PDA

View Full Version : ๒๒ วันก่อนอุปสมบท


วาโยรัตนะ
28-05-2009, 19:32
๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒
เวลามันผ่านไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน เมื่อก่อนกระผมมักไม่เข้าใจว่าทำไม ผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านมักจะไม่ยอมให้ลูกหลาน (ผู้ที่จะบวช) ไปทำกิจกรรมอะไร ให้ท่องคำขอบรรพชาอุปสมบทและอยู่บ้านอย่างสงบ หนึ่งวันที่ผ่านไปมันรู้สึกเหมือนไวเสียเหลือเกิน

วันนี้ได้เจอญาติ ผู้น้องท่านหนึ่ง จะบวชวันที่ ๑๒ มิถุนายน ได้สนทนากันแล้ว เขาแทบจะไม่รู้อะไรเลยว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรก่อน และขณะบวชอยู่ในสมณเพศ ๑๕ วัน เขาทราบเพียงแต่ว่าบวชเพื่อทดแทนคุณ"บิดา-มารดา" ตามธรรมดาสามัญทั่วไป
แต่สำหรับผมนอกจากจะทดแทนบุญคุณบุพการีแล้ว อารมณ์รู้สึกว่า "เหมือนทหารกำลังจะเข้าสู่สนามรบ" ไปรบกับอะไร งานนี้รบกับ"กิเลสของตัวเองเป็นหลัก"ช่างเป็นศัตรูที่ร้ายกาจจนไม่อาจจะประมาณหรือคาดการณ์ได้ว่าจะมารูปแบบไหน
เมื่อได้อ่านหนังสือ"ศีลของพระ"ของ "ท่านจิตโต" http://www.thaisquare.com/Dhamma/book/silapra/content.html .
ยิ่งทำให้ทราบสิ่งที่เราไม่เคยรู้ไม่เคยทราบมาก่อน และควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาทำความเข้าใจก่อนจะบรรพชาอุปสมบท ตลอดจนอ่านไปถึง"บทบัญญัติข้อห้ามและศีลของสมณเพศ"
http://www.salatham.com/ordane/donts.htm

จริงอย่างที่พระอาจารย์ท่านสอน "เราควรจะทำความเข้าใจ และทรงความดีให้ได้ตั้งแต่ก่อนบวช เมื่อบวชแล้วญาติโยมจะได้ ได้บุญเต็มที่"

สไบเงิน
28-05-2009, 21:24
โมทนาด้วยนะคะ
กำลังใจในการเตรียมตัวบวชของพี่น่านับถือมาก ๆ เลยค่ะ

เนื้อนาบุญแบบนี้ ฆราวาสแบบเรา ๆ ก็อิ่มใจที่จะได้กราบไหว้บูชา เต็มใจที่จะบำรุงท่านเพื่อให้เข้าถึงมรรคผลด้วยค่ะ

แต่ว่าฆราวาสอย่างเราก็ต้องเตรียมรบกับกิเลสอยู่ทุกลมหายใจเช่นกันนะคะ

ว่าแต่ว่า
ติดอาวุธกันหรือยังคะ?

วาโยรัตนะ
29-05-2009, 09:34
วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒

ช่วงนี้สังเกตตัวเอง เรื่องของการทำสมาธิบางวันทำได้ดีมาก บางวันแทบเอาตัวเองไม่ไหว ก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร แต่ก็พยายามคงสติให้มากที่สุดในแต่ละวัน ช่วงนี้นอนห้องพระเพราะทดสอบไปนอนห้องอื่นแล้ว มันนอนไม่ค่อยหลับแบบฟุ้งซ่านไปต่าง ๆ นานา
กราบพระ,สวดมนต์,ทำสมาธิ เปิดไฟล์เสียงของหลวงพ่อฤๅษีฟัง และภาวนาจนหลับไปโดยไม่ปิดไฟล์เสียงให้เล่นไปเรื่อย ๆ จนตื่น ประมาณตีสี่ ก็ลุกมานั่งสมาธิบ้าง นั่งได้ดีได้สงบบ้าง ไม่สงบบ้างก็สู้กันไป ฟังไฟล์เสียงหลวงพ่อไป สู้กับอารมณ์ในแต่ละวัน เหมือนมีบททดสอบเข้ามาเรื่อย ๆ หมุนเวียนกันไปพยายามพิจารณาหาเหตุผล และประโยชน์ที่พึงจะได้ในแต่ละวัน

ภรรยาเล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนเธอฝันถึง "คุณยาย" ของผมซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว ภรรยาผมเล่าว่า เห็นท่านยิ้มแย้มหน้าตาสดใส แล้วผมก็ได้อาบน้ำชำระร่างกายให้ท่าน สำหรับกระผมแล้ว นับเป็นนิมิตหมายที่ดี เหมือนได้ทดแทนบุญคุณท่านอย่างเต็มที่ครับ

ตาตั้ม
29-05-2009, 12:26
ตอนที่ผมบวชนั้น ก็คิดเหมือนญาติคนนี้ของพี่แหละครับ และยังคิดอีกว่าบวชแล้วน่าจะทำให้หมดเคราะห์เสียที เนื่องจากเวลานั้นกำลังเจอปัญหาหนักมาก ๆ (ตัวเองทำตัวเองแท้ ๆ ) แล้วก็บวชไป ๑๕ วัน โดยที่ไม่ได้เตรียมท่องบทขานนาคด้วยซ้ำ ศีลของพระทั้ง ๒๒๗ ข้อมีอะไรบ้างยังไม่ได้ศึกษาให้ดีเลย (บวชแบบบอกกันเฉพาะหมู่ญาติครับ ไม่มีการจัดงานฉลอง)

ผลหรือครับ? นอกจากจะไม่ทำให้เคราะห์กรรมบรรเทาลงไปแล้ว (เหมือนจะหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ) เมื่อลาอุปสมบทออกมาได้สักพัก ถึงได้มีโอกาสรู้จักกับคำสอนของหลวงพ่อฤๅษีฯ จึงได้รู้ว่าช่วงเวลาที่เราบวชนั้น ได้ทำพลาดอย่างร้ายแรงโดยการกระทำผิดศีลในหมวดของสังฆาทิเสส (เท่าที่นึกออกตอนนี้ คงไม่ได้ทำอะไรร้ายแรงไปถึงขั้นปาราชิกนะครับ) ก่อนที่จะบวชนั้นผมนับถือพระพุทธศาสนาตามบัตรประชาชนเท่านั้น เข้าวัดทำบุญบ้างตามโอกาส ปฏิบัติตามหนังสือเรียนเท่านั้น

ทุกวันนี้ก็ยังรอเวลาเพื่อที่จะบวชอีกสักครั้งหนึ่งเพื่อแก้อาบัติ (หรือจะลุ้นให้บวชคราวนั้นเป็นแค่เณรไม่ใช่พระดี?) ตลอดจนเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้บุญจริง ๆ (ตามความรู้สึกของผมครับ) แต่ก็ยังไม่มีโอกาสเสียที (ที่บริษัทให้พนักงานลาบวชได้ ๑๕ วันครับ แต่ผมอยากบวชอย่างน้อย ๑ เดือนครับ) ทุกวันนี้เวลามีคนรู้จักจะบวช ผมจะบอกเขาเสมอ ๆ ว่าให้ไปศึกษาเรื่องศีลให้ดี ๆ (ยังไม่พูดกันถึงเรื่องการปฏิบัติอื่น ๆ นะครับ) จะได้ไม่ทำผิดพลาดแบบผม

โมทนาบุญกับพี่รัตน์ด้วยนะครับ

วาโยรัตนะ
30-05-2009, 06:17
วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒

