PDA

View Full Version : โอวาทช่วงบวชเนกขัมมะ วันที่ ๑๓-๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๙


เถรี
28-04-2016, 14:57
พระอาจารย์กล่าวว่า "มีใครปฏิบัติไปแล้วรู้สึกเบื่อบ้าง ? บุคคลที่ปฏิบัติธรรมแล้วรู้สึกเบื่อมี ๒ ประเภท ประเภทแรกถือว่าดีมาก คือเข้าถึงนิพพิทาญาณ ส่วนประเภทที่สองแปลว่าไม่ได้อะไรเลย เพราะว่าบุคคลที่ปฏิบัติธรรม ถ้าเข้าถึงปีติเป็นขั้นต่ำ ก็จะไม่เบื่อในการปฏิบัติแล้ว ยกเว้นว่าท่านที่เข้าถึงฌานสมาบัติระดับใดระดับหนึ่ง ก็จะรู้สึกเฉย ๆ กับการปฏิบัติแต่ไม่เลิก คือทำไปเรื่อยเพราะรู้ว่าทำแล้วดี ฉะนั้น...ถ้าเบื่อในการปฏิบัติให้ดูว่ากำลังใจของเราถอยหลังหรือเปล่า ?

ถ้าหากว่ากำลังใจของเราทรงตัวหรือว่าก้าวหน้าแต่เบื่อ ให้รู้ว่าเป็นผลของนิพพิทาญาณ คือรู้สึกว่าตัวเราก็ดี โลกนี้ก็ดี ไม่มีอะไรมีแก่นสารเลย ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งเหลวไหลหลอกลวงทั้งนั้น

อาตมาไปนิพพิทาญาณขึ้นกลางห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ตอนนั้นห้างเซ็นทรัลเปิดใหม่ ๆ สาวเขาชวนไปซื้อของ เขามีหน้าที่ซื้อ อาตมาก็มีหน้าที่หอบ พอถุงเริ่มล้นไม้ล้นมือ ๔ ใบ ๕ ใบ อยู่ ๆ เกิดคำถามขึ้นมาว่า “นี่เอ็งกำลังทำอะไรอยู่ ? ทำไมเหลวไหลอย่างนี้ ที่มีสาระกว่านี้ไม่คิดจะทำหรือ ?” ก็เลยเกิดความรู้สึกเบื่อมาก เบื่อจนอยากจะมุดดินหนีตรงนั้นเลย แล้วสาวเจ้าก็ความรู้สึกไวมาก อยู่ ๆ ก็หันขวับมาถามว่า "พี่เป็นอะไร ?" อาตมาเป็นคนตรง ๆ อยู่แล้วก็ตอบว่า “เป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่ตอนนี้เบื่อหน้าเธอฉิบหา...เลย” เขาก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็กลับเถอะ"

เถรี
28-04-2016, 15:00
"หลังจากนั้นไม่นาน อาตมาก็ต้องมาบวช เพราะอะไร ๆ ก็เบื่อไปหมด ถ้าอารมณ์นี้เกิดขึ้นมา พยายามใช้ปัญญาคิดให้ได้ว่า ต่อให้เราเบื่อขนาดไหนก็ตาม แต่ว่าเรายังมีชีวิตอยู่ ถ้าสังขารนี้ยังดำรงอยู่ เราเบื่อแค่ไหนก็ยังจากไปไม่ได้ แต่ขึ้นชื่อว่าการเกิดมาที่น่าเบื่อหน่ายเช่นนี้ จะไม่มีสำหรับเราอีกแล้ว ชาตินี้ขอเป็นชาติสุดท้าย ตายเมื่อไรขอไปพระนิพพานดีกว่า ถ้าคิดอย่างนี้ได้ก็จะค่อย ๆ ก้าวข้ามความเบื่อ ไปเป็นสังขารุเปกขาญาณ คือรู้จักปล่อยวาง

การปล่อยวางก็คือ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดก็ตาม สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส สักแต่ว่าสัมผัส ไม่เก็บเอามาคิดต่อ หยุดความคิดเหล่านั้นเสีย ท่านถึงได้ใช้คำว่า สังขารุเปกขา ปล่อยวางการปรุงแต่ง ก็คือหยุดการคิด หยุดการปรุงแต่ง

ถ้าลักษณะอย่างนั้น รัก โลภ โกรธ หลง ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะว่าของทุกอย่างถ้าเราคิด จะออกไป ๒ ทาง ทางหนึ่งชอบใจ ซึ่งเป็นอารมณ์ฝ่ายราคะกับโลภะ ทางหนึ่งก็คือไม่ชอบใจ ซึ่งเป็นอารมณ์ของโทสะกับโมหะ มีแต่พาเราเสียทั้งคู่ ทำอย่างไรที่จะหยุดไม่คิดได้ ตาเห็นก็หยุดแค่นั้น อย่าคิดต่อ หูได้ยินให้หยุดอยู่แค่นั้น อย่าคิดต่อ จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสก็เหมือนกัน อย่าคิดต่อ เพราะว่าทุกวันนี้ที่เราทุกข์ เรากลุ้ม เราเครียด ปฏิบัติธรรมแล้วไม่เกิดผล ส่วนใหญ่เกิดจากความคิดของเราทำร้ายตัวเองทั้งนั้น"

เถรี
28-04-2016, 15:03
"เพราะเราไม่รู้จักคิดในเรื่องดี ๆ ไปคิดแต่เรื่องไม่ดีทั้งนั้น อย่างที่หลวงปู่หลวงพ่อบางท่านบอกว่า “ไปโกยแต่ขี้มา ของดี ๆ ไม่รู้จักกอบโกยมา” ถ้าตาเห็น...เรารู้ว่านี่คือกล้องถ่ายรูป อย่างแย่ที่สุดให้หยุดแค่นี้ แต่ถ้าไปคิดต่อ “สาวคนนั้นสวยดี เราจะไปขอถ่ายรูปหน่อย” อันนี้ราคะมาแล้ว “ไอ้นั่นกวนตี...หาเรื่องถ่ายคลิปแบล็กเมล์หน่อย” นี่โทสะมาแล้ว ก็จะไปเรื่อย พอเราคิดก็ออกไปทาง รัก โลภ โกรธ หลง ทั้งหมด

ทำอย่างไรที่เราจะใช้สติคือความรู้ตัว หยุดความคิดนั้นให้ทัน การหยุดความคิดต้องหยุดด้วยกำลังของสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิเราจะหยุดไม่ได้ เพราะกำลังไม่พอที่จะต่อต้านกระแสกิเลส แล้วท้ายที่สุดก็ใช้ปัญญา ทำอย่างไรที่จะหลีกเลี่ยงเสียจากสภาพนั้น ๆ ไม่ให้เกิดขึ้นกับเราอีก

ถ้าเรารู้จักคิด รู้จักพิจารณา ก็จะเห็นว่า ทุกครั้งที่ราคะเกิดขึ้นก็คือเราไปคิด ทุกครั้งที่โทสะเกิดขึ้นคือเราไปคิด ราคะกับโลภะเป็นตัวเดียวกัน เพราะว่าจิตยินดีจึงอยากมีอยากได้ ในเมื่อราคะคือความยินดีเกิดขึ้น โลภะคือความอยากมีอยากได้ก็เกิดขึ้น คราวนี้ถ้าหากว่าไม่ยินดีล่ะ ? ไม่ยินดีเขาเรียก อรติ ในเมื่ออรติเกิดขึ้นโทสะก็เกิด โทสะยังพัฒนาไปได้มากกว่านั้นอีก แรก ๆ แค่กระทบก็เป็นปฏิฆะ เหมือนอย่างกับสะเก็ดไฟกระทบเชื้อ กรุ่นเป็นควันขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แต่ถ้าไม่สามารถจะดับได้ก็พัฒนาขึ้นเป็นโทสะ ก็คือติดเป็นเปลว ไหม้แล้ว ลุกท่วมฟ้าเลยก็มี"

เถรี
28-04-2016, 15:04
"ถ้ายังไม่สามารถที่จะหักห้ามได้อีกก็เป็นพยาบาท คราวนี้เป็นไฟสุมขอน แต่สุมแล้วไม่ได้เผาคนอื่นหรอก เผาตัวเอง เผาใจของเราเอง คิดไม่ดีกับคนโน้น คิดไม่ดีกับคนนี้ เรื่องดี ๆ ตั้งเยอะตั้งแยะทำไมไม่คิด คิดถึงความดีของพระพุทธเจ้า ความดีของพระธรรม ความดีของพระสงฆ์ ความดีของเทวดา คิดถึงคุณความดีของการรักษาศีล ของการบริจาคทาน คิดถึงความตายจะได้ไม่ประมาท คิดถึงความเป็นจริงของร่างกายเราว่ามีสภาพอย่างไร คิดถึงความสงบระงับที่ปราศจากกิเลส และที่สำคัญที่สุดก็คือคิดอยู่กับลมหายใจเข้าออก

ดังนั้น...การที่บางท่านปฏิบัติธรรมมานาน แต่ทำไมก้าวข้ามกิเลสไม่ได้เสียที ก็เพราะเราเป็นคนไปสุมไฟใส่เชื้อให้อยู่ตลอดด้วยการคิด ทำไมเราถึงต้องจับอานาปานสติคือลมหายใจเข้าออก ก็เพื่อว่าให้ความคิดทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจตรงนี้ ลมหายใจเข้า...ลมหายใจออก ก็คืออยู่ปัจจุบัน ไม่ฟุ้งซ่านไปในอดีตและไม่ฟุ้งซ่านไปในอนาคต ซึ่งไม่ว่าจะอดีตหรืออนาคตก็สร้างแต่ รัก โลภ โกรธ หลง ให้เกิดแก่เราทั้งนั้น"

