PDA

View Full Version : เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน วันอาทิตย์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘


เถรี
24-11-2015, 19:30
ทุกคนตั้งกายให้ตรง กำหนดความรู้สึกไว้ที่ลมหายใจเข้าออกของเรา หายใจเข้า...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก...ให้ความรู้สึกทั้งหมดไหลตามลมหายใจออกมา ถ้าเผลอสติไปคิดเรื่องอื่น รู้ตัวขึ้นมาเมื่อไรก็ให้ดึงความรู้สึกกลับมาที่ลมหายใจเข้าออกเสียใหม่ ส่วนคำภาวนาจะใช้อะไรก็ได้ที่เรามีความถนัดมาแต่เดิม

วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๘ เมื่อครู่นี่มีคนถามเรื่องความทุกข์ ว่าหนีอย่างไรก็ไม่พ้น เหตุที่หนีไม่พ้นเพราะว่าความทุกข์อยู่กับร่างกายของเรา การที่เราจะหนีให้พ้นความทุกข์ได้นั้น จะต้องพินิจพิจารณาให้เห็นชัดเจนที่สุดว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา การที่จะพิจารณาให้เห็นชัดเจนขนาดนั้นได้ ก็ควรที่จะแยกแยะสภาพร่างกายของเราออกมาให้ละเอียด อย่างเช่นว่าแยกออกเป็นธาตุ ๔ คือดิน คือน้ำ คือลม คือไฟ

ส่วนที่แข็ง เป็นแท่งเป็นก้อน เป็นชิ้นเป็นอัน จับได้ต้องได้ เรียกว่าธาตุดิน ประกอบด้วยผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก อวัยวะภายใน ได้แก่ ตับ ไต ไส้ ปอด ม้าม หัวใจ กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ หรืออวัยวะภายนอก เช่นมือ เท้า เป็นต้น สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จัดเป็นธาตุดิน แยกเอาไว้ส่วนหนึ่ง

ส่วนที่ ๒ คือส่วนที่เอิบอาบอยู่ในร่างกายของเรา เรียกว่าธาตุน้ำ เป็นต้นว่า เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี ไขมันเหลว ปัสสาวะ แยกเอาไว้อีกส่วนหนึ่ง

เถรี
26-11-2015, 18:25
ส่วนที่ให้ความอบอุ่นในร่างกายคือธาตุไฟ ประกอบด้วย ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ไฟธาตุที่เผาผลาญร่างกายนี้ให้ทรุดโทรมลง ไฟธาตุที่สันดาปช่วยเผาผลาญอาหาร ไฟธาตุที่ยังร่างกายนี้ให้กระวนกระวายยามเจ็บไข้ แยกเอาไว้อีกส่วนหนึ่ง

ส่วนที่พัดไปมาในร่างกาย หรืออยู่ตามส่วนที่เป็นช่องว่างคือช่องหู ช่องจมูก เรียกว่าธาตุลม ได้แก่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่ค้างในท้องในไส้ ลมในช่องหูช่องจมูก ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกายคือความดันโลหิต ส่วนนี้เป็นธาตุลมแยกไว้อีกส่วนหนึ่ง

เมื่อส่วนที่ ๑ คือ ดิน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก ตับ ไต ไส้ ปอด ที่เป็นอวัยวะภายใน ตลอดจนที่เป็นอวัยวะภายนอกทั้งปวง ส่วนที่ ๒ ธาตุน้ำ ได้แก่ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ ส่วนที่เป็นความอบอุ่น ก็คือ ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ไฟธาตุที่เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง ไฟธาตุที่สันดาปช่วยเผาย่อยอาหาร และไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้กระวนกระวายยามเจ็บไข้

ส่วนที่พัดไปมาตามร่างกายหรืออยู่ตามช่องว่างของร่างกาย ได้แก่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่อยู่ในช่องหูช่องจมูก ลมที่ค้างในท้องในไส้ที่เป็นแก๊ส ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย ได้แก่ ความดันโลหิต กองนี้คือดิน กองนี้คือน้ำ กองนี้คือลม กองนี้คือไฟ เมื่อแยกออกมาแล้วตัวเราอยู่ที่ใด ก็ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย ในเมื่อไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นของเรา แล้วความทุกข์จะเกาะกินได้อย่างไร ?

เมื่อนำเอาดิน น้ำ ลม ไฟ ประกอบกันเข้ามาใหม่ มีหัวมีหู มีหน้ามีตา ตัวเราคือจิตที่มาอาศัยอยู่ตามบุญตามกรรมที่ได้สร้างไว้ เราไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา พอความทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นกับร่างกาย เราเลยพลอยไปยึดว่าความทุกข์นี้เป็นของเรา แล้วก็ไปโอดครวญอยู่กับความทุกข์ยากลำบากทั้งหลายเหล่านั้น ดังนั้น...เราจึงต้องคิดแยกให้เห็นชัดเจนว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอย่างไร จนกระทั่งสภาพจิตของเราผ่อนคลายการยึดเกาะในร่างกายลงไปตามลำดับ ๆ จนในที่สุดก็ไม่ได้อยากได้ใคร่ดีในร่างกายนี้อีก

เมื่อเห็นจริงดังนั้นแล้ว ถ้าหากว่าความทุกข์เกิดกับร่างกายเรา ก็สักแต่ว่าเห็นว่านั่นเป็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา

เถรี
27-11-2015, 20:17
ในเมื่อสภาพจิตไม่ยึด ไม่เกาะ ความทุกข์ทั้งหลายเหล่านั้น ก็ไม่สามารถที่จะสร้างความทุกข์ใจให้เกิดแก่เราได้ มีแต่สร้างความทุกข์ให้เกิดกับร่างกายโดยส่วนเดียว ตัวเราเองก็ก้าวเข้าหาอารมณ์พระอริยเจ้าขั้นต้นคือพระโสดาบัน ด้วยการทำความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างจริงใจ ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง พยายามรักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่ล่วงละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีล และไม่ยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นละเมิดศีล

พร้อมกับมีปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า ร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้ ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังไปตามกาล ถ้าหากว่าร่างกายนี้ตายลงไปเมื่อไร เรามีที่ไปแห่งเดียวก็คือพระนิพพาน แล้วเอาสภาพจิตของเราเกาะพระนิพพานหรือเกาะภาพพระเอาไว้

จากนั้นก็ดูลมหายใจเข้าออกของเรา ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ ก็กำหนดดู กำหนดรู้ลมหายใจไปด้วย ถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ ก็กำหนดคำภาวนาไปด้วย ถ้าลมหายใจเบาลงหรือหายไป คำภาวนาหายไป ก็ให้กำหนดรู้ว่าตอนนี้เป็นอย่างนั้น อย่าไปดิ้นรนเพื่อจะหายใจใหม่ หรืออย่าพยายามบังคับให้เข้าไปสู่อารมณ์อย่างนั้น ถ้าท่านสามารถปล่อยวางได้ด้วยการรับรู้เฉย ๆ ว่าสภาพจิตตอนนี้เป็นอย่างนี้ สมาธิตอนนี้เป็นอย่างนี้ เรามีหน้าที่ตามดูตามรู้อย่างเดียว สภาพจิตของเราจะก้าวเข้าสู่สมาธิขั้นสูงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีกำลังเพียงพอ ก็สามารถใช้ในการตัดกิเลสตามที่เราต้องการได้

ลำดับต่อจากนี้ก็ให้ทุกท่านภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา


พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันอาทิตย์ที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย รัตนาวุธ)