วันนี้รู้สึกตัวตื่นตามเวลาเดิมคือ ๔.๐๐ น.เช้าตรู่เช่นเคย ตั้งหน้าตั้งตาคลานไปด้วยความนอบน้อมไปที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา กราบพระรัตนตรัย แล้วก็นั่งสมาธิ
เรื่องการตื่นตอนตีสี่นี้ เคยทดสอบกับตัวเองหลายครั้งว่าทำไมมันถึงแม่นยำ (มีน้องบางคนพูดว่า "นาฬิกาที่บ้านพี่มันไปตายตรงตีสี่หรือเปล่าครับ พี่เลยตื่นมาเจอนาฬิกาไปหยุดตรงตีสี่" แทบจะเอาหน้าแข้งไปกระทบหน้าน้องคนนั้นเล่น :conion-05:ทำร้ายจิตใจกันเกินไป) มาตื่นเอาตอนตีสี่ทุกครั้ง ครั้งแรก ๆ ได้ยินเป็นเสียงระฆังดังอยู่ในหู ครั้งอื่น ๆ ร่างกายมันดีดตัวลุกขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ แรก ๆ ก็ยังไม่เชื่อเท่าไหร่ ก่อนนอนก็ตั้งจิตว่าลูกขอ"แบบจะจะ" บางทีลูกชายละเมอเหมือนมีคนมาชวนให้เขาเล่นด้วย แต่ลูกชายของผมเขาจะนอนเหมือนทะเลาะกัน จนผมตื่น พอโผล่หน้ามามองนาฬิกา ๔.๐๐ น. และมีบางช่วงเหมือนกันที่ทำงานหนักจนร่างกายมันไม่ไหว จิตมันตื่นแต่ร่างกายตื่นไม่ไหวก็มีครับ

"จิตมีสภาพจำ" พระอาจารย์ท่านมักกล่าวเสมอ

เช้าวันนี้ทางวัดฉลอง นัดตอนแปดโมงเช้า เพื่อเข้ารายงานตัวส่งเอกสาร และรับ"ฉายาพระ"นับเป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในชีวิต เมื่อคืนก่อนนอนก็เจริญสตินั่งสมาธิ ไล่"กามาวจรสวรรค์" เมื่อไปถึงพระนิพพานกราบพระรัตนตรัยโดยมีสมเด็จองค์ปฐมท่านทรงเป็นประธาน อธิษฐานขอพรพระองค์ท่านว่า "ขอให้ฉายาในการบรรพชาอุปสมบท ขอพระองค์ท่านทรงเป็นผู้ประทานฉายาให้เหมาะสมกับข้าพระพุทธเจ้า และขอให้เจริญรุ่งเรืองดังฉายาที่พระองค์ประทานในทางธรรมและทางโลกให้ด้วยเทอญ พระพุทธเจ้าข้า"

วาโยรัตนะ
30-05-2009, 13:32
พระท่านประทานฉายาให้ ว่า "รตนธมฺโม" แปลว่า "ผู้มีพระธรรมสดใสดุจดังแก้วรัตนะ"

วาโยรัตนะ
31-05-2009, 19:39
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒
วันนี้อารมณ์มีความคิดถึงครูบาอาจารย์หลาย ๆ ท่าน คิดไปว่า ท่านทรงกำลังใจในเพศบรรพชิตได้อย่างบริสุทธิ์งดงามได้อย่างไร .......

ขอหยิบยกเอาข้อความที่น้องเถรีโพสเอาไว้มาดังนี้ว่า

"ถึงแม้ในเรื่องมโนมยิทธิหรือการสัมผัสความเป็นทิพย์ต่าง ๆ ถ้าไม่ใช่พระอรหันต์แล้ว โอกาสที่จะถูกหลอกมีเปอร์เซ็นต์สูง เพราะเรายังเป็นบุคคลที่มีอุปาทานอยู่ ดังนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เชื่อครูบาอาจารย์ที่นั่งอยู่ข้างหน้าเราดีกว่า เพราะอย่างไีรท่านก็หลอกเราไม่ได้ ถึงจะหลอกก็หลอกให้เราห่างจากความชั่ว แล้วเข้าหาความดีเท่านั้น"

รายละเอียดของความฟุ้งซึ่งนักปฏิบัติควรที่จะระวังไว้ นั่นคือ
ฟุ้งไปในความทะเยอะทะยานอยาก
๑. อยากจะมีความรู้ให้เลิศกว่าบุคคลอื่น
๒. อยากจะมีจริยาเด่นกว่าคนอื่น
๓. อยากมีฤทธิ์ อยากจะมีเดช
๔. อยากจะบรรลุมรรคผล ทำตนให้ถึงขั้นปฏิสัมภิทาญาณ

ครูบาอาจารย์ของกระผมอีกท่าน เคยกล่าวสอนกระผมเอาไว้ว่า

"สิ่งที่โยมคิดว่านั่นคืออาตมา โยมปรุงแต่งขึ้นมาเอง หลายต่อหลายครั้งที่โยมก้าวมาเกือบจะถึงอาตมาแล้ว แต่"ความอยาก"ของโยมมันเป็นอุปกิเลสขวางเอาไว้ จงเลิกอยาก วางความอยากลง ความอยากมันเหมือนกระดาษทึบบาง ๆ ถ้ามาบังตาเรา เราก็มองไม่เห็น วางอยาก เลิกอยาก อย่าอยาก"

หลังจากนั้นนานหลายเดือน ท่านก็ส่งข่าวมาอีกว่า "โยมทำได้ดีเกือบดีมากแล้ว โยมวางอยากลงได้จริง ๆ แต่โยมยังทรงมันให้นานไม่ได้ พยายามต่อไป อาตมาเอาใจช่วยโยมอยู่"

กระผมเคยตอบท่านไปว่า "กระผมคงดีอย่างที่หลวงพี่คิดไว้ไม่ได้ขอรับ"

ท่านตอบมาว่า "โยมทำสุดความสามารถของโยมหรือยัง ถ้าโยมทำสุดแล้วจริง ๆ ค่อยมานั่งเสียใจ แต่หากโยมยังทำไม่สุดความสามารถของโยมแล้ว อย่ามานั่งเสียใจเลย ทำมันต่อไป ตราบใดที่โยมยังมีลมหายใจอยู่ โยมยังมีเวลา และยังไม่สายที่จะทำมันต่อไปอาตมาเอาใจช่วยโยมอยู่เสมอ"

กระผมคิดถึงท่าน ในความเมตตาของครูบาอาจารย์แต่ละท่านนั้นหาประมาณมิได้ วันหน้าในเวลาอันใกล้นี้ กระผมกำลังเดินทางไปสู่
ร่มกาสาวพัสตร์ เจริญรอยตาม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ต่อสู้กับกิเลสมารภายในใจตนเอง.........ขอพรแห่งครูบาอาจารย์ทั้งหลาย ขอพระรัตนตรัยโปรดเป็นที่พึ่งอันประเสริฐแก่ลูกด้วยเทอญ

วาโยรัตนะ
02-06-2009, 19:03
วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๒

วันนี้ฝันแปลกโดนทดสอบเรื่อง"กามราคะ" ส่วนเรื่องของงานกฐินได้มีบททดสอบเหมือนกัน เพราะราคาทองคำ,ราคาโลหะเงิน ปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ ต้องรีบตัดสินใจแข่งกับเวลา

เรื่องของอารมณ์ใจวันนี้นั้น ยังคงทรงตัวเหมือนเดิม เรื่องของการนั่งสมาธิทรงอารมณ์ได้ดีพอสมควรไม่ถึงกับดีมาก คิดถึงครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะท่านที่อยู่ไกลคนละฟากฟ้า....