เถรี
28-04-2016, 15:05
"แต่ถ้าเราหยุดอยู่กับปัจจุบัน รัก โลภ โกรธ หลง เกิดไม่ได้ ความชั่วใหม่ไม่มี มีแต่ความดีใหม่ ในเมื่อสร้างความดีมากเข้า ๆ ก็ท่วมทับความชั่วเดิมไป เหมือนกับเติมน้ำจืดลงในน้ำทะเล เติมไปนาน ๆ มากเข้า ๆ น้ำทะเลไม่ได้หายไปไหน แต่รสจืดลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งท้ายสุดก็ไม่มีรสเค็มหลงเหลืออยู่ แต่ความจริงน้ำทะเลยังอยู่ครบถ้วน ก็คือลักษณะของการสร้างความดีหนีความชั่ว ในเมื่อเราไม่รู้ การปฏิบัติของเราก็หาความก้าวหน้าไม่ได้

ตอนนี้บอกให้รู้แล้ว ถ้ายังหาความก้าวหน้าไม่ได้อีกก็จะต้องมีการช่วยเหลือกัน การช่วยเหลือของอาตมาก็คือช่วยถีบ..! ก็ไม่ยอมเดินเอง ในเมื่อบอกทางแล้วไม่เดินเอง ก็ต้องมีรายการถีบส่ง รับประกันว่าจะมีบทเรียนเจ็บ ๆ แสบ ๆ ให้ แล้วถึงเวลาก็อย่าคร่ำครวญว่า ทำไมการปฏิบัติถึงต้องมีรายการทารุณกรรมทางจิตใจกันด้วย..!"

เถรี
29-04-2016, 15:31
(พระอาจารย์สั่งให้ล็อกประตูอาคารปฏิบัติกรรมฐาน) "อยู่ในนี้แหละ...ไม่ต้องออกไปไหนจนกว่าจะบ่ายสามโมง ส่วนคนที่มาช้าปล่อยให้อยู่ข้างนอกนั่นแหละ นัดไว้เที่ยงครึ่งไม่ใช่บ่ายโมง

คนจะปฏิบัติธรรมสัจจบารมีต้องสูงพอ ต้องเป็นคนตรงเวลา ถ้าใครที่นัดวันหนึ่งแล้วมาอีกวันหนึ่ง หรือว่านัดเช้ามาบ่าย โดยใช้คำพูดว่า “มาตรงวันก็ดีแล้ว” ขอให้รู้ว่าสัจจบารมียังบกพร่องอยู่มาก แล้วถ้าบกพร่องเสียตัวหนึ่ง อีก ๙ ตัวก็บกพร่องด้วยกันทั้งหมด เพราะว่าบารมีทั้งหลายเหล่านี้ไปด้วยกัน

นี่เป็นบทเรียนแรกที่จะช่วยถีบส่งพวกเราให้ไปได้เร็วขึ้น ถ้าหากว่ายังเอาดีไม่ได้ เดี๋ยวงวดหน้าจะมีการปฏิบัติตั้งแต่บ่ายโมงถึง ๖ โมงเย็นโดยที่ปิดประตูอย่างนี้เหมือนกัน ต่อไปคงเหลือคนปฏิบัติสัก ๒-๓ คน...!"

เถรี
29-04-2016, 15:36
พระอาจารย์กล่าวว่า "ที่เรียกหลวงพี่นวยของเราว่า “จารย์นวย” เพราะว่าหลายพรรษาแล้ว ของทางอีสานถ้าชาวบ้านสรงน้ำให้ ๓ ครั้งเขาก็เรียกว่า "จารย์" ต่อให้สึกไปเขาก็เรียกว่า "จารย์" แต่กว่าจะเป็น “ญาครู” ได้ก็นานมาก ญาครูนี่เป็นยาก ต้องให้ชาวบ้านเขาเคารพนับถือ ประเภทเทิดเหนือเศียรเหนือเกล้าจริง ๆ ถึงจะเป็นญาครูได้

แบบเดียวกับญาครูโพนสะเม็กหรือญาครูขี้หอม ถึงเวลาท่านขี้ก็เอาไม้ไปคนละอัน ไปปาดขี้ท่านมาแล้วเอาไปบูชากัน แบบเดียวกับหลวงปู่สี ฉนฺทสิริ วัดเขาถ้ำบุนนาค หลวงปู่สีช่วงสุดท้ายถ่ายออกมาเป็นขี้ผึ้ง ที่เขาเอามาเป็นหัวเชื้อทำสีผึ้งกัน ไม่น่าเป็นไปได้ก็เป็นไปได้"

เถรี
29-04-2016, 15:42
พระอาจารย์กล่าวว่า "ตอนสรงน้ำพระวันนี้แบกท่านแบงค์กันไหวไหม ? ของผมนี่แม็กซีมคิดว่าตัวเองแข็งแรง ขอแบกหลวงพ่อ ปรากฏว่าพอหนักขึ้นมาเขาวิ่งเลย ญาติโยมประท้วงกันใหญ่

ความจริงท่านแบงค์ต้องเอาแคร่หาม จะได้เฉลี่ยน้ำหนักได้ ๔ คน "สี่คนหาม สามคนแห่ คนหนึ่งนั่งแคร่ สองคนนำทาง" สี่คนหาม หมายถึงร่างกายของเรา ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือดิน น้ำ ลม ไฟ สามคนแห่ คือประกอบไปด้วยไตรลักษณ์ ลักษณะ ๓ ประการที่เหมือนกันคือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่คนตัวตนที่ยึดถือมั่นหมายได้ คนหนึ่งนั่งแคร่ คือ สภาพจิตของเราที่อาศัยในร่ายกายนี้ สองคนนำทาง ก็คือบุญและบาปที่เราสร้างเอาไว้

สำคัญตรงสองคนนำทางนี่แหละ ถ้าหากว่าบุญนำก็ค่อยยังชั่วหน่อย ถ้าหากว่าบาปนำเมื่อไรก็อีกหลายชาติเลย ปริศนาโบราณเขาชอบผูกเอาไว้ให้คิด เราส่วนใหญ่นึกกันไม่ค่อยจะออก"

เถรี
29-04-2016, 15:48
พระอาจารย์กล่าวว่า "เดี๋ยวอีกไม่กี่วันท่านต้อมก็คงมาขอสึก พวกคุณไม่ได้เห็นหน้าหรอก ท่านไปเรียนหนังสือนานมาก เรียนอยู่ ๖ ปีไม่ได้อะไรเลย เพราะใช้ฉันทะในทางที่ผิด ซึ่งตรงจุดนี้ผมอยากให้ทุกคนดูเป็นตัวอย่าง ไม่ใช่ทำตามนั้น ที่ให้ดูเป็นตัวอย่างคือการท่องหนังสือท่านไม่ค่อยสนใจ แต่ถ้าไปนั่งเย็บปักถักร้อยนี่ข้ามวันข้ามคืนได้เลย ลักษณะเดียวกันครับ คือกำลังใจที่มุ่งมั่นเท่ากัน เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้ให้ถูกที่ ก็กลายเป็นของที่เราประสบความสำเร็จได้

สมัยผมบวชพรรษาแรก เพื่อน ๆ ในพรรษาเวลาทุ่มครึ่งก็นัดกันว่ามีปัญหาอะไรในการปฏิบัติให้มาคุยกัน ถ้าหากว่าติดขัดอย่างไรจะได้ไปถามรุ่นพี่เขา ก็ปรากฏว่าเป็นเวลาฉันน้ำปานะแบบนี้แหละ คนโน้นก็ไมโล คนนี้ก็โอวัลติน มึงส่งให้กู กูส่งให้มึงยุ่งไปหมด ปรากฏว่าทิดหนูลูกลุงเอี๊ยง นั่งอ่านนิยายกำลังภายใน เพื่อนส่งของข้ามไปข้ามมาอยู่ตรงหน้า เขาไม่รู้เรื่องอะไรเลยครับ สมาธิอยู่ตรงหนังสือ ผมดู ๆ แล้ว โอ้โห...นี่ระดับนิโรธสมาบัติเลยเว้ย..! ไม่รับรู้อาการภายนอกเลย คือฉันทะมีจนล้น วิริยะก็เหลือเฟือ จิตตะก็เลยจดจ่อปักมั่นอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่สนใจเรื่องอะไรเลยครับ"

เถรี
29-04-2016, 15:51
"เรื่องพวกนี้ถ้าปรับกำลังใจมาใช้ในการปฏิบัติหน่อยเดียวจะได้เปรียบคนอื่นมาก เพราะกำลังพออยู่แล้ว แต่ขาดตัวฉันทะ คือยังไม่ยินดีและพอใจที่จะทำอย่างนั้นจริง ๆ ในเมื่อยังไม่ยินดีและพอใจจริง ๆ ทั้งที่ตัวเองมีความสามารถที่จะทำได้ แต่กลับคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ก็มี ยังไม่ทันจะลอง คิดว่าสู้ไม่ได้เอาไว้ก่อน อย่างของท่านต้อม วันนั้นนั่งปักตาลปัตร ๒ วัน ๒ คืนอยู่ได้ครับ ท่านชอบของพวกนี้

