกสวรรค์ หรือพรหม เป็นที่ไป ตรงนี้เรียกว่า “สัมปรายิกัตถประโยชน์” แปลว่า ประโยชน์ที่จะพึงเกิดขึ้นในอนาคต

และขณะเดียวกัน เมื่อเราสามารถชำระจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลสทั้งหมดทั้งมวลได้ เราก็จะเข้าถึงความหลุดพ้นอันที่เป็นประโยชน์สูงสุด เรียกว่า “ปรมัตถประโยชน์”

หยาดฝน
31-07-2018, 09:27
ดังนั้น..หลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ท่านสอนเราให้ได้ทั้งประโยชน์ในปัจจุบัน ให้ได้ทั้งประโยชน์ในอนาคต และให้ได้ทั้งประโยชน์สูงสุดที่จะพึงมีพึงได้ในการดำเนินชีวิตของเรา โดยเฉพาะการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เข้าสู่พระนิพพาน

การที่ญาติโยมทั้งหลาย ได้ตั้งจิตตั้งใจมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา ณ วัดท่าขนุน แห่งนี้ เมื่อโยมมาก็สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ ตั้งใจมาเพื่อที่จะสร้างบุญสร้างกุศลกันจริง ๆ เมื่อถึงเวลาก่อนการสร้างบุญกุศล เราก็ได้สมาทานศีล แปลว่าเราปฏิบัติในส่วนของอธิศีลสิกขา ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้

เมื่อถึงเวลาพระภิกษุแสดงพระธรรมเทศนา เราก็ตั้งใจเงี่ยหูฟัง เก็บเอาส่วนที่เป็นประโยชน์ไปใช้ การที่เราตั้งใจฟังนั้น จิตของเราเป็นสมาธิเมื่อถึงเวลาพระสงฆ์หมู่ใหญ่เจริญพระพุทธมนต์ เราตั้งใจฟัง สภาพจิตของเราก็เป็นสมาธิ แปลว่า เราดำเนินอยู่ในจิตสิกขา ก็คือการสร้างกำลังใจของเรา ให้เกิดสมาธิภาวนา อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้

หยาดฝน
31-07-2018, 09:29
อีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่เราทั้งหลายเห็นว่าสิ่งใดดี สิ่งใดควร แล้วก็มาสร้างบุญสร้างกุศล เพื่อเป็นเสบียงในการเดินทางข้ามวัฏสงสารของเรา แม้ว่าไม่สามารถหลุดพ้นในชาติปัจจุบัน หนทางการเดินทางของเราก็จะสั้นกว่าผู้อื่นที่ยังไม่ได้เริ่มทำความดี

ดังนั้น..ในส่วนนี้จัดอยู่ในส่วนของอธิปัญญาสิกขา คือในส่วนที่เราท่านทั้งหลายได้ตั้งจิตตั้งใจบำเพ็ญตามมรรค ๘ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในปฐมเทศนาเมื่อ ๒,๖๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสีแห่งนั้น

หยาดฝน
31-07-2018, 09:32
โดยเฉพาะในส่วนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อแสดงพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว อัญญาโกณฑัญญพราหมณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ เกิดดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงประทานการบวชให้ โดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือตรัสว่า “เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ขอเธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อล่วงพ้นจากทุกข์โดยชอบเถิด” การบวชในสมัยนั้นง่ายเช่นนี้เอง จึงปรากฏพระสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

แปลว่าวันอาสาฬหบูชานั้น นอกจากเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาแล้ว ยังเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยสมบูรณ์บริบูรณ์เช่นกัน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เมื่อรวมกันเข้ามาแล้ว จึงเป็นความสำคัญ เป็นวันที่ท่านผู้รู้กำหนดเอาไว้ ให้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา แล้วก็ให้บรรดาพุทธศาสนิกชนได้สร้างกุศลด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรม ได้สร้างกุศลด้วยการทำบุญใส่บาตร และขณะเดียวกันทางวัดของเราก็ได้มีการหล่อเทียนพรรษา ท่านทั้งหลายก็ได้มาร่วมบุญกันในครั้งนี้

แม้กระทั่งการที่ทางวัดท่าขนุนของเรา ได้มอบรถยนต์ให้กับทางกิ่งกาชาดอำเภอทองผาภูมิ ท่านว่าที่ร้อยตรีสุจินต์ ศรีวิเชียร นายอำเภอทองผาภูมิ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกกิ่งกาชาดอำเภอทองผาภูมิ ตลอดจนกระทั่งบรรดาสมาชิกกิ่งกาชาดทั้งหลาย มารับมอบรถในครั้งนี้ ก็เป็นการที่พวกเราทั้งหลายได้กระทำความดีด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้นั่นเอง

หยาดฝน
31-07-2018, 09:32
เทสนาวสาเน ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ เป็นประธาน มีบารมีของหลวงปู่สาย อคฺควํโส อดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดท่าขนุนที่มรณภาพไปแล้ว ๒๖ ปี มีกายสังขารอันเป็นอมตะไม่ได้เน่าเปื่อยนี้เป็นที่สุด

ขอบารมีธรรมของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเหล่านี้ รวมกันเป็นตบะเดชะพลวปัจจัย ดลบันดาลให้ญาติโยมทั้งหลายประสบความสุขความเจริญทั้งทางโลกทางธรรม แม้ว่าประสงค์จำนงหมายสิ่งหนึ่งประการใด ที่เป็นไปโดยชอบ ประกอบไปด้วยธรรมวินัยแล้วไซร้ ขอให้ความประสงค์ของท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงสำเร็จสัมฤทธิ์ผลสมดังมโนรถปรารถนาทุกประการ

รับหน้าที่วิสัชนามาในปฐมเทศนากถาก็พอสมควรแก่เวลา จึงขอสมมุติยุติพระธรรมเทศนาลง คงไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์วันอาสาฬหบูชา ณ วัดท่าขนุน
วันศุกร์ที่ ๒๗ กรกฏาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
(ถอดจากเสียงเป็นอักษรโดยหยาดฝน)