วาโยรัตนะ
02-06-2009, 19:45
วัน ๒ มิถุนายน ๒๕๕๒

วันนี้ออกไปทำงานครึ่งวัน กลับถึงบ้าน ตรงไปดูลูกสาว น้องเอย(๑ เดือนกับ ๙ วัน) โมทนาบุญกับพ่อด้วยนะลูก

ความคิดถึงครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้ลดลงไปเลย ยิ่งใกล้วันจะบรรพชาอุปสมบท มากเท่าไหร่ความคิดถึงยิ่งมากเท่านั้น
ล่าสุดที่เจอท่าน ด้วยความก้าวล้ำนำหน้าทางอินเตอร์เน็ท ท่านบอกว่า

"ให้โยมเอากระดาษมาแล้วเขียนสิ่งที่ไม่ดีลงไปในกระดาษนั้นให้หมด แล้วพับไปไว้ที่ใต้กระถางธูปหน้า"พระ"ที่โต๊ะหมู่บูชา ถือว่าเราถวายท่านให้ท่านเอาความเลวของเราไปทิ้งให้หมด ถวายท่านแล้วเราจะไม่เอาคืนเป็นอันขาด จำเอาไว้นะ แล้วอย่าลืมทำตามที่อาตมาบอก"

สิ่งหนึ่งที่ท่านเคยบอกไว้ แล้วกระผมเคยนำไปกราบเรียนขอพระอาจารย์เล็กท่านเมตตาว่า "ท่านเคยบอกกับผมว่า อย่ามาหาอาตมาทางลัด เพราะอย่างไรเสียโยมมาไม่ถึงหรอก" นั้นคือปริศนาธรรม ที่ท่านทิ้งให้ไว้ ผมก็เก็บมาพิจารณาตลอดครับ
จนได้ไปกราบพระอาจารย์ท่านเลยเมตตาตอบว่า "ให้ไปหาท่านจริง ๆ เลยคือเราไปด้วยตัว(ตัวเป็น ๆ )เราเองเลย"

วาโยรัตนะ
03-06-2009, 06:49
วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๒

"เรื่องของต้นทุน" กระผมได้ฟังเรื่องของต้นทุน(บุญ) ที่พระอาจารย์เคยกล่าวเสมอว่า "เดิมเมื่อเราเป็นฆราวาสต้นทุนเรามีน้อย แต่เมื่อเราบรรพชาอุปสมบท ต้นทุนเราจะมากขึ้นจนเพียงพอที่จะหาความก้าวหน้าในการปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น" นั้นคือสิ่งที่กระผมกำลังจะพิสูจน์

วาโยรัตนะ
05-06-2009, 06:54
วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๒

ได้รับหนังสือ "บันทึกเรื่อง... ศีลของพระ" ที่ท่านจิตโตเขียน เปิดอ่านแค่สารบัญก็เห็นความละเอียดมากมายของศีล วันนี้ต้องค่อย ๆ อ่านแล้วทำความเข้าใจ และปรับอารมณ์ใจ ช่วงสองสามวันที่ผ่าน มันเหมือนคนกำลังจะตาย ขันธ์ห้ามันเหนื่อยผิดปกติ ก็พยายามพิจารณานี้คือความจริงแท้ ขันธ์ห้าไม่ใช่เรา คิดว่าเรากำลังตายจากความเลวทั้งหมด เพื่อไปสู่ความดีในพระพุทธศาสนาคือการบรรพชาอุปสมบท
ขอโมทนาทุกท่านที่ร่วมบุญมาในเรื่องของเครื่องอัฐบริขาร

วาโยรัตนะ
06-06-2009, 07:46
วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๒

หนังสือ บันทึก...เรื่อง "ศีลของพระ" ที่ท่านจิตโต ถ่ายทอดออกมาจากคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ท่านถ่ายทอดออกมาอย่างเข้าใจได้ง่าย เมื่ออ่านแล้วทำให้รู้ในที่สิ่งที่เราไม่รู้มากมายจนอ่านรวดเดียวจบ และต้องอ่านซ้ำไปซ้ำมาอีกหลาย ๆ รอบ ไล่ตั่งแต่การปลงอาบัติ,อาบัติมีประเภทใดบ้าง พร้อมยกตัวอย่างที่มาที่ไปในสมัยพระพุทธกาล เหตุใดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติไว้ เพื่อประโยชน์อันใด เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่กระผมอ่านจบภายในวันเดียว

เมื่อคืนน้องเถรีโทรมาพูดคุยตามประสา แล้วน้องหญิงก็พูดว่า "พระอาจารย์กล่าวว่าไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายของพระภิกษุที่บวชช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา เพราะพระอาจารย์ท่านศึกษาจบพอดีจึงมีเวลาขัดเกลาสั่งสอน"
กระผมว่านับเป็นบุญอย่างยิ่งแก่ผู้ใฝ่ธรรมทั้งหลายที่บรรพชาอุปสมบทในช่วงนี้ขอรับ การได้อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ได้รับการสั่งสอนขัดเกลาบ่มนิสัย นับเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งขอรับ สาธุ สาธุ สาธุ

วาโยรัตนะ
07-06-2009, 08:07
วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๒

นับถอยหลังใกล้วันบรรพชาอุปสมบทเข้าไปเรื่อย ๆ ตระเวนแจกบัตรเชิญกับคุณแม่อย่างน้อยที่สุดให้ท่านได้บอกบุญ ญาติ ๆ เพื่อน ๆ ให้ได้ร่วมโมทนาบุญ เจอญาติผู้ใหญ่บางท่าน ท่านดีใจมากเมื่อทราบข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการบวชเข้าพรรษา.........การโมทนาในความดีจากบุคคลอื่น ทำให้กระผมตระหนักว่า "เราควรจะเป็นพระที่ดีให้ได้" ถึงจะบวชเรียนน้อย ก็เหมือนเพชรเม็ดเล็ก แต่ถึงจะเป็นเพชรเม็ดเล็ก ก็จงเป็นเพชรที่มีคุณค่าอย่างพระเดชพระคุณหลวงพ่อฤๅษีเคยเทศน์สอนพระเสมอ ๆ

ร่างกายมันเหนื่อยผิดปกติ นอนทีไรทิ้งตัวหลับเป็นตายทุกที เมื่อใกล้รุ่งฝันว่า ไปเจอหลวงพี่องค์หนึ่ง ท่านเก่งเรื่องการออกแบบสร้างพระมาก ๆ ขนาดร่างภาพพระลงในกระดาษโดยที่ท่านไม่ต้องลืมตาดู (หลับตา)แล้วท่านบอกว่าจะสอนให้ วัดที่ท่านสร้างอยู่ในหุบเขามีบรรยากาศเย็นสบายสงบเงียบ ผมมองขึ้นไปบนฟ้าเหมือนมีขอบเขตบางอย่างคลุมอยู่ ท่านบอกว่า เป็นเขตสงฆ์กันความไม่ดีต่าง ๆ จะเข้ามา มองไปเจอรูปปั้นเป็นเทวดาองค์ใหญ่โดยด้านบนศีรษะของท่านคล้ายถาดทองคำมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ รวมถึง พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระสงฆ์ สวยงามมาก

แล้วท่านก็หันมาบอกอีกว่า "เดี๋ยวจะสอนให้"
ผมจำชื่อท่านไม่ได้ แต่ก็เป็นความฝันที่ดีคือระลึกนึกถึงพระรัตนตรัยเป็นอนุสติขอรับ

วาโยรัตนะ
11-06-2009, 07:12
บวชใหม่ ๆ อย่าเพิ่งห่างครูบาอาจารย์ ตอนที่เป็นฆราวาสเราเก่งขนาดไหนก็ตาม อารมณ์ใจในตอนบวชมันไม่ใช่อย่างนั้น และโดยเฉพาะในเรื่องของศีลโอกาสพลาดมันมี พลาดเมื่อไหร่มันมีโทษ"

ผมกลัวที่สุด ตอนที่อยู่ที่วัดฉลอง ๗ วันก่อนเดินทางไปกรุงเทพ ผมเลยพยายามศึกษาเรื่อง"ศีลของพระ"ให้มากที่สุดท่องจำให้มากที่สุด อะไรควรระวังตอนนี้จะเริ่มจดบันทึกเอาไว้ พยายามพิจารณาแล้วว่าควรทำอะไรในแต่ละวัน

วาโยรัตนะ
11-06-2009, 17:30
วันที่ ๗,๘,๙,๑๐,๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๒