ถามว่าสึกไปแล้วจะไปทำอะไร ?ท่านว่าจะไปเรียนวิทยาลัยในวังชาย เขาสอนพวกนี้แหละ พวกเย็บปักถักร้อยระดับฝีมือในวัง ก็น่าจะเรียนได้ดีเพราะว่าของชอบ แต่บาลีนี่ ๖ ปีไม่ได้อะไรเลย เราก็เห็นว่าอย่างพวกท่านไบรท์ ท่านเสริฐ ท่านโตโต้ ปีแรกก็ได้ประโยค ๑-๒ แล้ว ของท่านปัญญาถ้าซ่อมผ่านก็ได้ด้วย ถ้าซ่อมไม่ผ่านอย่างเก่งก็เท่าทุน เพราะประโยค ๑ กับ ประโยค ๒ เรียนสองปีอยู่แล้ว แต่ของท่านเองนี่นานมาก ๖ ปี ผมอยากรู้ว่ามีใครจำหน้าท่านได้บ้างไหม ? พวกรุ่นหลังไม่ได้เห็น เลยไม่รู้หรอกว่ามีรุ่นพี่อีกรูปที่พรรษาเยอะมาก แต่ไปเรียนหนังสืออยู่"

เถรี
29-04-2016, 16:10
พระอาจารย์พูดกับเด็กคนหนึ่ง "จะปฏิบัติธรรมหรือจะเล่นโทรศัพท์จ๊ะ ? ถ้าจะเล่นโทรศัพท์จะได้ให้ออกไปเล่นข้างนอก หลวงพ่อจะได้ไม่ต้องเสียเวลาออกวุฒิบัตรให้อีกใบหนึ่ง แล้วคนเป็นพ่อแม่หรือเป็นญาติถ้าควบคุมลูกหลานตัวเองไม่ได้ก็ออกไปด้วย อย่าเลี้ยงลูกให้เป็นบรรพบุรุษ ถ้าเลี้ยงลูกให้เป็นลูกไม่ได้ เลี้ยงให้เป็นบรรพบุรุษนี่จะเจ็บปวดเพราะลูกอีกเยอะ รีบแก้ไขเสียตั้งแต่ตอนนี้ ไม่อย่างนั้นแล้วพวกบรรพบุรุษน้อยรู้ว่าจะจัดการกับพ่อแม่อย่างไร แล้วต่อไปจะเจ็บกว่านี้อีกเยอะ

อาตมาขอยืนยันว่าเด็กทุกคนฉลาดมาก เขารู้ว่าจะจัดการกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายอย่างไร ฉะนั้น...ถ้าเป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายายแล้วฉลาดน้อยกว่าเด็ก ก็จะเป็นอะไรที่อนาถมาก อย่าตามใจจนเสียหมา ถ้าตามใจจนเสียหมาต่อไปหมาก็จะไม่อยู่ด้วย ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่สมัยนี้เป็นเพราะว่ามีเวลาให้ลูกน้อย สมัยก่อนพ่อไปทำงาน แม่อยู่บ้านเลี้ยงลูก หรือถ้าพ่อแม่ไปทำงาน ปู่ย่าตายายก็เลี้ยงหลาน

แต่ส่วนใหญ่สมัยนี้กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว สมัยก่อนเป็นครอบครัวขยาย คือปู่ย่าตายายมีลูกมีหลาน ก็ปลูกบ้านเรือนอยู่บริเวณเดียวกัน ช่วยกันดูแลเด็กได้ แต่สมัยนี้ส่วนใหญ่แล้วกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว คือมีแค่พ่อแม่ลูกเท่านั้น พ่อออกไปทำงาน แม่ออกไปทำงาน ลูกส่งไปโรงเรียน มีเวลาให้ลูกน้อยไป ก็เลยทุ่มเทด้วยการตามใจลูก โปรดระวังเอาไว้ คดีประเภท “พ่อกูรวย” หรือว่า “พ่อกูใหญ่” มีเยอะแล้ว โดนขัดใจหน่อยเดียว ขับเบนซ์ไล่ชนคนตามป้ายรถเมล์ก็มีมาเยอะแล้ว ก็เพราะเลี้ยงลูกจนเสียหมานี่แหละ..!"

เถรี
29-04-2016, 16:59
"แล้วประเภทเลี้ยงลูกโง่จนไม่รู้ว่าตัวเองเป็นลูกใคร ถึงเวลาต้องไปถามเขาว่า “มึงรู้หรือเปล่าว่ากูลูกใคร ?” ถ้าเลี้ยงลูกโง่ขนาดไม่รู้ว่าตัวเป็นใครหรือว่าพ่อเป็นใคร ก็อย่าไปเลี้ยงเลย เสียดายอาตมาบวชเสียก่อน ไม่อย่างนั้นพวกประเภทที่ถามว่ารู้ไหมพ่อกูเป็นใครนี่ รับรองว่าจะจำพ่อแม่ได้เดี๋ยวนั้นเลย เพราะนิสัยอาตมาก็คือกระทืบให้กระดิกไม่ได้ ยังมีส่วนไหนกระดิกได้ก็กระทืบต่อไป...!

เด็กรุ่นใหม่ ๆ ไม่รู้ว่าได้อ่านหนังสือเรื่องพ่อแม่รังแกฉันกันบ้างหรือเปล่า ? ประเภทกว่าจะรู้ตัวก็ไปไหนไม่รอด พ่อแม่ตายหมด ตัวเองทำอะไรไม่เป็น ล่าสุดเพิ่งจะมีลูกเศรษฐีสั่งซื้อรถยนต์ ๗ คัน มีโรลส์รอยซ์ เบนท์ลี่ พวกนั้น ซื้อไปทำอะไร ๗ คัน ? ขับคนเดียวได้หรือ ? หรือว่าขับคันหนึ่งจูงตามไปอีก ๖ คัน ? แล้วเรื่องของเด็กเขาเหมือนอย่างกับผ้าขาว เราวาดอะไรลงไปเราก็ได้ผลงานอย่างนั้นแหละ ฉะนั้น...ต้องวาดให้ดีเสียตั้งแต่แรก

ถ้าถามว่าวาดให้ดีเสียตั้งแต่แรกจะเป็นการบังคับเด็กเกินไปไหม ? ถ้าเด็กไม่โดนบังคับก็เสียเด็กหมด พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนเกรงอาชญา” คือกลัวการลงโทษ ถ้าหากว่าไม่มีการลงโทษ เมตตาอย่างเดียว จะทำให้บุคคลที่มีนิสัยน้อมไปในทางต่ำไม่เกรงกลัว อาตมาสรุปให้กับตนเองได้ตั้งแต่สมัยฆราวาสว่า คนเราไม่กลัวคนดีหรอก เขากลัวแต่คนที่ชั่วกว่า..!

ในเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงจำเป็นต้องมีการกำราบกันเสียก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของส่วนรวม ถ้าหากว่าปล่อยให้เด็กทำอะไรตามใจตัวเองโดยไม่ห้ามปราม ไม่สอนให้รู้ว่าที่ไหนเหมาะ ที่ไหนควร ต่อไปลูกจะแปลกแยกจากสังคม เข้ากับใครไม่ได้ เพราะว่าไปถึงก็ทำตามใจตัวเอง เลยกลายเป็นเรื่องผิด ๆ"

เถรี
29-04-2016, 17:04
"แล้วอย่าไปหวังว่าครูบาอาจารย์จะสอนได้ เพราะครูบาอาจารย์คนแรกอยู่ในบ้าน ถ้าหากว่าพ่อแม่ปั้นออกมาไม่ได้ ส่งต่อให้ครูปั้น กว่าจะไปถึงโรงเรียนได้ก็ ๓ ขวบ ๖ ขวบ แล้วก็ไม่ต้องหวังว่าพระจะช่วยได้ เพราะกว่าจะบวชได้ก็อายุ ๒๐ ปี มีหลายรายเอาลูกมาถึงก็ “ท่านเจ้าขา ช่วยอิฉันหน่อย สอนให้มันเป็นคนดีทีเถอะ มันเกเรเหลือเกิน” ถามว่าลูกโยมจะบวชกี่วัน ? บอกว่า ๗ วัน ตัวเองสอนมา ๒๐ ปีสอนลูกให้ดีไม่ได้ มาอยู่วัด ๗ จะให้สอนลูกให้เป็นคนดีได้ก็อัศจรรย์แล้ว

เรื่องพวกนี้ถ้าเปรียบไปแล้วเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติธรรมก็คือ “เมตตาเกินประมาณ” ไม่มีตัวอุเบกขา ในเมื่อขาดอุเบกขาก็จะทำให้เดือดร้อนภายหลัง ขณะเดียวกันกำลังใจของเราก็ไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถที่จะวางอุเบกขาได้ โยมแม่ของอาตมามีลูก ๑๓ คนเลี้ยงด้วยไม้มาตลอด ไม่อย่างนั้นลองนึกดูว่าไอ้ลิงน้อย ๑๐ กว่าตัว อาละวาดขึ้นมาพร้อม ๆ กันแล้วใครจะเอาอยู่ ? จึงต้องเลี้ยงด้วยไม้ ถ้าหากว่าทำอีกก็โดนอีก ต้องลักษณะอย่างนั้น