เป็นช่วงลุยแจกบัตรโมทนาบรรพชาอุปสมบทโค้งสุดท้าย (อย่างกับการหาเสียงเลย) งานนี้ให้คุณแม่ท่านได้ชื่นใจบ้าง น้องชายผมบวชแล้ว งานนี้เหลือแต่ผม นับว่าเป็นบุญที่ได้ปฏิบัติก่อนบวช พอจะรู้พอจะทราบอะไรบ้างโดยเฉพาะ "เรื่องศีลของพระ"
เมื่อก่อนเป็นกังวลมาก ว่าสามเดือนจะไหวไหม แต่ตอนนี้กำลังใจดีมาก ๆ เนื่องจากสิ่งที่เราศึกษาจาก"เรื่องศีลของพระ" บางอย่างเราสามารถทำได้แล้ว บางอย่างก็เกือบจะได้แล้ว บางอย่างมีพื้นฐานมาแล้ว ทำให้กระผมเบาใจลงไป แต่ก็หมั่นท่องจำทำความเข้าใจ ช่วงนี้มีเวลาเต็มที่ พิจารณาการใช้ชีวิตที่ผ่านมาแบบ"คนดิบ" คือยังไม่ได้บวชเรียน(อันนี้บวชเรียนแบบปฏิบัติจริง ๆ นะครับ)ตอนนี้กำลังจะก้าวไปสู่ความเป็น"คนสุก"
การดำเนินชีวิตแต่ละวันในช่วงนี้มันช้าลง คือความรีบเร่งต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตมันช้าลง เหมือนกับมันละเอียดขึ้น มีความสุขกับการทำให้หน้าที่"พ่อ"ที่ดี ไปรับไปส่งลูก อาบน้ำ ทาแป้งแต่งตัวให้ สอนหนังสือ สอนการบ้าน ป้อนนมเจ้าตัวเล็ก(หนึ่งเดือนกับสิบเจ็ดวัน) ความไร้เดียงสาของลูกทั้งสองคน ทำให้ผมมองชีวิตแบบละเอียดขึ้น คิดถึง"คุณพ่อ"จับใจ ถ้าท่านมีชีวิตอยู่ได้เห็นผ้าเหลือง ท่านคงดีใจมาก ..........

วาโยรัตนะ
12-06-2009, 10:31
สำหรับท่านที่เตรียมตัว บรรพชาอุปสมบท ควรศึกษาเรื่องเหล่านี้

http://www.kusolsuksa.com/webboard/index.php?topic=1373.0
คำขานนาค MP3 แบบ"เอสาหัง" สำหรับพระบวชใหม่

http://www.dhammajak.net/buad-phra/7.html
ขั้นตอนและบทที่ต้องท่องจำใช้ในพิธีบวชแบบ"เอสาหัง"

http://www.dhammajak.net/buad-phra/8.html
ดาวน์โหลดข้อมูลเสียง แบบ MP3 คำขานนาคแบบ"เอสาหัง"

http://thaisquare.com/Dhamma/book/silapra/content.html#
บันทึกเรื่อง...ศีลของพระ

วาโยรัตนะ
12-06-2009, 10:39
วันนี้ผมได้อ่านบทความเรื่อง"ช่วงชีวิตหนึ่งที่ได้ครองผ้าเหลือง"ได้ข้อคิดดี ๆ แบบเราคนไทยชาวพุทธ จึงนำมาฝากทุกท่านดังนี้

ช่วงชีวิตหนึ่งที่ได้ครองผ้าเหลือง

เมื่อปีที่แล้วผมได้มีโอกาสได้บวชเป็นพระ อยู่ในพระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๑ พรรษา เมื่อครู่ได้อ่านกระทู้ บางกระทู้เกี่ยวกับพระสมัยนี้ที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม และจากที่เคยเห็นมาด้วย ก็รู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่ผมก็ไม่ได้คิดตำหนิอะไรมากมาย
แต่ที่จะมาเล่าให้ฟังคือ ช่วงชีวิตหนึ่งที่ได้บวชอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาแล้ว จึงอยากมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ถือเป็นการเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันนะครับ บางทีอาจจะทำไห้เรา ๆ เห็นมุมมองใหม่ ๆ เกิดขึ้นก็ได้ หลายท่านในที่นี้ที่เป็นผู้ชาย อาจจะเคยบวชมาแล้ว ก็คงจะเข้าใจดีถึงความรู้สึก ก่อนหน้าที่ผมจะบวชนั้น ผมก็เป็นประชาชนเดินดินนี่แหละ เป็นคนต่างจังหวัด(กำแพงเพชร) ที่มาทำงานอยู่ที่กทม.ด้วยชีวิตที่ดิ้นรนต่อสู้ ปากกัดตีนถีบ เจอคนดีมั่ง คนเลวมั่ง คนหลอกลวง คนเอาเปรียบ สารพัดในกทม.ทุกอย่างรวมกันอยู่ที่กทม. แสงสี เสียงมันยั่วเย้าเร้าใจให้คนเสียคนได้ง่ายมาก ประกอบกับวัยที่กำลังคึกคะนอง กำลังเที่ยวเตร่ แต่แล้ววันหนึ่งมีเสียงโทรศัพท์ โทรเข้ามา เป็นเสียงแม่ผมนั่นเอง จำได้ว่าตอนนั้น ผมกำลังเตะบอลอยู่กับเพื่อน ๆ กลุ่มนึง หลังจากไตร่ถามสารทุกสุขดิบกันพอควรแล้ว ปกติก็ไม่ค่อยจะโทรคุยกันเท่าไหร่นัก แล้วบ้านก็ไม่ค่อยจะได้กลับ คุยเสร็จแม่ผมก็เปรยว่า "บวชให้แม่หน่อยนะลูก แม่ก็แก่แล้ว ใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว" คำนี้ทำผมอึ้งไปพักใหญ่ เพราะว่าด้วยที่ผมอายุก็ ๒๘ คือเลยบวชมานานพอสมควร ทุกปีแม่ผมจะต้องวอนให้ผมบวชให้ท่าน ประมาณก่อนเข้าพรรษาประจำ จนปีนี้ซึ่งก็คิดว่าคงจะหนีไม่พ้นแน่ เพราะปีที่ผ่านมาก็อ้างโน้นอ้างนี่จนไม่มีข้ออ้างแล้ว จึงจำเป็นต้องทำตามใจแม่ซักครั้ง

วาโยรัตนะ
12-06-2009, 10:41
หลังจากได้คุยกันแล้ว ผมมีเวลาอีกประมาณ ๑ เดือนก่อนที่จะต้องบวช ผมรีบสะสางงานที่ค้างไว้แล้วเดินทางกลับไปบ้าน ผมกลับถึงบ้านด้วยใจที่ไม่ค่อยชอบนัก เพราะว่าที่บ้านผมมันเป็นบ้านนอกต่างจังหวัดธรรมดา ผมยังคิดเลยว่าผมจะอยู่ได้หรือเปล่าเพราะความที่ผมอยู่กทม..มาหลายปี เจอคนจอแจทั้งวันเจอแสงสีพอมาอยู่บ้านก็เงียบสนิท (กลัวอดเที่ยวว่างั้นเถอะ)

ก่อนที่จะบวชผมต้องไปอยู่วัดก่อน (เป็นนาค) ท่องบทที่จะต้องเตรียมตัวเข้าพิธีผมนึกในใจว่าทำไมมันช่างยากเย็นอย่างนี้ ภาษาบาลีมันช่างจำยากจำเย็นเหลือเกินแค่ไม่กี่บรรทัดเองท่องไม่ได้ (มาคิดอีกที ทีเพลงพวกศิลปินที่ร้องกัน บางที่ฟังครั้งเดียวก็ร้องตามได้แล้ว)
ในใจคิดว่า เดี๋ยวบวชเสร็จเราก็ได้เที่ยวตามเดิมแล้วแค่ ๓ เดือนเอง คิดอย่างนี้ทำให้ผมสบายใจรีบกระตือรือร้นอ่านใช้เวลานานพอควร กว่าจะท่องบทไม่กี่บรรทัดนี้ได้ พอวันบวชมาถึงตั้งแต่ผมเริ่มโกนผมเลยครับ ผมรู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีคือชาวบ้านที่มางานกัน เขากระตือรือร้นที่จะเข้ามาช่วยงานผมมากคนเฒ่าคนแก่เต็มหมด ผมไปตรงไหนก็มีคนอยากคุยอยากถามโดยเฉพาะแม่ผมก็ปลื้มเลยครับงานนี้

หลังจากเสร็จพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยง ผมก็จะต้องมาทำพิธีในโบสถ์ (ก็เหมือนกับปฎิญาณว่าต้องการจะเป็นพระนั่นแหละ) พระที่วัดมีทั้งหมด ๑๑ รูปด้วยกันต่างรอทำพิธีอยู่ในโบสถ์แล้ว มีเจ้าอาวาส,พระอุปัชฌาย์,พระลูกวัด หลังจากที่ทำพิธีในโบสถ์แล้ว ผมสังเกตแม่ผมมีใบหน้าที่มีความสุขมากปลื้มมากที่ลูกชายได้บวช ท่านคงคิดว่าวันนี้ที่รอคอยก็มาถึง ผมห่มเหลือง สะพายบาตร มือสองข้างถือตรปัช (เขียนไม่ถูกต้องขออภัย) หลังจากทำพิธีในโบสถ์แล้ว ตอนนี้ผมเป็นพระเต็มตัวแล้ว เดินไปไหนก็จะมีคนที่จะกราบไหว้ เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่บริสุทธ์ ที่จะต้องสืบทอดศาสนาต่อไป
หลังจากเดินออกจากโบสถ์แล้ว ผมไม่ได้มาตัวเปล่าครับแต่ว่าได้ถือศีลมาทั้งหมด ๒๒๗ ข้อมาด้วย ซึ่งตลอดการบวชผมจะต้องรักษาไว้ให้อย่างดีทีเดียว แม้ผมจะเหยียบมดตายซักตัวสองตัว นั้นก็ถือเป็นอาบัติแล้ว นี่คือข้อแตกต่างระหว่างคนกับพระ ถ้าคนธรรมดาก็คงจะไม่เป็นไร ผมรู้สึกต่างจากคนที่เคยดิ้นรนเอาตัวรอดอยู่ที่ กทม. อย่างสิ้นเชิง
ผมก้าวออกจากโบสถ์ มีคนรออยู่แล้วประมาณ ๒๐ กว่าคนทั้งหญิงชาย (ส่วนมากเป็นคนเฒ่าคนแก่) รอที่จะใส่ธูปใส่เทียนลงในย่ามที่คล้องแขนไว้ มีคนแก่ผู้ชาย ๒ คนนอนลงราบกับพื้นติดกัน ผมงงครับ ไม่เข้าใจว่าทำไม แต่แล้วก็มีเสียงผู้หญิงคนหนึ่ง บอกว่า เหยียบเลยคุณ ๆ ผมก็ยืนอยู่นั่น เพราะคิดว่านี่เป็นคนเฒ่าคนแก่มีอายุมากกว่าอีกทั้งเป็นที่เคารพนับถือตั้งแต่เรายังเด็ก บางคนก็เอาผ้าผืนสีขาวสะอาดมารองพื้นไว้เพื่อที่จะให้ผมเหยียบลงไป จะให้เราเอาเท้าไปเหยียบบนหลังบนผ้านะหรือ มันรู้สึกขัดเขินอย่างไรบอกไม่ถูก เมื่อถูกคะยั้นคะยอมากเข้า ผมก็เลยต้องทำตามมารู้ทีหลังว่า เขาเชื่อว่าคนที่ได้บวชใหม่เพิ่งออกจากโบสถ์มาใหม่ ๆ ถือว่าเป็นพระที่บริสุทธิ์ที่สุด (คือศีลยังไม่ขาดนั่นเอง) ฉะนั้นอานิสงส์ของศีลตรงนี้จะทำให้เขาเหล่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้หายจากอาการโรคปวดหลังปวดเอว และโรคอื่นๆได้

วาโยรัตนะ
12-06-2009, 10:41
นั่นทำให้ผมเริ่มรู้สึกเลื่อมใสในพุทธศาสนามากขึ้น จากที่คิดว่าเฉย ๆ ไม่ค่อยให้ความสำคัญ ช่วงเวลาที่ครองผ้าเหลืองอยู่นั้นก็ใช่ว่าจะสบายเหมือนที่คิดไว้นะครับ ประกอบกับเป็นช่วงที่เข้าพรรษาที่เข้มงวดเรื่องธรรมวินัยอย่างมาก ไหนจะเรื่องกิจนิมนต์ต่าง ๆ ต้องทำวัตรเช้า-เย็นทุกวัน ทำบุญทุกวันพระ ไหนจะต้องท่องบทสวดต่าง ๆ (ซึ่งมีมากมายหลายเท่ากว่าที่ตอนก่อนบวชมาก) ต้องเตรียมตัวสอบนวกะ ต้องเตรียมตัวเทศน์โปรดโยม รวมถึงเทศน์มหาชาติ มากมาย ต้องดูแลวัด เช่น กวาดถูบริเวณวัด
ที่วัดตามต่างจังหวัดจะไม่ค่อยมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายนักไม่เหมือนในเมือง อยู่กันแบบสมถะ ข้าวปลาอาหารก็ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์เหมือนคนธรรมดา เวลาฉันก็เป็นเวลา จะมาฉันพร่ำเพรื่อก็คงไม่ได้ (แรก ๆหิวแทบตาย)

แต่น่าแปลกว่า ในใจกลับสงบเยือกเย็นรู้สึกเป็นสุขอย่างไรบอกไม่ถูก เวลาไปบิณฑบาตตอนเช้าตลอดทางมีคนตักบาตร,เข้ามากราบไหว้ แสงแดดอ่อน ๆ ทั้งดอกไม้กลิ่นหอมที่ชาวบ้านเขาบรรจงทำมาให้เป็นอย่างดี ข้าวที่กรุ่นไปด้วยควันที่เพิ่งออกมาจะออกหม้อใหม่ ๆ ทั้งแกง ทั้งต้มที่เขาเหล่านั้นทำมาเป็นอย่างดีบรรจงตักใส่บาตร สังเกตสีหน้าที่คนใส่บาตรแล้ว เขารู้สึกถึงความเต็มใจ และอิ่มเอมใจที่ได้เป็นผู้ให้ และเราเป็นผู้รับก็จะต้องให้พรรู้สึกได้ถึงความเอื้ออาทรกันของมนุษย์เราที่แม้แต่เงินมากมายก็หาซื้อไม่ได้
นี่เป็นบรรยากาศทุกเช้าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชุมชนที่ห่างไกลสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ หากแต่เปี่ยมด้วยแรงศรัทธาจิตใจที่เต็มไปด้วยความเป็นมิตร ความอาทรกัน วันไหนฝนตกไปเดินบิณฑบาตไม่ได้ วันนั้นจะมีชาวบ้านมาหาถึงที่วัดเลย พร้อมกับข้าว แกง และอื่น ๆ มาด้วย ด้วยว่ากลัวว่าพระจะไม่มีอะไรฉัน

นี่แหละครับ วิถีชีวิตที่ต่างจังหวัด ในเมืองอย่างกรุงเทพอาจจะหาดูยากซักหน่อย ถึงแม้ในปัจจุบันเราจะเห็นพระที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม เช่นเดินห้างซื้อซีดี ซื้อเครื่องเสียง แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อย ซึ่งโดยส่วนตัว ก็คิดว่าไม่ค่อยเหมาะสม แต่เราชาวพุทธทั้งหลายก็ขอให้มีจิตใจที่เข้มแข่ง นับถือในพระพุทธศาสนาต่อไป อย่างน้อยการได้เป็นผู้ให้ และมีพระรัตนตรัยอยู่ในใจแล้ว เราก็จะเป็นสุขแน่นอน หาเวลาว่างวันพระเข้าไปทำบุญสักวัน ถึงจะไม่บ่อยนักก็ยังดี พาลูกพาหลานไปด้วย ปลูกฝังตั้งแต่เล็กเลย แล้วเด็กจะซึมซับแต่สิ่งดี ๆแน่นอน
ในระยะที่ได้ครองผ้าเหลืองอยู่เป็นเวลา ๑ พรรษา ผมรู้สึกว่าผมได้อะไรมากมายโดยเฉพาะทางใจถึงว่าทำไมแม่ผมถึงรบเร้าให้ผมบวชให้ได้ เพราะเป็นสิ่งที่ดีนี่เองเพราะแม่ปราถนาดีกับลูกเสมอ

สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกก่อนทิ้งท้ายนี้ก็คือ การทดแทนพระคุณพ่อ-แม่ที่ดีที่สุดคือการได้บวช แม้จะเป็นการตอบแทนเพียงแค่เสี้ยวเดียวของพระคุณท่านที่ให้กำเนิดเรามา แต่นั่นเป็นความภูมิใจที่สุด ที่เราจะสามารถมอบให้ท่านได้ ผู้เป็นชายได้เกิดมาแล้ว และได้บวชทดแทนบุญคุณ ถือว่าเป็นคนเต็มคนแล้ว ได้บวชสัก ๑-๒ พรรษา ก็ถือเป็นกุศลอย่างมาก ที่สำคัญคือเราจะต้องเคร่งครัดในกฎวินัย การเป็นพระด้วย ศีล ๒๒๗ ข้อ ที่พระพุทธองค์บัญญัติไว้ให้รักษาไว้ให้ได้มากที่สุด แค่นี้เราก็จะได้รับความนับถือจากสาธุชนทั่วไปแล้วละครับ หากรักษาไม่ได้ หักห้ามตัวเองไม่ได้ ก็ไม่ต่างจากปุถุชนทั่วไปเลย
ถ้าเราเข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้แล้ว เราจะได้ประโยชน์อย่างมากมายในการดำรงชีวิตครับ......