นักปกครองที่ดีต้องเริ่มต้นที่บ้านตัวเอง ถ้าปกครองในบ้านดีได้ ก็สามารถปกครองส่วนรวมให้ดีได้เหมือนกัน ถ้าบ้านตัวเองเอาดีไม่ได้ ก็ไม่ต้องหวังว่าจะไปปกครองใคร พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ชัด ๆ ว่า “ยถาวาที ตถาการี ยถาการี ตถาวาที” ก็คือ “พูดอย่างไรต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างไรก็ต้องพูดอย่างนั้น” ไม่อย่างนั้นแล้วจะกลายเป็นหลายมาตรฐาน แล้วบ้านเมืองจะเละเทะหมดอย่างทุกวันนี้"

เถรี
29-04-2016, 17:18
"ต้องเลี้ยงลูกให้โตไปเพื่อช่วยให้สังคมดีขึ้น ไม่ใช่เลี้ยงลูกไปแล้วเป็นปัญหาให้แก่สังคม ถึงเวลานั้นต่อให้เรานอนอยู่ในหลุมแล้วเวลาเขาแช่งชักขึ้นมา บรรพบุรุษอย่างพวกเราก็นอนสะดุ้งอยู่ในหลุมนั่นแหละ รุ่นนี้หลายคนน่าจะทันละครเรื่องตี๋ใหญ่ จำได้ไหมคุณสมพล กงสุวรรณเล่นเป็นพ่อตี๋ใหญ่ “ไอ้ตี๋...มึงอย่าไปทำชาวบ้านเขา เดี๋ยวคนเขาจะเดือดร้อน” ตี๋ใหญ่ฟังที่ไหน ถือว่ามีตะกรุดโทนหลวงปู่สุด วัดกาหลงอยู่ ใครทำอะไรตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว ที่สุดวันร้ายคืนร้ายก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าถึงคราวชะตาขาดหรืออย่างไร ตี๋ใหญ่ทำตะกรุดหาย โดนตำรวจล้อมยิง คราวนี้ตายไปเลย

เลี้ยงลูกให้ออกไปช่วยเสริมสร้างสังคมของเรา อย่าเลี้ยงลูกให้ไปเป็นปัญหาสังคม ขอย้ำเอาไว้ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ไม่มีใครกล้าบอกพวกเราเพราะเขาเกรงใจ เขาก็ปล่อยให้เราถลำลึกไปเรื่อย ๆ เหมือนเห็นคนตกเหวก็ได้แต่ปล่อยให้ตกไปเรื่อย โดยที่ไม่สามารถจะช่วยเหลือได้ แต่อาตมาเองในฐานะที่เป็นพระ จำเป็นต้องชี้ทางออกบอกทางถูกให้ พูดไปหลายคนอาจจะไม่ยินดี ไม่พอใจ แต่ก็ต้องพูด เพราะถ้าไม่พูดเท่ากับบกพร่องต่อหน้าที่ของตัวเอง"

เถรี
30-04-2016, 13:57
พระอาจารย์กล่าวว่า "ในเรื่องของการปฏิบัติธรรม ที่เราปฏิบัติกันอยู่ ส่วนใหญ่แล้วพวกเราจะมีกำลังใจเป็นพัก ๆ ถ้าใช้ภาษาโบราณก็คือ เหมือนไฟไหม้ฟาง เวลามีเชื้อฟางมาหน่อยหนึ่งแหย่ไฟเข้าไปก็ลุกพรึ่บขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถที่จะไหม้ได้ในระยะที่ยาวนาน เกิดจาก ๒ สาเหตุด้วยกัน สาเหตุหนึ่ง ก็คือ ยังไม่เห็นประโยชน์ที่แท้จริงของการปฏิบัติธรรม ถ้าเห็นประโยชน์ที่แท้จริงของการปฏิบัติธรรม เราจะตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติโดยไม่ต้องให้ใครมาเคี่ยวเข็ญบังคับ

สาเหตุที่ ๒ เกิดจากการไม่เห็นโทษ ว่าถ้าเราไม่ปฏิบัติธรรมแล้วจะเกิดโทษอะไรบ้าง อย่างเช่นว่าไม่เคยให้ทาน ไม่เคยรักษาศีล ไม่เคยเจริญภาวนา มีสิทธิ์ที่จะลงอบายภูมิเกิน ๙๙ เปอร์เซ็นต์

ในเมื่อเราไม่เห็นประโยชน์และไม่เห็นโทษ ก็ยังอยู่ในระหว่างครึ่งดีครึ่งชั่ว และเกิน ๘๐ เปอร์เซ็นต์ในที่นี้มาปฏิบัติหวังจะละความชั่วในใจของเรา เพราะเคยชั่วมาจนพอแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่นะ ขนาดพอแล้วก็ยังทำอยู่เรื่อย ๆ ในเรื่องของความชั่วไม่จำเป็นต้องไปอับอายขายหน้าใคร เพราะว่าเป็นปกติของบุคคลที่ยังโดนชักนำด้วยกิเลส ตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรม ย่อมมีการคิดผิด พูดผิด ทำผิดเป็นปกติ

แต่ว่าเมื่อรู้ว่าผิดก็ต้องพยายามแก้ไข ทำกาย วาจา ใจของเราให้ดีขึ้นให้ได้ ถ้าจะว่าไปแล้วก็คือใช้กำลังใจเท่ากับที่เราทำความชั่วนั่นแหละ ทีทำความชั่วยังมุ่งมั่นตั้งหน้าตั้งตาทำจนสำเร็จ ถึงเวลาทำความดีก็ใช้กำลังใจลักษณะเดียวกัน มุ่งมั่นตั้งหน้าตั้งตาทำให้สำเร็จ อาตมาขอยืนยันว่าเรื่องของมรรคผลยังไม่พ้นสมัย และโดยเฉพาะสมัยนี้ เพราะว่าธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสมบูรณ์บริบูรณ์อยู่ ใครปฏิบัติตามก็ย่อมได้รับผลตามวาสนาบารมีของตน ตามแต่ความพากเพียรพยายามของตน"

เถรี
30-04-2016, 14:04
"สมัยก่อนที่หลวงพ่อฤๅษีวัดท่าซุงจะมรณภาพ ท่านเคยนำคำพยากรณ์ของพระมาบอกกล่าวว่า “บุคคลที่ได้มีโอกาสปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของท่าน มีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลเป็นจำนวน ๑๗๕,๓๐๐ คน” ซึ่งในช่วงนั้นดูเหมือนว่าน้อยเพราะหลวงพ่อท่านยังอยู่ บุคคลที่ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้นมีมาก

แต่พอสิ้นท่านไป ส่วนใหญ่แล้วหมดกำลังใจที่จะปฏิบัติต่อ เพราะคิดว่าสูญเสียครูบาอาจารย์ไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นจำนวนที่เห็นว่าน้อยก็กลายเป็นมาก เพราะคู่แข่งหมดคุณสมบัติไปเอง คือขาดฉันทะ ความยินดีพอใจที่จะปฏิบัติ ขาดวิริยะ คือความพากเพียรที่จะปฏิบัติ

อาตมาถึงได้กล่าวว่า ถ้านับบุคคลที่จะบรรลุมรรคผล ๑๗๕,๓๐๐ คน ตอนนี้โควตาเหลือเพียบ เพราะบุคคลที่ควรจะปฏิบัติเพื่อมรรคเพื่อผลเหลือน้อยลง อาตมายังกล่าวว่าวัดท่าขนุนขอแค่เศษ ๓๐๐ คนก็พอ อีก ๑๗๕,๐๐๐ คน ให้คนอื่นเขาไปแบ่งกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น พวกเราที่มาปฏิบัติธรรมซึ่งอาตมาจำกัดไว้ว่าครั้งละไม่เกิน ๓๐๐ คน แปลว่าเราทุกคนมีโอกาสที่จะเข้าถึงมรรคผลทั้งสิ้น เพียงแต่อย่าทิ้งโอกาสนั้น ให้ใช้ความเพียรพยายามให้เต็มที่

เราเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ต้องปฏิบัติตามในสิ่งที่ท่านสั่งสอนมา ไม่ใช่ประกาศว่าเคารพในคุณพระรัตนตรัย แต่กิเลสชักนำเมื่อไรก็ตามไปทุกที ดังนั้น...ในส่วนนี้จึงขอให้ทุกคนทำตัวเป็นไฟสุมขอน ก็คือไหม้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันหยุดจนกว่าจะสิ้นเชื้อเอง อย่าทำตัวเป็นไฟไหม้ฟาง ที่มาวูบเดียวแล้วก็หายไป"

เถรี
30-04-2016, 14:06
"สิ่งทั้งหลายที่พูดมาจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อท่านทั้งหลายนำไปปฏิบัติให้เกิดผล ไม่อย่างนั้นแล้วครูบาอาจารย์ก็ได้แต่บอกเท่านั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “อักขาตาโร ตถาคตา แม้ตถาคตก็เป็นเพียงผู้บอกเท่านั้น” ในเมื่อบอกทางแล้ว ถ้าเราไม่เดินตาม สิ่งที่พระองค์ท่านบอกมา ถึงแม้จะล้ำค่าเพียงใดก็เปล่าประโยชน์สำหรับเรา เพราะฉะนั้น...โปรดอย่าทำตัวเป็นทัพพีขวางหม้อแกง ตักแกงจนทัพพีสึกหดไปหลายอันแต่ไม่รู้รสแกงเลย