.......

บทความจาก

http://www.budpage.com

วาโยรัตนะ
12-06-2009, 11:11
การบวชในพระพุทธศาสนา
พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์


ศัพท์ว่า บวช มาจากศัพท์บาลีว่า “ปัพพัชชา” (ซึ่งมาจาก ป + วัช + ธาตุ) หมายความว่า ออก หรือเว้นจากความพันพัวกับการครองเรือน ตลอดไปถึงจากความประพฤติชั่ว ได้แก่การหลีกออกจากบ้านเรือนไปหาที่สงัด ที่ไกลจากบ้านเรือน เช่น ในป่า ทำที่พักพออาศัยอยู่ได้ เช่น บรรณศาลา (ทับใบไม้) เพื่อทำความสงบระงับชั่วคราวบ้าง ตลอดไปบ้าง เขาถือกันว่าเป็นการประกอบการกุศลหรือบุญอย่างสูง มีมาก่อนแต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นาน

ตามประวัติแสดงว่า เมื่อชาวอริยกะเข้าไปในอินเดีย ในชั้นต้นนับถือ เทวะ หรือ เทพเจ้า ครั้นแล้วก็เลื่อนมานับถือพระพรหม จึงบูชาเซ่นสรวง และอ้อนวอน เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนปรารถนา ต่อมาก็คิดเห็นขึ้นว่า ชีวิตนี้ย่อมสืบเนื่องมาจากกรรมเก่าซับซ้อนขึ้นไปจนกำหนดไม่ได้ แต่ข้อสำคัญที่สุดนั้น เมื่อเกิดมาก็ย่อมมีสุขและทุกข์เจือกันไป ส่วนที่เป็นสุขก็ชอบใจ แต่ส่วนที่เป็นทุกข์ก็ไม่ชอบไม่อยากได้พบเห็น จึงคิดหาทางหนีทุกข์ และก็เห็นต่าง ๆ กัน จึงประกอบการที่เห็นว่าเป็นตบะต่าง ๆ กัน การบวชครั้งนั้น ก็เป็นตบะอย่างหนึ่ง (วิธีบำเพ็ญตบะนั้นต่าง ๆ กันตามความคิดเห็น ไม่กล่าวไว้ ในที่นี้)

มีเรื่องเล่าไว้ว่า กษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง ไปบวชเป็นฤๅษี เช่น พระชนก กษัตริย์ผู้ครองกรุงมิถิลา ออกไปบวชเป็นฤๅษี ในเรื่องรามายณะ เป็นต้น แม้ในพระพุทธประวัติตอนก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็มีเรื่องแสดงว่า อาฬารดาบส อุททกดาบส พระชฏิล ๑,๐๐๐ สัญชัยปริพาชกกับบริวาร ฤๅษีปัญจวัคคีย์ ออกบวชอยู่ก่อนแล้ว คนรักษาศีล ๘ ในวันพระชั่ววันและคืนหนึ่ง และคนรักษาศีล ๕ ก็น่าจะนับเข้าในการบวชด้วย แต่ยิ่งหย่อนกว่ากันตามชั้น เพราะฉะนั้น จึงมีพระพุทธภาษิต (คำที่พระพุทธเจ้ากล่าว) แสดงธรรมะหมวดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สัปปุริสบัญญัติ (ข้อที่สัตบุรุษตั้งไว้) บัณฑิตบัญญัติ (ข้อที่บัณฑิตตั้งไว้) มีธรรม ๓ ข้อ คือ ทาน การให้ ๑ บัพพัชชา การบวช ๑ มาตาปิตุปัฏฐาน การบำรุงมารดาบิดา ๑ นี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติด้วยพระองค์เอง แต่สัตบุรุษและบัณฑิตได้บัญญัติไว้ก่อนแล้ว พระพุทธเจ้าเป็นแต่ทรงนำมาแสดงเท่านั้น

วาโยรัตนะ
12-06-2009, 11:14
พระโพธิสัตว์ (เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าเมื่อยังไม่ได้ตรัสรู้) เมื่อทรงเป็นผู้ครองเรือนอยู่ แม้ทรงสมบูรณ์ด้วยทรัพย์ คนใช้ ที่อยู่ ยศ อำนาจ แต่ทรงนึกถึงความแก่ ความเจ็บ ความตาย ว่ามีประจำแก่พระองค์และคนอื่นๆ ทั่วไป ไม่มีใครล่วงพ้น ทรงสลดจิต มุ่งหมายจะหาเครื่องแก้ ซึ่งเรียกว่าโมกขะ แปลว่า “พ้น”' จึงเสด็จออกบวช ครั้นตรัสรู้แล้ว ทรงพระกรุณา (สงสาร) คนอื่น ทรงคิดและแสดงธรรมสั่งสอน แต่ทรงเห็นว่าธรรมที่พระองค์ได้ประสบนั้นละเอียดลึกซึ้งยิ่ง ยากที่ผู้ยังยินดีติดอยู่ในโลกจะรู้ตามได้ แต่ก็อาศัยพระกรุณาและทรงพิจารณาเห็นว่า ผู้มีปัญญาและมีกิเลส (เครื่องทำใจให้เศร้าหมอง) น้อยสามารถฟัง และตรัสรู้ตามได้ก็มีอยู่ จึงทรงตั้งจิตที่จะแสดงธรรมสั่งสอนสืบไป

ในชั้นต้น ทรงพิจารณาหาผู้ฟังที่พอจะตรัสรู้ตามได้เร็วก่อน จึงเสด็จไปสั่งสอนฤๅษีปัญจวัคคีย์และชฏิล ๑,๐๐๐ เป็นต้น และทรงสั่งสอนกษัตริย์ พราหมณ์ อำมาตย์ เศรษฐี คฤหบดี เพราะคนเช่นนี้เคยเล่าเรียนมีความรู้สูงมาแล้ว ทั้งเป็นผู้หน่ายในทางโลกมาแล้วก็มี สามารถฟังเข้าใจได้ง่าย เมื่อผู้ฟังได้ศรัทธา ความเชื่อ และปสาทะ ความเลื่อมใส ทูลขอบวช พระพุทธเจ้าก็ทรงรับด้วยพระวาจาว่า (เอหิภิกขุ) ท่านจงเป็นภิกขุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ (คือการปฏิบัติดีที่เป็นส่วนเหตุ) เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบ” เพียงเท่านี้ ผู้นั้นก็ชื่อว่าบวชเป็นภิกขุในพระพุทธศาสนา การบวชเช่นนี้ เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ผู้รับอุปสมบทเช่นนี้ เรียกว่า เอหิภิกขุ เมื่อมีภิกขุในพระพุทธศาสนาขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงส่งภิกขุทั้งหลายให้ไปเที่ยวประกาศพระศาสนาในทิศต่าง ๆ เมื่อมีผู้เชื่อและเลื่อมใสปรารถนาจะบวช พระสาวกต้องนำมาเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอให้พระพุทธเจ้าประทานอุปสมบท ทั้งภิกขุผู้อาจารย์ทั้งกุลบุตรผู้จะบวช ต้องลำบากในการเดินทางเป็นต้น พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้ภิกขุนั้น ๆ ให้บวชกุลบุตรได้เอง ด้วยให้โกนผมและหนวดก่อน แล้วให้นุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดที่เรียกว่า กาสาวะ หรือกาสายะ ให้นั่งกระหย่งประณมมือ และกราบภิกขุ แล้วสอนให้ว่าตามว่า “(พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ) ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ” ๓ หน เพียงเท่านี้ ผู้นั้นก็ได้เป็นภิกขุในพระพุทธศาสนา การบวชเช่นนี้เรียกว่า ติสรณคมนอุปสัมปทา แปลว่า อุปสมบท ด้วยถึงสรณะ ๓

วาโยรัตนะ
12-06-2009, 11:14
ครั้นเมื่อมีภิกขุในพระพุทธศาสนามากขึ้น และตั้งมั่นดีแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมอบการอุปสมบทให้เป็นกิจของสงฆ์ คือหมู่พระสาวกประชุมกัน ในมัชฌิมประเทศตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป ในปัจจันตประเทศตั้งแต่ ๕ ขึ้นไป จัดการ ให้กุลบุตรอุปสมบท มีภิกขุรูปหนึ่งเป็นผู้นำเข้าหมู่ ซึ่งเรียกว่า อุปัชฌายะ มีภิกขุอีกรูปหนึ่งสวดประกาศ บอกความที่กุลบุตรนั้นขออุปสมบท และท่านมีชื่อนั้นเป็นผู้รับนำเข้าหมู่ ประกาศคราวแรก เรียกว่า ญัตติ แปลว่า คำประกาศให้สงฆ์รู้ ครั้นแล้วสวดประกาศอีก ๓ คราว เรียกว่า อนุสาวนาที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เมื่อภิกขุที่ประชุมกันเป็นสงฆ์นั้นไม่คัดค้าน ก็เป็นอันสำเร็จการบวชเป็นภิกขุ การบวชด้วยวิธีนี้ เรียกว่า ญัตติติจตุตถกรรมอุปสัมปทา คือ อุปสมบทด้วยกรรมมีญัตติเป็นที่ ๔ เมื่อทรงอนุญาตให้อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมนี้แล้ว ให้เลิกอุปสมบทด้วยติสรณคมนอุปสัมปทา แต่นั้นมา

ในตอนต้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงกำหนดอายุผู้อุปสมบท จึงมีคนที่อายุน้อยยังเป็นเด็กอยู่ เข้ามาบวชเป็นภิกขุแล้ว ยังประพฤติอย่างเด็กอยู่ ไม่สามารถปฏิบัติดีได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งกำหนดอายุผู้จะอุปสมบทว่า ต้องมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์จึงจะบวชได้ และทรงอนุญาตให้เด็กชายที่มีอายุพอสมควร แต่ยังไม่ถึง ๒๐ ปีบริบูรณ์ บวชเป็นสามเณร ด้วยถึงสรณะ ๓ ดังที่ได้ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกขุมาแล้วละเลิกเสียนั้น การบวชเป็นสามเณร เรียกว่า ปัพพัชชา หรือบรรพชา บวชเป็นภิกขุ เรียกว่า อุปสมบท เมื่อมีสตรีปรารถนาจะบวช และมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นภิกขุนี ถ้ามีอายุยังไม่ครบ ก็ทรงอนุญาตให้บวชเป็นสิกขมานาและสามเณรีโดยลำดับ แต่ภิกขุนีนี้ได้เลิกมาเสียนานแล้ว เพราะมีเหตุขัดข้องหลายประการ เช่น ไม่มีภิกขุนีสงฆ์พอ เป็นต้น

ในตอนต้น พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติพระวินัยที่เป็นข้อบังคับ เป็นแต่ทรงแสดงธรรมแนะนำให้ปฏิบัติเท่านั้น ผู้บวชก็บวชด้วยศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใสจริงๆ เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติตามคำสั่งสอนและตามจรรยาที่พระพุทธเจ้า และพระสาวกปฏิบัติอยู่ ต่อมาเมื่อนิยมการบวชมากขึ้น

วาโยรัตนะ
12-06-2009, 11:18
หน้าที่ของผู้บวช

เมื่อผู้บวชได้บวชแล้ว ก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระวินัยที่เป็นพระบัญญัติที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ด้วยศึกษาธรรมะ คือเรียนและปฏิบัติธรรมะตามความสามารถ ตามความหมายเดิมของพระพุทธศาสนา ให้เป็นบรรพชิตที่ดีเสมอกับบรรพชิตที่มีด้วยกันตามพระพุทธภาษิตว่า
"สมโณ อัสส สุสมโณ สมณะ" สมณะพึงเป็นสมณะที่ดี ดังนี้

การเรียนธรรมะ ก็คือเรียนจำธรรมะ ๑, พิจารณาเนื้อความของธรรมะที่เรียนจำนั้น ให้เข้าใจเนื้อความ ๑, พิจารณาดูธรรมะนั้นๆ สอบดูที่ตนให้รู้ว่าตนเองได้มีธรรมะนั้น ๆ อยู่ที่ตนเพียงไร หรือไม่มี ๑, นี้เป็นปริยัติ คือเรียน หรือปริยัติธรรม ธรรมคือเรียน, ครั้นแล้วจึงปฏิบัติธรรมะที่พิจารณาเห็นว่าควรปฏิบัติตามสมควร นี้เรียกปฏิบัติ หรือปฏิบัติธรรม ธรรมคือปฏิบัติ เมื่อได้ปฏิบัติไปได้ประสบผลอย่างไร อันเกิดสืบมาแต่ปฏิบัติ นี้เรียกปฏิเวธคือรู้ตามเป็นจริง หรือปฏิเวธธรรม ธรรมคือรู้ตามเป็นจริง

การปฏิบัติธรรมแยกออกเป็น ๒ คือ ตั้งจิตให้กำหนดอยู่ในที่มุ่ง (ที่เรียกว่า อารมณ์) อันเดียว ไม่ให้ฟุ้งส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ เรียกว่าสมถะ ๑ พิจารณาให้เห็นตามเป็นจริง เรียกว่า วิปัสสนา ๑

พระพุทธศาสนาแสดงว่า บุคคลถึงจะได้ประสบผลดีมีอำนาจมากจนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย เหมือนกันหมด จะต่างกันก็เพียงช้าบ้าง เร็วบ้าง เพราะกำหนดนับเท่านั้น ถ้าว่าจ๋าเพาะเบื้องต้นกับเบื้องปลาย ก็คงเกิดและดับเหมือนกันหมด ไม่มีพิเศษกว่ากันเลย ความแก่ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ไม่มีใครชอบ แต่ที่ความแก่ ความเจ็บ ความตายมีก็เพราะมีความเกิดเป็นต้นเหตุ และความเกิดนั้นก็มีเพราะเหตุต่อขึ้นไปอีกคือ ตัณหา ความดิ้นรนใจ (แสดงตามนัยแห่งอริยสัจจ์ ๔) เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าและพระอริยสาวก จึงทำอริยมรรคให้เกิดขึ้น คือปฏิบัติตามอริยมรรค กำจัดตัณหาเสีย เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีเกิด เมื่อไม่มีเกิด ก็ไม่มีไม่มีเจ็บไม่มีตาย เป็นอันพ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง

วาโยรัตนะ
12-06-2009, 11:18
ผู้นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อพิจารณาเห็นจริงด้วยใจแล้ว แม้ยังยินดีติดอยู่ในโลก เห็นว่าตนไม่สามารถจะปฏิบัติเพื่อตัดตัณหาในชาตินี้ได้ แต่ก็ปรารถนาจะให้มีนิสัยปัจจัยเพื่อให้สิ้นชาติสิ้นภพในกาลต่อไป จึงตั้งใจบวชชั่วคราวบ้าง ยืดยาวต่อไปบ้าง และเห็นว่าบวชเป็นบุญที่ให้ผลเป็นสุขในภพต่อไปบ้าง เห็นความที่ต้องเป็นกังวลกับกิจการต่าง ๆ ของผู้ครองเรือน เป็นความทุกข์ยากลำบากบ้าง จึงบวชก็มี ผู้บวชเหล่านี้ เมื่อบวชแล้วก็มุ่ง ศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ไม่ล่วงละเมิดด้วยไม่มียางอายแก่ใจ เมื่อเห็นว่าตนหมดอุตสาหะในการที่จะบวชอยู่ต่อไป ก็ลาสิกขา คือสึกออกไป