การปฏิบัติธรรมของเราควรที่จะปฏิบัติให้ได้ผล เราจะได้กล่าวกับผู้อื่นอย่างเต็มปากเต็มคำว่า เราไปปฏิบัติธรรมและเห็นผลจริง สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ แต่ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วยังไม่เห็นผลจริง เราก็ไม่สามารถชักชวนผู้อื่นให้เลื่อมใสและคล้อยตามได้ ดีไม่ดีถ้าเราควบคุม กาย วาจา ใจ อยู่ในกรอบไม่ได้ มีการแสดงออกที่เสียหาย ก็ทำให้คนอื่นปรามาสพระรัตนตรัยเพิ่มขึ้น ทำให้คนอื่นไม่เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่าปฏิบัติมาตั้งนานแล้วก็ยังมี กาย วาจา ใจ ที่ใช้ไม่ได้ขนาดนี้

ฉะนั้น...สิ่งทั้งหลายที่เราทำ เป็นผลกระทบต่อส่วนรวม คือพระพุทธศาสนา เป็นผลกระทบต่อเป้าหมายเฉพาะ อย่างเช่นต่อวัดท่าขนุนหรือตัวของอาตมา และท้ายที่สุดเป็นผลกระทบเฉพาะตนเอง คือทำเท่าไรก็ไม่เกิดประโยชน์ แล้วก็จะหมดกำลังใจ ย่อท้อ ถอยหลังไปเอง ถ้าเป็นลักษณะนั้น ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายชาติ กว่าจะย้อนกลับมาใหม่ เพราะกิเลสรู้ว่าถ้าเราหลุดพ้นมือไป เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะครอบงำได้ ก็จะพยายามให้เราคิดผิด พูดผิด ทำผิดทับซ้อนไปเรื่อย ๆ จนโทษหนักขึ้นมา โอกาสจะเกิดเป็นคนยังหาไม่ได้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายทุ่มเทความพยายามอย่างจริงจังในการปฏิบัติ"

เถรี
30-04-2016, 14:07
"ระยะเวลาการปฏิบัติธรรมจริง ๆ ของเราที่วัดมีน้อยมาก แล้วถ้ากลับไปอยู่กับครอบครัว สิ่งแวดล้อมไม่อำนวย เราก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ เราจึงควรที่จะฉวยโอกาสที่เราอยู่ในสถานที่อันเหมาะสม มีแต่บุคคลที่รักในการปฏิบัติธรรมด้วยกัน ต้องทุ่มเทให้เต็มกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญาของเรา ส่วนผลจะเกิดขึ้นเท่าไรก็แล้วแต่วาสนาบารมีเฉพาะของแต่ละคน"

เถรี
30-04-2016, 14:17
พระอาจารย์กล่าวว่า "การภาวนาต้องหาเทคนิคเฉพาะของตัวเองที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ใจเราอยู่กับลมหายใจเข้าออกให้ได้นานที่สุด ถ้าหาเทคนิคเฉพาะของตัวเองไม่ได้ ก็ต้องเลียนแบบคนอื่น บางท่านก็ใช้วิธีสวดมนต์ถวายพระ นึกถึงภาพพระ ภาพหลวงปู่หลวงพ่อ แล้วก็สวดมนต์ไปเรื่อย คำสวดมนต์ก็คือคำภาวนานั่นเอง เพียงแต่เป็นคำภาวนาที่ยาวหน่อย

เทคนิคพวกนี้เราค่อย ๆ หาที่เหมาะสมเฉพาะตัวเรา บางท่านก็กำหนดเป็นภาพพระใหญ่บ้าง เล็กบ้าง สลับไปสลับมาซ้าย ขวา บน ล่าง แล้วแต่เราสะดวก เพื่อให้กำลังใจอยู่กับลมหายใจเฉพาะหน้า ไม่เคลื่อนไม่คลายไปที่อื่น

แต่อย่าทำแบบเถรตรง ถ้าสมาธิของเรามีน้อย ถึงเวลาไปแล้วตัน ไปต่อไม่ได้ พอสภาพจิตไปต่อไม่ได้ คลายออกมาเมื่อไรก็จะฟุ้งซ่าน ต้องระมัดระวังให้ดี ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นยิ่งปฏิบัติยิ่งเก็บกด แล้วโอกาสที่จะเอาดีก็ยาก"

เถรี
30-04-2016, 14:19
พระอาจารย์กล่าวกับพระในวัดว่า "วันนี้ไปงานพิลึกพิลั่นมา งานหลักเขาก็คือทำบุญกระดูกเนื่องในวันสงกรานต์ งานรองลงไปก็คือฉลองตราตั้งอุปัชฌาย์ให้ผม คุณเห็นความประหลาดไหม ? คืองานทำบุญกระดูกเป็นงานอวมงคล ส่วนงานฉลองเป็นงานมงคล ยังจำได้ไหมว่างานมงคลกับอวมงคลต่างกันตรงไหน ?

ศาสนพิธีที่เรียนตั้งแต่นักธรรมชั้นตรี ๔ หมวด มี กุศลพิธี บุญพิธี ทานพิธี และเบ็ดเตล็ด คราวนี้ก็สวดมนต์ยากนะสิ เพราะบทที่สวดงานอวมงคลก็สวดงานมงคลไม่ได้ บทที่สวดงานมงคลก็สวดงานอวมงคลไม่ได้ ฉะนั้น...ถ้าใครสึกหาลาเพศไปแล้วอย่านิมนต์ในลักษณะนี้นะ

ผมไม่ใช่หลวงพ่อโต วัดระฆัง จะได้เป็นทุกเรื่อง เจ้านายเป็นเจ้าคุณ บอกให้บ่าวไปนิมนต์หลวงพ่อโต วัดระฆัง “นิมนต์เทศน์อริยสัจ” ไอ้นั่นก็อย่างว่าแหละ สมัยก่อนหนังสือหนังหาก็ไม่ได้เรียนหรอก ไปถึงก็ “ท่านเจ้าคุณนิมนต์หลวงพ่อเทศน์ ๑๒ นักษัตร” น่าเทศน์นะ

พอถึงเวลาท่านขึ้นธรรมาสน์ พอตั้งนะโมเสร็จก็ “มุสิโก ว่าปีชวด อุสุโภ ว่าปีฉลู พยัคโฆ ว่าปีขาล สโส ว่าปีเถาะ” ท่านเจ้าคุณนั่งอึ้ง จะเทศน์เรื่องอะไรกันแน่วะ ? แล้วหันไปมองหน้าบ่าว “มึงทำเสียเรื่องแน่แล้ว” ท่านก็ว่าไปถึง “สุกโร ว่าปีกุน” แล้วก็สรุปว่าคนเราที่เกิดมาทั้งหมดก็เกิดภายใต้ ๑๒ นักษัตรนี่แหละ เกิดมาแล้วก็ประกอบไปด้วยความทุกข์อย่างไร ถ้าอยากจะพ้นทุกข์ต้องปฏิบัติตามมรรค ๘ ที่พระพุทธเจ้าท่านว่าเอาไว้คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างไร ท่านสรุปลงอริยสัจจนได้"

เถรี
30-04-2016, 14:23
"นั่นยังดีนะ สมัยหลวงพ่อวัดท่าซุงเขานิมนต์เทศน์เรื่องรามเกียรติ์ ผมถามว่า “แล้วหลวงพ่อเทศน์ได้หรือครับ ?” ท่านบอกว่า “ทำไมจะไม่ได้วะ ? ก็ รัก โลภ โกรธ หลง แค่นั้นแหละ ไม่มีอะไรหรอก ไอ้ทศกัณฑ์ราคะขึ้นหน้า ก็ไปขโมยตัวนางสีดามา พระรามโทสะขึ้นหน้า ก็ต้องตามมาเอาคืน” ท่านก็สรุปลง รัก โลภ โกรธ หลง ได้ ต่อไปถ้าพวกคุณเจอหัวข้อฉุกเฉินแบบนี้ต้องสรุปให้ได้นะ

งานมงคลต้องมีการตั้งขันน้ำมนต์ วงสายสิญจน์ งานอวมงคลยกเว้นสวดมาติกาหน้าไฟแล้วไม่ต้องมีขันน้ำมนต์ งานอะไรที่เกี่ยวกับศพไม่ต้องมีขันน้ำมนต์ ฉะนั้น...ต้องจำให้แม่น ๆ จะได้บอกโยมเขาถูกว่าอะไรเป็นอะไร โดยเฉพาะบทสวดงานอวมงคลอย่าได้ไปขึ้นชยันโตฯ เชียว ภะวะตุสัพฯ ก็ไม่ได้ ชยันโตโพธิยาฯ นั่นให้สำเร็จใช่ไหม ? สำเร็จตรงตายห่...ไปแล้ว..! ภะวะตุ สัพพะมงคะลังฯ สัพมงคลทั้งหลายจงมีแก่ผู้ตาย ขึ้นไม่ได้ครับ ถึงได้บอกว่าสวดยากฉิบหา...เลยงานอย่างนี้

คุณถึงได้เห็นว่าทำไม มหาการุณิโก นาโถฯ หายไปไหน ? ภะวะตุฯ ก็ไม่มี มีไม่ได้ ผมยังบอกหมอฉลองเลยว่า ต่อไปอย่าตั้งหลายวัตถุประสงค์ หลายวัตถุประสงค์ทำยาก พอ ๆ กับวิทยานิพนธ์นั่นแหละ วัตถุประสงค์เยอะก็ทำงานวิจัยเยอะ คราวนี้ถ้าหากว่ามั่วขึ้นมาก็ทำไม่ได้ งานศพไม่ต้องไปภะวะตุสัพฯ ให้เขาหรอก แหม...ถึงแก่ความตายพร้อมด้วยสรรพมงคลทั้งปวง นั่นต้องพระอรหันต์เท่านั้น ไม่รู้ว่าเขาเป็นพระอรหันต์อย่าไปลง ภะวะตุ สัพฯ ถ้าลูกหลานเขารู้เดี๋ยวจะโดนด่าเอา