อนึ่ง ในครั้งก่อนยังไม่มีโรงเรียน ยังไม่มีการฝึกสอนในทางศาสนา ในทางปกครอง และในความรู้อื่นๆ อันเป็นเบื้องต้น แม้แต่การเรียนหนังสือไทย ผู้บวชจึงเป็นอันหัดเป็นผู้ใหญ่ปกครองตัวเองด้วย และถ้าต้องการจะเรียนอะไรที่สมควรและพอจะหาเรียนได้ ก็หาเรียนทางนั้น เช่น เรียนหนังสือเป็นต้น จึงนิยมกันว่าผู้บวชแล้วเป็นคนดีมีความสามารถ

ภายหลังต่อมา ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ พระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาจัดการศึกษาขึ้น มีโรงเรียนให้กุลบุตรได้เล่าเรียน จนถึงส่งนักเรียนไปเรียนในต่างประเทศก็มี และมีโรงเรียนสตรีขึ้นด้วย การบวชจึงมีน้อยลง แต่ก็ยังมีผู้ใหญ่พอใจให้ผู้อยู่ในปกครองได้บวชบ้าง ผู้บวชพอใจบวชเองบ้าง จึงยังมีการบวชสืบต่อมาจนบัดนี้

วาโยรัตนะ
12-06-2009, 11:18
แต่ก็เป็นธรรมดา เมื่อมีผู้บวชที่ดี ก็ย่อมมีผู้บวชที่ชั่วแทรกแซงไป ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาแล้ว พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงบัญญัติพระวินัยมาเป็นลำดับ ในภายหลัง ตามที่ปรากฏในกฎหมายพระสงฆ์ มีผู้บวชที่ฝ่าฝืนพระพุทธบัญญัติมากขึ้น พระวินัยพุทธบัญญัติ ไม่สามารถปกครองผู้บวชได้ดีพอ พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นอัครศาสนูปถัมภก จึงต้องทรงออกกฎหมายช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า กฎหมายพระสงฆ์ คือลงโทษพระสงฆ์ผู้ประพฤติ ฝ่าฝืนให้มีโทษทางฝ่ายบ้านเมืองด้วยอีกส่วนหนึ่ง ทรงตั้งกรมธรรมการและสังฆการีให้ช่วยคอยดูแลสอดส่องและลงโทษ แต่ก็ยังไม่สามารถทำผู้บวชให้ดีได้ทั่วถึงอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงผนวช ประทับที่วัดมหาธาตุ ได้ทรงเห็นทรงทราบความเป็นไปของผู้บวชอยู่ในครั้งนั้น ทรงทนอยู่ไม่ได้จึงทรงแสวงหาพระที่ดี ทรงสอบสวนจนพอพระหฤทัย จึงทรงอุปสมบทใหม่พร้อมด้วยผู้สมัครใจเข้าร่วมด้วย ในชั้นต้นก็น้อย ต่อมาจึงมากขึ้นโดยลำดับ จนเป็นพระคณะธรรมยุตขึ้น และทรงปกครองเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่ในกรมธรรมการ เมื่อทรงลาผนวชเพราะต้องทรงรับอาราธนาให้ครองราชสมบัติ ก็ทรงมอบการปกครองคณะสงฆ์ธรรมยุต แก่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ให้ทรงปกครองสืบต่อมา และสืบต่อมาถึงทุกวันนี้ แม้พระธรรมยุตเองในบัดนี้ เมื่อมีมากออกไป ก็ย่อมมีผู้ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยมากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อแรกมี เพราะความมากนั่นเอง จึงดูแลปกครองกันไม่ทั่วถึงด้วย ผู้บวชไม่มีศรัทธา ปสาทะพอ มุ่งประโยชน์อย่างอื่นด้วย.

บทความจาก

http://mahamakuta.inet.co.th/study/study67/mk671.htm

สุรเตโช
13-06-2009, 05:48
วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๒

หนังสือ บันทึก...เรื่อง "ศีลของพระ" ที่พระอาจารย์*** (ท่านจิตโต) ถ่ายทอดออกมาจากคำสอนของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

ขอความอนุเคราะห์สักนิดครับ
เหตุผลที่ท่านใช้นามปากกาว่า "ท่านจิตโต" เพราะท่านไม่ให้ใช้ชื่อจริงท่านในเว็บครับ

cydpb
13-06-2009, 22:33
โมทนาบุญกับพี่รัตน์ครับผม อ่านแล้ว ยิ่งใหญ่ สะท้านอารมณ์พาลให้น้ำตาจะไหล อ่านแล้วซึ้งครับ

วาโยรัตนะ
14-06-2009, 07:39
กระผมได้สนทนาธรรมกับหลาย ๆ ท่าน
เรื่องท่านที่มีความผิดต่าง ๆ ในขณะที่บวชไล่ตั้งแต่ "สังฆาทิเสส" ลงไป อันนี้ไม่พูดถึง"ปาราชิก" ว่าจะสามารถแก้ไขหรือทำอย่างไรได้บ้างไม่ให้ความผิดบาปตรงนั้นส่งผล
ขอความรู้ครับ :4672615:ท่านใดมีคำแนะนำบ้างครับ

วาโยรัตนะ
17-06-2009, 17:33
ใกล้วันบรรพชาอุปสมบทเข้าไปเรื่อย ๆ แล้วครับ อารมณ์ก็สงบมากขึ้นตามลำดับเช่นกัน

เถรี
18-06-2009, 09:33
วันนี้พี่รัตน์เข้าไปอยู่วัดแล้วค่ะ

อิน
18-06-2009, 11:40
อนุโมทนาครับ ท่านรัตน์

สุรเตโช
22-04-2010, 17:54
ประกาศหาคุณปู่หมา... ช่วยติดต่อกลับด่วน!!!!!

ไม่มีความหมายพิเศษ เจ้าตัวถ้าเห็นเขาจะรู้ ชื่อของเขาเอง ๕๕

ลูกลิงทำพิษเสียแล้ว
ไม่ต้องถึงกับจุดธูปเรียก แต่โทรมาก็ได้ครับ
สรุปว่าเราเจอกันเช้าวันเสาร์นะครับพี่ลัก...ยิ้ม

เนื่องจากว่าอยากบวช แต่ไม่มีเวลาไปอยู่เป็นนาค ๗ วัน เพราะอยากจะเก็บวันลากิจไว้ใช้ในงานบวชธุดงค์ที่วัดท่าซุงปลายปีนี้
(สอบมโนมยิทธิ ๑-๓ ต.ค.
ร่วมงานธุดงค์ ๙-๑๗ ธ.ค. และคิดว่านาคต้องเข้าวัด ๒ วันก่อนหน้าวันบวช)
ก็เลยไปขอบวชที่วัดเขาสนามแจง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี แทนที่จะไปอ้อนพระอาจารย์ฯ ครับ

เข้าวัดตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ ๙ เม.ย.
บรรพชาอุปสมบทเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๑ เม.ย.
ได้ฉายาที่ ๕ คือ ธนวํโส (แต่ก็ยังรัก"สุรเตโช"ที่สุดนะขอรับ)
ลาสิกขาเช้าวันจันทร์ที่ ๑๙ เม.ย. (ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖)
แล้วก็กลับมาสู่โลกแห่งความเศร้าหมองอีกครั้งครับ

เนื่องจากว่าไปแบบไร้ญาติขาดมิตร
เลยไม่มีใครไปร่วมงานบวชด้วย จึงไม่มีรูปภาพเลย
เช้าวันสุดท้าย หลวงพี่ตุ๋ย (เพื่อนป้ามา) เลยเมตตาเอากล้องให้โยมที่วัดคอยถ่ายภาพให้ช่วงบิณฑบาตครับ
http://zynq.multiply.com/photos/album/6/6
(๖/๖ อีกแล้ว)