งานแบบนี้บางทีก็ทำเอาพวกเราเครียดเหมือนกัน คนที่ไม่รู้ก็แล้วไป ที่รู้ก็ต้องมานั่งคิดว่าจะสวดบทไหนดีวะ ? แล้วจะขึ้นมงคลหรืออวมงคลก่อน"

เถรี
30-04-2016, 14:25
"แล้วฉลองให้ผมทำไมวะ ? ทำอย่างกับผมไม่มีสตางค์จัดฉลอง บอกแล้วว่าอาจารย์เล็ก วัดท่าขนุน อาจจะขาดได้ทุกอย่าง แต่เรื่องสตางค์ไม่ขาดแน่ ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น นี่ถ้าจะฉลองย้อนหลังผมมีให้ฉลองทุกปีแหละ เพราะว่ารับรางวัลมาทุกปี แล้วผมรับอะไรมาบ้างพวกท่านรู้หรือเปล่า ? ไม่รู้หรอก รับมาผมก็ทิ้งให้ฝุ่นจับอยู่นั่นแหละ

การที่คนอื่นเขายกย่องเรามีอยู่ ๒ อย่าง อย่างแรก...เรารู้เท่าทันก็เสมอตัว อย่างที่ ๒ ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันแล้วเหลิง ลอยลมตามไปก็ขาดทุน โลกธรรม ๘ นั่นแหละ มีลาภคู่กับเสื่อมลาภ มียศคู่กับเสื่อมยศ มีสรรเสริญคู่กับนินทา มีสุขคู่กับทุกข์ ทำใจไม่ได้ก็หวั่นไหว ที่ไหว ไหวตรงไหน ? ลองดูซิ...ถ้าหากว่าบอกว่าถูกรางวัลที่ ๑ เป็นอย่างไร ? ไม่ได้ไหวแต่ใจนะครับ ผมว่าไหวทั้งตัวและครอบครัวด้วย แล้วต่อไปเกิดหวั่นขึ้นมา หวั่นอะไร ? กลัวไม่ได้เงิน กลัวโดนปล้น กลัวคนจะมาขอความช่วยเหลือ ฉะนั้น...ที่โบราณเขาใช้คำว่า "หวั่น" และ "ไหว" นี่ถูกต้องเลยนะครับ

ถ้ารักษากำลังใจไม่ได้ก็ไหว กลัวว่าจะไม่ได้ หรือว่ากลัวจะเจอ ที่ว่ากลัวจะไม่ได้ก็คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่ว่ากลัวจะเจอก็คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ผมว่าผมบรรยายไปพวกคุณก็จำไม่ได้อยู่ดีแหละว่าอะไรหวั่น อะไรไหวอีก ต้องส่งไปอัพเกรดเพิ่มแรมสมอง ความจำพวกคุณจะได้เยอะขึ้นหน่อย...!"

เถรี
01-05-2016, 14:21
พระอาจารย์กล่าวว่า "สำหรับญาติโยมที่ไปช่วยพระตอนบิณฑบาต ส่วนใหญ่แล้วยังไปเดินเกะกะรถยนต์เขาอยู่ดี ถ้าเป็นคนเคยขับรถไม่น่าจะทำอย่างนั้น แต่บางทีคนขับรถพอถึงเวลาออกจากหลังพวงมาลัยมาก็ลืมอีก

การที่เราเดินล้ำเข้าไปในถนนแม้แค่คืบเดียว ก็ทำให้รถที่วิ่งมาไม่แน่ใจว่าจะพ้นหรือเปล่า เพราะว่าบ้านเราขับรถพวงมาลัยขวา ถึงเวลาเขามองซ้าย มุมด้านซ้ายจะโดนบังหมด มองไม่เห็น นอกจากอยู่ระยะก่อนรถยนต์วิ่งถึงหรือว่าวิ่งเลยไปแล้ว คราวนี้ในช่วงระยะที่รถยนต์กำลังจะวิ่งผ่าน เขากะระยะไม่ถูกว่าจะเฉี่ยวชนเราหรือไม่ แล้วพวกเราก็มักจะเดินกันเต็มถนนเพราะเราเห็นว่าไม่โดนรถ แต่รถนะไม่เห็น รถจะคิดว่าโดนเราอยู่เสมอ เขาจึงไปไม่ได้แล้วก็พาให้รถติด ไม่ต้องเมตตาไปยืนโบกให้เขา แค่เราถอยมาเขาก็ไปได้แล้ว ส่วนใหญ่ยืนล้ำไปค่อนถนนแล้วดันไปโบกให้เขาอีก

จำไว้แม่น ๆ ว่า ถ้าเคยขับรถโปรดสังเกตด้วยว่า เราจะเห็นว่าช่องทางนั้นไปได้หรือไม่ต่อเมื่อเรายังไปไม่ถึงหรือว่าวิ่งเลยไปแล้ว ถ้าในระหว่างนั้นจะมองไม่เห็น เพราะว่ามุมซ้ายมือจะโดนประตูรถบังหมด กะระยะไม่ถูก สมัยอาตมาขับรถที่น่าเบื่อที่สุดคือรถมอเตอร์ไซค์ ถึงขนาดอาตมาต้องจอดรถแล้วลงไปกางแขนวัดดูว่าต้องห่างเท่าไรถึงจะพ้น พออาตมาแซงมอเตอร์ไซค์ทีไรคนอื่นหัวใจจะวาย เพราะคิดว่าเบียดโดนทุกที แต่อาตมาเคยกะระยะไว้แล้ว จึงมั่นใจว่าพ้น

ฉะนั้น...ถึงเวลาก็ขับพรวดไปเลยโดยที่ไม่ได้ใส่ใจ เนื่องจากว่าเคยลงไปยืนวัดด้วยตัวเอง กางแขนว่าแล้วว่าถ้าแค่นี้พ้นแน่ แต่ในมุมนั้นถึงเวลาแล้วจะเป็นมุมบัง คนขับจะมองไม่เห็น ช่วงไปถึงจะมองไม่เห็น ก่อนถึงหรือว่าเลยไปแล้ว ถึงมองเห็นก็ไม่มีประโยชน์"

เถรี
01-05-2016, 14:24
"สมัยก่อนที่จะพูดเรื่องนี้ บางทีพวกเราก็เดินออกันเต็มถนนเลย แล้วรถยนต์ ๘ คัน ๑๐ คัน ก็ค่อย ๆ คลานตามกันยาวเหยียด เพราะว่าเขาไปไม่ได้ แล้วเราเองก็ไม่มีใครคิดจะหลบ อาตมาก็อยากจะให้หมูแฮมเป็นคนขับเหลือเกิน มีใครจำหมูแฮมได้ไหม ? ขัดใจขึ้นมาขับรถลุยขึ้นไปชนเขาบนป้ายรถเมล์เลย

จำเอาไว้ว่า อย่าให้ กาย วาจา และใจของเรา เป็นทุกข์เป็นโทษแก่คนอื่น เพราะจะก่อกรรมโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว การสร้างกรรมแม้เพียงเล็กน้อยก็มีผลสืบเนื่องไปในชาติต่อ ๆ ไป อาจจะทำให้เกิดอุปสรรค ขาดความคล่องตัวในการดำเนินชีวิตบางอย่าง แต่กว่าที่เราจะรู้ก็ต่อเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากก้มหน้ารับกรรมไป

พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสว่า อย่าเห็นว่ากรรมชั่วเพียงเล็กน้อยแล้วไปทำ ขณะเดียวกันก็อย่าเห็นว่ากรรมดีเพียงเล็กน้อยแล้วไม่ทำ เพราะว่ากรรมนั้นจะดีหรือชั่ว จะเล็กน้อยเพียงใดก็ตาม ถ้าถึงวาระย่อมส่งผลให้ทั้งนั้น กรรมดีก็ย่อมส่งผลให้เรามีความสุขความเจริญ กรรมชั่วก็ส่งผลให้เราต้องลำบากเดือดร้อน"

เถรี
01-05-2016, 14:28
"บางคนก็อาจจะสงสัยว่าทำไมเราอยู่ที่ไหน ในวงสังคมไหนก็มีแต่คนนินทาด่าว่าเราตลอด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเราต้องเคยนินทาด่าว่าคนอื่นมาแล้ว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราทำเราถึงได้ ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครสามารถมายัดเยียดให้กับเราได้ ในเมื่อรู้ว่าทำแล้วก่อให้เกิดผลไม่ดีอย่างไร ก็ควรที่จะระมัดระวังและค่อย ๆ แก้ไขไป

วจีกรรมเป็นส่วนที่ระมัดระวังได้ยาก เพราะสติของเรามักจะไม่เท่าทัน ขณะเดียวกันบางทีก็เกิดอารมณ์ร่วม ก็คือ “แหม...เรื่องนี้น่านินทาเหลือเกิน” ว่าแล้วก็ร่วมวงกับเขาไปเลย

อาตมาถึงได้ย้ำนักย้ำหนาว่า การมาปฏิบัติธรรมของพวกเราก็คือเสริมสร้างสติ สมาธิ และปัญญาของเรา ให้มีความมั่นคง แหลมคม ว่องไว คล่องตัว ทันทีที่รู้ว่าเราจะคิดในสิ่งที่ไม่ดี นั่นคือสติ ความระลึกได้ปรากฏขึ้น ก็ให้ใช้สมาธิในการหักห้ามใจตนเองอย่าให้คิดชั่ว แล้วปัญญาก็จะทำงานในลักษณะที่ว่า จะทำอย่างไรให้เราพ้นจากสภาพที่เรากำลังจะชั่วเช่นนั้น ก็อาจจะชักเข้าในเรื่องของศีล ของสมาธิ ของปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้เราไม่ต้องไปกระทำในส่วนที่เป็นอกุศล ให้เป็นบาปเป็นเวรแก่ตนเอง

ฉะนั้น...ในส่วนของสติ ความระลึกได้ ถึงจะระลึกได้ ถ้าสมาธิไม่ทรงตัว ก็ไม่มีกำลังในการหักห้ามตนเอง แล้วถ้าปัญญาไม่เพียงพอ ก็ไม่รู้ว่าจะพาตนเองให้ออกจากสถานการณ์นั้นอย่างไร เราถึงต้องมาฝึก มาหัด มาซัก มาซ้อม กันอยู่ทุกวัน ต้องอดทนอดกลั้นในการที่จะฝึกฝนตนเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อตฺตาหิ กิร ทุทฺทโม ได้ยินมาว่าการฝึกตนนั้นช่างยากจริงหนอ” ยาก...เพราะเราบังคับตัวเองยังบังคับไม่ได้ แล้วจะไปรอให้คนอื่นมาบังคับบัญชาเราได้อย่างไร จึงต้องมีความอดทน อดกลั้นเป็นอย่างยิ่ง มีความแน่วแน่มั่นคงที่จะกระทำให้ได้"

เถรี
01-05-2016, 14:32
"พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงสอนพวกอาตมาไว้อยู่เสมอว่า “ให้เขียนสังโยชน์ ๑๐ กับบารมี ๑๐ ติดหัวนอนไว้ ตื่นเช้าขึ้นมาก็ทบทวนอยู่เสมอ ข้อไหนที่เรายังบกพร่อง วันนี้เราจะทำให้ได้ ถ้าในส่วนของสังโยชน์ ข้อไหนที่เรายังละไม่ได้ วันนี้ต้องละให้ได้” นั่นเป็นการเตือนสติ เตือนใจตนเองไว้เสมอว่าเป้าหมายของเราคืออะไร ? ตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง ? และอะไรที่ยังต้องเร่งรัดพัฒนากันต่อไป ?

ในส่วนของบารมี ๑๐ ที่พวกเราพร่องอยู่นั้น ส่วนใหญ่ก็คือ พร่องในขันติบารมี ขาดความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติธรรม ขาดวิริยบารมี ขาดการพากเพียรอย่างต่อเนื่อง และขาดปัญญาบารมี ไม่รู้ว่าจะรักษาอารมณ์ตนเองให้อยู่ในด้านดีได้อย่างไร ก็ถ้าหากว่า ๑๐ ขาดไปเสีย ๓ แล้ว ก็เท่ากับว่าเราขาดปัญญาบารมี เพราะปัญญาไม่เพียงพอ รักษาอารมณ์ใจตนเองไม่ได้ ในเมื่อเราขาดจาก ๔ ใน ๑๐ แล้ว โอกาสที่ข้ออื่นจะขาดตามก็มีอีกมาก

อย่างเช่นว่า เมื่อขาดความอดทน ขาดความพากเพียร ปฏิบัติไม่ได้ตามที่ตั้งใจเอาไว้ สัจจบารมีของเราก็บกพร่อง ในเมื่อสัจจบารมีของเรายังบกพร่อง ความแน่วแน่มั่นคงของสภาพจิตมีไม่เพียงพอ อุเบกขาบารมีก็ย่อมบกพร่องไปด้วย เพราะปล่อยไม่ได้วางไม่ลงเสียที ถ้าอุเบกขาบารมีของเราบกพร่อง ตัวเมตตาบารมีของเราก็ไม่มี เพราะว่าเมตตาบารมี ต่อด้วยกรุณา มุทิตาและถึงจะเป็นอุเบกขา กลายเป็นว่าเราขาดไป ๖ ใน ๑๐ แล้ว ตายแน่ ๆ ถ้าหากว่าเมตตาบารมีไม่มี ศีลบารมีก็ไม่มี เพราะว่าศีลเกิดจากพื้นฐานของความเมตตา หายไป ๗ ข้อแล้ว ถ้าว่าต่อก็หายไปครบ ๑๐ เลย"

เถรี
01-05-2016, 14:36
"ฉะนั้น...จำไว้แม่น ๆ ว่าเร่งรัดในส่วนของขันติและวิริยะให้มากไว้ ถ้ามีความอดทนอดกลั้น มีความพากเพียรที่จะปฏิบัติมุ่งมั่นต่อเป้าหมายจริง ๆ มรรคผลไม่ใช่สิ่งที่เกินความสามารถของพวกเรา แต่ส่วนใหญ่แล้วพวกเราขาดตกบกพร่อง แล้วในส่วนที่บกพร่องเป็นอย่างยิ่งก็คือไม่รู้ว่าตัวเองบกพร่องตรงไหน แต่จะว่าไปแล้วอาตมาก็เหมือนอย่างกับคนดูมวย เห็นมวยชกบนเวทีก็รู้ว่าตรงไหนบกพร่อง ตรงไหนเป็นจุดอ่อน แต่ว่าคนที่กำลังชกอยู่บนเวทีดูไม่ออก

เพราะฉะนั้น...เราจะเห็นว่าพี่เลี้ยงกับคนดูจะเก่งที่สุดในระหว่างที่ชกมวย ให้คำแนะนำได้ทุกอย่าง แต่ว่านักมวยที่อยู่ในสถานการณ์จริงบนเวที บางทีก็คิดไม่ทัน ทำไม่ทัน ต่อให้พี่เลี้ยงตะโกนบอกอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ เราจึงต้องหยุดตัวเองให้เป็น ถ้าหยุดตัวเองไม่เป็นโอกาสชนะกิเลสก็จะไม่มี การที่เราหยุดตัวเองคือตาเห็นรูปสักแต่ว่าเห็น หยุดไว้อย่าไปคิดต่อ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิดแบบเดียวกันหมด ก็คือหยุดไว้อย่าไปคิดต่อ

เพราะถ้าคิดต่อเมื่อไรก็จะเป็นชอบใจกับไม่ชอบใจ ความชอบใจจัดอยู่ในเขตของราคะ ความไม่ชอบใจจัดอยู่ในเขตของโทสะ ก็แปลว่าเราโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่ถ้าหากว่าเราเห็นสักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น สักแต่ว่าได้รส สักแต่ว่าสัมผัส ไม่นำมาคิด เวรกรรมที่จะเกิดขึ้นจากกาย จากวาจา จากใจของเราก็ไม่มี ไม่ต้องไปหนักใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เพราะเราไม่สร้างเหตุ ผลก็ย่อมไม่เกิดอยู่แล้ว"

เถรี
01-05-2016, 14:37
"พอเราสร้างแต่เหตุที่ดี ๆ ให้ กาย วาจา ใจ ของเราอยู่ในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ผลดีย่อมเกิดขึ้นเอง อย่าลืมว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน เกิดจากผลการกระทำในอดีต ดังนั้น...ถ้าเราสามารถทำปัจจุบันของเราให้ดีได้ต่อเนื่องสักระยะหนึ่ง ทันทีที่ก้าวพ้นจากตรงนี้ไปก็เป็นอดีตไปแล้ว ถ้าเราสร้างความดีต่อเนื่องได้สักระยะหนึ่ง ส่วนของความดีที่เราสร้างสมไว้ ซึ่งเลยผ่านมาแล้ว ก็กลายเป็นกรรมในอดีต ที่จะส่งให้เกิดแก่ปัจจุบันของเรา

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็แปลว่า ในส่วนของการเสวยผลดี ก็ย่อมเกิดกับเราในปัจจุบันนี้ได้ แต่ต้องทำอยู่ในลักษณะต่อเนื่องและยาวนานเพียงพอ บางทีก็อาจจะถึง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี แล้วแต่กรรมหนักเบาที่เราทำ ถ้าในส่วนของ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ถือว่าเป็นกรรมใหญ่ กรรมหนัก มีผลมาก ถ้าทำได้ต่อเนื่องยาวนานถึงขนาด ๑๐ ปี ๒๐ ปีก็ย่อมเห็นผลได้เร็ว แต่ถ้าหากว่าในส่วนอื่นก็มีผลน้อยลงไปตามส่วน

เราจึงต้องเป็นคนฉลาด รู้จักเลือกว่าสิ่งไหนที่เหมาะสมแก่เรา ทำแล้วได้กำไรมาก ก็ให้ทำสิ่งนั้นเอาไว้ ข้อไหนที่เราบกพร่องในเรื่องของการปฏิบัติ ก็ให้เน้นย้ำตรงจุดนั้นเอาไว้ แล้วสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะค่อย ๆ ส่งผลทันในชาตินี้ของเรา"

เถรี
02-05-2016, 13:55
"สิ่งที่ได้กล่าวมานี้อาตมาทำมาด้วยตนเอง ทำมาในระยะเวลาที่ยาวนาน เริ่มปฏิบัติแบบทุ่มเทชนิดที่คนรอบข้างว่าบ้าตั้งแต่ปี ๒๕๑๘ เชื่อว่าพวกเราส่วนใหญ่ในที่นี้ยังไม่เกิด สรุปแล้วว่าทำมาประมาณ ๔๑ ปี ปัจจุบันนี้อยู่ในระหว่างของการเสวยผล ก็คือรับผลดีที่ตนเองได้ทำไว้ในอดีต

เคยมีเพื่อนพระสมัยเรียนปริญญาตรี ชอบนำเอาซองผ้าป่ามาแจกเพื่อนในห้อง เพื่อนบางท่านก็บอกว่า “ทำไมถึงต้องมาแจกกันบ่อย ? ดูอาจารย์เล็กสิ ไม่เห็นแจกซองใครเลย” เจ้าเพื่อนคนนั้นใคร ๆ เรียกว่า "ไอ้ตัวเล็ก" เพราะเคยเป็นตลกคาเฟ่ ถ้าใครเคยดูตลกคาเฟ่จะมีไอ้ตัวเตี้ย ๆ สั้น ๆ อยู่ตัวหนึ่ง ขอบอกว่าเขาบวชมา ๒๐ กว่าพรรษาแล้ว ไอ้เจ้านั่นบอกว่า “พระครูเล็กท่านไถท่านหว่านมาตั้งแต่ชาติก่อน ๆ โน่น ชาตินี้ท่านก็รอเก็บกินอย่างเดียว ไอ้ของผมเองนายังไม่มีเลย ก็ต้องมาเอาจากพวกเรานี่แหละ” เข้าใจเถียงเหมือนกันนะ

ฉะนั้น...ในส่วนที่บอกกับพวกเราก็คือ ถ้าเราทำความดีต่อเนื่องยาวนานพอ เราจะเห็นผลในปัจจุบัน โดยเฉพาะความดีใหญ่ในเรื่องของ ศีล สมาธิ ปัญญา"

เถรี
02-05-2016, 13:56
พระอาจารย์กล่าวว่า "ขอโมทนากับทุกท่าน การปฏิบัติธรรมผ่านพ้นไปด้วยความทุลักทุเลเพราะอากาศร้อน กำลังจะหาเรื่องติดเครื่องปรับอากาศ แต่เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเขาบอกว่ากำลังไฟไม่พอ เพราะว่าสถานที่กว้างมาก ถ้าใช้เครื่องปรับอากาศที่มีบีทียูน้อย ตรงกลางก็จะร้อน ถ้าใช้บีทียูมากกำลังไฟก็รับไม่ไหว สรุปว่าต้องทนร้อนกันต่อไป ขอโมทนากับทุกท่านที่ได้ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะที่ได้อุทิศถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

อยากจะบอกกับพวกเราว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น พระอาการของพระองค์ท่านหนักกว่าที่เขาออกข่าว การออกข่าวจะใช้คำพูดที่เบาที่สุดเพื่อไม่ให้ประชาชนแตกตื่น อย่าลืมว่าปีนี้พระองค์ท่าน ๘๙ พรรษาแล้ว คนแก่ช่วง ๘๑-๙๐ ปี โบราณบอกว่า "ลูกหลานดูนั่งร้องไห้" ถ้า ๙๑-๑๐๐ ปี โบราณเขาบอกว่า "ไข้ก็ตาย บ่ไข้ก็ตายแล" สรุปว่าถ้าพวกเราพร้อมใจกันสร้างคุณความดี ก็จะทำให้พระองค์มีกำลังพระทัยที่จะอยู่เพื่อเป็นมิ่งขวัญ เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่พวกเรา พระองค์ท่านก็อาจจะอยู่ตามที่ได้ตั้งพระทัยไว้คือถึง ๑๒๐ ปี"

เถรี
02-05-2016, 13:58
"แต่ถ้าดูจากพระอาการที่ปรากฏอยู่ ให้ผ่านพ้นวันต่อวันก็ยังเป็นไปได้ยาก แล้วบรรดารัฐบาลของเราก็ไม่ได้กระทำอะไรให้พระองค์ท่านมีกำลังใจที่อยากจะอยู่ต่อเลย บรรดาหลวงปู่หลวงพ่อท่านที่มีคุณความดีสูง ๆ ระยะนี้ก็ทิ้งขันธ์หลายรูปด้วยกัน แม้กระทั่งระดับสมเด็จพระราชาคณะ อย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสุทัศนเทพวราราม อย่างหลวงปู่วาสน์ วัดสะพานสูง ก็ไปอีกแล้ว หลวงปู่วาสน์ปีนี้ ๑๐๐ ปีเต็มพอดี

เป็นอันว่าสายสะพานสูงไม่ทราบว่าถัดจากนี้จะมีใครที่ศึกษาวิชาเกี่ยวกับตะกรุดมหาโสฬสหรือไม่ ? วิชาการศึกษาไม่ยาก แต่ความเพียรพยายามมีถึงหรือเปล่า ? เพราะการสร้างตะกรุดมหาโสฬสนั้นตอนสร้างไม่ยาก ไปยากตอนเสก เพราะว่าต้องเสกด้วยโองการมหาทมื่น ๑๐,๐๐๐ จบ ใช้เวลาประมาณ ๓ ปี ฉะนั้น...ใครมีตะกรุดมหาโสฬสของสายวัดสะพานสูง ไม่ว่าตั้งแต่ยุคสมัยหลวงปู่เอี่ยมก็ดี หลวงปู่กลิ่นก็ดี หลวงพ่อทองสุขก็ดี มาจนถึงหลวงปู่วาสน์ ต้องเก็บเอาไว้ให้ดี ใช้งานได้สุดยอดทุกดอกเลย

อาตมากำลังรอว่าจะได้สร้างตะกรุดมหาโสฬสอีกเมื่อไร เพราะความพยายามมี แต่เวลาไม่มี ...(หัวเราะ)... นั่งเสกกันที ๓ ปี จะเป็นลมตายเสียก่อน..!"

เถรี
02-05-2016, 13:59
"บรรดาหลวงปู่หลวงพ่อที่ทรงคุณความดี ทิ้งขันธ์ไปหลายรูปด้วยกันในระยะนี้ แม้ว่าจะสามารถผ่อนหนักเป็นเบาได้ แต่สถานการณ์ประเทศชาติของเรา ถ้าเป็นคนไข้ก็คืออยู่ห้องไอซียู ยังไม่แน่เหมือนกันว่าจะตกต่ำไปกว่านี้อีกหรือไม่ ก็ได้แต่เอาใจช่วย เมื่อพวกเราตั้งหน้าตั้งตาทำความดี คุณความดีที่เราได้สร้างถือว่าเป็นของเย็น แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มาก แต่ถ้ามีความเย็นสูงก็สามารถดับร้อนของประเทศชาติไปได้ส่วนหนึ่ง และที่สำคัญที่สุดก็คือเพื่อมรรคผลพระนิพพานของเราเอง

ในส่วนของมรรคผลพระนิพพานของเรานั้น เป็นคำตอบเกือบทุกอย่างที่เราได้กระทำอยู่ในปัจจุบัน คือการที่เราเกิดมานั้นก็เพื่อเกื้อพระศาสนา เพื่อแบ่งเบาภาระหลวงปู่หลวงพ่อ เพื่อมรรคผลพระนิพพานของตน ถ้าทำเพื่อมรรคผลนิพพานของตน คือเป็นการแบ่งเบาภาระของหลวงปู่หลวงพ่อ ถ้าหากว่าทำเพื่อมรรคผลนิพพานของตน ก็คือเป็นการเกื้อกูลต่อพระศาสนา"

เถรี
02-05-2016, 14:02
"ดังนั้น...สิ่งที่เราได้กระทำในที่นี้อย่าทิ้งไปเฉย ๆ ให้พยายามรักษาเอาไว้ให้ต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นแล้วสิ่งที่เรากระทำไปก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เนื่องจากว่าการปฏิบัติธรรมเหมือนกับการว่ายทวนน้ำ พอถึงเวลาเราปฏิบัติเสร็จก็ปล่อยให้ลอยตามน้ำไป กว่าจะมาสมัครบวชเนกขัมมะปฏิบัติอีกทีหนึ่งก็เป็นเดือน สิ่งที่เราทำได้กลายเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้เหลือแต่กิเลสล้วน ๆ จะตีคืนก็ยาก เมื่อทำคืนยากก็เกิดการท้อถอย หมดความเพียรพยายามเสียอีก

ดังนั้น...ถ้าเราทำได้แล้ว พึงรักษาประคับประคองเอาไว้ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด ถ้าหากว่าพลาดพลั้ง จิตตก สมาธิตก กรรมฐานแตก ให้รีบเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ รักษากำลังใจเอาไว้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นแล้วเราเองก็จะลำบากมาก เพราะคนที่เคยทำได้ มารย่อมรู้ว่าจะพ้นมือเขาแล้ว เขาก็ต้องขัดขวางเราสุดชีวิต

ส่วนท่านใดสามารถรักษาศีล ๘ เอาไว้ได้ก็ขอให้รักษาต่อไป เพราะเป็นศีลที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรมมาก ถ้าท่านใดรักษาไม่ได้ก็ให้ลดลงไปรักษาศีล ๕ ตามเดิม ไม่ต้องเสียเวลาอาราธนา ไม่ต้องเสียเวลาสมาทานใหม่ ศีลจะเป็นศีลหรือไม่อยู่ที่ตั้งใจปฏิบัติและงดเว้นเท่านั้น ไม่ได้อยู่ที่การอาราธนาหรือว่าอยู่ที่การรับศีล"


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
โอวาทช่วงบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรม
วันที่ ๑๓ – ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๙
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)